เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Let’s have Minimore fun!minimore
Tony Awards #NotSoWhite ชาวละครเวทีร่วมใจ นำเสนอความหลากหลายของโลกใบนี้
  • หลังจากเหตุการณ์ที่เมือง Orlando โลกทั้งโลกหลั่งน้ำตาให้กับความสูญเสียอันเกิดจากความเกลียดชังคนที่ไม่เหมือนตนเอง แรงจูงใจนั้นมุ่งตรงไปที่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) เขาต่างกับเราอย่างไรหรือ? ต่างแล้วจะอยู่ร่วมกันไม่ได้หรือไร? แต่งานประกาศผลรางวัล Tony Awards ซึ่งจัดหลังเกิดเหตุไม่กี่วันกลับประกาศจุดยืนของตนเองว่า โรงละครคือที่ที่ทำให้ฝันของทุกคนเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นชาติพันธุ์ใด จะมีเพศสภาพ เพศวิถี อย่างไร มนตราแห่งการละครมีอำนาจเหนือสิ่งเหล่านั้นเสมอ


    มินิมอร์เคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “โลกคือละคร ทุกตอนต้องแสดงทุกคนทนไป...” *ก้าวสเต็ปชะชะช่า* เดี๋ยวๆ นั่นมันเพลงสุนทราภรณ์ 

    แต่โลกนี้ก็คือโรงละครโรงใหญ่ที่คนเราต้องใช้กันไปในความเหมือนและความแตกต่าง และสิ่งที่เรียกว่า “ละครเวที” ได้เอาโลกทั้งใบเขียนใส่บทพูด ใช้แสงฉายให้เห็นความจริงที่ซ่อนเร้นในเงา และแสดงมันออกมาเบื้องหน้าผู้ชม ตีแผ่มุมที่คนยังไม่เคยเห็นให้ได้รู้ผ่านการแสดงสลับฉาก และ Tony Awards คืองานประกาศผลรางวัลละครเวทีที่ใหญ่ที่สุด ที่ปีนี้แสดงจุดยืนชัดมาก! ว่ายอมรับความหลากหลาย (Diversity) เพราะละครเวทีนั้นมีนักแสดงหลายชาติ หลากช่วงวัย และมีเพศสภาพรวมถึงเพศวิถีที่หลากหลาย แน่นอน Tony Awards สนับสนุนกลุ่ม LGBTQ ซึ่งเพิ่งตกเป็นเหยื่อในเหตุที่ Orlando และคนละครทั้งหลายก็ไม่ลังเลเลยที่จะแสดงออกถึงการสนับสนุนนั้น 


    ผู้เข้าร่วมงานกลัดริบบิ้นสีเงินที่อกเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ที่ Orlando 
    (ภาพจากสำนักข่าว AP ที่มา usatoday )



    แต่จะอย่างไร มินิมอร์ขอรวบรวมโมเมนต์ที่ชอบมาให้ดู
    เริ่มจากการเปิดงานเลย! 
  • 1. การกล่าวไว้อาลัยเหตุการณ์ที่ Orlando ของโฮสต์ในปีนี้ อย่าง James Corden

    James Corden กล่าวเปิดงานด้วยการไว้อาลัยเหตุการณ์ที่ Orlando “โศกนาฏกรรมของพวกคุณ ก็คือโศกนาฏกรรมของเรา” และยังเน้นย้ำ "ว่าโรงละครคือสถานที่ที่ทุกเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ เพศ มีความเท่าเทียมกัน... ความเกลียดชังจะไม่มีวันชนะ ขอให้มั่นใจได้เลยว่างานประกาศรางวัลคืนนี้จะยึดพื้นฐานของสิ่งนั้นไว้” แน่นอนว่าเขาหมายถึงความเท่าเทียมและความหลากหลาย

    เป็นประกาศที่ซึ้งกินใจจริงๆ ดูคลิปได้ ตรงนี้ นะ

    James Corden เป็นพิธีกรการประกาศรางวัล Tony Awards ครั้งที่ 70 ณ Beacon Theatre เมือง New York ของสหรัฐอเมริกาล่ะ....แต่เจมส์เป็นคนอังกฤษนะเอ้อ เขาพิธีกรดังจากรายการ The Late Late Night Show with James Corden ที่มีช่วง Carpool Karaoke ซึ่งพานักร้องดังมานั่งรถที่เจมส์ขับแล้วร้องเพลงไปด้วยกัน โดยตัวเขาเองก็มีดีกรีเป็นผู้ชนะจาก Tony Awards เมื่อปี 2012 ด้วย 

