เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เขาคือใคร thai versionChaitawat Marc Seephongsai
ชายผู้เปลี่ยน "คำฝรั่ง" ให้เป็น "ไทย"
  •           (พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์)

    ​          เมื่อกล่าวถึงบุคคลที่มีความสำคัญในประเทศไทย หลายท่านคงมีบุคคลที่อยู่ในด้วยใจที่ทุกท่านจะนึกถึงเมื่อได้ยินคำถามดังกล่าว ข้าพเจ้าก็เช่นกันหากมีใครถามข้าพเจ้าว่าใครที่ท่านคิดว่าเป็นบุคคลที่มีความสำคัญในประเทศไทย บุคคลแรกที่ข้าพเจ้านึกถึง ก็คงเป็นบุคคลที่เป็นแรงบันดารใจให้กับข้าพเจ้าในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งบุคคลท่านนั้นก็คือ พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ หรือ เสด็จในกรมหมื่นนราธิป ฯ หรือที่หลาย ๆ คนรู้จักพระองค์ท่านในชื่อ พระองค์วรรณฯ หรือแม้กระทั่ง ไววรรณ ซึ่งเป็นนามปากกาของท่านในหนังสือพิมพ์ประชาชาติก็ตามแต่ การที่ข้าพเจ้านึกถึงพระองค์ท่านเป็นคนแรกในคำถามที่ถูกถามนั้น เป็นเพราะข้าพเจ้าได้มีโอกาสติดตามผลงานพระนิพนของพระองค์ท่านหลาย ๆ ชิ้น รวมถึงผลงานที่มีบุคคลใกล้ชิดเขียนถึงพระองค์ท่าน ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกเลื่อมใสและชื่นชอบ ทั้งความสามารถ การวางตัวและการทรงงานของพระองค์ท่าน ที่ไม่ว่าจะอยู่ในยุคใด สมัยไหน ใครคือผู้มีอำนาจสูงสุดในรัฐ นับแต่สมัยเจ้า สมัยคณะราษฎรหรือแม้กระทั่งสมัยเผด็จการ พระองค์ท่านก็สามารถทรงงานร่วมกับกลุ่มต่าง ๆ ได้อย่างดี และเป็นที่เลื่อมใส่ของคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะช่วงเวลาหลัง พุทธศักราช ๒๔๗๕ เป็นต้นมา ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงสงสัยใคร่อยากรู้เป็นอย่างยิ่งว่า ปัจจัยใดส่งเสริมให้พระองค์ท่านเป็นที่ยอมรับของคนแทบทุกกลุ่มที่พระองค์ท่านทรงงานด้วย และการทรงงานที่สำคัญของพระองค์ท่านอย่างการบัญญัติศัพท์นั้น มีวิธีการอย่างไร อีกทั้งพระองค์ท่านทรงทำอย่างไรที่ทำให้ศัพท์บัญญัติใหม่เหล่านั้นเป็นที่ยอมรับและแพร่หลายได้ในสังคมไทย

    ​           ด้วยเหตุนี้รายงานชิ้นนี้จึงเป็นการมุ่งหาคำตอบของคำถามดังที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ในเบื้อต้น โดยข้าพเจ้าจะแบ่งเนื้อหาของรายงานออกเป็น ๒ ส่วน โดยส่วนแรกจะขอตอบคำถามที่ข้าพเจ้าสงสัยใคร่รู้ว่า พระองค์ท่านทรงมีวิธีการอย่างไรถึงทำให้สามารถทรงงานร่วมกลับบุคคลหลากหลายกลุ่มได้ และมีวิธีการใดที่ทำให้พระองค์เป็นที่ยอมรับของแทบทุกคนที่พระองค์ท่านทรงงานด้วย ส่วนต่อมาว่าด้วยเรื่องของงานบัญญัติศัพท์ที่เป็นงานถนัดของพระองค์ท่าน ว่าพระองค์ท่านมีวิธีการอย่างไรในการบัญญัติศัพท์ขึ้นมาใหม่ และใช้วิธีการใดที่ทำให้ศัพท์ของท่านนั้นได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย อีกทั้งเพื่อหาความหมายที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังศัพท์บัญญัติบางคำของพระองค์ท่าน

    ​           ก่อนที่จะไปหาคำตอบของคำถามที่ข้าพเจ้าต้องการนั้น ข้าพเจ้าใคร่ขอพาท่านผู้อ่านมาทำความรู้จักกับพระประวัติของพระองค์ท่านอย่างพอสังเขป เพื่อสร้างความเข้าใจในการปูทางไปหาคำตอบของคำถามของข้าพเจ้าในลำดับต่อไป

    ​           พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ พระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ เป็นโอรสของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ในรัชกาลที่ ๔ กับหม่อมหลวงต่วนศรี วรวรรณ (สกุลเดิม มนตรีกุล) ประสูติเมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๓๔

    ​           พ.ศ.๒๔๔๓ – ๒๔๔๘ ทรงศึกษาที่โรงเรียนสวนกุหลาบ และโรงเรียนราชวิทยาลัย แล้วสอบชิงทุนเล่าเรียนหลวงได้ไปศึกษาที่โรงเรียน Marlborough College เป็นเวลา ๕ ปี สำเร็จวิชาทาง Modern Side (วิชาปัจจุบัน,ภาษาปัจจุบัน) และ Classical Side (ภาษาโบราณ เช่น ภาษากรีก) ทรงได้รับรางวัล ๑๗ รางวัล

