เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
WHY ร้ายSALMON X VANAT
07: HADES เจ้าแห่งนรก
  • PROFILE
    NAME: ฮาเดส
    FIRST APPEARANCE: Saint Seiya ตอน ‘Towards A World of Light’ (1990)
    GOAL: ทŽำลายล้างมนุษยชาติ

    ด้วยความชิงชังมนุษย์ที่ไม่รู้จักเจียมตัวและไม่เคารพพระเจ้า ‘ฮาเดส’ ผู้เป็นเจ้าแห่งนรกเลยไม่สบอารมณ์และต้องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ให้หมด แต่เป้าหมายของเขาก็ไม่ราบรื่น เมื่อ ‘อาเธนา’ เทพีแห่งสงครามและสติปัญญาต้องการที่จะปกป้องมนุษย์ 

    เมื่อมีอุดมการณ์ตรงข้ามกันขนาดนี้ ฮาเดสและอาเธนาจึงกลายเป็นคู่ปรับโดยปริยาย ทั้งสองก่อสงครามศักดิ์สิทธิ์จนเกิดเป็นศัตรูข้ามภพข้ามชาติ ตามล้างตามผลาญจนกว่าอีกฝ่ายจะสลายหายไป

    การต่อสู้ของอาเธนาคือยุทธการในที่สว่าง เธอนำเหล่า ‘เซนต์’ กองทัพนักรบของตนไปต่อสู้กับศัตรูแบบตาต่อตา ส่วนฮาเดสกลับใช้วิธีตรงกันข้าม เขาเลือกที่จะซุ่มดูเหตุการณ์ คอยเวลาอย่างเงียบเชียบ รอให้ได้จังหวะปิดฉากแล้วค่อยออกมาเป็นคน ‘ปิดเกม’ 
  • ฮาเดสปล่อยให้อาเธนาและเหล่าเซนต์ผจญอุปสรรคจากสารพัดศัตรูอื่น ซึ่งเยอะจนสามารถแบ่งได้ถึงสองภาค (คือภาค ศึก 12 ราศี และภาค ศึกเจ้าสมุทรโพเซดอน) โดยฮาเดสไม่มีบทเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งๆ ที่เทกโอเวอร์สิงร่างของ ‘ชุน’ หนึ่งในเหล่าเซนต์ของเทพีอาเธนาไว้แล้วตั้งแต่ต้นเรื่อง

    กว่าฮาเดสจะเริ่มขยับตัวก็ปาเข้าไปสู่ภาค เจ้านรกฮาเดส ที่ขนาดชื่อภาคบอกไว้ชัดเจนว่าเป็นภาคของแก แต่ฮาเดสก็ยังไม่ยอมออกโรง! (อู้งานขนาดนี้น่าถูกปลดจากเจ้านรก!) เขาอาศัยลูกน้องในการเคลื่อนไหว และยืมมือคนอื่นจัดการศัตรูแทน

    ถึงอย่างนั้น ความยิ่งใหญ่ของเจ้านรกก็เป็นเรื่องที่สัมผัสได้ ดูได้จากจำนวนของสเปกเตอร์ (ลูกน้องระดับแนวหน้าของฮาเดสที่มีมากกว่าร้อยคน) รวมทั้งความยิ่งใหญ่ของศัตรูที่นอกจากอาเธนาก็ต้องเข้าร่วม เหล่าเซนต์ที่มากฝีมือก็ต้องถูกระดมพลออกมา

    สรุปแล้ว การจะได้รู้บารมีและความเก่งกาจของฮาเดสอาจวัดได้จากสภาพของศัตรูที่ระหว่างทางต้องเผชิญความยากลำบากและความเป็นความตายมากมายกว่าจะได้มาประลองฝีมือกับฮาเดสตัวเป็นๆ สักครั้ง


  • BAD LIST

    • แผนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ของฮาเดส คือการรอให้เกิดสุริยุปราคาขั้นสูงสุด หรือปรากฏการณ์ดาวนพเคราะห์เก้าดวงมาเรียงตัวต่อกันจนทั้งโลกมีแต่ความมืด เขาจะได้ใช้พลังทำให้ดวงดาวทั้งหมดอยู่ในตำแหน่งนี้ไปตลอดกาล แล้วพอโลกไร้แสงสว่าง ขาดความอบอุ่น มนุษย์จะได้ตาย และโลกจะได้กลายเป็นดวงดาวที่ไร้ชีวิต!

