เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
SO SEOULBenchiro
SO SEOUL
  •           สวัสดีครับผมชื่อเบน ตอนนี้เรียนอยู่คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พอดีเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา บังเอิญโชคดีได้มีโอกาสร่วมโครงการ ASEAN+6 ของจุฬาฯ ไปศึกษาดูงานที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ครับ ในใจเลยคิดว่าไหนๆได้ไปเกาหลีทั้งที แถมครั้งนี้ไปดูงานไม่ใช่ไปเที่ยว เลยถือโอกาสบันทึกแง่มุมน่าทึ่งของแดนโสมและหลายประสบการณ์ชวนเตะตา ที่เชื่อว่าน้อยคนในฐานะนักท่องเที่ยวจะได้สัมผัส ส่งเป็นรายงานสรุปโครงการ แต่ครั้นจะปิดเล่มจบไปเฉยๆก็แอบเสียดาย เลยขอแชร์เป็นบทความขนาดพอเหมาะไม่สั้นไม่ยาว ชื่อว่า "SO SEOUL" ลงใน minimore ครับ

              หวังว่าทุกคนจะสนุกและสัมผัสกับความโซลที่ so Seoul ไปกับบทความนี้นะครับ :D


    Because of "THE WAR"    

    หลายคนที่เคยไปเที่ยวเกาหลี คงทราบดีว่าคนไทยไม่จำเป็นต้องขอวีซ่า แล้วรู้ไหมครับว่า ทำไมพวกเราถึงได้อภิสิทธ์ชั้นแพลทินัมนี้มาครอบครอง พี่จอห์นไกด์ชาวเกาหลีเล่าให้ฟังว่า ในยามที่สงครามเกาหลีกำลังปะทุรุนแรง ไทยในฐานะชาติสมาชิกสหประชาชาติ ร่วมอุดมการณ์ต่อต้านคอมมิวนิสต์ ได้ส่งกำลังทหารและเสบียงมายังเกาหลีใต้เพื่อร่วมรบ ข้าวสารหลายลำเรือและวีรกรรมกล้าของทหารไทยใต้เส้นขนานที่ 38 แม้เป็นเวลากว่า 60 ปีล่วงมาแล้ว แต่ก็ยังทำให้เกาหลีใต้รู้สึกขอบคุณคนไทยจนถึงทุกวันนี้ พลอยให้เรารุ่นลูกหลานได้รับสิทธิพิเศษ เดินทางเข้าเกาหลีได้อย่างไม่ต้องขอวีซ่า แต่อย่างว่าแหละครับ ทุกข้อยกเว้นย่อมต้องมีเงื่อนไข เมื่อไร้วีซ่ารับรอง เจ้าหน้าที่ ตม.จึงจำต้องตรวจสอบพวกเราอย่างละเอียด บางคนที่ประวัติน่าสงสัยจึงถูกกักตัวเพื่อสอบสวนอย่างเข้มข้น จนกลายเป็นที่มาของ ดราม่า ตม.เกาหลี แบบที่เราๆเห็นกันในข่าวนั่นเองแหละครับ

                                                     กองร้อยทหารไทยในสงครามเกาหลี


    For the Future

                พวกเรานั่งรถบัสจากสนามบินอินชอนเข้ากรุงโซล ระหว่างทางพี่จอห์นคนเดิมก็ชี้ให้เราดูลานโคลนโล่งกว้างสองฝั่งของไฮเวย์ พี่จอห์นอวดอย่างภูมิใจว่านี่คือโครงการขยายเขตแผ่นดินของเกาหลี ที่เราเห็นคือขั้นตอนการกั้นน้ำทะเล อีกพักใหญ่ถึงจะเริ่มมีการถมเพื่อเตรียมพื้นดินให้แน่นพร้อมรองรับการขยายเมืองต่อไป จริงๆแล้วสนามบินนานาชาติอินชอนที่พวกเราเพิ่งแลนด์ดิง ก็สร้างบนพื้นที่ซึ่งเดิมเคยเป็นทะเลมาก่อนครับ ใช้ขยะจากโซลและอินชอนถมกันอยู่หลายปี กว่าจะพร้อมก่อร่างสร้างเป็นสนามบินสวยหรูอย่างที่เราเห็น 

