เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
มรรคาแห่งธรรมNoi Beleza
พร คือ อะไร..

  • "พร" คือ อะไร .. ทำอย่างไรจึงจะได้พร

    “พร” คืออะไร
    เราพูดกันบ่อยๆ ว่า “จตุรพิธพรชัย”
    คือ พร ๔ ประการ ได้แก่
    อายุ วรรณะ สุขะ พละ

    “พร” ในภาษาพระ แปลว่า
    “ผลประโยชน์หรือสิทธิพิเศษที่ให้ตามคำขอ”

    ตัวอย่าง :
    ปุโรหิตคนหนึ่งเป็นผู้ใกล้ชิดพระราชา
    มีลูกเป็นคนที่พูดไม่ดี
    จึงคิดต่อไปเมื่อตนเองสิ้นชีวิตไปแล้ว
    ถ้าลูกพูดอะไรผิดพลาดไป
    พระราชาอาจจะสั่งตัดศีรษะ

    เมื่อคิดอย่างนี้แล้วท่านปุโรหิต
    ก็เลยขอพรจากพระราชาว่า
    “ลูกของข้าพระองค์นี้เป็นผู้ที่มีวาจาไม่ดี
    ฉะนั้น ถ้าหากว่าเขาพูดอะไรผิดพลาดไป
    ขอพระองค์ได้โปรดยกโทษให้ ไม่เอาโทษ”

    การขอสิทธิพิเศษอย่างนี้เรียกว่าขอพร
    และเมื่อพระเจ้าแผ่นดินพระราชทานให้
    โดยตรัสว่า “ตกลง เรายอมให้”
    อย่างนี้เรียกว่า ให้พร

    เป็นอันว่า พร หมายถึงสิ่งที่เป็นผลประโยชน์
    หรือสิทธิพิเศษที่ให้ตามที่ขอ
    เขาขอแล้วให้ก็เรียกว่า ให้พร

    พระนางผุสดีขอพร ๑๐ ประการจากพระอินทร์
    ก็หมายความว่าตัวเองต้องการอะไรก็ขอไป
    แล้วเขาให้ ก็เรียกว่า ให้พร
    นี้เป็นความหมายเดิมแท้ของมัน
    .
    .
    คราวนี้มีอีกความหมายหนึ่ง คือ
    “พร” แปลว่า “ประเสริฐ”
    อะไรก็ตามที่เป็นของประเสริฐ เช่น
    พระรัตนตรัย ก็เป็น วร คือเป็นสิ่งที่ประเสริฐ
    ปัญญาก็เป็น วร คือเป็นสิ่งที่ประเสริฐ ฯลฯ
    สติก็เป็นพร สมาธิก็เป็นพร
    คือเป็นสิ่งที่ดีงามประเสริฐ

    ในเมืองไทย คำว่า “พร”
    คนไทยใช้คำว่าพรในความหมายว่า
    สิ่งที่เราปรารถนา สิ่งดีงามที่อยากจะได้
    ฉะนั้นจึงเป็นความหมายที่เพี้ยนไปแล้ว

    ในที่นี้ เราจะมาประยุกต์ความหมายเสียใหม่ว่า
    พร คือ สิ่งที่เราปรารถนา
    พร้อมทั้งเป็นสิ่งที่ดีงามประเสริฐด้วย
    กล่าวคือ เป็นสิ่งที่มีคุณค่าล้ำเลิศ

    สิ่งที่มีคุณค่าล้ำเลิศ ที่เราปรารถนานั้น
    ก็มีหลายอย่าง
    แต่ในที่นี้เราจะมองตามที่คุ้นๆ กันอยู่แล้ว
    เช่น อายุ วรรณะ สุขะ พละ เป็นต้น

    ? “อายุ” คืออะไร
    อายุ ในภาษาไทยมีความหมาย
    ที่ค่อนไปในทางลบมากกว่าในทางบวก

    ถ้าพูดว่าคนมีอายุมากก็มีความหมายไม่ดี
    คือ แก่จะแย่แล้ว
    แต่ถ้าอายุน้อยกลับดี แสดงว่ายังเด็ก
    ยังหนุ่มยังสาว

