เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
All about Dragon AgeTakarai Ririn
Welcome to Thedas
  • ณ จุดเริ่มต้นของการเดินทาง ผู้เขียนขอต้อนรับนักผจญภัยและนักท่องนิทานทั้งหลายด้วยการแนะนำให้รู้จักกับ "เธดัส" (Thedas) ดินแดนที่เหตุการณ์มากมายใน Dragon Age ภาคเกม นวนิยาย หรือภาพยนตร์ได้ดำเนินไป ก่อนจะตระเวนไปแต่ละอาณาจักรตามท้องเรื่องหรือตำนานของแต่ละชนชาติในคราวหน้า เอาล่ะ! เพื่อไม่ให้เสียเวลา เรามาเริ่มต้นคลาสเธดัสเบื้องต้นกันเลยดีกว่า 

    ... ... ... ... ... ... ... ...


    คำว่า เธดัส (Thedas) เป็นชื่อเรียกทวีปๆ หนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ทางใต้ของโลกในจักรวาล Dragon Age มีที่มาจากคำที่ชาวเทวินเทอร์ ใช้เรียกดินแดนนอกเหนืออาณาเขตของจักรวรรดิเทวินเทอร์ (The Tevinter Imperium)  แต่ภายหลังเมื่อจักรวรรดิค่อยๆ เสื่อมอำนาจและสูญเสียเขตแดนที่เคยปกครอง พื้นที่ที่ถูกเรียกว่า เธดัส จึงขยายขอบเขตมากขึ้นเรื่อยๆ  จนสุดท้ายคำนี้ก็กลายเป็นชื่อเรียกพื้นที่ของทั้งทวีปไปในที่สุด  และคนที่อาศัยอยู่ในทวีปนี้ก็มีคำเรียกรวมๆ ว่า เธโดเชี่ยน (Thedosian)

        (แผนที่ทวีปเธดัสจาก Dragon Age Keep)
    จากภาพแผนที่ข้างต้นจะเห็นว่า ทวีปเธดัสประกอบไปด้วยอาณาจักรน้อยใหญ่ตั้งอยู่ทั่วตั้งแต่เหนือจรดใต้  ไล่จากทางตอนบนมีเกาะขนาดใหญ่ 2 เกาะ ชื่อ เซเฮรอน (Seheron) และ พาร์ โวลเลน (Par Vollen)  โดยแรกเริ่มเดิมที เกาะเซเฮรอนเคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิเทวินเทอร์มาก่อน แต่ภายหลังถูกชาวเผ่าคุนารี (Qunari) ที่อยู่ทางเหนือของทวีปเธดัสบุกเข้าโจมตีและยึดไว้ได้ เช่นเดียวกับเกาะพาร์ โวเลนที่ตกเป็นของคุนารีไปก่อนหน้านั้นแล้ว  สงครามแก่งแย่งเกาะใหญ่ทั้งสองยืดเยื้อยาวนานและมีการผลัดเปลี่ยนมือไปมาในต่างยุคต่างสมัย แต่ทว่าท้ายที่สุดทั้งสองเกาะก็ตกเป็นของชาวคุนารี