                 เกร็ดความรู้อย่างหนึ่งที่พี่จอห์นเล่าคือ ชาวเกาหลีนั้นมีสำนึกการเป็นหนี้บุญคุณอดีตครับ เพราะเกาหลีเคยแทบสิ้นชาติจากไฟสงคราม แต่ได้ผู้คนในอดีตช่วยกันพลิกฟื้นจนประเทศกลับมารุ่งเรือง ดังนั้นคนเกาหลีในปัจจุบัน จึงจำต้องมีหน้าที่สร้างเกาหลีเพื่อคนในอนาคตอีกต่อหนึ่ง เสมือนไม้ผลัดที่รับต่อมาจากคนรุ่นก่อนหน้า

     “ภาษีที่เสียไปจึงไม่ได้เสียเพื่อคนเกาหลีรุ่นปัจจุบัน แต่คือการลงทุนเพื่อลูกหลานเกาหลีในอนาคต” 

                 แม้คำพูดจะถูกสื่อสารผ่านน้ำเสียงที่เรียบเฉย แต่แววตาก็บ่งบอกให้รับรู้ถึงความรู้สึกยิ่งใหญ่ภายในตัวพี่จอห์นได้อย่างชัดเจน และนี่เองคือความรู้สึกแรกที่พี่จอห์นได้พาผมไปสัมผัสความทระนงในชาติตัวเองของคนเกาหลีอย่างใกล้ชิด

     

    Education, The Best Medicine

                  ตำแหน่งงานที่มีจำกัดทำให้คนเกาหลีต้องแข่งขันกันอย่างหนักตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียน เพราะการเข้ามหาวิทยาลัยที่ดีได้ย่อมรับรองชีวิตไปส่วนหนึ่งว่าจะได้งานและอนาคตที่ดี เรามีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล (SNU) 1 ใน SKY (Seoul National University, Korea University และ Yonsei University) 3 มหาวิทยาวิทยาลัยที่เด็กเกาหลีแข่งขันกันสอบเข้าสูงที่สูด 

    มุมหนึ่งของภูมิทัศน์ภายในมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล เหมือนอยู่ในรีสอร์ทเลย

                  Campus tour กลุ่มเรานำโดยไกด์จำเป็น “ ลี ” (Chang Sub Lee)  อปป้ารัฐศาสตร์ปี 4 แห่ง SNU และเนื่องจาก SNU สร้างอยู่บนเขาทำให้การเดินไปยังหลายคณะต้องผ่านเนินและทางลาดสูงชันอยู่ตลอด ระหว่างทางลีแนะนำให้เราดูทิวทัศน์รายรอบ ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ ทางเท้า บึงน้ำ หรือแม้แต่สถาปัตยกรรมที่ล้วนแล้วแต่ทำให้บรรยากาศที่นี่ดูร่มรื่น เป็น campus ที่ชวนให้อยากใช้เวลาอยู่มากกว่าหนีกลับบ้าน สภาพแวดล้อมนอกห้องเรียนที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ทำให้นักศึกษาที่นี่สามารถนั่งจับกลุ่มพูดคุยกันนอกห้องเรียนที่ไหนก็ได้ สะท้อนถึงวิสัยทัศน์และความใส่ใจในรายละเอียดของมหาวิทยาลัย ที่มุ่งสร้างสภาพแวดล้อมโดยรอบให้เกื้อกูลต่อการเรียนรู้ ที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

    สถาปัตกรรมของหอสมุดมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล ออกแบบได้เก๋ไก๋เตะตาทีเดียวครับ

