เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รักเขาเท่าทะเลBUNBOOKISH
บทที่ 1: เราพบกันเพราะคิดถึงทุกปี




  • แด่... เศษทรายในกระเป๋า 
    และ บันทึกจากหุบเขาฝนโปรยไพร





  • 1.

    ไม่ใช่นักเขียนทุกคนที่ผมจะอยากได้ลายเซ็นของเขา ยิ่งในวัยนี้ที่ความพยายามในการไปต่อแถวขอลายเซ็นใครต่อใครหดหาย แต่ในงานหนังสือปีหนึ่ง ผมก็ไปหยุดอยู่ที่บูทของสำนักพิมพ์หนึ่งเพื่อขอลายเซ็น บินหลา สันกาลาคีรี คงไม่เกินเลยไปนัก ถ้าจะบอกว่าตัวอักษรของเขาเป็นหนึ่งในแรงผลักดันให้ผมอยากเขียนหนังสือให้ดีขึ้นกว่าที่เป็น

    ผมยื่น คิดถึงทุกปี หนึ่งในหนังสือเล่มโปรดให้เขาเซ็น

    เขายิ้ม ก่อนจะบอกผมว่าเขาเซ็นไม่ได้



    แม้จะเคยได้ข่าวคราวมาก่อนว่าเขาล้มป่วยครั้งใหญ่จนร่างกายซีกขวามีปัญหา แต่ก็ไม่คิดว่าเพียงแค่ข้อความสั้นๆ หรือลายเซ็น เขาก็ไม่อาจประคองมือเพื่อเขียนมันได้ 

    แต่คนอย่างบินหลาก็ไม่ทำลายน้ำใจคนอ่านที่ดั้นด้นมาขอลายเซ็น เขาเสนอทางออก บอกขอเปลี่ยนเป็นประทับตราที่เตรียมมาแทนได้ไหม

    แล้วเขาก็ใช้มือซ้ายที่ยังใช้การได้ดี ประทับตราลงที่หน้าแรกของหนังสือว่า

    ‘เราพบกันเพราะหนังสือ 
    ในสถานการณ์ปีกขวาชำรุด ฤดูฝน 2014’

    “เป็นเรื่องดีที่จะบันทึกว่าปีนี้ผมทำอะไรไม่ได้ ผมใช้คำว่า ‘ปีกชำรุด’ และลงปีไว้ด้วย ตั้งใจว่าจะใช้แค่ปีเดียวแล้วผมจะเก็บมันไว้” บินหลาอธิบายที่มาของตราประทับนั้น

    แม้จะไม่ได้ลายเซ็นอย่างที่ตั้งใจ แต่ความรู้สึกของผมไม่ได้ใกล้เคียงกับคำว่าผิดหวังแต่อย่างใด

    กลับตรงกันข้ามเลยด้วยซ้ำ
  • 2.

    หลังจากวันนั้น หน้าที่การงานก็ได้พัดพาให้ผมต้องบินไปหาบินหลาอีกครั้ง

    950 กิโลเมตรคือระยะห่างระหว่างกรุงเทพฯ กับสงขลา และระยะห่างระหว่างบินหลากับผม

    เรานัดหมายกันทางโทรศัพท์ ปลายสายบอกว่าเขากลับบ้านที่สงขลาเพื่อไปหาหมอ เมื่อได้ยินดังนั้นผมจึงรู้ว่าสุขภาพของเขายังไม่กลับมาแข็งแรงร้อยเปอร์เซ็นต์

    “คุณบินสายการบินอะไร ไฟลต์ไหน เดี๋ยวขับรถไปรับ” บินหลาเอ่ยประโยคที่ผมเองไม่กล้าเรียกร้อง

    ระยะทางจากตัวเมืองสงขลามาสนามบินหาดใหญ่ไม่ไกลสำหรับคนทั่วไป แต่สำหรับบินหลาในวันนี้ ผมยอมรับว่าอดเกรงใจไม่ได้

