เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เธอ เขา เรา ผม 3 HORSE RIDING IN THE MIDDLE EARTHSALMONBOOKS
03 : กับดักแห่งความลวง

  • “ความเข้าใจอันยิ่งใหญ่นั้นกว้างขวางผ่อนคลาย ความเข้าใจอันเล็กน้อยนั้นคับแคบว้าวุ่น คำพูดอันยิ่งใหญ่กระจ่างลุ่มลึก คำพูดอันเล็กน้อยพล่ามพล่อยเสียดแทง ยามหลับใหลจิตวิญญาณมนุษย์นั้นล่องลอยพลุ่งพล่าน ยามตื่นร่างกายก็ลุกลี้ลุกลนสอดส่ายไขว่คว้า ทุกอย่างที่ประสบและได้รับ กลับยิ่งพัวพันรัดรึง วันแล้ววันเล่าที่จิตใจเกลือกกลั้วในความขัดแย้ง บางคราลำพองกระหยิ่มยิ้มร่า บางครากลิ้งกลอก บางคราคับแคบ ความกลัวเพียงเล็กน้อยนั้นคุกคามน่าพรั่น ความกลัวอันหนักหนาสะกดท่วมท้น ต่างวิ่งพล่านราวลูกศรที่พุ่งออกไป มั่นใจดั่งตุลาการผู้ตัดสินผิดชอบชั่วดี ยึดมั่นอยู่กับสถานภาพของตนดุจดังได้สาบานไว้ต่อทวยเทพ มั่นใจในชัยชนะของตน แต่กลับร่วงโรยไปดั่งฤดูศารทและเหมันต์ นี่คืออาการที่พวกเขาตกต่ำเสื่อมถอยลงทุกวัน ต่างจมจ่อมในสิ่งที่ตนสร้างขึ้นมาเองอย่างไม่อาจหวนคืนกลับ และยิ่งดิ่งจมสู่ความมืดมนดุจดังถูกกักขัง กลายเป็นความหน่วงหนักของวัยชรา กระทั่งจิตใจใกล้มอดม้วย ก็ไม่มีสิ่งใดอาจช่วยนำพวกเขามาสู่แสงสว่าง”

    จากหนังสือ จวงจื่อฉบับสมบูรณ์
    สุรัติ ปรีชาธรรม แปลและเรียบเรียง
    พจนา จันทรสันติ บรรณาธิการ, สำนักพิมพ์ openbooks
  • เรื่องยากเย็นที่สุด—คือการเข้าใจตัวเอง

    ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะคนที่หลอกลวงเราได้มากและแนบเนียนที่สุด, ก็คือตัวเราเอง

    มากครั้งเพียงใดที่เรามักมองออกไปข้างนอกนั่น และคิดว่าทำไมคนนั้นถึงเป็นอย่างนั้น ทำไมคนนี้ถึงเป็นอย่างนี้ ทำไมพวกเขาถึงไม่เป็นอย่างที่เราเป็น ทำไมพวกเขาถึงไม่เห็นอย่างที่เราเห็น

    เราต่างจมจ่อมอยู่กับสิ่งที่เราสร้างขึ้น หมกมุ่นอยู่กับมัน และตกจมอยู่กับมัน
    สิ่งที่เราสร้างขึ้นมีอะไรบ้าง?

    อย่างแรกสุดคือสิ่งที่เราสร้างขึ้นเกี่ยวกับตัวของเราเอง โดยมาก—เพื่อคิดว่าชีวิตของเรานั้นมีคุณค่า ควรแก่การต่อสู้ดำรงอยู่ต่อไป เราจึงต้อง ‘ปั้น’ สิ่งที่เราเห็นว่ามีคุณค่าบางอย่างขึ้นมาให้ตัวเองยึดเกาะ เรามักสร้างเนื้อตัวของเราขึ้นโดยใช้ต้นทุนเดิมเป็นเนื้อดิน มันอาจมาจากบรรพบุรุษ อาจมาจากพันธุกรรม อาจมาจากการเลี้ยงดู อาจมาจากการอบรมบ่มเพาะของ ‘หน่วย’ ต่างๆ ในสังคม

