เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เวิ่นเว้อวกวนRAMBLEMAN
BURNING . อีชางดง
  • "บางที ความทรงจำของผู้คน อาจจะมีหน้าที่เป็นเชื้อเพลิง เพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนให้ดำรงอยู่ต่อไป ไม่สำคัญหรอกว่าความทรงจำนั้นจะสำคัญ หรือเล็กน้อยแค่ไหน เหมือนเราโยนกระดาษเข้ากองไฟ ไฟมันไม่รู้หรอกว่านี่คือหนังสือพิมพ์ นี่คือวรรณกรรมชิ้นเอก ทั้งหมดนั่นไม่มีอะไรต่างกัน เป็นก็แค่เชื้อเพลิง..."
    - ฮารุกิ มุราคามิ , ราตรีมหัศจรรย์



    "เกาหลีมี เดอะเกรท แกสบี้ มากเกินไป"

    จงซูเปรยกับแฮมี ขณะที่ทั้งคู่ได้รับเชิญมายังอพาร์ทเม้นท์หรูของเบน อ้างอิงถึงงานเขียนในชื่อเดียวกัน ของเอฟ. สกอตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์ ที่ต้องการจะเปรียบเทียบถึงเบน ว่าเป็นแกสบี้ กลุ่มคนที่ร่ำรวยมหาศาล โดยที่วันๆไม่ต้องเสียเหงื่อไปกับการทำงานแม้ซักหยด


    การที่จงซูแม้จะไม่ได้ไร้การศึกษามาจากไหน แต่ถึงกับมีดีกรีจบมหาลัย แต่ก็ยังตกงาน ต้องคอยรับจ้างใช้แรงงานอยู่ในเมืองใหญ่ ทั้งยังมีภาระไปกลับโซล-บ้านเกิดที่ติดชายแดน เพื่อดูแลฟาร์มของพ่อที่มีคดีความ ต้องอยู่ในวังวนที่ได้เห็น "ความยุติธรรม" ทำงานกับคนชนชั้นล่าง


    แม้แต่แฮมี ที่ภายนอกดูเป็นชนชั้นกลาง มีเงินศัลยกรรม เก็บเงินท่องเที่ยวตามฝันของตนเอง แต่ภายในเป็นหนี้บัตรเครดิต จนกลับไปสู้หน้าทางบ้านไม่ได้ โจมตีสถาบันครอบครัวของเกาหลีที่นับวันต่างคนต่างอยู่และอ่อนแอลงเรื่อยๆ ภาวะการ "มี-ไม่มี" ถูกนำเสนอและสอดแทรกอยู่ในหนังทั้งเรื่อง แฮมีเรียนการแสดงละครใบ้ ภายหลังการโชว์ปอกส้มล่องหนไป ก่อนจะบอกเทคนิคว่า "เราหลงเชื่อ (ในที่นี้คือ เชื่อว่ามีส้มจริงๆ) ไม่ใช่เพราะเราพยายามมองในมือเป็นผลส้ม (ซึ่งไม่มี) แต่เป็นการหลงลืมไปว่าสิ่งๆนั้นมันไม่มีอยู่ต่างหาก"


    "เราหลงลืมไปว่าสิ่งนั้นมันไม่มี" เมื่อถูกนำเสนอในหนังต่อๆไป มันคือความเศร้า และคับแค้นของชนชั้นแรงงานในสังคม ที่ชนชั้นอีลิท แทบจะไม่เคยรับรู้ถึงการมีตัวตนอยู่ของเบื้องล่างเลย หากเปรียบเทียบแล้ว เบื้องหน้าความสำเร็จและชนชั้นอีลิทที่เพียงแค่กระดิกนิ้ว ก็เป็นปัจจัยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เป็นแสงสว่าง เงามืดอย่างจงซูและแฮมีก็คือฟันเฟืองที่ต้องคอยถีบตัวเองออกจากบ่ออันมืดมิด เพียงเพื่อจะได้ทำความฝันตัวเองให้สำเร็จแค่อย่างเดียวก็นับว่ามาไกลมากโขแล้ว