    แต่เมื่อเขาเอ่ยปาก ใครจะกล้าทำลายน้ำใจที่เขาหยิบยื่นให้ได้ลงคอ

    ที่ประตูทางเข้าสนามบิน รถนิสสันมาร์ชสีขาวเคลื่อนมาจอดโดยมีบินหลานั่งอยู่หลังพวงมาลัยคนขับ หลังทักทายและเอ่ยคำขอบคุณ ผมก้าวขึ้นรถ แล้วยานพาหนะสี่ล้อก็พาเรามุ่งหน้าสู่ตัวเมืองสงขลา

    บินหลาบอกว่าจะพาผมไปหาดสมิหลา เผื่อจะหาทำเลถ่ายรูปกันแถวนั้น

    ในห้องโดยสารเขาย้อนเล่าถึงเหตุการณ์วันที่ล้มลงแล้วร่างกายซีกขวาขยับไม่ได้ วันนั้นหมอวินิจฉัยว่าเขาเป็นโรคเส้นเลือดในสมองตีบ

    “ตอนนั้นตกใจว่าเราเป็นอย่างนี้แล้วเหรอ เรายังอายุไม่ถึงห้าสิบเลยนะ แล้วก็กลัวว่าถ้าผมหาย ผมจะทำยังไงกับชีวิตดี แล้วถ้าผมไม่หาย ผมจะทำยังไงกับชีวิตดี”

    “ไม่ได้กลัวความตายใช่ไหม”

    “ผมไม่ได้รู้สึกว่าผมจะตายนะ ไม่ได้คิดเลย ผมรู้ว่าผมจะมีชีวิตอยู่อีกนาน แต่ถ้าทำอะไรไม่ได้เลย ผมจะมีชีวิตอยู่อีกนานไปทำไม”
  • เมื่อรถเริ่มเข้าเขตอำเภอเมือง บินหลาเริ่มสวมวิญญาณนักเล่าอย่างที่เขาถนัด บินหลาเกิดที่ชุมพร แต่ช่วงวัยเด็กจนถึงวัยรุ่นเติบโตที่สงขลา เมื่อมีความทรงจำมากมาย เรื่องเล่าจึงมากตาม ขับรถผ่านร้านอาหาร ผ่านโรงเรียน ผ่านภูเขา ผ่านทะเล เขาขุดความรู้และความทรงจำเมื่อวันเก่ามาเล่าได้ทันที

    ไม่นานรถสีขาวก็วิ่งเข้าสู่ถนนเลียบหาดสมิหลา บินหลาเล่าถึงความผูกพันของเขากับทะเลแห่งนี้ให้ฟังว่า ตอนเด็ก เขาและเพื่อนๆ มักจะมาเล่นน้ำกันที่นี่ จนกระทั่งเมื่อเติบโตต้องย้ายถิ่นฐาน ความผูกพันระหว่างเขากับทะเลจึงถูกคลายออกจนเขากลายเป็นคนที่ใกล้ชิดกับภูเขามากกว่า หลังจากไปซื้อบ้านเพื่อเขียนหนังสืออยู่ที่เชียงใหม่

    “คุณเป็นคนชอบคิดถึงอดีตหรืออนาคตมากกว่ากัน” ผมถามเขาขณะที่วิวนอกรถเป็นท้องทะเล

    “ผมเป็นคนไม่ลืมอดีตนะ ไม่ได้คิดว่าอดีตเป็นเรื่องในอดีต ผมคิดว่าอดีตมีไว้ทบทวน ถ้าถามว่าอะไรสำคัญกว่าสำหรับผม อนาคตสำคัญกว่าอดีต แต่อดีตมีส่วนช่วยในการไตร่ตรองสำรวจ และเลือกสรรสิ่งต่างๆ เวลาที่เราต้องตัดสินใจ เราใช้อดีตในการตัดสินใจ เพราะอดีตคือประสบการณ์

    “แล้วหลายอย่าง คำตอบมันอยู่ที่อดีตนะ ไม่ได้อยู่ที่อนาคต”
  • 3.

