เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Interviewอ่าน-คิด-เขียน
ความ(คาด)หวัง ความจริงบนหนทางการเป็นหมอ
  • หากมีใครถามว่า "ทำไมคุณถึงอยากทำอาชีพนี้" หรือ "ทำไมคุณถึงเลือกที่จะเป็น..." การค้นหาคำตอบที่ชัดเจนคงต้องใช้เวลาระยะหนึ่งเพื่อย้อนคิด หาเหตุผลของการตัดสินใจในครั้งนั้น ใต้สภาวะจิต ณ ห้วงเวลานั้น สิ่งใดบ้างที่นำมาพิจารณา

    สมัยเด็ก หลายคนมักจะพบเจอคำถาม "โตขึ้นอยากเป็นอะไร" 
    สมัยมัธยม หลายคนมักจะเจอคำถาม "อยากเรียนคณะอะไร"
    สมัยมหาวิทยาลัย  หลายคนมักจะเจอคำถาม "เรียนจบ จะไปทำงานอะไร"

    เห็นได้ว่าคนเราใช้เกือบทั้งชีวิตเพื่อค้นหา อาชีพ เรียนรู้ตนเองว่าชอบอะไร ไม่ชอบอะไร จนค่อย ๆ ถึงจุดที่ต้องตัดสินใจว่าอาชีพนี้เป็นสิ่งที่ตนต้องการจะใช้ช่วงชีวิตในอนาคตที่เหลือไปกับมัน เด็กหลายคนอาจต้องตัดสินใจเลือกอาชีพตั้งแต่มัธยม แม้อาจจะไม่ใช่อาชีพเฉพาะจริง ๆ แต่การเลือกสายการเรียนก็เท่ากับเลือกทางเดินสู่สายอาชีพโดยนัย ตอนนั้นเราพร้อมมากแค่ไหน เรารู้จักตนเองจริง ๆ หรือตนเองตามความคาดหวังของภายนอก เราจะไม่เสียใจกับการตัดสินใจในครั้งนั้น ในตอนนี้เราได้ทำในสิ่งที่เราเคยวาดฝันไว้หรือไม่ 

    ภวิษย์พร หนันดี หรือใบเตยเป็นนิสิตคณะแพทยศาสตร์ชั้นปีที่ 5 มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ปัจจุบันเรียนอยู่ชั้นคลินิกที่ศูนย์แพทย์ศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิกโรงพยาบาลร้อยเอ็ด เล่าถึงความเป็นมาของการตัดสินใจเลือกเรียนหมอ ผ่านความ(คาด)หวังของครอบครัว คำสัญญา มาจนถึงจุดที่ตนเองค้นพบอุดมการณ์ที่ชัดเจนว่า "ฉันจะเป็นหมอที่ดีเพื่อคนไข้"

    เมื่อฉันตัดสินใจเรียนหมอ

    "เอาจริง ๆ คือสอบติดเป็นที่แรกและก็เป็นทุนด้วยแหละ  และก็มีอีกหลาย ๆ อย่าง ทั้งเป็นความคาดหวังของพ่อแม่ โรงเรียนด้วย แต่มีอีกเหตุผลนึงที่อาจจะดูแปลกหน่อย คืออยากให้พ่อเลิกบุหรี่ เพราะเคยพูดกับพ่อไว้ว่า ถ้าเราสอบเข้าเรียนหมอได้ พ่อต้องยอมเลิกบุหรี่"

    ความคาดหวังของครอบครัวหรือโรงเรียนมีมากไหม

    "ก็ไม่ได้ถือว่าเยอะมากนะ พ่อกับแม่ไม่เคยบอกเราว่าอยากให้เรียนอะไร ทุกอย่างให้เราเลือกเอง ส่วนโรงเรียนก็ไม่ได้คาดหวังในตัวเรามากเพราะอยู่ระดับกลาง ๆ ของห้อง ไม่ได้เก่งมาก"

