เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
How to ไปดูคอนเสิร์ต TFBOYS ที่แผ่นดินใหญ่ด้วยตัวเองt0y_ting
How to Plan My Trip to Beijing?
  • ตอนที่แปลบทความ "ความแตกแยกของแฟนคลับ TFBOYS" ก็คิดอยู่แล้วว่าน่าจะมีคนเข้ามาอ่านเยอะ แต่ก็ไม่คิดว่าจะเยอะขนาดนี้ ปัจจุบันยอดวิวก็ยังขึ้นเรื่อยๆ เพราะงั้นต้องขอบคุณทุกคนที่สนใจเข้ามาอ่านนะคะ และขอบคุณเป็นพิเศษสำหรับคนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทั้งใน Minimore และทางทวิตเตอร์  มันทำให้เรารู้ว่าโคลเวอร์ไทยส่วนใหญ่นั้นเป็นแฟนกรุ๊ป อาจจะเมนเมมเบอร์คนใดคนนึง  แต่ยังไม่ได้พัฒนาไปไกลสุดกู่เหมือนกับโคลเวอร์จีนล่ะนะ 

    ได้เวลาแสดงความเห็นเกี่ยวกับบทความดังกล่าวในฐานะคนแปลบ้าง ที่ไม่ได้ออกความเห็นตั้งแต่แรก เพราะบทความค่อนข้างมาม่า เลยไม่อยากให้ความคิดเห็นของเราไปชี้นำความคิดของคนอ่าน  ส่วนตัวแล้วเราคิดว่าผู้เขียนทำการบ้านมาพอสมควร  ทำให้คนที่อยู่วงนอกมองเห็นสถานการณ์และความคุกรุ่นในกลุ่มแฟนคลับ TFBOYS ในภาพรวม  แถมยังเล่นประเด็นดราม่าที่ไม่ค่อยจะเกิดกับไอดอลกรุ๊ปซะด้วย เพราะปกติเจอแต่แบบ เมมเบอร์ในวงทะเลาะกันเองบ้าง แฟนคลับวงนั้นทะเลาะกับแฟนคลับวงนี้บ้าง ต่อต้านเมมเบอร์ใหม่ที่เข้ามาในวงบ้าง ต่อต้านเมมเบอร์เก่าที่ออกจากวงไปแล้วบ้าง  TFBOYS นี่เป็นเคสพิเศษจริงๆ ค่ะ  มีอย่างที่ไหนแฟนคลับในวงเดียวกันแบ่งพรรคแบ่งพวก แตกเป็นก๊กและตีกันเอง โดยที่ตัวเมมเบอร์ไม่ได้มีปัญหาอะไรกันเลย (For What!?)

    ถึงบทความจะเปิดมุมมองบางอย่างที่เราไม่เคยรู้มาก่อน แต่ก็ใช่ว่าจะเขียนได้ถูกต้องและครบถ้วนไปทั้งหมด เพราะมันผิดตั้งแต่ตอนต้นๆ แล้ว เพลงแรกที่ TFBOYS แสดงในงานครบรอบที่ปักกิ่งไม่ใช่ "HEART" แต่เป็นเพลง “Start off For Love” ต่างหากถึงจะอยู่ EP เดียวกันก็เถอะ  แอบคิดว่าคนเขียนก็รู้แหละว่ามันผิด แต่เขาอยากโปรยด้วยเนื้อเพลง "HEART" ที่มีความหมายสื่อถึงแฟนคลับของ TFBOYS เพราะมันตรงกับเรื่องที่จะเขียนมากกว่า แต่พอมันผิด ความน่าเชื่อถือของบทความเลยยิ่งลดลง

    นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างที่ผู้เขียนเลือกสัมภาษณ์ก็มีแต่แฟนเดี่ยวไม่ก็อดีตแฟนกรุ๊ป ทำไมถึงไม่ไปสัมภาษณ์แฟนกรุ๊ปจริงๆ บ้างว่าเขามีความคิดเห็นยังไง  พวกแฟนเดี่ยวอาจจะมองว่าความแตกแยกในกลุ่มแฟนคลับ TFBOYS ในตอนนี้เป็นเรื่องที่แก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว แต่แฟนกรุ๊ปอาจไม่ได้คิดแบบเดียวกันก็ได้ 

