เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
PeopleParin
คุยกับ กอล์ฟ ธัญญ์วาริน ผู้สมัคร ส.ส. กะเทยคนแรกของประเทศไทย
  • กอล์ฟ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์

    -  ผู้กำกับภาพยนตร์ไทยคนแรกที่ได้รับเรตห้ามฉาย ภายใต้ พ...ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.. 2551 ที่ต่อสู้ฟ้องร้องในศาลนานถึง 7 ปี เพื่อสิทธิและเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออก

    -  ผู้สมัคร ส.ส. กะเทยคนแรกของประเทศไทย จากพรรรคอนาคตใหม่ที่อยากเห็นคนทุกคนเท่าเทียมกัน

     


    ย้อนกลับไปสมัยเรียน

    ในยุคนั้นภาพลักษณ์ของกะเทยยังคงเป็นตัวตลก การเป็นกะเทยของเราจึงไม่สามารถเปิดเผยได้เต็มที่ ตอน ม.5 ที่เราได้ทำละครเวทีของโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย ไปประกวดระดับจังหวัดและได้รับรางวัล ซึ่งเราเขียนบท กำกับ และแสดงเอง วินาทีที่ยืนอยู่บนเวทีเรารู้สึกว่าได้เป็นคนอื่น เป็นคนที่เราอยากเป็นซึ่งในชีวิตจริงเป็นไม่ได้ มันก็เลยได้เติมเต็มชีวิต จากนั้นก็ทำให้อยากเรียนนิเทศศาสตร์ แต่ตอนนั้นไปสอบได้หาวิทยาลัยขอนแก่น เอกภาษาฝรั่งเศสได้เสียก่อน ก็เลยเลือกไปเรียน

    พ.ศ. 2535 เราเข้ามหาวิทยาลัยปีแรก ก็ได้ทำละครเวทีน้องใหม่ของนักศึกษาปีที่ 1 ในปีนั้นเองก็มีเหตุการณ์พฤษภาทมิฬเกิดขึ้น นักศึกษาให้ความสนใจการเมืองกันพอสมควร ทำให้เราได้เรียนรู้ทั้งการทำละครเวทีและกระบวนการทางการเมือง ตอนเรียนอยู่มหาวิทยาลัยก็มีการเลือกตั้งตัวแทนนักศึกษา เราก็เป็นกะเทยคนแรกที่ถูกรับเลือกให้เป็นตัวแทนเข้าไปในสภานักศึกษา

    ชีวิตหลังเรียนจบ

    หลังเรียนจบมหาวิทยาลัย ก็ไปเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่วิทยาลัยเทคนิคนครราชสีมา แต่เราก็ยังอยากเข้าวงการบันเทิง เลยไปแคสต์ละครเวทีของคุณบอย ถกลเกียรติเรื่องวิมานเมือง แต่ก็ไม่ได้เล่น หลังจากนั้นค่าย Exact ทำละครโทรทัศน์ เรื่องชายไม่จริง หญิงแท้ ผู้กำกับก็ไปเห็นเทปแคสต์ตอนละครเวที ก็เรียกเรามาแคสต์เรื่องนี้ เราก็เลยได้เปิดตัวด้วยการเล่นละครเรื่องชายไม่จริงหญิงแท้ ในบท สมิง

    ในตอนนั้นละครเรื่องนี้ดังมาก เราก็เริ่มเป็นรู้จักในสื่อ แต่จู่ ๆ วันหนึ่งก็โดนแบน ทางรัฐบาลในยุคนั้นแจ้งไปทางสถานีโทรทัศน์ว่า ห้ามให้กะเทยออกทีวี โดยให้เหตุผลว่าจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้กับเด็กและเยาวชน

    พอละครถูกห้ามออกอากาศ ก็ไม่ได้มีงานในวงการบันเทิงต่อ เราก็กลับไปเป็นครูเหมือนเดิม แล้วก็ได้เริ่มทำหนังสั้นเรื่องแรก ความรู้สึกตอนนั้นเหมือนตอนได้ทำละครเวทีครั้งแรก แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้นคือ ละครเวทีมันจำกัดคนดูแค่หน้าเวที แต่หนังเอาไปสื่อได้ไกลกว่าเอาไปฉายที่ไหนก็ได้

    หนังเรื่องแรก

    แหวนหนังสั้นเรื่องแรก เล่าเรื่องจรชีวิตของคนระดับล่างในโคราชสามคนซึ่งเกี่ยวพันกันด้วยแหวนวงหนึ่ง คือกะเทยเป็นใบ้ มอเตอไซค์รับจ้าง และโสเภณีข้างถนน ได้รางวัลชมเชยของมูลนิธิหนังไทย