                ในช่วงท้ายของวันลีนำพวกเราออกนอกมหาวิทยาลัย ไปเที่ยวชมสถานที่สำคัญในโซล ระหว่างเดินทางทำให้พอมีเวลาพูดคุยกับลี เกี่ยวกับความคิดของคนเกาหลียุคใหม่บ้าง ลีเล่าให้เราฟังเป็นภาษาอังกฤษติดสำเนียงเอเชียนอย่างเป็นกันเองว่า คนเกาหลียุคก่อนนั้นเกลียดคนญี่ปุ่นมาก เพราะกว่าศตวรรษที่แล้วเกาหลีเคยถูกญี่ปุ่นรุกราน ทำให้ต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น กว่า 35 ปีของการถูกกดขี่ หญิงเกาหลีนับไม่ถ้วนถูกบังคับเป็นนางบำเรอ (comfort women) สังเวยความใคร่ตะกละกามของทหารแดนอาทิตย์อุทัย บาดแผลจากปลายดาบซามูไรยังคงกรีดลึกสร้างความเจ็บปวดอยู่ในหัวใจคนเกาหลียุคก่อนอย่างไม่อาจเบาจาง 

                  แต่อดีตก็คืออดีตมันเปลี่ยนแปลงไม่ได้แล้ว ลีบอกว่าหนุ่มสาวเกาหลียุคใหม่นั้นมีอคติกับคนญี่ปุ่นน้อยลงมาก พวกเขาต่างมีชีวิตเพื่อปัจจุบันและอนาคต การศึกษาที่ขับเคลื่อนประเทศสู่ความรุ่งเรืองภายในระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งชั่วคน คือยาสมานแผลขนานเอกที่ช่วยผนึกเย็บแผลลึกในหัวใจของผู้คนเกาหลี คงเหลือไว้เพียงแต่รอยแผลเป็นจางๆ ที่คอยเตือนทุกหัวใจให้ต้องรักและช่วยเหลือชาติ เพื่อฝังกลบอดีตอันเลวร้ายมิให้หวนคืนเกิดขึ้นอีกครั้ง


    The Smoke of Sacrifice

    เนื่องจากเกาหลีใต้ยังอยู่ในสภาวะเตรียมพร้อมสงครามกับเกาหลีเหนือ ชายเกาหลีใต้ทุกคนจึงจำต้องถูกเกณฑ์ทหาร ระยะเวลาในค่ายทหารประมาณ 2 ปี จึงกลายเป็นค่านิยมที่ยึดมั่นของสังคมเกาหลีอย่างจริงจัง ที่ไม่ว่าจะแต่งงานหรือสมัครงาน ถ้าหากยังไม่ได้เกณฑ์ทหารก็จะถือว่าเป็นชายเกาหลีที่ยังไม่ qualified ผมแอบถามลีว่าใจจริงอยากเกณฑ์ทหารไหม ลีตอบด้วยเสียงกระซิบแกมตลกว่า “ ถ้าเลือกได้ก็ไม่อยากเสียเวลา ” แต่จะทำอย่างไรได้ “ They (North Korea) ’re just above us. ”  ลีปิดท้ายด้วยประโยคกระชับ แต่สะท้อนถึงแก่นความจริง ที่ทำให้ชายเกาหลีทุกคนยังคงจำเป็นต้องเสียสละ

    คนนี้แหละครับ...อปป้าลี

               หากเราเดินไปตามท้องถนนในกรุงโซล จะสังเกตได้ว่าคนที่นี่สูบบุหรี่กันเยอะมาก โดยเฉพาะในเพศชาย ทำให้ผมเองเผลอคิดไปว่า คนเกาหลีคงใช้ไอร้อนจากควันบุหรี่ช่วยให้คลายจากอากาศที่หนาวเย็น แต่เมื่อพูดคุยกับลีทำให้พบว่าเข้าใจผิดไปถนัด ลีเล่าว่าผู้ชายหลายคนแม้เดิมไม่สูบบุหรี่ แต่เมื่อเข้าไปเกณฑ์ทหารแล้วสุดท้ายก็มักจะต้องสูบ ความเหงา เครียด และอิดโรยจากการฝึก ประกอบกับค่านิยมการสูบบุหรี่ของทหารอาชีพในค่าย ทำให้ชายเกาหลีมากมายกลายเป็นคนติดบุหรี่หลังปลดประจำการ