    มินิมอร์เคยดูสัมภาษณ์ คำถามคือคิดถึงบ้านไหม? เจมส์บอกตอบไปก็รู้สึกผิดกับครอบครัว แต่เขาคิดถึงสถาปัตยกรรมของอังกฤษมากกว่า คิดถึงหลังคาโบสถ์ (?) เขาไม่เคยรู้สึกว่าตนเองคือคนอังกฤษที่อยู่ในอเมริกา เขาว่าเขาเป็นประชากรของโลก (Global Citizen)

    เฮ้ เราว่างานโทนี่เลือกพิธีกรได้ดีเลยนะเนี่ย
  • 2. การแสดงเปิดงานของ James Corden ที่พูดถึง “มนต์วิเศษของโรงละคร ใครๆ ก็เป็นอย่างที่อยากเป็นได้ ที่นี่”

    เจมส์เริ่มต้นด้วยการเล่าถึงเด็กชายคนหนึ่งชื่อเจมส์ (แน่สิ ก็ตัวเขาล่ะ) ผู้ซึ่งพ่อแม่พาไปโรงละครด้วย แล้วเขาก็มีความฝัน...อยากจะเป็นเหมือนตัวละครในมิวสิคัลดังเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะ Les Misérables, The Sound of Music, Cats และอื่นๆ อีกมากมาย ร้องกันเป็นเมดเลย์เลยล่ะ สนุก!

    แต่ปิดท้ายด้วยซีนที่เจมส์ยืนอยู่กลางเวที และมีเด็กมากมาย หลากหลายเชื้อชาติ วัย อายุ ยืนอยู่เบื้องหลังสามกลุ่ม จากนั้นเขาก็ร้องบทที่มีเนื้อหาว่า

    “ผู้คนที่รักในการแสดงละครจากทั่วทุกหนแห่งและมีประกายแห่งความฝันในดวงตา จะชนชั้น เผ่าพันธุ์ หน้าตา รูปร่างแบบใด จะเด็กชาย เด็กหญิง ผู้ที่ข้ามเพศทั้งหลาย และใครก็ตามที่ฝันถึงบรอดเวย์ อย่าแปลกได้สงสัยเลยว่าคุณจะอยู่ตรงนี้ได้ไหม ต้องได้อย่างแน่นอน!” 

    ดูคลิป ที่นี่

    จากนั้นเจมส์ก็ได้กล่าวแนะนำนักแสดงทั้งหมดที่ได้รับเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Tony Awards ในสาขาละครเพลง เด็กทั้งหลายหายไปกลายเป็นผู้ได้รับเสนอชื่อ แล้วทั้งหมดก็ร่วมกันร้องเพลง และมีเนื้อหาที่น่าประทับใจมากว่า

    “This could be you. This could be where you belong”

  • 3. แซะ #OscarSoWhite และ Donald Trump

    #OscarSoWhite คืออะไร? เป็นแฮชแท็กที่เกิดขึ้นในโซเชียลเน็ทเวิร์ก เพื่อแซะงานประกาศรางวัลออสการ์ ที่มีรายชื่อผู้เข้าชิงเป็นคนชาติอื่นๆ (ที่ไม่ใช่คนผิวขาว) น้อยมาก แน่นอนว่าสัดส่วนการได้รางวัลก็น้อยลงไปอีก ทั้งที่มีคนเชื้อชาติอื่นแสดงภาพยนตร์มากมาย ตาเจมส์ผู้เป็นพิธีกรเลยพูดในช่วงเปิดงานว่า

    “งานเราคืนนี้ก็เหมือนออสการ์แหละ แต่แค่มีความหลากหลาย” 

    เรียกเสียงปรบมือและเสียงเฮดังเลยทีเดียว พอลองแพนกล้องไปก็จะพบว่ามีนักแสดงหลากเชื้อชาติจริงๆ ถ้าลองเข้าไปดูหน้า รวบรวมรายชื่อผู้เข้าชิงรางวัล Tony Awards ก็จะพบว่ามีนักแสดงและทีมงานที่ได้เข้าจริงหลากหลายเชื้อชาติ เพศ และวัยมากๆ ส่วนใครจะเป็นผู้ชนะนัน้ ลองดูได้ที่ รายชื่อผู้ชนะรางวัล Tony Awards ได้เลย

    แค่นั้นยังไม่พอ! ยังมีอีก! เจมส์ก็พูดต่อไป จนได้กล่าวว่า 


    “เนี่ย ละครเวที(และงานโทนี่)นำเสนอความหลากหลายซะเหลือเกิน
    จน โดนัลด์ ทรัมป์ ต้องก่อกำแพงรอบโรงละครละเนี่ย”


    ที่มา rocketnews

    "ทรัมป์กลัวเราไม เราไม่ใช่ไททัน"

    (ภาพที่มินิมอร์เห็นในหัว)