    ​           พ.ศ.๒๔๔๓ ทรงศึกษาในมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ใน Balliol College ได้รับปริญญาตรีเกียรตินิยมทางประวัติศาสตร์ และศึกษาต่อที่ EcoleLibre des Sciences Politiquesกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในวิชาการทูต ใน พ.ศ.๒๔๕๘ ทรงสอบไล่ได้ประกาศนียบัตรวิชาการทูตรางวัลที่ ๑ จากนั้นทรงได้รับการแต่ตั้งเป็นเลขาธิการตรีประจำสถานทูตไทย ณ กรุงปารีส พ.ศ.๒๔๖๐ และเป็นเลขานุการคณะทูตไทยที่ไปประชุสันติภาพ

    ​           หลังสงคราโลกครั้งที่ ๑ ยุติลง พ.ศ.๒๔๖๓ เสด็จกลับมาตุภูมิ ทรงรับราชการในตัวแหล่งหัวหน้ากองบัญชาการ กระทรวงการต่างประเทศ อีก ๒ ปีต่อมา รัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่ตั้งเป็น “องคมนตรี” รับปรึกษาราชการในส่วนพระองค์ ปี พ.ศ.๒๔๖๗ รับพระบรมราชโองการเป็นปลัดทูตฉลองกระทรวงการต่างประเทศ ทรงเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาทางไมตรีและการค้ากับประเทศที่เคยสัมพันธ์กับไทย และทรงเป็นหัวหน้าคณะทูตทำการทำอนุสัญญาว่าด้วยอินโดจีน
               พ.ศ.๒๔๖๙ มีพระบรมราชโองการให้เป็นเอกอัครราชทูต ประจำ ๓ ประเทศที่ว่างลง ได้แก่ อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ และเบลเยี่ยม ขณะดำรงตำแหน่งนี้ทรงเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไปประจำสมัชชาสันนิบาตชาติ แล้วได้รับเลือกเป็นรองประธานคณะกรรมการกำกับการเงินของสันนิบาตชาติ รองประธานในการประชุมแก้ข้อบัญญัติแห่งศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ประธานคณะกรรมการระเบียบวาระแห่งสมัชชาสันนิบาตชาติ และทรงเป็นสมาชิกสำนักการทูตระหว่างประเทศ

    ​            พ.ศ.๒๔๗๐ ทรงศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดจนสำเร็จปริญญาโท เสด็จกลับมาแล้วทรงได้รับแต่ตั้งเป็นศาสตราจารย์พิเศษในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.๒๔๗๓

    ​            พ.ศ.๒๔๗๗ – ๒๔๗๘ ทรงเป็นศาสตราจารย์กฎหมายระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรรมการในสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตุลาการในศาลอนุญาโตตุลาการ ณ กรุงเฮก เมื่อไทยดำเนินการทางการทูตเพื่อแก้ไขสนธิสัญญากับนานาชาติใน พ.ศ.๒๔๘๐ ทรงเป็นผู้แทนเจรจาตั้งแต่แรกเริ่มจนสำเร็จลุล่วง

    ​           พ.ศ.๒๔๘๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น “พระองค์เจ้า” จารึกในสุพรรณบัฏว่า “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร”

    ​           นับตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๑ – ๒๔๙๘ ทรงได้รับเลือกเป็นประธานคณะกรรมการต่าง ๆ ในองค์การสหประชาชาติหลายคณะ ช่วง พ.ศ.๒๔๙๙ – ๒๕๐๐ ที่ประชุมสหประชาชาติลงคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ให้ทรงดำรงตำแหน่งประทานสมัชชาสหประชาชาติในสมัยประชุมครั้งที่ ๑๑

    ​           พระประวัติและผลงานของพระองค์ท่านยังมิได้หมดลงแต่เพียงเท่านี้ นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ข้าพเจ้าต้องการหยิบยกขึ้นมาเพื่อใช้เป็นการปูทางไปสู่การหาคำตอบของข้าพเจ้าในลำดับต่อไป

    การทรงงานทางด้านการเมือง

    ​           จากประวัติของพระองค์ท่านที่ข้าพเจ้าได้หยิบยกขึ้นมานั้น จะเห็นได้ว่าพระองค์ท่านทรงมีพระปรีชาสามารถที่หลากหลาย อีกทั้งทรงมีความขยันหมั่นเพียรเป็นอย่างมากในการดำเนินกิจกรรมในหลาย ๆ ด้าน ทั้งการงานเพื่อประเทศชาติและหน้าที่ของอาจารย์ผู้ประสิทธิประสาทวิชา ด้วยการทรงงานและพระปรีชาสามารถของพระองค์ท่านในการดำเนินกิจการและกิจกรรมต่าง ๆ ส่งผลให้พระองค์ท่านเป็นที่ชื่นชอบของแทบทุกบุคคลที่ได้ทำงานร่วมกับพระองค์ ดังนั้นข้าพเจ้าใคร่ขอสรุปให้เห็นถึงปัจจัยที่ส่งเสริมให้พระองค์ท่านสามารถทำงานร่วมกับกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทั้งกลุ่มเผด็จการแลกลุ่มประชาธิปไตย รวมทั้งชาวต่างชาติ และทำให้พระองค์ท่านเป็นที่ยอมรับของกลุ่มบุคคลเหล่านั้นได้อย่างสนิทใจ อีกทั้งยังเป็นปัจจัยที่ทำให้พระองค์ท่านสามารถดำเนินกิจการต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาได้อย่างสำเร็จลุล่วงโดยปัจจัยแห่งความสำเร็จของพระองค์ท่านมีดังต่อไปนี้

