เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ลอง ลอง เวย์SALMONBOOKS
01 Métropole Paris



  • Métropole ลองมองเมือง

                 เราออกเดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิมุ่งหน้าไปยังปารีสเมืองหลวงของฝรั่งเศสที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่าสองพันปี
                 ปารีสและกรุงเทพฯ ต่างเป็นเมืองขนาดใหญ่ในระดับที่เรียกว่ามหานคร ทั้งสองเมืองมีประชากรมากกว่าหนึ่งล้านคนในเขตรวมปริมณฑล
                 หลายๆ คนให้ความเห็นว่าปารีสเป็นเมืองที่สวยที่สุดในโลกซึ่งผมว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายการออกแบบพื้นที่เมืองและการบังคับใช้กฎหมายควบคุมอาคารที่เข้มงวดจนทำให้เกิด‘เอกภาพ’ (unity) หรือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
                 กฎหมายควบคุมอาคารของปารีสมีการกำหนดรายละเอียดที่รัดกุมตั้งแต่เรื่องความสูงของอาคาร ระยะถอยร่นจากทางสาธารณะ จนถึงระยะต่างๆ บนรูปด้านอาคาร จนสามารถแน่ใจได้ว่าอาคารจะออกมากลมกลืนกันโดยไม่ทำให้ภาพลักษณ์ของเมืองเป็นเหมือนตัวต่อคนละยี่ห้อที่มาประกอบกัน
                 ผมเคยมาปารีสแล้วครั้งหนึ่ง ครั้งนั้นผมประทับใจกับตัวเมืองที่ทำให้ผู้คนเดินทางด้วยการเดินเท้าและระบบขนส่งสาธารณะที่สะดวกสบายอย่างรถไฟใต้ดินเมโทร รวมถึงความโปร่งใสในการบริหารงานที่ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มการพัฒนาในอนาคตได้ ที่นี่มีศูนย์จัดแสดง
    Pavillon de l’Arsenal ที่ไม่เพียงให้ข้อมูลความเป็นมาว่าทำไมปารีสจึงเป็นอย่างที่มันเป็นในทุกวันนี้
    แต่ยังจัดแสดงโครงการในอนาคตด้วยโมเดลที่ทำให้ผู้เข้าชมสามารถทราบได้ด้วยว่าในอีกสิบหรือยี่สิบปีถัดจากนี้ ปารีสจะมีหน้าตาเป็นอย่างไรประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้ผมคิดได้ว่าตัวเองไม่ค่อยรู้อะไรเกี่ยวกับกรุงเทพฯเลย
                ผมตั้งตารอจังหวะที่เครื่องบินลงจอด เพราะช่วงเวลาในเครื่องบินนั้นให้อิสรภาพในการเคลื่อนไหวน้อยกว่าการใช้ชีวิตปกติ โดยไม่ได้คิดเลยว่าการเดินทางคราวนี้จะส่งผลกับมุมมองของผมอย่างไร



    • ‘มหานครปารีส’ ถือได้ว่าเป็นต้นแบบการวางผังมหานครที่ทุกวันนี้
    ยังถูกนำมาใช้เป็นกรณีศึกษา ถนนราชดำเนินของเรานั้นก็ได้การจัด
    วางรูปแบบตามถนนช็องเซลีเซ (Champs-.lys.es) ของปารีสนี่เอง

