เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
/ อ่านวรรณกรรมผ่านสายตาหลังกรอบแว่น /one8octobear
ชีวิตมหัศจรรย์ของออกัสต์ | เปลือกนอก
  • เขียนขึ้น ณ วันที่ 16 มีนาคม 2562

    วิชา CL213 การอ่านและวิเคราะห์วรรณกรรมฯ


    ชีวิตมหัศจรรย์ของออกัสต์ : เปลือกนอก


    ‘เปลือกนอก’ คือปราการแรกที่ห่อหุ้มเนื้อในเอาไว้ เป็นเหมือนด่านแรกที่จะปกป้องตัวเรา ในขณะเดียวกันก็เป็นหน้าเป็นตาให้แก่ตัวตนของเรา มนุษย์ทุกคนจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะให้ความสำคัญกับเปลือกนอกที่ห่อหุ้มตนเองเอาไว้เพื่อปกป้องตัวเองไม่ให้ผู้อื่นมาทำร้ายได้ เพราะหากเปลือกนอกเราอ่อนแอก็ไม่สามารถต่อสู้กับสิ่งเร้าภายนอกได้

    เช่นเดียวกับเหล่าตัวละครจากวรรณกรรมเรื่อง ชีวิตมหัศจรรย์ของออกัสต์ (Wonder) ของ อาร์.เจ. ปาลาซิโอ ที่ผู้เขียนกำลังจะกล่าวถึง ‘เปลือกนอก’ ของพวกเขาเป็นลำดับถัดไป

    ชีวิตมหัศจรรย์ของออกัสต์ คือเรื่องราวของ ‘ออกัสต์ พูลล์แมน’ เด็กชายคนสำคัญที่เป็นดั่งดวงอาทิตย์ให้แก่ครอบครัวพูลล์แมน แต่การเกิดของออกัสต์ราวกับถูกรางวัลใหญ่ซึ่งจะเกิดขึ้นเพียงหนึ่งในล้านเท่านั้น ทุกคนต่างประจักษ์ดีว่ารางวัลนี้ไม่น่าพิศมัยแต่ประการใด เพราะมันทำให้ออกัสต์ต้องผ่านการผ่าตัดใหญ่เล็กมามากกว่ายี่สิบเจ็ดครั้งจากโรคปากแหว่งเพดานโหว่และอีกหลากหลายโรคที่แม้แต่หมอก็ยังไม่มีชื่อเรียกให้มัน มันทำให้ออกัสต์แตกต่างไปจากเด็กคนอื่น ๆ ความมหัศจรรย์อันงดงามภายใต้เปลือกที่แปลกแยกจากผู้คนของออกัสต์ก็คือ ‘ใบหน้า’ ของเขาที่ผิดแผกจากเด็กทั่วไป ดังที่เห็นได้จากการที่ออกัสต์กล่าวถึงความปราถนาเกี่ยวกับรูปลักษณ์ของตัวเองว่า


    ถ้าผมเจอตะเกียงวิเศษและอธิษฐานขอพรได้สักข้อหนึ่ง ผมจะขอให้ตัวเองมี
    ใบหน้าปกติที่ไม่มีใครสนใจเลย ผมจะขอให้ตัวเองเดินไปตามท้องถนนได้โดย
    ไม่มีใครเบือนหน้าหนีเมื่อเห็นผม ผมคิดอย่างนี้ครับ สาเหตุเดียวที่ทำให้ผม
    ไม่ปกติคือการที่ไม่มีใครเห็นว่าผมปกตินั่นเอง

    (ชีวิตมหัศจรรย์ของออกัสต์, 2561: 3)


    ชีวิตของออกัสต์เปี่ยมไปด้วยความมหัศจรรย์ เขาผ่าตัดใหญ่ครั้งแรกก่อนอายุจะครบสี่ขวบด้วยซ้ำ เขามีใบหน้าที่พิเศษเกินกว่าใครจะจินตนาการถึง แต่มันเป็นความมหัศจรรย์ที่ออกัสต์หวังเหลือเกินว่ามันจะเป็นเพียงเรื่องปกติธรรมดาเหมือนเช่นคนอื่น ๆ เพราะความมหัศจรรย์นี้ทำให้ทุกคนมองว่าออกัสต์พิเศษและเด็ก ๆ วัยเดียวกันก็ตั้งข้อรังเกียจออกัสต์ ไม่ว่าจะเบือนหน้าหนี หลบสายตา เดินเลี่ยงจากเขา ออกัสต์ล้วนเจอมาแล้วทั้งสิ้น ทั้งหมดที่ออกัสต์เจอก็ล้วนแล้วแต่เป็นเพราะ ‘เปลือกนอก’ ที่เขาไม่ต้องการ