    TFBOYS เองนั้นเติบโตพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ มีแฟนเพิ่มขึ้นทุกวัน กลุ่มแฟนรุ่นเด็กที่เคยมีข้อจำกัดไม่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมของ TFBOYS ได้ ก็กำลังโตขึ้นเหมือนกัน แฟนเหล่านี้จากที่เคยตามอยู่ห่างๆ อาจจะเบื่อดราม่า ไม่อยากทำสงคราม และก้าวขึ้นมามีบทบาทต่อไปในอนาคต ใครจะรู้  แล้วพวกที่ตีกันอยู่ทุกวันนี้คงเริ่มรู้สึกตัวบ้างแล้วเหมือนกัน  ดูได้จากงานมีตที่กว่างโจว บรรยากาศผ่อนคลายกว่าที่ปักกิ่งมาก พวกนางมีความพยายามทำโปรเจคร่วมกันอยู่นะ แม้จะไม่ยอมเก็บแบนเนอร์ของตัวเองลงก็ตาม (ฮา) 
     
    ในตอนนี้ TFBOYS จุดระเบิดความปังในฐานะบอยแบนด์ได้แล้ว อนาคตถ้าสามารถจุดระเบิดความปังในฐานะนักแสดงได้อีก  ก็จะกวาดกลุ่มแฟนหนังแฟนละครเข้ามาเป็นแฟนคลับก๊กใหม่  ซึ่งแฟนสายนี้มีพฤติกรรมต่างไปจากแฟนสายนักร้อง  เพราะงั้นโครงสร้างของแฟนคลับ TFBOYS ยังเปลี่ยนแปลงได้อีกแน่ๆ ค่ะ ไม่น่าจะสิ้นหวังขนาดนั้น  แต่ขอให้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นด้วยเถิด  เรารอวันที่เด็กๆ ก้าวขึ้นมาเป็นพระเอกแถวหน้าทั้งสามคนอย่างสมภาคภูมิอยู่นะ

    วิเคราะห์มาตั้งยืดยาว ถึงอย่างไรโคลเวอร์ไทยอย่างเราคงได้แต่ยืนดูการเปลี่ยนแปลงของทั้ง TFBOYS และโคลเวอร์จีนอยู่ห่างๆ  ดูและจำให้ขึ้นใจว่า "ความขัดแย้งทั้งหลายล้วนเป็นจุดเริ่มต้นของความแตกแยก" เพราะงั้นอยากจะขอร้องโคลเวอร์ไทยทุกคนเลยว่า เวลาพูดถึง TFBOYS ขึ้นมา ถ้ารักหรือชอบเมมเบอร์คนไหน อยากอวยยังไง เชิญอวยได้เต็มที่เลย แต่อย่าได้ไปเหยียด ไปแซะ หรือล้อเลียนเมมเบอร์ที่เหลือ  ตอนพูดอาจจะคิดว่ามันสนุก แต่คนที่เขารักเขาชอบฟังแล้วอาจจะเคืองก็ได้  ใจเขาใจเขานิดนึงเนอะ

    เอาล่ะ! ได้พูดในสิ่งที่อยากจะพูดไปหมดแล้ว ได้เวลากลับเข้าสู่ห้วข้อ How to Plan Your Trip to Beijing? แล้วล่ะค่ะ บทนี้เราจะพูดถึงการเตรียมตัวของเราเพื่อจะไปร่วมงานครบรอบ 3 ปีของ TFBOYS ที่ปักกิ่ง  เนื่องจากบริษัท TF ent. เปิดขายบัตรงานครบรอบของ TFBOYS เพียง 2 อาทิตย์ก่อนงาน  นั่นหมายความว่า หลังจากกดบัตรได้ เรามีเวลา 2 อาทิตย์เท่านั้นในการจองตั๋วเครื่องบิน จองโรงแรม ขอวีซ่า เพื่อเตรียมตัวไปปักกิ่ง ไม่เคยมีทริปไหนฉุกละหุกขนาดนี้มาก่อน แล้วจะชักช้าอยู่ไย มาเริ่มกันเลย

    1. การจองตั๋วเครื่องบินไปปักกิ่ง

    ปกติเราค้นหาโปรโมชั่นสายการบินกับเว็บ  Skyscanner เลือกเว็บนี้ด้วยเหตุผลง่ายๆ ก็คือ หน้าเว็บสบายตา อ่านง่ายดี (แก่แล้วก็งี้) ใช้ค้นหาโปรโมชั่นก็จริง แต่เวลากดซื้อตั๋วอาจจะไปซื้อกับที่อื่นแทน ถ้าเว็บอื่นมีข้อเสนอที่ดีกว่า (ซะงั้น) เรียกว่าเอาไว้ใช้อ้างอิงเป็นหลัก