    • เอกภาพเป็นสิ่งที่ผมได้เรียนรู้เป็นอย่างแรกๆ ใน Design Fundamental
    วิชาพื้นฐานของการออกแบบทั้งหมด ครอบคลุมไปถึง
    การออกแบบกราฟิกสองมิติ วัตถุสามมิติ และยังสามารถประยุกต์
    ใช้กับการประพันธ์ดนตรีหรือแม้แต่การเล่นมุกตลกด้วย
           วิชานี้จะเริ่มปูพื้นฐานให้รู้จักและสามารถวิเคราะห์องค์ประกอบ
    ในการออกแบบ เช่น จุด เส้น ระนาบ ปริมาตร และคุณสมบัติต่างๆ
    อย่างความกลมกลืน สมดุล ทิศทาง จังหวะ แรงดึงดูดระหว่างองค์-
    ประกอบ
           เอกภาพเองก็เป็นหนึ่งในคุณสมบัติของการออกแบบ
           เอกภาพมีความหมายดูคล้ายกับ ‘ความกลมกลืน’ แต่ทั้งสอง
    สิ่งนี้เป็นคนละอย่างกัน งานออกแบบที่มีเอกภาพจะให้ความรู้สึกว่า
    ตัวงานมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน องค์ประกอบของมันอาจมี
    ความแตกต่างแต่ก็ทำงานร่วมกัน ไม่ได้ให้ความรู้สึกว่าเกิดจาก
    การนำมาโปะตามใจชอบ
           ถ้าเปรียบเทียบเป็นสำรับอาหาร เซตอาหารที่มีเอกภาพคือ
    เซตที่มีอาหารแต่ละชนิดส่งเสริมรสชาติกัน เช่น ส้มตำข้าวเหนียว
    ไก่ย่าง ที่แม้จะมีความหลากหลายในรสชาติ แต่ก็ทำงานด้วยกันได้ดี
    ไก่ย่างมีรสเค็มนำพร้อมกลิ่นของกระเทียมและน้ำปลา รสเปรี้ยวและ
    เผ็ดของส้มตำช่วยตัดความเลี่ยน ส่วนข้าวเหนียวก็ช่วยปรับความ
    เข้มข้นของรสชาติและทำให้อิ่มท้อง






  • Arrival

                 พวกเราถือเป็นนักเดินทางที่มีประสบการณ์การวางแผนการเดินทางด้วยตัวเองค่อนข้างน้อย
                 ก่อนการเดินทางครั้งนี้ ผมเป็นคนที่ไม่ค่อยใส่ใจกับการวางแผนมากนัก มักจะตามคนอื่นไป หรือไม่ก็มักจะเข้าข้างตัวเองว่าการเดินร่อนเร่โดยไม่วางแผนล่วงหน้านั้นก็สนุกเหมือนกัน (อาจเป็นเพราะช่วงอายุและความเป็นวัยรุ่น) แต่การเดินทางครั้งนี้มีทั้งเรื่องงบประมาณ เป้าหมาย และกำหนดการ เป็นสิ่งกำกับผมจึงตั้งใจวางแผนให้จริงจังมากขึ้น โดยใช้เวลาวางแผนล่วงหน้ามากกว่าหนึ่งเดือน วางกำหนดการ จองที่พักและตั๋วเดินทางล่วงหน้าแทบทั้งหมดเพื่อให้การเดินทางราบรื่นเท่าที่จะเป็นไปได้
                 เรามาถึงปารีสตอนเช้ามืด และเมื่อกำลังจะออกจากสนามบิน Charles de Gaulle เพื่อเข้าเมืองด้วยรถไฟเชื่อมต่อปริมณฑล (RER) ตามแผน เราก็ได้พบกับเหตุการณ์นอกเหนือความคาดหมายอย่างแรก
                 ด้วยความที่ก่อนมาถึง เป็นช่วงที่แบงก์ย่อยขาดตลาดเงินที่เราแลกมาจึงเป็นธนบัตรห้าร้อยยูโรล้วนๆ ซึ่งเครื่องขายตั๋วรถไฟดันไม่รับแบงก์ใหญ่
                 “ลองไปหาที่แลกเงินหรือลองดูว่าซื้อจากเคาน์เตอร์ได้ไหม”
                 ตอนนั้นผมไม่ได้เดือดร้อนใจเท่าไร คิดว่าเป็นเพียงความไม่สะดวกสบายเล็กน้อย แต่เทียนก็เสนอแนะหลังจากผมใช้เวลาวุ่นอยู่กับตู้อัตโนมัติมากเกินไป
                 สิ่งหนึ่งที่เป็นความสมดุลในความสัมพันธ์ของเราคือ เทียนจะเป็นคนมองภาพรวม รอบคอบ และจริงจัง
                ขณะที่ผมจะชอบสำรวจสิ่งเล็กน้อย ทำตัวสบายๆ กว่าจนหลายครั้งก็เรียกได้ว่าประมาท



