เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ห้องตรวจหมายเลข 5นักเล่าเรื่อง
ห้องตรวจหมายเลข 5
  • วัดความดันเสร็จแล้วเชิญรอหมอที่หน้าห้องตรวจหมายเลข5 นะคะพยาบาลที่วัดความดันให้บอกกับฉันหลังจากหายตกใจที่ความดันของฉันสูงยิ่งกว่าคนเป็นโรคความดันสูงเสียอีก

    ฉันเดินไปนั่งรอหมอเงียบๆ ที่หน้าห้องตรวจหมายเลข 5ข้าง ๆ ฉันมีหญิงสาวคนหนึ่งอายุน่าจะน้อยกว่าฉันไม่มากนักสีหน้าของเธอเศร้าหมองและท่าทางเซื่องซึมจนฉันอดคิดไม่ได้ว่าเธอไปเจอเรื่องอะไรมากันแน่หนักหนากว่าชีวิตของฉันหรือเปล่า ฉันนั่งรอคิวไม่นานก็ถึงเวลาที่ฉันเข้าไปเจอ หมอ Cเป็นครั้งแรก

                “วันนี้มีอะไรให้หมอช่วยครับ” หมอ C ทักฉันเป็นคำแรก

                “เอ่อ...แล้ว...คนที่มาหาจิตแพทย์นี่เขาให้หมอช่วยอะไรได้เหรอคะ”

                ฉันใช้เวลาแทบครึ่งค่อนวันในการหาจิตแพทย์ที่เปิดให้คำปรึกษานอกเวลาราชการอย่างวันสุดสัปดาห์สุดท้ายแล้วฉันก็ได้นัดมาที่นี่ แต่เอาเข้าจริง ๆ แล้วฉันไม่มีความรู้เลยว่าคนที่ไปพบจิตแพทย์นี่เขาพูดคุยอะไรกันบ้าง

                ก่อนจะถึงด่านพบหมอด้วยความที่ฉันเป็นผู้ป่วยใหม่ พยาบาลจะเข้ามาถามอาการคร่าว ๆ ก่อน ตอนนั้นฉันบอกไม่ถูกหรอกว่ารู้สึกอะไรยังไง ทำไมต้องพบจิตแพทย์ ฉันบอกกับพยาบาลแค่ว่า เป็นคนคิดลบค่ะและเศร้า แค่นั้น

                “ก็อย่างเช่นเครียด นอนไม่หลับหรืออะไรทำนองนี้น่ะครับ” หมอให้แนวทางคำตอบกับฉัน

                “อ๋อ พอดีเป็นคนคิดลบค่ะ”ฉันทวนคำพูดตัวเองให้หมอฟังอีกครั้ง หมอพยักหน้าหงึก ๆ แล้วให้ฉันอธิบายให้ละเอียดว่ามีความคิดลบยังไงบ้าง

                “คือ...ไม่ว่าจะเจอกับเหตุการณ์อะไรจะมองโลกในแง่ร้ายตลอดทั้งๆ ที่เพื่อนคนอื่นที่เจอเหตุการณ์เดียวกันเขามองโลกในแง่บวกได้ แต่ฉันทำไม่ได้คือ...เหมือนมีภาพเหตุการณ์ร้าย ๆ เข้ามาในหัวอยู่ตลอดเวลา เช่น นั่งรถไฟฟ้าอยู่ก็คิดว่ารถไฟฟ้าตกลงไปข้างล่างตายกันหมด, เดินอยู่บนฟุตบาทก็คิดว่ารถที่ผ่านมาจะเบรกแตกแล้วมาชนฉันจนตาย,อยู่ ๆ ก็มีช่างกลตีกันและฉันโดนลูกหลง, คนในครอบครัวของฉันตายไปทีละคน,ฉันโดนด่า, ครอบครัวทอดทิ้งฉัน สิ่งเหล่านี้มันเหมือนไม่ใช่แค่ความคิดแต่มันเหมือนภาพโปรเจคเตอร์ฉายเข้ามาในสมองค่ะ”

                ฉันพรั่งพรูคำพูดจากทะเลความคิดออกมาเท่าที่พอจะนึกออกท่าทางของหมอตอนที่นั่งฟังดูสบาย ๆ มาก ก็แน่ล่ะในแต่ละวันหมอต้องเจอกับเรื่องเล่าจากคนไข้ตั้งเท่าไหร่เรื่องพวกนี้คงเป็นเรื่องซ้ำซากจำเจเหมือนเรื่องกินข้าวหรือเข้านอนในใจของฉันคิดวนเวียนถึงเรื่องอื่นไปด้วย

