เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
THE REAL ALASKA อลาสก้าล้านเปอร์เซ็นต์SALMONBOOKS
01 THE REAL ALASKA: หน้าร้อนน่ามา

  • แท็กซี่จากสนามบินนานาชาติแองเคอร์เรจ (Anchorage) ที่มุ่งหน้าเข้าสู่ตัวเมืองคันนี้อาจเป็นแท็กซี่ที่ดีที่สุดในรอบสามปีของผม ด้านในสะอาดสะอ้าน เนี้ยบกริบไม่ต่างจากด้านนอก ถ้าได้กลิ่นใบเตยจางๆ แบบแท็กซี่บ้านเราอีกอย่าง มันคงเป็นพาหนะในอุดมคติของผมเลย (ชอบสูดดมเป็นการส่วนตัว) 

    ระหว่างทาง พี่เอริค คนขับหน้าตาเป็นมิตรชวนคุยจุกจิกตลอด ขับผ่านย่านไหนก็เล่าแนะนำได้เป็นฉากๆ อัธยาศัยดีสมกับที่เขาว่าประชากรอลาสก้าเป็นคนไนซ์ๆ สถานการณ์แบบนี้หาได้ยากมากในมหานครนิวยอร์ก—ถิ่นฐานที่ผมเพิ่งจากมา ที่นั่นเปิดประตูแท็กซี่ทีไรเป็นต้องเจอคนขับหน้าตาอมทุกข์นั่งเหม่ออยู่หลังพวงมาลัยนิ่งๆ (บวกกับสภาพการจราจรเวรๆ ในแมนฮัตตัน) ที่นั่งของคนขับกับผู้โดยสารถูกกั้นออกจากกันด้วยแผ่นพลาสติกแข็งใสอย่างแน่นหนา (เพราะคดีจี้ปล้นมันชุกชุม) สภาพรถแต่ละคันมีรอยตำหนิเต็มไปหมด บุบหน้าบ้าง กันชนถลอกเละบ้าง เบาะขาดบ้าง แถมหลายคันมีเพลงอินเดียจังหวะโจ๊ะๆ อุตุ้มๆ เป็นเพลงประกอบ (คนขับแท็กซี่ในนิวยอร์กส่วนใหญ่เป็นแขก) จนบางโมเมนต์เผลอคิดว่า กูอยู่ในมุมไบหรืออย่างไร

    “นี่มาอลาสก้าครั้งแรกหรือเปล่า” พี่เอริคชวนคุย
    “ใช่แล้วค่ะ นี่ครั้งแรกของไอ” ชองอา เพื่อนร่วมทางชาวเกาหลีชิงตอบก่อน
    “ไอมาครั้งที่สองแล้ว ตอนธันวาคมปีก่อน (2013) เคยมาอยู่ที่นี่เกือบอาทิตย์” ผมตอบบ้าง
    “มาตอนปลายปี? ปีที่แล้วมันหนาวไม่ใช่เหรอ ไอเองยังไม่อยากออกไปไหนเลย”
    “หนาวสิ เลยมารอบสองนี่ไงล่ะ”
    “…”
    กวนตีนเขาเสียอย่างนั้น

  • การคุยกับเอริคทำให้ผมคิดถึงเมื่อปีก่อน

    ตอนนั้นผมได้รับเชิญให้ไปร่วมเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติแองเคอร์เรจ แว้บแรกก็รู้สึกดีใจที่จะได้ไปร่วมงาน แต่พอคิดถึงระยะทางที่โคตรไกลและสภาพอากาศที่โคตรหนาวแล้ว ผมก็อยากนั่งทำงานอยู่ในนิวยอร์กเหมือนเดิมซะงั้น 

    แต่พอคิดใคร่ครวญดูดีๆ ผมก็จับเครื่องบินไปอลาสก้าหกวัน เพราะคิดว่าคนเราควรออกเดินทางไปพบกับดินแดนและประสบการณ์ใหม่ๆ อย่างน้อยปีละครั้ง หัวใจนักผจญภัยนั้น หากปล่อยให้ถูกหยากไย่ยึดตรึงอยู่กับที่เป็นเวลานานก็มีแต่จะหดเล็กลงไปเรื่อยๆ (กระแดะ! จริงๆ แค่งกตั๋วเครื่องบินฟรี)