    ด้วยความที่เวลากระชั้นชิด ทำใจไว้พอควรว่าตั๋วเครื่องบินคงราคาสูงแน่  ซึ่งก็จริง เพราะตั๋วเครื่องบินไปกลับกรุงเทพ-ปักกิ่ง ของสายการบินแห่งชาติ อย่างการบินไทย พุ่งไปที่ 16,XXX บาท (อั่ก! เค้าสู้ราคาไม่ไหวง่า) ราคาถูกสุดคือมาเก๊าแอร์ 8,XXX บาท  แต่ต้องเหนื่อยเปลี่ยนเครื่องนี่สิ  สุดท้ายเลยมาลงเอยกับไห่หนานแอร์ บินตรง เวลาสวย ราคา 9,XXX บาท โดยซื้อกับเว็บ Hainan Airlines ได้เลย  ตัดสินใจไปกัน 4 วัน 3 คืน นอกจากดูคอนแล้วถือโอกาสไปเที่ยวปักกิ่งด้วย รายละเอียดไฟท์ตามนี้


    เอาตรงๆ คือกังวลกับการบินด้วยสายการบินสัญชาติจีนเหมือนกัน เพราะปกติบินไปจีนทีไร เราบินกับการบินไทยตลอดไง เพื่อนที่เคยบินกับไชนาอีสเทิร์นแอร์ไลน์ ก็บ่นงึมงำ ว่าสายการบินทำกระเป๋านางแตก แถมยังเจอเพื่อนร่วมไฟท์ไม่ดีอีก  แล้วกับไห่หนานแอร์ล่ะ เราจะเจอแจ็คพอตแบบนั้นมั้ย บินคนเดียวด้วยสิ น้องๆ บินล่วงหน้าไปก่อนแล้ว

    กลายว่า.... ไห่หนานแอร์ดีกว่าที่คิดไว้มากกกกกกกกกกกกกกกกก

    โหลดกระเป๋าได้ 2 ใบ ใบละ 23 กิโล / อาหารบนเครื่องอยู่ในระดับกินได้ / ที่นั่งกว้าง / ไม่ดีเลย์ / ผู้ร่วมทางเป็นคนจีนก็จริงแต่ผู้ดีมาก (ตอนมาเที่ยวเมืองไทยพี่ไปอยู่ตรงไหนกัน) เราจองที่นั่งติดหน้าต่างทั้งขาไปและขากลับ ขาไปนั่งติดกับผู้ชายสองคน ซึ่งก็สุภาพทั้งคู่ นั่งด้วยแล้วไม่รู้สึกอึดอัด  ส่วนขากลับนั่งติดกับคู่รักชาย-หญิง ผู้ชายอุตส่าห์ลุกเปลี่ยนที่นั่งให้แฟนผู้หญิงเขามานั่งติดกับเราแทน  คือ...ประทับใจ

    ไห่หนานไม่มีจอส่วนตัว ซึ่งก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรเพราะเป็นไฟท์ดึก คนเน้นนอนมากกว่า ไม่มานั่งดูโน่นนี่หรอก และดูเหมือนผู้บริหารสายการบินจะเป็นคนตลกล่ะ  เพราะ VTR สาธิตความปลอดภัยที่ฉายตรงจอส่วนกลางนี่ก็ปล่อยมุกไม่ยั้ง รายการที่เปิดให้ดูส่วนมากเป็นพวกรายการตลกอย่าง Just Kidding แล้วก็ Happy Camp คิดดูสิ อยู่บนเครื่องยังได้ดู Happy Camp รายการนี้มันดังแค่ไหน นี่ถ้าเป็นเทปที่เด็กๆ ไปออก คงไม่ได้หลับได้นอนแน่

    ถ้าจะบ่นคงมีเรื่องเดียว คือ เวลาเสิร์ฟอาหาร เราไม่เข้าใจว่าทำไมเทคออฟปุ๊บต้องเสิร์ฟอาหารปั๊บ บินขากลับไม่เท่าไหร่ไฟท์สี่ทุ่มครึ่ง เสิร์ฟอาหารห้าทุ่มถือว่ากินข้าวต้มมื้อดึกได้ แต่ขาไปนี่สิ  ก็เห็นอยู่ว่ากว่าเครื่องลงตั้งแปดโมงครึ่ง ทำไมถึงเลือกเสิร์ฟอาหารเช้าตั้งแต่ตอนตีสี่ฟะ เสิร์ฟตอนหกโมงไม่ได้รึไง เป็นอะไรที่โมโหมาก แต่ก็ยังกินอยู่นะ

    (ไปปักกิ่งกับไห่หนานแอร์)

    จริงๆ เรื่องข้างล่างไม่เกี่ยวหรอก แค่อยากจับโยงเฉยๆ (ฮา) ข่าวออกตอนที่กลับมาจากปักกิ่งแล้ว ไห่หนานแอร์ได้จัดเที่ยวบินพิเศษ โปรโมทละคร Finding Soul ของ TFBOYS เสียดายที่เป็นเที่ยวบินภายในประเทศ นี่ถ้า Air New Zealand มีจุดขายคือ Load of the ring ไห่หนานแอร์ก็มี TFBOYS ล่ะวะ

