เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ห้องหนังมืดFon Kansiri
Rabbit hole , Flatliners สิ่งนั้นยังคงอยู่ในใจ และไม่เคยหายไป

  • เมื่อเราพูดถึงความตาย เรามักสัมผัสได้ ถึงความซับซ้อน ละเอียดอ่อน และยากต่อความเข้าใจ อย่างไรก็ตาม “ความตาย” เป็นเรื่องสามัญธรรมดาที่สุดในความเป็นมนุษย์ เราทุกคนต้องพบเจอไม่วันใดวันหนึ่ง ภาพยนตร์เรื่อง Rabbit hole และ Flatliners แม้จะมีโทนเรื่องที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่นำเสนอนั้นมีจุดร่วม คือ ความตายที่ส่งผลต่อชีวิต 

    Rabbit hole เป็นเรื่องราวของ เบ็คก้า (นิโคล คิดแมน) และ ฮาววี่ (อารอน เอคฮาร์ท) หลังลูกชายของพวกเขาเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุรถชน ทั้งคู่เศร้าเสียใจและพยายามรับมือต่อการจากไป สามีเข้ากลุ่มบำบัด ส่วนภรรยาใช้วิธีการมากมาย เช่น การกำจัดสิ่งของที่ทำให้นึกถึงลูก การไปพบเด็กหนุ่มที่ขับรถชนลูกของเธอ แม้วิธีการจะแตกต่างแต่สิ่งที่ทั้งคู่เหมือนกันคือ ความเจ็บปวด และ การโทษตัวเอง ฮาววี่คิดว่า ถ้าเขาไม่เอาสุนัขมาที่บ้าน ลูกชายคงไม่วิ่งไล่สุนัขจนถูกรถชน เบ็คก้าโทษตัวเองที่ไม่ได้ล็อกประตู สำหรับพ่อแม่ การสูญเสียลูกเมื่อเกิดขึ้นก็สาหัสดั่งโลกเหวี่ยงให้หลุดลอยจากความเข้าใจเดิมที่มีต่อทุกสิ่ง จากของเล่นของลูกชายที่เคยเป็นสัญลักษณ์ของความสุข บัดนี้กลับตอกย้ำถึงการจากไปตลอดกาล 

    หากเรามานำหนังมาคิดต่อ ในแง่ทฤษฎีจิตวิทยา การรับมือความเศร้าของคนนั้น สามารถแบ่งเป็น 5 ขั้นตอน (The 5 Stages of Grief & Loss) คือ


    1. ปฏิเสธความจริง ตัวอย่างสถานการณ์เช่น ผู้ป่วยที่หมอวินิจฉัยว่าเป็นโรคร้าย ปฏิกิริยาแรกคือไม่เชื่อ คิดว่าหมอตรวจผิด เกิดความผิดพลาดสักอย่าง เป็นไปไม่ได้ ไม่มีทางเกิดเรื่องนี้กับฉัน
    2. เกรี้ยวกราด โมโหคนอื่นและตนเองที่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น ช่วงที่ประเทศของเราเกิดการสูญเสียครั้งใหญ่ ประชาชนใส่เสื้อดำไว้ทุกข์ เราอาจได้รับรูเหตุการณ์ที่คนบางกลุ่มมีอาการโกรธแค้น คนที่ไม่ใส่เสื้อดำ ด่าทอ ทำร้ายคนอื่น นั่นเป็นปฏิกิริยาหนึ่งหลังจากทราบข่าวร้าย
    3. ต่อรอง หลังจาก ผ่านความโกรธ จะเริ่มหาทางต่อรอง(อาจจะต่อรองกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์) ว่าขอให้เหตุการณ์นี้ไม่เกิดขึ้นจริง ถ้าผ่านไปได้จะเป็นคนดี บนบาน สวดภาวนา ต่างๆ
    4. ซึมเศร้า เกิดความเศร้า เก็บตัว ร้องให้ฟูมฟาย เป็นช่วงที่มักยาวนาน และหากไม่สามารถผ่านพ้นไปได้จะเกิดปัญหาทางจิต
    5. ยอมรับความจริง เป็นขั้นตอนสุดท้ายหลังจากผ่านทั้งหมด คือยอมรับ หาทางแก้ไข และเดินหน้าต่อไป 

      
    หนังทำให้เราเห็นตัวละคร ในทุกขั้นตอนของความสูญเสีย ผ่านการปฏิเสธความจริง ของสามีที่นั่งดูวิดีโอเก่าๆแล้วทำเสมือนลูกชายยังมีชีวิตอยู่, ความเกรี้ยวกราด และระเบิดอารมณ์ใส่กันของชีวิตคู่, การต่อรอง คิดว่าหากย้อนเวลากลับไปได้จะไม่ไปทางเส้นนั้นของเด็กหนุ่มที่ขับรถชน, บรรยากาศสีหม่นเผยความเศร้าภายในบ้าน หนังค่อยๆปูเรื่องกระแทกกระทั้นให้เรามีอารมณ์ร่วม และบทนิยามสิ่งที่คู่สามีภรรยาต้องเผชิญ สรุปได้จาก คำพูดของแม่ของ เบ็คก้า กล่าวกับลูกสาวว่า

    “ความทุกข์จากการสูญเสียยังคงอยู่ ไม่หายไปไหนหรอก แต่เมื่อเวลาผ่านไป น้ำหนักของความทุกข์นั้นลูกจะแบกรับมันได้ เหมือนก้อนหินในกระเป๋า บางขณะลูกลืมไปว่ามันยังอยู่ แต่ในบางขณะลูกก็รู้สึกถึงน้ำหนักของมัน อาจจะรู้สึกแย่บ้าง แต่ก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นตลอดไป”

