เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ห้องหนังมืดFon Kansiri
Black Swan, Beautiful mind เรื่องของใจ ใครว่าไม่สำคัญ
  •          นีน่า (Natalie Portman) เป็นนักบัลเล่ย์ที่มีความสามารถ มีวินัยในการฝึกซ้อม ชีวิตของเธอดำเนินอย่างราบรื่นจนวันหนึ่งผู้กำกับ รีลอย (Vincent Cassel) ได้เลือกให้เธอรับบทนำเรื่อง Swan lake
    ท่ามกลางความชื่มชมและริษยาของนักเต้นคนอื่น บทนี้ นีน่าจะต้องแสดงเป็นทั้ง ด้านสว่างคือ หงส์ขาว และ ด้านมืด หงส์ดำ นั้นเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาทางจิตของเธอ

          เริ่มด้วยผู้กำกับไม่พอใจกับการเต้นของนีน่า ที่แม้สวยงาม แต่ขาดเสน่ห์ (ความสามารถของเธอเน้นการฝึกฝนอย่างนักกีฬา ไม่ได้ใช้การแสดงออกภายในเหมือนศิลปิน) เขากระตุ้นให้เธอแสดงอารมณ์ แสดงสัญชาตญาณดิบออกมา เธอต้องเผชิญความกดดันทั้งจากการแสดง ความกังวลต่อคู่แข่ง ลิลี่ (Mila Kunis) ตัวสำรองผู้พรั่งพรูไปด้วยความอิสระทางอารมณ์ เป็นดังขั้วตรงข้าม และอาจจะแย่งบทนี้ไปจากเธอได้ทุกเมื่อ อีกปัญหาหนึ่งที่ทำให้ความกังวลยิ่งหนักหนา คือแม่ผู้เข้มงวดและยังเลี้ยงเธอเหมือนเด็ก คอยกดดันเธอทุกการตัดสินใจ

    วันหนึ่ง นีน่ามองกระจกเห็นบาดแผลในร่างกายมันเริ่มลามใหญ่ขึ้น  เธอเห็นตัวเองอีกคนเดินสวนกันที่ทางเดินเมื่อลิลี่ที่เป็นคู่แข่ง ชวนเธอไปเที่ยวกลางคืนก่อนวันแสดง  ชักชวนเธอเสพยา นีน่าเห็นภาพที่เหมือนจริงว่าตนเองได้ร่วมรักกับลิลี่ เช้าวันรุ่งขึ้นเธอตื่นมาเพื่อแสดงบทนำครั้งแรกของเธอนำไปสู่บทสรุปและการปลดปล่อยตัวเองของหญิงสาวที่สะเทือนอารมณ์

     

    หากนำเรื่องราวของนีน่ามามองอย่างวิเคราะห์เชื่อมโยงถึงทฤษฎี โครงสร้างทางจิตใจของบิดาแห่งจิตวิเคราะห์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) เราจะเห็นว่า มนุษย์ประกอบไปด้วย Id (อิด) คือสัญชาตญาณดิบ เช่น ความหิว ความโกรธ ความต้องการทางเพศ หากเราทำทุกอย่างตาม Id คือ หิวข้าว แต่ไม่มีเงินก็จะขโมย เกลียดใครสักคนก็จะฆ่า การกระทำจะมุ่งตอบสนองตามความรู้สึกเท่านั้น โดยปกติ Id จะอยู่ในส่วนจิตไร้สำนึก ถูกควบคุมโดย Ego (อีโก้) และ Superego (ซุปเปอร์อีโก้) ในกรณีของนีน่า ลีรอยพยายามกระตุ้น Id ของเธอออกมา


     Id คือ black swan ที่อยู่ภายในตัวของมนุษย์ทุกคน รอยแผลที่นีน่าเห็นเริ่มงอกออกมาเป็นปีกและขนของหงส์ดำ ค่อยๆครอบงำหงส์ขาว ตอนจบหงส์ดำครอบครองบนเวทีอย่างสมบูรณ์แบบ ฆ่าหงส์ขาวหรืออีกนัยหนึ่ง คือตัวตนเดิมของเธอ 


