เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
My First Storypomsleepless
My House My Rules My coffee : Knives Out
  •            ภาพยนตร์เรื่อง "Knives Out" หรือฆาตกรรมหรรษา ใครฆ่าคุณปู่ เป็นภาพยนตร์แนว Whodunit หรือที่เรียกว่าเป็นภาพยนตร์ค้นหาว่าใครคือฆาตกรภายในเรื่อง ซึ่งภายใน Knives out นี้เปิดฉากมาด้วยภาพคุณปู่ (?) ฮาร์ลานนอนจมกองเลือดอยู่ที่โซฟา เนื้อเรื่องดำเนินต่อไปอย่างรวดเร็วด้วยการปูพื้นตัวละครสำคัญและความสัมพันธ์ของแต่ละตัวละครด้วยการเล่าเรื่องราวของค่ำคืนแห่งการเฉลิมฉลองการครบรอบอายุ 85 ปีของฮาร์ลานผ่านการบอกเล่าของลูกสาวคนโตของเขา ลูกสะใภ้ของฮาร์ลานและลูกชายคนเล็กสุด รวมทั้งยังมีการสอบปากคำเพิ่มเติมจากบรรดาหลานๆ และผู้ดูแลชายแก่ที่ชื่อว่า "มาร์ทา" ตัวละครสำคัญของภาพยนตร์และบทความนี้
               
              Knives out ตลบหลังคนดูด้วยกลวิธีการเล่าที่มีชั้นเชิง หักมุมให้เราคาดเดาเรื่องราวได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นทั้งการทิ้งเบาะแสว่าใครในตระกูลที่จะมีแรงจูงใจในการฆ่าคุณปู่ฮาร์ลาน หรือจะเป็นทิ้งท้ายว่ามาร์ทาไม่ได้ฉีดยาผิดแต่อย่างใด ซึ่งนอกจากภาพยนตร์เรื่องนี้จะหลอกคนดูด้วยตัวละครหรือเนื้อเรื่อง ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ภาพยนตร์หลอกเรานั่นคือ ชื่อเรื่องภาษาไทยที่ว่า "ฆาตกรรมหรรษา ใครฆ่าคุณปู่" ซึ่งเมื่ออ่านดูแล้วจะหลอกให้เราเข้าใจว่าเป็นปู่ของใคร แต่ในความเป็นจริงผู้อยู่เบื้องหลังการฆาตกรรมทั้งหมดกลับเป็น "แบรนซัม" และฮาร์ลานเป็นคุณปู่ของเขา ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงพยายามหลอกไม่ให้เราเข้าใจว่าแบรนซัมเป็นคนฆ่าด้วยการที่ไม่ตั้งชื่อว่า "ฆาตกรรมหรรษา ใครฆ่าคุณตา"
     
               หากแต่การหลอกที่แนบเนียนที่สุดของภาพยนตร์เรื่องนี้คือการใช้ฉากหน้าว่าเป็นภาพยนตร์สืบสวนแต่เนื้อแท้ด้านในกลับซ่อนไว้ด้วยความเป็น "การเมือง" อย่างแนบเนียน
               
               ภาพยนตร์เรื่องนี้มีฉากหลังเป็นสภาพสังคมอเมริกัน ภายในเรื่องมีประเด็นเสียดสีสังคม การอพยพ และประเด็นเรื่องชนชั้นที่เห็นความแบ่งแยกอย่างชัดเจนนั่นก็คือชนชั้นเศรษฐีอย่างบรรดาคนในตระกูลทรอมบีย์ที่อาศัยอยู่ในบ้านขนาดใหญ่จนเกือบเรียกได้ว่าเป็นปราสาทและคนชนชั้นล่างอย่างมาร์ทาผู้เป็นเพียงคนดูแลชายแก่อย่างฮาร์ลาน ซึ่งมาร์ทานี้เองที่เป็นตัวละครสำคัญ เนื่องจากมาร์ทาเป็นลูกของผู้อพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฏหมายจากประเทศอุรุกวัย สถานะของเธอกลายเป็น "คนนอก" ของตระกูลทรอมบีย์ เป็น "คนนอก" ของบ้านนี้ และเป็น "คนนอก" ของสหรัฐอเมริกาไปโดยปริยาย จึงไม่น่าแปลกใจที่มาร์ทาจะเป็นภาพแทนของหญิงต่างด้าวที่คอยทำงานหลบๆ ซ่อนๆ อยู่ในอเมริกาหรือที่เรียกว่าเป็นผู้อพยพ ซึ่งการแตะประเด็น Immigration ของภาพยนตร์เรื่องนี้ลึกซึ้งกว่าที่คิดยิ่งนัก 

                การวางให้ตัวละคร "ผู้อพยพ" และ "คนนอก" อย่างมาร์ทาเป็นผู้ได้ครอบครองมรดกทั้งหมดอย่างงงๆ ทั้งที่ไม่ใช่ลูกหลานของคนในตระกูล เป็นเพียงชาวต่างด้าวที่ต้องแบกรับภาระการดูแลแม่ คือสาส์นเตือนที่ชาวอเมริกันพยายามบอกว่า หากชาวอเมริกันยังประพฤติตัวเฉกเช่นเดียวกับลูกหลานตระกูลทรอมบีย์ เช่น ยักยอกเงิน ไม่ได้ใส่ใจดูแลกิจการอย่างแท้จริง และปล่อยให้ "คนนอก" หรือ "เหล่าชาวอพยพ" เข้ามามีบทบาทและแสวงหาประโยชน์ จาก "บ้านของเรา" มากเกินไป ก็จะพบกับจุดจบอย่างลูกหลานตระกูลทรอมบีย์ที่สูญเสียบ้าน ที่ดิน กรรมสิทธิ์กิจการต่างๆ หลุดมือลอยไปให้ "มาร์ทา" ตัวแทนของกลุ่มคนนอกที่จะได้รับประโยชน์ทั้งหมดไปโดยที่พวกเขาคิดว่าเธอไม่สมควรจะได้รับ 

                 ในช่วงแรกนั้น ดูราวกับว่าตระกูลทรอมบีย์จะยอมรับ "มาร์ทา" เข้ามาเป็นคนในครอบครัว เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นอเมริกา แต่เมื่อผลประโยชน์ที่ตระกูลทรอมบีย์ควรได้รับกลับสูญเสียไปให้ "มาร์ทา" ทั้งหมด พวกเขาก็ผลักให้มาร์ทากลายเป็นคนนอกอีกครั้ง และนี่ได้ตอกย้ำว่าความเป็น "คนใน" ที่รับคนอพยพเข้ามาในสังคมอเมริกันไม่มีอยู่จริงและยากที่จะสมานกลมกลืนกันอย่างแท้จริงได้
          
                 ประเด็นการอพยพของผู้คนที่หลั่งไหลเข้ามาในสหรัฐอเมริกาเป็นปัญหาสะสมที่มีมายาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงไม่นานมานี้ได้มีนโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ที่พยายามสร้างกำแพงระหว่างสหรัฐอเมริกาและเม็กซิโกเพื่อป้องกันคนนอกเข้าประเทศ แน่นอนว่านี่คือหนึ่งในนโยบายที่จะ Make America Great Again และนี่คือการทวงคืนบ้านของชาวอเมริกันกลับมาผ่านสาส์นเตือนจากเรื่องนี้ว่า หากชาวอเมริกันยังเป็นเช่นนี้อยู่ก็จะพบจุดจบแบบนี้แหละจ้ะ ตามที่ฉากแรกในภาพยนตร์บอกไว้นั่นแหละว่า 
                   

                   My House My Rules My coffee

                                        

     
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in