    ​           ทรงมีชาติวุฒิที่ดี พระองค์ท่านทรงมาจากตระกูลที่มีชื่อเสียงทั้ง ๒ สาย โดยพระบิดาของพระองค์ท่าน คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงเป็นเจ้านายที่โดดเด่นและมีชื่อเสียงในหลาย ๆ ด้านในสมัยรัชกางที่ ๕ – ๖ นับเป็นปราชญ์คนสำคัญคนหนึ่งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ส่วนหม่อมต่วนศรี สกุล “มนตรีกุล”สายสกุลมาจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี กล่าวกันว่าเป็นองค์ปฐมในการวางรากฐานทางศิลปกรรม นาฏศิลป์ ของกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยเหตุนี้ทางด้านชาติวุฒิของพระองค์ท่าน จึงมิใช่เรื่องแปลกที่พระองค์ท่านจะทรงมีพระปรีชาสามารถที่รอบด้านและหาผู้ใดทัดเทียมได้ยากยิ่ง
    ​ทรงได้รับการศึกษาในระบบสมัยใหม่อย่างดีเยี่ยม ทั้งภายในและต่างประเทศ ล้วนได้รับการศึกษาจากสถานศึกษาที่ดีและมีชื่อเสียงทั้งสิ้น ดังพระประวัติที่ข้าพเจ้าได้หยิบยกเอาไว้ก่อนหน้านี้

    ​            ทรงมีประสบการณ์ในชีวิตการงานที่สูง ทั้งในด้านของการทูต ด้านกฎหมาย และด้านอื่น ๆ อีกหลายด้าน อีกทั้งเป็นประสบการณ์ที่ได้จากการทั้งภายในและภายนอกประเทศ เหตุนี้จึงเป็นที่ยากยิ่งนักที่บุคคลทั่วไปจะมีประสบการณ์การทำงานได้เทียบเท่าพระองค์ท่าน(โดยเฉพาะกลุ่มทหาร) โดยอาจสรุปได้ดังนี้

    ​​- พ.ศ.๒๔๖๐ – ๒๔๖๒ ประจำสถานทูตไทย ณ กรุงลอนดอน
    ​​- พ.ศ.๒๔๖๒ – ๒๔๖๗ เลขานุการตรี สถานทูตไทย ณ กรุงปารีส
    ​​- พ.ศ.๒๔๖๗ – ๒๔๗๓ อัครราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอน กรุงเฮก และกรุงบรัสเซลส์
    ​​- พ.ศ.๒๔๗๓ – ๒๔๗๖ ศาสตราจารย์โท ในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    ​​- พ.ศ.๒๔๙๐ – ๒๔๙๕ เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา ผู้แทนถาวรไทยประจำ​​​​ สหประชาชาติ
    ​​- พ.ศ.๒๔๙๙ – ๒๕๐๐ ประธานสมัชชาใหญ่ องค์การสหประชาชาติ
    ​​- พ.ศ.๒๔๙๕ – ๒๕๐๑ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ(ในหลายรัฐบาล)
    ​​- พ.ศ.๒๕๐๑ – ๒๕๑๑ รองนายกรัฐมนตรี(ในหลายรัฐบาล)

    ​           ทรงมีพระอัจฉริยะภาพมาแต่กำเนิด เมื่อได้รับอิทธิพลจากทั้งสิ่งแวดล้อมที่ดี ย่อมส่งผลให้มีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้น โดยพระองค์ท่านได้แสดงให้เห็นถึงคุณลักษณะและพระอัธยาศัยไมตรีที่โดดเด่นหลายประการ ที่เป็นที่ประทับใจผู้ที่ได้เข้าเฝ้าหรือผู้ที่ได้ร่วมงานกับพระองค์ท่าน ตัวอย่างเช่น นายกนธีร์ศุภมงคล อดีตเอกอัครราชทูตในหลายประเทศได้เล่าว่า ทรงมีความจำอันดีเลิศ เคยมีครั้งหนึ่งเมื่อรับราชการใต้บังคับบัญชาของพระองค์ท่าน ทรงมีรับสั่งให้จดโทรเลขเป็นภาษาอังกฤษ มีข้อความยาวกว่าหน้ากระดาษฟูลสแกบ ถึงตอนปลายทรงเลือกหาคำที่เหมาะสมอยู่ตำหนึ่ง ระหว่างที่ยังไม่แน่พระทัยว่าจะใช้คำใด ทรงหลับพระเนตรแล้วทวนความโทรเลขตั้งแต่ต้นด้วยพระองค์เอง นายกนธีร์มองดูตามความที่ตนจดปรากฏว่าถูกต้องตรงกันทุกคำ พอมาถึงตอนที่ติดก็ทรงพบคำที่ทรงประสงค์แล้วรับสั่งคำบอกต่อไปจนจบโทรเลข และอีกครั้งหนึ่งพระองค์ท่านได้รับทูลเชิญให้เป็นองค์ปาฐก ณ สมาคมแห่งหนึ่ง โดยทรงเป็นภาษาอังกฤษ ก่อนวันที่จะไปปาฐกถาได้รับสั่งให้เจ้าหน้าที่จดแล้วพิมพ์ข้อความหลายหน้ากระดาษ เมื่อรับสั่งให้จดเสร็จก็เสด็จกลับวัง เจ้าหน้าที่จะต้องพิมพ์บทปาฐกถาให้เสร็จส่งก่อนเวลาบรรยาย แต่จะเนื่องด้วยเหตุขัดข้องประการใดไม่ทราบ บทปาฐกถามิได้ถึงพระหัตถ์ก่อนเวลาบรรยาย เจ้าหน้าที่จึงตามไปยังที่ประชุมแต่ไม่ทันกาล พระองค์ท่านทรงบรรยายโดยไม่มีตัวบท เจ้าหน้าที่แอบดูตามตัวบท ปรากฏว่าไม่ผิดเพี้ยงจากที่จดไว้เลย