    คนมักจะตัดสินแต่ละสิ่งด้วยการมองเปลือกนอกที่แสนจะฉาบฉวยก่อนเป็นอย่างแรก มีคำกล่าวยอดนิยมเกี่ยวกับการที่คนมักตัดสินกันเพียงแค่เปลือกนอกว่า ‘อย่าตัดสินหนังสือจากหน้าปก’ นับเป็นประโยคที่เราได้ยินได้ฟังมาตั้งแต่ยังไม่รู้ความ แน่นอนว่าที่จริงแล้วไม่ได้มีความหมายเพียงไม่ให้ตัดสินเนื้อหาและคุณค่าของหนังสือจากหน้าปกเท่านั้น แต่ยังมีความหมายโดยนัยถึงการไม่ตัดสินสิ่งอื่น ๆ เพียงการมองจากเปลือกนอกโดยไม่เคยสัมผัสเนื้อแท้ หรืออย่าตัดสินผู้คนที่ภายนอกโดยที่ยังไม่เคยได้รู้จักหรือพูดคุยกับเขา แต่ในขณะเดียวกันก็มีสุภาษิตไทยที่กล่าวไว้ว่า ‘ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง’ ซึ่งสื่อว่าคนจะงามหรือไม่ก็อยู่ที่ ‘เปลือกนอก’ ทำให้เห็นถึงค่านิยมการเชิดชูคนที่ภายนอกของสังคม หากไร้เปลือกซึ่งประกอบขึ้นจากวัตถุก็จะกลายเป็นผู้แปลกแยกจากสังคมไป นี้คือความจริงที่ว่าสังคมวัตถุนิยมกำลังขับเคลื่อนโลกในทศวรรษนี้

    โดยในวรรณกรรมเรื่อง ชีวิตมหัศจรรย์ของออกัสต์ อาร์.เจ. ปาลาซิโอก็ได้หยิบยกองค์ประกอบทางวรรณกรรมอย่างลีลาและกลวิธีในการดำเนินเรื่องมาขยายแก่นเรื่องประการที่กล่าวมาข้างต้นได้อย่างน่าสนใจ โดยการใช้ตัวละคร 6 ตัวมาเป็นผู้เล่าเรื่องในมุมมองของบุรุษที่ 1 ไม่ว่าจะเป็นตัวละครหลักอย่างออกัสต์และตัวละครที่อยู่รอบตัวของออกัสต์อย่างเวีย ซัมเมอร์ แจ็ก จัสติน รวมถึงมิแรนด้ามาเป็นผู้ดำเนินเรื่องในแต่ละภาคตามลำดับ (ตั้งแต่ภาคที่ 1 - 7 โดยในภาคที่ 6 และ 8 ออกัสต์เป็นผู้ดำเนินเรื่องเช่นเดียวกับภาคที่ 1)

    ตัวละครแต่ละตัวผลัดเปลี่ยนกันมาขยายและเล่นกับแก่นหลักของเรื่องอย่าง ‘เปลือกนอก’ ได้อย่างแนบเนียน แม้ว่าแต่ละคนจะเล่าผ่านมุมมองของตัวเองและพูดถึงเรื่องตัวเองเป็นหลัก แต่เราจะได้เห็นมุมมองความเป็นไปของโลกผ่านสายตาของตัวละครที่มีอุปนิสัยแตกต่างกันไป จะได้เห็นมุมมองที่พวกเขามีต่อตัวละครหลักอย่าง ‘ออกัสต์’ และท้ายที่สุดจะได้มุมมองที่พวกเขามีต่อ ‘เปลือกนอก’ ของตนเอง

