เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
My First Storypattarasuda.tanr
โรคโควิด–19 : อาการ ความเสี่ยง และความคุ้มครองของสิทธิประกันสุขภาพ
  • ข้อมูลเบื้องต้น

    องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศตั้งชื่ออย่างเป็นทางการสำหรับโรคที่เกิดจากไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 โดยใช้ชื่อว่า COVID-19 ซึ่งย่อมาจาก “coronavirus disease starting in 2019” แปลว่า โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าที่เริ่มต้นในปี 2019 โดยโรคนี้เกิดจากการติดเชื้อก่อโรคไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์หนึ่ง ซึ่งมีชื่อทางการในปัจจุบันคือ SARS-CoV-2 โดยเริ่มแพร่ระบาดจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน จำง่าย ๆ คือ COVID-19 คือชื่อโรค ส่วน SARS-CoV-2 คือชื่อไวรัสที่ทำให้เกิดโรค

    อาการของโรค โควิด-19

    อาการของโควิดนั้นอาจจะรุนแรงมากน้อย แตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่มช่วงอายุ โดยกลุ่มผู้สูงอายุจะมีความรุนแรงของอาการและอัตราการเสียชีวิตมากที่สุด โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศไว้ว่า อาการของ COVID-19 นั้นจะคล้ายกับผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ โดยอาการที่พบได้บ่อยที่สุดคือ มีไข้ (88%), ไอแห้งๆ (68%), ไม่มีเรี่ยวแรง หอบเหนื่อย (38%), ไอมีเสมหะ (33%), หายใจลำบาก (18%), เจ็บคอ (14%), ปวดหัว (14%)

    การแบ่งกลุ่มเสี่ยง

    ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ พนักงานออฟฟิศ นักเรียน นักศึกษา คนทำงานจิตอาสา คนทำงานสาธารณะต่างๆ เช่น พนักงานยกของ คนขับรถเมล์ คนขับแท็กซี่ คนทำงานสนามบิน คนเหล่านี้ต่างก็เป็นผู้ที่มีความเสี่ยงทั้งสิ้น แต่จะมีระดับความเสี่ยงมากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่าง โดยภาครัฐมีการแบ่งเกณฑ์ตามกลุ่มเสี่ยงระดับต่างๆ ตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ไว้ดังนี้

    กลุ่มเสี่ยงระดับที่ 1 คือ กลุ่มที่มีความจำเป็นต้อง แยกกัก กักกัน คุมไว้สังเกตอาการ ได้แก่

    1. ผู้เข้าข่ายเกณฑ์สอบสวนโรค ซึ่งกลุ่มนี้มีทั้งอาการและประวัติเสี่ยง ต้องแยกกักอย่างเข้มงวด
      • อาการป่วย คือ มีไข้ อุณหภูมิ 37.5 องศาเซลเซียส รวมทั้งอาการทางเดินหายใจ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อย หรือ หายใจลำบาก
      • ประวัติเสี่ยง คือ ต้องเคยเดินทางไปในประเทศที่มีการระบาดของโรคโควิด–19 ได้แก่ประเทศจีน รวมถึงฮ่องกงและมาเก๊า
    2. ผู้สัมผัสที่มีความเสี่ยงต่อการรับเชื้อสูง (High Risk Contact) กลุ่มนี้ไม่มีอาการ แต่มีความเสี่ยงสูงต่อการรับเชื้อสูงจากผู้ป่วย หรือผู้สงสัยว่าป่วย ได้แก่ ผู้สัมผัสในครัวเรือน เพื่อนร่วมชั้นเรียน เพื่อนร่วมทำงาน ร่วมยานพาหนะ ที่มีสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยตามนิยามของกรมควบคุมโรค
    3. บุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่ใส่ PPE ตามมาตรฐานในขณะที่ให้การดูแลผู้ป่วยบุคคลดังกล่าว

    กลุ่มเสี่ยงระดับที่ 2 คือ กลุ่มไม่สัมผัสกับผู้ป่วยแต่มีความเสี่ยง คือ ผู้ที่เดินทางกลับจากพื้นที่ระบาดของโรค แต่ไม่มีอาการเจ็บป่วย

    กลุ่มเสี่ยงระดับที่ 3 คือ ผู้ที่อยู่ในชุมชนเดียวกันกับผู้ป่วย และประชาชนทั่วไป

    ความคุ้มครองของระบบประกันสุขภาพไทย และประกันสังคม

    หลักประกันสุขภาพใดๆ ไม่ว่าจะเป็นประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง), ประกันสังคม, หรือสิทธิ์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ ตลอดจนใช้สิทธิ์เอาประกันสุขภาพของเอกชนต่างๆ ที่อ้างอิงไว้ว่าครอบคลุมการตรวจและรักษาโรคโควิด–19 นั้น คุ้มครองการตรวจโควิดฟรี ถ้าหากคุณมีอาการป่วย และมีประวัติเสี่ยง และถูกจัดได้ว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงระดับที่ 1 ตามพ.ร.บ โรคติดต่อ พ.ศ. 2558

    อ้างอิงจากสายด่วนสปสช 1330 และสายด่วนประกันสังคม 1506 นั้น เจ้าหน้าที่แนะนำให้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลที่มีสิทธิอยู่การเลือกโรงพยาบาลด้วยตนเอง จากนั้นสถานพยาบาลที่เรามีสิทธิอยู่ จะทำการส่งตัวต่อไปยังโรงพยาบาลอื่นเองหากจำเป็น

    และแม้ว่าคุณจะไม่ได้รับการจัดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง เมื่อมีผลตรวจเลือกเป็นบวก แสดงว่าติดเชื้อโรคโควิด–19 คุณก็สามารถรักษาตัวได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ด้วย เป็นสิทธิของประชาชนชาวไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 47 วรรคสาม ได้ระบุว่า "บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย"

    สรุปข้อมูล

    ทาง EasyCompare ได้รวบรวมข้อมูลที่จะตอบทุกข้อสงสัย ทั้งเรื่องอาการ ความเสี่ยง และความคุ้มครองของระบบประกันสุขภาพไม่ว่าจะเป็นบัตรทองหรือประกันสังคมมาให้แล้ว ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมในการใช้สิทธิการรักษาได้ด้านล่างนี้เลย

    ควรซื้อประกันเพิ่มหรือไม่?

    นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า แม้ว่าการรับเข้าตรวจตลอดจนค่ารักษาพยาบาลจากป่วยติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้นมีการประเมินราคาไว้แพง แต่หากว่าไปตรวจคัดกรองแล้วมีผลตรวจเลือดเป็นบวก ก็ไม่ต้องจ่ายเงินใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งโรงพยาบาลของรัฐและโรงพยาบาลเอกชน เมื่อทราบดังนี้แล้วทุกคนคงวางใจในระดับหนึ่งแล้วว่าหากเจ็บป่วย ประเทศไทยก็มีหลักประกันสุขภาพใดคุ้มครองชีวิตคุณอยู่ แต่หากใครยังรู้สึกกังวลใจว่าตัวเองจะติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ ก็สามารถทำแบบประเมินเพื่อวัดระดับความเสี่ยงด้วยตัวเองได้ที่นี่เลย covid19.thaitechstartup.org เพียงไม่ถึง 5 นาทีคุณก็สามารถทราบผลระดับความเสี่ยงแล้ว ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ไม่มีความเสี่ยง มีความเสี่ยง และมีความเสี่ยงสูง

    ที่มา: EasyCompare

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in