    Superego คือ สิ่งที่กรอง Id ให้ทำในสิ่งที่กรอบสังคมกำหนดไว้ อันได้แก่ จารีต วัฒนธรรม หนังแสดงให้เห็นในรูปแม่ของนีน่าที่มีนีน่าก่อนเวลาทำให้เธอเสียโอกาสในการเป็นดาวเด่นในวงการบัลเล่ย์ อาจเป็นสาเหตุให้เธอเลี้ยงนีน่าอย่างเข้มงวด ควบคุมทุกอย่าง หวังให้ลูกทำตามความฝันของเธอ จนทำให้นีน่าเก็บกดไม่สามารถระบายสัญชาตญาณ (Id) ออกมาได้ 


    ส่วน Ego อยู่ระหว่างกลาง หากจะตอบสนองId จะใช้เหตุผลดูว่าเป็นไปได้หรือไม่ เมื่อId มีแนวโน้มเข้าสู่จิตสำนึก จะมีสัญญาณเตือนต่อ Ego เพื่อผลัก Id ไปสู่จิตไร้สำนึกตามเดิม ทั้งสามส่วนนี้เป็นส่วนที่ทำให้มนุษย์สมดุล นีน่าซึ่งมีแม่คอยควบคุมId ของเธอ มาตลอด Ego ของเธอจึงอ่อนแอ เมื่อมีการกระตุ้นทำให้เสียสมดุลระหว่างองค์ประกอบทั้งสาม เธอจึงปลดปล่อย Id อย่างไร้การควบคุม จึงเกิดโศกนาฏกรรมในท้ายสุด



    ลองมาดูเรื่องอีกมุมของ จอร์น แนช กันบ้าง
    จอร์น แนช (Russell Crowe) ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์จากการคิดค้น ทฤษฎีเกม สมัยเรียนอยู่พรินซ์ตัน เขามีเพื่อนมหาวิทยาลัยที่อยู่หอเดียวกัน เป็นเพื่อนที่สนิทที่คุยกันถูกคอ คอยให้กำลังใจเมื่อถูกนักศึกษาคนอื่นล้อเลียน คอยเคียงข้างเมื่อไม่สามารถคิดงานส่งอาจารย์ได้


    จอร์นฝ่าฟันสังคมมหาวิทยาลัยมาได้จนได้งานถอดรหัสตัวเลขให้ราชการ เขาโดนทาบทามจากหน่วยสืบราชการลับให้ช่วยถอดรหัสของผู้ก่อการร้าย โดยรหัสจะซ่อนในนิตยสาร หนังสือพิมพ์ทั่วไป เขาทำงานอย่างหนัก ต้องเก็บซ่อนความลับ ต้องระวังคนที่มาทำร้าย ด้วยตัวงานที่เป็นความลับทำให้อาการของเขาไม่เป็นที่ผิดสังเกต ยกเว้นแต่ คนรักของเขา อลิเซีย (Jennifer Connelly) เริ่มสังเกตถึงความผิดปกติ ซึ่งกว่าจอร์น จะรู้ว่าทั้งเพื่อนสนิทที่ตัวเองคบมานาน เจ้าหน้าที่ราชการลับ เป็นสิ่งที่เขาคิดไปเองทั้งหมด เพราะเขาเป็นผู้ป่วยจิตเภท อาการของเขาก็เป็นมานานจนยากแก่การรักษา เป็นตอนหักมุมในหนังของทั้งผู้ชมและจอร์น เมื่อภรรยาพาหมอมาหาเพื่อรักษาตัวเขา ในมุมของจอร์น สิ่งที่เชื่อมาตลอดพังทลายไปต่อหน้าต่อตา และต้องเริ่มมองชีวิตในอีกมุมที่ไม่เคยเห็น


    การเห็นภาพหลอนเป็นหนึ่งในอาการของโรค Schizophrenia เป็นโรคของจิตที่ผิดปกติ อาการที่พบคือ ได้ยินหรือเห็นคนที่อาจมีอยู่จริงหรือไม่มี เกิดการตอบโต้กับภาพหลอนเหล่านั้น มักเกิดในวัยรุ่นเนื่องจากความเครียดและปัจจัยกระตุ้น วัยรุ่นในต่างประเทศมีอุบัติการณ์โรคนี้ 1 ใน 100 นับเป็นโรคที่ใกล้ตัวกว่าที่คิด 


