เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
วัตถุต้องสงสัยSALMONBOOKS
คำนำ
  • คำนำสำนักพิมพ์


    เวลาดูหนัง โดยเฉพาะเรื่องที่แนวๆ จินตนาการสูงๆ หน่อย เรามักเจอสิ่งที่ไม่ควรจะพูดได้แต่ดันพูดได้อยู่เสมอ เช่น รถยนต์ที่ขับอยู่ดีๆ แต่จู่ๆ ก็กลายร่างเป็นหุ่นยนต์ที่ดันพูดภาษาอังกฤษ หรือสัตว์น้อยใหญ่สามารถเจรจาพาทีกับคนรู้เรื่อง ไปจนถึงอาหารบางชนิด (อะ กล้วยหอม) ตุ๊กตา (หมีตัวเหลืองกับเพื่อนในป่า) กระทั่งกระถางต้นไม้ เงินตรา ช้อนส้อม ตะเกียบ ฯลฯ

    ในบางไดอะล็อกของพวกมัน ทำให้ขำท้องคัดท้องแข็ง เพราะความไร้เดียงสา (อาจเป็นเพราะส่วนใหญ่ที่เห็นเป็นการ์ตูนสำหรับเด็ก) จนหลายทีต้องกล่าวชมทีมเขียนบทว่าช่างเก่งกาจสร้างสรรค์จริงๆ ที่จับประโยคสนุกๆ ในมุมมองของสิ่งต่างๆ ลงไปได้ (เช่น รู้ได้ยังไงว่าสิ่งที่อยู่ในตู้เย็นมันจะรู้สึกอย่างไร หรือหนูที่อยู่ในห้องทดลองมันจะมีโมเม้นต์ที่คิดอย่างนี้ไหม ฯลฯ) แต่เมื่อหนังจบลง เราปิดโทรทัศน์ ความเงียบเข้าแทรกมาแทนที่ 

    เคยคิดไหมว่าเจ้าข้าวของพวกนี้มันอาจจะพูดอะไรได้จริงๆ?

    โทรทัศน์ที่ก่อนหน้านี้เต็มไปด้วยสีสันสว่างสดใส เจื้อยแจ้วมาตลอดสองสามชั่วโมง เมื่อตอนนี้ที่มันดับลง ให้ความรู้สึกเหมือนนักแสดงที่เพิ่งเสร็จงานแล้วนั่งอยู่หลังเวที มันมีเรื่องอยากจะพูดหรือเปล่า?

    ไหนจะโซฟาที่เราเพิ่งลุกขึ้นจากมา ไปถึงหมอนบนเตียงนุ่มๆ ผ้าปูเตียง โต๊ะ ตู้ หรือในห้องน้ำอย่างแปรง ยาสีฟัน กระจก อ่างอาบน้ำ ฯลฯ พวกมันกำลังบอกอะไรเราหรือเปล่า?

    ฟังดูเพ้อเจ้อ แต่เราเชื่อว่าในความเงียบบางครั้งก็เสียงดัง สิ่งของที่ตั้งอยู่นิ่งๆ บางครั้งก็เต็มไปด้วยความเคลื่อนไหว (ไม่ใช่จู่ๆ เคลื่อนไหวได้นะ นั่นคงเป็นพลังงานอะไรบางอย่าง...ก็เป็นได้) 

    แทบทุกสิ่งสั่งสอนเราอยู่เสมอ บางอย่างเป็นการเชื้อชวนให้ได้ศึกษาความเป็นตัวของเราเอง บางชนิดก็บอกเล่าเรื่องราวในอดีต คอยตั้งคำถามที่เราอาจไม่ทันได้ฉุกคิด อย่างน้อยก็เช่น “เราจะมีข้าวของพวกนี้ไว้ทำไม?” หรือ “ทำไมเราต้องทำอะไรอย่างนั้น?”

    อย่าทำเป็นเล่นไป บางครั้งประโยคที่เปลี่ยนชีวิตของเรามันไม่ใช่การหาคำตอบหรอก แต่เป็นการตั้งคำถามต่างหาก

    วณัฐย์ พุฒนาค (หรือที่เราเรียกเขาว่า ‘ว่าน’ ตามชื่อเล่น) เป็นคนคิดมาก เราสนุกเสมอเวลาที่ได้คุยกับว่านตามงานต่างๆ เขาเป็นนักศึกษาวิชาวรรณกรรมวิจารณ์ที่เคยมาช่วยเหลือเราด้านข้อมูลของหนังสือเล่มหนึ่ง 

    ว่านเป็นคนที่มองโลกได้กว้างขวางตามแบบฉบับนักสงสัย แถมด้วยสกิลของนักค้นคว้าตามประสานักเรียนปริญญาโทที่วันๆ ต้องขลุกอยู่กับตำราจำนวนมาก แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังเต็มไปด้วยความเป็นวัยรุ่น (แน่นอน ยังเต็มไปด้วยความกวนตีนและรักสนุก) และเป็นนักเขียนที่มีลีลาทางภาษาอยู่ในระดับอ่านเพลิน

    จึงไม่น่าแปลกใจที่ วัตถุต้องสงสัย จะเต็มไปด้วยความสงสัย เป็นเรื่องใกล้ตัวที่เราทุกคนก็อาจเคยตั้งคำถามอยู่บ้าง แต่น้ำหนักของมันน้อยเกินกว่าจะเอามาใส่ใจหรือออกไปหาคำตอบ