    อะไรเป็นสิ่งที่จุดประกายให้อยากเรียนหมอ

    "สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกอยากเป็นหมอคือ ตา แกเป็นคนแก่ที่ชอบบ่นว่าปวดท้อง นอนอยู่บ้านนานมาก ลูกทุกคนเข้าใจว่าแกเรียกร้องความสนใจ แต่พอได้พาไปโรงพยาบาล หมอตรวจพบว่าเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ซึ่งไม่มีใครเอะใจมาก่อนเลย และแกก็เสียชีวิตในอีกไม่กี่วันต่อมา ตอนนั้นเรารู้สึกว่าถ้าเรามีความรู้ เราก็คงช่วยให้คน ๆ หนึ่งไม่จมอยู่กับความเจ็บปวดทรมานนานขนาดนั้น

    "ตาจากไปตอนเราอายุ 17 ปี ที่จริงแล้วเราไม่ได้เริ่มเตรียมตัวจริงจังมาตั้งแต่ต้น แต่มันเป็นการจุดประกายความคิดว่า เราอยากเป็นหมอนะ ทำให้เราเริ่มที่จะมองหาว่าเขาสอบกันยังไง ข้อสอบประมาณไหน มีโครงการอะไรบ้างและก็เริ่มวางแผนคร่าว ๆ ว่าเราจะอ่านหนังสือยังไง เน้นวิชาไหน ทำข้อสอบยังไง"

    ความฝันก่อนที่จะเลือกเรียนหมอคืออะไร

    "ก่อนหน้านี้อยากเป็นคุณครู เพราะคิดว่าการได้อยู่กับเด็กๆได้สอนเขา คงจะมีความสุขดี เพราะปกติเป็นคนชอบเด็ก สิ่งที่ทำให้อยากเป็นครูคือ คุณครูที่เราสัมผัสมาตั้งแต่อนุบาล เพราะเราเจอแต่คุณครูที่ใจดี เลยประทับใจและอยากเป็นเหมือนเขาบ้าง"

    "แต่ตอนนี้เริ่มจะเปลี่ยนใจแล้ว เพราะกลัวว่าจะสอนคนอื่นให้เข้าใจไม่ได้ ตอนที่อยากเรียนหมอ ก็กลัวนะ กลัวว่าจะรักษาคนไข้ไม่ได้ตามที่คาดหวัง แต่ก็พยายามจะตั้งใจทำให้ดีที่สุดจะรักษาเขาอย่างเต็มความสามารถ"

    "ถ้าสอบหมอไม่ติด ก็คิดว่าจะเรียนครู ทำตามความฝันตอนเด็ก"

    ฐานะครอบครัวมีส่วนในการทำให้เราเลือกอาชีพหมอหรือครูไหม

    "มีนะ เพราะครอบครัวเราค่อนข้างยึดติดกับความคิดที่ว่าอยากให้ลูกรับราชการ เพราะคิดว่าเป็นอาชีพที่มั่นคงและสังคมให้การยอมรับและนับถือ และเป็นอาชีพที่มีรายได้ค่อนข้างดีซึ่งก็เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้เราเลือกเรียนเพราะเราอยากให้ครอบครัวเราไม่ลำบาก เราอยากให้ครอบครัวเราอยู่อย่างสุขสบาย"

    สัญญาที่มีกับพ่อทำให้เราละทิ้งความฝันในวัยเด็กไหม

    "เราไม่ได้คิดว่ามันเป็นการละทิ้งความฝันนะ เหมือนเรามีความฝันหลาย ๆ อย่าง และเราก็ไม่ได้ยึดติดนะว่าความฝันของเรามันต้องสำเร็จหรือเป็นจริงทุกอย่าง ถ้าสำเร็จก็เป็นสิ่งที่ดีแต่ถ้ามันยังไม่สำเร็จก็แค่มันยังไม่สำเร็จ มันไม่ได้ล้มเหลวหรือไม่ได้แปลว่าเราจะละทิ้งมัน"