               กลุ่มควันคลุ้งจากใบยาสูบ จึงกลายเป็นสัญญะหนึ่งของบรรดาลูกผู้ชายเกาหลี ที่นัยว่าครั้งหนึ่งพวกเขาเหล่านั้น ล้วนเคยเสียสละตัวเองเพื่อชาติ


    Miracle of the Han River

               หากใครเคยมาโซลตอนฤดูใบไม้ร่วง คงเห็นใบเมเปิลสีส้มแดงร่วงสลับกับใบแป๊ะก๊วยสีเหลืองสดแต่งแต้มสีสันบนทางเท้า ราวกับเป็นงานศิลปะจากธรรมชาติ แต่ทราบไหมครับว่าเบื้องหลังความสวยงามยามฤดูใบไม้ร่วงนั้น ถูกแฝงไว้ด้วยความใส่ใจในพลเมืองกรุงโซลอย่างละเอียดลออ เพราะความสามารถในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มากกว่าพืชชนิดอื่น แถมยังทนอุณหภูมิได้ทั้งร้อนและหนาวจัด ทำให้ทางการโซลจงใจเลือกเมเปิลและแปะก๊วยมาปลูกไว้เรียงรายสองข้างทางทั่วทั้งเมือง

    เมื่อพูดถึงโซลอีกแลนด์มาร์กสำคัญ ที่คงไม่เอ่ยถึงไม่ได้คือ " คลองช็องกเยช็อน" ตลอดความยาวกว่า 6 กม. ที่ไหลลัดเลาะผ่านมหานครแห่งนี้ ในอดีตเคยมีสภาพเสื่อมโทรมไม่ต่างจากคลองแสนแสบบ้านเรา แต่ด้วยวิสัยทัศน์ของนายอีมย็อง-บัก ผู้ว่าการโซลเมื่อ 15 ปี ก่อน งบประมาณกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาท จึงถูกใช้ไปเพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อมตลอดสองฝั่งคลอง เพียงแค่ 2 ปีน้ำใสสะอาดจากแม่น้ำฮันก็ถูกผันและไหลขับน้ำและเศษตะกอนเน่าเสีย ออกจากคลองแห่งนี้ได้จนหมด ทิวทัศน์สองฝั่งคลองถูกบรรจงจัดแต่งอย่างเพลินตา นำพาสายน้ำไหลกลับมาหล่อเลี้ยงวิถีชีวิตของคนโซลได้อีกครั้ง

    บรรยากาศของคลองช็องกเยช็อน ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังเดินในสวนป่าสุดๆ

    อดีตเบื้องหลังกระแสธารใหม่ ที่ชุบชีวิตคลองช็องกเยช็อนอย่างแม่น้ำฮัน ก็เคยมีสภาพย่ำแย่พอๆกับแม่น้ำเจ้าพระยาในกรุงเทพฯเลยทีเดียว จนกระทั่งในสมัยประธานาธิบดีพักช็อง-ฮี รัฐบุรุษแห่งเกาหลีใต้ ผู้นำพาประเทศหลุดพ้นจากความยากจน ออกนโยบายพัฒนาสภาพแวดล้อมของแม่น้ำฮันอย่างจริงจัง ทำให้บ้านเรือนที่ตั้งอยู่ติดริมน้ำถูกบังคับให้ย้ายออกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การเดินเรือในแม่น้ำถูกกำจัดไว้แค่เพื่อการท่องเที่ยว ความไม่พอใจจึงผุดขึ้นทั่วทุกหัวระแหงบังเกิดเป็นเหตุการณ์ประท้วงนับครั้งไม่ถ้วน 