                ไร้สาระเกินไปหรือเปล่าหมอจะเชื่อฉันไหม ใครมันจะคิดได้ขนาดนี้

                “ทำไมคุณถึงมาหาหมอครับ”

                “ก็...แค่...อยากรู้ว่าความคิดพวกนี้มันคืออะไรฉันเป็นอะไรมากหรือเปล่า และมีเพื่อนแนะนำให้มาหาด้วยค่ะ”

                ขอย้อนไปอีกสักนิดตอนที่ฉันตัดสินใจนัดพบจิตแพทย์เพื่อนสมัยมหาลัยคนหนึ่งของฉันก็สนับสนุนให้ฉันลองพบจิตแพทย์ดูเหมือนกันและเขาเฉลยออกมากับฉันเองเลยว่าที่จริงแล้วเขาจะลากฉันไปพบนักจิตบำบัดตั้งแต่สมัยเรียนมหาลัยแล้ว แต่ก็ไม่ได้ทำ

                “คือคุณตัดสินใจมาหาหมอเองเลยใช่ไหม”

                “ใช่ค่ะ”

                คำถามและคำตอบนี้ถึงแม้มันจะดูเรียบง่ายแต่มันเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับจิตแพทย์ เพราะหากคนไข้ตัดสินใจมาหาหมอเองนั่นแสดงว่าคนไข้ตระหนักรู้ถึงความผิดปกติทางด้านอารมณ์หรือการใช้ชีวิตและมีความต้องการจะหายแต่หากเป็นคนไข้ที่โดนคนอื่นโน้มน้าวให้มาโดยที่ไม่มีความคิดจะมาพบจิตแพทย์มาก่อนหรือเป็นคนไข้ที่โดนคนรอบข้างบังคับให้มานั่นหมายถึงเขาหรือเธอยังไม่ตระหนักถึงความผิดปกติใด ๆ ในด้านความเจ็บป่วยทางใจนั่นเอง

                “เป็นมานานแค่ไหนแล้วครับ”

                “หลายปีแล้วค่ะแต่ช่วงนี้ตั้งแต่เปลี่ยนงานใหม่มาก็จะหนักหน่อย”

                “ความคิดพวกนี้มันรบกวนการใช้ชีวิตของคุณยังไงครับ”

                “ก็...ไม่มีสมาธิทำงานค่ะ ลืมง่าย ความคิดพวกนี้ทำให้ร้องไห้บ่อยด้วยส่วนมากก็ในสถานที่ที่ไม่ควรร้องไห้ เช่น ในบริษัท, บนรถไฟฟ้าพวกสถานที่สาธารณะน่ะค่ะ”

                ฉันและหมอถามกันไปตอบกันมาอยู่หลายคำถามหมอเองก็สังเกตว่าฉันตอบตรงคำถามด้วยน้ำเสียงมั่นใจ ไม่เยิ่นเย้อเล่าวกไปวนมานั่นคือภาษากาย (Bodylanguage) ที่หมอจะสังเกตจากคนไข้ทุกครั้งที่ตรวจเพื่อใช้ประกอบการวินิจฉัยโรค รวมไปถึงคำถามที่ว่า ความคิดนี้รบกวนคุณยังไงเป็นคำถามที่ใช้แยกระหว่าง ไม่มีอะไร แกน่ะคิดมาก และผู้ป่วยโรค OCDได้ อย่างที่เคยเกริ่นไปแล้วในบทนำ

                “ญาติของคุณเคยมีใครมีอาการทางจิตหรือเป็นโรคทางจิตเวชไหมครับ”

                “มีค่ะเหมือนแม่จะเคยเล่าให้ฟังว่าทวดต้องเข้าโรงพยาบาลจิตเวช แต่ไม่ได้บอกว่าอาการเป็นยังไง”

                คำถามนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญและฉันคิดว่าจิตแพทย์ทุกคนจะต้องถามเมื่อพบคนไข้ครั้งแรกเนื่องจากผู้ป่วยที่เป็นโรคทางจิตเวชบางคนมีสาเหตุมาจากกรรมพันธุ์การถามถึงสุขภาพจิตของคนในครอบครัวจึงเป็นเรื่องสำคัญฉันเห็นหมอเขียนแผนผังเพดดีกรี[1]ลงในกระดาษแล้วนึกถึงสมัยเรียนชีวะฯตอนมอปลายหลังจากถามกันไปตอบกันมาหมอก็ได้ข้อสรุป

