เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เรื่องเล่าจากคนติดเล่าDuriya
รีวิวหนังนอกกระแส..ดาร์ค เสียด เศร้า
  •             Confessions หรือในชื่อภาษาไทยว่า “คำสารภาพ”เป็นหนังสือที่แปลมาจากเรื่อง 告白 ของ Minato Kanae นักเขียนนิยายสืบสวนสอบสวนชื่อดังของญี่ปุ่น ที่มีผลงานโด่งดังหลายเรื่อง เธอได้รับรางวัลจากเวทีนักเขียนญี่ปุ่นมากมาย หนังสือที่เรื่องนี้เป็นเรื่องแจ้งเกิดและทำให้เธอโด่งดังในสายนี้ในเวลาต่อมา และในเรื่องนี้เองที่ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ ที่สร้างรายได้อย่างมหาศาลในญี่ปุ่นและยังถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์มาแล้ว


                    confession เวอร์ชันภาพยนตร์
                         คำสารภาพ เวอร์ชันหนังสือ
       ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์แพรว(อัมรินทร์)ครั้งที่1และ2
                    
                 ในนวนิยายเรื่องนี้ไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นถึงการฆาตกรรมที่โหดร้ายรุนแรงต่อเหยื่อแต่เพียงเท่านั้น เมื่อพิจารณาถึงเหตุจูงใจในการฆ่า สืบสาวเรื่องราวของฆาตกรให้ลึกลงไป จะเห็นได้ว่ามีนัยยะของจิตวิทยาอาชญากรรมแฝงอยู่ในหลายประเด็น จึงไม่อาจปฎิเสธได้ว่านวนิยายเรื่องนี้มีความน่าสนใจไม่น้อย จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่เลือกที่จะหยิบยกนวนิยายเรื่องนี้มาประกอบกับการอ้างอิงถึง 'ทฤษฎีจิตวิเคราะห์' ที่มีผลต่ออาชญากร


                 ในนวนิยายสืบสวนสอบสวนเรื่องนี้เล่าถึงเหตุฆาตกรรมที่เกิดขึ้นกับ มานามิลูกสาววัยสี่ขวบของครูโมะริกุจิ ยูโกะ ที่เป็นครูโรงเรียนมัธยมต้นแห่งหนึ่ง มานามิถูกพบเป็นศพอยู่ที่สระว่ายน้ำในโรงเรียนที่โมะริกุจิทำงานอยู่ จากการตรวจสอบพบว่ามานามิถูกไฟซ็อตก่อนแล้วจึงเสียชีวิตด้วยการจมน้ำ จากผลการตรวจสอบเช่นนี้ทำให้โมะริกุจิแคลงใจในการตายของมานามิ จากนั้นไม่นานพี่เลี้ยงที่ทำหน้าที่ดูแลมานามิเมื่อตอนที่โมะริกุจิทำงานได้พบกระเป๋าสตางค์ใบหนึ่งเป็นลายการ์ตูนที่มานามิชอบ จึงนำกระเป๋าใบนั้นมาให้โมะริกุจิ แต่เธอก็ยืนยันปฏิเสธว่ากระเป๋าใบนั้นเธอไม่เคยซื้อให้ลูก แต่จนแล้วจนรอดโมะริกุจิกลับนำกระเป๋าใบนั้นกลับบ้านมาด้วย 

                 เมื่อเธอเปิดกระเป๋าสตางค์ดูจึงแปลกใจเมื่อพบว่าเป็นกระเป๋าสตางค์ระบบป้องกันขโมยโดยมีกระแสไฟฟ้าวิ่งผ่าน กระเป๋าใบนี้เป็นผลงานการประดิษฐ์ของ ชูยะ หนึ่งในนักเรียนที่เธอเป็นครูประจำชั้น เมื่อเธอสืบเรื่องราวของชูยะทำให้พบว่าชูยะเป็นเด็กที่ชอบจับสัตว์มาทดลองแล้วโพสเรื่องราวต่างๆลงในเว็บไซต์ส่วนตัว เธอจึงตัดสินใจถามชูยะเกี่ยวกับกระเป๋า โดยชูยะสารภาพว่าร่วมมือกับเพื่อนอีกหนึ่งคนวางแผนแกล้งมานามิ แต่เมื่อมานามิเปิดกระเป๋าสตางค์ที่เต็มไปด้วยวงจรไฟฟ้า ไฟจึงช็อตเธอและล้มลง ด้วยความกลัวความผิด นะโอะ เพื่อนของชูยะจึงตัดสินใจโยนร่างมานามิลงในเพื่อน้ำเพื่ออำพรางคดี



                  เรื่องดำเนินต่อไปเมื่อโมะริกุจิต้องการล้างแค้นให้กับมานามิ เธอจึงบอกกับนักเรียนในชั้นของเธอ ในคาบสุดท้ายก่อนวันปิดภาคเรียนเกี่ยวกับฆาตกรผู้ฆ่าลูกสาวของเธอ พร้อมทั้งบอกว่าเธอได้ฉีดเลือดที่นำมาจากสามีที่เป็นโรคเอดส์ลงไปในกล่องนมของนักเรียนทั้งสอง ดังนั้นการพิพากษาของโมะริกุจิจึงเริ่มต้นขึ้น



                  จากส่วนนี้เรื่องราวจึงแบ่งออกเป็นสองส่วนซึ่งก็คือเรื่องราวของนะโอะและชูยะ เมื่อสืบถึงภูมิหลังของครอบครัวทั้งสองจะเห็นได้ว่าเป็นครอบครัวที่เต็มไปด้วยความกดดันและครอบครัวแตกแยก ในส่วนของนะโอะ หลังจากเหตุการณ์ในวันก่อนปิดภาคเรียนทำให้เขาไม่กล้าที่จะออกไปเผชิญกับโลกภายนอกอีกเลย เขาหมกตัวอยู่ในห้องไม่อาบน้ำ ไม่แม้แต่จะทำความสะอาดร่างกาย 

