มองต่างมุมกับแฟชั่น EXOTIC หรือจะเป็นการฉวยวัฒนธรรมไปใช้สร้างความเก๋

เมื่อนึกถึงกระเป๋าสีรุ้งจาก Balenciaga, ผ้าถุงที่ Barcelona Fashion Week หรือเด็กชายหน้าคมในแฟชั่นเซ็ต Louis Vuitton ครั้งใดก็ตามที่ลักษณะอันมีอยู่ในไทย (และหลายครั้งมีอยู่ในประเทศอื่นในเอเชียอาคเนย์ด้วย) ไปปรากฎในสื่อระดับโลก สิ่งหนึ่งที่เราเห็นคือปฏิกิริยาของคนไทยจำนวนไม่น้อยล้วนเต็มไปด้วยความภาคภูมิใจ และรู้สึกเป็นเกียรติที่วัฒนธรรมเรามีโอกาสได้ ‘โกอินเตอร์’ กับเขาบ้าง



หากจะว่ากันจริงๆ มีอีกหลายวัฒนธรรมอย่างญี่ปุ่น จีน หรือแอฟริกัน ที่ถูกหยิบยืมไปผลิตใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งเจ้าของวัฒนธรรมเหล่านั้นไม่ได้มีเพียงมุมยินดีปรีดา แต่กลับมีอีกมุมมองที่ต่างออกไป โดยเฉพาะในชนชาติที่มีบาดแผลเรื่องชาติพันธุ์อย่างแอฟริกันหรืออินเดียนแดง
เรื่องนี้เป็นประเด็นถกเถียงในวงการแฟชั่นว่ามีเส้นกั้นบางๆ ระหว่าง cultural appropriation (การฉวยใช้วัฒนธรรม) กับ cultural appreciation (การเชิดชูวัฒนธรรม) ซึ่งหลายครั้ง หลายคนมองว่าคนขาวกำลังฉวยใช้วัฒนธรรมของตนอย่าง racism เอามากๆ หนึ่ง—เป็นการเอาวัฒนธรรมตนไปย่ำยี สอง—เป็นการเอาวัฒนธรรมตนไปใช้โดยไม่ได้ให้คุณค่าบุคคลผู้เป็นต้นตอของวัฒนธรรมเลย



    เช่น กรณีของ Gigi Hadid ที่ถูกทาผิวดำและทำผมทรงแอฟโฟรกับเดรดล็อคใน Vogue อิตาลี ซึ่งความคิดเห็นหนึ่งจากสาวผิวสีในเว็บไซต์ของ Vogue ได้อธิบายอย่างกระจ่างแจ้งว่า ตอนที่เธอเองทำผมทรงเดรดล็อค โรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่งไม่ยอมรับเธอเข้าทำงานจนกว่าจะยอมเปลี่ยนทรงผม แต่เมื่อนางแบบดังทำบ้างมันกลับดูเทรนดี้ขึ้นมาซะอย่างงั้น 


 
   ปัญหาของเธอคือ ทำไมสิ่งเดียวกันกลับมีภาพที่ต่างกันสิ้นเชิง เพียงเพราะมันปรากฏอยู่บนร่างของคนขาว นั่นแปลว่า คนขาวยังคงมีภาพลักษณ์ที่เหนือกว่าคนดำอยู่ดีหรือ? ทำไมเอกลักษณ์ของพวกเขากลับกลายเป็นแค่องค์ประกอบที่ช่วยส่งเสริมคาแรคเตอร์ของคนขาวในวาระหนึ่งเท่านั้น และที่ถูกวิจารณ์หนักอีกชิ้นคือภาพแฟชั่นของ Givenchy ที่มาถ่ายในเมียนมาร์ โดยใช้ผู้หญิงชนเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวมายืนประกอบฉาก ยกมือพนมให้นางแบบอีกต่างหาก


 
   ย้อนกลับมามองถึงกรณีของเด็กชายไทยที่ได้รับค่าจ้างเพียง 1,000 บาท สำหรับการเป็นส่วนหนึ่งของความ exotic ในแฟชั่นเซ็ตของ Louis Vuitton อาจมีน้อยคนนักที่มองว่าเรากำลังถูกเก็บเกี่ยวเพียงภาพบางอย่างไปใช้ เขาหาได้ยอมรับความเป็นไทยว่าพิเศษกว่าใคร ฝรั่งหลายคนยังมองคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่าเหมือนๆ กันหมดเสียด้วยซ้ำ
    ที่หลายคนรู้สึกภาคภูมิใจ เป็นไปได้หรือไม่ว่าลึกๆ เรารู้สึกว่าตัวเองยังคงด้อยกว่าเขา จึงนับว่าเป็นเกียรติที่ได้รับการยอมรับจากคนผิวขาว



ไม่ได้บอกว่าการหยิบยืมวัฒนธรรมเป็นเรื่องไม่ดี หลายครั้งมันเป็นเรื่องของการสร้างสรรค์หรือแสวงหาความแปลกใหม่ ไม่ได้จะบอกว่าเราต้องเย่อหยิ่งในวัฒนธรรม ใครจะมาแตะไม่ได้ ของแบบนี้มันแล้วแต่ความสบายใจของใครของมัน ใครปลื้มใจก็ดีไป ใครคิดว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ก็สบายใจดี แต่ใครที่ขัดใจก็คงต้องสู้ทนนั่นแหละหนา