    ส่วนในภาษาพระนั้น อายุมากยิ่งดี
    อายุน้อยไม่ดี
    อายุน้อยก็คือพลังจวนหมด จะแย่แล้ว

    ในภาษาพระนั้นอายุคือพลังที่หล่อเลี้ยงชีวิต
    ท่านจึงให้พรอย่างหนึ่งว่าอายุ
    หมายถึง ให้เรามีพลังหล่อเลี้ยงชีวิตมากๆ
    คนนั้นก็จะมีชีวิตมั่นคงเข้มแข็ง อยู่ได้ยืนยาว

    ? “วรรณะ” ก็คือ ผิวพรรณที่ผ่องใส มีสง่าราศี

    ? “สุขะ” ก็คือความสุข ความคล่อง
    ความปราศจากสิ่งบีบคั้นติดขัด คับข้อง

    ? “พละ” ก็คือ กำลัง ความเข้มแข็ง
    มีเรี่ยวแรง รวมทั้งมีสุขภาพดี

    พร ๔ ประการ เราได้ยินบ่อย คือ
    อายุ วรรณะ สุขะ พละ เรียกว่า “จตุรพิธพร”

    แต่พร ๕ ท่านมีเพิ่มอีกอย่างหนึ่งเป็น
    อายุ วรรณะ สุขะ โภคะ พละ
    ได้แก่ เติม โภคะ คือ ทรัพย์สมบัติเข้ามาอีกอย่างหนึ่ง รวมเป็น ๕ อย่าง
    ถ้าเรียกตามคำพระก็เป็น “เบญจพิธพร”
    .
    .
    สิ่งเหล่านี้มิใช่จะได้มาด้วย
    การอ้อนวอน ปรารถนา
    การที่เราให้พรกัน ก็คือ
    เรามาแสดงความปรารถนาดีต่อกัน
    เรามาตั้งจิตปรารถนาประโยชน์สุขแก่กัน
    และด้วยพลังจิตที่ปรารถนาดีนี้
    ก็จะเกิดคุณธรรมความดีงามขึ้นมา
    ในใจของผู้ให้ ซึ่งมีผลต่อจิตใจของเขา

    ในเวลาเดียวกัน ทางฝ่ายผู้รับ
    ก็พลอยมีจิตใจบันเทิง เอิบอิ่มชื่นบาน
    คือ ซาบซึ้งในน้ำใจเมตตา
    หรือไมตรีของผู้ให้นั้นเอง
    อันนี้แหละก็เกิดเป็นความสุข
    และความมีไมตรีจิตตอบแทนขึ้นในใจของเขา
    ก็เลยกลายเป็นมีคุณธรรมเกิดขึ้นทั้งสองฝ่าย

    ทีนี้ ถ้าหากว่ามีความเชื่อมั่นจริงๆ
    และเกิดกำลังใจแรงกล้า
    ก็จะมีความเป็นไปที่เกิดขึ้นโดยกลไกทางจิต
    ซึ่งเป็นเรื่องของอำนาจจิต หรือพลังของจิตนั้น
    ไม่ใช่ว่าใครมาดลบันดาลให้หรอก
    ถ้าเราทำถูกต้อง เราปฏิบัติถูกต้องแล้ว
    ผลดีก็เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย

    แต่สำหรับผู้คนที่ไม่ศึกษาเล่าเรียน
    ก็นึกว่าเป็นอำนาจภายนอกบันดาล
    ส่วนคนที่ได้ศึกษาแล้วก็จะรู้ว่าที่จริง
    เป็นกลไกของจิตนั่นเอง
    ถ้าเราเชื่อมั่นจริงๆ แล้ว มันก็มีกำลัง
    มีพลังอำนาจมาก
    ฉะนั้นเราจึงควรปฏิบัติให้ถูกต้องต่อสิ่งเหล่านี้

    ถ้าท่านต้องการได้พรเหล่านี้
    ก็ต้องทำจิตใจให้ถูกต้อง
    โดยเฉพาะจะต้องมีความเชื่อมั่น
    ทำจิตใจให้สงบผ่องใส
    พร้อมทั้งมีความมั่นใจ มีกำลังใจเข้มแข็ง
    ที่จะทำสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้น
    ซึ่งตรงกับที่ทางพระเรียกว่า อธิษฐานจิต
    .
    .

