เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
#DuckOfAllEarsDuck of Words
#13: How can we support the emotional well-being of teachers? | Sydney Jensen

  • 13: How can we support the emotional well-being of teachers? | Sydney Jensen

    โดยรายการ TED Talks Daily ของ TED

    อัปโหลดเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2019

    ภาษา: อังกฤษ

    ความยาว: 11 นาที

    ชมบนเว็บไซต์: https://www.ted.com/talks/sydney_jensen_how_can_we_support_the_emotional_wellbeing_of_teachers/up-next 


    **คำเตือน: เนื้อหาและรีวิวพอดแคสต์ในตอนนี้พูดถึงการฆ่าตัวตาย โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน**

    พอดแคสต์ที่เป็ดนำมาเขียนรีวิวแนะนำในวันนี้ หลายคนอาจจะร้องอ๋อตั้งแต่เห็นชื่อตัวย่อสามตัวนั้นแล้ว แต่สำหรับใครที่ยังไม่คุ้นเคย เป็ดก็ขอแนะนำให้รู้จักกับ TED (อ่านว่าเท็ด) เป็นองค์กรอิสระระดับโลกที่ทำงานในรูปแบบการจัดอีเวนท์บรรยาย ด้วยการรวบรวมและเชิญผู้มีความรู้จากหลายเผ่าพันธุ์และอาชีพมาเป็นวิทยากรพูดคุยเรื่องน่ารู้ น่าแบ่งปัน ครอบคลุมหลายหัวข้อตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ ตั้งแต่ควอนตัมฟิสิกส์ไปถึงสุขภาพจิตกันเลยทีเดียว TED Talks Daily เป็นรายการพอดแคสต์หนึ่งในเครือของ TED ที่จะอัปโหลดการบรรยายเรื่องต่างๆ ของวิทยากรหลายท่านที่ได้ไปออกงานของเท็ดที่ผ่านมาจากทั่วโลกค่ะ ความยาวไม่เกิน 20 นาทีต่อตอน เหมาะสำหรับการฟังระหว่างเดินทางสั้นๆ เป็นที่สุด