    2. การจองที่พักในปักกิ่ง 

    เราจองโรงแรมผ่าน agoda ไม่มีเหตุผลอะไรเป็นพิเศษ นอกจากเราสะสมแต้มกับ agoda อยู่ ตอนแรกเล็งโรงแรม Novotel Beijing Xinqiao เอาไว้ เพราะอยู่ใกล้สถานที่ท่องเที่ยวและสถานีรถไฟใต้ดินอยู่หน้าโรงแรมเลย แต่ว่าโนโวเทลให้พักได้ห้องละ 2 คน ไม่มีเตียงเสริมด้วย พวกเราไปกัน 3 คนและอยากนอนห้องเดียวกัน เลยไปจองห้องแฟมมิลี่ของ  Prime hotel Beijing Wangfujing แทน โรงแรมนี้ใกล้สถานที่ท่องเที่ยวและถนนสายช้อปปิ้ง แต่จากโรงแรมไปสถานีรถไฟต้องเดินประมาณ 5 นาที ซึ่งไม่ได้ไกลเท่าไหร่ ข้างล่างเป็นรูปรีวิวจากเว็บของโรงแรม
    คือจากรูปโรงแรมเค้าก็สวยนะ แต่พอยัยสามคนนี้เช็คอินเท่านั้นแหละ ไหงสภาพห้องถึงได้รกขึ้นมาได้ในพริบตา ข้าวของกองระเกะระกะ พากันนอนแผ่หราดูคลิป TFBOYS กันซะงั้น 

    ตอนแรกตั้งงบค่าโรงแรมไว้ประมาณพันต้นๆ - พันกลางๆ ต่อคนต่อคืน แต่กัดฟันจองโรงแรม Prime hotel Beijing Wangfujing ที่เป็นโรงแรม 5 ดาว เพราะมันมีโปรโมชั่นร่วมกับ agoda ลดค่าห้อง 40% เหลือราคาต่อคนต่อคืนคนละพันปลายๆ เกินงบไปนิดหน่อย แลกกับความสะดวกสบาย เพราะคิดไว้แล้วว่าเที่ยวปักกิ่งหน้าร้อนคงไม่ใช่เรื่องสนุก ดูคอนก็ทรหดพออยู่แล้ว ยังไงตอนนอนขอให้นอนที่ดีๆ หลับสนิทไว้ก่อนดีกว่า ร่างกายจะได้ไม่ล้าเกินไป

    และถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง!  เพราะโรงแรมห้องกว้างมาก ห้องน้ำก็ใหญ่ขนาดที่แยกอ่างอาบน้ำและ Shower Room ออกจากกัน วันไหนเดินเยอะก็นั่งแช่ขาในอ่างน้ำร้อนแก้ปวดเมื่อยไป  ที่สำคัญในห้องมีทีวีจอใหญ่ที่สามารถต่อไวไฟและเสียบ USB ได้ หลังจากจบงานครบรอบ เราโหลดคลิปของ Tencent มาดูกับทีวีโรงแรม เปิดคอนเสิร์ตรอบดึกกันเองอีกรอบ ชูแท่งไฟกันเย้วๆ เพราะในฮอลล์นั่งแยกกันคนละที่ไง ที่โรงแรมเลยมานั่งด้วยกันเป็นการชดเชย

    เสียดายที่ไม่ได้ไปว่ายน้ำที่สระในร่มของโรงแรม อยากเลียนแบบสามหน่อที่เวลาไปค้างโรงแรมแล้วชอบลงมาว่ายน้ำตอนกลางคืนอยู่เหมือนกัน แต่ไม่ไหวหมดแรงก่อน  แล้วเพิ่งรู้ด้วยว่าโรงแรมมีรถรับส่งถึงสนามบินโดยขึ้นที่หน้าโรงแรมได้เลย ค่าบริการคนละ 30 หยวน ลองใช้บริการตอนขากลับสะดวกมาก เพราะเราคงแบกกระเป๋าที่หนักร่วม 30 โล เต็มเอี้ยดไปด้วยน้ำและขนมที่ TFBOYS เป็นพรีเซนเตอร์ขึ้นลงรถไฟใต้ดินไปสนามบินไม่ไหวแน่

    ส่วนข้อเสียอย่างเดียวที่เจอคือ  โรงแรมนี้ใช้คีย์การ์ดในการขึ้นลิฟท์และเปิดประตูห้องพัก ซึ่งคีย์การ์ดก็ใช้ได้บ้างไม่ได้บ้าง บางทีขึ้นลิฟท์ไม่ได้ บางทีเปิดประตูห้องไม่ได้ ดีนะมากัน 3 คน มีคีย์การ์ด 3 ใบ เปลี่ยนกันเสียบจนกว่าจะใช้ได้