    ประสบการณ์ในอลาสก้าครั้งนั้นจะนิยามว่าประทับใจตราตรึงก็เรียกได้ไม่เต็มปาก ต้องบอกว่ามันออกแนวค้างคาใจมากกว่า เพราะอากาศตอนนั้นมันหนาวตับสะบัดจริงๆ คนจากเทศกาลเขาอุตส่าห์จิตอารี ขับรถพาไปเที่ยวนู่นเที่ยวนี่ แต่กายหยาบผมมันสู้ไม่ไหว ไปเที่ยวที่ไหนก็เดินได้ไม่เกินครึ่งชั่วโมง ลมพัดมาทีแทบจะวิ่งตัวสั่นกลับไปที่รถ นึกถึงตัวเลข -27 องศาฯ ในตอนนั้นทีไร ขนก็ยังลุก ไข่ก็ยังฟีบตลอดเวลา

    อย่างไรก็ตาม แม้จะได้ไปแค่แป๊บเดียว ผมก็สัมผัสได้ถึงเสน่ห์เฉพาะตัวของดินแดนแห่งนี้

    เวลาพูดถึงอลาสก้าคุณนึกถึงอะไรกัน?
    หมีขาว น้ำแข็ง หรือปูอลาสก้า?

    การเดินทางครั้งนั้นบอกผมว่า นิยามที่แท้จริงของอลาสก้าคือคำว่า Wild (หาคำไทยที่ถอดความแบบเป๊ะๆ ได้ยากจัง) ต่างหาก ธรรมชาติมันสมบูรณ์จริงๆ ป่าเป็นป่า  เทือกเขาสูงตระหง่านทอดตัวยาวเป็นแถบๆ มองไปเห็นต้นไม้เรียงกันลึกสุดสายตา หันไปทางไหนก็เจอแต่ธรรมชาติกระแทกใส่หน้า แล้วขนาดมันก็โคตรกว้างใหญ่ (พื้นที่ใหญ่กว่าประเทศไทยห้าเท่า) แต่คนกลับน้อยนิด (ประชากรฝั่งธนบุรียังจะเยอะเสียกว่า) เห็นแล้วรู้สึกว่าชีวิตวุ่นวายในเมืองคอนกรีตของผมมีอะไรมาถ่วงดุลทันที

    ย่อหน้าข้างบนอาจดูเหมือนว่าผมอินเลิฟในอลาสก้าใช่มั้ยครับ แต่เอาเข้าจริง ผมยังไม่ประทับใจเท่าไหร่ ผมยังเห็นอลาสก้าไม่หมด เห็นไปแค่เศษเสี้ยว เที่ยวยังไม่ถึงหนึ่งเปอร์เซ็นต์ แถมคนท้องถิ่นก็พากันบอกว่าฤดูหนาวหิมะมันบังตา ถ้ายูได้มาตอนฤดูร้อน ยูจะได้เจอกับ ‘The Real Alaska’

  • รถของเอริคหยุดอยู่ที่หน้าบ้านหลังเล็กแห่งหนึ่งในย่านชานเมือง ดูจากบรรยากาศ ที่นี่คงเปรียบได้กับหนองแขมหรือบางเขนของแองเคอร์เรจ ผมเปิดอีเมลเช็กความชัวร์ว่านี่คือโฮสเทลที่เราจองเอาไว้จริง

    ตัวโฮสเทลเป็นบ้านเดี่ยวสองชั้น มีสนามหญ้าอยู่ด้านข้าง อาคารถูกตกแต่งด้วยสีเขียวทึมตัดม่วงเข้ม พวกเรากดออดกันได้แป๊บเดียว โอลลี หนุ่มผู้ดูแลโฮสเทลก็เปิดประตูออกมาต้อนรับ

    นายโอลลีเป็นชายวัยสามสิบกลางๆ รูปร่างสูงโปร่ง มีหนวดเครานิดหน่อย หน้าตาเหมือนพวกนักฟุตบอลอิตาลี บุคลิกเป็นมิตร ยิ้มแย้มไม่ต่างจากพี่เอริคเมื่อกี้ 