    ตัวละครแรกที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือ ‘ออกัสต์ พูลล์แมน’ หนุ่มน้อยผู้คลั่งไคล้สตาร์วอร์สอยู่เป็นนิจ เจ้าของเรื่องราวชีวิตแสนมหัศจรรย์ที่ทำให้ผู้คนประจักษ์ชัดถึงประโยคที่ว่า ‘อย่าตัดสินหนังสือจากหน้าปก’ ในโลกซึ่งเจริญด้วยวัตถุและสิ่งสวยงาม ออกัสต์คือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากรูปลักษณ์หรือ ‘เปลือกนอก’ ของตนเองอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ออกัสต์ไม่เคยชอบใจที่ตนเองเกิดมาพร้อมรูปลักษณ์แบบนี้ ดังนั้นทุก ๆ ครั้งที่ออกไปนอกบ้านเขาจะซ่อนตัวเองอยู่ภายใต้หมวกแก็ปหรือหมวกนักบินอวกาศที่เขาเคยใส่มันทุกวันเป็นเวลากว่าสองปี หากไม่มีสองอย่างนี้เขาก็ทำได้เพียงก้มหน้าก้มตาเดินเพื่อให้พ้นสายตาของผู้คนเท่านั้น เพราะทุกครั้งที่เขาออกไปข้างนอกบ้าน หากไม่โดนคนเหลียวมองซ้ำก็เป็นต้องเบือนหน้าหนีหรือแสดงท่าทีรังเกียจใบหน้าเขาไปเสียทุกคน เทศกาลเดียวที่ออกัสต์ยินดีจะเข้าร่วมก็คือเทศกาลฮาโลวีนที่ทุกคนจะแต่งตัวด้วยชุดแฟนตาซีเพราะมันทำให้เขาเหมือนกับเด็กคนอื่น ๆ เป็นแค่เพียงเด็กปกติเช่นเดียวกับทุกคน ซึ่งออกัสได้พูดถึงความรู้สึกของตัวเองในตอนที่บรรยายถึงงานฮาโลวีนครั้งแรกที่โรงเรียนว่า


    ผมจะได้ไปไหนมาไหนเหมือนเด็กคนอื่นโดยที่สวมหน้ากาก
    จะไม่มีใครมองว่าผมดูประหลาด ไม่มีใครเหลียวมองด้วยซ้ำ
    ไม่มีใครสังเกตผม ไม่มีใครรู้จักผม

    (ชีวิตมหัศจรรย์ของออกัสต์, 2561: 93)


    จากบทข้างต้นยิ่งทำให้เราเห็นชัดว่าสิ่งที่ทำให้ออกัสแตกต่างก็คือสายตาของผู้คนที่มองเขาอย่างแตกต่าง สายตาของผู้คนในสังคมโลกซึ่งเลือกจะมองเปลือกนอกและมองข้ามตัวตนที่แท้จริงของออกัสต์ซึ่งเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ขันและมีหัวใจที่ยิ่งใหญ่  

    แม้ว่าออกัสต์จะไม่แสดงท่าทีเจ็บปวดเมื่อโดนสายตาทิ่มแทงอย่างใคร่รู้ รังเกียจ หรือแม้แต่ขยะแขยง แต่ทั้งที่จริงแล้วเขาไม่เคยรู้สึกดีกับมัน และแม้ว่าเด็กทุกคนในโรงเรียนจะไม่ได้กลั่นแกล้งออกัสต์อย่างเปิดเผย แต่ก็ไม่มีใครพูดคุยกับเขา ไม่มีใครอยากนั่งข้างเขาในคลาสเรียนหากไม่ใช่แจ็ก ไม่มีใครอยากนั่งกินข้าวร่วมโต๊ะกับเขาหากไม่ใช่ซัมเมอร์ และไม่มีใครต้องการจะสัมผัสโดนตัวเขาเพราะเกม ‘โรคระบาด’ ที่คนทั้งชั้นเรียนเล่นลับหลังเขา เงื่อนไขมันง่าย ๆ แต่น่าเจ็บปวด คือถ้าใครสัมผัสออกัสต์แล้วไม่ล้างมือหรือทำความสะอาดภายในเวลาสามสิบวินาทีจะต้องติดโรคระบาด จะเห็นได้จากฉากที่ออกัสต์บรรยายถึงความผิดปกติที่ตนจับสังเกตได้ว่าเพื่อนร่วมชั้นไม่มีใครสัมผัสเขาตรง ๆ สักครั้ง :


