เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Group Therapy for Social Anxietyque regardez-vous
01 Group Therapy for Social Anxiety ครั้งแรก
  • ปัจจุบันเราเข้า Group Therapy ไปแล้ว 2 ครั้ง(จากทั้งหมด 8 ครั้งด้วยกัน) ซึ่งในแต่ละครั้งจะมีกิจกรรมให้ทำต่างกันไป

    Group Therapy ครั้งที่ 1

    ด้วยความที่คนในกลุ่มเข้าข่าย Social Anxiety ทั้งหมด บรรยากาศในวันแรกก็จะค่อนข้างเป็นไปอย่างเงียบ ๆ ทุกคนแนะนำตัวกันด้วยเสียงเบา ๆ

    กิจกรรมแรกที่ทำให้ต่างคนต่างมีบทสนทนากันมากขึ้นหน่อยเป็นกิจกรรมวาดรูป 3 รูป โดยรูปแรกเป็นรูปที่เรามองตัวเราเอง รูปที่ 2 คือรูปที่เราคิดว่าคนที่ไม่สนิทมองตัวเราและรูปสุดท้ายคือรูปที่เราคิดว่าเพื่อนสนิทมองเรา

    รูปแรกของเรา เราวาดตัวเองที่กำลังร้องไห้ เพราะเราเป็นคนขี้แง sensitive เห็นใจคนอื่นและสันโดษมาก ๆ

    รูปที่2 เราวาดเราที่กำลังหน้าบึ้ง เพราะคิดว่าคนอื่นมองว่าเราเป็นคนคุยยาก น่ากลัวไม่น่าเข้าใกล้

    และรูปสุดท้าย รูปเราที่ตากำลังยิ้มข้างนึง อีกข้างคือปกติเพราะเราจะมีมุมเล่น ๆ แต่ในอีกมุมก็เป็นคนจริงจัง ชอบเข้าหาคนอื่นและก็ปลีกวิเวกในเวลาเดียวกัน

    หลังจากวาดรูปเสร็จทุกคนก็ได้แชร์รูปกัน คนส่วนใหญ่ในที่นี้จะมีรูปที่ 2–3 คล้ายคลึงกันคือจะเป็นมุมที่คนอื่นมองว่าเงียบบ้าง คุยยากบ้าง ไม่น่าเข้าหาบ้าง ส่วนรูปสุดท้ายก็จะเป็นรูปที่กำลังหัวเราะ ยิ้มแย้ม ร่าเริงแจ่มใส

    พี่ที่leadกลุ่มถามคำถามกับพวกเราว่า เราเชื่อไหมที่ใครต่อใครต่างบอกว่าตัวเราเป็นคนแบบนี้ “อย่างเช่น…” พี่หันมาพูดกับเรา

    “หนูคิดไหม ว่าหนูเป็นคนไม่น่าเข้าหา ? แล้วหนูเป็นคนไม่น่าเข้าหาตลอดเวลารึเปล่า หรือใครบอกว่าหนูเงียบ หนูเงียบตลอดเลยหรือ”

    “เห็นไหมว่าแค่คำไม่กี่คำไม่สามารถนิยามความเป็นตัวเราได้”

    พี่หันกลับถามทั้งกลุ่ม

    “แล้วคิดว่าอะไรที่ทำให้ทุกคนมองเราในหลาย ๆ แบบได้ขนาดนี้”

    ทุกคนนั่งคิดถึงคำตอบ

    “ตัวเรา” พี่พูดขึ้นเพื่อทำลายความเงียบขณะที่ทุกคนกำลังอ้ำอึ้ง “ตัวเราที่ทำให้ทุกคนมองเราในหลาย ๆ มุม พวกเราจะมาเจอกันในวันนี้ได้ไหมหากพี่ติดต่อไปแล้วน้อง ๆ ไม่ติดต่อพี่กลับมา คิดว่าพวกเราจะได้พูดคุยกันไหมหากพี่พูดคุยอะไรไปแล้วน้อง ๆ ไม่ตอบกลับ แล้วพอน้องเปิดใจพูดคุยกับพี่ พี่ถึงได้มีโอกาสที่จะมองน้อง ๆ ในอีกมุมมอง”