                แต่ที่น่าแปลกคือเมื่อเขากินหรือใช้ของใช้ร่วมกับสมาชิกคนอื่นในบ้าน เขาจะต้องล้างอุปกรณ์นั้นอย่างสะอาด เวลาผ่านไปยิ่งทำให้นะโอะมีอาการที่แย่ลงกว่าเดิม คือไม่ไปโรงเรียน เก็บตัวอยู่แต่ในห้อง ไม่อาบน้ำ และนิสัยทำความสะอาดเครื่องใช้ก็ยิ่งหนักกว่าเดิม จนแม่ของนะโอะทนไม่ไหวจึงวางยานอนหลับและเข้าไปตัดผมนะโอะ เมื่อฟื้นนะโอะเสียสติ เขาวิ่งเข้าไปในซุปเปอร์มาเก็ตของหมู่บ้านแล้วใช้มีดกรีดนิ้วมือจนเลือดออกนำเลือดนั้นป้ายลงในสินค้าทุกอย่างของซุปเปอร์มาร์เก็ต จากนั้นแม่ของเขาก็มาพาตัวกลับไป


     

                  จากจุดนี้นะโอะจึงได้สารภาพกับแม่ว่าเขาถูกโมะริกุจิผสมเลือดที่มีเชื้อเอดส์ลงในนมเพื่อเป็นการลงโทษเขาที่ฆ่ามานามิจัง และเขาก็ฆ่ามานามิจังจริงๆไม่ใช่แค่เป็นการอำพรางศพเนื่องจากก่อนที่เขาจะโยนมานามิจังลงในสระน้ำ มะนามิก็ได้ฟื้นคืนสติมาแล้ว เช่นนั้นแม่จึงเสียใจที่ลูกที่เธอรักและสร้างภาพลูชายผู้อ่อนโยนในอุดมคติพังลง เธอจึงพยายามฆ่านะโอะและฆ่าตัวตายตาม แต่นะโอะกลับคุ้มคลั่งและเป็นฝ่ายฆ่าแม่ตัวเอง ส่วนตัวนะโอก็ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล



                 ทางด้านชูยะเขายังคงมาโรงเรียนตามปกติ แต่จากเรื่องราวก่อนปิดภาคเรียนทำให้เขาถูกรังแกจากเพื่อนอยู่ตลอดเวลาจนวันหนึ่งเขาใช้ดินสอกรีดนิ้วมือให้เลือดไหลออกมาและนำไปป้ายที่หน้าของเพื่อนที่เป็นคนนำกลั่นแกล้ง หลังจากนั้นก็ไม่มีการกลั่นแกล้งอีกเลย แต่กลับพบว่าชูยะไม่หยุดที่จะประดิษฐ์เครื่องมือไฟฟ้าอีก 

                 เรื่องดำเนินต่อไปโดยการเล่าถึงภูมิหลังของชูยะโดยการพยายามเล่าถึงปมที่ชูยะถูกแม่ทิ้งไปในตอนเด็กเพื่อที่จะไปเป็นนักฟิสิกส์ตามความฝัน การที่ชูยะถูกแม่ทิ้งทำให้เกิดปมสำคัญที่เป็นปัญหาใหญ่ของชีวิต โดยการประดิษฐ์อุปกรณ์ที่เกี่ยวกับไฟฟ้า หรือการนำสัตว์มาทดลองก็เพื่อที่จะให้แม่กลับมาสนใจเขาอีกครั้ง โดยเขาพยายามเอาชนะแม่ด้วยการพิสูจน์ว่าความรู้ที่แม่สอนเขาในตอนเด็กสามารถก่อให้เกิดผลในสังคมเป็นวงกว้าง ความพยายามที่จะใช้กระเป๋าสตางค์แกล้งมานามิก็เกิดจากความต้องการที่จะได้ลงข่าว และผู้คนพูดถึงการกระทำอันชาญฉลาดของเขา



             เรื่องราวทั้งหมดจบลงที่ชูยะตั้งใจวางระเบิดในโรงเรียนเพื่อแสดงให้เห็นถึงความฉลาดของเขา เพื่อให้แม่กลับมาสนใจ และรับเขากลับไปเป็นลูกอีกครั้งหนึ่ง แต่โมะริกุจิ ผู้ที่อ่านเว็บไซต์ของเขามาโดยตลอดกลับพบกับแผนการนี้จึงสลับระเบิดจากหอประชุมโรงเรียน มาเป็นห้องทำงานของแม่ชูยะ และชูยะก็เป็นคนกดวางระเบิดนั้นด้วยตัวเอง เรื่องจบลงที่ชูยะรู้ความจริงว่าเขา 'ไม่สามารถได้แม่กลับคืนมา' อย่างตลอดกาล


             จากเรื่องแสดงให้เห็นถึงประเด็นที่เป็นแรงจูงใจในการก่อคดีโดยจะแบ่งออกเป็นสองกรณีคือ นะโอะที่ก่อคดีเนื่องจากการโดนแม่ปฎิเสธตัวตนที่แท้จริงและยัดเยียดภาพในอุดมคติให้ เมื่อตัวตนที่แท้จริงกับตัวตนในอุดมคติไม่สามารถผสานกันได้จึงเกิดปม ที่นำไปสู่อาชญากรรม และกรณีที่สองคือชูยะที่ถูกแม่ทิ้งในวัยเด็กก่อให้เกิดบาดแผลทางจิตใจ (Trauma) การพยายามเอาชนะแม่โดยการประดิษฐ์สิ่งของที่แสดงถึงความฉลาดของชูยะยิ่งเป็นการแสดงว่าเขาต้องการได้รับการยอมรับจากแม่ และต้องการแม่กลับคืนมา การที่เขาไม่สามารถได้แม่กลับคืนมาในตอนจบก็ยิ่งเป็นการซ้ำ Trauma เดิมที่เคยเกิดในวัยเด็ก ดังนั้นในบทความเรื่องนี้จึงเป็นการวิเคราะห์ตัวละครนะโอะที่ใช้ทฤษฎีบุคลิกภาพ ของ คาร์ล โรเจอร์ และในตัวละครชูยะ ใช้จิตวิเคราะห์ของ ซิกมุน ฟรอยด์ ในการพิจารณา Trauma วัยเด็ก



