เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
บันทึกการอ่านmenalin
เล่ห์รักบัลลังก์ราชินี (The Virgin's Lover)
  • "เขาคุ้นเคยกับความใคร่ที่มีต่อสตรีเพศ คุ้นเคยกับการหลอกใช้พวกนาง แต่ชั่วขณะหนึ่งที่เขายืนอยู่บนสนามประลองที่เตรียมไปได้เพียงครึ่งเดียวนี้ เขากลับสัมผัสถึงความรู้สึกใหม่ นั่นคือความอ่อนโยน และปรารถนาจะให้ราชินีทรงมีความสุขมากกว่าจะนึกถึงความสุขของตัวเอง"
    - โรเบิร์ต ดัดลีย์
    (หน้า 193)



    "เล่ห์รักบัลลังก์ราชินี (The Virgin's Lover)"

    ผู้เขียน: Philippa Gregory
    ผู้แปล: มณฑารัตน์ ทรงเผ่า
    สนพ. มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 1, พฤษภาคม 2559

    cr. ภาพ cover thetudorswiki.com
    cr. ภาพปก readery.co

              รอคอยภาคต่อของชุดราชวงศ์ทิวดอร์นี้มานานพอสมควร ในที่สุดก็คลอดฉบับแปลไทยออกมาเสียที "เล่ห์รักบัลลังก์ราชินี (The Virgin's Lover)" เดินเรื่องอยู่ในช่วงแรกของการเสด็จขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษ พระนางทรงได้รับการขนานพระนามว่า "พระราชินีผู้ทรงพรหมจรรย์" หรือ "The Virgin Queen"

              โรเบิร์ต ดัดลีย์ ชายผู้มีความทะเยอทะยานฝังอยู่ในสายเลือดมีความมุ่งมั่นจะกลับมารุ่งเรือง และมีอำนาจราชศักดิ์ในราชสำนักอีกครั้งอย่างแรงกล้า แม้ว่าจะเคยตกอับพบความอัปยศถูกขังอยู่ในหอคอย และเกือบจะต้องเสียชีวิตมาแล้ว เขาก็ยังไม่คิดจะยอมแพ้ถอดใจ แต่ไม่ว่าจะพยายามแค่ไหนสิ่งที่เขาได้รับมาก็มีแต่ความสูญเสียและยังตกอับเหมือนเดิม จนเมื่อเจ้าหญิงเอลิซาเบธขึ้นครองราชย์ โรเบิร์ตมองเห็นโอกาสทันที เขาใช้ความสัมพันธ์ที่มีมาแต่เยาว์วัยกับพระนางเป็นบันไดช่วยไต่กลับขึ้นไปยังความรุ่งโรจน์ในราชสำนักได้อีกครั้ง หากเพียงเขาจะพอใจเพียงเท่านั้นและใช้ชีวิตอย่างมีความสุขกับเอมี่ ภรรยาผู้จงรักและภักดีอย่างที่สุดของเขาต่อไป โรเบิร์ต ดัดลีย์คงจะเป็นชายที่น่าอิจฉาที่สุดในอังกฤษ แต่โรเบิร์ตไม่หยุดเพียงแค่นั้น "การเป็นคนโปรดจะไม่มีประโยชน์อะไรเลยถ้าไม่ได้ถีบตัวเองขึ้นเป็นบุรุษอันดับหนึ่งในอาณาจักร" โรเบิร์ตกล่าวไว้เช่นนั้น (หน้า 139) เขาหันมารุกเดินเกมแห่งอำนาจและความรักกับเอลิซาเบธหวังจะไต่สูงขึ้นอีก หวังไกลไปถึงบัลลังก์แห่งอังกฤษ เป็นกษัตริย์เคียงคู่กับราชินีผู้เป็นที่รัก...

    "สิ่งที่ท่านไม่รู้น่ะนะโรเบิร์ต ก็คือการเป็นชาวนาต่ำต้อยบนที่ดินร้อยไร่ก็ช่วยให้อังกฤษดีขึ้นได้และเป็นวิธีที่ดีกว่าด้วย ช่วยได้ดีกว่าการที่ข้าราชสำนักต่างดิ้นรนไขว่คว้าอำนาจในราชสำนักมาเป็นของตัวเองเสียอีก"
    - เอมี่ ดัดลีย์
    (หน้า 16)

              เราว่าเรื่องนี้เมื่อเทียบกับเรื่องก่อน ๆ ในชุดราชวงศ์ทิวดอร์อย่าง "สงคราม อำนาจ ราชบัลลังก์ (The Other Boleyn Girl)", "มรดกเลือดตระกูลโบลีน (The Boleyn Inheritance)", และ "หนึ่งนารีลิขิตบัลลังก์ (The Queen's Fool)" แล้วเนื้อหาและการดำเนินเรื่องดูจะอ่อนไปหน่อย ตัวละครเอกอย่างราชินีเอลิซาเบธในช่วงเวลานี้ก็ดูเป็นคนน่ารำคาญ และเห็นแก่ตัวอย่างร้ายกาจ ก่อนอ่านเราคาดหวังว่าจะได้เห็นพระอัจฉริยภาพของพระนางในการเดินเกมการเมืองอะไรแบบนั้น แต่ดูเหมือนช่วงเวลาในเรื่องนี้จะยังไม่เป็นดังหวัง พระนางยังสาวและเต็มไปด้วยความกลัว ทรงขึ้นครองราชย์ในขณะที่ความขัดแย้งทางศาสนาจากยุคสมัยของพระเชษฐภคินีต่างพระมารดา พระนางแมรี่ที่ 1 ยังเป็นที่จดจำของผู้คน (สมเด็จพระราชินีนาถแมรี่ที่ 1 ทรงสั่งเผาคนต่างนิกายไปจำนวนมาก ได้รับขนานพระนามว่า Bloody Mary) พระนางแมรี่ทรงเป็นคาทอลิก ส่วนราชินีเอลิซาเบธนับถือนิกายโปรเตสแตนต์ การดำเนินนโยบายทางศาสนาแบบโปรเตสแตนต์และการตั้งตนขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดทางศาสนาเอาอย่างพระบิดาทำให้เอลิซาเบธกลายเป็นศัตรูของพระสันตะปาปา และคนนิกายคาทอลิก มีข่าวว่าพระนางจะถูกปองร้ายโดยได้รับความเห็นชอบจากพระสันตะปาปา แล้วยังปัญหาการอ้างสิทธิในราชบัลลังก์อังกฤษของแมรี่ แห่งกีส ราชินีแห่งสกอต กับข้อพิพาธกับฝรั่งเศส