    หมายเหตุ : การเข้าพักกับ Prime hotel Beijing Wangfujing ตอนเช็คอินโรงแรมจะเรียกเก็บเงินประกัน 500 หยวน เงินจำนวนนี้จะได้รับคืนหลังจากเช็คเอาท์แล้วห้องพักไม่มีอะไรเสียหาย หากไม่ต้องการมัดจำด้วยเงินสดสามารถใช้บัตรเครดิตรูดวงเงินประกันได้
    3. การขอวีซ่าเข้าประเทศจีน

    ทั้งๆ ที่นักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวไทยเยอะติดอันดับต้นๆ แต่ไทยกับจีนกลับไม่ยอมยกเว้นวีซ่าระหว่างกันเสียที แถมต่างฝ่ายต่างหาเรื่องขึ้นค่าวีซ่าอีกต่างหาก  แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องยอมรับว่าการขอวีซ่าเข้าประเทศจีนโดยผ่านศูนย์บริการยื่นขอวีซ่าประเทศจีน (Chiness Visa Applicstion Service Center) นั้นง่ายมากจริงๆ ค่ะ

    สิ่งที่ต้องเตรียมในการขอวีซ่านักท่องเที่ยว (ประเภท L) ได้แก่

    - พาสปอร์ตต้องมีอายุการใช้งานเหลือมากกว่า 6 เดือน มีหน้าว่างสำหรับวีซ่าไว้สองหน้า 
    - สำเนาหน้าข้อมูลพาสปอร์ตมา 1 ใบ 
    - รูปถ่าย 2 รูป เป็นรูปถ่ายปัจจุบัน หน้าตรง รูปสี (พื้นหลังสีขาว) ไม่สวมหมวก ขนาด 2 นิ้ว 
    - สำเนาวีซ่าจีนครั้งล่าสุดที่เคยได้ (ถ้ามี)
    - ใบจองตั๋วเครื่องบินเที่ยวบินไป-กลับ 
    - ใบจองตั๋วโรงแรม
    - ค่าธรรมเนียม 1,500 บาท

    จัดเตรียมทุกอย่างพร้อมแล้วสามารถเดินทางไปขอวีซ่าด้วยตัวเองหรือให้ผู้อื่นขอแทนได้ที่ 

    อาคารธนภูมิ ชั้น 5 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400 

    แฟกซ์ 02-207-5988,022075933 Call Center 02-207-5888 (โทรไปก็ไม่ค่อยรับหรอกค่ะ)

    ศูนย์บริการยื่นขอวีซ่าประเทศจีนเปิดให้ทำการ วันจันทร์ - วันศุกร์ (หยุดวันเสาร์ - อาทิตย์และวันหยุดราชการ) เวลา 9:00 น.- 16:00 น.

    หลังจากยื่นเรื่องเรียบร้อยแล้ว ใช้เวลาในการดำเนินการ 4 วันทำการ สำหรับการขอวีซ่าท่องเที่ยวแบบธรรมดา


    4. การวางแผนท่องเที่ยวปักกิ่ง

    ตั๋วเครื่องบินซื้อแล้ว โรงแรมจองเรียบร้อย วีซ่าพร้อม ตอนนี้เหมือนก้าวขาเข้าไปอยู่ปักกิ่งละข้างหนึ่ง แต่ช้าก่อน ยังไปไม่ได้!  ก่อนจะบินต้องศึกษาหาข้อมูลและวางแผนการเดินทางเสียก่อน ไม่งั้นไปไหนไม่รอดออกจากสนามบินไม่ถูกแน่ และไอเท็มที่ขาดไม่ได้สำหรับการท่องเที่ยวแบบแบ็คแพ็คคือ คู่มือนำเที่ยวค่ะ  เราซื้อมาจากร้านหนังสือ 2 เล่ม คือ "ปักกิ่ง เทียนจิน ซ่านไห่กวน เล่มเดียวเที่ยว 3 เมือง" ของสำนักพิมพ์ D+Plus และ "Survivor plus จีน พูดจีนได้ไปไหนก็รอด" ของสำนักพิมพ์อมรินทร์ 

    เล่มแรกเป็นไกด์บุ๊คท่องเที่ยวปักกิ่ง ส่วนเล่มที่สองเป็นหนังสือรวบรวมประโยคสนทนาภาษาจีนที่จำเป็นสำหรับนักท่องเที่ยว

    คำถามคือ แนะนำให้ซื้อสองเล่มนี้ใช่มั้ย?