    ✂นะโอะ ตัวตนที่ไม่สามารถผสานได้

              จากเรื่องข้างต้น แสดงให้เห็นถึงปมปัญหาส่วนตัวที่นำไปสู่การเป็นฆาตกรของนะโอะ กล่าวคือจากการถูกเลี้ยงดูโดยการสร้างภาพในอุดมคติทำให้ตัวของนะโอะเชื่อว่าตัวตนที่แท้จริงของเขาเป็นเช่นนั้น แต่เมื่อนะโอะได้เข้าโรงเรียนสังคมของเขาก็เปิดกว้างขึ้น จากเดิมสังคมของเขามีเพียงคนในครอบครัว แต่เมื่อมาอยู่ในโรงเรียนทำให้พบเจอผู้คนหลากหลาย ความสามารถด้านต่างๆที่เขาเคยคิดว่าเขาเก่งเป็นที่หนึ่งก็พังทลายลง เขาเรียนรู้ว่าเขาไม่ได้มีความเป็นเลิศอย่างที่เคยคิดไว้  และนี่เองเป็นสิ่งที่ทำให้เขารู้ว่าแท้จริงแล้วตัวตนของเขาแตกต่างกับตัวตนในอุดมคติที่แม่สร้าง

       

             จากประเด็นนี้สามารถอธิบายโดยการใช้ทฤษฎีบุคลิกภาพที่เรียกว่าทฤษฎีแห่งตัวตน (Self theoty)ของ คาร์ล โรเจอร์ (Carl Ransom Rogers,1902-1985) ที่อธิบายเรื่องตัวตน (Self) โดยการอธิบายว่ามนุษย์มีตัวตนอยู่สามระดับคือ ตนที่มองเห็นจริง (Self concept) ตนตามที่เป็นจริง (Real self) และตนตามอุดมคติ (Ideal self) ตนที่มองเห็นคือภาพของตนที่มองเห็นวาตนเป็นคนอย่างไรเช่น คนสวย คนเก่ง คนร่ำรวย คนช่างพูด คนขี้อาย ฯลฯ โดยทั่วไปคนรับรู้มองเห็นตนเองหลายแง่มุม อาจไม่ตรงกับข้อเท็จจริงหรือภาพที่คนอื่นเห็น เช่นคนที่ชอบเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น อาจไม่เคยนึกเลยว่าตนเองเป็นบุคคลประเภทนั้น

        ตนตามที่เป็นจริง (Real self) คือลักษณะตัวตนที่เป็นไปตามข้อเท็จจริง บ่อยครั้งที่ตนมองไม่เห็นข้อเท็จจริงของตน เพราะเป็นกรณีที่ทำให้รู้สึกเสียใจ เศร้าใจ ไม่เทียมหน้าเทียมตากับบุคคลอื่น รู้สึกผิดบาป เป็นต้น

        ตนตามอุดมคติ (Ideal self) คือ ตัวตนที่อยากมีอยากเป็น แต่ยังไม่เป็นในสภาวะปัจจุบัน เช่นนาย ก.เป็นคนขับรถรับจ้าง แต่นึกฝันอยากจะเป็นเศรษฐีมีคนขับรถให้ขี่ นาง ง. ถูกสามีทอดทิ้งสิ้นหวังอยากจะมีครอบครัวที่อบอุ่น เป็นต้น

        ถ้าตนที่ตนเองมองเห็นกับตนตามที่เป็นจริง มีความแตกต่างกันมากหรือมีข้อขัดแย้งกันมาก บุคคลคนนั้นก็มีแนวโน้มที่จะเป็นบุคคลก่อปัญหาให้แก่ตัวเองและผู้อื่น ในรายที่มีความแตกต่างกันอย่างรุนแรง เขาอาจเป็นโรคประสาท หรือ/และโรคจิตได้

        โรเจอร์อธิบายว่า ประสบการณ์ทำจิตบำบัดทำให้เขาสามารถยืนยันได้อย่างแน่นอนว่าคนที่มีปัญหาทางจิตใจและบุคลิกภาพ คือคนที่มีข้อขัดแย้งระหว่างตนที่เป็นจริงกับตนที่ตนมองเห็นอย่างรุนแรง ความสลับซับซ้อนของความขัดแย้งนี้ ทำให้กลไกทางจิตมีความลี้ลับ ซับซ้อน มีปมและมีเงื่อนแง่ ซึ้งทำให้เขามีปัญหาทางอารมณ์ จิตใจ และบุคลิกภาพ


            จากทฤษฎีสามารถกล่าวได้ว่าภาพนะโอะที่ถูกเลี้ยงมาในครอบครัวคือภาพนะโอะที่ไม่ใช่ความจริง แต่เป็นตัวตนในอุดมคติ (Ideal self) ซึ่งต่างกับตัวตนที่แท้จริงของนะโอะ (Real self) ภาพนะโอะที่แม่สร้างคือนะโอะที่อ่อนโยน เป็นเลิศทั้งกีฬาและเรื่องเรียน

    “ตั้งแต่รู้ความ ฉันซึ่งได้รับการเลี้ยงดูด้วยคำชมสารพัดมาตั้งแต่ยังเล็ก เคยคิดมาตลอดว่าตัวเองเป็นคนหัวดี เล่นกีฬาเก่ง จนกระทั่งเข้าโรงเรียนประถมศึกษา ซึ่งแม้จะเป็นแค่โรงเรียนนอกเมือง แต่ก็ทำให้ฉันได้มีโอกาสเจอเด็กคนอื่นมากขึ้น พออยู่สักประมาณประถมศึกษาปีที่3 ฉันจึงเริ่มรู้ว่าระดับความสามารถของตัวเองนั้น ต่อให้พยายามแค่ไหนก็คงตันแค่ระดับกลางๆ ค่อนไปทางดี ส่วนความเชื่อที่ว่าตัวเองหัวดี เล่นกีฬาเก่งเหนือคนอื่นนั้น แท้จริงแล้วเป็นแค่สิ่งที่แม่คาดหวังให้ฉันเป็นต่างหาก

    จะเห็นได้ว่าตัวตนที่นะโอะคิดว่าเขาเป็น เป็นตัวตนที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยแม่ของเขา ซึ่งจากจุดนี้ ในหนังสือได้อธิบายให้เห็นถึงปม ที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยแม่ ในขณะเดียวกันตัวละครแม่นี้เองก็ถูกครอบครัวสร้างตัวตนในอุดมคติขึ้นมาอีกทีหนึ่ง นับว่าการสร้างนะโอะในอุดมคติคือการพยายามส่งผ่านตัวตนที่ตนเองได้รับไปสู่ตัวนะโอะด้วย

    “ฉันยึดเอาครอบครัวที่ตัวเองเกิดและเติบโตขึ้นมาเป็นแบบอย่างของการสร้างครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ พ่อยกเรื่องในบ้านทั้งหมดให้อยู่ในความรับผิดชอบของแม่ แม่อบรมสั่งสอนฉันที่เป็นลูกสาวอย่างเข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นความรู้รอบตัว มารยาท ขนบธรรมเนียมประเพณี เพื่อที่ฉันจะได้ไม่อายใครเวลาแต่งงานออกเรือนไปในอนาคต ส่วนกับน้องชายแม่ปฏิบัติในทางตรงข้าม แม่จะไม่ลืมกล่าวชมน้องชายฉันเสมอ ไม่ว่าจะเรื่องเล็กน้อยแค่ไหน เพื่อที่เขาจะได้เป็นคนเชื่อมั่นในตนเอง สามารถตัดสินใจทำอะไรด้วยความคิดของตัวเอง..”