    ​           นอกจากเรื่องของความทรงจำของพระองค์ท่านแล้ว ผู้ที่เคยร่วมงานกับพระองค์ท่านหลายคนยังได้กล่าวถึงพระวิริยะอุสาหะ ความอดทน ความสง่างาม และความมีพระอัธยาศัยที่ละมุนละม่อมของพระองค์ท่าน เอาไว้ในหนังสือที่ทำหน้าที่บันทึกความทรงจำเกี่ยวกับพระองค์ท่านอีกมากมาย อย่างเรื่องของการทรงงาน ในขณะที่พระองค์ท่านรับตำแหน่งของอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พระองค์ท่านจะเสด็จมาถึงมหาวิทยาลัยในเวลาเช้าและกว่าจะกลับถึงวังก็เวลาพลบค่ำ พอเสด็จกลับถึงวังก็ทรงรับสั่งให้นักหนังสือพิมพ์ของหนังสือพิมพ์ประชาชาติ เข้าถวายงานโดยทันที เมื่อพระองค์ท่านตรวจต้นฉบับของหนังสือพิมพ์เสร็จถือว่าเป็นอันเสร็จภารกิจของพระองค์ หากแต่วันใดมีกิจการงานอื่นของบ้านเมืองเข้ามา การตรวจต้นฉบับของหนังสือพิมพ์ก็จะล่วงเวลาเข้าไปอีกไม่น้อย บ่อยครั้งที่นักหนังสือพิมพ์ของประชาชาติต้องค้านแรมที่วังของพระองค์ท่าน

    ​            จากปัจจัยแห่งความสำเร็จของพระองค์ท่านทั้งในเรื่องของความรู้และการปฏิบัติพระองค์แล้วนั้น สิ่งต่าง ๆ ได้ช่วยเป็นตัวส่งเสริมให้กับพระองค์ท่านได้เข้ามาเกี่ยวพันกับการเมืองไทยภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ เลื่อยมา ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ นับเป็นการเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมืองจากพระมหากษัตริย์มาสู่ประชาชนตามหลักประชาธิปไตย เมื่อมีการยึดอำนาจได้แล้ว คณะราษฎรผู้ยึดอำนาจยังหวั่นเกรงอยู่มากถึงแม้จะยอมให้มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ก็ยังระแวงอยู่ว่าอำนาจจะกลับคืนสู่สถาบันกษัตริย์ดังเดิม จึงได้มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับถาวร มาตรา ๑๑ ว่า “พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปโดยกำเนิด หรือโดยแต่งตั้งก็ตาม ย่อมดำรงอยู่ในฐานะเหนือการเมือง” นั่นคือการกีดกันเจ้าให้ออกจากสนามการเมืองหรือออกจากอำนาจในการปกครอง ด้วยเสด็จในกรมหมื่นนราธิปฯ ทรงมีฐานันดรศักดิ์เป็นเจ้าตามรัฐธรรมนูญจึงทรงมีฐานะอยู่เหนือการเมือง แต่ในความเป็นจริงแล้วพระองค์ทรงมีความเกี่ยวพันทางการเมืองอย่างแนบแน่นมาตั้งแต่ช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง กระทั่งถึง พ.ศ.๒๕๑๒ รวมแล้วทรงมีความเกี่ยวข้องกับการเมืองเป็นเวลากว่า ๔๐ ปี เหตุแห่งการเข้ามามีบทบาทของพระองค์ท่านในสนามการเมืองหลังการห้ามเจ้าลงมาเกี่ยวข้องกับการเมืองนั้น เป็นผลมาจากความสามารถของพระองค์ท่านดังที่ได้มีการบันทึกเอาไว้ว่า “ในปี พ.ศ.๒๔๗๖ นั่นเองที่ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ขออนุมัติต่อสภาผู้แทนราษฎรว่า ในการอภิปรายซักถามข้อเท็จจริงต่าง ๆ ตลอดจนในการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อสภานั้น ขอให้หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรวรวรรณ ซึ่งมิได้เป็นรัฐมนตรีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ขึ้นชี้แจงแทนคณะรัฐมนตรีในสภาได้ทักครั้ง” ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรก็อนุมัติ ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าเห็นว่าความสามารถของพระองค์ท่านไดเปรากฎเป็นที่ประจักษ์ชัดต่อทั้งพระยาพหลและต่อสภาผู้แทนราษฎร ทำให้การดำเนินงานของพระองค์ในฐานะความเป็นเจ้าได้ถูกมองข้าม(ยกเว้น) เมื่อเทียบกับความสามรถของพระองค์ท่านและการวางตัวต่อผู้ร่วมงานซึ่งปรากฏต่อสายตาของคณะปฏิวัติและสภาผู้แทนราษฎร