    "เมื่อไม่มีน้ำตา ก็ไม่มีหลักฐานของความเศร้าหลงเหลืออยู่" ประโยคที่เบนพูด เป็นการตอกย้ำไปอีกนัยหนึ่ง เมื่อไม่มีน้ำตา แม้แต่ความโศกเศร้าก็ไม่มีหลักฐานว่าสิ่งนั้นเคยมี แล้วจะต่างอะไรกับเหล่าคนตัวเล็กๆ? ในซีนที่เบ็นเชิญจงซูกับแฮมีไปยังคลับหรู การนั่งฟังแฮมีเล่าประสบการค้นพบความซาบซึ้งทางจิตใจ กับเหล่าเพื่อนๆชนชั้นเดียวกัน ความสนุกอย่างเดียวของพวกเข้าคือการได้ดูเหล่าคนตัวเล็กๆดิ้นรนเพื่อสนองความต้องการอันจิ้บจ้อยในสายตาพวกเขา ปรากฎเป็นความอึดอัด ขมขื่น และเหยียดหยาม เมื่อกองไฟภายในจิตใจเริ่มปะทุ


    ภายหลังจากที่เบนบอกจงซูว่า เขามีงานอดิเรกคือ "การเผาเรือนเพาะชำร้าง" ทุกๆสองเดือน โดยจะเลือก เรือนเพาะชำที่ถูกทิ้งร้างไว้ เบนบรรยายอย่างละเอียดว่า มันคือขยะที่สมควรถูกทำให้หายไป เป็นของที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ แค่ตั้งอยู่ตรงนั้น เขามีหน้าที่แค่จุดไฟ และมองดูมันมอดไหม้จนเหลือแต่เถ้าถ่าน


    "แล้วคุณเอาอะไรมาตัดสินว่ามันไร้ประโยชน์ และควรถูกเผาทิ้งล่ะ" 

    จงซูถาม

    "ผมไม่ได้ตัดสินอะไรทั้งนั้น ไม่มีผิดหรือถูก แค่ยอมรับถึงการมีของมัน และทำลายมัน   เหมือนฝนตก มันไม่ได้ต้องตัดสินผิดหรือถูก มันแค่ตกลงมา" 

    เบนตอบ

    "มีโรงเพาะชำร้างในเกาหลีมากเกินไป" 


    เหมือนล้อกับประโยคเมื่อต้นเรื่อง ถ้า แกสบี้ คือตัวแทนของชนชั้นอีลิทที่อยู่เหนือสังคมธรรมดา แล้ว โรงเพาะชำร้าง ของเบนล่ะ คือตัวแทนของอะไร? หมายความตามตัวจริงๆ หรือเป็นแค่คำอุปมา?



    ด้วยชั้นเชิงการเล่าเรื่อง เทคนิคการถ่าย การใช้เพลงประกอบ การหยอดปริศนา เบาะแสต่างๆ เผยด้านดำมืดของตัวละคร และสังคมเกาหลีออกมา สร้างความกดดัน คับแค้น เป็นอารมณ์รุนแรงภายในจิตใจของผู้ชม เป็นความมืดมิดที่เกาะกิน จนสุดท้ายแล้ว เราอยากจะเลือกที่จะจุดไฟ เผาผลาญห้วงอารมณ์ที่ขมขื่นให้โหมกระหน่ำกลายเป็นเศษเสี้ยวธุลี พร้อมกันกับเปลวไฟที่ลุกโชนในตอนจบของเรื่อง ก่อนที่ภาพจะเฟดกลายเป็นสีดำ...



    สิ่งที่เผาไหม้อยู่มันคือเปลวไฟจริงๆ หรือเป็นแค่เปลวเพลิงอุปมาล่ะ?

    BURNING (2018) - อีชางดง

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in