    “ฉันยึดมั่นในคำสอนของแม่มาตลอด เข้มงวดกับตัวเองและปฏิบัติกับน้องชายเหมือนที่แม่เคยทำเสมอ อาจเป็นเพราะคำสอนของแม่นั่นเองที่ทำให้น้องชายฉันประสบความสำเร็จในชีวิต”

    “เพราะฉะนั้น เพียงแค่ฉันทำตามคำแม่สอนก็ไม่น่าจะมีอะไรผิดพลาด

    ฉะนั้นการที่แม่ต้องการสร้างนะโอะในอุดมคติ ก็คือการพยายามย้ำปมของตัวเองที่ได้รับความรักอย่างไม่เท่าเทียมกับน้องชาย การที่แม่ของเธอเลือกปฎิบัติกับลูกชายอย่างดีและเลี้ยงลูกสาวอีกแบบหนึ่ง คือการสร้างภาพของครอบครัวในอุดมคติ แต่ก็เป็นการสร้างปมแรกให้กับแม่ของนะโอะด้วยเช่นกัน หลังจากเธอคลอดนะโอะแทนที่เธอจะเลี้ยงลูกให้ต่างจากที่แม่เลี้ยง เธอกลับเลือกที่จะปฏิบัติตามท่ได้รับการอบรมสั่งสอนจากแม่ เนื่องจากเธอได้ยึดติดกับภาพในอุดมคติ และไม่สามารถหลุดออกจากตัวตนที่อยู่ในอุดมคตินั้นแล้ว การเลี้ยงดูนะโอะจึงไม่ใช่ให้นะโอะเติบโตด้วยตัวตนของเขาแต่เป็นการสร้างนะโอะในอุดมคติ ให้ใกล้เคียงกับครอบครัวที่เธอได้รับการอบรมสั่งสอนมา ฉะนั้นนะโอะจึงคิดว่าตัวตนที่แม่พร่ำบอกว่าเขาเป็น (Ideal self) คือตัวตนจริงที่เขาเป็น (Real self)


      ในความเป็นจริงแล้วนะโอะไม่ได้มีตัวตนที่ใกล้เคียงกับตัวตนในอุดมคติของแม่ นะโอะไม่ได้มีด้านที่เก่งและจิตใจก็ไม่ได้อ่อนโยนอย่างที่ตัวตนในอุดมคติสร้าง ฉะนั้นเมื่อนะโอะถูกชูยะปฎิเสธในฉากที่มานามิถูกไฟช็อตและล้มลง ทำให้เขารับรู้ว่าตัวตนของเขาไม่ใช่ตัวตนตามที่เขาคิดไว้

    “อ้อไม่ต้องห่วงนะว่าแกจะถูกตั้งข้อหาสมรู้ร่วมคิด ฉันไม่เคยเห็นแกเป็นพวกเดียวกันมาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว คนอะไร มันสมองไม่มี แต่ดันหัวสูง ฉันเกลียดคนอย่างแกที่สุด จากสายตานักประดิษฐ์อย่างฉัน แกมันก็แค่ผลงานที่ล้มเหลวของสิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่ามนุษย์เท่านั้นแหละ

    นะโอะตกอยู่ในสภาพคุ้มคลั่ง ได้ลงมือก่อคดีขึ้น เหยื่อในเหตุการณ์นี้คือมานามิ ลูกสาวของครูโมะริกุจิ การทำฆ่ามานามิจึงไม่เป็นเพียงการฆ่าที่ตัวตนของมานามิเท่านั้น แต่มานามิในกรณีนี้คือส่วนหนึ่งของครูโมะริกุจิ คนเดียวกับที่ปฎิเสธตัวตนของนะโอะ โดยการทำให้นะโอะรู้ถึงตัวตนที่แท้จริง (Real self) และการรับรู้ตัวตนที่ไม่ผสานของตัวเองนั้น ทำให้กลับไปย้ำถึงปมของนะโอะที่เขาเองก็ไม่ได้เป็นคนที่เก่งตามที่ได้รับการปลูกฝัง จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นะโอะลงมือก่อคดี

    การที่ตัวตนทั้งสองของนะโอะไม่สามารถผสานกันได้นี้เนื่องจากความแตกต่างของตัวตนมีมากจนเกินไป ตามทฤษฎีของโรเจอร์คือเมื่อตัวตนทั้งสามไม่สามารถผสานกันได้ เป็นสาเหตุหลักของการเป็นโรคจิต และก่อให้เกิดอันตรายกับผู้คนรอบข้างได้



    สาเหตุที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้นะโอะลงมือฆ่ามานามิก็คือหังจากที่เขาโดนชูยะปฎิเสธตัวตนในอุดมคติของเขาที่ได้อธิบายแล้วในข้างต้น ทำให้เขาต้องการเอาชนะชูยะด้วยการลงมือทำในสิ่งที่ชูยะไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ก็คือการฆ่ามานามิให้สำเร็จ

    “คำพูดสุดท้ายของชูยะคุงเริ่มกลับเข้ามาก้องในหัวอีกครั้ง ทั้งคำพูดและอากัปกิริยาที่ดูถูกดูแคลนฉันเหลือเกิน หมอนั่นหลอกใช้ฉันเพื่อตัวเองะได้เป็นฆาตกรจริงๆอย่างที่คิดนั่นแหละ แต่เด็กคนนี้กลับไม่ตายแสดงว่าแผนการของชูยะล้มเหลวสินะ”

    “ล้มเหลว! ล้มเหลว! ตัวเองต่างหากที่ล้มเหลว! ล้มเหลวแล้วยังไม่รู้สึกตัวอีก โง่รึเปล่า”

