ความรักกับความ 'รู้งี้...' ในหนังเกาหลีสุดเนิบ Right Now, Wrong Then



        ถ้าให้นึกชื่อผู้กำกับเกาหลีใต้แบบเร็วๆ คุณอาจจะนึกถึง Park Chan-wook ผู้กำกับ Old Boy (2003), Kim Jee-woon ผู้กำกับ A Tale of Two Sisters (2003) หรือ Bong Joon-ho ผู้กำกับ The Host (2006) โดยทั้งสามคนมีจุดร่วมคือทำหนังทริลเลอร์และแอคชั่นหวือหวา แต่คนทำหนังแดนโสมอีกคนที่นักดูหนังควรรู้จักไว้ก็คือ Hong Sang-soo

 


        ว่าไปแล้วอาจจะมีคนชอบและชังหนังของ Hong Sang-soo ในปริมาณพอๆ กัน เพราะผลงานของเขามักถูกครหาว่าเหมือนกันไปเสียทุกเรื่อง จนแยกไม่ออกว่าเรื่องไหนเป็นเรื่องไหน โดยมากก็มักว่าด้วยพระเอกที่มีอาชีพเป็นผู้กำกับหรือนักวิจารณ์เดินทางไปยังต่างจังหวัด แล้วก็ไปพบกับสาวหน้าสวย จนนำไปสู่การสานสัมพันธ์

        Right Now, Wrong Then หนังยาวเรื่องที่ 17 ของเขาก็มีพล็อตตามสูตรที่ว่ามา เล่าถึงผู้กำกับหนุ่มใหญ่ที่ไปร่วมงานเทศกาลหนังที่ต่างเมือง เขาได้พบจิตรกรสาวสวยและตัดสินใจรุกตามจีบเธอทันที หนังเต็มไปด้วยฉากลองเทคของบทสนทนายาวเหยียด นอกจากนั้นก็เป็นฉากกิจวัตรทั่วไป กินข้าว ดื่มเหล้า เข้านอน 

        แม้จะดูเป็นพล็อตราบเรียบ แต่หนังของ Hong Sang-soo มักมีความกิ๊บเก๋เรื่องการบิดดัดเวลา (time manipulation) อยู่เสมอ ดังที่ปรากฏในผลงานก่อนหน้า ไม่ว่าจะ In Another Country (2012) ที่เล่าเรื่องแบบวนไปมา (loop) หรือ Hill of Freedom (2014) ที่เล่าแบบไม่เรียงตามลำดับเวลา (nonlinear)




        ส่วนเรื่องนี้ผู้กำกับแบ่งหนังออกเป็นสองท่อน ภาคแรกชื่อ Right Then, Wrong Now ส่วนภาคหลังชื่อ Right Now, Wrong Then โครงเรื่องของทั้งสองส่วนแทบจะเหมือนกัน ทว่าพฤติกรรมของตัวละครแตกต่างออกไปเล็กน้อย และนำไปสู่บทสรุปที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง คำถามชวนฉงนคือ ส่วนใดของหนังที่เรียกว่า 'ตอนนั้น' หรือ 'ตอนนี้' และการตัดสินใจของตัวละครแบบไหนที่ 'ถูก' หรือ 'ผิด' แน่นอนว่าผู้กำกับไม่ได้ให้คำเฉลยไว้




        หัวใจสำคัญอีกอย่างของหนังคือ การที่ตัวละครพูดทำนอง should have + V3 บ่อยครั้ง (“ฉันน่าจะทำแบบนี้ แต่ไม่ได้ทำ” หรือ “ฉันไม่ควรทำแบบนั้น แต่ฉันก็ทำไปแล้ว”) มันเป็นปัญหาโลกแตกประเภท “รู้งี้....บลาบลาบลา” ที่มนุษย์ทุกผู้ทุกคนต้องประสบ และแอบฝันว่าหากเราแก้ไขปัญหาประเภท should have + v3 ได้ ชีวิตเราคงปลอดทุกข์ไปราว 80%

        แต่แน่นอนว่ามนุษย์ทำเช่นนั้นไม่ได้ เราผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่รู้จบ โดยเฉพาะเรื่องรักใคร่น้ำเน่า นั่นเองอาจเป็นสาเหตุที่ Hong Sang-soo สามารถทำหนังที่มีพล็อตซ้ำไปซ้ำมาแบบนี้มาได้หลายปีดีดัก 



ตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง 
Right Now, Wrong Then


 จากคอลัมน์ Top Shelf (Movie) โดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง
: giraffe Magazine 37— Color Issue

อ่านเรื่องอื่นๆ ได้ที่ giraffe