    “ผมขออะไรคุณอย่างเดียว”

    บินหลาเอ่ยประโยคนี้ ตอนนั่งร่วมโต๊ะอาหารมื้อแรกกับผมในสงขลา ผมเองก็เดาไม่ถูกว่า คนอย่างบินหลาจะเรียกร้องเอาอะไรจากผม

    “ถ้าผมเลี้ยง คุณห้ามปฏิเสธ” บินหลาเฉลยคำขอ ผมส่ายหน้าและปฏิเสธทันที ก็กินด้วยกัน อยู่ด้วยกัน
    ทางออกที่ควรคือช่วยกันจ่าย ไม่ใช่เอาเปรียบให้เขาจ่ายอยู่ฝ่ายเดียวจริงไหม

    “คุณยังมีเวลาจ่ายอีกเยอะ ผมมีเวลาจ่ายน้อย” บินหลาอธิบาย

    “ตอนนี้ผมอยู่คนเดียว ลูกไม่ต้องเลี้ยง เมียไม่ต้องเลี้ยง พ่อแม่ก็ไม่ต้องเลี้ยง ไม่มีใครที่ผมต้องเลี้ยงเลยจริงๆ คุณเก็บเงินเอาไปจ่าย เอาไปเลี้ยงคนอื่นต่อ แล้วบอกให้เขาเลี้ยงรุ่นต่อไป นั่นสำคัญที่สุด”

    ในโลกยุคที่ทุกคนพยายามฉวยเอาประโยชน์จากสิ่งตรงหน้าให้มากที่สุด ยอมรับว่าผมไม่ค่อยคุ้นเคยกับประโยคของเขา

    “ตอนเด็กๆ เคยมีรุ่นพี่เลี้ยงข้าวผม เพราะตอนนั้นผมไม่มีเงินกินข้าวเลย เขาบอกว่ามึงไม่ต้องตอบแทนกู แต่ถ้ามึงมีตังค์กินข้าว มึงก็เลี้ยงน้องบ้าง แล้วก็สอนให้น้องเลี้ยงรุ่นต่อไป”

    วันนี้บินหลาก็ยังคงซื่อสัตย์กับคำของรุ่นพี่ ในขณะที่ผมยอมรับว่าไม่มั่นใจ ว่าตัวเองจะสัตย์ซื่อต่อถ้อยคำที่ได้รับการส่งต่อมาจากเขาหรือเปล่า

    ‘ทุกครั้ง ทุกขวด ทุกวง ทุกที่ ทุกบาท ทุกสตางค์ เขาเป็นคนจ่าย’

    วรพจน์ พันธุ์พงศ์—นักเขียนในดวงใจของผมอีกคนเคยเขียนถึงเพื่อนผู้มีนามปากกาว่าบินหลา ไว้ในคำนำหนังสือ คนรู้จัก ว่าอย่างนั้น

    วิถีปฏิบัติของเขาอาจไม่ถูกต้องนักในมุมมองของนักออมเงิน และหากย้อนมอง ผมรู้สึกว่าถ้าเขาเห็นแก่ตัวกว่านี้ ไม่เลี้ยงดูน้องนุ่งมากมายขนาดนี้ รู้จักเก็บออมกว่านี้ วันนี้เขาอาจสบายกว่านี้

    แต่นั่นแหละ ในเมื่อเขาชอบแบบนี้ เขาเชื่อแบบนี้ เขาก็มีความสุขดีกับวิถีชีวิตเช่นนี้
  • 4.