    “สำเร็จแล้ว ฉันได้ทำในสิ่งที่ชูยะคุงล้มเหลวสำเร็จแล้ว

    การลงมือฆ่ามานามิจนถึงแก่ความตายจึงไม่ได้เป็นเพียงการฆ่าส่วนหนึ่งของโมะริกุจิเท่านั้นแต่ยังเป็นการพยายามแก้ปมที่อยู่ภายในใจของชูยะเองด้วย การที่เขาลงมือฆ่ามานามิ ก็เพื่อแสดงให้ชูยะเห็นว่าเขาสามารถเอาชนะชูยะได้ด้วยการทำสิ่งที่ชูยะไม่สามารถทำสำเร็จ

    “งี่เง่าที่สุด แกไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองล้มเหลว ทุกครั้งที่ฉันคิดเช่นนั้น ฉันรู้สึกเหมือนตัวเองจะเปลี่ยนแปลงเป็นคนใหม่ได้จริงๆ”

    “ท่าทางจะไปได้สวยนะนี่ แม้การสอบปลายภาคคราวนี้ฉันอาจจะยังทำคะแนนแซงหน้าชูยะคุงไม่ได้ แต่ว่าเวลานี้ฉันสอบได้คะแนนดีกว่าเขาแล้ว”

    การเอาชนะชูยะโดยการฆ่ามานามิสำเร็จ ได้ทำให้นะโอะเห็นตัวตนของเขา (Self concept) ใกล้เคียงกับตัวตนในอุดมคติมากขึ้น จึงทำให้เขามีพัฒนาการด้านอื่นๆดีขึ้นตามไปด้วย การเอาชนะชูยะจึงเหมือนเนการสร้างตัวตนขึ้นมาอีกครั้งหลังจากถูกชูยะและโมะริกุจิปฎิเสธไป



    ดูเหมือนว่าการฆ่ามานามิเป็นการแก้ปมที่อยู่ในจิตใจของนะโอะ แต้ท้ายที่สุดแล้วกลับไม่สามารถแก้ได้อย่างแท้จริง เนื่องจากการใช้ชีวิตในครอบครัวที่เน้นเรื่องการเป็นตัวตนในอุดมคติมากเกินไป ทำให้นะโอะไม่สามารถผสานตัวตนได้ ในฉากสุดท้ายที่แม่รู้ความจริงว่านะโอะเป็นฆาตกรที่จงใจฆ่า ทำให้แม่ตัดสินฆ่านะโอะ ในขณะเดียวกันก็กล่าวคำพูดที่กระทบกระเทือนจิตใจของนะโอะ เป็นการกลับไปหาปมเดิมอีกเป็นครั้งที่สอง

    “เปล่าจ๊ะ นะโอะคุง ถึงไปหาตำรวจก็ไม่มีทางเริ่มต้นใหม่ได้หรอกนะโอะคุงไม่ใช่นะโอะคุงผู้อ่อนโยนคนเดิมอีกต่อไปแล้วนี่นา”

    “นะโอะคุงคือสิ่งที่มีค่าสำหรับแม่ นะโอะคุงขอโทษนะลูก แม่ผิดเองที่ทำให้ลูกกลายเป็นแบบนี้ ขอโทษนะลูกที่เลี้ยงลูกได้ไม่ดีพอ แม่ล้มเหลวเอง ขอโทษนะลูก”

    “หยุดนะ หยุด! หยุด! ฉันไม่ใช่ผลงานที่ล้มเหลว! ฉันไม่ใช่ผลงานที่ล้มเหลว!”

    การย้ำปมในใจของนะโอะทำให้นะโอะไม่สามรถยอมรับในตัวตนที่แม่กล่าถึงได้ เนื่องจากในเรื่องแม่จะเป็นผู้ที่สร้างตัวตนทางด้านบวกกับนะโอะตั้งแต่ต้น แต่ในฉากนี้แม่ผู้สร้างตัวตันด้านบวกกลับเป็นคนเดียวกันกับคนที่ทำลายตัวตนนั้น พร้อมทั้งยังปฎิเสธตัวตนของนะโอะทำให้นะโอะคลุ้มคลั่งและฆ่าแม่ในที่สุด



    การฆ่าแม่ของนะโอะในฉากนี้แสดงให้เห็นถึงนัยยะที่นะโอะพยายามทำลายภาพตัวตนในอุดมคติของเขา โดยการทำลายผู้สร้างตัวตนนี้ขึ้นมา ในขณะเดียวกันหลังจาฆ่าแม่เสร็จนะโอะก็ไม่ได้ยอมรับในตัวตนจริงแท้ของเขา แต่เขากลับกลายเป็นคนไร้สติ จึงเท่ากับว่านะโอะปฎิเสธทั้งตัวตนในอุดมคติและตัวตนจริง การเลือกที่จะเป็นบ้า คือการไม่สร้างและไม่มองหาตัวตน

    “ผู้หญิงคนนั้นเรียกฉันว่านะโอะคุง ฉันไม่ชอบใจนักที่ถูกเรียกด้วยชื่อเดียวกับเด็กโง่ที่เห็นในภาพ ถ้าเช่นนั้น นี่ฉันกำลังอยู่ในห้วงความฝันหรือนี่ หากนี่คือความฝัน ฉันก็อยากลืมตาตื่นเสียที จะได้กินไข่คนเบคอนฝีมือแม่แล้วไปโรงเรียน”



    ✂ชูยะกับบาดแผลจากแม่

               ตัวละครชูยะเป็นตัวละครที่มีปมด้านบุคลิกภาพเช่นเดียวกับนะโอะ กล่าวคือชูยะสร้างตัวตนในอุดมคติขึ้นมาและเมื่อเจอกับสังคมที่มีขนาดใหญ่กว่าครอบครัว เขาก็พบว่าตัวเองไม่ได้เป็นอย่างเช่นตัวตนที่เขาสร้างไว้ จึงเกิดปมขึ้นมา แต่เมื่อพิจารณาถึงปมนี้อย่างละเอียดจะพบว่าภายใต้ปมกลับมีเรื่อราวของบาดแผลทางใจที่เกิดจากตัวละครที่เป็นแม่เช่นเดียวกันกับนะโอะ