    โอลลีพาเราเดินดูโฮสเทลด้านในโดยรอบ เราสองคนเดินตามแกต้อยๆ เหมือนนักศึกษามาดูงาน ข้างในโฮสเทลมีชาวแบ็คแพ็คเกอร์นั่งชิล เดินไปเดินมาอยู่ประมาณสามสี่คน เดินผ่านใครเราก็กล่าวทักทายพอไม่ให้เงียบกริบ (ไฮ ฮาวอาร์ยู / ยูชื่ออะไร / มาจากไหน / อืมๆ โอเค… / หมดเรื่องคุย จบ) ตัวโฮสเทลแบ่งออกเป็นสองชั้น มีห้องรับแขกอยู่ที่ชั้นบนและล่าง มีห้องครัวใหญ่ๆ ที่มีอุปกรณ์เตรียมไว้ให้ เราสามารถหุงหาอาหารเองได้ แต่ใช้เสร็จแล้วต้องล้างด้วย ที่สนามหญ้าด้านนอกมีพื้นที่ไว้ให้ตากผ้าหรือนอนเปลเล่นได้ หรือถ้าอยากเดินทางไปไหนก็มีจักรยานให้เช่าวันละห้าเหรียญ ส่วนที่หลับนอน แยกออกเป็นชาย-หญิง มีทั้งหมดหกห้อง ขนาดห้องไม่ใหญ่มาก มีเตียงสองชั้นเตรียมไว้ให้ห้องละสามเตียง

    โอลลีบอกให้เราเลือกทำเลได้ตามสบาย ผมรีบปีนขึ้นไปจองเตียงบนทันที เพราะโดยบุคลิกแล้ว เป็นคนชอบเอาชนะ ใฝ่ฝันจะปีนป่ายไปสู่ความสำเร็จเสมอๆ (ที่จริงคือเตียงล่างถูกจองไปหมดแล้ว เซ็ง…) พอได้ที่นอน โอลลีก็เอาปลอกหมอนและผ้าปูที่นอนมาให้เราปูเอง (ที่นี่เขาให้บริการแบบ Self-Service ดังนั้นเวลาเช็กเอาต์ก็ต้องถอดผ้าปูปลอกหมอนเอาไปหย่อนลงตะกร้าซักผ้าของทางโฮสเทลด้วย)

    โอลลีปิดท้ายการปฐมนิเทศด้วยการพาพวกเรามาที่ห้องรับแขก แกชี้ไปที่กองหนังสือท่องเที่ยวอลาสก้าที่วางอยู่เป็นตั้งๆ บอกว่านั่นคือข้อมูลชั้นดีสำหรับการหาข้อมูลเพิ่ม ส่วนข้างภูเขาหนังสือมีกระบะใหญ่ยักษ์เอาไว้ให้นักท่องเที่ยวหย่อนของที่ไม่ต้องการใช้ (แต่ยังใช้ได้อยู่) ไว้ที่นี่ คือถ้าขี้เกียจขนกลับบ้านก็เอามาทิ้งไว้ในนี้แหละ เดี๋ยวก็มีคนเอาไปใช้ต่อเอง แบ็คแพ็คเกอร์ทุนต่ำต้องช่วยๆ กัน

    ผมรีบก้มลงไปค้นดูตามประสาคนขี้งก ภายในมีข้าวของอยู่เต็มไปหมด ทั้งถุงนอน รองเท้าปีนเขา เตาพกพา ไกด์บุ๊ค หรือเครื่องมือตัด งัด แทะ แคะ ไข ขุดใดๆ ซึ่งหลายชิ้นสภาพดีมาก เห็นแล้วเกิดจิตละโมบอยากรวบทั้งกระบะเอากลับไปใช้ที่นิวยอร์ก แต่ก็กลัวโดนโอลลีด่าว่าไอ้เลว งั้นไว้ดึกๆ ค่อยย่องมาสอยแล้วกัน (อ้าวมึง!)




  • หลังจบการปฐมนิเทศ พวกเราก็พากันกลับไปที่ห้องนอน รื้อสัมภาระออกมาตั้งรกรากบนเตียง ทันใดนั้น ผมก็เพิ่งนึกได้ว่า นี่เป็นการค้างแรมที่โฮสเทลครั้งแรกของผมเลยนี่นา