    "แต่สัญญาที่เราทำกับพ่อตอนม. 4 นี้ก็เป็นแรงให้เราพยายามเรียนและสอบมากขึ้น เพราะเราเกลียดบุหรี่มาก เกลียดทั้งกลิ่น เกลียดที่มันทำให้เราเป็นภูมิแพ้มาจนถึงทุกวันนี้ เกลียดที่มันเป็นชนวนให้เกิดการต่อปากต่อคำหรือแม้แต่การทะเลาะกันของพ่อกับแม่"

    เมื่อฉันสอบติดหมอ

    ตอนที่ทราบผล ทำอะไรอยู่ รู้สึกอย่างไร

    "ตอนนั้นอยู่บ้านคุณครูภคมน ไปนอนเป็นเพื่อนคุณครูและน้อง ตอนนั้นทุกคนเข้านอนหมด เรานั่งอยู่หน้าจอคอม refresh หน้าเว็บคณะเพื่อรอผลสอบประกาศตั้งแต่ห้าทุ่มครึ่ง ตื่นเต้นมาก กลัวว่าจะสอบไม่ติด กลัวไม่มีที่เรียน กลัวพ่อแม่จะผิดหวังเพราะเราผ่านมาจนถึงรอบสุดท้ายแล้ว กลัวว่าความพยายามเราจะไม่พอ กลัวไปหมด พอรู้ผล โทรไปบอกพ่อกับแม่ ตอนนั้นพ่อกับแม่เอาข้าวขึ้นเล้าอยู่ บอกด้วยความดีใจ ภูมิใจ และโล่งใจ และรับรู้จากน้ำเสียงของพ่อและแม่ว่าดีใจเช่นกัน

    รู้สึกอย่างไรในวันที่คำสัญญาเป็นจริง

    "ในตอนที่สอบติดนั้น เราไม่ได้คิดเรื่องคำสัญญาเลย รู้สึกแค่ดีใจที่เราทำได้แล้วนะ สิ่งที่เราพยายามมันเห็นผลแล้ว"

    "เราทวงคำสัญญานะ ทวงทุกครั้งที่กลับบ้านแล้วยังเห็นพ่อสูบอยู่ พ่อก็เหมือนรู้อยู่และพยายามจะเลิกอยู่เหมือนกัน"

    "ในตอนที่ทราบว่าพ่อเลิกบุหรี่ รู้สึกดีใจ ดีใจมากๆ ดีใจเท่า ๆ กับตอนสอบติดเลยล่ะ ดีใจที่พ่อรักษาสัญญา ดีใจที่เราทำให้คนคนนึงเลิกบุหรี่ได้ ดีใจที่ต่อไปนี้ครอบครัวเราจะไม่ได้ทะเลาะกันเพราะเรื่องนี้อีกแล้ว ดีใจที่จะได้เลิกบ่นพ่อทุกครั้งที่ได้กลิ่นบุหรี่ที่คิดว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราเป็นภูมิแพ้มาจนถึงทุกวันนี้ ที่จริงพ่อไม่ได้บอกเรื่องนี้เอง แม่เป็นคนบอกว่าพ่อเลิกบุหรี่แล้วนะ"


