เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ติ่งญี่ปุ่นมือใหม่ ฉบับคนสนใจภาษาและแอนิเมชันIcedMatchaLatte
EP.8 : ทำความรู้จักภาษาถิ่นในญี่ปุ่นไปกับโจเซ่
  • สวัสดีค่ะผู้อ่านทุกท่าน หลังจากที่เราพูดถึงแอนิเมชันของสตูดิโอจิบลิมากันหลายเรื่องแล้ว วันนี้เรามาลองดูภาพยนตร์แอนิเมชันของค่ายอื่นกันบ้างดีกว่าค่ะ สาเหตุที่เราเลือกที่จะหยิบยกแอนิเมชันเรื่องนี้มาพูดถึงเป็นเพราะช่วงแรก ๆ ที่เราเริ่มวางแผนการเขียนเขียนบล็อกนี้ เพื่อน ๆ เราพูดถึงแอนิเมชันเรื่องนี้ขึ้นมาแล้วพูดถึงประเด็นหนึ่งที่ฟังดูน่าสนใจขึ้นมาด้วย เราเลยอยากจะหยิบยกแอนิเมชันและประเด็นที่ว่าขึ้นมาเขียนในบล็อกของเราค่ะ และภาพยนตร์แอนิเมชันที่พูดถึงก็คือ โจเซ่ กับเสือและหมู่ปลา Josee, the Tiger and the Fish หรือในชื่อภาษาญี่ปุ่นคือ ジョゼと虎と魚たち และประเด็นที่เพื่อนเราพูดถึงนั่นคือเรื่องภาษาถิ่นค่ะ

    https://natalie.mu/comic/gallery/news/410153/1425425 

    ภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง โจเซ่ กับเสือและหมู่ปลา เป็นภาพยนตร์ที่ดัดแปลงมาจากนิยายเรื่องสั้นในชื่อเดียวกันของ ทานาเบะ เซย์โกะ ซึ่งออกตีพิมพ์ในปี 1984 ฉากของภาพยนตร์เรื่องนี้คือที่โอซาก้า จึงจะพบการใช้ภาษาถิ่นคันไซหรือคันไซเบงในเรื่องนี้ได้ค่ะ ตัวละครที่มีการใช้คันไซเบงได้แก่ ยามามูระ คุมิโกะ หรือ โจเซ่ นางเอกของเรา  คุณยายของโจเซ่ และหัวหน้างานพาร์ทไทม์ของสึซึคาวะ สึเนโอะ 

    แต่ก่อนที่เราจะไปทำความรู้จักภาษาถิ่นคันไซหรือคันไซเบงกันอย่างเจาะลึก จะพาทุกท่านมารู้จักกับภาษาถิ่นในญี่ปุ่นฉบับคร่าว ๆ กันก่อนค่ะ 

    หากพูดถึงภาษาถิ่นในไทย หลาย ๆ ท่านอาจจะนึกถึงภาษาถิ่นที่แบ่งออกเป็น 4 ถิ่น คือภาษาไทยถิ่นเหนือ (ภาษาเหนือ) ภาษาไทยถิ่นอีสาน (ภาษาอีสาน) ภาษาไทยถิ่นใต้ (ภาษาใต้) และภาษาไทยถิ่นกลาง (ภาษากลาง) แต่จริง ๆ แล้วภาษาถิ่นในไทยยังแยกย่อยลงไปได้มากกว่านั้น เช่น ภาษาอีสานสามารถแบ่งย่อยลงไปอีกเป็น 8 สำเนียงหลัก ๆ เช่น สําเนียงขอนแก่น สําเนียงชัยภูมิ สําเนียงเลย หรืออย่างภาษาเหนือก็มีสำเนียงย่อยตามการใช้งานของแต่ละพื้นที่เช่นกันตามที่หลาย ๆ ท่านอาจเคยเห็นคลิปวิดีโอที่เป็นมีม (Meme) ใน Instagram หรือ Tiktok (☆▽☆)

    ในภาษาญี่ปุ่นมีคำศัพท์ที่ใช้ในการเรียกภาษาถิ่นว่า 方言 (ほうげん) ซึ่งจะมีความต่างจากภาษามาตรฐาน 標準語 (ひょうじゅんご) หรือภาษากลาง 共通語 (きょうつうご) ทั้งในด้านคำ สำเนียง (ระดับภาษา) และยังพบความแตกต่างในด้านไวยากรณ์อีกด้วย นอกจากนี้ยังพบว่ามีการแบ่งภาษาถิ่นอย่างกว้าง ๆ ในลักษณะเช่นเดียวกันกับภาษาถิ่นในไทย โดยสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือภาษาถิ่นแผ่นดินใหญ่ (本土方言) และภาษาถิ่นริวกิว (琉球方言) ตามงานวิจัยของคุณ 東条操 ภาษาถิ่นแผ่นดินใหญ่นี้เองก็สามารถแบ่งย่อย ๆ ลงไปได้อีกเช่นกันค่ะ ซึ่งภาษาถิ่นสำคัญ ๆ ในญี่ปุ่น ได้แก่