    เมื่อพระอาทิตย์ตกดิน พวกเราเดินทางไปยังร้านอาหารริมทะเลบนเกาะยอ ระหว่างรถแล่นข้ามสะพาน ผมชวนบินหลาคุยเรื่องที่คิดว่าเขาน่าจะเข้าใจมันดีที่สุดเรื่องหนึ่ง

    เราคุยกันเรื่องความรัก

    ใครก็ตามที่เคยอ่านนวนิยายของบินหลาจะพบว่าเขาเขียนถึงความรักได้อย่างละเอียดอ่อน ลึกซึ้ง ราวกับเข้าใจมันเป็นอย่างดีและจัดการสิ่งนามธรรมนี้ได้อยู่มือ

    ข้าพเจ้า “รัก” คำว่า “คิดถึง” และมักจะ “คิดถึง” คำว่า “รัก”

    ประโยคนี้ปรากฏเห็นเด่นชัดบนหน้าปกหนังสือ คิดถึงทุกปี—หนังสือเล่มที่ทำให้เราพบกัน

    บินหลาบอกว่าเรื่องที่เขาสนใจ หยิบจับมาเป็นประเด็นหลักในนวนิยายมีอยู่สองเรื่อง

    หนึ่ง ความรัก, สอง ความยุติธรรม

    “มีแค่สองเรื่องนี้เท่านั้นแหละ แต่ปัญหาคือสองอย่างนี้เป็นขั้วตรงข้ามกัน คือในความรักไม่มีความยุติธรรม ถ้าคุณชอบคนนี้คุณก็ชอบคนนี้ ไม่ใช่คนนี้ดีกว่าคุณจึงชอบ ไม่เกี่ยวกับความดีเลย เกี่ยวกับความรักอย่างเดียว แล้วตรงกันข้ามในความยุติธรรมก็ไม่มีความรัก ถ้าคุณจะเลือกว่านาย ข ผิด คุณก็เลือกที่ความผิด ไม่ได้เลือกเพราะคุณรักนาย ก นาย ข จึงผิด

    “แต่คนชอบเอาสองเรื่องนี้มาปนกัน มาผสมกัน เรื่องที่คุณต้องใช้ความยุติธรรมเป็นตัวตัดสิน คุณเอาความรักมาเป็นตัวตัดสิน เรื่องที่คุณต้องเอาความรักเป็นตัวตัดสิน คุณเอาความยุติธรรมมาเป็นตัวตัดสิน คุณก็เลยเจอทุกอย่างที่มันผิดเพี้ยนไปหมด สำหรับผม สองเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ของมนุษย์”
  • “แล้วนักเขียนที่เขียนเรื่องความรักอย่างคุณเคยอกหักจนทำงานไม่ได้หรือเขียนหนังสือไม่ไหวบ้างไหม” ผมถาม

    “เคยมี ตอนที่ผมไปอินเดีย ตอนนั้นผมมีแฟนอยู่แล้วแต่ผมไม่ได้คิดถึงเขาเลย ช่วงนั้นผมเขียน คิดถึงทุกปี แต่ไม่เกี่ยวกับแฟนที่คบอยู่เลย ผมกลับคิดถึงหญิงสาวอีกคนหนึ่ง ผมเลยตั้งใจว่ากลับไปจะขอเลิกกับแฟน

    “พอกลับมาไทย ยังไม่ทันบอกเลิกแฟน ผมก็พบว่าแฟนมีผู้ชายอีกคนหนึ่งแล้ว จากผมที่ควรจะสบายใจ ไม่ต้องบอกเลิก ไม่ต้องรู้สึกผิด กลายเป็นคนอกหักเลย กลายเป็นว่าผมรักเขามาก ช่วงนั้นผมอยู่เชียงใหม่ แต่พอลงมากรุงเทพฯ เขาก็ไม่ไปไหนกับผมแล้ว ไปไหนก็ไม่มีเพื่อนไปด้วย ช่วงนั้นมันแย่มาก ทำอะไรไม่ได้เลย จำได้ว่าผมต้องโทร. ไปคุยกับเพื่อนตลอด เดือนนั้นค่าโทรศัพท์เป็นหมื่น ผมโทร. แบบไร้สติ จำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าคุยอะไรไปบ้าง แต่จำได้ว่าไม่น่าจะมีอะไรสำคัญ”