                  ชูยะเติบโตมาในครอบครัวที่แตกแยก แม่ของชูยะเลี้ยงดูเขามาแค่ช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้วจึงหย่ากับพ่อของเขา และไปทำตามความฝันคือการเป็นอาจารย์ฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัย แต่ช่วงเวลาที่เขามีแม่ หรือกล่าวอีกแง่หนึ่งคือช่วงเวลาที่ครอบครัวของเขาคิดว่า “สมบูรณ์” นั้นได้สร้างความสุขและบาดแผล (Trauma)ให้เขาในเวลาเดียวกัน   



        “ชูจังเป็นเด็กฉลาดเหลือเกิน มีแต่ชูจังเท่านั้นที่จะทำความฝันที่แม่ทำไม่สำเร็จให้เป็นจริงได้”

    “ฉันรู้สึกช็อกที่รู้ว่าตัวเองคือสาเหตุที่ทำให้แม่ต้องปฎิเสธ ฉันเป็นตัวถ่วงของแม่หรือนี่ ไม่เพียงฉันจะเป็นมนุษย์ที่อยู่อย่างไร้ค่าเท่านั้น แต่นี่เท่ากับว่า การมีตัวตนของฉันถูกปฏิเสธเลยทีเดียว”

    “ไม่มีแกสักคนคงดี..แม่ลงไม้ลงมือกับฉันขณะพูดเช่นนั้น”

    ชูยะในวัยเด็กเติบโตมาพร้อมกับการถูกปฏิเสธครั้งแล้วครั้งเล่า จากแม่ของเขา จึงทำให้เกิดเป็นปมในจิตใจ การมีอยู่ของชูยะเท่ากับไปขัดความอนาคตของแม่ สิ่งที่เขาพอจะทำได้ในขณะนั้นคือการกดทับความเจ็บปวด ซึ่งต่อมาจากปมที่ถูกแม่ปฏิเสธนี้ได้กลายมาเป็นบาดแผลในใจ (Trauma) เนื่องจากการถูกปฏิเสธโดยแม่โดยการทิ้งเขาไว้กับพ่อและไปทำงานเป็นอาจารย์ ตามความฝันของเธอ


    ในช่วงที่ชูยะอยู่กับแม่ แม่พยายามสอนสิ่งที่เป็นตัวของเธอลงไป ซึ่งแตกต่างจากแม่ทั่วไป ทั้งนี้การพยายามยัดเยียดความเป็นตัวเอง เช่นกฎฟิสิกส์ การต่อวงจรไฟฟ้า ลงไปให้กับเด็กแทนที่จะเป็นสิ่งที่เป็นไปตามวัยเช่น นิทาน ของเล่น ทำให้เห็นว่าแท้จริงแล้วแม่ของเขาต้องการที่จะให้ลูกทำในสิ่งที่เธอต้องการจะทำ โดยการสร้างความฝันของเธอลงไปในจิตสำนึกองลูก ดังนั้นในฉากต่อๆมาจึงเห็นว่าชูยะพยายามลงมือ “พิสูจน์” คำสอนของแม่



                การสร้างกระเป๋าสตางค์ที่มีวงจรไฟฟ้าเพื่อส่งประกวด ดูเหมือนว่าจะเป็นการสร้างเพื่อลบภาพที่เพื่อนๆในโรงเรียนมองชูยะแตกต่างจากตัวตนในอุดมคติ หรือแท้จริงแล้วชูยะไม่ได้ประดิษฐ์กระเป๋าสตางค์เพื่อทำให้ตัวตนในความเป็นจริงได้รับการยอมรับและใกล้เคียงกับตัวตนในอุดมคติ เหมือนอย่างในกรณีของนะโอะ แต่นัยยะของการกระทำนี้มีประเด็นของการพยายามเยียยาบาดแผลที่เกิดจากการถูกแม่ทิ้งไป โดยการประดิษฐ์เพื่อการส่งประกวดนี้เพียงเพื่อให้ตนเองมีชื่อเสียงและแม่ก็จะยอมรับในตัวตนของเขา เขาก็จะไม่ถูกแม่ปฎิเสธโดยการทิ้งเขาไปเช่นในวัยเด็ก

    “มีวิธีไหนบ้างนะที่ทำให้แม่เห็นสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ได้ หากฉันเผยแพร่สิ่งประดิษฐ์ของตัวเองในเว็บไซต์นี้ วันหนึ่งมาอาจเข้ามาแสดงความคิดเห็น”

    “แต่ไม่ว่าจะรอเท่าไร ก็ไม่มีวี่แววแม่จะเข้ามาแสดงความคิดเห็น คนทีเข้ามามีแต่พวกเพื่อนร่วมห้องที่แสนงี่เง่าทั้งนั้น”

        แต่ในเรื่องการที่เขาประดิษฐ์กระเป๋าสตางค์จนได้รับรางวัลชนะเลิศแต่ก็ยังไม่มีใครพูดถึง และไม่ได้รับการยอมรับอย่างที่เขคิดไว้ ดังนั้นแผนการต่อมาคือการพยายามฆ่าคน โดยการใช้สิ่งประดิษฐ์ของเขา เพื่อให้โด่งดังในนามของฆาตกรผู้ชาญฉลาด ทั้งนี้ก็เพื่อให้แม่ที่เป็นผู้สอนความฉลาดนี้รับรู้และยอมรับเขาในความเก่งกาจเช่นเดียวกัน

    “อาชญากรรมที่ฉันก่อขึ้นจึงจำเป็นต้องมีพรสวรรค์ซึ่งฉันได้รับจากแม่เข้ามาเป็นส่วนประกอบสำคัญด้วยถึงจะบรรลุเป้าหมายที่ฉันตั้งไว้ ฉันจึงต้องใช้สิ่งประดิษฐ์ให้เป็นประโยชน์ไงล่ะ”

                แม้ว่าการพยายามฆ่ามานามิด้วยกระเป๋าสตางค์จะไม่สำเร็จ แต่การที่เขาพยายามประดิษฐ์อุปกรณ์ที่ใช้ในการฆ่าคนจำนวนมากอย่างระเบิดในช่วงท้าย แสดงให้เห็นว่าบาดแผลที่ไม่ได้รับการเยียวยาของเข เมื่อเวลาและแต่ละเหตุการณ์ผ่านไป บาดแผลนี้ก็ไม่ได้ดีขึ้น มีแต่จะตามหลอนมากขึ้นในทุกๆวัน ดังนั้นการที่เขาประดิษฐ์อุปกรณ์ต่างๆนอกจากจะต้องการให้แม่ยอมรับในความสามารถของเขาและกลับมาอยู่กับเขาเช่นในวัยเด็ก ยังเป็นการพยายามเยียวยารักษาบาดแผลในใจ (Trauma) ของเขาเองด้วย