    ภาพยนตร์ Black Swan และ Beautiful Mind เป็นตัวอย่างของชีวิตผู้ป่วยที่ทุกข์ทรมานกับโรคดังกล่าว เช่นจอร์นที่สร้างเพื่อนและเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่มีอยู่จริงขึ้นมา และ นีน่าที่เห็นบาดแผล คิดไปเองจิตหลอนว่าตัวเองร่วมรักกับคู่แข่ง ซึ่งกว่าทั้งคู่และคนใกล้ตัวจะรู้ว่าสิ่งที่เห็นเกิดจากความคิดของผู้ป่วย อาการของโรคก็เป็นมานานจนรักษายาก เนื่องจาก โรคจิตเภทเป็นปัญหาภายในจิตใจ ไม่มีผลการตรวจอะไรที่ใช้วินิจฉัยแน่นอน การซักประวัติและการสังเกตพฤติกรรมจึงเป็นกุญแจสำคัญในการระบุโรคและรักษาและหากพบได้เร็ว (early detection) จะทำให้ผลการรักษาประสบความสำเร็จได้ดีขึ้น


    ภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องมีการศึกษาภาวะของผู้ป่วยเหล่านี้อย่างดี แสดงตัวอย่างของคนไข้โรค Schizophrenia โดยแสดงให้เราเห็นในมุมมองของผู้ป่วยที่เข้าใจว่าสิ่งที่ตนเองเห็นเป็นจริง จนเราที่เป็นคนดูรู้สึกคล้อยตามและสับสนไปด้วยอย่างเสียไม่ได้ ทำให้ผู้ชมเห็นอีกแง่มุมของผู้ป่วย หลายคนอาจคิดว่าปัญหาทางจิตนั่นไม่สำคัญเท่าทางกาย หากสังเกตให้ลึกขึ้นจะเห็นได้ว่า ผู้ป่วยเหล่านี้นั้นน่าสงสารและต้องการความช่วยเหลือไม่ต่างจากผู้ป่วยทางกายภาพอื่นๆ ปัญหาภายในนั้นแก้ยากอาจเป็นเพราะมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่เปราะบาง เมื่อแตกร้าวจากภายในก็ยากที่จะใช้ชีวิตในโลกที่แตกร้าวไม่แพ้กัน 


     ปัญหาที่เกิดขึ้นกับนีน่าและจอห์น นอกจากทางการแพทย์ที่ต้องให้ความช่วยเหลือแล้ว กุญแจสำคัญที่สัมผัสได้ด้วยใจคือความรักของคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นความรักที่อลิเซียมีให้แก่จอร์น หรือ แม่ที่มีให้ต่อนีน่า การให้กำลังใจ ความเข้าใจ และการเคียงข้างเป็นหัวใจสำคัญในการต่อสู้โรคที่ยากจะเข้าใจ สิ่งที่ต่างกันระหว่าง Black Swan และ Beautiful Mind คือ ความรักที่จอร์นได้รับเป็นความรักที่ไม่บังคับ ไม่ตัดสิน และเต็มไปความห่วงใย ส่วนความรักที่นีน่าได้รับจากแม่นั้นเต็มไปด้วย กรอบ ความยึดมั่น และการควบคุม โรคจิตเภทเป็นเรื่องของใจ จึงควรเข้าถึงด้วยใจที่ไม่ตัดสิน และเปิดกว้าง เห็นได้จากบทสรุปที่แตกต่างของหนังทั้งสองเรื่อง


    ข้อมูลบางส่วนมาจาก
              • McGrath J, Saha S, Chant D, Welham J. Schizophrenia: a concise overview of incidence, prevalence, and mortality. Epidemiologic reviews. 2008 Nov 1;30(1):67-76. 

    • มาโนช หล่อตระกูล. จิตเวชศาสตร์ รามาธิบดี.พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ. ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี. 2558 

    • http://theredlist.com

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in