    คำตอบคือ ไม่แนะนำทั้งคู่ค่ะ (แป่ว)

    สาเหตุที่ไม่แนะนำ เพราะว่าเล่มแรกตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 2557 หนังสือมันเก่าไปแล้ว ข้อมูลอาจไม่อัพเดท เราเคยมีประสบการณ์เจ็บปวดจากการแบ็คแพ็คไปเที่ยวญี่ปุ่นครั้งแรก เชื่อข้อมูลในไกด์บุ๊คเลยถ่อไปถึงพิพิธภัณฑ์กันดั้มเพื่อพบว่ามันปิดไปแล้ว พลิกดูปีที่พิมพ์หนังสือทีหลังถึงได้รู้ว่ามันพิมพ์มาตั้งแต่ปีมะโว้  

    ส่วนที่ไม่แนะนำเล่มสอง เป็นเพราะน้องหมิวและน้องนิ้งที่ไปทริปปักกิ่งด้วยกัน พูดภาษาจีนในระดับที่เอาตัวรอดได้  ทำให้เราไม่ได้เปิดหนังสือเลยสักหน้า เพราะน้องช่วยพูดแทนให้หมด  อีกอย่างสำหรับคนที่เพิ่งเรียนภาษาจีนอย่างเรา คิดว่ามันจะดีกว่านี้ถ้าเขาเพิ่มคำอ่านแบบพินอินลงไปในเล่มด้วย ไม่ใช่มีแค่ตัวอักษรจีนและคำอ่านภาษาไทยแค่สองอย่าง

    อ้าว...ถ้าไม่แนะนำแล้ว ทำไมเราถึงซื้อสองเล่มนี้มาล่ะ

    คำตอบเป็นอะไรที่น่าเจ็บปวดมากค่ะ คือในหมวดท่องเที่ยวของร้านหนังสือ ทั้งชั้นเต็มไปด้วยหนังสือนำเที่ยวญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน (ผลจากการเปิดฟรีวีซ่าแน่ๆ) หนังสือท่องเที่ยวปักกิ่งมีเพียงสองเล่มนี้เท่านั้น เราจึงจำใจต้องซื้อมันกลับมา ไว้ไปเที่ยวปักกิ่งอีกหลายๆ รอบ จะฮึดสู้ออกไกด์บุ๊คของตัวเองบ้าง

    นอกจากจะใช้หนังสือมาอ้างอิงแล้ว เรายังหาข้อมูลทางเน็ท อ่านรีวิวของคนที่เคยไป เช็คถนนหนทางด้วย google map วางแผนการท่องเที่ยวด้วยตัวเองจนได้ "โปรแกรมเที่ยวปักกิ่ง 2016" ฉบับนี้มาค่ะ ถึงแม้ว่าพอไปถึงปักกิ่งจริงๆ จะทำตามโปรแกรมได้ไม่ถึงครึ่งก็ตาม แต่อยากแปะใน minimore ไว้เป็นที่ระลึกเพราะอุตส่าห์นั่งทำ  เผื่อมีใครอยากเอาไปปรับใช้กับโปรแกรมเที่ยวของตัวเอง หรือมีใครจะเอาทั้งโปรแกรมไปใช้เที่ยวตามเลยก็ได้นะคะ มารายงานเราด้วยว่ามันเที่ยวได้ตามโปรแกรมนี้จริงๆ รึเปล่า อยากรู้ผุดๆ

    5. การเดินทางในปักกิ่ง

    ปักกิ่งมีรถไฟใต้ดินครอบคลุมทั้งเมือง เข้าถึงสถานที่สำคัญต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยว แหล่งช้อปปิ้ง ศูนย์กีฬา และสถานที่ราชการ นอกจากนี้ค่าโดยสารยังถูกมาก (เมื่อเทียบกับไทย) ระบบการรักษาความปลอดภัยก็เข้มงวด ผู้โดยสารทุกคนและสัมภาระทุกใบต้องผ่านเครื่องสแกนโลหะก่อนเข้าไปในตัวสถานี


    เนื่องจากสถานที่ทั้งหมดในโปรแกรมเที่ยวปักกิ่ง 2016 ของเรา สามารถเดินทางไปได้ด้วยรถฟ้าใต้ดิน เพื่อความสะดวกจึงแนะนำให้ซื้อบัตร IC card ที่มีชื่อว่า Yikatong มาใช้สำหรับจ่ายค่าโดยสาร Yikatong เป็นบัตรเติมเงิน ใช้ได้กับทั้งรถเมล์และรถไฟใต้ดิน (Airport Express ก็ใช้ได้) มีค่ามัดจำบัตร 20 หยวนซึ่งสามารถแลกคืนได้ 


    อย่างไรก็ดี สถานีรถไฟใต้ดินของปักกิ่งก็ใช่ว่าจะสะอาด สว่างไสว สวยงามเหมือน MRT และ BTS บ้านเราหรอกนะคะ มีสถานีที่เก่า โทรม สกปรก กลิ่นห้องน้ำโชยอยู่ด้วย แต่ความไม่ดีเหล่านั้นถูกกลบมิดด้วยป้ายโฆษณาในสถานีค่ะ 