    พูดอีกอย่างหนึ่ง—เราคุ้นลิ้นกับรสชาติที่กินมาตั้งแต่เด็กฉันใดเราก็มักคุ้นกับต้นทุนเดิมที่คนอื่นสร้างให้เราแบบเดียวกัน

    โดยมาก เรามักบอกว่าอาหารของแม่เป็นอาหารที่อร่อยที่สุดในโลก และบางคนก็อาจต้องใช้เวลาชั่วชีวิตเพื่อจะเรียนรู้ว่าไม่ใช่เช่นนั้นเสมอไปอาหารของแม่อาจเป็นอาหารที่อร่อยในความคิดและรสนิยมของเรา เพราะเราถูกปลูกฝังมาอย่างนั้น แต่นั่นไม่ได้แปลว่าคนอื่นๆ ในโลกจะต้องเห็นว่าอาหารของแม่เราอร่อยไปด้วย—อย่าว่าแต่อร่อยที่สุดในโลกเลย

    ดังนั้นจึงเกิดสิ่งสร้างที่สองขึ้นใน ‘โลก’ ของเรา
    นั่นคือการสร้าง ‘ผู้อื่น’ หรือผู้ ‘เป็นอื่น’ ต่อรสชาติอาหารของแม่เราขึ้นมา

    คนอื่นที่ไม่เห็นว่าอาหารของแม่เราอร่อย คนอื่นที่ไม่เห็นพ้องกับรสชาติ รสนิยม อุดมการณ์ วิธีคิด ความเชื่อ ฯลฯ ของเรา มักถูกเรามองว่าผิดเพี้ยนไปจาก ‘กรอบ’ ที่พึงเป็น

    แต่รสชาติอาหารของแม่เป็นเพียงความมักคุ้นของเราไม่ใช่หรือ?

    ถ้าเราเห็นว่า ความมักคุ้นของเราเป็นเพียงความมักคุ้นของคนคนหนึ่ง และคนอื่นก็มีสิทธิ์ที่จะมักคุ้นกับรสชาติและรสนิยมอื่นได้อย่าง ‘เท่าเทียม’ กันกับเรา เราก็จะไม่โกรธเขาเวลาเราเอาอาหารของแม่เราให้เขากินแล้วเขาบอกว่าไม่อร่อย ไม่ถูกปาก หรือแม้กระทั่งบอกว่าไม่เห็นอร่อยเหมือนที่แม่ฉันเคยทำให้กินเลย

    บางทีโลกที่เริ่มต้นจากความรู้สึก ‘เท่าเทียม’ ในความ ‘หลากหลาย’ ของรสชาติอาหารของแม่ อาจเป็นโลกที่นำเราไปสู่การอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข แต่หากโลกที่เราอยู่ คือโลกที่เรามัวแต่หมกมุ่นอยู่กับการเอารสชาติอาหารของแม่ตัวเองไปตัดสินคนอื่นราวกับเป็น‘ตุลาการผู้ตัดสินผิดชอบชั่วดี ยึดมั่นอยู่กับสถานภาพของตนดุจดังได้สาบานไว้ต่อทวยเทพ’ นั้น ที่สุดก็จะนำเราไปสู่โลกแบบ จอร์จ บุช (George Bush) ผู้เคยประกาศว่าหากไม่ใช่มิตรก็ต้องเป็นศัตรูของเรา

    และโลกแห่งการยึดมั่นในสิ่งสร้างทางจิตของตัวเองเช่นนั้น—จะเป็นโลกที่สงบสุขได้หรือ

    แน่นอน เราพูดได้เสมอว่า—อาหารของแม่เราอร่อยที่สุดในโลกหรือแม้กระทั่งจะพูด (หรือแอบคิด) ว่าอาหารของแม่เธอไม่เห็นอร่อยเลย แต่ประเด็นก็คือ—เราต้องมีสำนึกอยู่เสมอว่า ความอร่อยหรือไม่อร่อยนั้น เป็นเรื่องเฉพาะสำหรับ ‘ตัวเรา’ เท่านั้น และเป็นไปได้อย่างยิ่งที่ ‘ตัวเรา’
    นี่แหละจะหลอกลวงตัวเราได้อย่างแนบเนียนที่สุด