    ตอนเข้าไปเรียนหมอกังวลไรไหม มีความสุขไหม

    "แรกๆกังวลเรื่องเพื่อนกลัวว่าจะเข้ากับเพื่อนไม่ได้ เพราะเพื่อนมีแต่เด็กในเมือง มีแต่ลูกคนรวยคนใหญ่คนโต เราเป็นเด็กบ้านนอกตัวดำ ๆ กลัวไม่มีคนเล่นด้วย แต่ไม่เลยทุกอย่างตรงข้ามเพื่อนน่ารักทุกคน ก็จะมีกังวลเรื่องเรียนกลัวว่าจะอยู่เป็นคนสุดท้ายของห้องแต่ก็ไม่ได้แย่อย่างที่คิด พอมาชั้นคลินิกกังวลว่าจะไม่มีความรู้ไปดูแลคนไข้ แต่มันก็เป็นแรงผลักดันที่ทำให้เราอยากเรียน อยากอ่านหนังสือเพื่อที่จะไปดูแลคนไข้ของเราอย่างดีที่สุด ถามว่ามีความสุขไหมก็มีแหละมีในทุกช่วงเลยเพียงแต่ช่วงนั้นมันจะมีความทุกข์เข้ามาปนมากน้อยแค่ไหน สุขที่สุดในชีวิตที่เรียนมาคือคนไข้ที่เราดูแลหายจากโรคแล้วเดินยิ้มกลับบ้านและในวันที่เขาเจอเราด้วยความบังเอิญเขาจำเราได้ว่าเราคือคนที่ดูแลเขาให้หาย นี่แหละคือสิ่งที่ลบล้างความคิดอยากลาออกแม้จะเหนื่อยแค่ไหนก็ตาม"

    "เราคิดว่าการที่เรามาจากนอกเมืองไม่ค่อยได้เรียนพิเศษมากมันทำให้เราดูอ่อนลงในบางเรื่องที่เขาได้เรียนพิเศษมาแต่เราไม่ได้เรียน เราก็จะไม่รู้เรื่องแต่เพื่อนทุกคนไม่มีใครมองว่าเราด้อยเลยนะทุกคนยินดีอธิบายในสิ่งที่เราไม่รู้"

    "โดยปกติ เราจะชอบมองตัวเองว่าแย่กว่าคนอื่นเสมอ และเป็นคนที่ไม่มั่นใจในตัวเองซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยดีเลย เราเลยเครียดเพราะคิดไปเองว่าคนอื่นจะว่าเราน่าเกลียด คิดว่าคนอื่นจะว่าเราโง่ คิดว่าคนอื่นจะคิดว่าเรากับเขาอยู่คนละระดับ"

    เมื่อฉันอยู่ตรงนี้

    ก่อนจะเข้ามาเรียนหมอกับตอนที่เข้ามาเรียนมีอะไรในตัวเองเปลี่ยนแปลงไหม

    "มีนะ ส่วนมากจะเปลี่ยนแปลงชัดเจนช่วงที่มาเรียนชั้นคลินิกที่โรงพยาบาลตอนปี 4 นี่แหละ แต่ช่วงพรีคลินิกก็มีเปลี่ยนบ้าง เช่นต้องอ่านหนังสือเยอะมากขึ้น ปกติเป็นคนไม่ค่อยชอบอ่านหนังสือเท่าไหร่ถ้าไม่มีสอบ ยิ่งช่วงจะสอบ NL ตอนปีสามต้องอ่านแบบอ่านทุกวันทั้งวันด้วย และก็พออ่านเยอะก็จะเครียดมีช่วงนึงเครียดมากตอนคะแนนสอบออก จนได้ไปหาอาจารย์ที่ปรึกษาที่เป็นจิตแพทย์เพราะเป็นโรคซึมเศร้าระยะแรก ๆ แต่ก็ไม่ได้รักษาจริงจังนะเพราะเริ่มจัดการตัวเองได้ด้วยการเริ่มไปวิ่งออกกำลังกาย พอขึ้นมาเรียนชั้นคลินิก ยิ่งเปลี่ยนแบบหน้ามือเป็นหลังมือ ต้องมีความรับผิดชอบเยอะมาก ๆ ทั้งต้องตื่นไปล้างแผลตั้งแต่ตีห้า เรียนทั้งวัน วันไหนมีเวรก็ลงเกือบเที่ยงคืนตลอด ความกดดันถาโถมหนักมาก อาจารย์ด่าว่าโง่ พี่ด่าว่าโง่ ราวน์ไปก็ไม่รู้เรื่องว่าเขาคุยอะไรกัน ทุกอย่างที่เกิดทำให้เราเปลี่ยนเยอะเลย เปลี่ยนเป็นคนที่มองโลกในแง่ดีมากขึ้น เปลี่ยนเป็นคนที่พยายามเข้าใจคนอื่นมากขึ้น และที่เปลี่ยนจริงๆคือเป้าหมาย ที่บอกว่าไม่ได้ตั้งใจจะเรียนหมอแต่แรกและพ่อก็เลิกสูบบุหรี่ไปได้สามปีละ แต่ตอนนี้เรามีเป้าหมายใหม่คือเราจะเป็นหมอที่ดีของคนไข้"