    ผมคิดว่ามันเหมือนกับการสัมผัสชีสในไดอารี่ของเด็กไม่เอาถ่าน
    (Diary of a Wimpy Kid) นั่นแหละ เด็ก ๆ ในหนังสือเรื่องนั้นกลัวติดโรค
    หากไปสัมผัสชีสเก่าขึ้นราในสนามบาสเกตบอล ส่วนในโรงเรียนบีเชอร์เพรป.นี้
    ผมคือชีสเก่านั่นเอง

    (ชีวิตมหัศจรรย์ของออกัสต์, 2561: 92)


    จากบทข้างต้น ทำให้เราเห็นว่าสังคมที่ตัดสินคนจากเปลือกนอกไม่ได้มีแค่ในวัยผู้ใหญ่เท่านั้น แต่ในเด็ก ๆ ก็มีเช่นกัน ทุกคนล้วนไม่ต้องการโดดเดี่ยวท่ามกลางกระแสสังคมที่เหมือนคลื่นซัดเข้าฝั่ง หากขวางทางก็อาจจะถูกมองว่าแปลกแยกเช่นเดียวกับออกัสต์ จึงต้องยอมให้คนหมู่มากลากไป แม้จริง ๆ พวกเขาอาจจะไม่ได้เกลียดออกัสต์ แต่ก็ไม่สามารถเล่นกับออกัสต์ได้ ไม่ฉะนั้นตนเองก็จะเป็นผู้แปลกแยกอีกคนในสังคม เห็นได้จากในภาคของซัมเมอร์ที่ซาแวนนามาเตือนให้เธอเลิกคบกับออกัสเพื่อที่จะได้มีเพื่อนมากกว่านี้ และในภาคของแจ็กที่จูเลียนบอกให้เขาเลิกยุ่งกับออกัสต์ ยังมีชาร์ลอตต์ที่แนะนำให้แจ็กเลิกคบกับออกัสต์เพราะมันทำให้เขาดูแย่ลง

    แจ็กและซัมเมอร์มีอุปนิสัยแตกต่างกัน แต่สิ่งที่เขามีเหมือนกันคือการที่เลือกจะมองข้ามเปลือกนอกของออกัสต์ด้วยหัวใจที่เปิดกว้าง ไม่ใช่ดวงตาตัดสินหัวใจและตัวตนของเด็กชายคนนี้ ทำให้ได้พบกับอ๊อกกี้ผู้เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ขันและแสนรอบรู้

    แม้ว่าการที่จูเลียนล้อเลียนแจ็กที่คบกับออกัสต์จะทำให้แจ็กรู้สึกว่ากำลังโดนตัดสินจึงพยายามแสดงท่าทีว่าไม่ได้ต้องการเป็นเพื่อนกับออกัสต์เพื่อให้สังคมยอมรับ แต่ในท้ายที่สุดเขาก็เลือกจะก้าวข้ามผ่านเปลือกนอกที่แสนจะฉาบฉวยนี้ ตัดสินใจไปขอโทษออกัสต์และขอให้กลับมาเป็นเพื่อนกันอีกครั้งหนึ่ง

    ในภาคของแจ็คไม่ได้มีแค่ประเด็นการก้าวผ่านเปลือกนอกและเปิดหัวใจกว้างเพื่อเป็นเพื่อนกับออกัสต์เท่านั้น แต่ยังมีสังคมโลกนิยมวัตถุซึ่งถูกถ่ายทอดผ่านมุมมองของ ‘แจ็ก’ เด็กชายที่ไม่ได้มีฐานะมั่งคั่งร่ำรวย ผู้เขียนเล่าชีวิตประหยัดมัธยัสของแจ็กผ่านฉากหิมะแรกที่โปรยปรายในช่วงโรงเรียนปิดเรียน  แจ็กจึงออกไปเล่นเลื่อนหิมะและได้เจอเลื่อนไม้หัก ๆ ที่ถูกวางทิ้งไว้ เมื่อเก็บกลับมาซ่อมก็ได้นำเลื่อนไม้ที่เขาแสนภาคภูมิใจไปเล่น ตั้งใจว่าจะเล่าให้เหล่าเพื่อนใหม่ได้ฟัง (ก่อนที่เขาจะไปขอโทษออกัสต์และกลับมาเป็นเพื่อนกัน) แต่เมื่อมาถึงวันเปิดเรียน แจ็กก็ต้องเป็นอันนิ่งงันไปเมื่อได้ยินประโยคดูถูกจากปากของไมลส์และจูเลียนที่ว่า


    “ฉันทิ้งเลื่อนหิมะคันเก่าไว้ที่นั่น” ไมลส์พูด “มันเป็นเศษขยะไร้ค่าที่สุด---
    แต่มีคนเก็บเอาไป!”

