เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Kashmir if you can
BUNBOOKISH
คำนำ


  • ปกติเวลาพานักเขียนใหม่มาแนะนำที่สนพ. มักจะมีคำถามว่าไปเจอมาจากไหน หรือใครแนะนำมา ซึ่งส่วนใหญ่ที่มาที่ไปของคนอื่นๆ ก็ไม่ต่างกันมากนัก แต่กับแพร—ฉัตรพร เราตอบคำถามนี้ว่า อ๋อ…เจอในเว็บ Pantip (พอตอบแบบนี้ ก็จะต้องพูดอำต่อว่า คือ ตอนนั้นมันมีกระทู้ดราม่า...ไม่ใช่!)

    เราเจอแพรครั้งแรกจากกระทู้รีวิวการไปเที่ยวสามประเทศ แต่สิ่งที่ปกติเราจะได้เห็นจากคนรีวิวการเที่ยวต่างประเทศ ก็มักจะเป็นรูปถ่ายวิวสวยๆ สถานที่แลนด์มาร์ก อาหารขึ้นชื่อ แต่การรีวิวของแพรแตกต่างออกไป แพรรีวิวทริปการเดินทางของตัวเองด้วยสมุดบันทึก เป็นการรีวิวผ่านสิ่งที่เธอมองเห็นด้วยตา เรื่องราวที่เธอจดจำและบันทึกไว้ในหัวใจ โดยมีสมุดบันทึกเป็นเครื่องมือช่วยจำ

    ในสมุดบันทึกของเธอจึงมีสิ่งละอันพันละน้อยที่เธออยากจดจำเต็มไปหมด ตั้งแต่ตั๋วเครื่องบิน บอร์ดดิ้งพาส รูปถ่าย รูปวาด ดอกไม้ ใบหญ้า เรื่อยไปจนถึงห่อขนม กระดาษเช็ดปาก เงินเหรียญ หรืออะไรก็ตามที่เธอสามารถเก็บมันไว้ในสมุดได้...           

    เราเองเคยเป็นคนติดสมุดบันทึก หรือสมุดสเก็ตช์งาน ขนาดที่วันไหนออกจากบ้านโดยไม่ได้เอาสมุดปากกาใส่กระเป๋ามาด้วยแล้วจะรู้สึกหงุดหงิด ครั่นเนื้อครั่นตัวเหมือนจะไม่สามารถจดจำหรือคิดงานอะไรได้ไปตลอดวัน จนเมื่อเห็นสมุดบันทึกของแพร ถึงได้รู้ตัวว่า ทุกวันนี้หลายครั้งก็วางสมุดจดงานทิ้งไว้ที่โต๊ะ บางวันก็ไม่ได้หยิบออกมาจากบ้าน เมื่อกลับไปเปิดสมุดดู พบว่าก็ไม่ค่อยได้เขียน ได้จด ได้บันทึกอะไรมานาน จากคนที่เคยเปลี่ยนสมุดเล่มใหม่ทุกสามเดือนหกเดือน ตอนนี้สมุดเล่มเดิม ใช้มาปีกว่าแล้วยังเหลือเกินครึ่งเล่มอยู่เลย เราหลงลืมการจด การขีดการเขียนไปตั้งแต่เมื่อไหร่กัน...            

    หลังจากนั้นเราก็ติดตามผลงานของแพรทางเพจเฟซบุ๊ค Pair Notebook มาตลอด ในนั้นเต็มไปด้วยรูปวาดสีน้ำในสมุดเล่มถนัดมือ รูปภาพที่เธอวาดแทบทุกวันล้วนเป็นสิ่งที่หากเป็นเรา ก็คงเลือกหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาถ่ายรูปเก็บไว้มากกว่า

    เราคุยกันเรื่องการใช้ชีวิตให้ช้าลงหน่อย แพรบอกว่าหากสนใจอะไรแล้ว แทนที่จะแค่ถ่ายรูปแล้วเดินจากมา เธอเลือกที่จะหยุดและนั่งลงวาดภาพนั้นลงในสมุด เธอว่า...จะได้ใช้เวลาอยู่กับสิ่งนั้นนานๆ           

    Kashmir If You Can เป็นหนังสือเล่มแรกของแพร—ฉัตรพร และเป็นหนังสือบันทึกการเดินทางเล่มแรกของบันบุ๊คส์ มันอาจจะไม่ใช่หนังสือท่องเที่ยวที่ให้ข้อมูลการเดินทางได้มากนัก ดินแดนแคชเมียร์ในสายตาคนอื่นอาจจะน่าตื่นตาตื่นใจกว่าที่แพรไปเจอหลายเท่า แต่เราก็หวังให้คนอ่านสนุกที่ได้เห็นในสิ่งที่แพรใส่ใจ และบันทึกมันไว้ในความทรงจำของเธอเหมือนที่เรารู้สึก

    สำหรับคนอื่น ‘หนังสือเดินทาง’ อาจสำคัญต่อการออกเดินทาง, แต่กับแพร เราเชื่อว่า สมุดที่เดินทางไปกับเธอก็สำคัญไม่แพ้กัน





  • เคยไปเที่ยวแล้วถ่ายรูปมาจนเมมเต็ม โหลดใส่คอมพ์ไว้จนคอมพ์อืดมั้ย?

