เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
WHY ร้ายSALMON X VANAT
30: LIGHT & L ฆาตรกรอัจฉริยะ
  • PROFILE
    NAME:
    Light Yagami / Kira / Light Asahi และ L Lawliet / Ryuzaki / Hideki Ryuga / Eraldo Coil / Deneuve / Suzuki
    FIRST APPEARANCE: Death Note ตอน ‘Boredom’ (1990)
    GOAL: สร้างความยุติธรรมให้โลกตามแบบอย่างความยุติธรรมของตัวเอง

    เมื่ออัจฉริยะสองฝ่ายต้องมาประชันกัน สนามประลองจึงแพรวพราวไปด้วยชั้นเชิง มีอาวุธเป็นความฉลาด คิดกลยุทธ์ฆ่ากันด้วยความซับซ้อนของแผนการ นี่คือเกมที่ต้องซ่อนหา ไล่จับกันในระยะประชิด และมีเพียง ‘ไลท์’ กับ ‘แอล’ เท่านั้นที่สร้างแผนซ้อนแผน คำนวณสถานการณ์และคาดเดาทิศทางใจของอีกฝ่ายได้อย่างเท่าทันกัน

    Death Note พาคนอ่านติดตามชีวิตของไลท์ เด็กหนุ่ม ม.ปลายที่แสนเพอร์เฟกต์ เขาเก็บสมุดเดธโน้ตที่ยมทูตทิ้งไว้ได้ และพบว่าเจ้าของชื่อที่เขาจดลงสมุดจะต้องตาย ไลท์จึงตัดสินใจจะกำจัดอาชญากรและคนไร้ประโยชน์ให้หมดสิ้นไปจากโลก ให้เหลือเพียงคนที่เขาตัดสินแล้วว่าสมควรอยู่ เขาสถาปนาตัวเองเป็นความยุติธรรม และจะทำหน้าที่เป็นพระเจ้าให้โลกใหม่ที่เขาสร้างขึ้น

    แต่เมื่ออาชญากรร้ายทั่วโลกทยอยกันตายลงเป็นจำนวนมาก เหล่าตำรวจสากลก็เริ่มโกลาหล เพราะบอกไม่ถูกสรุปไม่ได้ว่านี่คือเรื่องบังเอิญที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติหรือเป็นคดีอาชญากรรมที่มีมนุษย์อยู่เบื้องหลัง เมื่อชาวโลกรู้ถึงบทบาทผู้ฆ่าที่ไม่เปิดเผยตัว จึงขนานนามของผู้ฆ่าว่า ‘คิระ’ (มาจากคำว่า Killer) ตอนนั้นเองก็มีคนออกมาฟันธงว่ารูปแบบและระบบการตายแบบนี้มันจะบังเอิญไปได้ยังไง ต้องมีฆาตกรอยู่เบื้องหลังสิวะคนคนนั้นคือนักสืบอัจฉริยะของโลกนามว่า แอล

    การสันนิษฐานของแอลแม่นยำเสมอ ทั้งที่ไม่เคยเปิดเผยตัวแต่ก็ได้รับความเชื่อถือและไว้วางใจอย่างสูง เขาติดต่อกับโลกภายนอกด้วยอุปกรณ์สื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ (โดยใช้สัญลักษณ์ ‘L’ แทนตัว) มากที่สุดคือให้ผู้ช่วยส่วนตัวออกมาเป็นปากเสียงให้

    จุดหมายตั้งต้นของไลท์ที่ต้องการกำจัดคนชั่วก็เปลี่ยนไป เมื่อเขาเริ่มฆ่าคนบริสุทธิ์เพื่อรักษาความลับที่ว่าเขาคือคิระ

    แอลมั่นใจว่าตัวเองคือความยุติธรรมและตั้งมั่นที่จะจับคิระให้ได้ เขาพิสูจน์การมีอยู่ของคิระด้วยการใช้ชีวิตของนักโทษประหารมาเป็นตัวล่อ เขาละเมิดกฎหมายเมื่อมันคือหนึ่งในวิธีการหาตัวคิระ เขาทุ่มทุกอย่างเสียสละตัวเองด้วยการยอมเปิดเผยหน้าตาและแสดงตัวในการคลี่คลายคดี และที่สำคัญ เขาคือศัตรูฝ่ายตรงข้ามของพระเอกประจำเรื่องอันเป็นตำแหน่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนอ่านมักรู้สึกผูกพันด้วยจนต้องเอาใจช่วยแม้จะร้ายกาจเพียงใดก็ตาม
  • BAD LIST