    ​          นอกจากในสมัยของรัฐบาลพระยาพหลแล้ว พระองค์ท่านได้ทรงงานตลอดมากระทั่งในสมัยของจอมพลสฤษดิ์เองก็ตาม โดยจอมพลสฤษดิ์ได้อาศัยความรู้ความสามารถของพระองค์ท่านเพื่อการดำงานของรัฐบาลตลอดมา ดังความตอนหนึ่งว่า “แต่เรื่องที่ยังไม่ทราบกันมากนัก ก็คือเรื่องที่ข้าพเจ้าทูลเชิญเสด็จในกรม ฯ มาร่วมบริหารแผ่นดินกับข้าพเจ้าผู้เป็นหัวหน้าคณะปฏิบัติ วันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๐๒ ข้าพเจ้าต้องการเสด็จในกรม ฯ มาเพื่อร่วมงานช่วยกันบริหารประเทศชาติ แก้ไขวิกฤตการณ์ของชาติบ้านเมืองให้ก้าวไปสู่ความเจริญ ด้วยความเลื่อมในศรัทธาในพระองค์ท่านมาแต่แรก เสด็จในกรม ฯ ทรงรับเชิญด้วยน้ำพระทัยอันกว้างขวางและมิตรไมตรี ระยะนี้เองเป็นระยะที่ข้าพเจ้าได้ใกล้ชิดกับเสด็จในกรม ฯ มากที่สุด จึงได้ทราบถึงพระอัธยาศัยของพระองค์ว่า ทรงบำเพ็ญพระองค์สม่ำเสมอไม่มากไม่น้อย ทรงเห็นประโยชน์ของชาติสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด จากพระประสบการณ์ในพระชนม์ชีพ ได้เป็นที่อาศัยแห่งความรู้ของข้าพเจ้าและของคณะรัฐมนตรี ข้าพเจ้าตามปกติเป็นคนใจร้อน แต่เสด็จในกรม ฯ คอยเหนี่ยวรั้งคณะรัฐมนตรีให้หันมาทางเย็น ข้าพเจ้ากล่าวได้ว่า คณะรัฐมนตรีทุกคนต่างมีความพอใจและความเลื่อมใสเสด็จในกรม ฯ เป็นอย่างยิ่ง เพราะทรงปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุขุมรอบคอบ ไม่หักหาญ ไม่ก่อศัตรู บำเพ็ญบุคคลอยู่คุรุฐานียบุคคลที่ควรแก่เคารพนับถือจริง ๆ ตำแหน่งรองนายกที่เสด็จในกรม ฯ ได้เข้าปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๒ เป็นต้นมา ราชการที่ทรงปฏิบัตินับว่าได้ผลเลิศและเป็นผลดีต่อประเทศชาติเป็นอย่างยิ่ง เสด็จในกรม ฯ ทรงงานด้วยน้ำพระทัยรักงาน จากพรอัธยาศัยประณีต เป็นผลให้งานที่ทรงและผลิตออกมาประณีตวิจิตรบรรจงไปด้วย ในฐานะที่ข้าพเจ้าได้ร่วมงานกับเสด็จในกรม ฯ มาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๑๖ ปี ข้าพเจ้าก็ยืนยันได้ว่าเสด็จในกรม ฯ เป็นสมบัติของชาติ และเป็นอัจฉริยะบุรุษผู้ทรงคุณความสามารถหาได้ยากยิ่ง ไม่เฉพาะแต่ของชาติไทย ยังเป็นอัจฉริยะบุรุษของโลกผู้หนึ่งด้วย”

    ​            จากเนื้อหาที่ข้าพเจ้าได้หยิบยกมานั้นได้เป็นเครื่องยืนยันให้เห็นแล้วว่า การที่เสด็จในกรมฯ สามารถทำงานร่วมกับรัฐบาลกลุ่มผลประโยชน์ หรือกลุ่มคนที่มีความคิด เชื้อชาติ ภาษา ศาสนา แตกต่างจากพระองค์ท่านได้ล้วนเป็นผลมาจากความสามารถของพระองค์ท่านที่เป็นที่ยอมรับต่อกลุ่มที่พระองค์ท่านได้มีโอกาสทรงงานด้วย อีกทั้งพระอัธยาศัยไมตรีของพระองค์ท่านก็เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในการที่ทำให้พระองค์ท่านเป็นที่ยอมรับสำหรับกลุ่มทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ประสบพบเจอหรือผู้ที่ทำงานกับพระองค์ท่านก็ตามแต่ สำหรับสิ่งที่ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ทำให้พระองค์ท่านสามารถทำงานร่วมกับกลุ่มที่แตกต่างและหวาดกลัวสถานะของพระองค์(เจ้า)ในช่วงแรกเริ่มของการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้อย่างสนิทใจ คงหนีไม่พ้นเรื่องของความเป็นกลางและการถือเอาประโยชน์ของชาติและบ้านเมืองเป็นหลัก ดังที่ได้เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ไม่ว่าการเมืองหรือผู้นำทางการเมืองจะมีการเปลี่ยนแปลงไปกี่คน กี่ยุค กี่สมัย แต่พระองค์ก็ยังทรงงานต่อไปได้บนพื้นฐานของการทรงงานในฐานะของผู้ที่ทำเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก ด้วยเหตุนี้ไม่ว่าใครก็สามารถทำงานร่วมกับพระองค์ท่านได้และใคร ๆ ก็ต่างอยากได้คนอย่างพระองค์ท่านเป็นผู้ร่วมงานด้วยทั้งสิ้น