                “หมอกำลังสงสัยว่าคุณเป็นโรค OCD ชนิดย้ำคิดนะครับ”

                “หืม?! มันคือยังไงคะหมอ”

                “โรค OCD คือโรคย้ำคิดย้ำทำมีทั้งอาการย้ำคิดและอาการย้ำทำ แต่ของคุณยังไม่แสดงอาการย้ำทำออกมา รายละเอียดของโรคสามารถหาอ่านได้ในอินเทอร์เน็ตเลยครับ”

                “โอเคค่ะหมอ ขอบคุณค่ะ สวัสดีค่ะ”

                ฉันออกมาจากห้องตรวจด้วยความงง ๆ เล็กน้อยแต่ก็ถือว่าจิตแพทย์คนนี้ถูกโรคกับฉันอยู่อย่างหนึ่ง คือการถามมาตอบไป สรุปง่าย ๆ ไม่ต้องอธิบายให้มันมากความผู้ป่วยบางคนอาจจะต้องการระบายเยอะ ๆ พูดนาน ๆ แต่สำหรับคนที่ก่อกำแพงอิฐเสียสูงเสียดฟ้าเพื่อปิดกั้นตัวเองจากคนแปลกหน้าอย่างฉันแล้วจิตแพทย์ลักษณะอย่างนี้คือคนที่เหมาะสมกับฉันมากจริง ๆ

                หลังจากจ่ายค่าพบหมอและค่ายาฉันก็หิ้วถุงยาSerlift50 mg กลับมาด้วย พร้อมคำสั่งว่าต้องออกกำลังกายควบคู่กับการกินยาครึ่งเม็ด4 วัน หลังจากนั้นให้กินเต็มเม็ดจนกว่าจะนัดพบกันใหม่ในอีก 5สัปดาห์ถัดไป

                ยา Serliftเป็นชื่อยี่ห้อยาหนึ่งของยา Sertraline หนึ่งในยากลุ่ม SSRIs(Selective Serotonin Reuptake Inhibitors) เป็นกลุ่มยาต้านเศร้าที่ยับยั้งการดูดซึมกลับสารเซโรโทนินและสารเซโรโทนินนี้เองเป็นสารสื่อประสาทที่ส่งผลกับการควบคุมอารมณ์การย่อยอาหารและการนอนหลับ ก่อนที่หนังสือเล่มนี้จะกลายเป็นหนังสือวิชาชีวะฯมอปลายขออธิบายง่าย ๆ ก่อนเลยว่าเซลล์ประสาทที่มีหลายชนิดในสมองคนเราไม่สามารถสื่อสารกันได้เองและไม่ได้อยู่ติดกันเซลล์ประสาทเหล่านั้นจึงต้องปล่อยสารเซโรโทนินออกมาเพื่ออุดช่องว่างเหล่านั้นและทำหน้าที่เป็นสารสื่อประสาทเมื่อปล่อยออกมาระยะหนึ่งไอ้เจ้าเซลล์ประสาทก็ต้องดูดซึมสารเซโรโทนินส่วนเกินกลับไปเพื่อเก็บไว้ใช้ในการสื่อสารกันใหม่ในครั้งต่อไป

                โรค OCD และโรคทางจิตเวชอีกหลายโรคมักมีสาเหตุมาจากเซลล์ประสาทดูดกลับสารเซโรโทนินมากเกินไปทำให้เกิดภาวะไม่สมดุลของสารที่ว่านี้ในสมองการสื่อสารกันระหว่างเซลล์ประสาทก็จะไม่ไหลลื่นและเกิดปัญหาส่งผลให้เกิดอาการทางด้านอารมณ์และการควบคุมตัวเองตามมา เช่น ซึมเศร้า, นอนไม่หลับหรือหลับมากเกินไป,กินน้อยหรือกินมากเกินไป โกรธง่ายและก้าวร้าว

