เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เวียงชัย...ไปตางปู๊นBenchiro
CHECK IN : CHECK OUT
  •      

    ยังจำวันแรกที่พี่พจพาพวกผมไปเลี้ยงมื้อเย็นที่ร้านบะหมี่เกี๊ยว-ข้าวหมูแดงในตัวเมืองแล้วนั่งพูดคุยเรื่องราวต่างๆของแต่ละคนที่ผมเล่าไปในตอนก่อนๆได้มั๊ยครับ กิจกรรมนั้นพี่พจให้ชื่อแบบเก๋ๆว่า "check in" ครับ check in คือการให้เราเล่าเรื่องราวก่อนเข้าสู่เส้นทางทันตแพทย์และความคาดหวังที่เราอยากได้กลับไปจากการออกชุมชนที่นี่ ภายหลัง check in กลายเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ผมประทับใจที่สุดเลยหละครับ เพราะตอนท้ายพี่พจเฉลยว่าพี่พจเอาความคาดหวังของพวกเราที่แชร์ในกิจกรรม check in นี่แหละไปออกแบบการเรียนรู้ตลอด 1 สัปดาห์ให้สอดคล้องกับสิ่งที่พวกเราสนใจ และจากกิจกรรม check in นี่เองทำให้พี่พจน์จัดให้พวกเราไปเจอกับ 2 key informants คนสำคัญของเชียงรายครับ 

    คนแรกคือหมอตี๋ครับ (ทพ. ไพฑูรย์ สายสงวนสัตย์) หมอตี๋เคยเป็นหัวหน้าแผนกทันตกรรมของรพ.สงฆ์ แห่งนี้แหละครับ ว่ากันว่าหมอตี๋เนี่ยคือทันตแพทย์ในตำนานแห่งเชียงรายเลยทีเดียวเพราะนอกจากทำฟันแล้ว หมอตี๋ยังอยู่เบื้องหลังการผลักดันโครงการพัฒนาสุขภาพชุมชนหลายต่อหลายโครงการของจังหวัด แม้ตอนนี้หมอตี๋จะเกษียณไปแล้วแต่ก็ยังกระฉับกระเฉงเหมือนเพิ่งแตกเนื้อหนุ่ม หมอตี๋นัดเจอพวกเราตอนบ่ายๆที่ห้องพักแพทย์ในห้องฟันของโรงพยาบาลและเล่าถึงพลังและอานุภาพของคำว่า “เครือข่าย” ให้พวกเราฟังไว้อย่างน่าสนใจ ว่างานชุมชนน้อยงานมากที่จะสามารถทำให้ประสบผลสำเร็จได้เพียงหน่วยงานเดียว หากแต่ต้องอาศัยความร่วมมือกันของเครือข่ายที่รับลูกสานต่อกันหลายองค์กร ดังนั้นงานชุมชนจึงต้องเริ่มจากความสัมพันธ์ที่ดี เพราะความสัมพันธ์ที่ดีจะนำมาซึ่งทีมที่ดี ทีมที่ดีจะก่อให้เกิดเครือข่ายที่ดี และเครือข่ายที่ดีจะนำมาซึ่งทุกสิ่ง

    นอกจากนี้เราได้นัดพูดคุยกับป้าหมอนา (ทพญ. รพินทร์ อบสุวรรณ) key informant คนสำคัญอีกคนที่พี่พจนัดให้พวกเรามาเจอ ป้าหมอนาเป็นทันตแพทย์เชี่ยวชาญทำงานนโยบายใน สสจ. เชียงรายครับ มาถึงป้าหมอก็เล่าถึงอดีตชีวิตตัวเองที่เคย “เกลี๊ยดเกลียด” ทันตะเข้ากระดูกดำให้พวกเราฟัง ป้าหมอเล่าว่าตัวเองเป็นคนไม่เก่งงานฝีมือแต่ดันมาสอบติดทันตะที่ต้องใช้งานฝีมือเป็นพาร์ทใหญ่ของการเรียนทำให้ suffer อยู่นานจนกลายมาเป็นความ “เกลี๊ยดเกลียด” ในสิ่งที่ตัวเองเรียนอยู่ในที่สุด ถึงขนาดเก็บไปฝันว่าเอาแท่นกัดที่ทำจากขี้ผึ้ง (bitebox) ของเพื่อนๆไปต้มกวนในหม้อยักษ์ให้มันละลายวอดวายกันให้หมดทั้งรุ่นไปเลยทีเดียว 5555 แต่ชีวิตมันก็อัศจรรย์อย่างงี้แหละครับ ใครจะไปเชื่อว่าคนที่เคย     เกลี๊ยดเกลียดทันตะเขาไส้อย่างป้าหมอนา ทุกวันนี้จะกลายเป็นทันตแพทย์ที่ประสบความสำเร็จทั้งงานคลินิกและงานราชการ จนเป็นข้าราชการระดับสูงใน สสจ. และเป็นคุณหมอที่คนไข้ติดอกติดใจในเวลาเดียวกัน ป้าหมอบอกว่าเคล็ดลับคือการเปลี่ยนมุมมองต่อสิ่งที่เราเรียนอยู่ครับ เปลี่ยนความเกลียดจนต้องเบือนหน้าหนีมาเปิดใจเผชิญหน้าฝึกฝนและเชื่อมั่นว่ายังไงตัวเองก็ทำได้... “ยังไงมันก็ทำได้” ...แค่นี้จริงๆ

    เราปิดท้ายการออกชุมชนครั้งนี้ด้วยการไปนอนค้างที่บ้านพี่พจในคืนสุดท้าย แอร์เย็นฉ่ำผนวกกับกับข้าวฝีมือคุณยาย (แม่พี่พจ) ทำให้พวกเราแทบไม่อยากขึ้นเครื่องกลับกรุงเทพฯ ขึ้นมาเสียดื้อๆ วันสุดท้ายของการออกชุมชนที่เชียงรายพี่พจเรียกพวกเรามานั่งล้อมวงรวมกันหน้าลานบ้าน และเริ่มต้นกิจกรรมสุดท้าย “check out” ในกิจกรรม check out พี่พจให้พวกเราเล่าเรื่องราวที่ชอบและไม่ชอบตลอดช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา รวมถึงบอกถึงสิ่งที่คิดว่าได้รับจากการมาออกชุมชนในครั้งนี้ พวกเราไล่เรียง check out กันทีละคนจนครบ พี่พจพูดสรุปประเด็นอีกนิดหน่อยก่อนหายไปเขียนใบประเมินและให้คะแนนพวกเราอันเป็นหน้าที่สุดท้ายในฐานะอาจารย์พี่เลี้ยง ก่อนจากกันพวกผมทุกคนขออนุญาตถ่ายรูปและกอดลาพี่พจก่อนขึ้นรถตู้โรงพยาบาลไปยังสนามบิน 

                                                            คิดถึงพี่พจกับคุณยายนะครับ

    พี่พจยังพูดกับพวกเราทิ้งท้ายไว้อย่างน่าวิ่งไปกอดอีกรอบว่า “หลังจากนี้ให้คิดว่าเชียงรายคือบ้านกลับมาเมื่อไหร่ก็แวะมาหากันได้ เพราะยังไงก็มีพี่อยู่ที่นี่” 

    ขอบคุณนะครับพี่พจ :D


เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in