              ไม่เพียงเท่านั้นพระนางยังถูกกดดันเรื่องการอภิเษกสมรส บัลลังก์ต้องการกษัตริย์ที่เป็นผู้ชายและทายาท แต่พระนางก็ไม่ทรงเลือกใครอย่างจริงจัง ทรงแสร้งทำเป็นปลื้มคนนี้ แต่แล้วก็จะหาทางปฏิเสธ แล้วไปเลือกคนใหม่ สุดท้ายก็ไม่ทรงเลือกใครสมรสด้วยเสียที ข่าวลือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของพระนางและโรเบิร์ต ดัดลีย์ขุนนางทรงโปรดยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายขึ้น เนื่องด้วยเขาไม่เป็นที่ชื่นชอบนัก ทั้งด้วยนิสัยทะเยอทะยาน ข้อหากบฏที่เคยได้รับ แล้วยังเป็นชายที่แต่งงานแล้ว ไม่มีคุณสมบัติใดเหมาะสมพอจะเป็นสวามีของราชินีและกษัตริย์แห่งอังกฤษ

              ส่วนคนที่น่าสงสารที่สุดในเรื่องก็คือ เอมี่ ดัดลีย์ ภรรยาของโรเบิร์ต ผู้ที่รักและซื่อสัตย์ต่อสามีอย่างที่สุดกลับถูกความเห็นแก่ตัวของคนสองคนทำร้ายอย่างสาหัส นางต้องสูญเสียสามีให้กับผู้หญิงที่เป็นใหญ่ที่สุดในประเทศอย่างไร้หนทางสู้ ถูกธรรมเนียมและจารีต รวมทั้งข้อกำหนดทางศานาให้ยืนหยัดอดทนอยู่ใน "ตำแหน่ง" ภรรยาอย่างแสนทุกข์ใจ อย่างไรก็ตาม แม้จะถูกสามีทอดทิ้งและใจร้ายต่อนางมากมายถึงเพียงนั้น แต่นางก็ยังคงเฝ้ารอและรักเขาจนลมหายใจสุดท้าย (ตามประวัติศาตร์จริง ๆ ลือกันว่าการเสียชีวิตของเอมี่อาจเป็นการฆาตกรรม)

              ในประวัติศาสตร์จริงสุดท้ายแล้วโรเบิร์ต ดัดลีย์ก็สมรสใหม่ไปกับผู้อื่น ส่วนพระนางเอลิซาเบธก็ครองพระองค์เป็นโสดจนสิ้นรัชสมัย แม้ว่าหลายเรื่องหลายเหตุการณ์ที่เป็นความสำเร็จของพระนางจะได้มาเหมือนโชคช่วย แต่ก็ต้องยอมรับว่ารัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 นั้นนับเป็นยุคทองยุคหนึ่งของอังกฤษ เรื่องราวของพระนางยังถูกนำมาสรัางเป็นหนังด้วย ไม่รู้เคยดูกันหรือเปล่ามีสองภาค Elizabeth (1998) และ Elizabeth The Golden Age (2007) นำแสดงโดยตะละแม่ Cate Blanchett พล็อตก็จะมีส่วนที่ต่างออกไปอีก

    Elizabeth (1998) ช่วงแรกของการขึ้นครองบัลลังก์อังกฤษ

    Elizabeth: The Golden Age (2007) เรื่องราวในอีก 30 ปีถัดมาจาการขึ้นครองราชย์

              ส่วนเรื่องราวในหนังสือนิยายอิงประวัติศาสตร์ของเจ้าป้า Gregory นี้จะลงเอยแบบไหน ถ้าสนใจก็หามาอ่านกันเนาะ ไม่เล่าตอนจบแล้วกัน จินตนาการในการผูกโยงเรื่อง ถ่ายทอดบทสนทนา อารมณ์ ความรู้สึก และความคิดของนักเขียนคนนี้นับว่าไม่ธรรมดา อ่านได้เพลิดเพลินเหมือนอยู่ในเหตุการณ์จริง จนบางทีก็ลืมนึกไปว่านี่มันเรื่องแต่ง​ (จากเรื่องจริงอีกที) แต่ก็อย่างที่บอกว่าเรื่องนี้บทออกจะอ่อนอยู่สักหน่อย ไม่ค่อยฟาดฟันกันเท่าไร เทียบกับเรื่องก่อน ๆ หน้าที่แปลออกมาถือว่าเล่มนี้อ่านได้ในระดับพอเพลินอยู่บ้าง

    ข้อมูลเพิ่มเติม:
    th.wikipedia.org/wiki สมเด็จพระราชินีนาถแมรี่ที่ 1
    th.wikipedia.org/wiki สมเด็จพระราชีนาถเอลิซาเบธที่ 1
    bloggang.com ErShiYi - ประวัติศาสตร์อังกฤษจากหนังดัง

    Blog ที่เคยเขียนถึงงานของ Philippa Gregory:
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in