    อุโมงค์ทางเดินในสถานีรถไฟใต้ดิน หนึ่งในสถานีทั่วกรุงปารีสที่เป็นโครงข่ายเชื่อมทั้งเมืองไว้ด้วยกัน


  •            เราไปต่อคิวซื้อตั๋วที่เคาน์เตอร์ ซึ่งจริงๆ แล้วมีไว้สำหรับขายตั๋วรถไฟความเร็วสูงระยะไกล พนักงานให้เราแลกแบงก์ห้าร้อย 1 ใบเป็นแบงก์ร้อย 5 ใบ เพื่อให้เราไปหยอดตู้เอง เราถามว่าแลกเพิ่มได้ไหม แต่พนักงานก็เปิดเคาน์เตอร์ให้ดูพร้อมกับขอโทษที่ไม่มีให้แลกมากกว่านั้นแล้ว
               เราพยายามหาทางแตกแบงก์ต่อด้วยการซื้อโยเกิร์ตในร้านสะดวกซื้อใกล้ๆ แต่ทางร้านก็ไม่มีเงินทอนแบงก์ใหญ่ ซึ่งที่จริงก็สมเหตุสมผลแล้ว เพราะธนบัตรห้าร้อยยูโรในขณะนั้นตีค่าเป็นเงินไทยได้ราวสองหมื่นบาท จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทำไมจึงไม่มีใครรับหรือไม่มีเงินทอน
               เราเลยต้องเข้าเมืองด้วยเงินที่ใช้ไม่ได้จำนวนมาก และมีเงินที่ใช้ได้ในชนิดที่มีคำว่า ‘ไปตายเอาดาบหน้า’ เคลือบอยู่บางๆ