    นอกจากนี้ยังมีละครอีกหลายเรื่องที่พูดเกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนในต่างวาระ เรื่อง The Color Purple เองก็มีนักแสดงนำหญิงเชื้อสายแอฟริกันทั้งนั้น แถมเก่งๆ ด้วย (ได้รางวัลสาขานักแสดงนำหญิงของละครเพงลงไปล่ะ) นี่เองคือเวทมนตร์ของละครเวที ใครๆ ก็แสดงบนเวทีนั้นได้... อยากจะพูดเรื่องอะไรก็ได้ (มีละครเวทีเรื่อง Charles III ว่าด้วยเรื่องราวของเจ้าฟ้าชายชาร์ลสกับการขึ้นครองราชย์ภายหลังสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 ทรงสวรรคต โอ้โห...ล้ำ)
  • 4.’Hamilton’ ละครเพลงที่เป็นกระแสโด่งดังไปทั่วโลก กวาดไป 11 รางวัล จากการเข้าชิง 16 รางวัล


    งงล่ะสิ...แค่กวาดไปเยอะแล้วมันจะแสดงเรื่องความหลากหลายอย่างไร เอางี้ มินิมอร์จะลิสต์หัวข้อสั้นๆ ให้อ่านเข้าใจง่าย แบบสรุปติวหน้าห้องสอบเลย Hamilton เป็นละครเพลงที่เล่าเรื่องราวของ Alexander Hamilton บิดาแห่งการสร้างชาติของสหรัฐอเมริกา ไอเดียพื้นฐานในการสร้างโชว์เปรี้ยวอยู่หลายประการ ยึดเรื่อง diversity ที่สุด

    • เป็นละครที่แหวกขนบแนวนิยมของดนตรีที่ใช้ทำละครเพลง ด้วยการใช้เพลง Rap, Hip-hop, R&B ในการนำเสนอละครทั้งเรื่องแบบ sung-through (คือจะพูดกันก็ร้อง แทบไม่มีบทพูดเฉยๆเลย) แล้วบทร้องก็เป็นแร็พ มีการแร็พแบทเทิลด้วย เอาดิ๊ เหตุผลที่มิแรนด้าเลือกการแร็พมาเป็นเพลงละครเวที เขาให้เหตุผลว่าการแร็พ เพลงฮิปฮอป คือสัญลักษณ์ของการปฏิวัติ (แฮมิลตันเป็นเรื่องหลังการปฏิวัติและสร้างชาติไง)

    • Colorblind Casting คือสิ่งที่ Hamilton โดนเรียก แน่นอนว่าอเล็กซานเดอร์แฮมิลตันเป็นเชื้อสายยุโรป ผิวขาว แต่ Lin-Manuel Miranda คนเขียนบทและผู้แสดงเป็นแฮมิลตันเป็นอเมริกันพื้นเพอยู่นิวยอร์กนี่ละ แต่พ่อกับแม่เป็นชาวเปอโตริโกแท้ๆ เลย แล้วนักแสดงคนอื่นๆ ก็แคสต์มาไม่ตรงเชื้อสายตัวละครจริงในประวัติศาสตร์เลยสักนิด มีทั้งคนแอฟริกันอเมริกัน เอเชียนอเมริกัน แล้วก็คนเชื้อสายละติน!

    • ในการแสดงช่วงแรกๆ Hamilton โดนโจมตีว่านี่คือ reverse racism รึเปล่า ทางฝั่ง Hamilton ตอบว่า ไม่ใช่ เหตุผลที่เขาแคสต์นักแสดงหลากเชื้อชาติมาเล่น ก็เพราะว่านี่คือละครเวทีไงล่ะ! และอเมริกาคือประเทศที่เกิดขึ้นด้วยหลากเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์รวมกัน แล้วจะแปลกอะไรถ้าละครเวทีอย่าง Hamilton จะจำลองภาพแบบนั้นมา?

    • ได้รางวัลเพลงละครเวทียอดเยี่ยมจากแกรมมี่ / ได้รางวัลพูลิตเซอร์ / 8 รางวัล Drama Desk Awards และล่าสุด 11 รางวัล Tony Awards หลังงานโทนี่บัตรซัดไป 2000-3000 เหรียญ (ร้องไห้แรง)


    Hamilton คือละครที่พูดถึงการสร้างชาติอเมริกาที่ทำให้ชาวอเมริกันหลายคนได้ย้อนดูถึงรากเหง้าว่าแท้จริงแล้วตัวเองกำเนิดมาจากไหนกันแน่ บุคคลสำคัญผู้ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งการก่อสร้างชาตินี้เจอเรื่องราวอะไรมาบ้าง แล้วก็ยังสอดแทรกและสื่อถึงความหลากหลายของชาติพันธุ์ในอเมริกา