                 ในตอนจบของเรื่อง การที่ครูโมะริกุจิเปลี่ยนระเบิดจากหอประชุมใหญ่ในโรงเรียนมาเป็นห้องทำงานส่วนตัวของแม่ชูยะ ที่สุดท้ายชูยะเองก็เป็นคนที่ฆ่าแม่ของเขา เห็นได้ว่าในช่วงที่เขารับรู้ว่าเขาเป็นคนที่ทำให้แม่ตาย และแม่ไม่สามารถอยู่กับเขาได้ดังที่เขาต้องการ เป็นการกลับไปย้ำถึงบาดแผลในใจ(Trauma) ที่แม่สร้างไว้กับเขาในตอนเด็ก การกลับไปเผชิญหน้ากับบาดแผลอีกครั้งหรือการกลับไปย้ำเหตุการณ์เดิม ไม่ได้เป็นการเยียวยารักษาบาดแผล แต่กลับเป็นการตอกย้ำความเศร้าโศก เนื่องจากในตอนแรกแม่ทิ้งชูยะไปเพื่อไปทำตามความฝัน ส่วนบาดแผลครั้งนี้แม่ก็ทิ้งเขาไปอีก และไม่ว่าจะพยายามเยียวยาบาดแผลนี้ยังไงก็สามารถกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ เนื่องจากการตายของแม่เท่ากับว่าแม่ได้จากเขาไปตลอดกาล





    ?บทสรุป สุดท้ายแล้วฆาตกรตัวจริงคือใคร?

                จากในเรื่องแม้ว่าปมของแต่ละตัวละครจะแตกต่างกันออกไป โดยนะโอะมีปมที่ไม่สามารถผสานตัวตนที่แท้จริงกับตัวตนในอุดมคติที่ถูกแม่พร่ำบอกตั้งแต่วัยเด็กได้ การลงมือฆ่ามานามิคือการพยายามสร้างตัวตนที่แท้จริงให้มีค่า และเข้าใกล้ตัวตนในอุดมคติมากยิ่งขึ้น แต่ในกรณีของชูยะแม้ว่าการถูกปฏิเสธตัวตนจะเป็นปมขอเขาเช่เดียวกับนะโอะ แต่เมื่อพิจารณาถึงปมและภูมิหลังจะพบว่าในปมนั้นยังมีบาดแผลทางใจ (Trauma) ที่ได้รับจากแม่ คือการถูกแม่ปฏิเสธและทิ้งไปในวัยเด็ก



               จะเห็นได้ว่าจุดร่วมของฆาตกรทั้งสองคือ ปมและบาดแผลในใจที่ถูกสร้างจาก “แม่” ในเรื่องแม้ว่าการลงโทษของครูโมะริกุจิดูเหมือนเป็นบทลงโทษต่อเด็กอันตราย แต่แท้จริงแล้วบทลงโทษนั้นกลับย้อนมายังสถาบันครอบครัว ให้ตั้งคำถามว่าแท้จริงแล้ว การที่เด็กคนหนึ่งกลายเป็นฆาตกร มีเหตุจูงใจจากปัญหาและความรุนแรงในครอบครัว



                ดังนั้นในหนังสือเรื่องนี้จึงเป็นการตั้งคำถามกับประเด็นการเลี้ยงดูในครอบครัว ฆาตกรทั้งสองหนึ่งคือถูกเลี้ยงดูมาในครอบครัวที่ “ดูเหมือนว่า” จะเป็นครอบครัวตัวอย่างที่ดี แต่หากมองลึกลงไปแล้วจะพบประเด็นการถูกกดขี่ การใช้อำนาจ และการที่ตัวละคร “พ่อ” ในเรื่องไม่มีบทบาท เป็นไปได้ว่าผู้เขียนต้องการตั้งคำถามกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่ผู้ชายพบเห็นแต่ก็เพิกเฉยหรือเปล่า ส่วนอีกครอบครัวหนึ่งคือครอบครัวของชูยะ ในกรณีนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนเลยว่าการล่มสลายของสถาบันครอบครัวก่อให้เกิดปัญหาตามมานานับประการ แม้ในช่วงแรกจะดูเหมือนเป็นปัญหาในเรื่องของปัจเจก เป็นปัญหาที่เป็นเรื่องส่วนตัว แต่เมื่อปมหรือบาดแผลที่ถูกเก็บไว้ ไม่ได้รับการเยียวยาปัญหาส่วนตัวนั้นก็กลับกลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับสังคมได้



             ในเรื่องผู้เขียนใช้ประเด็นนี้อธิบายโดยการใช้สัญลักษณ์ โดยในสัญลักษณ์แรกคือนาฬิกาของชูยะ นาฬิกานี้ถูกสร้างขึ้นโดยชูยะและแม่ มีความพิเศษคือเป็นนาฬิกาที่เดินถอยหลัง ตั้งแต่ที่แม่ทิ้งชูยะไปเขาก็เอาแต่นอนกอดนาฬิกาทุกวัน ทั้งนี้นาฬิกาก็คือตัวแทนของแม่ แต่นัยยะของนาฬิกานอกจากจะเป็นตัวแทนของแม่แล้วยังแสดงถึงชีวิตที่เต็มไปด้วยความรักและความสุขในวัยเด็กของชูยะที่ยังคงเป็นเวลาของอดีต          คือเวลาที่เดินถอยหลัง แต่ในฉากที่แม่ตายโดยระเบิดที่ชูยะเป็นคนสร้าง นาฬิกาที่เคยเดินถอยหลังนั้นกลับเดินไปข้างหน้าได้อีก แสดงให้เห็นว่าช่วงเวลาแห่งความสุขในวัยเด็กที่เป็นเวลาของอดีตนั้นไม่สามารถกลับคืนมาได้อีกแล้ว มาเวลาที่เดินไปข้างหน้าจึงเป็นเวลาแห่งอนาคต