    การทรงงานทางด้านภาษาและการบัญญัติคำ

    ​            งานบัญญัติศัพท์และการสร้างคำถือได้ว่าเป็นงานถนัดอีกงานหนึ่งของเสด็จในกรม ฯ ก็ว่าได้ เพราะพระองค์ท่านเคยตรัสเอาไว้ว่า “เราเป็นนักภาษาศาสตร์ มากกว่าเป็นนักการทูตเสียอีก”ด้วยเหตุนี้เสด็จในกรม ฯ จึงเป็นอีกบุคคลหนึ่งที่มีบทบาทโดดเด่นที่สุดในการบัญญัติศัพท์ภาษาไทยให้มีความหมายตรงกับหรือสอดคล้องกับภาษาต่างประเทศมากที่สุด(เนื่องด้วยพระองค์มิได้บัญญัติศัพท์ที่มาจากภาษาอังกฤษแต่เพียงอย่างเดียว) และพระองค์ท่านยังได้กล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า การควบคุมความหมายของคำ โดยเฉพาะคำที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกนึกคิด มีความสำคัญอย่างมากเพราะจะช่วยเป็นการควบคุมความคิด และสภาพสังคมให้เป็นไปอย่างไม่รวดเร็วจนเกินไปนัก พระองค์ท่านให้ความสำคัญกับการบัญญัติศัพท์ก็เพราะว่าภาษาเป็นตัวกำหนดวิธีคิดของมนุษย์และกำหนดการเปลี่ยนแปลงโลกดังนั้นพระองค์ท่านจึงมีความพยายามที่จะทำให้ภาษาตะวันตกจำนวนมากกลายมาเป็นภาษาไทย โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะให้คำเหล่านั้นช่วยควบคุมการเปลี่ยนแปลงของสังคมวัฒนธรรมไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคต พระองค์ท่านมิได้ต้องการักษาของเดิมเอาไว้อย่างตายตัว ขณะเดียวกันก็มิได้ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงที่มากและเร็วเกินไป การบัญญัติศัพท์ของพระองค์ท่านแตกต่างจากปัญญาชนกระแสหลักทั่ว ๆ ไป ที่ในสมัยนั้นเน้นการบัญญัติศัพท์ใหม่บนภาษาไทยที่เป็นมาตรฐาน มีแบบแผนของชนชั้นทางภาษาเข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อทำให้ผู้คนยอมรับชนชั้นของตนเอง อย่างเช่นคำว่า ไพร่ฟ้า แต่พระองค์ท่านต้องการเน้นความสำคัญของภาษาไทยบนฐานของประชาชาติไทย ท่านไม่ได้ใช้คำว่าชาติไทย อย่างหลวงวิจิตรวาทการ พระยาอนุมานราชธน หรือคนอื่น ๆ ที่นิยมใช้กันในสมัยนั้น เพราะพระองค์ท่านต้องการจะเน้นให้เห็นว่าเป็นชาติของประชาชน

    ​           อีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความคิดของพระองค์ท่านในการสร้างคำหรือบัญญัติศัพท์ คงหนีไม่พ้นตัวอย่างที่นิยมพูดถึงกันอย่างคำว่า “ปฏิวัติ” กับคำว่า “พลิกแผ่นดิน” พระองค์ท่านทรงดำริว่าคำที่ใช้เรียกเหตุการณ์วันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ ควรจะเป็นคำว่า “ปฏิวัติ” แทนคำว่า “พลิกแผ่นดิน” ซึ่งหลวงวิจิตรวาทการได้ใช้อยู่นั่น พระองค์ท่านไม่เห็นด้วยเห็นด้วยเพราะทรงเห็นว่าคำที่ใช้นั้นเป็นคำเก่าไม่เหมาะสมสำหรับการสื่อความหมายของการเปลี่ยนแปลงในวันที่ ๒๔ มิถุนายน เนื่องด้วยเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีความสำคัญมาก ดังนั้น จึงควรมีคำใหม่ที่ถอดความออกมาจากคำว่า Revolutionทรงอธิบายว่า “...การเปลี่ยนแปลงของเรานั้น ไม่ใช่การพลิกแผ่นดิน แต่เป็น Revolution การเปลี่ยนแปลงจากระบอบราชาธิปไตยมาเป็นระบอบรัฐธรรมนูญนั้น แม้ไทยจะว่ากระไรแต่ฝรั่งว่าเป็น Revolution เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง...” “...อันคำว่าปฏิวัตินั้น ข้าพเจ้าได้เลือกเฟ้นให้เหมาะสมกับความหมายในภาษาอังกฤษแล้ว กล่าวคือแผ่นดินหมุน มิใช่การหมุนแผ่นดิน ปฏิวัติเป็นอกรรมกิริยา ซึ่งแสดงการหมุนของวัตถุต่าง ๆ ทั้งนี้เป็นอาการในธรรมชาติ และไม่มีที่เสียหายอย่างใดเลย เพราะฉะนั้นพระยากัลยาไมตรี ซึ่งเป็นผู้หวังดีต่อไทยโดยไม่มีใครโต้เถียงได้ ก็เรียกการเป็นไปในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ ว่า เรวอลูชั่น หรือ ปฏิวัติ...” เมื่อพิจารณาจากตัวอย่างที่ข้าพเจ้าหยิบมาก็จะเห็นได้ว่าการบัญญัติศัพท์ของพระองค์ท่านยังมีการเคลือบแฟงด้วยการประสานประโยชน์ ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับสังคมไทยอยู่ไม่น้อย อย่างการเลือกใช้คำว่า “ปฏิวัติ” แทนการใช้คำว่า “พลิกแผ่นดิน” ก็เพื่อเป็นการรักษาน้ำใจและไม่หักหาญน้ำใจของสถาบันกษัตริย์ เพราะพระองค์ท่านได้ให้ความเห็นว่า การปฏิวัติหรือ Revolution นั้น คือ การหมุนแผ่นดิน เมื่อเราแทนที่การ “พลิกแผ่นดิน” ด้วยคำว่า “หมุนแผ่นดิน” แล้วจะเห็นได้ว่าความรุนแรงของคำนั้นลดลงอย่างมาก อีกทั้งการหมุนของแผ่นดิน ยังเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ที่ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องเกิดขึ้น ไม่วันใดก็วันหนึ่ง อย่างในสยามประเทศก็เกิดขึ้นในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕

    ​            หากพิจารณาถึงรูปแบบของการบัญญัติศัพท์ของเสด็จในกรม ฯ จากผลงานของพระองค์ท่านทั้งจากที่บุคคลอื่นเขียนถึงในงานชิ้นต่าง ๆ หรืองานของพระองค์ท่านเองอย่างงานเรื่อง การบัญญัติศัพท์ ของ พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทำให้ข้าพเจ้าสามารถสามารถสรุปถึงรูปแบบของการบัญญัติศัพท์ของพระองค์ท่าน ตามความเห็นและความเข้าใจของข้าพเจ้าได้เป็น ๒ ประการดังนี้
    ​ประการแรก การบัญญัติศัพท์ของพระองค์ท่านมิได้ใช้จากการเทียบเคียงภาษาไทยโบราณแต่เพียงอย่างเดียว แต่อาศัยการเทียบเคียงคำในภาษาบาลี สันสกฤตและมคตด้วย เพื่อการบัญญัติคำที่มีความหมายคลอบคุมและชัดแจ้งต่อความของเนื้อคำนั้น ด้วยเหตุที่พระองค์ท่านได้รับการศึกษาในด้านของภาษาบาลีและสันสกฤตจนแจกฉาน ทำให้การสร้างคำหรือการบัญญัติคำของพระองค์แตกต่างจากปัญญาชนสยามในสมันอดีต ตัวอย่างเช่น คำว่า ปฏิรูป(Reform) การเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสม แต่มีผู้ท้วงติงพระองค์ว่า คำว่า ปฏิรูปในภาษาบาลีนั้น หมายถึง ของปลอม พระองค์ท่านจึงได้ให้ตัวอย่างของคำว่า ปฏิรูปการี ซึ่งมีความหมายว่า ผู้กระทำให้เหมาะสม นอกจากนี้พระองค์ท่านได้ให้ความเห็นว่า “ทั้งนี้จะมีความนิยมใช้ในทางที่ดี คือ ทำให้เหมาะสม หรือในทางที่เลว คือ ปลอมแปลง ก็แล้วแต่จะใช้ เมื่อเราให้ความหมายว่าเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมความหมายนิยมใช้ก็จะเป็นเช่นนั้น” หากสังเกตการบัญญัติคำของพระองค์ท่านก็จะพบว่าคำหลายคำที่พระองค์ท่านบัญญัติขึ้นนั้นมาจากภาษาบาลีและสันสกฤตเป็นคำที่มี ๒ ความหมายในคำเดียว แต่พระองค์ท่านจะเลือกนำเสนอเอาความหมายที่พระองค์ท่านเห็นว่าเหมาะสมที่สุด และท้ายที่สุดก็จะให้การนิยมใช้ของประชาชาติเป็นผู้ตัดสิน ดังคำของพระองค์ท่านที่ว่า “คำที่คิดนั้นจะเหมาะหรือไม่เหมาะ ย่อมแล้วแต่ผู้ใช้ ถ้าใช้กันแพร่หลายแล้วคำนั้นก็ติด”
              ประการต่อมา การบัญญัติศัพท์ของพระองค์ท่านจะใช้รูปแบบของการบัญญัติศัพท์แบบทอนคำ คือทำให้คำศัพท์ที่บัญญัติมีรูปแบบของการออกเสียงที่สั้นลงจากคำเดิมในภาษาบาลีและสันสกฤต เพื่อให้ง่ายต่อการออกเสียงและให้ล้อไปกับจังหวะหรือเสียงของคำเดิมในภาษาอังกฤษ ตัวอย่างเช่น คำว่า Reform ที่พระองค์ท่านบัญญัติให้เป็นไทยว่า ปฏิรูป โดยหมายความว่า ทำให้เหมาะสม หากดูจากที่มาของคำในภาษาบาลี เราจะพบว่ามาจากคำว่า “ปฏิรูปการี” แปลว่า ผู้กระทำให้เหมาะสม เมื่อพระองค์ท่านได้บัญญัติให้คำว่า ปฏิรูปการี =Reform พระองค์ท่านจึงได้คำนึงถึงการออกเสียงและจังหวะของคำที่จะต้องสอดคล้องกัน เพราะเดิม “ปฏิรูปการี” ออกเสียงว่า ปะ – ติ – รู – ปะ – กา – รี ส่วนคำว่า Reform ออกเสียงว่า รี – โพเออรมํ ซึ่งเมื่อนับจังหวะของการออกเสียงจะพบว่าเป็น ๖/๒ จังหวะ ด้วยเหตุนี้พระองค์ท่านจึงเลือกใช้คำว่า “ปฏิรูปการี” แล้วนำมาลดรูปเพื่อให้เหลือเพียง “ปฏิรูป” จังหวะของการแกเสียงก็จะกลายเป็น ปะ – ติ – รูป ทำให้มีจังหวะของคำเป็น ๓/๒ เพื่อให้ง่ายต่อการออกเสียงล้อกับคำว่า reform