    Before Sunset

               แต่ละคนคงมีวิธีการท่องเที่ยวที่แตกต่างกันไป บางคนเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ บางคนเน้นชิม บางคนก็เที่ยวเพื่อตอบสนองความอยากรู้อยากเห็น การมาต่างประเทศในครั้งนี้ของผมกับเทียนมีจุดประสงค์หลายแบบผสมๆ กันไป ที่แน่ๆ คือไปสำรวจสถานศึกษา ไปดูอาคารที่อยากดู ไปชมงานศิลปะ และสำรวจเมืองปกติแล้วการสำรวจเมืองของผมกับเทียนนั้นสามารถเป็นไปได้หลายรูปแบบ เช่น เดินไปเรื่อยๆ สำรวจตามเส้นทางหรือสำรวจตามสถานที่สำคัญ ซึ่งครั้งนี้เราจะสำรวจเมืองโดยใช้สถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์เป็นหมุดหมายหลัก
               ปารีสเป็นหนึ่งในมหานครที่มีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยียนต่อปีมากที่สุดในโลก และมีชื่อเสียงในด้านความโรแมนติกด้วยเหตุนี้มันจึงถูกเลือกให้เป็นฉากหลังของวรรณกรรมและภาพยนตร์หลายๆ เรื่อง
               หนึ่งในนั้นคือภาพยนตร์เรื่อง Before Sunset ภาพยนตร์ลำดับที่สองในไตรภาค Before ว่าด้วยความสัมพันธ์ของตัวละครที่เริ่มเจอกันในฐานะของหนุ่มสาวแปลกหน้าก่อนจะตัดสินใจใช้เวลาร่วมกันในเวียนนา (Before Sunrise) แล้วได้กลับมาพบกันอีกครั้งหลังต่างฝ่ายไปมีชีวิตของตนเอง (Before Sunset) ก่อนที่ความสัมพันธ์ของทั้งสองคนจะมาถึงจุดที่เปราะบางในภาคที่สาม (Before Midnight)
    ภาพยนตร์ชุดนี้กำกับโดย Richard Linklater ผู้กำกับภาพยนตร์ที่แต่ละเรื่องของเขามักมี ‘เวลา’ เป็นองค์ประกอบเด่นอย่างไตรภาค Before นั้น ถ่ายทำแต่ละภาคห่างกัน 9 ปี หรือBoyhood ที่เล่าเรื่องการเติบโตของเด็กคนหนึ่ง โดยเขาถ่ายทำเป็นเวลา 12 ปี เส้นเวลาในหนังของลิงเคลเตอร์จึงมีความสัมพันธ์
    กับโลกในชีวิตจริงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
               สิ่งหนึ่งที่ชูให้ภาพยนตร์ชุด Before เป็นที่จดจำคือสถานที่เกิดเหตุ แต่ละภาคใช้ฉากหลังเป็นแต่ละเมืองในทวีปยุโรป อย่าง Before Sunset ก็มีฉากหลังของเรื่องคือปารีส และในเมื่อภาพยนตร์ชุดนี้คือภาพยนตร์โปรดของเทียน เราจึงเริ่มต้นการท่องเที่ยวด้วยการไปจาริกตามสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้
               การท่องเที่ยวด้วยวิธีนี้เปิดความเป็นไปได้อีกแบบให้เราได้เห็นเมือง นอกเหนือจากสถานที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวเราจึงได้สัมผัสปารีส—เมืองที่ขึ้นชื่อว่าสวยงามที่สุด—ในอีกด้านที่มันเป็นคงน่วเสียดายหากเราท่องเที่ยวโดยกระโดดข้ามการสัมผัสเส้นทางในเมืองเพียงเพื่อไปยังจุดต่างๆผมและเทียนต่างคนต่างเคยมาปารีสในต่างวาระกัน แต่ครั้งนี้เรามาด้วยกัน และจะได้ทำความ Before Sunset

               สถานที่แรกที่เราไปถึงคือ Shakespeare and Companyร้านหนังสือชื่อดังที่อยู่ใกล้ๆ อาสนวิหาร Notre-Dame de Paris
               Shakespeare and Company อัดแน่นไปด้วยเสน่ห์ภายในร้านประกอบด้วยพื้นไม้และชั้นหนังสือที่เก่าคร่ำคร่า ไม้แต่ละชิ้นมีความสวยงามที่แสดงออกถึงอายุของมัน หลายชิ้นบิดงอและมีผิวเงามันซึ่งเกิดจากการใช้งาน เหมือนหินที่ถูกขัดมนด้วยคลื่นและลมแทนที่จะเกิดจากสีทาเคลือบผิวไม้อย่างที่เป็น
    โดยทั่วไป ขั้นของบันไดถูกกร่อนจนบุ๋มด้วยพื้นรองเท้านับหมื่นๆ คู่เราไม่แน่ใจว่าทางร้านตั้งใจให้เกิดสุนทรียภาพเช่นนี้หรือเปล่าแต่ความงามในร่องรอยของการร่วงโรยที่ไม่สากลนี้ตรงกับสุนทรียภาพของญี่ปุ่นที่เรียกว่า ‘วาบิ ซาบิ’ คติความงามที่ชื่นชมในเนื้อแท้อันไม่สมบูรณ์ของสรรพสิ่ง
               ในมุมหนึ่ง เราอาจมองเห็นความร่วงโรยของมัน แต่ในอีกมุมหนึ่งมันก็แสดงออกว่ายืนหยัดผ่านเวลามามากมายเพียงใด