    (TFBOYS โฆษณา OPPO R9)

    ออกจาก Airport Express ลงสถานี Dongzhimen เจอลูกๆ เสนอหน้ามาต้อนรับ ดักแม่ๆ กันตั้งแต่สถานีต้นทางเลย ซึ่งเราก็จะเจอ TFBOYS อีกเป็นระยะๆ ตามสถานีต่างๆ ที่พีคมากคือสถานี Dongsi ใกล้กับโรงแรม Prime hotel Beijing Wangfujing ซึ่งเป็นที่พัก  มีป้ายโฆษณาที่ TFBOYS เป็นพรีเซนเตอร์ทั้งป้ายเล็กป้ายใหญ่  เห็นงี้เลยแอบติดใจ เวลานั่งรถไฟก็จะคอยชะเง้อมองป้ายโฆษณาในแต่ละสถานีที่นั่งผ่าน  เจอปุ๊บถึงขั้นย้อนกลับไปสถานีนั้นๆ เพื่อถ่ายรูปกับป้ายโฆษณา

    (TFBOYS โฆษณางานครบรอบ 3 ปี มี SAFEGUARD เป็นสปอนเซอร์)

     (TFBOYS โฆษณา Finding Soul Web Series)

    รู้สึกดีใจที่มาติ่งวงดัง เพราะมีป้ายโฆษณาน้องเต็มไปหมด ทำให้การเที่ยวปักกิ่งครั้งนี้มีสีสันจริงๆ แม้แต่ในสถานีรถไฟใต้ดินที่ไม่ค่อยจะมีอะไรน่าสนใจเรายังสามารถฟินได้ เป็นความสุขเล็กๆ น้อยๆ ของติ่งที่คนทั่วไปมักไม่เข้าจายยย

    หมายเหตุ : สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นมรดกโลกอย่างกำแพงเมืองจีนและสุสานหลวงราชวงศ์หมิงและชิง ทั้งสองแห่งอยู่นอกเมือง รถไฟฟ้าไปไม่ถึง ต้องนั่งรถต่อเอาเอง เราจึงไม่ได้บรรจุไว้ในโปรแกรมเที่ยวของเราในครั้งนี้ค่ะ

    6 การใช้อินเตอร์เน็ทและโทรศัพท์มือถือในปักกิ่ง

    นิยมใช้กันอยู่ 3 แบบ คือ
    1. ซื้อซิมจีน ลงทะเบียนและเปิดใช้งานที่นั่น
    2. เช่า Pocket Wifi 
    3. เปิดโรมมิ่งเบอร์ไทย

    เราเลือกเปิดโรมมิ่งเบอร์ไทยไปค่ะ แม้ว่าแบบที่ 1-2 จะเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่า แต่มันต้องใช้ซิมจีน ดังนั้น SNS อะไรที่ชาวโลกเขาใช้กัน พี่จีนเขาบล็อคหมดไม่ว่าจะ Facebook / Twitter / Line / Instagram / Google Map / Whatapps  แค่สามอย่างแรกก็แย่แล้ว จะเล่นทีต้องมุด VPN ไปเล่น เข้าได้ไม่ได้ก็ต้องวัดดวง เข้าได้แต่ช้าเป็นเต่าแล้วใครรับผิดชอบ

    เพราะงั้นเพื่อความสบายใจว่าจะเล่น SNS ที่จำเป็นได้ชัวร์ๆ เลยจัดการเปิดโรมมิ่งเบอร์ตัวเองพร้อมซื้อแพคเก็จเน็ทที่ศูนย์บริการ เบอร์เราเป็นเบอร์รายเดือนของ AIS แพ็คเก็จที่ซื้อคือ Non-Stop DataRoam Zone B 4 วัน ราคา 1,750 บาท (ยังไม่รวมภาษี) แต่ล่าสุดเข้าไปดู แพ็คเก็จเหลือแต่แบบ 1 วัน 3 วัน และ 5 วัน 


    ถามว่าใช้งานดีไหม ขอตอบว่า ดีมากกกกกกก  ดีในระดับที่สามารถโหลดงานครบรอบของ TFBOYS ที่ยาวเกือบ 3 ชั่วโมงมาเปิดดูกับทีวีโรงแรมได้ แต่ว่าโหลดเสร็จความเร็วสูงสุดที่ซื้อมาก็หมดเกลี้ยงเลยนะ