    (ภาพชาวคูนารี จาก Dragon Age Wiki)
    ถัดลงมาอีกหน่อยโดยเริ่มจากทางซ้ายมือสุด เราจะพบกับอาณาจักรแอนเดอเฟลส์ (Andefels) ซึ่งเดิมก็เคยอยู่ใต้อำนาจการปกครองของจักรวรรดิเทวินเทอร์เช่นเดียวกัน ทว่าหลังเกิดเดอะ เฟิร์ส ไบลท์ (The First Blight)เหตุการณ์ที่ทำให้เกิดปีศาจดาร์กสปอว์น (Darkspawn) ขึ้น  เหล่านักรบนักเวทย์ที่รวมตัวกันสู้กับดาร์กสปอว์นและมีชื่อเรียกว่า เกรย์วอร์เด็น (Grey Wardens) ก็ได้ก่อตั้งขึ้นในอาณาจักร
    แอนเดอเฟลส์นี่เอง  ด้วยเหตุนี้ เมื่อจักรวรรดิเทวินเทอร์วางมือจากแอนเดอเฟลส์ ผู้คนจึงรู้จัก
    แอนเดอเฟลส์ในฐานะที่ตั้งป้อมปราการไวซ์ฮอปส์ (Weisshaupt Fortress) ของเหล่าเกรย์วอร์เด็นส์มากกว่า
    (ภาพเกรย์วอร์เด็นส์สู้รบกับเหล่าดาร์กสปอว์น)
    เขยิบต่อจากอาณาจักรแอนเดอเฟลส์ไปทางขวา คือประเทศที่เคยรุ่งเรืองที่สุดในประวัติศาสตร์ ของทวีปเธดัสอย่างจักรวรรดิเทวินเทอร์ (The Tevinter Imperium) อาณาจักรซึ่งปกครองโดยเหล่านักเวทย์ที่ทรงพลัง เรียกกันว่า สภามาจิสเตอร์ (Court of Magisters) และมีตำแหน่งผู้นำที่เรียกว่า อาร์คอน (The Imperial Archon)  นักเวทย์ในสภานี้ต่างผ่านการคัดสรรทางสายเลือดและฝึกฝนมาอย่างดี เพราะชาวเทวินเทอร์นั้นเชื่อว่าเวทย์มนต์เป็นพรจากเทพที่พวกเขานับถือ (The Old Gods) มากกว่าจะเป็นข้อบกพร่องจากการกำเนิด ชนชั้นนักเวทย์ในจักรวรรดิเทวินเทอร์จึงมีอภิสิทธิ์พิเศษทางสังคม แตกต่างจากนักเวทย์ในอาณาจักรอื่นๆ ที่จะถูกส่งตัวไปเดอะ เซอร์เคิล (The Circles)--สถานศึกษากึ่งๆ คุกขององค์กรที่ควบคุมและฝึกฝนนักเวทย์ระดับนานาชาติชื่อ เซอร์เคิล ออฟ เมไจ (Circle of Magi)   โดยปกติ นักเวทย์ทั่วไปจะถูกควบคุมและต้องได้รับการฝึกสอนอย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันไม่ให้ใครใช้เวทย์โลหิต (ฺBlood magic) จนเป็นภัยต่อผู้อ่ื่น  
    (conceptual art เมือง Minrathous เมืองหลวงของจักรวรรดิเทวินเทอร์)
    แต่เพราะในจักรวรรดิเทวินเทอร์ไม่ได้ห้ามเรื่องนี้ มาจิสเตอร์กลุ่มหนึ่งจึงประกอบพิธีสังเวยชีวิตทาสนับร้อยเพื่อเปิดประตูมิติสู่ดินแดนของพระเจ้า (Golden City) ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเฟด ( Fade)--มิติคู่ขนานอันเป็นที่อยู่ของวิญญาณและปีศาจ  เป็นเหตุให้เมืองที่สุกสว่างดั่งทองคำแปดเปื้อนด้วยบาปของมนุษย์และกลายสภาพเป็น Black City--เมืองแห่งความมืดและฝันร้ายไปในที่สุด ขณะที่มาจิสเตอร์ผู้เปิดประตูก็ถูกครอบงำจนกลายเป็นดาร์กสปอว์นตนแรก และทำให้เกิด The First Blight ขึ้นบนโลก  ความหายนะร่วม 200 ปีจากเหตุการณ์ครั้งนี้ได้ทลายความรุ่งเรืองนับ 800 ปีของจักรวรรดิเทวินเทอร์ลง รวมทั้งยังสร้างภาพจดจำเกี่ยวกับชาวเทวินเทอร์ในแง่ลบให้แก่ผู้คนทั่วเธดัสอีกด้วย ถือเป็นโศกนาฏกรรมที่มอบบทเรียนราคาแพงให้แก่จักรวรรดิเทวินเทอร์เลยก็ว่าได้ค่ะ      
    (ภาพ The Fade จาก Dragon Age: Inquisition)