    • นอกจากไลท์จะตั้งตัวเป็นศาลเตี้ยตัดสินประหารชีวิตอาชญากรตามใจชอบแล้ว เขายังฆ่าคนบริสุทธิ์โดยไม่รู้สึกผิด เขาวางแผนอย่างเหนือชั้น ยืมมือเจ้าหน้าที่ FBI ที่เข้าประเทศมาตามสืบคดีคิระ กำจัดเพื่อนเจ้าหน้าที่ FBI ด้วยกันเองทั้งหมด 12 คน ตายยกทีม ต่อมาก็ฆ่าสองผู้ประกาศข่าวโทรทัศน์ที่ไร้ทางสู้เป็นการขู่ตำรวจและเชือดไก่ให้ลิงดู เพราะนักข่าวสองคนนี้แสดงความคิดเห็นต่อต้านเขา เขาหลอกใช้คนรอบตัวให้เป็นประโยชน์ ทั้งการชวนเพื่อนหญิงไปออกเดทบังหน้า แต่ที่จริงแล้วตั้งใจพาเธอไปอยู่ในเหตุการณ์รถเมล์ถูกปล้น หรือบอกรักผู้หญิง สัญญาหลอกๆ ว่าจะอยู่ด้วย เพื่อประโยชน์ของแผนการตัวเอง

    • สำหรับแอล เพื่อที่จะเปิดเผยว่าคิระมีตัวตนและเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการตายของอาชญากรทั่วโลก เขาใช้นักโทษที่ต้องถูกประหารให้ออกมาแสดงตัวว่าเป็นเขา โดยใช้ชื่อ Lind L. Tailor กำหนดให้นักโทษคนนั้นพูดท้าทายและประณามการกระทำของคิระออกอากาศสดทางโทรทัศน์ จนถูกคิระฆ่าต่อหน้าประชาชนที่กำลังรับชมอยู่ทั่วภูมิภาคคันโตของญี่ปุ่น และเพื่อประโยชน์ของการสืบสวนสอบสวนคดี แอลไม่สนข้อห้าม ข้อบังคับ หรือกฎหมาย เขาสั่งติดกล้องวงจรปิดตามทุกซอกมุมของบ้านไปจนถึงห้องส่วนตัวของไลท์เพื่อตามดูพฤติกรรม สังเกตพิรุธ โดยไม่สนใจว่าเป็นการละเมิดกฎหมายคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล

  • IN-DEPTH
    โดย วณัฐย์ พุฒนาค


    ถึงจุดนี้อาจจะเริ่มงงว่าทำไม Death Note มีชื่อตัวร้ายถึงสองตัว ตกลงใครกันแน่ที่เป็นตัวร้าย ระหว่าง ‘ไลท์’ กับ ‘แอล’ ที่จริงก็ตอบไม่ยากว่าเป็นไลท์ที่เป็นฆาตกรต่อเนื่องแน่นอน แต่การนำเสนอตัวละครสองตัวนี้มีความน่าสนใจบางอย่าง โดยเฉพาะไลท์ ที่น่าคิดอย่างยิ่งว่าตกลง ‘ความร้าย’ ของเจ้านี่มันเป็นยังไงกันแน่

    ตั้งแต่ตอนแรก ไลท์เป็นหนุ่มน้อยที่ถูกนำเสนอในแบบ ‘พระเอก’ ยิ่งกว่าพระเอกช่องสาม คือ หล่อ ฉลาด ครอบครัวดี ซึ่งไม่ได้อยู่ในระดับดีหรือดีมากเฉยๆ ด้วยนะ แต่อยู่ยอดสุดในบรรดานักเรียนทั้งหมด แถมยังชื่อไลท์ ที่เจ้าตัวมักอธิบายว่าคือ ‘แสงสว่าง’ ไม่ใช่ที่แปลว่า ‘เบา’ ซึ่งสอดคล้องกับอาชีพของพ่อที่เป็นตำรวจคือขับไล่ความชั่วร้าย ซึ่งไลท์เองก็ปรารถนาที่จะได้ทำหน้าที่สร้างสังคมที่ดีขึ้นตามรอยพ่อเช่นกัน (มาอีกแล้วแนวโลกในอุดมคติเนี่ย)