    • ฮาเดสตามอาเธนาจุติมาสู่โลก แต่เพราะหวงแหนร่างของตัวเอง ไม่อยากให้อะไรมาแปดเปื้อน เขาจึงเก็บร่างเอาไว้ในหอคอยที่ทุ่งเอลิเซียน ณ แดนสุขาวดี เขตชั้นในสุดของนรก แล้วถอดวิญญาณมาสิงร่างมนุษย์แทน ซึ่งร่างที่ฮาเดสเข้าสิงคือร่างของทารกกำพร้าที่ชื่อ ‘ชุน’ ว่าที่หนึ่งในเหล่าเซนต์ของอาเธนา ชะตากรรมของชุนจะถูกฮาเดสกำหนด เขาครอบงำจิตใจ ควบคุมร่างกายเด็กน้อยให้ต้องทรยศต่อพรรคพวกของตัวเอง

    • เพื่อที่จะฆ่าอาเธนาให้ได้ ฮาเดสเลยหยิบยื่นการมีชีวิตเป็นอมตะไปหลอกล่อเหล่าโกลด์เซนต์ (เซนต์ระดับสูงสุด) ที่ตายไปแล้ว โดยแลกกับการให้ไปบุกดินแดนศักดิ์สิทธิ์เพื่อสังหารอาเธนาที่อยู่ ณ เทวสถานด้านในสุด


  • IN-DEPTH
    โดย วณัฐย์ พุฒนาค

    จากปี 2015 มองย้อนไปยังสมัยที่วัยรุ่นใช้ชีวิตออฟไลน์ สมัยที่ทีวียังเป็นตู้ๆ และเหล่าเด็กบ้าการ์ตูนแย่งกันอ่านนิตยสารรายสัปดาห์กันอยู่ ตอนนั้น Saint Seiya เป็นหนึ่งในการ์ตูนที่ถือได้ว่าประสบความสำเร็จและโด่งดังไปทั่วภูมิภาค จนอาจเรียกได้ว่าเป็นการ์ตูนระดับ ‘ปรากฏการณ์’ ของยุค 80s ก็ว่าได้ (เห็นได้จากการเป็นต้นแบบให้กับงานในยุคหลังๆ เช่น ‘ไทโตะ คุโบะ’ ผู้เขียนเรื่อง Bleach ที่ยกย่องการ์ตูนเรื่องนี้เป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการสร้างผลงาน)

    Saint Seiya เริ่มตีพิมพ์ในนิตยสาร Shonen Jump ตั้งแต่ปี 1986 ก่อนจะได้รับความนิยมและถูกดัดแปลงเป็นอนิเมะในปีเดียวกัน จากที่ได้รับความนิยมแค่ในญี่ปุ่น มันก็ค่อยๆ แพร่ไปทั่วเอเชีย ขยายไปยังยุโรป ข้ามไปสหรัฐอเมริกา และมาเผยแพร่ที่ประเทศไทยในปี 1988 ผ่านการนำเข้าฉายของไทยทีวีสีช่องสาม (ก่อนจะถูกนำมาฉายซ้ำอีกผ่านสถานีอื่นๆ) ซึ่งในด้านของการเป็นมังงะ Saint Seiya ก็มียอดขายถึง 25 ล้านเล่มในปี 2007 และมียอดขายเกิน 34 ล้านเล่มในปี 2013 

    จากแรงบันดาลใจในการเห็นภาพฝนดาวตก และการมีแหล่งอ้างอิงเป็นปกรณัมกรีกและกลุ่มดาว ‘มาซามิ คุรุมาดะ’ ผู้เขียนการ์ตูนเรื่องนี้ก็นำเรื่องราวไปผูกจนเกิดเป็นมิตรภาพและการต่อสู้ของเด็กหนุ่มในชุดเกราะที่โยงใยกลับไปถึงตำนานกรีก (แน่นอนว่าในทางดาราศาสตร์ กลุ่มดาวต่างๆ อ้างอิงกับปกรณัมกรีก เช่น กลุ่มดาวม้าบินที่ไม่ได้อ้างอิงจากซอสพริก แต่อ้างอิงจากม้าในเทพนิยายกรีกคือ ‘เพกาซัส’ ซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็นกลุ่มดาวเซนต์พระเอกของเรา) 
  • แน่นอนว่าพอมันได้แรงบันดาลใจมาจากดวงดาว สรวงสวรรค์ การต่อสู้ครั้งนี้ย่อมไม่ใช่ศึกไก่กา แต่ย่อมเป็นสงครามของเหล่าทวยเทพ! และเมื่อเทพปะทะเทพ ก็คงไม่มีหน่วยงานไหนเหมาะเป็นตัวร้ายเท่า ‘ฮาเดส’ เทพเจ้าแห่งโลกหลังความตาย ผู้ประจำการอยู่ที่สาขาใหญ่ในนรกอีกแล้ว