    ปกติแล้ว เวลาเดินทางไปไหนมาไหนในต่างแดน ผมจะเลือกใช้โมเตลตลอด (โมเตลที่ว่านี้ไม่ได้หมายถึงม่านรูดแบบบ้านเรานะครับ ของที่นี่เป็นอาคารยาวๆ คนที่มานอนสามารถเอารถมาจอดที่หน้าประตูห้องแล้วเข้าไปนอนได้เลย หากวาดภาพไม่ออก ลองนึกถึงพวกที่กบดานของตัวเอกเวลาหนีผู้ร้ายในหนังฮอลลีวูดดู แบบนั้นเลยครับ) แต่ที่ครั้งนี้เลือกโฮสเทลเป็นเพราะที่ค้างแรมแบบอื่นในอลาสก้าค่อนข้างแพง ส่วนหนึ่งก็เพราะมันเป็นรัฐแห่งการท่องเที่ยว และช่วงที่ผมไปอย่างเดือนมิถุนายนคือช่วงกำลังพีค (คนส่วนใหญ่มาเที่ยวอลาสก้าช่วงฤดูร้อน เพราะฤดูหนาวนั้นหนาวเกินจะอภิรมย์) ที่พักหรูๆ ดีๆ เลยโหดเลือดซิบ

    ผมจึงพยายามปลอบใจตัวเองว่ามาเที่ยวทั้งทีจะนอนให้สบายอะไรนักหนา สู้เอาเงินค่าที่พักไปโปะกับค่ากิจกรรมเอาต์ดอร์เจ๋งๆ แทนดีกว่า กลับบ้านไปเดี๋ยวก็ได้นอนแผ่ร่างบนเตียงที่คุ้นเคยแล้ว

    ทันทีที่อาบน้ำเสร็จ ชองอาก็บอกว่าขอตัวไปนอนก่อน ดูท่าเจ็ตแล็กจะโจมตีเธออย่างรุนแรง ซึ่งก็สมควรแล้ว เพราะเราใช้เวลานั่งเครื่องบิน (รวมเปลี่ยนเครื่อง) เกือบสิบเจ็ดชั่วโมง โคตรเหนื่อย นานพอๆ กับบินกลับไทยเลย ที่จริงผมก็ควรจะรีบเสือกหัวลงหมอนเหมือนเธอ เพราะนี่ก็ปาเข้าไปสี่ทุ่มแล้ว แถมพรุ่งนี้ยังมีแผนจะเดินทางไกลอีก แต่พอมองออกไปนอกหน้าต่างปุ๊บ แม่ง...โคตรเซอร์เรียล สว่างอย่างกับบ่ายสอง จิตภายในและสมองทำใจให้ชินไม่ทันจริงๆ

    นี่สินะที่เขาเรียกกันว่า Midnight Sun เคยแต่ได้ยิน เพิ่งจะได้มาเห็นกับตา (อธิบายก่อนว่า พวกดินแดนแถบเหนือเส้นศูนย์สูตรอย่างอลาสก้า รัสเซียตอนบน หรือพวกสแกนดิเนเวีย พอถึงฤดูร้อนเมื่อไหร่ ท้องฟ้ามักจะประหลาดแบบนี้แหละครับ กล่าวคือพระอาทิตย์จะฟิตมากเป็นพิเศษ แทบไม่เคยลาลับไปจากขอบฟ้าเลย เที่ยงคืนแล้วฟ้ายังสว่างโร่เหมือนเที่ยงวัน บางช่วงนี่สว่างไปเลย 24 ชั่วโมงรวด ขยันมากๆ ถ้าพระอาทิตย์เป็นพนักงานออฟฟิศ ตอนนี้ก็คงเป็นช่วงบ้าโอที หาเงินไปผ่อนคอนโดฯ ติดรถไฟฟ้าแน่นอน)

    เจอฟ้าสว่างแบบนี้ ตาผมก็เลยสว่างไปด้วย เที่ยงคืนกว่าแล้วก็ยังนอนไม่หลับ พลิกตัวไปมาจนกลัวคนข้างล่างจะลุกมาด่าแม่ แถมอาการติดหมอนข้างก็มากำเริบตอนนี้อีก ซึ่งการนอนตะแคงแล้วไม่มีอะไรให้กอดนี่มันไม่ถนัดเลยนะครับ ผมเลยอยากขอใช้พื้นที่ตรงนี้รณรงค์ให้พี่ฝรั่งมีวัฒนธรรมการใช้หมอนข้างกันได้แล้ว ตอนอยู่นิวยอร์กก็หงุดหงิดไปรอบหนึ่งล่ะ ไล่ตระเวนหาซื้อตามร้านเฟอร์นิเจอร์เท่าไหร่ก็ไม่มี สุดท้ายเลยต้องอิมพอร์ตหมอนข้างไปจากที่เมืองไทย (จริงจัง) (แถมอีก—ที่ฉีดก้นก็เป็นอีกอย่างที่ผมอยากให้ชาวตะวันตกใช้กันอย่างแพร่หลาย เชื่อผมเถอะ ดีจริงนะ)

