ติ่ง EXO ไม่เหงาแล้ว รวมฮิต'ปิดถนน'ตามสโลแกนกรุงเทพฯ ชีวิตดีๆ ที่ลง...เดิน

สลายตัวกันไปเป็นที่เรียบร้อย หลังจากเฝ้าปักหลักรอบรรดาโอปป้ากันข้ามวันข้ามคืน สำหรับกลุ่มแฟนคลับของ ‘EXO’ บอยแบนด์ชื่อดังจากเกาหลีใต้ที่เดินทางมาร่วมงานเปิดสาขาใหม่ของผลิตภัณฑ์ Nature Republic ณ ห้างเซ็นทรัลลาดพร้าว โอ้โห! แฟนคลับหนาแน่นจนห้างแทบแตก (ไม่ได้เว่อร์) เลยต้องมีการปิดช่องทางรถเมล์ หน้าห้าง บริเวณสถานที่จัดงาน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แฟน ๆ ได้รอกันอย่างสบายใจแบบไม่ต้องกลัวรถชน

แต่เดี๋ยวก่อน! ไม่ได้มีแค่ติ่งเกาหลีหรอกนะที่ปิดถนนได้ วันนี้มินิมอร์ขอนำเสนอ ‘รวมฮิตปิดถนน กรุงเทพฯ ชีวิตดี ๆ ที่น่าจะลงจากรถแล้วเดินไปให้รู้เรื่องไปเลย!’ มาดูกันเถอะว่าประเทศไทยเคยมีประสบการณ์ปิดถนนอะไรมาบ้าง แล้วคุณล่ะ เคยมีประสบการณ์แบบนี้บ้างมั้ย? ชินกันหรือยัง 



ปิดถนนประจำปี

สงกรานต์สีลม

ระยะเวลา:  เวลาที่ทางการบอกว่าจะมีการปิดถนนคือ 12.00 - 21.00 แต่ใครๆ ก็รู้ว่าเอาเข้าจริงน่ะ 3ทุ่มไม่มีทางหรอกที่ถนนจะโล่งให้รถวิ่งกันได้ตามสบาย ตีไปว่าทั้งคืนตลอดเทศกาลสงกรานต์ 3 วัน (จริงๆ ปีที่ผ่านมาเพิ่มวันที่ 12 เข้าไปด้วยอีกวัน)

ระดับความบิ๊ก:  สำหรับมนุษย์กรุงเทพทั้งวัยรุ่น(และไม่รุ่น) ที่นี่แหละโลเคชั่นอันดับ 1 ในการเล่นสงกรานต์ ด้วยการเดินทางที่ง่ายแสนง่ายมาได้ทั้งBTSและMRT คนเลยแน่นตั้งแต่ช่วงบ่ายยันดึก 

ระดับความโหดร้ายกับผู้ใช้ถนน:  ไม่โหดร้ายมาก เพราะเป็นวันหยุดยาวพอดี คนอยู่กรุงเทพก็น้อยอยู่แล้วแถมปิดอยู่แค่ตรงเส้นสีลมซึ่งเป็นเส้นธุรกิจ  (ซึ่งช่วงนั้นหยุดมนุษย์ออฟฟิซไม่น่ามีปัญหาอยู่แล้วแหละ) 


งานเคาท์ดาวน์เซ็นทรัลเวิลด์




ระยะเวลา:   เวลาที่ปิดถนนอย่างเป็นทางการคือ 18.00 - 01.30 คืนวันที่ 31 ธันวาคม

ระดับความบิ๊ก:  เรื่องคืนเคาท์ดาวน์ที่นี่ก็เป็นที่หนึ่งอยู่แล้ว ยิ่งหลังๆ มาเริ่มมีการปิดโซนที่ไปใกล้ๆ สยามเพิ่มขึ้นด้วย บอกเลยว่าบิ๊กขึ้นทุกปี

ระดับความโหดร้ายกับผู้ใช้ถนน: ถ้าไม่ได้ตั้งใจ๊ตั้งใจเข้ามาที่นี่ตอนดึกๆ ไม่น่าจะได้ผลกระทบอะไร แถมวันปีใหม่ถนนกรุงเทพร้างจะตาย ชิวพอๆ กับสงกรานต์แหละจ้ะ แล้วปีนึงมีแค่วันเดียวอีกต่างหาก คนไม่บ่นเท่าไรหรอก (เขาไปบ่นถนนขาออกจากกรุงเทพกันหมดแล้วไงล่ะ)


ปิดถนนประจำรัฐบาล

ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรปี 2551

ระยะเวลา:  6เดือนหน่อยๆ  25 พฤษภาคม - 3 ธันวาคม 2551 (นับจากการประกาศยุติการชุมนุม)
ระดับความบิ๊ก: ถนนราชดำเนินนอกและทำเนียบรัฐบาล
ระดับความโหดร้ายกับผู้ใช้ถนน: ถ้าคนที่ต้องไปบริเวณนั้นก็นับว่าโหดหินเลยแหละ เพราะรถไฟฟ้าก็ไม่มี รถไฟใต้ดินก็ไม่ถึง มอเตอร์ไซค์เท่านั้นล่ะถึงจะรอด

ชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงปี 2553


ระยะเวลา:  2เดือนนิดๆ  12 มีนาคม - 19 พฤษภาคม 2553 (นับจากการประกาศยุติการชุมนุม)