    “วรรณกรรม บทกวี เกี่ยวกับความรักที่อ่านมาทั้งชีวิตช่วยเยียวยาไม่ได้เลยหรือ”

    “คนอ่าน คิดถึงทุกปี เขาก็คงรู้สึกว่า ผมเข้าใจความรักดีฉิบหาย แต่ผมพบว่า พอมีความรักที่มันซ้อนขึ้นมา ผมหงายหลังเลย”

    “จริงๆ แล้วคุณแตกฉานในเรื่องความรักหรือเปล่า” ผมถามชายโสดวัย 51 ปี
  • “ไม่แน่ใจ ผมก็ไม่รู้ว่าผมแตกฉานหรือไม่แตกฉาน แต่ผมเข้าใจว่าความรักกับการแต่งงานเป็นคนละเรื่องกัน คุณมีความรักคุณก็มีไป คุณจะแต่งงานคุณก็แต่งไป

    “ทุกวันนี้เวลาเจอเพื่อนสมัยมัธยม ทุกคนแต่งงานมีลูกกันหมดแล้ว เขาก็จะงงว่า ผมอยู่ยังไง ถ้าหาแฟนไม่ได้เดี๋ยวช่วยหาให้ ซึ่งมีเยอะมาก แล้วเป็นเรื่องยากที่จะไปอธิบายกับคนพวกนั้นว่า การเป็นคนโสดไม่ใช่คนไม่มีความรัก โสดกับมีความรักเป็นคนละเรื่องกัน และการแต่งงานกับมีความรักก็คนละเรื่องกัน”

    แม้จะไม่ได้แต่งงาน แต่บินหลาบอกว่าตัวเองไม่ได้ปราศจากความรักและคนรัก ตรงกันข้าม เขามีคนรักต่อเนื่องสม่ำเสมอ ตั้งแต่สมัยเรียนจนถึงตอนนี้

    “ผมรักคนเร็ว แต่ผมเป็นคนที่ตระหนักเรื่องความรักและการแต่งงานกับผู้หญิงสักคนค่อนข้างมาก คือใช้เวลาตรวจสอบเขา แล้วก็ให้เขาตรวจสอบผมด้วย”

    ระหว่างทางไปร้านอาหาร ผมเห็นเงาจันทร์ในน้ำทะเลชัดเจน จะมองว่าสวยก็สวย จะว่าโดดเดี่ยวก็โดดเดี่ยว

    และกับความรัก บางคราก็คงเป็นเช่นนั้น
  • 5.

    วันสุดท้าย ก่อนผมจะเดินทางกลับกรุงเทพฯ บินหลาพาผมนั่งรถเลียบหาดสมิหลา ก่อนจอดรถเพื่อคุยกันในเรื่องที่ผมยังค้างคา

    วิญญาณนักเดินทางของเขายังคงเข้มข้น แม้ในยามที่ร่างกายไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ หลังการพูดคุยเสร็จสิ้นเขาเอ่ยปากชวนผมไปมะละกาด้วยกัน แต่ผมจำเป็นต้องปฏิเสธ

    หลังจากแยกย้าย ได้ข่าวว่าเขาเปลี่ยนเป้าหมายจากมะละกาเป็นปีนัง ส่วนผมเดินทางกลับกรุงเทพฯ เพื่อสะสางงานการที่คั่งค้าง

    คล้อยหลังไม่ถึงสัปดาห์ ผมพบเขาอีกครั้งที่ร้าน The Writer’s Secret ที่กรุงเทพฯ โดยบังเอิญ

    ร้านหนังสือนี้เคยเป็นสำนักงานของนิตยสาร ไรท์เตอร์ นิตยสารว่าด้วยแวดวงวรรณกรรมที่เขาชุบชีวิตขึ้นมาเป็นรุ่นที่สาม ถัดจากยุคแรกของ ขจรฤทธิ์ รักษา และยุคต่อมาคือ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์

