เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เหตุเกิดจากความเหงา Theory of LonelinessBANLUEBOOKS
คำนำผู้เขียน
  •           ระหว่างที่กำลังเขียนหนังสือเล่มนี้ (ปี 2018) ที่อังกฤษเพิ่งตั้งคุณเทรซีย์เคราช์ (Tracey Crouch) ขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีเพื่อความเหงา (Minister of Loneliness) เพื่อดูแลเรื่องความเหงาของประชาชนชาวอังกฤษ จนหลายสื่อเอาไปประโคมว่าประเทศอังกฤษมีกระทรวงความเหงาเป็นแห่งแรกของโลก
              ฟังแล้วหลายๆ คนคงรู้สึกตลกๆ ผมฟังครั้งแรกก็ยังให้ความรู้สึกว่าพวกเขากำลังตั้งกระทรวงเวทมนตร์ในแฮร์รี่ พอตเตอร์อะไรอย่างนั้น
              เพราะภาพความเหงาในหัวของเรา มันเป็นอะไรที่เจือจาง เบาบาง มันดูไม่ได้หนักเหมือนซึมเศร้าที่เป็นแล้วต้องไปหาหมอ ต้องกินยา มันเป็นสิ่งที่ดูเหมือนว่าใครๆ ก็เป็นได้ เป็นแล้วเดี๋ยวก็หาย ไม่ต่างจากไข้หวัด
              “มึงก็แค่เหงา” กลายเป็นคำที่เราพูดล้อกันเล่นผสมจริงจนเป็นเรื่องสนุกสนานเฮฮา วลีเกี่ยวกับความเหงามักถูกใช้เอามาเป็นมุกตลกเชิงเป็นผู้แพ้มากมาย จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่ควรจะจริงจังมากเกินไป  แต่การที่จู่ๆ ประเทศพัฒนาแล้วอย่างอังกฤษจะตั้งกระทรวงความเหงาขึ้นมา เขาคงไม่ได้ตั้งแบบเล่นๆ
              เพราะความเหงาจริงๆ แล้วมันส่งผลกระทบต่อเรามากกว่าที่เราคิดไว้มาก
              ก็ความเหงาไม่ใช่หรือ ที่ทำให้คนคนหนึ่งจับปืนขึ้นมากราดยิงเพื่อนร่วมชั้นเรียน
              ก็ความเหงาไม่ใช่หรือ ที่ทำให้เราใช้เงินไปกับเหล้าและยาเสพติดมากมาย
              ก็ความเหงาไม่ใช่หรือ ที่ทำให้เราต้องออกไปเที่ยวหาคนไม่รู้จักยามค่ำคืน
              ก็ความเหงาไม่ใช่หรือ ที่ทำให้เราส่องเฟซบุ๊กทั้งวันเพื่อดูว่าใครมากดไลค์รูปของเราบ้าง
              ในทางใดทางหนึ่ง ความเหงากลืนกินชีวิตของเราไปโดยไม่รู้ตัว
              “โอ๊ย ฉันไม่เหงา”
              อาจมีใครบางคนตอบกลับมาอย่างนั้น ซึ่งมันก็ไม่ได้แปลว่าเขาไม่ได้เหงาหรอกนะครับ จากการวิจัยพบว่าคนมากมายบอกว่าตัวเอง ไม่เหงา แต่เมื่อมาทำแบบสอบถามด้านความเหงา ปรากฏว่าเหงาระดับสูงทีเดียว นอกจากนั้นลักษณะของการแสดงว่าตัวเองเก่ง เจ๋ง (หรือไม่เหงานั้น)
    ก็เป็นการแสดงถึงภาวะความต้องการการยอมรับที่มีอยู่ภายในลึกๆ แน่นอนว่ามันก็เป็นลักษณะหนึ่งของความเหงาเหมือนกัน
              ครับ “เหงา” อาจจะเป็นคำที่เราใช้กันบ่อยๆ แต่เราอาจจะแทบไม่รู้จักอะไรเกี่ยวกับมันเลย
              หนังสือเล่มนี้ก็เลยขออนุญาตอธิบาย “ความเหงา” ในแบบ
    Theory of Love คือมีทฤษฎีในทางวิทยาศาสตร์มารองรับ ว่าเหตุใดเราจึงเหงาแบบนั้น ทำไมเราถึงเหงาเช่นนี้ เพราะผมก็คิดว่าคนที่หยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาดูก็คงเป็นคนคล้ายๆ ผม ทนอะไรที่มันอธิบายไม่ได้ไม่ได้ หวังว่าหนังสือเล่มนี้จะช่วยคุณได้   “ต่อให้เหงา ก็ขอเหงาแบบมีเหตุผลหน่อยเถอะ”
    #คนเหงา2018ไม่ได้กล่าวไว้

    นพ. ปีย์ เชษฐ์โชติศักดิ์

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in