    “บางทีไอ้กุ๊ยสักคนอาจจะอยากเล่นเลื่อนบ้างก็ได้นะ!” จูเลียนหัวเราะ

    (ชีวิตมหัศจรรย์ของออกัสต์, 2561: 195)


    จากบทนี้ทำให้แจ็กตระหนักถึงเปลือกนอกนี้ในที่สุด เขาเลิกหนีความจริงที่ว่าตนเองต้องการเป็นเพื่อนกับออกัสต์ เขารู้สึกสนุกและเป็นตัวของตัวเองเมื่อได้อยู่กับออกัสต์ที่ไม่ตัดสินผู้อื่นจากวัตถุหรือเปลือกนอก เขาเลือกจะทำสิ่งที่ถูกต้องด้วยการปกป้อง ‘เพื่อน’ ของเขาจากคำพูดร้าย ๆ ของจูเลียนแม้ว่าการที่เขาต่อยจูเลียนจะไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง แต่แจ็กทำให้ผู้อ่านมีความรู้สึกร่วมตามว่า นี่แหละ สิ่งที่เขาควรทำเพื่อปกป้องออกัสต์ --- วินาทีนั้นแจ็กได้แสดงให้ผู้อ่านเห็นถึงก้าวที่ยิ่งใหญ่ แสดงให้ผู้อ่านเห็นถึงหัวใจของแจ็กถึงแม้จะเล็กเท่ากำปั้นของเด็กชายแต่มันก็กว้างยิ่งกว่าหัวใจของผู้ใหญ่บางคนในเรื่องด้วยซ้ำ อย่างเช่นแม่ของจูเลียนที่ตัดต่อใบหน้าของออกัสต์ออกจากรูปถ่ายรวมสายชั้นและกดดันให้ครูใหญ่ไล่ออกัสต์ออกจากโรงเรียน สิ่งนี้ทำให้เห็นว่าถึงแม้คนเราจะประดับประดาตนด้วยวัตถุเท่าไหร่ ก็ไม่สามารถปิดบังเนื้อในที่เน่าเฟะของตัวเองได้

    ในบทถัดมาเราได้พบกับตัวละครที่มีความสำคัญกับออกัสต์อย่างเวียและมิแรนด้า สองสาวอดีตเพื่อนรักที่สะท้อนภาพลักษณ์และทัศนคติของวัยรุ่นเมื่อได้พบเจอกับสังคมใหม่ โลกใบใหม่ที่ยิ่งใหญ่ขึ้นให้เราได้เห็นว่ายิ่งโตขึ้นเราก็ยิ่งมองโลกอย่างซับซ้อนขึ้น เราจะละทิ้งสายตาของเด็กไปและทำให้มันยากขึ้นอย่างไม่จำเป็น แต่ก็เพราะว่าโลกใบนี้เคี่ยวกรำและยัดเยียดมายาคติเช่นนี้ให้เรา

    เวียนับได้ว่าเธอเป็นตัวละครที่มีหลากหลายสีสันมากตัวหนึ่ง เพราะในขณะที่เวียรักออกัสต์สุดหัวใจอย่างไร้เงื่อนไข เธอก็รู้สึกน้อยใจครอบครัวด้วยเหตุที่มาจากออกัสต์ หากผู้อ่านมีพี่น้องในครอบครัวก็คงจะเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของเวียได้ไม่มากก็น้อย ความรู้สึกที่ว่าพี่น้องได้รับความสนใจความดูแลมากกว่าทำให้เราไม่สามารถห้ามตัวเองไม่ให้น้อยใจได้ ความรู้สึกนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาอย่างไร้เงื่อนไข มันค่อย ๆ สะสมทีละเล็กทีละน้อย เวียเรียนรู้ที่จะซ่อนความรู้สึกตัวเองเพราะไม่ต้องการที่จะเพิ่มภาระให้พ่อแม่ เธอต่อสู้กับความรู้สึกอยากเป็นที่รัก ต่อสู้กับความจริงที่เธอตระหนักว่าสายตาของคนนอกที่มองออกัสเป็นอย่างไร

