เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
#DuckOfAllEarsDuck of Words
#9 When A Listener Calls...

  • 9: When A Listener Calls...

    โดยรายการ Short Wave ของ NPR

    อัปโหลดเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2019

    ภาษา: อังกฤษ

    ความยาว: 10 นาที


    #DuckOfAllEars ยังวนเวียนกับพอดแคสต์แนวสาระน่ารู้เชิงวิทยาศาสตร์ แต่ก็ขอเปลี่ยนบรรยากาศจากรีวิวพอดแคสต์ตอนยาวเกือบชั่วโมง มาเอาใจผู้ฟังที่ชื่นชอบรายการสั้นแต่ใจความแน่นกันค่ะ วันนี้ขอแนะนำรายการ Short Wave น้องใหม่ในค่ายใหญ่อย่าง NPR (เจ้าของเดียวกันกับ Hidden Brain ที่เป็ดเคยรีวิวไปก่อนหน้า) ที่เน้นนำเสนอเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยทางวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจทุกจันทร์ถึงศุกร์ (สำหรับพวกเราก็อาจจยาวไปถึงวันเสาร์ตามความแตกต่างทางเวลาบ้าง) โดยพิธีกรสาว แมดดี้ โซไฟอา แต่ละตอนมักจะยาวไม่เกินสิบนาที น่าจะเหมาะสำหรับการฟังระหว่างทำบางสิ่งที่ใช้เวลาไม่นานและเร่งรีบนั่นเองค่ะ 


    ด้วยความที่ควันหลงฮาโลวีนยังไม่จางเจือไปจากหลายพื้นที่ Short Wave จึงเป็นอีกรายการที่นำเสนอพอดแคสต์ในธีมสยองขวัญต้อนรับโอกาสพิเศษนี้ เรื่องเริ่มจากผู้ฟังทางบ้านคนหนึ่งติดต่อเข้ามาถามทางรายการให้ช่วยหาคำตอบว่า ทำไมคนบางประเภทจึงชอบดูหนังผี ชอบทำกิจกรรมที่ทำให้ตัวเองรู้สึกกลัวหรือตกอยู่ในอันตรายมากกว่าปกติ? ผู้ให้สัมภาษณ์ประจำตอนนี้เป็นอาจารย์สอนจิตวิทยาท่านหนึ่ง ได้ให้คำตอบว่า ปริมาณฮอร์โมนคอร์ติซอล (cortisol) ที่หลั่งออกมาเมื่อแต่ละคนตกอยู่ในสถานการณ์คับขัน (เรียกกันในภาษาอังกฤษว่าเป็น Fight or flight situations) มีไม่เท่ากันค่ะ ซึ่งคนที่ขี้กลัว ไม่ชอบดูหนังผีจะมีคอร์ติซอลหลั่งออกมาเยอะกว่าคนที่แสวงหาเรื่องน่ากลัวหรือน่าตื่นเต้นนั่นเอง คอร์ติซอลมีผลทำให้เรารู้สึกเครียด วิตกกังวลมากขึ้น และมองสิ่งที่กำลังประสบว่าเป็นอันตรายที่หากไม่หนีก็ต้องหันหน้าเข้าสู้ สำหรับผู้กล้าทั้งหลายที่คอร์ติซอลหลั่งน้อยกว่าอีกกลุ่มนั้น สิ่งที่เร้าให้เกิด Fight or flight response ก็อาจจะถูกมองว่าไม่อันตรายมาก ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่หลั่งเพิ่มในคนกลุ่มนี้กลับเป็นสารสื่อประสาทชื่อโดปามีน (Dopamine) ที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกตื่นเต้นดีใจเมื่อได้รับสิ่งเร้า (เช่น การชนะพนัน การติดสารเสพติด ฯลฯ) ที่ทำให้เรื่องน่ากลัวที่พวกเขาพบดูจะเป็นเรื่องน่าสนุกและตื่นเต้นขึ้นมาแทนนั่นเอง ปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องรวมถึงระบบการยับยั้งหรือกระตุ้นพฤติกรรมของมนุษย์ (Behavioural inhibition/activation system) อันทำหน้าที่เหมือนไฟเขียวไฟแดง คอยตีความพฤติกรรมที่มนุษย์กำลังจะทำว่าอันตรายหรือเสี่ยงภัยหรือไม่ กระทั่งคนรอบตัว สังคม และสภาพแวดล้อมรอบข้างก็มีผลต่อการหล่อหลอมคนคนหนึ่งให้ชื่นชอบหรือขยาดกลัวเรื่องอันตรายได้เช่นกันค่ะ ยกตัวอย่างตามในรายการนี้ เช่น หญิงสาวคนหนึ่งอาจมีอุปนิสัยชอบเล่นกีฬาที่มีความเสี่ยงสูงอย่างการกระโดร่ม แต่ปัจจัยภายนอกด้านสถานภาพของเธอในปัจจุบันที่เป็นคุณแม่ลูกสอง มีห่วงมีภาระที่ต้องดูแล อาจทำให้เธอตัดสินใจไม่กระโดดร่มบ่อย ด้วยความกังวลว่าจะไม่มีใครเลี้ยงดูลูกๆ หากเธอมีอันเป็นไปขึ้นมานั่นเอง

     

    จะเห็นว่าแต่ละตอนของ Short Wave สั้นพอสมควร จนเป็ดเองสามารถสรุปใจความเกือบทั้งหมดของตอนนี้ลงมาให้ทุกคนได้อ่านกันได้ แต่เป็ดก็ยังอยากแนะนำให้ทุกคนที่ชอบพอดแคสต์สาระแบบสั้นๆ ไปฟังกัน เพราะ Short Wave ก็ยังมีตอนอื่นที่น่าสนใจอยู่มาก เช่น คำถามที่ว่า AI จะฉลาดเท่ามนุษย์หรือยัง กามีความทรงจำฝังใจดีแค่ไหน ฯลฯ ก็ลองไปฟังกันเยอะๆ นะคะ


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in