    แม้ในช่วงแรกๆ จะโดนกล่าวหาเรื่อง reverse racism แต่ Hamilton ก็ได้พิสูจน์แล้วว่าจุดประสงค์จริงๆ ของเขาคืออะไร คนรับรู้ได้แน่ และในอีกไม่นานนี้นักแสดงหลักหลายคนก็จะโบกมือลา Hamilton ซึ่งทางทีมผู้สร้างเคยพูดว่ายังอยากแคสต์นักแสดงหญิงมาเล่นเป็นบิดาผู้สร้างอเมริกา

    เฟี้ยว! รอดูเลยนะ 

    ด้วยการกลั่นกรอง ดีไซน์ และความตั้งใจของผู้จัดทำนี้เอง ละครเลยกลายเป็น hype อย่างที่สุด ดังไม่ลืมหูลืมตา ขนาดพิธีกรแซวตอนเปิดรายการว่า "โทนี่ปีนี้ไม่ได้มีแต่แฮมิลตัน...เรามีช่วงพักโฆษณาด้วย" ....จ้ะ

    5. บทกวีอันน่าประทับใจของ Lin-Manuel Miranda ขณะขึ้นไปรับรางวัลจากผลงานเรื่อง Hamilton


    ไม่มีสิ่งใดในงาน Tony Awards ที่จะถูกพูดถึงมากไปกว่าบทกวีที่ Miranda ถือขึ้นเวทีไปด้วย เขาออกตัวว่าเขาไม่ใช่พวกฟรีสไตล์ ขออ่านที่เขียนมาก็แล้วกัน มินิมอร์ขอยกส่วนหนึ่งมาให้อ่านกันนะ ไม่อยากแปล เพราะของเดิมดีมากแล้วจริงๆ



    ในช่วงต้น(ที่ไม่ได้ยกมา) มิแรนด้ากล่าวยกย่องภรรยาและลูก ในช่วงหลังเขากล่าวถึงเรื่องราวที่น่าจะอ้างอิงถึงเหตุการณ์ที่ Orlando และย้ำเตือนว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ต้องเจอกับความรุนแรงจากการเกลียดชัง อย่าให้มันเอาชนะเรา แม้เป็นถ่านไม้ใกล้เป็นเถ้าก็ยังมีไฟคุ จงมีความหวัง และอยู่เพื่อทำให้โลกนี้มีแต่ดนตรี ความรัก และศักดิ์ศรี(ของความเป็นคน) 

    เท่!

    อ่านเฉยๆ ไม่เท่หรอก ต้องไปฟังเองนะ มินิมอร์ร้องไห้เลย จังหวะและน้ำเสียงที่ใช้นี่...บอกถึงความโปร T_T ดูคุณมิแรนด้าได้ ที่นี่ เลย

    ไม่ใช่ว่าเหตุร้ายจะทำลายขวัญกำลังใจจนราบคาบ ขอเพียงมีคนคนหนึ่งยืนหยัดต่อสิ่งที่เชื่อมั่น และพร้อมมอบความรักให้ผู้อื่น เมื่อหลายคนรวมกันเข้า ก็จะเป็น 'เสียง' ที่ดังและยิ่งใหญ่ เช่นในงาน Tony Awards ครั้งนี้

    อยากดูคลิปทั้งหมดดูได้ Tonyawards เลยนะ...แต่ว่าต้องหาทางดูเอา ให้ดูเฉพาะในอเมริกา..

    นี่คือผลของความตั้งใจ และสร้างสรรค์ มินิมอร์เองก็ไม่รู้ว่ามีเพื่อนๆ สนใจละครเวทีบ้างหรือไม่ อาจจะมีใครสักคนที่ผ่านมาอ่านแล้วมีความฝันอยากเขียนบทละครเวที! แต่เรื่องราวที่นำเสนอไปนี้เพื่ออยากให้พวกเราได้ลองสำรวจตัวเอง ว่าเราเข้าใจเรื่องความหลากหลายของคนหรือไม่ แม้เราจะต่างกันออกไปด้วยเพศ ผิว ศาสนา เชื้อชาติ แม้กระทั่งรสนิยมทางเพศ แต่ท้ายที่สุดแล้วเราก็เป็นพวกพ้อง เป็นประชากรของโลกนี้เท่าๆ กัน

    รู้จักตัวเอง ใส่ใจโลกภายนอกและความเป็นไปของสิ่งต่างๆ เรียนรู้ ปรับใช้ มินิมอร์เชื่อว่าไม่ว่าเรื่องอะไร เพื่อนๆ ก็จะเอามาใช้เป็นประโยชน์ต่อตัวเองได้แน่นอน อย่างน้อยที่สุดก็ได้แรงบันดาลใจแหละน่า

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in