    หลังจากนั้นก็ทำเรื่องที่สองต่อคือเรื่อง เปลือกเล่าเรื่องของตัวเองที่กลางวันเป็นครูผู้ชาย กลางคืนแต่งหญิงเป็นตัวของตัวเอง ได้รับรางวัลรองชนะเลิศแห่งประเทศไทย และยังได้รับการคัดเลือกไปประกวดที่ประเทศฝรั่งเศส

    และนั่นก็คือจุดเปลี่ยนที่สำคัญ จึงตัดสินใจลาออกจากการเป็นครู เพื่อเข้าสู่การทำหนังเต็มตัว


    เราพยายามจะบอกตั้งแต่หนังเรื่องแรกเลยว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงผู้ชาย เพศอื่น ๆ หรือคนในทุกบทบาท ทุกอาชีพ ไม่ว่าจะอยู่ในระดับไหนของสังคม ก็มีทั้งความทุกข์ความสุข และเป็นมนุษย์ที่มีความเท่าเทียมกัน มีความเป็นมนุษย์เหมือนกัน

     

    การโดนแบนครั้งแรกกับการถูกปิดกั้นเสรีภาพทางการแสดงออก

    หนังเรื่อง Insects in the Backyard ที่โดนแบน เป็นคัทที่กล้องถ่ายไปเจอหนังโป๊ที่อยู่ในทีวี แต่หนังเราไม่ได้ทำเป็นหนังโป๊ ซึ่งถ้าตัดสามวินาทีนั้นออก ก็จะได้ฉายในเรต 20+

    เราเห็นด้วยกับการจัดเรตหนัง เพราะหนังทุกเรื่องมันไม่ได้เหมาะกับทุกคนหรือทุกวัย แต่ไม่เห็นด้วยกับการเซ็นเซอร์ เพราะการเซ็นเซอร์ไม่ได้เปิดโอกาสให้สังคมรับรู้หรือเข้าใจในสิ่งที่นำเสนอ ถ้ามันจะดีหรือไม่ดีก็ให้คนดูเป็นคนบอกเอง

    เราไม่ได้แค่ต่อสู้เพื่อสามวินาทีนี้อย่างเดียว แต่เราสู้เพื่อให้เห็นว่าหนังของเราไม่ได้ผิดศีลธรรมอันดี ถ้าเรายอมแพ้ก็แปลว่าเรายอมบอกว่าเราทำผิดศีลธรรมอันดี แต่ที่เราฟ้องร้องกับศาลปกครองเพื่อจะบอกว่า เราไม่ผิดและเราไม่ยอมโดนแบน เพราะฉะนั้นมันไม่ได้เป็นการต่อสู้เพื่อเราคนเดียว แต่เป็นการต่อสู้เพื่อวงการภาพยนตร์ ในการมีเสรีภาพทางการแสดงออก

    อย่าว่าแต่ศิลปินเลย ในการแสดงออกทางความคิด คนทั่วไปจะคุยกันเรื่องโน้นเรื่องนี้ มันยังยาก ตอนนี้คนไทยถูกปิดหู ปิดตา ปิดปาก มีเรื่องจะพูดก็พูดไม่ได้ ด้วยสภาวะที่อึดอัดกันอยู่ตอนนี้เชื่อว่าทุกคนน่าจะรู้สึกแล้วล่ะ ว่า 4 ปีที่ผ่านมา มันเหมือนเราโดนฟรีซเอาไว้อยู่กับที่

     การเป็นเพศที่หลากหลายกับสังคมไทย

    ภาพลักษณ์ของกะเทยที่เป็นได้แค่ตัวตลกในสมัยก่อน คือสิ่งที่เราไม่อยากจะเป็น เรารู้สึกว่า ทำไมการเป็นนางโชว์ เป็นช่างแต่งหน้า ถึงเป็นอาชีพคู่กันกับการเป็นกะเทย มันมีตัวเลือกอยู่แค่นี้เหรอ นี่คือความสงสัยที่มีมาตั้งแต่เด็ก ก็เลยต้องผลักดันตัวเอง ให้เป็นที่ยอมรับในวิธีอื่น ๆ

    ในปัจจุบันเราได้เห็นคนเพศหลากหลายที่มีมากขึ้นในหลายอาชีพ ทั้งราชการและเอกชน รวมถึงอาชีพอิสระ ถือเป็นการพัฒนาที่ดีขึ้น ซึ่งไม่ได้เกิดจากคนใดคนหนึ่ง แต่เกิดจากการร่วมต่อสู้และพิสูจน์ตัวเองของคนเหล่านั้น รวมถึงกระแสสังคมโลกที่เริ่มทำความเข้าใจกับเพศที่หลากหลายมากขึ้น แต่ที่เรายังไม่เคยได้เห็นเลยก็คือในทางการเมือง