    ต่อมา เป็นประเทศทางตะวันออกเฉียงเหนือของแผนที่เธดัส 2 ประเทศ ได้แก่ อันทิวา (Antiva) และ ริเวน (Rivain)  จากเนื้อเรื่องของเกมภาค Dragon Age: Inquisition พบว่าสองประเทศนี้มีบทบาทไม่เด่นนัก เว้นแต่ตัวละครผู้ช่วยของเราคนหนึ่งเกิดที่นั่น ส่วนในแง่ประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์นั้นพบว่าอันทิวาเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดประเทศหนึ่ง เนื่องจากทำเลที่ตั้งเอื้อแก่การทำมาค้าขาย การที่อยู่ติดทะเลทำให้มีเมืองท่าสำคัญๆ ตลอดแนวชายฝั่ง นอกจากนี้แล้วก็ยังมี House of Crows องค์กรมือสังหารและสายลับมืออาชีพที่มีประสิทธภาพและมีค่าจ้างราคาแพงที่สุดอีกด้วย
    (แบนเนอร์ของ House of Crows ของอันทิวา)
    ขณะที่ริเวน เป็นประเทศที่เกือบจะกลายเป็นเกาะอีกเกาะหนึ่ง เพราะมีพื้นที่เป็นสะพานเชื่อมต่อกับแผ่นดินใหญ่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น  ศาสนาความเชื่อของคนที่นี่ก็ค่อนข้างใกล้เคียงกับชาวคุนารีที่อยู่บนเกาะทางตอนบนของทวีปมากกว่าคนแผ่นดินใหญ่  ชาวริเวนีไม่ได้นับถือ Chant of Light (คล้ายๆ กับศาสนาคริสต์ นิกายคาทอลิกในโลกของเรา) อย่างเช่นคนในอาณาจักรอื่นๆ  และยังเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์ค่อนข้างดีกับเผ่าพันธ์ุเอลฟ์ซึ่งมักจะถูกประเทศใหญ่ๆ ขยายอาณาเขตรุกรานหรือกดขี่เป็นทาส
    (ภาพท่าเรือของริเวน จาก Dragon Age Wiki)
    ประเทศต่อมาคือ เนวาร์รา (Nevarra) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณตอนกลางของทวีปเธดัส ติดกับพรมแดนทางใต้ของจักรวรรดิเทวินเทอร์  ในยุคโบราณ (Ancient age) เนวาร์ราเคยเป็นของจักรวรรดิเทวินเทอร์มาก่อนเหมือนอาณาจักรข้างเคียงอื่นๆ  แต่ได้แยกตัวออกมาในช่วงที่อันดราสเต (Andraste)--ผูัเปรียบเสมือนศาสดาของชานท์ ออฟ ไลท์ได้ก่อกบฏต่อจักรวรรดิ  จากนั้น เนวาร์ราก็กลายเป็นกลุ่มนครรัฐอยู่ช่วงหนึ่ง มีการผลัดเปลี่ยนผู้ปกครองหลายครั้งก่อนจะตกอยู่ใต้อำนาจของอาณาจักรใหญ่อีกอาณาจักรอย่างโอร์เลส์ (Orlais)  นอกจากนี้ จักรพรรดิของโอร์เลส์ก็เคยมอบจักรพรรดินีที่ไร้รัชทายาทให้แต่งกับเจ้าชายของเนวาร์ราเพื่อสานสัมพันธ์และยุติการส่งทหารไปเนวาร์ราเพื่อจะส่งทหารไปร่วมรบในอาณาจักรใหญ่ที่อยู่ข้างเคียงอย่างเฟเรลเด็น (Ferelden) แทน ด้วยเหตุนี้ เมื่อเนวาร์รามีอำนาจมากขึ้นจึงสามารถแยกตัวออกจากโอร์เลส์ได้ในท้ายที่สุด 
    (สัญลักษณ์ของ Neverra)
    แม้เนวาร์ราจะมีขนาดไม่เท่า 3 อาณาจักรใหญ่อย่างจักรวรรดิ์เทวินเทอร์ อาณาจักรโอร์เลส์ และอาณาจักรเฟเรลเด็น  แต่ก็เป็นประเทศที่รุ่มรวยด้านศิลปะ ประติมากรรมนักรบ และมีเทศกาลมากมายตลอดปี หนึ่งในนั้นคือ การล่ามังกรในช่วงหน้าหนาว  ว่ากันว่าการล่ามังกรของชาวเนวาร์ราทำให้มังกรลดจำนวนลงจนผู้คนคิดว่ามัังกรได้สูญพันธ์ไปแล้ว กระทั่งมังกรกลับปรากฏตัวอีกครั้งใน Dragon Age: Inquisition (ภาคล่าสุด)  ส่วนตระกูลที่มีชื่อเสียงในการล่ามังกรก็คือ ตระกูลเพนทากาสต์ (Pentaghast clan) ของตัวละครเด่นอย่างแคสแซนดร้านั่นเอง  
    (แคสแซนดร้าเป็นเพื่อนร่วมทางที่แข็งแกร่งมากอย่างไม่ต้องสงสัย)