    “การอธิษฐานจิต” นั้น
    ท่านแปลว่า “การตั้งจิตให้แน่วแน่มั่นคง”
    หรือการตั้งใจเด็ดเดี่ยว
    แต่ในภาษาไทย อธิษฐาน
    มีความหมายเพี้ยนไป
    กลายเป็นว่า “อ้อนวอนปรารถนา”

    ในภาษาพระ “อธิษฐาน” แปลว่า
    ตั้งมั่น ทำให้เด็ดเดี่ยว คือตั้งจิตเด็ดเดี่ยว
    ตั้งใจมุ่งว่าจะทำเรื่องนั้นๆ
    หรือความดีงามนั้นให้สำเร็จให้ได้

    เหมือนอย่างที่พระพุทธเจ้าทรงอธิษฐาน
    พระทัยว่าจะเพียรพยายามปฏิบัติ
    ให้บรรลุโพธิญาณ
    ถึงพระโลหิตจะเหือดแห้งไป
    ถ้ายังไม่สำเร็จก็จะไม่ยอมหยุดเลิกเสีย

    พูดง่ายๆ ว่า “อธิษฐานเพื่อจะทำ”

    แต่คนไทยเราเอามาใช้ ไปๆ มาๆ
    กลายเป็น “อธิษฐานเพื่อจะได้”
    โดยเฉพาะขอให้ได้โดยตัวเองไม่ต้องทำ
    คือจะให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ดลบันดาลให้

    เพราะฉะนั้น ควรปรับความเข้าใจให้ถูกต้อง
    จำง่ายๆ ว่า “อธิษฐานเพื่อจะทำ”
    ไม่ใช่ “อธิษฐานเพื่อจะเอาหรือเพื่อจะได้”

    ใครที่จะทำอะไรอย่างเอาจริงเอาจัง
    มุ่งมั่นที่จะให้สำเร็จ
    ควรจะอธิษฐานจิต
    คือตั้งใจเด็ดเดี่ยวแต่เริ่มต้น
    ว่าเราต้องทำสิ่งนั้นให้สำเร็จให้จงได้
    ให้ถึงจุดหมายอย่างแน่นอน

    การอธิษฐานจิต คือการ start เครื่อง
    ซึ่งทำให้มีพลังที่จะทำต่อไปอย่างจริงจัง
    เมื่อเริ่มต้นดี..
    ก็อย่างที่พูดกันว่าสำเร็จไปครึ่งหนึ่งแล้ว
    การเริ่มต้นที่ดีก็คือ
    การตั้งใจให้แน่วแน่มั่นคงเข้มแข็ง

    ตกลงว่า เราต้องการพรเหล่านี้
    คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ โภคะ
    ในการให้พรกันนั้น องค์ประกอบที่สำคัญ ก็คือ

    ๑. เรามีจิตปรารถนาดีต่อกัน

    ๒. ผู้ให้ตั้งจิตที่ประกอบด้วยเมตตาหรือไมตรี
    ตั้งจิตปรารถนาดีด้วยใจจริง

    ส่วนทางฝ่ายผู้รับ ก็ตั้งจิตให้ซาบซึ้ง
    ในความปรารถนาดีของผู้ให้
    พร้อมทั้งทำใจให้น้อมรับพรนั้น”

    บทความ : สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
    ( ป. อ. ปยุตฺโต )

    จากหนังสือ : “พรที่สัมฤทธิ์แก่ผู้ดำเนินชีวิตที่ดี”

    Cr ภาพ : คุณสมพิศ เพื่อนพี่เมี่ยง

    https://www.facebook.com/onceapassion/
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in