    ถ้าเราลองสำรวจเรื่องของทวยเทพจากทุกวัฒนธรรม คำอธิบายของเทพเจ้ามักจะเกี่ยวกับเรื่องของธรรมชาติหรือเรื่องรอบๆ ตัวมนุษย์ เช่น กลางวัน กลางคืน ฝนตก ฟ้าร้อง การเกิด การตาย ซึ่งกับชาวกรีกแล้วนั้นมีเทพเยอะมาก มีอยู่ในแทบทุกอย่าง เช่น เทพกลุ่มอนีมอย (Anemoi) ที่รวมเทพประจำลมที่พัดจากทิศสำคัญทั้งสี่คือ ลมเหนือ ลมใต้ ลมตะวันออก และลมตะวันตกไว้ด้วยกัน โดยลมทั้งสี่จะสัมพันธ์กับฤดูกาลต่างๆ เช่น การมาถึงของลมเหนือหมายถึงสัญญาณของฤดูหนาว หรือลมตะวันตกหมายถึงความเจริญงอกงามของฤดูใบไม้ผลิที่กำลังจะมาถึง ซึ่งการมาถึงของลมเหล่านี้มีความสำคัญกับชีวิตของมนุษย์มาก จึงต้องมีการบูชาหรือเฉลิมฉลองให้กับพลังของธรรมชาติที่ให้คุณ หรืออ้อนวอนขออภัยในส่วนที่ธรรมชาติให้โทษกับมนุษย์

    สำหรับชาวกรีก เทพเจ้าก็อยู่รอบตัวมนุษย์เหมือนกัน พวกเขามีกลุ่มเทพ 12 องค์เรียกว่าชาวโอลิมเปียน เป็นกลุ่มเทพเจ้าที่สถิตอยู่บนภูเขาโอลิมปัส (เรียกว่าเป็นสวรรค์ของชาวกรีก) ซึ่งก็เป็นเหล่าเทพที่สัมพันธ์กับชีวิตของมนุษย์ด้วย (และมนุษย์ก็บูชาเพื่อให้ชีวิตสงบสุข) เช่น ‘ซุส’ เทพสายฟ้า ‘อพอลโล’ เทพแห่งแสงสว่างกับศิลปวิทยาการ และ ‘อโฟรไดท์’ เทวีแห่งความรัก

    แต่ในธรรมชาติ ก็มีบางอย่างที่เป็นสิ่งสำคัญกับชีวิต แต่ไม่เป็นที่พึงปรารถนาเท่าไหร่อย่างเช่น ‘ความตาย’ อยู่ด้วย

    ที่จริง การนับว่าฮาเดสเป็นส่วนหนึ่งของเทพทั้ง 12 ก็เป็นปัญหา เพราะมีคนที่บอกว่าไม่นับฮาเดส เพราะวันๆ พี่แกเอาแต่อยู่ในนรก ไม่เคยเข้าสภาเลย จะมานับเป็นพวกเดียวกันได้ยังไง! 

    ในแง่หนึ่งก็ฟังดูน่าเกรงขาม แต่อีกแง่ก็ฟังดูน่าสงสาร เหมือนถูกตัดญาติ (ฮาเดสกับเหล่าเทพโอลิมปัสมีความสัมพันธ์กันทางสายเลือดด้วยนะครับ) ทั้งๆ ที่พี่แกมีภาระใหญ่หลวงอย่างการทำงานในนรกให้ต้องรับผิดชอบแท้ๆ
  • สำหรับมนุษย์ ฮาเดสเป็นเทพที่ชาวกรีกแสนจะเกรงกลัว ขนาดเอ่ยนามยังไม่ค่อยกล้า (แน่นอนล่ะครับ คงไม่มีใครอยากให้เทพแห่งความตายมาเยือน) แต่ความจริง ตามตำนานนั้น ฮาเดสไม่ได้เป็นยมบาลสายซาดิสต์ ถือแส้เฆี่ยนตีหรือยืนยิ้มดีใจเวลาวิญญาณถูกเทน้ำจากกระทะทองแดงกรอกปากนะครับ แต่ด้วยตำแหน่งเทพแห่งความตายจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนจะไม่ชอบหน้าเยอะ เพราะแม้แต่เทพด้วยกันยังเขม่น