               เราเดินในตรอกซอกซอยตามเส้นทางที่ตัวละครไปในย่านซอร์บอนน์ (Sorbonne) และเลอ มาเรส์ (Le Marais) และเราก็ได้พบสิ่งที่น่าสนใจอื่นๆ ระหว่างทาง เช่น สนามเด็กเล่น และแผงร้านค้า ที่ทำให้เราได้สังเกตวิถีชีวิตของคนในเมือง อย่างคุณป้าที่เดินดมดอกไม้ตามริมรั้ว นักดนตรีที่เล่นอยู่ตามท้องถนน และผู้พิการที่ใช้ชีวิตทัดเทียมคนส่วนใหญ่ได้อย่างปลอดภัย



    หน้าร้านหนังสือ Shakespeare and Company




  • อาสนวิหาร Notre-Dame de Paris

    ตรอกในเขตเมืองเก่า


  •           แต่การเดินตามกูเกิลแมปส์ไปเรื่อยๆ ก็ทำให้เราหลงเข้าไปในสวนของอะพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่ง มารู้เอาทีหลังว่าประตูที่เราเดินผ่านมานั้นต้องใช้คีย์การ์ดในการเข้า-ออก เมื่อประตูปิดแล้วเราจึงติดอยู่ข้างใน ต้องรอจังหวะให้มีคนสวนเข้ามาแล้วไปยั้งประตูไว้ไม่ให้ปิด หญิงชราที่กำลังปิดประตูอยู่เกิดความงุนงงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เธอพูดภาษาฝรั่งเศส ผมตอบไปด้วยภาษาอังกฤษว่าพวกเรากำลังจะออก แต่สถานการณ์ก็ยังไม่คลายความงง จนพวกเราเห็นว่าเธอใช้ไม้เท้านำทางถึงทราบว่าเธอตาบอดพวกเรารีบขอโทษแล้วออกมาจากประตูรั้วนั้นโดยไม่รู้ว่าเธอจะเข้าใจหรือไม่
              เหตุการณ์เมื่อครู่ทำให้เราทั้งประหลาดใจและประทับใจที่ผู้พิการทางสายตาสามารถไปไหนมาไหนด้วยตัวเองอย่างอิสระขณะเดียวกันก็อดรู้สึกชื่นชมปารีสไม่ได้ที่มีคุณลักษณะที่ทำให้บุคคทุพพลภาพสามารถใช้ชีวิตและทำสิ่งต่างๆ ได้เหมือนคนปกติ เช่น สัญญาณเสียงของไฟจราจรที่ช่วยส่งสัญญาณเพื่อให้ผู้ที่มีความบกพร่องทางสายตาสามารถแน่ใจได้ว่าปลอดภัยก่อนจะข้าม การนำกระเบื้องปุ่มสัมผัสเบรลล์บล็อกเข้ามาใช้ หรือทางลาดที่ไม่ปิดกั้นการสัญจรด้วยวีลแชร์ ส่วนรถยนต์ก็พร้อมที่จะหยุดเพื่อให้สิทธิ์ในการใช้ถนนแก่คนข้ามเสมอ
              ขณะที่ในกรุงเทพฯ—เมืองที่มีบุคคลทุพพลภาพเช่นกันพวกเขาเหล่านั้นกลับต้องอาศัยความสามารถพิเศษส่วนตัวและ‘น้ำใจ’ ของชาวไทยเพื่อใช้ชีวิตเป็นหลัก ไม่ใช่ระบบที่เอื้อเฟื้อแก่พวกเขา
    ผมเคยเห็นคุณลุงขายลอตเตอรี่ตาบอดต้องเดินกลางทางสัญจรของรถเพราะไม่มีทางเท้า และริมทางเต็มไปด้วยฝาท่อระบายน้ำที่ผุพัง ส่งผลให้รถต้องหยุดรอ ทำให้การจราจรเริ่มติดขัดแต่เมื่อผมไปพูดคุยกับผู้คนแถวนั้น เขาก็บองว่าลุงไปไหนมาไหนแบบนี้อยู่แล้ว และเขาก็ดูแลตัวเองได้
              อย่างไรก็ตาม การได้มาเห็นการจัดการในต่างถิ่นก็ทำให้ผมคิดอยู่เสมอว่าเมืองที่ ‘อยู่ดี’ กว่านี้ เป็นไปได้สำหรับเราทุกคน

