เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
มรรคาแห่งธรรมNoi Beleza
ชายตาบอด กับ โคมไฟ

  • ชายตาบอดคนหนึ่งไปเยี่ยมเพื่อน
    จนกระทั่งค่ำได้เวลาลากลับ
    ชายตาบอดก็ลาเพื่อน
    ตอนจะกลับเพื่อนก็ยื่นโคมไฟให้
    เป็นโคมกระดาษ

    ชายตาบอดบอกว่า มาให้ฉันทำไม
    เพราะว่าฉันไม่ต้องการ
    ตาบอดอยู่ในความมืด
    ก็ไม่ต้องการโคมไฟ

    เพื่อนบอกว่าถึงคุณไม่ใช้โคมนี้
    แต่ว่ามันก็มีประโยชน์สำหรับคนอื่น
    เพราะว่าถ้าคุณถือโคมไปตามถนน
    คนอื่นก็จะมองเห็นทาง
    แล้วเขาก็จะไม่เดินชนคุณ
    ชายตาบอดก็เลยถือโคม
    แล้วก็เดินกลับบ้าน
    .
    .

    เดินไปพักใหญ่
    จู่ๆ ก็มีคนวิ่งมาชนตัวเองจนล้มลง
    ล้มลงทั้ง 2 คน

    ชายตาบอดโกรธมาก
    และก็หลุดปากขึ้นมาว่า
    แกตาบอดหรือไง..
    ไม่เห็นหรือไงว่าฉันถือโคมอยู่

    คนที่วิ่งมาชนก็ขอโทษขอโพย
    และบอกว่า โคมของท่านนั้นน่ะ
    มันดับไปนานแล้วนะ

    เรื่องนี้ก็จบเท่านี้นะ
    เราฟังแล้วเขาสอนอะไรเราไหม
    สอนอะไรเรารึเปล่า?
    .
    .

    ถ้าพิจารณาให้ดี..
    เขาให้แง่คิดกับเราว่า
    เวลาเราจะทำอะไร
    อย่านึกถึงแต่ตัวเองอย่างเดียว

    ชายตาบอดไม่จำเป็นต้องใช้โคม
    แต่ว่าเพื่อนก็แนะนำให้ถือ
    ถือเพื่ออะไร เพื่อคนอื่น
    คนที่เขาไม่ตาบอด
    เขาต้องการความสว่าง

    การถือโคมก็เป็นการเอื้อเฟื้อคนเดินถนนด้วย
    ถึงแม้ตัวเองไม่ต้องการใช้โคมก็ตาม
    และประโยชน์นั้นก็ไม่ได้เกิดแก่คนอื่น
    อย่างเดียว..ก็เกิดกับตัวเองด้วย
    เพราะว่าเมื่อคนอื่นเขาเห็นทาง
    เขาก็ไม่มาชนเรา

    ในขณะเดียวกันเวลาเกิดปัญหาขึ้นมา
    เช่นมีคนวิ่งมาเดินชนชายตาบอดจนล้ม
    ชายตาบอดก็โทษคนอื่นทันทีว่าซุ่มซ่าม
    ตาบอดมาเดินชนได้ยังไงฉันถือโคมอยู่

    แต่ว่าชายตาบอดไม่รู้เลยนะว่า
    จริงๆแล้วเป็นเพราะโคมของตนดับไปแล้ว
    ชายตาบอดไปโทษคนอื่น
    จนไม่เห็นความผิดพลาด
    หรือความบกพร่องของตัวเอง
    .
    .

    คนส่วนใหญ่เป็นอย่างนั้นนะ
    คนส่วนใหญ่เวลาจะทำอะไร
    ก็นึกถึงตัวเอง มองตัวเองเป็นหลัก
    ไม่สนใจคนอื่น

    แต่เวลาเกิดปัญหาก็จะโทษคนอื่น
    ไม่ได้กลับมามองตนว่า
    เราบกพร่องผิดพลาดหรือเปล่า

    นี่เป็นวิสัยปุถุชนคนทั่วไป
    ในยามปกติก็นึกถึงแต่ประโยชน์ตน
    ไม่นึกถึงประโยชน์ท่าน

    แต่ในยามที่เกิดปัญหา
    จิตก็จะเพ่งออกไปที่ข้างนอก
    ไม่กลับมามองตน

    แต่สิ่งที่ควรจะเป็นมากกว่าคือ
    ในยามปกติก็นึกถึงคนอื่น
    ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น
    แต่เวลาเกิดปัญหาให้กลับมาดูตน
    .
    .

    เรื่องนี้บอกเป็นนัยว่า
    ใครที่เวลามีปัญหาแล้ว
    ไม่กลับมามองตนก็คือคนตาบอด

    คนตาบอดจะไม่เห็นความผิดพลาดของตัวเอง
    มีอะไรก็โทษคนอื่นไว้ก่อน

    แล้วถ้าเราไม่อยากเป็นคนตาบอด
    เราต้องทำตรงข้ามนะ
    คือเวลาเกิดปัญหาขึ้นมา
    แทนที่จะโทษคนอื่นทันที
    ต้องกลับมาดูตัวเองว่า
    เราทำอะไรผิดพลาดไหม
    ปัญหาเกิดจากเราอยู่ที่เราหรือเปล่า
    แต่เวลาปกติไม่มีอะไรราบรื่น
    ให้มองไปถึงคนอื่นไว้ก่อน

    จะว่าไปก็เป็นท่าทีของชาวพุทธ
    ก็คือนึกถึงประโยชน์สุขของผู้อื่น
    แต่เวลามีปัญหาก็ให้กลับมามองตน
    มันเป็นการทวนกระแส
    ทวนกระแสจิตใจของคนทั่วไป

    คนทั่วไปนึกถึงตัวเองก่อน
    แต่เวลามีปัญหาก็ไปโทษคนอื่น
    ถ้าเราต้องการฝึกใจ
    เราต้องกลับมา..

    ต้องมองตนเวลาเกิดปัญหา
    ปัญหาที่ว่านี้นะไม่ใช่แค่ปัญหาการงาน
    อาจรวมถึงเวลาเกิดความทุกข์ในจิตใจด้วย
    เพราะความทุกข์ก็คือปัญหาอย่างหนึ่ง

    เวลามีความทุกข์ใจ
    คนทั่วไปมักโทษคนอื่นว่าเป็นต้นเหตุ
    เสียงดังบ้างล่ะ แดดร้อนบ้างล่ะ
    เจ้านายไม่เป็นธรรมบ้างล่ะ
    แฟนไม่เข้าใจบ้าง
    เราจะโทษคนโน้นคนนี้ตลอดเวลา
    แต่ว่าไม่กลับมามองตน

    ทั้งที่คนเราเมื่อใดก็ตามมีความทุกข์ใจ
    เป็นเพราะเราวางใจไม่ถูกเป็นสำคัญ
    ไม่มีใครขโมยความสุขไปจากเราได้
    หากใจไม่ร่วมมือไม่เออออไปด้วย

    Cr : พระไพศาล วิสาโล
    Cr. จาก #หอจดหมายเหตุพุทธทาส #BIA

    ถอดคำบรรยาย โดย
    พญ. มนัญญา วรรณไพสิฐกุล
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in