    ปกติ TED Talks Daily อัพเดตแทบทุกวัน และแต่ละเรื่องจากแต่ละผู้บรรยายก็มีความน่าสนใจทั้งสิ้นค่ะ แต่ตอนนี้เป็ดสนใจเป็นพิเศษและเห็นว่าเป็นประเด็นที่น่าผลักดันในสังคมไทยเหมือนกันนะ ซึ่งก็คือ การดูแลสุขภาพจิตของคุณครูทั้งหลายนั่นเองค่ะ ผู้บรรยายหัวข้อนี้คือคุณซิดนีย์ เจนเซน ซึ่งเป็นคุณครูประจำโรงเรียนแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกาเช่นกัน เธอเกริ่นถึงประเด็นนี้ว่าถึงแม้ภาระงานการสอนและการประชุมจะเป็นสิ่งหลักที่ทำให้คนเป็นครูเหนื่อยล้าจากการงาน อีกสิ่งที่ส่งผลแก่สุขภาพของคุณครูก็คือภาระทางสุขภาพจิตที่ได้รับจากการทำงานเช่นกัน เช่นเดียวกับการที่แพทย์พยาบาลมีสิทธิได้รับผลกระทบกระเทือนทางจิตใจจากการสูญเสียคนไข้ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องเผชิญกับภารกิจเสี่ยงตายและเสี่ยงเสียสุขภาพจิตเป็นประจำ ครูเองก็มีสิทธิได้รับภาระทางจิตใจจากการคอยรับฟังและสนับสนุนเด็กนักเรียนที่เผชิญความลำบากทางจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเข้าร่วมสังคมในโรงเรียน หรือกระทั่งปัญหาทางบ้าน ที่ครูอาจมีส่วนช่วยในการแก้ไขได้ไม่มากทันทีที่นักเรียนคนนั้นก้าวพ้นจากห้องเรียนออกไป แน่นอนว่าการช่วยเหลือเด็กนักเรียนนอกจากการให้ความรู้เพียงอย่างเดียวเป็นสิ่งที่ประเสริฐ น่าชื่นชมและควรกระทำ คุณครูจำนวนมากกลับไม่ได้รับการช่วยเหลือทางสุขภาพจิตอีกต่ออย่างที่เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลหรือตำรวจได้รับ คุณซิดนีย์ได้ชี้ให้เห็นถึงผลเสียจากการไม่มีการช่วยเหลือประคับประคองจิตใจของครูนี้ ว่าทำให้คุณครูจำนวนไม่น้อยประสบกับ Secondary Trauma ภาวะกระทบกระเทือนทางจิตใจอีกต่อ เกิดขึ้นเมื่อคุณครูต้องคอยรับฟังนักเรียนผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ต่างๆ เสมือนหนึ่งว่าครูนั้นก็กลายเป็นผู้ประสบเหตุการณ์สะเทือนใจเสียเอง ซึ่งหากสะสมเรื้อรังเข้า ก็จะทำให้เกิดอีกภาวะที่เรียกว่า Compassion Fatigue หรือความรู้สึกด้านชาต่อความเดือดร้อนของนักเรียน ความสิ้นแล้วซึ่งความรักและความเมตตาที่เคยมีต่อนักเรียน ตัวคุณซิดนีย์เองก็ได้แบ่งปันประสบการณ์ของเธอ ว่าด้วยสาเหตุเหล่านี้ นักเรียนสองคน และเพื่อนคุณครูหนึ่งคนของเธอจึงเสียชีวิตลงด้วยการฆ่าตัวตาย เธอเชื่อว่าปัญหาเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้น หากคุณครูมีระบบดูแลสุขภาพจิตที่ดี ตัวเธอเองโชคดีที่ทำงานในโรงเรียนที่มีบริการดูแลสุขภาพจิตคุณครูอยู่ในสวัสดิการการทำงานของเธอ และคิดว่าแทนที่นักจิตวิทยาและบุคลากรในแวดวงสุขภาพจิตจะนิ่งเฉยและรอจนกว่าคุณครูจะเป็นฝ่ายเข้ามาขอความช่วยเหลือ พวกเขาควรทำงานแบบเชิงรุกมากขึ้น คอยตรวจสอบคัดกรองหาคุณครูที่มีแนวโน้มจะได้รับปัญหาทางสุขภาพจิต รวมถึงรณรงค์ให้มีการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมสภาวะจิตใจให้แจ่มใสและสานสัมพันธ์ระหว่างครู รวมถึงนักเรียนด้วย เช่น การจัดกิจกรรมโยคะประจำสัปดาห์ การเขียนข้อคิดเห็นให้กำลังใจเพื่อนบุคลากรครู เป็นต้น


    แน่นอนว่าบริบททางสังคมของสหรัฐอเมริกายังแตกต่างจากที่ไทยพอสมควรเนอะคะ หากจะลองคิดให้ดูให้ดี เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว เราอาจพบว่าสังคมอเมริกันมีความเปิดกว้างทางเรื่องการมีปัญหาสุขภาพจิตมากกว่า คนไปใช้บริการจิตแพทย์เป็นปกติกว่าสังคมไทย ที่คนจำนวนหนึ่งอาจจะยังไม่วายมองว่าการไปหาจิตแพทย์หรือทานยาจิตเวชเป็นการรักษา ‘โรคบ้า’ อย่างไรก็ตาม กระทั่งสหรัฐฯ ก็ยังมีปัญหาการเข้าถึงบริการทางจิตเวชที่ยังไม่ครอบคลุมทุกสังคมและสาขาอาชีพเช่นกัน แต่ประเด็นสำคัญหนึ่งที่เป็ดคิดว่าเราสามารถหยิบไปใช้ได้จากการบรรยายของคุณครูซิดนีย์ ก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องการรักษาสุขภาพจิตที่ควรเป็นไปในเชิงรุกมากขึ้น เช่นเดียวกับการออกป้องกันโรคระบาดในชุมชนอย่างการทำลายลูกน้ำยุงลายป้องกันไข้เลือดออก บางทีเป็ดก็คิดว่าถึงเวลาแล้ว ที่บุคลากรทางสุขภาพทั่วโลกจะออกคัดกรอง สอดส่อง และป้องกันโรคทางจิตเวชอย่างที่ทำกับความเจ็บป่วยทางกายค่ะ

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in