    แต่อนาคตของเกาหลีย่อมเป็นสิ่งที่ไม่อาจผ่อนผันได้ ความเด็ดเดี่ยวและเชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองทำของประธานาธิบดีพักช็อง-ฮี ในวันนั้น ได้คืนชีวิตกลับสู่แม่น้ำฮันอีกครั้ง ความใสสะอาดแทบหาขยะไม่เจอของแม่น้ำฮัน ขนาบด้วยถนนสลับกับสวนสาธารณะเขียวชอุ่มทอดยาวปรากฏอยู่ตลอดทั้งสองฝั่งตลิ่ง คือประจักษ์พยานสำคัญ ที่ย้ำให้ชาวเกาหลีตระหนักว่าความเสียสละของพวกเขาในอดีต ได้สร้างปาฏิหาริย์แห่งแม่น้ำฮันขึ้นแล้ว

                                                   ภาพ bike lane เลียบแม่น้ำฮัน                                                 (http://www.embark.org/south-korea/seoul/adventures/han-river)

    "ปาฏิหาริย์แห่งแม่น้ำฮัน" ยังใช้กล่าวถึงการรุดหน้าทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ จนสามารถกระโจนพ้นภาวะประเทศยากจนได้อย่างรวดเร็ว อันเป็นผลจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจในสมัยประธานาธิบดีพัก ช็อง-ฮี ที่มุ่งพัฒนาฐานอุตสาหกรรมส่งออกให้กลายเป็นจุดแข็งสำคัญของประเทศ  ใครจะไปนึกหละครับว่าประเทศที่เกือบเสื่อมสลายเพราะภัยสงครามในอดีต เพียงแค่ไม่กี่สิบปีจะสามารถสร้างปาฏิหาริย์แห่งแม่น้ำฮันได้ถึงสองหน หนแรกคือสายน้ำฮันที่กลับมาหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนในมหานครโซลแห่งนี้ ส่วนหนที่สองคือสายน้ำใหม่ เป็นสายน้ำที่พร่างพรมดับพิษจากไฟสงครามและไหลพาคนเกาหลีทั้งชาติไปสู่ชีวิตที่ดีกว่าอย่างเต็มภาคภูมิ

    ผู้คน เรื่องราวและความทรงจำตลอดทั้ง 4 วันที่โซล คืออีกหนึ่งประสบการณ์ลืมยากที่พาผมไปสัมผัสเบื้องหลังและความเป็นไปของประเทศ ที่ขึ้นชื่อว่าสามารถก้าวพ้นจากดินแดนโลกที่สามได้อย่างรวดเร็วที่สุดแห่งหนึ่งของโลก หลายภาพและความเข้าใจที่เกิดขึ้น ณ ที่นั่น แม้จะทำให้เราในฐานะคนนอกต่างอิจฉา แต่มันก็กลายเป็นแรงบันดาลใจ ที่ช่วยขยายมุมมองของผมให้กว้างออกจากข้างใน เป็นเสมือนอีกเชื้อไฟที่ทำให้ผมกลับมามีความหวังกับประเทศตัวเองอีกครั้ง

    สุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ช่วยพาผมกับเพื่อนอีกกว่า 40 คนไปสัมผัสเส้นขอบฟ้าใหม่ เป็นการเข้าไปสู่อีกพรมแดนของขอบฟ้า ที่ผมไม่เคยมองเห็นมันจากด้านใน ขอบคุณนะครับที่ทำให้ 4 วันในโซล เป็นช่วงเวลาการเรียนรู้ที่น่าตื่นเต้นและน่าจดจำของผมไปอีกนาน

    ขอบคุณทุกคนที่ติดตามอ่าน " SO SEOUL" ครับ

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in