                    สัญลักษณ์ที่สองคือ ในฉากที่นะโอะใช้นิ้วมือที่เปื้อนเลือดป้ายไปยังสินค้าในซุปเปอร์มาร์เก็ต และฉากที่ชูยะใช้นิ้วที่เปื้อนเลือดป้ายไปยังเพื่อนนักเรียน จะเห็นได้ว่าจุดร่วมของทั้งสองเหตุการณ์นี้คือ “นิ้วที่เปื้อนเลือด และการป้ายเลือดไปยังที่ต่างๆ” เลือดในที่นี้อาจแทนได้ถึงความผิดบาปที่อยู่ในใจหรือปมปัญหาที่ตัวละครที่เป็นเด็กต้องเผชิญ หารป้ายเลือดไปยังที่ต่างๆคือการพยายามขอความช่วยเหลือจากสังคมภายนอก ให้เข้ามาช่วยเยียวยาบาดแผลที่อยู่ในจิตใจ หรือการพยายามตั้งคำถามว่าแท้จริงแล้วฆาตกรเป็นพวกเขา ที่เป็นเพียงเหยื่อจากการกระทำของผู้ใหญ่หรือไม่ และใครเป็นผู้รับผิดชอบพวกเขา

    เจ้าของร้านเล่าว่า หลังจากก้าวข้ามประตูเข้าไป นะโอะเดินวนรอบร้านหนึ่งรอบ จากนั้นก็ล้วงมือเข้าไปในกระเป๋ากางเกง(เจ้าของร้านบอกว่าเขาทำลับๆล่อๆตอนล้วงมือเข้าไป จึงคิดว่ากำลังขโมยของ)) แล้วใช้มือนั้นสัมผัสสิ้นค้าทุกชิ้นในร้าน ตั้งแต่ข้าวปั้น อาหารกล่อง ไปจนถึงฝาเครื่องดื่มบรรจุขวดพลาสติก”

    “ชูยะคุงกรอกเสียงต่ำทุ้มใส่หูของทะคะฮิโระคุง ก่อนจะเดินต่อไปตรงหน้าอะยะกะซึ่งนั่งอยู่ที่โต๊ะของตัวเองและยื่นนิ้วก้อยออกไป เลือดที่ไหลเป็นทางยาวจากปลายนิ้วแทบจะหยดลงถึงข้อมือของเขาอยู่แล้ว”

             สัญลักษณ์สุดท้ายคือนม ในเรื่องโมะริกุจิใช้วิธีการลงโทษเด็กที่เป็นฆาตกรโดยการฉีดเลือดของสามีเธอที่เป็นโรคเอดส์เข้าไปยังกล่องนมที่นักเรียนต้องดื่มในทุกวัน หากนมแสดงถึงนัยยะของความเป็นเด็ก ความบริสุทธิ์ ไร้เดียงสา นมที่เปื้อนเลือดอาจแสดงให้เห็นว่าเด็กที่เป็นคนที่บริสุทธิ์นั้นถูกทำให้แปดเปื้อนโดยฝีมือของผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่คือสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาดังกล่าว เช่นเดียวกับคำพูดของครูโมะริกุจิในบทจบ



    “สิ่งเดียวที่ครูพูดได้อย่างมั่นใจคือ หากนะโอะคุงไม่ฆ่ามานามิในวันนั้นเขาคงไม่มีวันฆ่าแม่ตัวเองแน่ ครูไม่รู้สึกสงสารนะโอะคุงแม้แต่น้อย หรือแม้แต่แม่ของนะโอะคุงครูก็ไม่สงสาร ครูแค่คิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือผลลัพธ์จากการเลี้ยงดูลูกชายของตัวเองให้เติบโตขึ้นมากลายเป็นคนแบบนั้น ในที่สุดครูก็ประสบความสำเร็จในการแก้แค้นนะโอะคุงจนเป็นที่พอใจ”

    “..นอกจากตัวเธอเองหากจะมีใครสักคนที่ควรรับผิดชอบต่อเรื่องที่เกิดขึ้น คนคนนั้นคงหนีไม่พ้นผู้หญิงที่ลงไม้ลงมือกับลูกน้อยเหลือเพียงความว่างเปล่า และพอความปรารถนาของตัวเองได้รับการตอบสนอง ผู้หญิงคนนั้นก็เดินจากไปทันทีโดยทิ้งไว้เพียงความรักแบบปัจจุบันทันด่วนที่ไร้ความรับผิดชอบ ผู้หญิงคนนั้นคือแม่ของเธออย่างไรล่ะ


      ในบทสรุปคำพูดของครูโมะริกุจิแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าแท้ที่จริงแล้ว สาเหตุหรือปมหลักที่ผลักดันเด็กกลุ่มหนึ่งให้ลงมือก่ออาชญากรรมขึ้นก็คือตัวของ “แม่” นั่นเอง โดยสาเหตุและปัจจัยของเหตุจูงใจอาจแตกต่างกันออกไป แต่ท้ายที่สุดแล้วคนที่เป็นกุญแจสำคัญในคดีนี้ และต้องตายลงก็คือแม่ คือคนที่เป็นทั้งเหตุและผลของการก่ออาชญากรรมในครั้งนี้



    ฉะนั้นในหนังสือ(และภาพยนตร์)เรื่องนี้จึงเป็นการวิพากษ์สถาบันครอบครัวที่ไม่เพียงแต่ส่งผลในเชิงปัจเจก ที่เมื่อเกิดปัญหาในครอบครัว ผลของปัญหานั้นกลับย้อนกลับมามีอำนาจในสังคม เช่นเดียวกับฆาตกรทั้งสองที่มีปมปัญหาจากเรื่องในครอบครัวและลงมือฆ่าลูกสาวของครูที่โรงเรียน เมื่อหนังสือเล่มนี้เดินมาถึงบทสรุปปมปัญหาต่างๆแม้ว่าตัวละครที่เป็นแม่จะตายลงทั้งคู่ แต่ปมในจิตใจของเด็กกลับไม่ถูกคลี่คลาย ฉะนั้นแล้วความตายก็ไม่ใช่ทางออกของปัญหา ดังนั้นสิ่งที่หนังสือเล่มนี้ต้องการจะสื่อคือการสร้างความแข็งแรงของจิตใจ ที่เป็นดั่งหัวใจสำคัญของการเลี้ยงดูคือการสร้างสถาบันครอบครัวที่เข้มแข็ง ความรักและการเอาใจใส่เป็นเรื่องสำคัญที่มักถูกมองข้าม แต่ก็เป็นทางออกเดียวของปัญหาที่สังคมในทุกวันนี้ต้องเผชิญ...




    ขอบคุณ

    ? ภาพจาก google.com

    ?อาจารย์ทอแสง เชาว์ชุติ

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in