    ส่วนต่อมาของแผ่นที่ บริเวณทิศตะวันออกของทวีปเธดัส แถบที่อยู่เหนือทะเล Waking Sea คือที่ตั้งของนครรัฐฟรีมาร์เชส (The Free Marches) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกันของเมืองที่เป็นอิสระ แต่ละเมืองสามารถกำหนดการปกครองได้ด้วยตัวเอง ไม่มีเมืองหลวงกลาง ไม่มีกษัตริย์ปกครอง และมีรูปแบบทางสังคมวัฒนธรรม และเศรษฐกิจที่หลากหลายแตกต่างกันไปในแต่ละเมือง  แต่ถึงอย่างนั้น ฟรีมาร์เชสก็ได้รับอิทธิพลจากจักรวรรดิเทวินเทอร์ด้วยเช่นกัน เพราะในอดีตกลุ่มคนที่มาตั้งถิ่นฐานที่นี่บางกลุ่มเคยเป็นชาวเทวินเทอร์มาก่อน นอกจากนี้แล้วก็ยังมีคนจากอาณาจักรเฟเรลเด็นเข้ามาด้วย เนื่องจากในช่วงที่เกิดเดอะ ไบลท์ ครั้งที่ 5 ชาวเฟเรลเด็นได้อพยพมาฟรีมาร์เชสเป็นจำนวนมาก และหนึ่งในนั้นก็คือ ฮอว์ค (Hawke) ตัวละครเอกจาก Dragon Age II และครอบครัวของเขา  กล่าวได้ว่า จุดเด่นของนครรัฐฟรีมาร์ชเชสคือความหลากหลายของเชื้อชาติก็ว่าได้ และสำหรับชาวเธดัสแล้ว พื้นที่บริเวณนี้ก็ถือเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของพวกเขาอีกด้วย

