เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
THE SWIMMING POOLstamp nattanicha
Social determinants on health สุขภาพไม่ได้เริ่มต้นที่โรงพยาบาล
  • ทุกคนเกิดมาพร้อมกับสัญชาตญาณในการดูแลรักษาชีวิตของตัวเอง เจอของแหลมทิ่มเราก็กระตุกหนีโดยไม่ต้องอาศัยกระบวนการคิด ทั้งๆที่มีสัญชาตญานและระบบป้องกันตัวเองติดมาตั้งแต่เกิดทำไมคนเราถึงยังเจ็บป่วยจากโรคต่างๆอยู่

    อาจจะเป็นเพราะความเสี่ยงต่อสุขภาพของแต่ละคนเป็นสิ่งที่ไม่สามารถจัดการควบคุมได้ในระดับบุคคลเท่านั้น ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเป็นปัญหาที่แฝงตัวอยู่ในทุกบริบทของชีวิตสภาพแวดล้อมที่เราเกิด โต ทำงาน ไปจนถึงสภาพแวดล้อมในการแก่ตัวล้วนมีผลต่อสุขภาพชีวิต

    ปัญหาสุขภาพจึงไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับคนๆหนึ่งป่วย เดินเข้าโรงพยาบาล หายารับประทาน หาเงินมาจ่ายค่าพยาบาลรักษาแล้วก็ตัวใครตัวมัน

    เพราะคนหนึ่งคนย่อมมีบทบาทที่เกี่ยวพันกับสภาพแวดล้อมรอบตัว ตามพฤติกรรมที่ถูกวิวัฒนาการมาให้เป็นสัตว์สังคม หากบริษัทหนึ่งมีพนักงานที่ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง หรือโรคเบาหวานที่ต้องขาดงานเพื่อไปติดตามผลการรักษา ไปรับยา หรือรักษาอาการที่กำเริบขึ้นมา บริษัทนั้นก็ย่อมต้องเสียกำลังคนในการขับเคลื่อนผลผลิตบริษัท

    ลองมองย้อนไปยังจุดเริ่มต้น ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคสามารถเริ่มได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ หากเราเกิดในครรภ์ของแม่ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่เอื้อต่อการมีบุตร ไม่มีการให้สิทธิลาคลอด เราอาจจะไม่ได้รับการดูแลที่ดี ฮอร์โมนความเครียดของแม่อาจส่งผลมาถึงทารกในครรภ์ แม่ที่ไม่ได้รับสิทธิในการลาคลอด ทำงานในสถานประกอบการที่ไม่มีนโยบายให้แม่ลาพักโดยได้รับค่าตอบแทนเพื่อไปให้นมบุตร เราที่เกิดในสภาพแวดล้อมเช่นนั้นอาจจะพลาดการได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อพัฒนาการสมอง สารภูมิคุ้มกันที่มีเฉพาะในนมแม่ การพลาดโอกาสสำคัญในการพัฒนาร่างกายตั้งแต่วัยเด็กแบบนี้ส่งผลต่อไปตลอดช่วงชีวิต เราอาจจะกลายเป็นเด็กที่ป่วยง่าย เรียนรู้ช้า ศักยภาพในการเจริญเติบโตลดต่ำลงโดยที่ไม่รู้ตัวเลยว่ามันเกิดจากจุดเริ่มต้นเล็กๆที่เราไม่สามารถควบคุมได้

    หากจะมองภาพให้ใหญ่ขึ้นไปอีก ถ้าเราไม่ใช่เด็กคนเดียวที่เกิดในสภาพแวดล้อมที่จำกัดศักยภาพเช่นนี้ แต่ยังมีเด็กอีกหลายคนที่ได้รับบทบาทให้เป็นผู้ขับเคลื่อนประเทศในรุ่นต่อไป การลดศักยภาพของประชากรจากการละเลยที่จะป้องกันความเสี่ยงง่ายๆอย่างการให้สิทธิแม่ลาคลอด ให้ค่าใช้จ่ายสนับสนุนระหว่างลาคลอด เพื่อไม่บังคับให้แม่รีบกลับมาทำงานแล้วเลี้ยงลูกด้วยนมผงราคาแพง อาจทำให้ประเทศพัฒนาได้ช้ากว่าที่ควร ประชากรมีความเสี่ยงเป็นโรคมากขึ้น ผลผลิตระดับประเทศลดต่ำลง ประเทศจะสูญเสียรายได้สูงกว่าค่าใช้จ่ายในการป้องกันความเสี่ยงนี้มากมายหลายเท่า