ระดับความบิ๊ก: แต่เดิมอยู่ที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ จนถึงลานพระราชวังดุสิตและแยกราชประสงค์ ก่อนจะย้ายมาอยู่ที่แยกราชประสงค์ที่เดียวในช่วงเดือนเมษายน 
ระดับความโหดร้ายกับผู้ใช้ถนน: รถไฟฟ้ากับเดินเท้ายังพอเข้าถึงได้ แต่ถ้าจะเข้าไปตรงกลางวงนั้น (ซึ่งทั้งห้างทั้งออฟฟิซก็เยอะซะด้วยสิ) ก็บอกเลยว่างานยากทันที มอเตอร์ไซค์ยังแทบจะผ่านไม่ได้เลย

กลุ่ม กปปส. ปี 2557



ระยะเวลา:  เดือนครึ่ง  13มกราคม - 28 กุมภาพันธ์ (นับจากการประกาศยุติการชุมนุม)
ระดับความบิ๊ก:  เรียกได้ว่าปิดแทบจะทุกจุดสำคัญๆ ของกรุงเทพ  อโศก , ปทุมวัน , ราชประสงค์, สีลม , แจ้งวัฒนะ , ลาดพร้าว , อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ  

ระดับความโหดร้าย:  ถึงรถไฟฟ้าจะใช้ได้ แต่ถ้าสัญจรด้วยรถยนต์บอกเลยว่าต้องวางแผนเยอะหน่อยล่ะ  ไปทิศไหนก็หนีไม่พ้น แถมเป็นเส้นหลักๆ ทั้งนั้นเลยด้วย (ฮือ)


งานบุญใหญ่ก็มา ปิดถนนเพื่อใส่บาตรอย่างอลังการ



ระยะเวลา: ตอนเช้า 6.00 - 8.00 ของวันเสาร์-อาทิตย์  เป็นอีเวนท์ที่ไม่มีวันที่แน่นอน แต่ก็มาเรื่อยๆ นะจ๊ะ 

ระดับความบิ๊ก : 1เลน ของถนน แต่ถนนสายโหดๆ ทั้งนั้น ประตูน้ำ ลาดพร้าว เกษตรรัชโยธิน เยาวราช เรียกได้ว่าครอบคลุมแทบจะทั้งกรุงเทพ ซึ่งจำนวนพระครั้งหนึ่งต่ำๆ คือ 20,000 รูป (+ ขบวนสุดอลังการ) นี่ยังไม่รวมผู้มีจิตศรัทธามาใส่นะ บอกเลยว่าก็การชุมนุมย่อมๆ นี่แหล

ระดับความโหดร้ายกับผู้ใช้ถนน: บอกเลยถนนที่จัดงานคือติดๆ ทั้งนั้น  แต่ยังโชคดีที่มักจะจัดเช้าวันหยุดเสาร์อาทิตย์และไม่ได้ปิดทั้งถนนเลยพอจะบรรเทาความโหดลงไปได้บ้าง  แถมมีดอกไม้มาโปรยลงถนนให้เราอารมณ์เย็นขึ้นได้อีกด้วย (ใช่หรอ?)


ไม่ได้ปิด แต่ก็เหมือนปิด... แผงลอยสยาม



ระยะเวลา: หลายปีแล้วและดูจะไม่หายไปในเร็ววันนี้ด้วย

ระดับความบิ๊ก : ริมถนนตั้งแต่ซอยแรกยันซอยสุดท้ายของสยามลามไปตรงข้ามมาบุญครอง แทบไม่มีที่เหลือให้เดิน 

ระดับความโหดร้ายกับผู้ใช้ถนน: ถนนรถอาจจะไม่เครียด แต่ถ้าทางเท้าคนเดินบอกเลยว่าระดับ บอสMVP  ไหนคนจะเยอะระดับไม่ต้องเดิน เบียดๆไปก็ไหลไปตามทางได้เลย ไหนจะต้องหลบแผงแม่ค้าที่ถ้าไปโดนก็ถูกด่าแน่ๆ  แถมปราบเท่าไรก็ยังไม่ได้ผล  สตรองกว่าทุกการชุมนุม อยู่ยั้งยืนยงไปกับสังคมไทย


ความจริงแล้วประเทศไทยยังมีเหล่าสาวกอีกหลายกลุ่มที่รวมตัวกันเพื่อแสดงพลังต่อสิ่งที่ตัวเองรัก นอกจากติ่งเกาหลี ก็ยังมีติ่งไทย ติ่งเทศ ติ่งการเมือง ติ่งฟุตบอล นี่ยังไม่รวมเทศกาลสำคัญ ๆ ของไทย (ที่มีเยอะมาก) ที่มีการปิดถนนเพื่อให้ร่วมกิจกรรมกันอย่างสนุกสนานและปลอดภัยนั่นเอง  สังคมของเราใหญ่โตขนาดนี้ ไม่แปลกหรอกนะที่จะมีความชอบ หรือความศรัทธาที่แตกต่างกันออกไป

มีความชอบต่างกันไม่ได้หมายความว่าจะอยู่ร่วมกันไม่ได้นี่นา แค่เปิดใจให้กว้าง ๆ ทำอะไรพยายามอย่าให้คนที่มีความชอบต่างกันจากเราต้องเดือดร้อน

ส่วนไอ้ที่จริง ๆ ก็ไม่ได้เดือดร้อนเท่าไหร่ แต่หมั่นไส้เพราะเขาชอบต่างจากเรา ก็ลองทบทวนถึงตอนตัวเองเป็น‘ติ่ง’อย่างอื่นดูบ้าง ครั้งต่อ ๆ ไปจะได้เอาใจเขามาใส่ใจเรามากขึ้นเนอะ


ภาพ : news plus,sport classic,pantip,wikimedia,manager,thairath,tatnews

ที่มา : dmc