    จากผู้กำกับหนังกะเทยคนแรก สู่ผู้สมัคร ส.. กะเทยคนแรก

    ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เรามักจะเห็นคนในทางการเมืองเป็นทหาร เป็นครอบครัวนักการเมืองหรือครอบครัวธุรกิจที่มีประโยชน์ร่วมกับรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่ ในการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคอนาคตใหม่ไม่ต้องการแบบนั้นอีกแล้ว แต่ต้องการเห็นสภาผู้แทนราษฎรมาจากคนที่เป็นผู้แทนจากราษฎรจริง ๆ เกิดเป็นการรวมตัวของพรรคอนาคตใหม่ขึ้นมา

    อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ได้ชักชวนเราไปพูดคุย เราเห็นเขาประกาศนโยบายว่า คนเท่าเทียมกัน’ เราก็เลยตั้งคำถามกับตัวเองว่า ถ้าเราเป็นกะเทยแต่งหญิงที่ไปสมัคร ส.. โดยปักธงว่า อยากเป็นรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม เขาจะให้เราสมัครไหม? ทางพรรคก็ให้เกียรติเรา โดยให้เป็น ปาร์ตี้ลิสต์อันดับที่ 9 เป็น 1 ใน 10 ของพรรค เราก็รู้สึกว่าพรรคนี้แหละที่เห็นคนเท่ากันจริง ๆและเห็นความสำคัญของคนที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศนี้จริง ๆ เพราะเขาต้องการให้คนที่จะเข้าไปอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร ต้องเป็นตัวแทนจากประชาชนทุกกลุ่มที่อยู่ในประเทศนี้ เพราะฉะนั้น Top 10 ของพรรคอนาคตใหม่จึงเป็นกลุ่มคนที่มีความหลากหลายจริง ๆ ไม่ใช่นักการเมืองที่ทุกคนใส่สูท ผูกไทด์เหมือนกันไปหมด

    ความหลากหลายทางเพศกับความเท่าเทียมในการเป็นมนุษย์

    นโยบายหลักคือสร้างความเข้าใจเรื่องความเท่าเทียมของคนที่อยู่ร่วมกันในสังคม ที่ผ่านมาการร่วมกันผลักดันที่เกิดขึ้นทั้งจากนักกิจกรรมและหน่วยงานรัฐ เป็นสิ่งที่ดีและแสดงให้เห็นว่ารัฐและสังคมเริ่มเห็นความสำคัญของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่ถ้าเราเข้าไป เราจะไม่เอา พ... คู่ชีวิต เพราะมันยิ่งทำให้เรายิ่งแปลกและแตกต่างจากคนอื่น ทำไมเราไม่มีสิทธิใช้ประมวลกฏหมายแพ่งและพานิชย์มาตรา 1148 คือ การแต่งงานระหว่างชายกับหญิง

    สิ่งที่เราจะแก้ไขคือ จากการแต่งงานระหว่างชายกับหญิง เป็นการแต่งงานระหว่างบุคคลกับบุคคล โดยระบุว่า ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นเพศอะไร จะมีรสนิยมทางเพศแบบไหน ก็สามารถแต่งงานกันได้ ศักดิ์และสิทธ์ก็จะเท่ากับชายกับหญิงที่แต่งงานกันทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการรับบุตรบุญธรรม การจัดการมรดก สิทธิในการรักษาพยาบาลหรือสิทธิอื่น ๆ ที่มีร่วมกันจากการแต่งงาน แต่ พ...คู่ชีวิต ไม่ได้เป็นอย่างนั้น นี่คือสิ่งแรกที่เราจะทำ ถ้าเราสามารถสร้างความเข้าใจและทำให้เป็นการแต่งงานระหว่างบุคคลกับบุคคลได้ มันก็จะต่อยอดไปสู่สิทธิต่าง ๆ ให้กับคนที่มีความหลากหลายทางเพศที่ควรได้รับให้เท่าเทียมกับชายและหญิง สิ่งที่เราต่อสู้และเรียกร้อง ไม่ได้มากเกินไปกว่าที่คุณได้ เราเรียกร้องในสิ่งที่เราควรได้ให้เท่าเทียมกับชายและหญิงในฐานะมนุษย์เหมือนกัน