    เป็นคำถามที่เล็กกระจิริดอย่าง เราจะรีดเสื้อไปทำไม? เพราะอะไรเราต้องถูกห้ามเล่นเกม? ทำไมเราต้องส่องกระจกอยู่ตลอดเวลา?เราฝันได้เฉพาะตอนหลับอย่างนั้นหรือ? ที่เราอาจไม่เคยว่างที่จะค้นหาคำตอบ ซึ่งมันอยู่ในหนังสือเล่มนี้

    สำนักพิมพ์แซลมอนดีใจอย่างยิ่งที่มีโอกาสพิมพ์หนังสือเล่มนี้ถึงมันจะอ่านยากไปเสียหน่อยหากเทียบกับหนังสือที่เราเคยทำมา แต่เชื่อได้ว่านี่ก็คือหนึ่งในแนวทางที่สำนักพิมพ์แซลมอนต้องการจะเป็น—ตั้งคำถามกับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่อยู่รอบตัวซึ่งไม่มีใครสนใจ และเล่าเรื่องยากๆ ด้วยวิธีการที่ง่ายที่สุดเท่าที่เราจะทำได้

    เราหวังว่าผู้อ่านจะสนุกสนานไปกับมัน เพราะมั่นใจว่าเมื่ออ่านจบ

    โลกของคุณจะไม่เหมือนเดิมอย่างไม่ต้องสงสัย

    สำนักพิมพ์แซลมอน

  • คำนิยม


    ผมเป็นคนชอบตั้งคำถามโดยไม่รู้ตัว, ผมจึงชอบคนที่ชอบตั้งคำถามไปด้วย

    ผมไม่รู้จักผู้เขียนหนังสือเล่มนี้มาก่อน บังเอิญว่าบรรณาธิการสำนักพิมพ์ออกปากมาว่าอยากให้อ่าน เขาบอกว่า ‘เผื่อ’ ว่าพี่จะชอบและนึกนิยม

    ตลกดีที่ผมไม่ได้เปิดอ่านเรื่องแรกก่อน แต่ได้อ่านเรื่องราวที่เขาตั้งคำถามเกี่ยวกับ ‘หนวด’ ซึ่งโยงใยไปถึงความเป็นชายความเป็นหญิงและเพศสภาพ จากนั้นก็วิเคราะห์ต่อ

    เมื่ออ่านเรื่องอื่นๆ ด้วย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องของ ‘ของ’ อะไรบางอย่างที่พาเราไปไกลในเชิงความคิด ผมอดสงสัยไม่ได้ว่าชะรอยเขาคงตั้งใจจะไม่ใช้ทฤษฎีอะไรจากใครทั้งนั้นมาวิเคราะห์ในสิ่งที่เขาตั้งคำถามกับมัน แต่เลือกที่จะให้การตั้งคำถามนั้นค่อยๆ นำทางไปสู่คำตอบเองมากกว่า จากคำถามหนึ่งสู่คำตอบแบบหนึ่ง และจากคำตอบแบบนั้นย่อมเกิดคำถามถัดมา ซึ่งในที่สุดก็พาเราไปสู่ข้อสรุปบางอย่างที่มักไม่ใช่ข้อสรุป

    ส่วนใหญ่ยังคงเป็นคำถาม

    แน่นอน—คำถามบางคำถามไม่ได้บังเกิดมาเพื่อมีคู่ มันจึงไร้คำตอบที่แน่นอนสำเร็จรูป จะว่าไปก็ไม่ใช่แค่บางคำถามหรอก แต่น่าจะเป็นคำถามส่วนใหญ่ด้วยซ้ำ—ที่ไม่มีใครรู้คำตอบที่แน่ชัด 

    มนุษย์ไม่เคยหยุดร้องไห้—เพราะพวกเขาไม่เคยได้รับคำตอบ

    แต่มนุษย์ก็ไม่เคยหยุดคิด—เพราะพวกเขาไม่เคยหยุดตั้งคำถาม

    หนังสือเล่มนี้เป็นส่วนหนึ่งในการเดินทางของมนุษยชาติ ที่ยังคงต้องถาม-ตอบ กับตัวเองครั้งแล้วครั้งเล่า เหมือนการส่องคบไฟเข้าไปในหมอกหนาทึบ

    เราอาจไม่เห็นปลายทาง แต่มันทำให้เราพอก้าวเดินต่อไปได้ แม้เมื่อหันหลังไป-เราจะพบว่าหมอกทึบนั้นกลับคลี่ตัวเข้าคลุมอีกครั้งจนทำให้เราไม่รู้แน่ ว่ามนุษย์กำลังอยู่ที่ไหน อยู่ไปเพื่ออะไร และควรทำอะไรหรือไม่อย่างไร

    ไม่ว่าคุณจะชอบตั้งคำถามหรือไม่ก็ตาม การอ่านหนังสือเล่มนี้น่าจะทำให้ต่อมตั้งคำถามของคุณทำงานอย่างแข็งขันขึ้นมาได้อีกครั้ง!


    โตมร ศุขปรีชา










  • แด่

    โลกที่เปิดโอกาสให้เราตั้งคำถาม 

    และไม่เคยอนุญาตให้เราหยุดคิด









เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in