    "ตอนขึ้นปีสี่ที่ได้มาเจอคนไข้จริงๆ ตัวจุดประกายที่ทำให้อยากเป็นหมอคือคนไข้ มันเป็นความรู้สึกที่เราเห็นเขาป่วยแล้วเราอยากให้เขาหายอ่ะ แววตาของคนไข้ในวันที่เราเดินไปบอกว่าวันนี้จะได้กลับบ้านนะ เขาดูมีความสุข เราก็เลยอยากจะเป็นหมอที่เก่งและดีเพื่อไปรักษาเขาให้เขาได้เดินกลับบ้านพร้อมกับรอยยิ้ม"
     
    "อ่อ มีเปลี่ยนอีกอย่างนึงคือเลิกกลัวผีละ เพราะตอนเรียน Gross Anatomy ช่วงจะสอบต้องมาอ่านหนังสือกับเพื่อนซึ่งห้องมันอยู่ติดกับห้องอาจารย์ใหญ่บางวันก็นอนที่ห้องนั้นเลยต้องมานั่ง identifyอาจารย์ใหญ่กันตอนตีสองตีสามในวันที่จะสอบOSCE ก็เลยเลิกกลัวไปโดยปริยาย"

    ในช่วงที่เครียด ได้เล่าให้ครอบครัวฟังไหม

    "แรกๆก็เล่านะ แต่รู้สึกว่าพ่อกับแม่จะเครียดตามไปด้วยเห็นได้จากการที่ทุกคนจะดูใส่ใจเรามากทุกครั้งที่กลับบ้าน ทุกครั้งที่คุยโทรศัพท์แม่ก็จะทิ้งท้ายว่าเดี๋ยวสวดมนต์ช่วย หลัง ๆ เลยไม่เล่าละ เล่าแค่เรื่องดี ๆ ให้ฟังแทน ที่บ้านคาดหวังให้เราเรียนจบ และไม่เป็นบ้าไปซะก่อนเพราะเราเป็นคนเครียดมาก"

    คิดอย่างไรกับคำกล่าวที่ว่า "หมอดูแลได้ทุกคน ยกเว้นคนในครอบครัว"

    "คิดว่ามีความจริงบางส่วนนะ เพราะด้วยบทบาทและหน้าที่ของหมอจึงไม่ค่อยมีเวลาให้ครอบครัว คนไข้ต้องมาก่อนเสมอ แต่ท้ายที่สุดแล้วทุกคนต้องมีเวลาให้ครอบครัวเสมอ แต่แค่จะมีเวลาให้น้อยกว่าคนอื่นๆแค่นั้นเอง แต่เรามองว่ามันไม่ได้ทำให้ครอบครัวมีปัญหานะเพราะเราเชื่อว่าคนในครอบครัวเข้าใจว่าหมอตามความคาดหวังของสังคมเป็นอย่างไร เขาจะรู้ว่าเราเหนื่อย แล้วมันจะเกิดความเข้าใจในสิ่งที่เราเป็นและทำให้เรารักและเป็นห่วงกันมากกว่า" 