    มันหลอกลวงว่าตัวเราเป็นอย่างไร และหลอกลวงด้วยว่าคนอื่นเป็นอย่างไรในความคิดเห็นของตัวเรา

    ถ้าเราเข้าใจสิ่งนี้ได้ เราก็จะไม่กลายเป็นตุลาการที่คอยพิพากษาผู้อื่นอยู่เสมอ ไม่ว่าจะในเรื่องเล็กๆ อย่างรสชาติอาหารของแม่ ไปจนถึงเรื่องใหญ่เรื่องอื่น เช่น ความเห็นในเรื่องอุดมการณ์ที่เราหวงแหนเหมือนหวงแหนรสชาติอาหารของแม่ในวัยเด็กและชี้นิ้วบอกคนอื่นที่คิดไม่เหมือนเราว่าเขาผิด

    ตัวตนของเรามักหลอกลวง ให้เรายึดมั่นอยู่กับสิ่งที่มันสร้างขึ้น และเมื่อเราถูกลวง เราก็จะเกิดความกลัว เป็นความกลัวที่จะสูญเสียความลวงเหล่านั้น ซึ่งเมื่อไหร่ที่เราสูญเสียสิ่งเหล่านั้น เรามักคิดว่าเราได้สูญเสียตัวตนอันจริงแท้ของเราไปจนหมด แล้วเราก็จะไร้ค่า เป็นเพียงกองทุกข์กองหนึ่งที่ต้องเวียนว่ายต่อไป แต่ถ้าเรามองให้เห็นถึงความลวงนั้น แล้วปลดปล่อยตัวเองจากมัน ก็เป็นไปได้อย่างยิ่งที่เราจะเกิดความเข้าใจอันกว้างขวางผ่อนคลายขึ้น

    ไม่ใช่เพียงความเข้าใจอันกว้างขวางผ่อนคลายที่มีต่อตัวเองเท่านั้น
    แต่ยังกว้างขวางและผ่อนคลายต่อผู้อื่นด้วย

    ในห้วงยามแห่งการต่อสู้เพื่อรักษาความเชื่อประเภทที่ว่า—รสชาติอาหารของแม่ฉันอร่อยที่สุดในโลกนั้น, เรามักทำอะไรลงไปได้มากมายอย่างคิดไม่ถึง แม้กระทั่งกำจัดคนที่ไม่อร่อยกับรสชาติเดียวกันกับเรา ทั้งนี้ก็เพราะเราปล่อยให้จิตใจของเรา ‘เกลือกกลั้วในความขัดแย้ง’ ไม่รู้จักจบสิ้น ไม่ใช่กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ใช่แค่สองฝ่าย แต่เพราะโลกมีผู้คนมากมายไม่รู้จักกี่ฝ่าย ถ้าต่างคนต่างยึดมั่นในตัวตนของตัวเอง ในรสชาติอาหารของแม่ตัวเอง—โดยไม่ละทิ้งสิ่งเหล่านั้นไปเสียบ้างเพื่อแสวงหาความเข้าใจอันยิ่งใหญ่และกว้างขวางผ่อนคลาย เราก็จะไม่มีวันเดินหน้าไปถึงสังคมที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่าได้เลย

    ไม่ว่าจะพูดคำว่าปฏิรูปหรือเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่าสักกี่ครั้ง หากสิ่งนั้นไม่ได้เริ่มต้นขึ้นที่ตัวตนและสิ่งที่เราสร้างขึ้นเสียก่อน,

    เราก็ไม่อาจพ้นไปจากกับดักแห่งความลวงที่เราเป็นผู้สร้างขึ้นเองได้!   



เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in