               อีกตัวอย่างหนึ่งคือคำว่า “วิสาหกิจ” โดยพระองค์ท่านได้เขียนเอาไว้ว่า “พระองค์เจ้าวิวัฒนา ฯ ได้ทรงขอให้ข้าพเจ้าคิดศัพท์เพื่อให้แทนคำว่า Enterprise ซึ่งแปลว่า ความขวนขวาย แต่คำนี้จะให้ให้หายถึง Undertaking การงานที่รับเป็นธุระนั้นไม่ได้ ข้าพเจ้าเคยแปล Undertaking ว่า ภารธุระ ซึ่งเป็นคำเก่า ข้าพเจ้าพยายามจะฟื้นขึ้นมา แต่โดยที่อ่านกันว่า ภารธุระ เสียงก็หนักไปจึงไม่ติด ข้าพเจ้าจึงหันไปหาคำบาลีว่า วิสหto venture ซึ่งเห็นว่าใช้ได้ เพราะเราใช้คำว่า อุตสาหอุตสาหกรรม อยู่แล้วจึงถวายไปว่า Enterprise วิสาหะ หรือก็หมายถึง Undertakingก็ใช้ว่าวิสาหกิจ ท่านก็ทรงรับเอา บัดนี้จึงมีคำทางราชการว่า รัฐวิสาหกิจ State Enterprise”

               จากตัวอย่างที่ข้าพเจ้ายกมาเป็นการแสดงให้เห็นว่าการบัญญัติศัพท์ของพระองค์ท่านนั้นคำนึงถึงความง่ายต่อการออกเสียงเพื่อให้เป็นที่แพร่หลายและง่ายต่อการทำความเข้าใจเมื่อเทียบเคียงกับภาษาเดิม อีกทั้งพระองค์ท่านมิได้ใช้ภาษาไทยยืนเป็นหลักในการแปลความหรือบัญญัติคำ เหมือนปัญญาชนสมัยก่อนทำให้ศัพท์บัญญัติของพระองค์ท่านมีความคลอบคุมความหมาย และมีความหลากหลาย และเข้ากับจังหวะของการออกเสียงได้ดีกว่า แต่อย่างไรก็ตาม ศัพท์บางคำที่พระองค์ท่านทรงบัญญัติขึ้น เพื่อเน้นว่าอำนาจในการปกครองประเทศเป็นของประชาชนนั้น กลับเป็นศัพท์ที่ไม่ได้รับความนิยมแต่อย่างใด เช่นคำว่า “ประชาชาติ” เป็นต้น ทั้งที่น่าจะเป็น อาจเป็นผลจากการที่ศัพท์เหล่านี้ไม่ได้สอดคล้องกับระบอบการปกครองที่อำนาจยังไม่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง และไม่เอื้อต่อการผูกขาดอำนาจรัฐของผู้นำทางทหารและระบอบราชการนั่นเอง

    ​           จะเห็นได้ว่าในท้ายที่สุดแล้วการกระทำของเสด็จในกรม ฯ ก็เป็นการเล่นการเมืองในรูปแบบหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการเล่นการเมืองในการวางพระองค์ให้เป็นกลางผ่าน การทำงาน การวางตน และเป้าหมายในการทำเพื่อประเทศชาติ อีกทั้งการสร้างคำหรือการบัญญัติคำของพระองค์ท่าน ก็เป็นการเล่นการเมืองอีกรูปแบบหนึ่งเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการประสานประโยชน์ของสถาบันพระมหากษัตริย์กับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ที่ทำให้ไม่ดูรุนแรงเกินไปนัก หรือเพื่อช่วงชิงพื้นที่ทางการเมืองผ่านการใช้ภาษา แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าศัพท์บัญญัติบางคำของพระองค์ท่าน ก็ไม่สามารถช่วงชิงพื้นที่ทางการเมืองจากผู้ถือคลองอำนาจ มาสู่ผู้สมควรถือครองอำนาจอย่างประชาชน ตามที่พระองค์ทรงตั้งใจอยากให้เป็น


    ข้อมูลจาก : บทความของผู้เขียน เรื่อง ความสำเร็จทางการเมือง และ ความไม่สำเร็จ(บางกรณี)ในการบัญญัติศัพท์ ของ พระองค์วรรณฯ รายวิชา ร.403 สัมนาภาษากับการเมือง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์




เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in