    7 การทำประกันการเดินทาง

    เกือบลืมหัวข้อนี้ซะแล้ว ทั้งๆ ที่มันสำคัญมากจนต้องกลับมาอีดิทเพิ่ม นั่นคือการทำประกันการเดินทางค่ะ ตรงนี้ต้องแยกให้ออกว่ามันไม่ใช่ประกันที่รวมมาพร้อมกับตั๋วเครื่องบินนะคะ นั่นเป็นประกันแบบกลุ่มที่จะคุ้มครองเฉพาะตอนที่เราเช็คอินขึ้นเครื่องจนถึงที่หมาย เป็นอันสิ้นสุดประกัน 

    แต่ประกันการเดินทางที่เราพูดถึงนี้ เป็นประกันส่วนบุคคลที่จะคุ้มครองตั้งแต่ 2 ชั่วโมงก่อนเราขึ้นเครื่องไปปักกิ่ง จนถึงวันที่เดินทางกลับถึงประเทศไทย อย่างเราเดินทางช่วงวันที่ 4 - 7 สิงหาคม 2016 ก็ซื้อประกันการเดินทางไป 4 วัน บางประเทศโดยเฉพาะยุโรปจะบังคับให้ซื้อประกันการเดินทางเพื่อใช้ในการยื่นขอวีซ่า  แม้ว่าประเทศจีนไม่ได้บังคับแบบนั้น  แต่ก็ซื้อไว้เถอะค่ะ เพื่อความไม่ประมาท ปกติเราซื้อประกันการเดินทางกับ World Care ซึ่งเป็นของ Allianz Global Assistance บริษัทประกันระดับโลก หลายปีก่อนเราต้องเดินทางไปพม่าบ่อยๆ แต่ไม่ค่อยมีบริษัทไหนรับทำประกันให้กับคนที่ไปพม่า  มี World Care นี่แหละที่รับ  เลยติดใจและเลือกใช้บริการมาจนถึงทุกวันนี้  แม้ว่าจะไม่เคยต้องเคลมเลยสักครั้งก็ตาม ซึ่งก็ดีแล้วที่ไม่ต้องเคลม

    วิธีการซื้อประกันกับ World Care ก็ทำได้ง่ายๆ ผ่านทางอินเตอร์เน็ท แค่กดเลือกประเทศที่จะไป วันที่เดินทางไปและกลับ จำนวนผู้เดินทาง ระบบก็จะขึ้นแพ็คเก็จมาให้เราเลือกซื้อเลย  


    จริงๆ  ผลประโยชน์นี่ยาวเหยียดเป็น 20 ข้อ แต่ตัดตอนมาให้ดูเท่านี้พอ  จะเลือกแพ็คเก็จความคุ้มครองแบบไหนก็ตามแต่อัธยาศัย สำหรับเราที่ไม่ซีเรียสเรื่องดีเลย์ ไม่มีของมีค่าอะไรในกระเป๋าเดินทาง กังวลอยู่เรื่องเดียวคือถ้าต้องเข้าโรงพยาบาลที่เมืองจีนแล้วจะไม่มีตังค์จ่ายเท่านั้นเอง เพราะงั้นจึงเลือกแพ็คเก็จ Common Sense ซึ่งเป็นแพ็คเก็จถูกสุด เน้นความคุ้มครองเรื่องอุบัติเหตุและการเจ็บป่วย รวมถึงการส่งตัวกลับประเทศยามฉุกเฉินค่ะ

    เลือกแพ็คเก็จได้แล้ว กรอกข้อมูลผู้เดินทางและผู้รับผลประโยชน์เสร็จ จ่ายเงินผ่านบัตรเครดิต ระบบจะส่งกรมธรรม์มาให้เราทาง e-mail  แนะนำว่าควรส่งต่อให้พ่อแม่พี่น้องหรือคนในครอบครัว และพิมพ์ไว้ชุดนึงเอาติดตัวไปด้วยตอนเดินทาง เป็นอันเสร็จพิธีค่ะ

    เกี่ยวกับการเตรียมตัวของเราเพื่อไปร่วมงานครบรอบ 3 ปี TFBOYS ที่ปักกิ่ง คร่าวๆ ประมาณนี้ค่ะ (นี่คร่าวแล้วนะ) เขียนมา 3 บท + ทรานอีก 1 บท เรายังไปไม่ถึงปักกิ่งเลยค่ะ สองบทสุดท้ายนี่แหละที่จะพาทุกคนไปเจอของจริง อย่าลืมติดตามอ่านกันนะคะ

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
themaxgood (@themaxgood)
cascas
newsreviewbooks (@newsreviewbooks)
csacasc
superhotplace (@superhotplace)
https://www.superhotplace.com
เข้ามาหาข้อมูลยาวๆเลยค่ะ จีนนี่เคยไปแต่กับครอบครัว ไม่เคยไปเองเลย อยากไปดูคอนบ้าง อิ_อิ