    ศิลปวัฒนธรรมกับการขับเคลื่อนสังคม

    คนทำงานศิลปวัฒนธรรมส่วนมากจะเป็นฟรีแลนซ์ ซึ่งไม่มีความมั่นคงในชีวิตไม่มีสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่เหมือนกับข้าราชการหรือคนทำงานประจำ และการให้ความสำคัญกับงานศิลปะในบ้านเรายังค่อนข้างน้อย พอไม่เห็นความสำคัญของงานก็เลยไม่เห็นความสำคัญของคนทำงาน

    สิ่งที่เราจะทำก็คือ ทำให้สังคมเห็นความสำคัญของงานด้านศิลปวัฒนธรรม และมีสวัสดิการให้กับคนทำงานไม่ให้แตกต่างกับคนทำงานประจำ นอกจากนั้นยังส่งเสริมและสนับสนุนงานศิลปะด้วยความเข้าใจ และมีการให้ทุนตั้งแต่เริ่มต้นทำงานจนกระทั่งเผยแพร่ ให้งานศิลปะสร้างความเข้าใจกับสังคม และสามารถสร้างมูลค่าเพื่อเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจได้

    ทุกวันนี้เราพยายามจะทำแบบประเทศเกาหลีในการเอาภาพยนตร์เป็นตัวสร้างธุรกิจและทำให้คนรู้จักวัฒนธรรมเกาหลี เราอยากจะเป็นแบบนั้น แต่วิธีการของเรามันไม่ได้ส่งเสริมและสนับสนุนด้วยความเข้าใจ คือจะเอาแต่ยอด แต่ไม่ได้ปลูกจากราก พอมันไม่ได้เห็นความสำคัญตั้งแต่รากยอดมันก็อ่อนแอ เพราะฉะนั้นนโยบายคือ เราต้องให้ความสำคัญกับศิลปวัฒนธรรมตั้งแต่ราก แปลว่าเราต้องพัฒนาตั้งแต่คนเสพหรือคนดู เมื่อคนดูแข็งแรง คนทำก็จะแข็งแรงตามไปด้วย เมื่อนั้นงานศิลปะก็จะมีมูลค่าเพิ่มและทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น ทำให้คนรู้จักประเทศของเราดีขึ้นด้วยศิลปวัฒนธรรมแบบประเทศเกาหลีจริง ๆ

    อาจารย์ปิยบุตร เลขาธิการพรรค บอกเสมอว่า การเปลี่ยนแปลงสังคมนั้นต้องใช้ Soft Power ซึ่งก็คืองานศิลปวัฒนธรรม แต่ความเข้าใจเรื่องศิลปวัฒนธรรมกับคนที่มีอำนาจตรงนั้นในปัจจุบัน เขาให้ความสำคัญผิดจุด เขาไปให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ที่เขามี นอกจากจะไม่ส่งเสริมและสนับสนุนแล้ว ยังกลับจำกัดและลิดรอนเสรีภาพทางความคิดของคนทำงานด้านนี้ ซึ่งกลายเป็นนโยบายหลักของพรรคเราที่ส่งเสริมให้มีเสรีภาพทางความคิด เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่เปิดกว้างเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออกเราจะเห็นคนเท่ากันไม่ได้เลย และพ...ภาพยนตร์ต้องถูกแก้ไขอย่างแน่นอน

    ผลตอบรับหลังลงสมัครการเมือง

    ตอนแรกบอกตรง ๆ เราก็กลัว พอเราประกาศตัวว่าจะทำงานตรงนี้ คนในวงการบันเทิงมันก็มีหลากหลายความคิด แต่เราก็บอกชัดเจนว่าสิ่งที่เราต้องการทำคืออะไร คนที่ไม่เห็นด้วยก็มี แต่คนที่เห็นด้วยก็มาก เราเชื่อว่าคนไทยทุกคนอยากมีเสรีภาพทางการแสดงออก คนไทยทุกคนอยากให้คนเท่ากัน อาจจะมีบ้างที่กลุ่มคนชั้นนำ เพราะเขาคงไม่อยากเท่ากับคนชั้นล่าง อาจจะไม่ชอบแนวคิดนี้ แต่มันคือความจริง การอยู่ร่วมกันในสังคมเราต้องอยู่ด้วยกันด้วยความแตกต่าง เราก็เคารพความคิดของเขาว่าอาจจะไม่ชอบความแตกต่าง แต่เขาก็ต้องเคารพความคิดของเราเช่นกัน ว่าคนบนโลกใบนี้ไม่ได้มีหน้าตาเหมือนกันไปหมด เราไม่ได้มีความคิด รสนิยมเดียวกันหมด คนบนโลกนี้มันมีความหลากหลาย เพราะฉะนั้นเราต้องอยู่ร่วมกันในความแตกต่างให้ได้ เราต้องเคารพคนอื่นให้เหมือนที่เราเคารพตัวเอง

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in