    “ยังไงก็ต้องเป็นตัวเราที่เปิดใจและเข้าหา จริงไหม ไม่แน่ว่าคนอื่นที่มองเราในรูปที่ 2 อาจจะเปลี่ยนไปมองเราในรูปที่ 3ได้ด้วยการพูดคุยไม่กี่ครั้ง” พี่ยิ้มให้พวกเรา

    หลังเสร็จสิ้นกิจกรรมนี้ก็ย้ายไปกิจกรรมแชร์เรื่องราวว่า Social Anxiety ในมุมมองของแต่ละคนคืออะไรแล้วเกิดจากอะไร ผ่านการจับคู่ 2 โดยให้เวลา 10 นาทีในการแชร์แล้วสลับ

    อาจเป็นเพราะคำพูดของพี่เขาก่อนหน้านั้นทำให้คู่สนทนาของเรากล้าที่จะชวนคุยมากขึ้น คำตอบของคู่สนทนาส่วนใหญ่จะเป็นคำตอบคล้าย ๆ กัน แต่สิ่งที่แตกต่างกันออกไปคือเรื่องราวส่วนตัวที่พวกเขาแชร์ให้เราฟัง

    คนแรกแชร์ให้เราฟังถึงแผลในใจของเขาที่ครั้งหนึ่งเขาพยายามเข้าไปทักเพื่อน รวบรวมความกล้าอย่างมาก แต่เพื่อนกลับยิ้มแหย ๆ มาให้ พอเดินจากกัน 2 คนนั้นก็พูดคุยว่า เฮ้ย เดี๋ยวนี้มึงมีเพื่อนแบบนี้แล้วหรอ แล้วก็หัวเราะเสียงดัง หลังจากนั้นเขาก็แทบจะไม่กล้าทักใครอีกเลยเพราะไม่มั่นใจในตัวเอง คำว่าแบบนี้ที่เขาคนนั้นว่าหมายถึงแบบไหน คนอื่นจะคิดแบบนั้นบ้างหรือเปล่า

    คนที่สองเล่าให้ฟังว่าเขาไม่กล้าเข้าไปคุยกับเพื่อนเพราะว่าหัวจะตื้อ ๆ ไม่รู้จะเข้าไปคุยอะไร ไม่สามารถทำบทสนทนาให้เกิดขึ้นได้ ได้แค่สวัสดีแล้วก็ไม่มีอะไรจะต่อ อึดอัดมากและไม่อยากอึดอัดแบบนี้อีกแล้วจึงไม่อยากทักทายกับใคร

    เราแชร์ให้พวกเขาฟังปัญหาหลักของเราไม่อยู่ที่การสนทนาแล้ว แม้เมื่อก่อนเราจะไม่มั่นใจมาก ๆ เงียบ ๆ ไม่อยากสุงสิง แต่พอโตขึ้นมาเราก็เลือกที่จะปรับเปลี่ยน จนตอนนี้เราสามารถพูดคุยได้แม้บางครั้งจะอึดอัดนั่นก็เป็นเพราะตัวเราไม่พร้อม อารมณ์เราไม่stable เรามักจะแสดงออกไปตรง ๆ ว่าครั้งนี้ไม่พร้อมคุย ดังนั้นปัญหาของเราเป็นเรื่องอื่นเสียมากกว่า อย่างเช่น การพูดหน้าชั้นเรียน การสัมภาษณ์ต่าง ๆ เราจึงเลือกที่จะขอรับฟังและตอบพวกเขาในเชิงเป็นการแนะนำ

    เราคิดว่าการที่เราทำแบบนี้เหมือนทำให้เพื่อน ๆ ได้ปลดปล่อยสิ่งที่อยู่ในใจ และเราดีใจมาก ๆ ที่ได้ฟังเรื่องราวนั้น ๆ เพราะบางเรื่องก็เหมือนสะท้อนตัวเราเมื่อก่อน เรารู้สึกว่าขณะนี้กำลังมีเพื่อนที่กำลังพยายามอยู่และเราจะพยายามบ้างเพื่อที่จะปรับเปลี่ยนเรื่องที่เป็นปัญหาสำหรับเรา