                การที่หมอสั่งกลุ่มยา SSRIs ที่เป็นตัวหยุดยั้งการดูดกลับสารเซโรโทนินของเซลล์ประสาททำให้สารดังกล่าวในสมองของผู้ป่วยสมดุลและเซลล์ประสาทสื่อสารกันได้เป็นปกติ แต่ยาต้านเศร้าพวกนี้มีผลข้างเคียงที่น่าหนักใจตามมามากมายเช่น เบื่ออาหาร, ปวดหัว, คลื่นไส้อาเจียน, ง่วงนอน, ความต้องการทางเพศลดลง,ขับถ่ายไม่ปกติ ผลข้างเคียงเหล่านี้มากน้อยขึ้นอยู่กับบุคคลทั้งนี้ทั้งนั้นอาการพวกนี้จะเป็นเฉพาะช่วงแรกๆในการทานยา สักประมาณ 2 อาทิตย์ เมื่อร่างกายปรับตัวกับจำนานสารเซโรโทนินในสมองได้แล้วร่างกายจะกลับมาเป็นปกติ นี่คือสิ่งที่หมอคาดหวังจากคนไข้แต่หากคนไข้ยังอาการไม่ดีขึ้น แถมผลข้างเคียงของยายังอยู่ก็ต้องมีการปรับยาตัวใหม่กันต่อไปคนไข้บางคนต้องปรับยากัน 4-5 รอบกว่าจะเจอยาที่ใช่สำหรับตัวเอง

                สำหรับฉันนั้นยา Serlift มีผลข้างเคียงกับร่างกายมากพอสมควร ในช่วง 4 วันแรกที่ต้องกินยาครึ่งเม็ดมันยังไม่เห็นผลอะไรจนฉันเกิดความกังวลขึ้นมาอีก

                ยาตัวนี้มันไม่เหมาะสำหรับฉันเหรอ หรือไม่มียาไหนในโลกนี้ที่ช่วยฉันได้

                แต่เมื่อกินแบบ 1 เม็ดไปได้สักสองวันสิ่งที่พบอย่างเห็นได้ชัดคือเบื่ออาหาร นี่เป็นครั้งแรกในชีวิตที่คนกินเก่งอย่างฉันได้รู้ว่า อ๋อ...เบื่ออาหารมันเป็นอย่างนี้นี่เองทุก ๆ วันทุก ๆ มื้อฉันไม่อยากกินอะไรเลยแค่เดินผ่านร้านอาหารแล้วได้กลิ่นก็แทบจะอ้วกออกมาให้ได้ ไม่อยากได้กลิ่นของกินไม่อยากแม้แต่จะชิม แต่ถึงอย่างนั้นร่างกายของฉันมันก็ต้องรู้สึกหิว

                “แกจะไม่กินอะไรไม่ได้นะเว้ยแล้วฉันจะย่อยอะไรล่ะ” เหมือนได้ยินเสียงกระเพาะบอกมาอย่างนี้

                “ไม่กินอาหารแล้วเอาพลังงานที่ไหนไปทำงานไหนพูดสิ” สมองก็เสริมทัพขึ้นมาว่าอย่างนี้

                ฉันจึงต้องกินอะไรง่าย ๆ เช่น ขนมปังแซนด์วิช และที่ขาดไม่ได้คือกาแฟ เพราะฉันติดคาเฟอีน แต่สิ่งที่ฉันไม่เลือกกินเลยตั้งแต่บัดนั้นจน4 เดือนถัดมา (ถ้าไม่ใช่เพราะแม่ทำให้หรือกินกับเพื่อน) คืออาหารคาวทุกอย่างรวมถึงข้าวสวย อาการนี้ทำให้ฉันน้ำหนักลดลงไป 4 กิโลกรัมในระยะเวลา5 สัปดาห์นี่อาจเป็นเหตุผลที่พ่อค้าแม่ค้าหัวใสนำยาต้านเศร้ามาหลอกขายวัยรุ่นที่หวังผอมทางลัดว่าเป็นยาลดความอ้วนการที่ฉันน้ำหนักลดลงขนาดนี้ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะยาแต่ส่วนใหญ่เป็นเพราะฉันออกกำลังกายตามที่หมอสั่ง ฉันวิ่งรอบคอนโดวันละ 30-40นาที 5-6 วันต่อสัปดาห์เพราะฉะนั้นวัยรุ่นที่หวังผอมทางลัด จงสำนึกไว้ว่านอกจากควบคุมอาหารแล้วใส่รองเท้ากีฬาแล้วไปออกกำลังกายเสีย เพื่อความสวยและผอมในอนาคต อย่าโดนพ่อค้าแม่ค้ามันหลอกเอาเงินไปเพื่อซื้อยาต้านเศร้าทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นโรคทางจิตเวชเลย