    นานนับวันความรู้สึกเหล่านั้นกลายเป็นความรู้สึกที่โดนกักขังไว้ในเขื่อนที่มีรอยร้าวพร้อมปริแตก และเมื่อเธอขึ้นมัธยมปลาย ความรู้สึกเหล่านั้นก็ปริแตก เธอไม่ต้องการให้เพื่อนใหม่รู้จักกับตัวตนของน้องชาย ไม่ต้องการติดป้ายว่าเธอคือ ‘โอลิเวียผู้มีน้องชายพิการ’ เหมือนชีวิตที่ผ่านมา แม้เธอจะพยายามปฏิเสธความรู้สึกนี้ มันก็ปริแตกในที่สุดเมื่อเธอไม่ต้องการให้ออกัสต์ไปดูละครเวทีที่เธอมีส่วนรวม เธอไม่ต้องการให้ในโรงเรียนมัธยมปลายติดป้ายเธอเช่นนี้ แต่ในท้ายที่สุดแล้วการพูดปรับความเข้าใจกันก็ทำให้เวียสามารถก้าวข้ามความรู้สึกเหล่านี้ได้จากการตัดสินใจพูดความรู้สึกกับแม่และออกัสต์ตามตรง เธอตระหนักว่าตนเองรักและภูมิใจที่ได้เป็นพี่สาวของเด็กชายคนนี้

    มิแรนด้าคือตัวละครที่สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงเปลือกนอกไปตามมายาคติของโลก มิแรนด้านำเรื่องของเวียไปโกหกคนอื่นว่าเป็นเรื่องของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการมีน้องชายที่พิเศษอย่างออกัสต์ หรือครอบครัวอบอุ่นเช่นครอบครัวพูลล์แมน เธอสับสนและโดดเดี่ยวจากการแยกทางของพ่อแม่ เมื่อถึงค่ายฤดูร้อนเธอก็เริ่มกุเรื่องทั้งหมด ตัดสินใจสร้างเปลือกนอกของตัวเองขึ้นมาใหม่ ไม่ว่าจะภาพลักษณ์หรือแม้แต่ความเป็นตัวเอง ทำทุกทางเพื่อเติมเต็มความรู้สึกขาดภายในจิตใจ

    เธอหลีกเลี่ยงและเว้นระยะห่างจากเวียด้วยความรู้สึกผิด แต่กระนั้นเนื้อในและความเป็นเธอไม่ได้เปลี่ยนไปเลย เธอยังคงเป็นคนที่ห่วงใยความรู้สึกของเวียมากที่สุด ต้องการให้ความสัมพันธ์กลับมาเช่นเดิม เธอจึงตามมาเข้าชมรมละครเวทีทันทีที่เห็นชื่อของเวียบนกระดาษสมัครโดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าความรู้สึกในใจกำลังโหยหาความสัมพันธ์ของเธอกับเวีย และเมื่อถึงวันแสดงเปิดละครเวที มิแรนด้าตัดสินใจในนาทีสุดท้ายที่ได้เห็นครอบครัวพูลล์แมนมารับชมละครเวทีที่เวียมีส่วนรวม เธอตัดสินใจจะไม่ขึ้นแสดงทำให้ผู้ที่เป็นตัวแสดงสำรองอย่างเวียได้ขึ้นแสดงเปิดแทน

    แม้ว่าเปลือกนอกจะเปลี่ยนไป แต่จากภาคของมิแรนด้าผู้อ่านก็ได้ประจักษ์ชัดว่าเนื้อในของเธอไม่ได้เปลี่ยนไปเลย ผู้อ่านมองเห็นความกล้าหาญและหัวใจอันเปี่ยมด้วยน้ำมิตรของมิแรนด้าอย่างชัดเจน และเวียเองก็เห็นมันได้ชัดในตัวเพื่อนรักของเธอเช่นกัน