    วีรกรรมที่เป็นอันเลื่องลือของฮาเดสคือการหาภรรยามาเป็นราชินีแห่งโลกบาดาล เพราะพี่แกดันตกหลุมรัก ‘เพอร์เซโฟนี’ (Persephone) เทพธิดาน้อย ลูกสาวของ ‘ดีมีเทอร์’ (Demeter) กับซุส ซึ่งจริงๆ ถือว่ามีศักดิ์เป็นหลาน แต่กฎพันธุกรรมคงใช้ไม่ได้กับทวยเทพ ฮาเดสเลยไม่สน

    ความที่ดีมีเทอร์เองไม่ชอบหน้าฮาเดสอยู่แล้ว (แน่ล่ะ เทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์จะไปถูกโรคอะไรกับเทพแห่งความตาย) นางเลยพยายามกีดกันฮาเดสออกจากลูกสาว แต่ฮาเดสก็ไม่ยอมแพ้อุปสรรคจากแม่ยาย เขาหาทางแก้ปัญหาหัวใจตามสไตล์พระเอกละครตบจูบด้วยการฉุดสาวคนรักไปซะเลย 

    ดีมีเทอร์พอรู้ตัวว่าลูกหายก็ควานหาตามลงไปจนถึงนรก แต่ฮาเดสก็ฉลาด (แกมเจ้าเล่ห์) เอาผลทับทิมให้เพอร์เซโฟนีกิน ซึ่งในยมโลกมีกฎอยู่ว่า ใครกินผลไม้ของยมโลกเข้าไปจะต้องมีความผูกพันกับโลกบาดาล ซึ่งความที่คงจะหิว เพอร์เซโฟนีเลยซัดทับทิมไม่ยั้ง 

    ด้วยเหตุนี้ เพอร์เซโฟนีเลยต้องลงไปอยู่ในนรกกับฮาเดสทุกปี โดยเชื่อกันว่าช่วงที่เพอร์เซโฟนีอยู่ในยมโลกยังผลให้เกิดฤดูหนาวบนโลกมนุษย์ การหายไปของเทพธิดาแห่งความอุดมสมบูรณ์ส่งผลให้เกิดความเหน็บหนาวที่น่าหดหู่ เหล่าพืชพรรณพากันสลด เหี่ยวแห้ง และล้มตายลง ได้แต่รอคอยการกลับมาของเทพธิดาน้อยที่นำพาเอาความงอกงามและความสดชื่นกลับมาสู่โลกมนุษย์อีกครั้งในช่วงฤดูใบไม้ผลิ
  • มาที่ฮาเดสเวอร์ชั่นการ์ตูนกันบ้าง (ออกทะเลไปไกล...)

    การตีความฮาเดสในฐานะตัวร้ายของ Saint Seiya ในด้านหนึ่งก็ดูจะสัมพันธ์กับพื้นฐานของการเป็นเจ้ายมโลกที่ต้องลงโทษมนุษย์ผู้ทำผิด เช่น ฮาเดสไม่พอใจมนุษย์ที่อหังการเกินไปเลยอยากจะทำลายให้มันหมดๆ โลก คือเฮียเขาต้องการแสดงให้เห็นว่าพวกมนุษย์น่ะมันกระจอกขนาดไหน แต่พี่แกคงลืมไปว่า ตัวเองแข็งแกร่งที่สุดอยู่แล้ว ไม่มีใครเอาชนะความตายได้อยู่แล้ว ไม่ต้องเหนื่อยส่งสเปคเตอร์ขึ้นมาก็ไม่มีใครอยากยุ่ง แต่สุดท้ายดันชักศึกเข้าบ้าน หาเรื่องให้ตัวเองพ่ายแพ้ซะงั้น

    แต่กว่าที่ความขัดแย้งของสงครามมหาเทพทั้งสองจะกระจ่างก็ปาเข้าไปตอนสุดท้ายของภาคเอลีเซียนนู่นเลยครับ 

    ที่จริงแล้ว การสู้กันระหว่างเซนต์กับสเปคเตอร์ก็คือการตีกันของเทพที่รักมนุษย์กับเกลียดมนุษย์อย่างสุดโต่ง 