    เราเข้าใจดีเลยว่าคงจะเป็นเรื่องยากในการพูดคุยที่ใครหลายคนคงมองว่าการพูดคุยเป็นเรื่องง่ายดายที่สุดในการเริ่มต้นความสัมพันธ์กับใครสักคน เราเข้าใจว่าจะต้องมีใครสักคนกำลังพยายามอย่างมากเพื่อที่จะพูดแค่ว่า “สวัสดี” หรือ “เป็นไงบ้าง”อาจจะต้องอึดอัดขนาดใจเต้นรัวเพื่อพยายามหาเรื่องราวเพื่อให้บทสนทนาเป็นไปต่ออย่างราบรื่น

    สิ่งที่อยากจะบอกกับคนที่เป็น Social Anxiety หรือสงสัยว่าตัวเองเข้าข่าย

    1. ให้เวลากับความรู้สึกดังกล่าว หากเราไม่พร้อมในการพูดคุยหายใจเข้าลึก ๆ ครั้งนี้ไม่เป็นไร ลองใหม่อีกสักครั้ง
    2. ไม่ต้องพยายามมากเกินไป ปล่อยให้เป็นธรรมชาติ
    3. ยอมรับสภาพ หากมือสั่น ปากสั่น นั่นคืออาการที่เราต้องเผชิญ ไม่ต้องไปกังวลว่าคู่สนทนาจะรู้สึกแย่หรือตกใจ
    4. ไม่มีใครจะมองเราในแง่ลบไปเสียหมด พยายามดึงอีกมุมออกมาให้เขาได้เห็น
    5. เชื่อว่าตัวเราจะเปลี่ยนแปลงได้ อย่างเราก่อนจะรู้จัก Social Anxiety กับเราในตอนนี้ยังไม่ใช่คนเดียวกันเลย ความคิดก็เปลี่ยนไปมากมาย เปลี่ยนแปลงได้แน่นอน

    ทั้งหมดนี้เพื่ออยากจะบอกว่าเป็นกำลังใจให้ ในตอนนี้เรายังมีความวิตกกังวลอยู่ แต่เราก็พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองไปพร้อม ๆ กับเพื่อน ๆ ที่อยู่ในกลุ่ม

    สู้ ๆ นะ ❤

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
Nocturnal (@Nocturnal)
แค่โทรหาหมอยังต้องดึงเอาความกล้าทั้งหมดที่มีออกมา แล้วต้องเตรียมคำพูดไว้อีก :(
Piti Pui (@pitipui)
เราเป็น social anxiety และเราว่าเราไม่พร้อมเปลี่ยน เหมือนว่าเราอยู่ส่วนตัวมันก็เซฟโซนดีแล้วอ่ะนะ เราเจอผู้คนแล้วหัวเราชอบคิดไปเองว่าคนมองเราไม่ดีนั่นนี่ เลยว่าเลี่ยง ๆ เป็นดี อยู่คนเดียวสบายใจกว่า อ่านว่ามีทำกรุ๊ปบำบัด คิดถึงตัวเองว่าจะกล้าออกไปทำกรุ๊ปไหม คงไม่อ่ะ บาย... ชาตินี้ไม่น่าจะหาย ฮ่า ๆ ๆ
que regardez-vous (@piyapasyb)
@pitipui เราว่าถ้าเป็นcomfort zoneอยู่ก็เป็นเรื่องที่ดีแล้วนะคะ ? ส่วนใหญ่ที่มาทำกรุ๊ปกันเพราะทุกคนเริ่มรู้สึกว่าสภาวะนี้ส่งผลต่อชีวิตพวกเขาและกระทบอะไรบางอย่างทำให้เขาพลาดโอกาสงับ
Piti Pui (@pitipui)
@piyapasyb มีหลายอย่างที่เรารู้สึกเราพลาดนะ เราไม่กล้าออกไปเจอคน ไม่กล้าโทรติดต่องาน ทั้ง ๆ ที่ถ้าชีวิตทำได้ คงเจริญก้าวหน้ามากกว่านี้ แต่ก็ยังไม่กล้าทำ ช่วยไม่ได้ ตอนนี้ก็ทำเท่าที่เราไหวไปก่อน ประมาณนั้นแหละ