    ในบางกรณีความสูญเสีย(loss) ก็มาพร้อมกับความรู้สึกผิด (Guilt) ซึ่ง Flatliners ก็นำประเด็นนี้มาขยี้ให้เราเห็นชัด ต่อยอดอีกขั้นหนึ่ง Flatliners เล่าเรื่องของ คอร์ทนี (เอลเลน เพจ) นักศึกษาแพทย์ ที่ในอดีตเคยประมาททำให้น้องสาวถึงแก่ความตาย เกิดเป็นปมให้เธอศึกษาการตายวูบเดียว เรียกว่า NDE หรือ Near Death Experience โดยทำให้ตัวเองตายแล้วให้เพื่อนนักศึกษาแพทย์คนอื่นช่วยชีวิตขึ้นมา หลังฟื้นจากNDE คอร์ธนีย์พบว่าเธอมีความสามารถเพิ่มขึ้น จนเพื่อนนักศึกษาคนอื่นอยากลองตายวูบเดียวบ้าง แต่สิ่งที่ทุกคนไม่รู้คือ ความตายนำพาตราบาปในอดีตกลับมาไล่ล่าพวกเขา 


    ในช่วงชีวิตของเราทุกคนย่อมเคยทำผิดพลาด ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ความรู้สึกที่เกิดตามมาหลังจากนั้น คือ ความรู้สึกผิด (Guilt) คือ การไม่ยอมรับการกระทำของตัวเอง รู้สึกแย่กับตัวเอง เช่นในกรณีของคอร์ธนีย์และเพื่อน ที่มีความรู้สึกว่าตนได้ทำบางสิ่งบางอย่างผิดพลาดไป จนทำให้คนตาย หรือ บาดเจ็บ เมื่อกลับมาจากการตายความผิดบาปในใจถูกขยายขึ้นชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น น้องสาวที่เสียชีวิต ผู้หญิงที่เคยทอดทิ้ง คนไข้ที่รักษาผิดพลาด เพื่อนที่เคยกลั่นแกล้ง เราจะเห็นตัวละครแ ต่ละตัว ต้องจัดการกับความผิดพลาดในอดีต ด้วยวิธีการของตนเองแตกต่างกันไป


    เคยมีงานวิจัย สัมภาษณ์ คนที่เคยประสบภาวะหัวใจหยุดเต้น (Cardiac Arrest) แต่กลับฟื้นขึ้นมาโดยการปั๊มหัวใจ แม้บางส่วนไม่มีความทรงจำใดๆ แต่บางส่วนบอกว่าในภาวะหัวใจหยุดเต้น นั้น เห็นภาพชีวิตย้อนหลังของตัวเองและได้พบกับคนที่จากไปแล้ว ที่น่าสนใจคือ คนที่มีประสบการณ์เฉียดตายนั้น หลังจากรอดชีวิต จะมีความชัดเจนและทัศนคติทางสังคมเป็นไปในทิศทางเพื่อคนอื่นมากขึ้น มีทัศนคติที่จะเรียนรู้ชีวิตมากขึ้น กลัวความตายน้อยลง และให้ความสนใจกับการหาความหมายของชีวิตมากกว่าเดิม


    เมื่อเรามองให้ดี ความผิดที่เกิดขึ้น แม้จะพยายาม ปกปิด กลบฝังไว้แต่มันก็ไม่เคยหายไป(ความเศร้าใน Rabbit hole ก็เช่นกัน) มันยังอยู่ในตัวเราเสมอ ติดตามเราไปทุกที่นับตั้งแต่วินาทีที่เราสร้างมัน และมีอยู่เสมอจนถึงวันที่เราตาย หนังสร้างความระทึก ทำให้ความตายที่มีในทุกมิติของชีวิตกระเพื่อมขึ้นอย่างเด่นชัดและรู้สึกกลัวต่อความผิดบาป ก่อนจะขยี้ปมด้วยคำพูดที่คอร์ทนีย์ กล่าวกับ มาโล ว่า “เธอต้องให้อภัยตัวเอง” กล่าวอีกแง่หมายถึง การจัดการปัญหาและคลี่คลายปมในใจ เพื่อที่จะเรียนรู้การให้อภัยตัวเอง และก้าวต่อไป

    Rabbit hole และ Flatliners มีจุดร่วมทำให้เราตระหนักว่า ความสูญเสียและความผิดพลาดที่ผ่านเข้ามาแม้จะทำให้เราเจ็บปวด เมื่อเราก้าวข้ามและทิ้งจุดดับของตนเองไปได้ เราจะแข็งแกร่งขึ้น ใน Rabbit hole การก้าวไปข้างหน้าในอีกแง่อาจเรียกได้ว่าการตากย้ำความตรึงใจต่อความทรงจำที่เรามีต่อคนที่รัก และใน Flatliners การกล้าเผชิญหน้าและพูดความผิดพลาดของตัวเอง แม้จะลำบากในช่วงต้น แต่ผลระยะยาวนั้นนั้นน่าภูมิใจ ทั้งสองเรื่องเตือนให้เรารู้ว่า เมื่อเราก้าวข้ามปัญหาร้ายแรงในชีวิตไปได้ เราจะเป็นคนที่สมบูรณ์และเข้มแข็งมากขึ้น

    ข้อมูลบางส่วนมากจาก
    Dr Pirn van Lommel MD, Ruud van Wees PhD, Vincent Meyers PhD, Ingrid Elfferich PhD (2001) Near-death experience in survivors of cardiac arrest: a prospective study in the Netherlands, The Lancet – 15 December 2001 (Vol. 358, Issue 9298, Pages 2039-2045).

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in