    ผมนอนไม่หลับจนยอมแพ้ต้องออกไปนั่งเล่นที่ห้องรับแขก โอลลีที่นั่งจิ้มไอแพดอยู่แถวนั้นเห็นผมนั่งเปลี่ยวๆ ยามวิกาลเลยเดินเข้ามาคุยเล่นด้วย เขาถามไถ่ว่า มีอะไรจะให้ช่วยมั้ย ไม่ต้องเกรงใจ ผมนึกสักชั่วครู่ก็เอ่ยขอคำปรึกษาเรื่องแผนการเดินทาง คือผมกับชองอาจัดโปรแกรมกันมาแล้วก็จริง แต่ส่วนใหญ่ก็ตัดแปะมาจากแผนการเดินทางตามที่เห็นจากเว็บไซต์ท่องเที่ยว ผมเลยอยากรู้ว่าในสายตาคนท้องถิ่น โปรแกรมนี้ของผมมันเวิร์กมั้ย

    ผมเดินกลับไปหยิบกระดาษโปรแกรมทัวร์ของเราในห้องนอน พร้อมเดินไปลากชองอาที่กำลังสลึมสลือได้ที่มาร่วมฟังด้วย เวลากูหลงจะได้คอยช่วยเหลือ (แมนมาก)

    “This is a good Alaska.” 
    โอลลีกล่าวชมหลังพิจารณาโปรแกรมของเรา 
    ผมแอบดีใจในเบื้องลึก อย่างน้อยก็ไม่เสียดายที่อุตส่าห์ทำการบ้านมา

    “I mean this is good Alaska. But not the real Alaska.” เขาพูดต่อ 
    โถ สรุปโปรแกรมเราไม่เจ๋งพอสินะ... 

    โอลลีบอกว่าแผนของเรานั้นเก็บของดังของเด็ดได้ครบถ้วน แต่ก็ดูเป็นตารางที่อัดแน่นไปหน่อย พวกเรามีเวลาตั้งสองอาทิตย์ แนะนำให้เราเที่ยวแบบสบายๆ ดีกว่าเดิมที เราวางแผนจะเดินทางขึ้นเหนือจากแองเคอร์เรจไปเริ่มต้นที่แฟร์แบงก์ส (Fairbanks) วนลงมาวัลดีซ (Valdez) ขับรถขึ้นเรือเฟอร์รีข้ามไปที่วิตทิเออร์ (Whittier) จ้วงต่อไปเซเวิร์ด (Seward) ก่อนจะวกกลับมาที่แองเคอร์เรจอีกครั้ง



  • โอลลีทักท้วงเชิงแนะนำว่าวันแรกพวกยูจะขับขึ้นไปแฟร์แบงก์สเลยเหรอ มันทำได้ก็จริง แต่ไอว่ามันไกลเกินไป (ขับรถประมาณเก้าชั่วโมง—ถ้าเป็นที่ไทยก็คงเหมือนขับรถจากกรุงเทพฯ ไปลำปาง) และสำหรับเขาแล้ว แฟร์แบงก์สเป็นเมืองใหญ่ที่ไม่มีอะไรน่าสนใจขนาดนั้น เขาเลยจัดตารางใหม่ให้เราเสร็จสรรพ แตกต่างไปจากเดิม แต่ได้โปรแกรมที่หลวมขึ้นมาก มีเวลาหายใจหายคอเพิ่มขึ้น เขาแนะนำให้ไปเริ่มที่โฮเมอร์—เมืองทางตอนใต้ของแองเคอร์เรจก่อน จากนั้นก็ บลา บลา บลา (ผมขอละไว้ก่อนแล้วกัน ไม่อยากยัดข้อมูลดิบอันเห็นภาพยากให้คุณผู้อ่านตั้งแต่บทแรก)

    โอลลีบอกว่า อยากให้พวกยูใช้เวลาในแต่ละเมืองมากขึ้น บางเมืองอาจมีจุดทัวริสต์ไม่เยอะ แต่ไอก็อยากให้ยูเผื่อเวลาไปเดินชมสภาพบ้านเมืองโล่งๆ เงียบๆ หรือไปเดินย่านที่ไม่ป๊อปของเขาบ้าง อย่าไปสนแต่จุดแลนด์มาร์กอย่างเดียว