               การออกแบบให้คนทุกกลุ่มสามารถใช้งานอย่างไร้อุปสรรคและเท่าเทียมกันอย่างที่ผมเพิ่งพูดถึงไป มีชื่อเรียกว่าอารย-สถาปัตย์ หรือ universal design แต่นอกจากสิ่งที่กล่าวไปแล้วนั้น พื้นที่สีเขียวก็เป็นอีกสิ่งที่ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนเมืองได้
              สถานที่ที่สะท้อนถึงคุณภาพชีวิตในด้านนี้ของปารีส และเป็นโลเคชั่นของหนังด้วยก็คือ Coulée verte René-Dumontหรือ Promenade Plantée สวนลอยฟ้าในย่าน Quinze-Vingts
              ตอนแรกเราหาสถานที่นี้ไม่เจอ เพราะผมเดินตามหมุดในกูเกิลแมปส์โดยไม่ได้อ่านอะไรเกี่ยวกับมัน จนเริ่มสังเกตรอบตัวให้มากขึ้นว่าร่มไม้บหญ้าแถวๆ นั้น มันอยู่ที่ไหนบ้าง ผมจึงได้เห็นว่ามีต้นไม้อยู่บนยอดอาคารโครงสร้างเป็นซุ้มโค้งคล้ายสะพานส่งน้ำโรมันตลอดทั้งแถบ เราจึงหาทางขึ้นมาบนนี้ได้
              แม้จะเรียกว่าเป็นสวนลอยฟ้าของปารีส แต่เดิมทีโครงสร้างของที่นี่ใช้เพื่อรองรับรางรถไฟ จนเมื่อมีการเลิกใช้จึงได้มีการปรับปรุงด้านบนให้เป็นสวน (เหมือนสวน High Line ในนิวยอร์ก) และด้านล่างเป็นร้านค้าที่หลากหลายเส้นทางบนสวนนี้เดินได้โดยไม่เบื่อ เพราะนอกจากจะเป็นสวนที่ร่มรื่นแล้ว มันยังเป็นจุดที่จะสามารถชมทิวทัศน์ของเมืองจากด้านบนได้อีกด้วย






              การไปเยี่ยมชมสถานที่ที่ใช้ถ่ายทำภาพยนตร์ทำให้เราเห็นถึงความแตกต่างระหว่างภาพจำในหนังกับตัวสถานที่จริงๆ
             ภาพยนตร์นั้นมีความหลากหลายในขั้นตอนการสร้าง และมันสามารถถูกเนรมิตออกมาตามจุดประสงค์ของผู้สร้างเพื่อที่จะเลือกความจริงบางส่วนในขณะถ่ายทำมาดัดแปลงและเรียบเรียงเพื่อส่งสารไปยังผู้รับชม แน่นอนว่าอาจมีภาพยนตร์ที่มุ่งเน้นการบันทึกเหตุการณ์ขณะถ่ายทำเป็นหลักอย่างภาพยนตร์สารคดีแต่ช่วงเวลาที่ถูกบันทึกในนั้นก็ถูกตัดขาดจากเหตุการณ์ก่อนหน้า (antecedent) และเหตุการณ์ที่เกิดหลังจากนั้น (aftermath)
              การตามรอยสถานที่เหล่านี้ทำให้เราได้เห็นและสัมผัสกับสิ่งมากมายที่ไม่เหมือนหรือไม่อาจสัมผัสได้โดยตรงจากภาพยนตร์  เช่น สภาพตามปกติของสถานที่ สิ่งที่อยู่นอกเฟรมกล้อง แสงสภาพอากาศ และอุณหภูมิ ภาพในหัวกับสถานที่จริงจึงเป็นสองสิ่งที่ต่างกันอย่างเปรียบเทียบได้ยาก อาจมีเรื่องของแสงและสภาพอากาศเท่านั้นที่พอจะเทียบได้ว่าทำให้ภาพออกมาแบบไหนนอกจากนั้นแล้ว ผมไม่คิดว่าเราสามารถเปรียบเทียบได้ว่าประสบ-การณ์ในการดูหนังกับการไปอยู่ในสถานที่ถ่ายทำ สิ่งไหนเด่นหรือ
    ด้อยกว่ากัน เพราะมันเป็นคนละอย่างกันโดยสิ้นเชิง
             แต่สิ่งหนึ่งที่เราพอจะตีความได้จากการไปอยู่ตรงนั้นก็คือทำไมปารีสถึงถูกเลือกให้เป็นพื้นหลังของเรื่องราวเช่นนี้การเดินทางครั้งนี้ทำให้เราได้ลองมองปารีสจากหลายๆ มุมเช่น จากมุมตามทางที่เราเดิน มุมจากบนสะพานเหนือแม่น้ำแซนมุมจากที่สูงบนเนินของย่านมงมาทร์ (Montmartre) ซึ่งทำให้เราค่อยๆ เห็นรูปแบบและเอกภาพที่แข็งแรงของปารีส และในเอ-ภาพนี้ก็มีความหลากหลาย