    มาถึงตรงนี้แล้ว หากจะลองคิดถึงทางเลือกในการป้องกันตัวเองจากความเสี่ยง เรามีทางเลือกแค่ไหนบ้าง จะสังเกตได้ว่าคนที่มีทรัพยากรร่ำรวยแม้เกิดในสภาพสังคมที่ไม่ให้ความสำคัญกับสิทธิขั้นพื้นฐาน ก็ยังมีความสามารถในการป้องกันตัวเองจากสภาพแวดล้อม บริบทสังคมได้ดีกว่า ในขณะเดียวกัน คนที่มีทรัพยากรไม่มากนักมีทางเลือกที่จำกัด หากเป็นเช่นนี้แล้วเราอาจจะพูดได้ว่าการเจ็บไข้ได้ป่วยต่างๆ โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นโรคที่เกิดจากผลของความไม่เท่าเทียมกันในสังคม

    และความเสี่ยงเหล่านี้เกิดขึ้นในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นส่วนพื้นที่ (เช่น การดูแลระบบครัวเรือนต่อการเผชิญกับมลพิษในท้องที่ การทำเกษตรกรรมที่ใช้สารเคมีอันตรายและการออกแบบผังเมืองที่ไม่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย) ระดับประเทศ (เช่น ระบบสาธารณูปโภคที่ไม่ได้มาตรฐาน ระบบคมนาคมที่ไม่มีประสิทธิภาพ การไม่มีนโยบายในการควบคุมมลพิษและกฎหมายที่ป้องกันประชาชน ) ระดับสากล (เช่น การค้าระหว่างประเทศที่ไม่เป็นธรรม การนำเข้าวัตถุที่อันตรายต่อสุขภาพ และการไม่ป้องกันโรคติดต่อที่อาจข้ามพรมแดนประเทศได้) ดังนั้นการแก้ไขป้องกันจึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกระดับ และในทางกลับกัน หากเราสามารถป้องกันการสูญเสียจากปัจจัยเหล่านี้ได้ ผลที่ได้ย่อมส่งประโยชน์แก่ทุกระดับเช่นกัน

    ปัจจุบันนี้การดูแลด้านสุขภาพที่เท่าเทียมเป็นเป้าหมายหลักของสังคม ไม่ใช่เพียงแต่เป้าหมายหลักของผู้ให้บริการสุขภาพหรือผู้รับบริการเท่านั้น เพราะสังคมและประเทศจำเป็นต้องมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีสุขภาพที่ดี มีศักยภาพเต็ม ที่ในการขับเคลื่อนประเทศ ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข เพื่อนำงบประมาณเหล่านั้นไปใช้พัฒนาประเทศในด้านอื่นๆ ดังนั้นกทั้งหน่วยงานภาครัฐกระทรวงต่างๆที่ทั้งเกี่ยวข้องกับสุขภาพและมีพันธิกิจในการพัฒนาประเทศด้านอื่นๆ ภาคเอกชนอย่างสถานประกอบการ ธุรกิจต่างๆ หรือองค์กรนอกภาครัฐ มูลนิธิหรือกองทุนต่างๆ ล้วนเป็นผู้ที่มีบทบาทและมีศักยภาพในการพัฒนาประเทศผ่านการดูแล ส่งเสริมสุขภาพของประชากร เป็นการทำงานที่ช่วยเสริมผลให้กันและกัน สร้างสังคมที่เกื้อกูลกันอย่างแน่นแฟ้นมากขึ้นจากการสร้างประโยชน์ที่เกิดจากการร่วมมือกันและได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน

    เพราะเราทุกคนล้วนต้องอาศัยสภาพแวดล้อมในการเจริญเติบโต เหมือนเช่นปลาในท้องทะเลที่ไม่อาจอยู่รอดได้โดยปราศจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยอื่น หากไม่มีกระแสน้ำที่หมุนเวียนช่วยพัดพาเราไปยังแหล่งอาหาร ไม่มีน้ำขึ้น น้ำลง ไม่มีกลางวัน กลางคืนที่เปลี่ยนแปลงให้เกิดสิ่งอื่นๆ ก็อาจปราศจากเราที่เจริญเติบโตเป็นเราได้ 
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in