การออกแบบสุดล้ำ พาดหัวข่าวด้วยหมอกควัน เพื่อให้คนอ่านเห็นชัดเจนขึ้นด้วยการบดบัง


    เป็นปัญหาเรื้อรังมานานสำหรับเรื่องหมอกควันจากเกาะสุมาตราในประเทศอินโดนีเซีย และในปีนี้ดูเหมือนปัญหาเดิมๆ ก็ไม่มีทีท่าจะถูกแก้ไขแถมยิ่งหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ

    ปัญหาหมอกควันนี้ น่าหนักอกหนักใจ จนหนังสือพิมพ์ Republika แห่งกรุงจาการ์ตาอดรนทนไม่ไหวต้องจัดวางดีไซน์หน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ฉบับ วันที่ 8 ตุลาคม ให้ปกคลุมไปด้วยหมอกควันจนอ่านเกือบไม่ออก มองรูปเกือบไม่เห็น เพื่อป่าวประกาศปัญหานี้ พร้อมภาพเด็กปั่นจักรยานซึ่งเป็นตัวแทนของเหยื่อในวิกฤตมลภาวะทางอากาศ ตบด้วยโปรยด้านล่างสุดว่า "เมื่อมีหมอกควันเข้าปกคลุม ข่าวทุกข่าวก็อ่านได้ยากขึ้น"

    ซึ่งได้ผล!—ได้ผลในที่นี้ไม่ได้หมายถึงหมอกควันหายไปในทันที แต่ได้ผลในเชิงการแจ้งเตือนและเรียกร้องให้ผู้คนทั่วโลกสนใจปัญหาหมอกควันในอินโดนีเซีย เพราะหน้าหนังสือพิมพ์ดีไซน์เท่ที่สะท้อนปัญหาจากเรื่องจริงฉบับนี้ ถูกแชร์และเขียนถึงในโซเชียลมีเดียและสื่อทั่วโลกในเวลาอันรวดเร็ว และแน่นอนว่าไม่ใช่แค่เรื่องของเนื้อหาในการเขียน เพราะอ่านก็แทบไม่ออกอยู่แล้ว ที่สำคัญคือเรื่องของเนื้อหาในการออกแบบที่กล้าหาญ มาได้ถูกที่ถูกเวลา ซึ่งถ้าพูดถึงหน้าที่ของสื่อ ที่ต้องสื่อสารเรื่องราวบางสิ่งบางอย่างให้ได้กว้างและชัดเจนที่สุดแล้วนั้น Republika ฉบับนี้ ถือว่าได้ผลลัพธ์ที่ดีเยี่ยมทีเดียว



    ส่วนในประเทศเพื่อนบ้านที่โดนผลกระทบเต็มๆ อย่างสิงค์โปร์ ก็มีการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์เช่นกัน โดยมีการจัดเคมเปญร่วมกับ WWF ในชื่อ We breathe what we buy หรือ X the Haze เน้นการหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบจากน้ำมันปาล์ม ซึ่งเป็นต้นเหตุใหญ่ในการวิกฤตการณ์ และได้กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์กว่าครึ่งในตลาดที่มีส่วนผสมนี้ เช่น ลิปสติก แปรงสีฟัน แชมพู ไอศกรีมหรือแม้กระทั่งพิซซ่า—เคมเปญนี้มีทั้งวิดีโอที่มีคนใส่หน้ากากมาทำกิจกรรมต่างๆ อย่างเก้ๆ กังๆ เช่น การพูดคุย การจูบกัน การเป่าเค้กวันเกิด การกินอาหาร รวมถึงโปสเตอร์รณรงค์ต่างๆ ก็มีการใช้หน้ากากปิดปากรูปกากบาท ( X the Haze )

    อย่างที่กล่าวมาครับ งานออกแบบที่ดีหลายๆ งาน ไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อการแก้ปัญหา แต่เป็นการให้เรารับรู้ถึงปัญหา รับรู้ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับตัวเรา สังคม และลูกหลานในอนาคต โดยจัดการทำข้อมูลที่น่าเบื่อให้น่าสนใจ กลายเป็นภาพที่น่าจดจำหรือกิจกรรมที่สร้างสรรค์ แน่นอนว่านักออกแบบต้องมองเห็นปัญหา แต่บางปัญหามันใหญ่ ใหญ่จนกินพื้นที่ไปหลายประเทศ นักออกแบบก็แค่คนคนหนึ่ง ไม่ใช่เทวดา เป็นคนตัวเล็ก ที่เล็กกระจิ๋วหลิวเสียด้วยซ้ำ ดังนั้น แทนที่จะนั่งแก้ปัญหาอยู่คนเดียว สู้ให้คนในสังคมรับรู้ถึงปัญหาและช่วยกันหาทางออกร่วมกันดีกว่า สุดท้ายนี้ขอให้กำลังใจกับผู้ประสบปัญหามลภาวะทางอากาศนี้ในทุกๆ พื้นที่ ให้ผ่านพ้นวิกฤตและหาทางแก้ปัญหาในระยะยาวได้โดยเร็ว …นักออกแบบตัวเล็กๆ ก็ทำได้แค่อวยพรแบบง่ายๆ นี่แหละครับ