            อย่างที่ผมพูดไปว่าเอกภาพกับความกลมกลืนนั้นไม่ใช่สิ่งเดียวกัน อย่างปารีสนั้น ถ้ากลืนกันไปหมดก็คงน่าเบื่อและทำให้คนหลงทางกันได้ง่ายๆ ปารีสจึงวางถนนเป็นแนวที่มีจุดตัดตามจัตุรัสและอาคารสำคัญต่างๆ ทำให้มีจุดหมายตาและจดจำได้ง่ายเช่น หอไอเฟล ประตูชัย มหาวิหาร Basilique du Sacré-Coeurรวมไปถึงเหล่าอาคารสมัยใหม่อย่าง Centre Georges Pompidouศูนย์ศิลปะวัฒนธรรมที่ออกแบบโดย Renzo Piano ผู้มีแนวคิดในการออกแบบโดยนำสิ่งที่ปกติแล้วจะถูกปิดซ่อนโดยอาคาร เช่นท่องานระบบและโครงสร้างออกมาไว้ด้านนอกทั้งหมดจนดูเหมือนเป็นเครื่องจักรขนาดใหญ่
    Montparnasse Tower และ UNESCOMeditation Space งานออกแบบโดยสถาปนิกชาวญี่ปุ่น Tadao
    Ando
            ปารีสเป็นเมืองที่มีรูปแบบชัดเจน แต่ก็แสดงออกถึงความหลากหลาย ถ้าเปรียบเป็นคนก็อาจเหมือนคนที่มีอุดมการณ์และหลักการให้เรารู้สึกชื่นชมและวางใจที่จะคุยด้วย แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ตายตัวชนิดที่ว่าจะทำให้เราเข้าใจได้ทั้งหมดในสองสามบทสนทนา
            คงเพราะเช่นนี้เองที่ทำให้เมืองแห่งนี้มีเสน่ห์และมีผู้แวะเวียนมาไม่ขาดสาย



    พื้นที่ภาวนา’ (Meditation Space) สถาปัตยกรรมร่วมสมัยในองค์การยูเนสโก(UNESCO) ออกแบบโดย Tadao Ando




  • สะพานเดินเท้า Debilly และกลุ่มอาคารย่านโทรกาเดโรในฉากหลัง


    หอไอเฟล สถาปัตยกรรมที่เป็นสัญลักษณ์ของเมือง/ประเทศ


  • ภาพของเมืองจากบนเนินเขามงมาทร์

    ผู้คนพักผ่อนหย่อนใจกันที่มงมาทร์


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in