    ความกล้าหาญ ความเมตตา มิตรภาพ อุปนิสัย
    เหล่านี้คือคุณสมบัติที่นิยามเราว่าเป็นมนุษย์
    และบางครั้งก็เป็นแรงผลักดันเราไปสู่ความยิ่งใหญ่

    (ชีวิตมหัศจรรย์ของออกัสต์, 2561: 391)


    ดังข้อความที่กล่าวมาในข้างต้น ตัวละครทุกตัวในหนังสือได้ทำหน้าที่หมุนโลกในหนังสือให้มีชีวิตจริง ความกล้าหาญ ความเมตตา มิตรภาพ และการกระทำของพวกเขาล้วนส่งผลต่อตัวละครอื่น ๆ เชื่อมโยงกันไปเหมือนเส้นใยแมงมุม ทุกตัวละครต่างมีเหตุผลในการกระทำของตัวเองและทำให้เราเห็นข้อเท็จจริงที่ว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถว่ายทวนกระแสน้ำและเป็นผู้ก้าวข้ามผ่านเปลือกนอกได้เช่นเดียวกับที่ซัมเมอร์ผู้เข้มแข็งตัดสินใจนั่งลงตรงข้ามออกัสต์ในโรงอาหาร หรือแจ็กที่ยอมเป็นศัตรูกับเด็กทั้งสายชั้นเพื่อมิตรภาพของออกัส ไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นคนเริ่มก้าวเล็ก ๆ แต่ยิ่งใหญ่นี้ แต่เมื่อได้เริ่มแล้วมันจะเป็นระลอกคลื่นที่พัดไปไกลกว่าที่ใคร ๆ จะคิดถึง

    จึงสามารถบอกได้อย่างเต็มปากว่า ชีวิตมหัศจรรย์ของออกัสต์ คือหนังสือที่สามารถอธิบายสำนวน ‘อย่าตัดสินหนังสือจากปก’ ได้ดีที่สุดอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง ปกที่หมายถึงรูปลักษณ์ ปกที่หมายถึงความคิดทัศนคติ และปกที่หมายถึงจิตใจ

    เพราะในท้ายที่สุดไม่ได้มีเพียงแค่ออกัสต์ที่สามารถก้าวผ่านเปลือกนอกของตัวเองมาสู่โลกภายนอกได้เท่านั้น ไม่ใช่แค่เขาที่ยอมเปิดใจทำความรู้จักเพื่อนใหม่ ๆ และเข้าหาเพื่อนก่อน แต่ตัวละครทุกตัวที่หมุนเวียนมาเล่าเรื่องก็ได้ก้าวผ่านการเติบโตโดยเรียนรู้ที่จะไม่นำ ‘เปลือกนอก’ มากำหนดชีวิตตน รวมถึงเพื่อน ๆ ที่โรงเรียนทุกคนในหนังสือยังได้ก้าวผ่านการมองเพียงเปลือกนอกมาเรียนรู้ที่จะมองผู้อื่นด้วยหัวใจ มองผู้อื่นจากตัวตนและการกระทำของเขา ไม่ใช่รูปลักษณ์ของเขา ซึ่งมันจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยถ้าไม่ใช่เพราะออกัสต์มีหัวใจที่ยิ่งใหญ่และไม่ว่าใครก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าออกัสต์เป็นคนที่มีตัวตนที่น่ามหัศจรรย์ใจเหลือเกิน ดังที่ครูใหญ่กล่าวในตอนท้ายว่า


    ความยิ่งใหญ่มิได้อยู่ที่ความแข็งแกร่ง

    แต่อยู่ที่การใช้ความแข็งแกร่งนั้นให้ถูกต้อง

    เขาคือผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด

    ผู้ใช้ความแข็งแกร่งของตนเอาชนะหัวใจได้มากดวงที่สุด

    ด้วยความดีของตนเอง

    (ชีวิตมหัศจรรย์ของออกัสต์, 2561: 392)



    อ้างอิง


    อาร์. เจ. ปาลาซิโอ. (2561). ชีวิตมหัศจรรย์ของออกัสต์. แปลจาก Wonder โดย ปณต ไกรโรจนานันท์.
      กรุงเทพฯ: แพรวเยาวชน.


เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in