    คิดอย่างไรกับการที่โรงเรียนมักจะมองว่ามีนักเรียนสอบติดหมอเป็นความสำเร็จสูงสุด

    "ส่วนตัวคิดว่าการสอบติดหมอไม่ใช่ความสำเร็จสูงสุดนะ เพราะการสอบติดในคณะที่มีการแข่งขันสูงไม่ใช่เครื่องการันตีความสำเร็จในชีวิตของคนคนนั้น และทุกอาชีพมีความสำคัญ ไม่มีอาชีพไหนสูงหรือต่ำ ทุกคนเท่าเทียมกัน เรามองว่าโรงเรียนน่าจะถือเอาความสำเร็จของโรงเรียนเป็นการที่เด็กได้เอาความรู้ที่เขามีไปช่วยเหลือตนเอง ครอบครัว และสังคมมากกว่า"

    "คิดว่าการที่โรงเรียนหรือสังคมทำแบบนี้มันส่งผลต่อเด็กที่อาจจะค้นหาตนเองหรือมีความฝันในสิ่งที่ต่างออกไปมากกว่า เพราะบางคนที่ยังรู้จักโลกไม่กว้างพอ เขาจะเข้าใจว่าสิ่งที่ดีที่สุดที่สังคมยอมรับคือหมอ ทุกคนล้วนคาดหวังที่จะต้องการให้สังคมยอมรับ ทุกคนล้วนอยากได้คำชมและการยกย่องเชิดชู ซึ่งเขาอาจจะเป็นอย่างอื่นที่ไม่ใช่หมอได้ดีกว่า"


    มีมุมอะไรของตนเองที่ไม่ใช่วิทย์ไหม

    "มีนะ ชอบดนตรี ชอบฟังเพลง ชอบฟังเสียงกีตาร์โปร่งมากๆ แต่ไม่มีโอกาสได้ฝึกเล่นเลย นิยายก็ชอบอ่านชอบแนวสืบสวนสอบสวน เชอร์ล็อค โฮล์มนี่ตามอ่านหมดละ ถึงสิ่งพวกนี้แทบจะไม่ค่อยมีในห้องเรียน แต่ก็คิดว่ามันเป็นสิ่งที่ดีนะ ทุกอย่างทำให้เราเกิดการเรียนรู้ได้เสมอ ทุกอย่างมีคุณค่าและประโยชน์ในตัวมันเอง ไม่แน่หรอก เด็กที่โดดเรียนวิชาฟิสิกส์เขาอาจจะเข้าใจเรื่องคลื่นจากการเล่นกีตาร์ก็ได้ใครจะรู้ มันน่าจะทำให้ค้นพบตัวเองได้มากขึ้น

    ตอนนี้ค้นพบตัวเองยัง

    "ตอนนี้คิดว่ายัง เพราะเราไม่ได้ชอบในสิ่งที่เราเป็นอยู่มากขนาดนั้น เราไม่ได้ born to be a doctor แต่เรามีความสุขกับสิ่งที่เป็นอยู่นะ 

    "ถ้าถามว่ามีอะไรที่รู้สึกไม่สบายใจกับการอยู่ตรงนี้ไหม ก็มีนะ เป็นความกลัว เพราะเป็นคนขี้กลัวอยู่แล้ว กลัวว่าจะจัดการกับความรู้สึกตัวเองไม่ได้ กลัวจะจัดการกับความเครียดไม่ได้ ซึ่งแน่นอนว่ามันต้องเจออยู่แล้ว"

    "ยังอยากจะหาตนเองต่ออีกไหมหรือพอใจแล้ว อยากจะหานะแต่คงต้องพักไว้ก่อนเพราะที่เป็นอยู่ตอนนี้ก็ไม่ได้แย่มาก ไว้หลังเรียนจบอาจจะมีแรงบันดาลใจให้ออกเดินทางตามหาตัวตนอีกครั้งก็ได้"


    เรียบเรียง นิมิต กุมวาปี
    ภาพปก นิมิต กุมวาปี
    ภาพประกอบ อภิญญา จุลหงส์

    .

    ผลงานสืบเนื่องจากรายวิชา #ศิลปะการเขียนร้อยแก้ว ปีการศึกษา 2560 

    #Interview  #ห้องเรียนเขียนเรื่อง #หมอ #แรงบันดาลใจ

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in