    1. ภาษาถิ่นคันโต 関東方言

    2. ภาษาถิ่นคิงกิ หรือ ภาษาถิ่นคันไซ 近畿方言・関西弁

    3. ภาษาถิ่นโทฮกขุ 東北方言

    4. ภาษาถิ่นคิวชู 九州方言

    5. ภาษาถิ่นริวกิว 琉球方言

    6. ภาษาถิ่นญี่ปุ่นตะวันตก 西日本方言

    สำหรับภาษาถิ่นคันไซหรือคันไซเบงที่เราพบในเรื่อง Josee, the Tiger and the Fish เป็นภาษาถิ่นที่มีคนพูดมากที่สุดรองลงมาจากภาษากลาง 共通語 หรือภาษาถิ่นคันโต เนื่องจากคันไซเคยเป็นเมืองหลวงเก่า ภาษาถิ่นในแถบนี้ก็นับว่าเป็นภาษากลางของญี่ปุ่นในสมัยนั้นเช่นกัน ภาษาถิ่นคันไซจึงมีความแข็งแรงและมีการใช้อย่างแพร่หลายมาจนถึงทุกวันนี้ แต่ภาษาถิ่นคันไซก็ยังแบ่งย่อยลงไปเป็นสำเนียงถิ่นย่อย (~弁) ตามการใช้งานของแต่ละพื้นที่ได้อีกด้วย เช่น สำเนียงเกียวโต 京都弁 สำเนียงโอซาก้า 大阪弁 สำเนียงนารา 奈良弁 ฯลฯ และเนื่องจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ของแอนิเมชันในเรื่องนี้เกิดขึ้นที่โอซาก้า เราจึงสามารถเห็นการใช้สำเนียงโอซาก้า 大阪弁 ได้อีกด้วย

    ในเรื่องเราจะพบการใช้คำศัพท์และวลีที่เป็นภาษาถิ่นคันไซอยู่เป็นจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว โดยจะขอยกตัวอย่างคำและวลีที่พบการใช้งานบ่อยทั้งในแอนิเมชันเรื่องนี้และการใช้งานของผู้คนในเขตคันไซและจังหวัดโอซาก้า ไว้ด้านล่างนี้ค่ะ

    1. おおきに มีความหมายเหมือนกับ ありがとう ในภาษากลาง แปลว่าขอบคุณ  เดิมที おおきに เป็น คำที่แสดงถึงปริมาณที่มาก เช่น おおきにありがとう  ขอบคุณมาก แต่ในภายหลังถูกย่อเหลือเพียง おおきに และเป็นคำที่แสดงนัยยะของความรู้สึกขอบคุณค่ะ

    2. まいど หรือ まいどまいど เป็นคำทักทายที่คุ้นเคยของพ่อค้าโอซาก้า ย่อมาจาก 毎度ありがとうございます。 ขอบคุณสำหรับทุก ๆ ครั้ง หรือ 毎度お世話になっております。 ขอบคุณที่อนุเคราะห์เสมอมา นอกจากนี้ยังมีการใช้เป็นคำทักในโทรศัพท์แทนคำว่า ฮัลโหล ค่ะ

    3. ほんま มีความหมายเหมือนกับ 本当 (ほんとう)  ในภาษากลาง แปลว่าจริง ในบางบริบทก็มีการใช้เป็นคำอุทานว่า จริงหรอ! จริงดิ! ในลักษณะเช่นเดียวกับคำว่า 本当

    4. あほう มีความหมายเหมือนกับคำว่า ばか 

    5. あんさん แปลว่าคุณ

    6. おもろい มีความหมายเหมือนกับคำว่า 面白い (おもしろい) ทีแปลว่าน่าสนใจ

    7. もういっぺん แปลว่าอีกครั้ง อีกรอบ เหมือนกับคำว่า もう一度 ในภาษากลาง

    8. めっちゃ ที่ปัจจุบันมีการใช้ในญี่ปุ่นอย่างแพร่หลายในฐานะภาษาวัยรุ่นและคำแสลงที่แสดงความหมายว่า มาก ก็เป็นภาษาถิ่นคันไซค่ะ

    คำศัพท์และวลีที่ยกมาข้างต้นเป็นเป็นภาษาถิ่นคันไซที่พบเยอะการใช้งานได้อย่างทั่วไป ในแอนิเมชันเรื่องอื่น ๆ เองก็พบการใช้งานภาษาถิ่นคันไซเช่นกันค่ะ นอกจากคำศัพท์และวลีแล้ว ภาษาถิ่นคันไซยังมีรูปแบบไวยากรณ์ที่ต่างจากภาษามาตรฐาน 標準語 หรือภาษากลาง 共通語 อีกด้วยนะคะ แต่จะเป็นยังไงนั้น เราจะมาดูไปพร้อม ๆ กันในบล็อกหน้า พร้อมทั้งแนะนำแอนิเมชันจากสตูดิโอจิบลิที่พบการใช้งานภาษาถิ่นคันไซอีกเรื่องหนึ่งกันค่ะ

    .

    .

    .

    ที่มา :

    https://natalie.mu/comic/gallery/news/410153/1425425 

    https://dltv.ac.th/utils/files/download/9079

    https://www.isancreativefestival.com/isancf2023/content/59918

    https://www.fun-japan.jp/th/articles/13153

    https://osaka-info.jp/th/osaka/basic/osaka-dialect/

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
Proud Praorawee (@fb7254036048038)
ชอบเรื่องน้องโจเซ่มาก ขอบคุณที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้อ่านนะคะ ♡(⸝⸝⸝ᵒ̴̶̷̥́ ⌑ ᵒ̴̶̷̣̥̀⸝⸝⸝)