    ในงานแถลงข่าวการกลับมาของนิตยสาร ไรท์เตอร์ ราวห้าปีก่อน ผมก็เป็นหนึ่งในสักขีพยาน จำได้ว่าวันนั้นสีหน้าและแววตาของบินหลาเปี่ยมไปด้วยพลัง
  • เช่นเดียวกัน ในวันแถลงข่าวปิดตัวนิตยสารไรท์เตอร์ เมื่อปลายปีที่แล้ว ผมก็อยู่เป็นผู้ร่วมเหตุการณ์

    นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมเห็นน้ำตาของชายชื่อบินหลา

    ไม่ได้เสียใจกับการปิดตัวของนิตยสารแต่อย่างใด เขาเพียงเล่าเรื่องราวที่กระทบหัวใจแล้วกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่

    การพบกันอีกครั้งที่ร้านหนังสือแห่งนี้จึงทำให้ผมคิดถึงสิ่งที่ถามเขาตอนที่เราสองคนนั่งคุยกันบนรถริมหาดสมิหลา—การทำไรท์เตอร์ เขาต้องแลกมาด้วยอะไรบ้าง

    “ก่อนทำไรท์เตอร์ ผมมีเงินสดในบัญชีหนึ่งแสนบาท ตอนปิดไรท์เตอร์ ผมไม่มีเงิน ถ้าพูดให้ง่ายๆ สบายๆ คือผมเสียเงินไปแสนนึงสำหรับการทำไรท์เตอร์ สี่ปี แต่เงินที่ใช้ทำไรท์เตอร์ ทั้งหมดเยอะนะ มีเงินที่พ่อให้ผมมาแสนนึง เป็นเงินที่อากู๋ (ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม) ให้มาล้านนึง ส่วนของผม มันก็หมดไปแค่แสนนึง ซึ่งผมหาใหม่ได้”

    “เสียดายเงินแสนไหม”

    “โคตรคุ้มเลยคุณ จะมีอะไรคุ้มกว่านี้อีก ผมโคตรจะพอใจ ผมรู้สึกว่าสี่ห้าปีในการทำไรท์เตอร์ เป็นสี่ห้าปีที่มีความหมายกับชีวิตผมมาก มีความฝันหลายอย่างที่ผมยังทำไม่ได้ แต่มันช่วยไม่ได้ที่ผมทำไม่หมด ผมมีฝีมือแค่นี้ แต่ผมก็มีความสุขที่ได้ทำ ได้แสดงให้สังคมเห็นว่า มันเกิดมาอย่างมีคุณค่า

    “ผมพูดตลอดว่าหนังสือเกิดมาเพื่อจะตาย การตายเป็นเรื่องธรรมดา และวันหนึ่งหนังสือก็จะพบกับเรื่องธรรมดา เหมือนชีวิต วันหนึ่งก็ต้องตาย สิ่งสำคัญคือทำยังไงให้ชีวิตมีคุณค่า”

    ผมนึกถึงคำของเขาที่ว่า ถ้าผมทำอะไรไม่ได้เลย จะมีชีวิตอยู่อีกนานไปทำไม

    ใช่, เขาไม่ได้สนใจเรื่องอยู่นานแค่ไหน เขาสนใจว่าอยู่อย่างไรมากกว่า

    “วันที่ไรท์เตอร์ ตายจากไป คนในสังคมจำนวนไม่น้อยอาลัยและคิดถึง ผมจึงรู้สึกว่ามันมีความหมาย

    “ชีวิตที่เกิดมามีความหมายเป็นชีวิตที่น่าดีใจนะ”

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
ถ้ามีโอกาสได้ยินเสียงการสนทนาด้วยหู แทนการไล่อ่านตัวหนังสือตามไปทุกบรรทัด ความรู้สึกจะต้องทึ่งไปกว่านี้อีกเท่าไหร่ ... ขอบคุณ บทที่ 1: เราพบกันเพราะคิดถึงทุกปี