    ฮาเดสเป็นเทพที่มองเห็นว่ามนุษย์เต็มไปด้วยความโง่เขลา (ทำนองว่าอหังการจนลืมไปว่ามนุษย์นั้นจริงๆ แล้วตัวเล็กแค่ไหน ส่วนความเขลาคือ ‘ความไม่รู้’ ) ขณะที่อาเธนา ยืนอยู่ข้าง ‘ชีวิต’ แบบว่าถึงมนุษย์จะกระจอกงอกง่อยแค่ไหน แต่ด้วย ‘ความรัก’ (ที่ทำให้มีชีวิต) มนุษย์ก็ไม่ได้ไร้ค่าหรอกนะ! 

    ฟังดูโคตรโรแมนติก ความรักชนะทุกอย่าง หวานจนชวนเลี่ยน แต่ด้วยความรักนี้เอง ฮาเดสจึงถูกมนุษย์โค่นลง

    พลังรักที่ปราบเทพแห่งนรกได้คือ การที่อาเธนากับเซนต์หนุ่มพร้อมชุดเกราะเทพนิยายอีกห้าหน่อ บุกไปกระทืบฮาเดสจนยับคาบ้าน ถือเป็นฉากที่น่าอดสูและสาแก่ใจผู้ชมที่เป็นมนุษย์อย่างยิ่ง (การที่พระเอกรุมแบบนี้ไม่นับว่าเป็นเรื่องผิด แม้แต่อาเธนาเองยังเรียกว่าพลังแห่งความรัก) ถึงอย่างนั้น ขณะที่สองเทพปะทะกันก็ได้เกิดข้อถกเถียงเชิงปรัชญาขึ้น 

    ฮาเดสบอกว่ามนุษย์มันห่วยแตก ต้องสั่งสอน ลงโทษให้รู้เรื่องกันไปว่าแกน่ะมันห่วยแค่ไหน แต่ก็โดนอาเธนาเถียง (ข้างๆ คูๆ) ว่า มีมนุษย์คนไหนไหมไม่เคยฆ่ามดสักตัวหรือไม่เคยทำผิดบ้างมั้ย เธอเลยสรุปแบบนักปรัชญาว่า ในเมื่อมนุษย์ทุกคนก็มีความผิดพลาด มีบาปในตัว ตายแล้วก็ให้มันจบๆ ไปเถอะ ให้หลับอย่างสงบดีกว่า อย่าต้องไปลงโทษกันอีกเลย

    จริงๆ แล้วถ้าจะบอกว่าภาพรวมของ Saint Seiya คือการทะเลาะกันของคนที่มองโลกเป็นสีดำอย่างฮาเดสกับคนที่มองทุกอย่างเป็นสีขาวแบบอาเธนาก็คงไม่ผิดนัก

    ถ้าไม่นับทัศนคติโลกมืดที่มองว่ามนุษย์ทุกคนห่วยแตกของฮาเดสแล้ว ดูเหมือนอาเธนาจะมองว่าหน้าที่การลงโทษคนบาปเป็นความผิด (เพราะมีตรรกะว่ามนุษย์ทุกคนล้วนทำบาป) ส่วนฮาเดสเอง เอาเข้าจริง อาจจะแค่กำลังทำหน้าที่ของตัวเองอยู่ก็เป็นได้ เพราะในเมื่อโลกนี้มันประกอบขึ้นจากส่วนที่สวยและส่วนที่ไม่สวย มันก็ถูกแล้วหรือเปล่าที่ต้องมีคนคอยสะสางส่วนที่ไม่ค่อยสวยเพื่อให้สังคมเดินหน้าต่อไปได้ เป็นอาเธนาเองหรือเปล่าที่มีปัญหากับทัศนคติที่ดีเลิศสวยงาม จนมองไม่เห็นภาคสกปรกของโลกใบนี้

    ว่าไปแล้ว การปะทะกันระหว่างอาเธนากับฮาเดสอาจจะคล้ายกับการคัดง้างระหว่างสิ่งสวยๆ กับสิ่งที่ไม่สวยว่าอะไรทำให้โลกนี้สงบสุขมากกว่ากัน

    ระหว่าง ‘ความรัก’ กับ ‘ความยุติธรรม’
  • “When will you understand that a human’s power is not enough!?!”
    “เมื่อไหร่พวกเจ้าจะเข้าใจว่าพลังของมนุษย์มันไม่เพียงพอหรอก!?!”


    —Hades


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in