    นอกจากนี้ยังมีอาการนอนยากไม่แน่ใจว่าเพราะออกกำลังกายตอนค่ำด้วยหรือเปล่า[2] แต่ปกติจากที่ฉันนอนหลับตอน4 ทุ่ม ก็เริ่มเปลี่ยนไปเป็น 5 ทุ่มหรือ5 ทุ่มกว่า ๆ เมื่อหลับไปแล้วยังมีอาการนอนกัดฟันด้วยฉันไม่ได้อัดเสียงตัวเองตอนนอนหรอกนะ แต่ตื่นขึ้นมาแล้วปวดกรามจนเคี้ยวอะไรไม่ลงฉันจึงคิดว่าฉันน่าจะนอนกัดฟัน ระหว่างวันก็มีอาการเหมือนเมารถทั้ง ๆ ที่นั่งทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ทั้งวัน

                ผลข้างเคียงอีกอย่างหนึ่งของยาที่ฉันชอบมากคือฉันเป็นคนร่าเริงขึ้น พูดมากขึ้น อันนี้ส่งผลดีในที่ทำงาน แน่นอนยา Serlift ไม่ได้มาทำลายกำแพงอิฐมอญสูงเสียดฟ้าที่ฉันก่อเอาไว้แต่มันมาเปลี่ยนสีกำแพงจากสีแดงอิฐกลายเป็นสีใส ๆ คนรอบข้างมองเห็นฉันแล้วและฉันก็มองเห็นคนรอบข้างด้วยเช่นกัน ฉันและเพื่อนร่วมงานคุยกันสนิทใจมากขึ้นการปรับตัวในที่ทำงานด้านสังคมของฉันเร็วขึ้นถึงอย่างนั้นฉันก็มีความคิดสับสนเล็กน้อย

                นี่คือตัวฉันจริง ๆ ที่โดนความหดหู่ปิดกั้นเอาไว้มาทั้งชีวิตหรือนี่มันไม่ใช่ตัวฉันที่แท้จริงกันแน่

    ฉันคือใครทำไมถึงได้แตกต่างกับเมื่อก่อนขนาดนี้

              ฉันเป็นผู้ป่วย OCD จริง ๆ เหรอหมอบอกว่า ‘ผมสงสัยว่าคุณจะเป็นโรค OCD’ ก็ไม่ได้แปลว่าฉันเป็นเสียหน่อย ฉันอาจจะปกติดีก็ได้

    ความสับสนนี้ก่อความกังวลให้ฉันมากขึ้นๆ จนฉันรู้สึกหายใจไม่ทั่วท้องและพะอืมพะอมเหมือนจะอาเจียนทั้ง ๆ ที่ไม่ได้กินอะไรเข้าไปเลยเมื่อยายับยั้งการดูดซึมสารเซโรโทนินตอนนี้ดูเหมือนสารตัวนี้จะเพิ่มขึ้นท่วมสมองพอ ๆ กับทะเลความกังวลที่ท่วมจิตใจฉัน

    เพื่อนร่วมงานจะคิดยังไงกับบุคลิกที่เปลี่ยนไปของฉันนะฉันเป็นคนแปลกหรือเปล่า

    ประมาณ 2 สัปดาห์หลังจากนั้นฉันทำผิดพลาดครั้งใหญ่ในที่ทำงานจนบริษัทเสียหายไปสองหมื่นกว่าบาท จากทะเลแห่งความกังวลกลายเป็นมหาสมุทรยาไม่สามารถช่วยอะไรฉันได้อีกแล้วภาพและความคิดโหดร้ายเข้ามาในสมองทีละเล็กทีละน้อยจนมันเท่าตอนก่อนกินยาและต่อมามันเพิ่มขึ้นมากกว่าตอนฉันทำวิจัยสมัยมหาลัยเสียอีก ฉันไม่ไหวอีกแล้ว หมอC ต้องช่วยฉัน



    [1] แผนผังเพดดีกรีหรือเรียกภาษาไทยว่าพงศาวลีเป็นแผนผังแสดงลำดับเครือญาติเพื่อศึกษาการถ่ายทอดโรคทางพันธุกรรม

    [2] การออกกำลังกายตอนค่ำควรเว้นระยะเวลาก่อนนอน3-4 ชั่วโมง

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in