    แต่เรื่องก็พลิกผันเมื่อไลท์ได้รับเดธโน้ต ทำให้เขาเริ่มฆ่าคนชั่วด้วยความอยากสร้างสังคมที่ไม่มีคนเลว และไร้อาชญากร ซึ่งไลท์ก็ใช้อำนาจอย่างระมัดระวัง มีการเลือกสรร สืบหา แล้วค่อยสังหาร เขาทำตัวให้เป็นข่าวดังเพื่อจะได้แสดงตนในฐานะฮีโร่และข่มขู่อาชญากรทั้งหลาย ซึ่งผลตอบรับดีมาก ผู้คนต่างสรรเสริญเยินยอคิระเป็นการใหญ่ถึงขนาดเรียกว่าเป็น ‘ผู้มาโปรด’ (Savior คือมาช่วยให้รอดจากความทุกข์เข็ญอะไรเทือกนั้น)
  • ความฝันของของไลท์หรือคิระนั้นล้วนเป็นความฝันแบบอุคมคติที่ยังไงก็เป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าลองสังเกตว่าตัวละครไลท์เองก็เป็นคนที่สมบูรณ์พร้อมแบบอุดมคติอยู่แล้ว ก็ไม่น่าแปลกเท่าไหร่ที่จะเชื่อว่าตัวเองสามารถสร้างโลกใบนี้ให้กลายเป็นโลกในอุดมคติได้เช่นกัน ปัญหามันจึงเกิดเมื่อ ‘อุดมการณ์’ กลายสภาพเป็น ‘อหังการ’ และความปรารถนาที่จะเห็นโลกนี้ดีขึ้นนั้นแรงกล้าจนสามารถทำได้ทุกอย่างเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย รวมถึงการมีอำนาจที่ยิ่งใหญ่ในมือ ทำให้ง่ายที่จะเกิดอาการเมาอำนาจ ยิ่งอำนาจระดับยมทูต ที่สามารถสังหารผู้คนได้โดยแทบจะไม่ต้องกระดิกอะไรเลย (นอกจากการสืบชื่อจริงมาเขียนลงบนเดธโน้ต) ซึ่งยิ่งอำนาจมากเท่าไหร่ก็ยิ่งทำให้คนเราเมาได้เร็วและหนักขึ้นเท่านั้น

    ความชั่วร้ายของไลท์เมื่อถูกความเมาอำนาจครอบงำเด่นชัดขึ้น เมื่อเขาลงมือสังหารนักสืบที่มาสืบหาตัวคิระ ใครก็ตามที่มาแตะต้องการใช้อำนาจของคิระจะต้องถูกกำจัดทิ้ง ยิ่งเมื่อแอลปรากฏตัวขึ้นจึงเป็นการไล่ล่าชิงไหวชิงพริบกันอย่างยิบตา ซึ่งไลท์เองก็เริ่มถูกกัดกินและกลายสภาพเป็นตัวร้ายมากขึ้นทุกขณะ ถึงขนาดจงใจใช้คนรู้จักรอบตัวจนถึงคนที่รักเขาเป็นเครื่องมือ หรือกระทั่งหลอกล่อ บงการ และบีบยมทูตให้ลงมือสังหารคนที่ตามจับเขาได้สำเร็จ (ซึ่งยมทูตก็ยอมตายด้วย)
  • พอดูการต่อสู้กันระหว่างไลท์กับแอล จะเห็นว่าเป็นการต่อสู้ของวิธีการปกครองควบคุมแบบโลก ‘ปัจจุบัน’ และโลก ‘ก่อนสมัยใหม่’ ซึ่งแอลจะยืนอยู่ฝั่งโลกปัจจุบันที่มีแนวคิดเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน เน้นการให้ความยุติธรรมกับทุกคนโดยไม่เลือกว่าเป็นคนดีหรือเลว แต่ไลท์เลือกใช้วิธีลงโทษเพื่อแสดงอำนาจให้ประจักษ์ ทำให้คนเกรงกลัวไม่กล้าทำความผิด ซึ่งเป็นลักษณะการใช้อำนาจของโลกก่อนสมัยใหม่ที่ Michel Foucault ได้อธิบายไว้ว่า โลกก่อนสมัยใหม่จะเน้นการลงโทษในที่สาธารณะ เช่น ประหาร เฆี่ยนตีเพื่อให้ประชาชนเห็นและรับรู้ในอำนาจจนเกิดความเกรงกลัว ซึ่งความกลัวนี้เองเป็นวิธีการสำคัญในการควบคุมความสงบเรียบร้อยในสังคม

    ถึงแม้ว่าในที่สุด เรื่องจะทำให้ไลท์กลายเป็นตัวร้ายเต็มขั้น แต่เมื่อคิระปรากฏตัวก็ดูเหมือนว่าปัญหาสังคมที่เต็มไปด้วยปัญหาอาชญากรรมรุนแรงและความอยุติธรรมจะเบาบางลง ความยุติธรรมและความสงบสุขดูเหมือนจะเกิดขึ้นชั่วคราว แง่นึงก็เป็นการวิพากษ์กระบวนการยุติธรรมที่ไร้ประสิทธิภาพด้วย เพราะสำหรับเหยื่อของสังคม ก็อาจจะเห็นว่าคิระเป็นผู้ช่วยชีวิต

    แต่ในอีกแง่ก็ใช่ว่าคนคนเดียวจะมีความชอบธรรมในการชี้และจัดการว่าใครผิดใครถูก ใครควรตาย หรือใครควรอยู่

    ...ได้เช่นกัน
  • “I will hunt you down and destroy you! I am… Justice!!”
    “ฉันจะตามล่านายจนเจอแล้วจะทำลายนายซะ! ฉัน... คือความยุติธรรม!!”

    —Light และ L


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in