    (ฉากการต่อสู้ของฮอว์คกับชาวคุนารีในตัวอย่าง Dragon Age II)
    เอาล่ะ!  ตอนนี้มาถึงอาณาจักรทางใต้ของแผนที่กันแล้ว นั่นคือ อาณาจักรโอร์เลส์ (Orlais Empire) และ อาณาจักรเฟเรลเด็น (Ferelden) ซึ่งถือเป็นอาณาใหญ่ด้วยกันทั้งคู่ เป็นบ้านใกล้เรือนเคียงที่มีการปะทะกันประปราย แต่ยังพอจะประนีประนอมและสานสัมพันธ์กันได้โดยมีองค์กรทางศาสนาอย่างชานทรีเป็นตัวเชื่อม  

    ทางด้านประวัติศาสตร์ อาณาจักรโอร์เลส์มีความเป็นมายาวนานกว่าเฟเรลเด็นอยู่ไม่น้อย บรรพบุรุษของพวกเขาคือคนกลุ่มแรกๆ ที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในเธดัสพร้อมๆ กับคนในจักรวรรดิเทวินเทอร์เลย
    ทีเดียว อีกทั้งยังคงรักษาความรุ่งเรืองยิ่งใหญ่มาได้จนถึงปัจจุบัน  ศิลปะและแฟชั่นนั้นเฟื่องฟูอย่างยิ่งในโอร์เลส์ ผู้คนจะแต่งตัวสวยงามและนิยมสวมหน้ากากคล้ายกับจะไปงานเลี้ยงได้ตลอดเวลา ถ้าจะเปรียบให้เห็นภาพ อาณาจักรโอร์เลส์ก็คงคล้ายๆ กับประเทศฝรั่งเศสในยุคเรอแนซ็องส์นั่นเอง
    (สถาปัตยกรรมและเครื่องแต่งกายของชาวโอร์เลเชียน)
    นอกจากนี้ ที่วัล รอโยซ์ (Val Royeaux) เมืองหลวงของอาณาจักรโอร์เลส์ยังเป็นศูนย์กลางสัญลักษณ์ของความเจริญ ศาสนา และการปกครองอีกมากมาย เช่น University of Orlais มหาวิทยาลัยซึ่งเหล่าลูกๆ หลานๆ ของชนชั้นนำในเธดัสเข้ามาศึกษาหาความรู้  หอคอยไวท์ สไปร์ (White Spire tower) สถานที่ที่
    เซอร์เคิล ออฟ เมไจกลุ่มแรกตั้งขึ้น  Grand Cathedral มหาวิหารที่ประทับของดิไวน์ (Divine) ประมุขของ Chant of light  และองค์กร Seekers of Truth หน่วยงานรักษาความมั่นคงของชานทรีซึ่งจะรับคำสั่งจากประมุขโดยตรงเท่านั้น  ด้วยเหตุนี้เอง หากเกิดภัยพิบัติขึ้นกับวัล รอโยซ์หรืออาณาจักรโอร์เลส์ คงพอเดากันได้เลยว่าจะก่อคลื่นความโกลาหลให้กระเพื่อมไปทั่วทวีปเธดัสได้มากขนาดไหน

    ส่วนอาณาจักรใหญ่ที่อยู่เคียงกันอย่างเฟเรลเด็นนั้น เพิ่งจะก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณ 400 ปีก่อนจะเกิดเดอะไบลท์ ครั้งที่ 5  และชื่อของอาณาจักรมีความหมายว่า "หุบเขาอันอุดมสมบูรณ์"  ผู้เขียนสันนิษฐานว่า
    สาเหตุที่เฟเรลเด็นเพิ่งจะตั้งประเทศได้ไม่นาน อาจจะเป็นเพราะเกิดการสู้รบหลายระลอกในพื้นที่แถบนี้ ทั้งเพื่อป้องกันการรุกรานจากจักรวรรดิเทวินเทอร์และอาณาจักรโอร์เลส์ และสู้รบกับชนพื้นเมืองที่อยู่มาก่อน  แต่แม้จะตั้งขึ้นไม่นานและเป็นสมรภูมิอยู่บ่อยๆ ฟาเรลเด็นก็รวมตัวกันได้เป็นปึกแผ่นมาจนถึงปัจจุบัน ชนชั้นทางสังคมของเฟเรลเด็นจะแบ่งตามทักษะและศักยภาพของพวกเขา อาชีพที่โดดเด่นของคนที่นี่จึงเป็นด้านงานฝีมือ เช่น ช่างตีอาวุธ ช่างตีเกราะ เป็นต้น
    (conceptual art ของชุมชนชาวเฟเรลเดน)

    ใครอ่านมาถึงตรงนี้ ถือว่าท่านได้ทำความรู้จักอาณาจักรต่างๆ ในทวีปเธดัสเกือบจะทั่วทุกอาณาจักรก็ว่าได้ จะเหลือก็เพียงกลุ่มวัฒนธรรมย่อยหรือเมืองของชนเผ่าอื่นๆ เช่น เอลฟ์ และคนแคระ ซึ่งในปัจจุบันคนกลุ่มนี้มีอิทธิพลไม่เท่ามนุษย์ หรือไม่ก็มีความสำคัญ มีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์เฉพาะด้าน ผู้เขียนจึงคิดว่าหากเล่าเจาะเป็นกลุ่มๆ น่าจะช่วยให้เข้าใจได้ง่ายกว่า  ดังนั้น ใครที่รอส่วนของเอลฟ์และคนแคระ เราจะมาพบกันใหม่ในโอกาสหน้านะคะ 

    สุดท้ายนี้ หากผู้อ่านท่านใดเคยเล่นหรือเคยอ่าน Dragon Age ภาคต่างๆ มาบ้าง สามารถแลกเปลี่ยนเรื่องราวและตำนานการผจญภัยของชาวเธโดเชี่ยนกันได้เลย ยินดีเป็นอย่างยิ่งเลยค่ะ :)

        




Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in