    ผมค่อนข้างเห็นด้วยกับโอลลี คือถ้ามีเพื่อนต่างชาติมาเที่ยวกรุงเทพฯ ผมก็ไม่อยากพาไปเข้าวัดพระแก้ว ถนนข้าวสาร สยาม จตุจักร หรือพัฒน์พงศ์ลูกเดียว ผมอยากลองให้เขาไปเดินเรื่อยเปื่อยแถวบางคอแหลม แคราย หนองใหญ่ หรือบางยี่ขันบ้าง มันอาจไม่มีอะไรชวนตะลึงตาโตแบบ โอ้ วันเดอร์ฟูล แต่ก็คงได้เห็นเมืองไทยแบบเรียลๆ อาจเจอกระเป๋ารถเมล์ขอเปลี่ยนเลนด้วยการยื่นกระบอกตั๋วออกไปนอกหน้าต่างรถ อาจเจอร้านขายสังฆทานสำเร็จรูปที่จัดของให้ดูพูนๆ เยอะๆ แต่พอเปิดดูข้างล่างมีแต่กล่องเปล่ายัดไว้ อาจเจอกลุ่มวัยรุ่นมัธยมที่ชอบแสดงความเก๋าด้วยการคุยเสียงดังพูดหยาบๆ บนรถไฟฟ้า อาจเจอตำรวจที่โผล่ออกมาจากหลังพุ่มไม้เพื่อไถเงินมอเตอร์ไซค์ที่ไม่สวมหมอกกันน็อค ฯลฯ กรุงเทพฯ ของแท้มันต้องแบบนี้แหละ 

    “ทำตามแผนของไอนี่แหละ ยูจะได้สัมผัสอลาสก้าของจริง” โอลลีบอก 
    “อย่าเดินสายเก็บแต่ของเด็ดของดัง ถ้าชอบอย่างนั้นน่ะไปกับทัวร์ก็ได้ ยูควรลองไปที่ที่มันโนเนมบ้าง แล้วคุณจะเจออะไรในความไม่มีอะไรของมันเอง”

    “ไอ้เชี่ยหนวด มึงอย่ามาทำเป็นเท่ กูอยากเที่ยวที่แลนด์มาร์ก แต่เข้าใจมั้ยว่าไปกับทัวร์มันไม่เท่ จะมาเขียนหนังสือขายเขาก็ต้องเป็นแบ็คแพ็ค ฮิปๆ ลุยๆ หลงๆ ให้มันมีเรื่องราวอะไรแบบนี้สิวะ” ผมตอบกลับ

    ไม่สิ…ผมกล่าวแตงกิ้วเขาไปนั่นแหละ

    ตอนแรกเราสองคนว่าจะฟังหูไว้หู เพราะขี้เกียจแคนเซิลโฮสเทลที่จองไว้ตามเมืองต่างๆ แต่พอฟังโอลลีอธิบายและโน้มน้าว เราทั้งสองก็รู้สึกว่ารสนิยมการท่องเที่ยวของเขาเข้าทางเราเลยฟังเต็มสองหูไปเลยดีกว่า (ส่วนโฮสเทลที่จองไว้ก็ต้องโทร.ไปยกเลิก โชคดีที่ค่าปรับไม่แพงมาก แค่สองสามดอลลาร์)  

    ตีหนึ่ง ท้องฟ้าข้างนอกยังสว่างโร่เหมือนเดิม แต่โฮสเทลตอนนี้เงียบกริบ นักเดินทางทุกคนปฏิบัติตามกติกาดีจริงๆ ชองอาคงหลับไปนานแล้ว—เช่นเดียวกับนักเดินทางคนอื่นๆ ส่วนผมยังนอนครุ่นคิดอยู่บนเตียง 

    ที่จริงก็จะนอนแล้วล่ะ แต่พอคิดว่าเขียนหนังสือทั้งทีจะจบด้วยการนอนหลับคงดูห้วนไปหน่อย ขอทำทีคิดประโยคไว้ปิดท้ายบทเท่ๆ หน่อยแล้วกัน

    “พรุ่งนี้แล้วสินะ การเริ่มต้นของ The Real Alaska” 

    (แอบย่องกลับไปห้องรับแขกค้นกระบะของมือสอง...)


เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in