เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
this is my first storyพอกลอน ซาเสียง
เลิกเป็นคนดีแล้วจะมีความสุข?
  • 1

    เห็นเพจหนึ่งแชร์ข้อคิดจากหนังสือ “เลิกเป็นคนดีแล้วจะมีความสุข” แล้วมีคนแชร์และเข้ามาแสดงความคิดเห็นมากมาย


    บางคนบอกว่าเล่มนี้ดี อ่านแล้วชอบมาก บางคนบอกว่า อ่านจบแล้วตั้งใจว่าจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง จะทำให้หมดทุกข้อ แต่สุดท้ายทำไม่ได้เลย ส่วนบางคนบอกว่า หนังสือเล่มนี้นำเสนอเนื้อหาไม่ถูกต้องเพราะขัดแย้งกับที่พระพุทธเจ้าสอนให้เป็นคนดี มีเมตตา?


    เรียกว่ามีความคิดเห็นมากมายแตกออกเป็นหลายทาง 


    ผมเองเห็นหนังสือเล่มนี้ติดอันดับขายดีที่ร้านหนังสือต่อเนื่องยาวนาน จึงได้มีโอกาสพลิกอ่านบางบท พบว่าเป็นหนังสือที่น่าสนใจ และเหมาะกับสังคมไทยเอาเรื่อง (จึงไม่แปลกใจทำไมขายดี)


    (แต่หนังสือเล่มนี้สำหรับคนที่ไม่ชอบหนังสือฮาวทูคงจะไม่อ่านหรือสนใจ ขณะที่นักอ่านหนังสือทั่วไปอาจสะดุดตา เพราะชื่อค่อนข้างดึงดูด)


    เพราะสังคมไทยมักสอนในเราเป็นคนดี อย่าเห็นแก่ตัว มีน้ำใจและคอยช่วยเหลือคนอื่น แต่เอาเข้าจริงเมื่อโตมา เชื่อว่าหลายคนที่คิดและปฏิบัติตามนั้น จะรู้สึกว่าทำไมเราถึงถูกคนอื่นเอาเปรียบ และไม่มีความสุขมากขึ้นเรื่อยๆ


    ยิ่งถ้าเราประพฤติตัวเป็นคนดีมีน้ำใจมากเท่าไหร่ เหมือนจะยิ่งโดนเอาเปรียบมากเท่านั้น


    2

    รุ่นน้องคนนึงของผม เขาเป็นคนที่ชอบช่วยเหลือคนอื่นก่อนเสมอ สมัยทำงานแรกๆ เขาพร้อมที่จะย้ายเวร แสตนบายให้เพื่อนร่วมงานทุกคนตลอด


    เวลาจัดงานอีเวนต์นอกสถานที่ เขาจะไปถึงก่อน ยกอุปกรณ์ต่างๆ เลิกงานเก็บอุปกรณ์แล้วกลับเป็นคนสุดท้าย แต่ยิ่งเขาทำสิ่งนี้มากเท่าไหร่ กลายเป็นเพื่อนร่วมงานยิ่งไม่ค่อยช่วยงาน เอาเปรียบ และไม่เกรงใจเขา อยากเปลี่ยนวันหยุดกระทันหัน หรือมีงานด่วนก็จะให้เขาทำ


    เขาเคยมีความสุขกับการเป็นคนดีในแบบที่สังคมชอบ แต่พอทำจริงกลับได้ผลลัพธ์ตรงข้าม กลายเป็นความทุกข์ และไม่มีความสุขกับการทำงาน


    โชคดีที่หลังๆ รุ่นน้องคนนี้บอกว่า เขาไม่ทำตัวแบบเดิมแล้ว


    เขาบอกว่า “เวรใครก็เวรมันครับพี่ ถ้ามีอีเวนต์บางทีผมก็ไปตามเวลา แต่ไม่ได้รีบยกตงยกโต๊ะแบบเมื่อก่อน ช่วยๆ กัน ปล่อยให้คนอื่นเขาทำบ้างครับพี่” น้องบอกผมด้วยหน้าตามีความสุขกว่าเดิมเยอะ


    แสดงให้เห็นว่า การเป็นคนดีตามที่สังคมสอนสั่งทำให้เราไม่มีความสุข น่าสงสัยจังว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น


    3

    ผมคิดว่าสาเหตุสำคัญ เพราะไม่ใช่ทุกคนในสังคมจะเชื่อและทำตามแนวคิดนี้ทั้งหมด (ถ้าทำหมดสังคมคงดีไปแล้ว) บางคนอาจเชื่อแต่ไม่ทำตาม เพราะการเป็นคนดีหลายครั้งมันหมายถึงการเสียสละ การที่จะต้องเคารพกฎและกติกา การที่จะต้องคำนึงถึงคนอื่นก่อนตัวเอง 


    ต่างจากการทำตัวสบายๆ ชิลๆ ไม่ต้องสนกฎ ไม่ต้องเคารพกติกา อยากทำอะไรทำ ง่าย สบาย เพราะมันสบายกว่า ยิ่งเป็นคนมีอำนาจยิ่งไม่สนคนอื่น ปิดถนนทุกครั้งที่ต้องการ


    สติ๊กเกอร์ที่เขียนว่า “อย่าเห็นแก่ตัว” ก็อาจจะอ่านเป็น “จงเห็นแก่ตัว” แทน เพราะตัวเองได้ประโยชน์และมีความสุข


    ขณะที่การเป็นคนดีนั้นต้องคิดถึงคนอื่น จะทำอะไรก็เกรงใจ ต้องเคารพกติกามารยาท อยากพูดบางอย่างแต่ถ้าไปทำร้ายจิตใจคนอื่น ก็ต้องเก็บกดอดทนไว้ บางเรื่องไม่อยากทำก็ไม่กล้าปฏิเสธ จะทำอะไรก็ต้องคิด กังวล และแคร์คนอื่น(ถ้าหนักข้อบางคนอาจจะเปลี่ยนตัวเองให้เข้ากับอีกฝ่าย) จะเห็นว่า ช่างกลุ้มใจ เพราะการเป็นคนดีต้องเสียสละตัวเองหลายอย่าง 


    4

    ซึ่งผมคิดว่าสาเหตุสำคัญของการเป็นคนดีแล้วไม่มีความสุข ข้อหนี่งคือ การเสียสละตัวเองที่มากไปจนเบียดบังตัวเอง และข้อสอง การคาดหวังผลลัพธ์จากการเสียสละนั้น


    ถ้าเราเป็นคนดีโดยไม่เบียดเบียนความรู้สึก สิทธิ และความสุขตัวเอง เราก็น่าจะยังมีความสุขอยู่ และถ้าเราทำโดยไม่หวังผลตอบแทนก็น่าจะยังมีความสุข 


    ปัญหาคือหลายครั้งเราให้เพราะอยากให้คนอื่นชื่นชม ขอบคุณ หรือมองว่าเราเป็นคนดี


    ดังนั้นถ้าเราอยากให้ ก็ให้เพื่อให้ ไม่ต้องหวังอะไร

    ส่วนตอนไหนไม่อยากให้ ก็ไม่ต้องให้


    ไม่เบียดเบียนตัวเอง ไม่คาดหวังผลลัพธ์

    แล้วเราอาจเป็นคนดีแล้วมีความสุขก็ได้ครับ



เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in