    เราเป็นคนหนึ่งที่เป็นแบบนี้ เก็บไว้แล้วไม่ค่อยได้เปิดดู ก่อนไปทริปใหม่ต้องคอยไล่ลบรูปทริปเก่า เปิดดูรูปทริปเก่าๆ ทีไร ก็ต้องถามตัวเองทุกครั้งว่า “ถ่ายมาทำไมเยอะแยะวะ?”

    ต่อมาก็เริ่มเปลี่ยนจากการบันทึกแต่ภาพจากกล้อง เป็นเก็บภาพที่อยู่ตรงหน้าด้วยปากกาและเติมรายละเอียดด้วยสี ใช้เวลากับภาพที่เห็นเพิ่มขึ้นอีกนิด แต่เราจะเห็นรายละเอียดของสิ่งที่เราวาดเพิ่มขึ้นอีกเยอะ และจำมันไปอีกนาน บรรยายความรู้สึกตอนนั้นด้วยตัวอักษร เศษกระดาษที่เคยติดเป็นขยะอยู่ในกระเป๋ากางเกงถูกนำมาใช้เป็นข้อมูลสำคัญของสถานที่นั้นๆ เราเลือกจะเก็บทุกอย่างนี้ลงในสมุด

    มันคือการเที่ยวให้ช้าลง ซึมซับให้มากขึ้น…

    ไปแคชเมียร์ด้วยกันมั้ย?
    ถ้าพร้อมแล้ว เมมกล้องไม่ต้องพกไปเยอะนะ แค่สูบหมึกปากกาเยอะๆ ให้เต็มหลอดก็พอแล้ว




  • 1.
    อาชีพหลักของเราคือนักออกแบบคนหนึ่งที่ไม่เก่งและไม่ถนัดจะใช้คอมพิวเตอร์เอาซะเลย สมัยเรียนอยู่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาจารย์ให้ออกแบบคาแรคเตอร์ตัวเองเป็นรูปกราฟิก เราก็ได้คะแนนน้อยที่สุดในห้อง โดยอาจารย์ให้เหตุผลว่า แขนสองข้างเธอยังวาดออกมาไม่เท่ากันเลย…

    นอกจากนั้น ก็ยังมีช่วงเวลาที่เราต้องทะเลาะกับคอมพิวเตอร์อยู่บ่อยๆ เช่น พยายามออกแบบงานในคอมพิวเตอร์อย่างสุดฝีมือ ไม่ได้หลับได้นอนสามวันสามคืน แต่พอเอาไปปริ๊นต์ที่ร้าน เดี๋ยวเครื่องปริ๊นต์ก็เสียบ้าง เดี๋ยวงานก็ออกมาสีเพี้ยนบ้าง เลยนึกสงสัยขึ้นมาว่าสมัยที่ยังไม่มีคอมพิวเตอร์ ทำไมเค้าก็ยังทำงานกันได้ ถ้างั้นเราลองไม่ต้องหวังพึ่งแค่มันอย่างเดียวดูมั้ย? หลังจากนั้นเราก็เริ่มหัดสเก็ตช์งานและจดเรื่องราวที่พบเจอแต่ละวันลงสมุด

  • อีกอย่าง สมัยเรียนเราชอบทำโทรศัพท์มือถือหายบ่อยๆ สมองก็ไม่ค่อยจะดี จำเบอร์แม่ได้อยู่คนเดียว เปลี่ยนโทรศัพท์ทีไรก็เลยได้แต่โทร.คุยกับแม่แก้เหงา ต่อมาก็เลยเริ่มจดเบอร์โทรศัพท์คนอื่นไว้ในสมุดคู่ใจแทน แต่ไหนๆ ก็ขอเบอร์โทร.แล้วเลยขอที่อยู่เอาไว้ส่งโปสการ์ดให้เวลาคิดถึงด้วยเลยแล้วกัน ตั้งแต่นั้นมาสมุดและปากกาก็เริ่มมีความสำคัญในชีวิตเรามากขึ้นเรื่อยๆ

    2.
    พอเรียนจบ กลับมาทำงานที่กรุงเทพฯ ก็รู้สึกว่าชีวิตในกรุงเทพฯ หมุนเร็วมาก ต้องเร่งรีบแข่งกับเวลา ตื่นเช้าก็ต้องรีบไปทำงาน ถ้าตื่นสายขึ้นมาไม่มีเวลากินมื้อเช้าเลยก็มี กลางวันก็เอาแต่ทำงาน ตอนเย็นเลิกงานก็ต้องรีบกลับบ้าน หรือถ้ากลับไม่ทันก็ต้องรอกลับให้ดึกเพื่อหนีรถติดไปเลย

  • เมื่อเป็นแบบนี้ซ้ำเดิมทุกวันๆ เราก็เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า รายละเอียดในชีวิตหายไปไหนหมด แล้วชีวิตที่เร่งรีบแบบนี้ จะทำให้มันช้าลงเพื่อเก็บกู้ความสุขเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตกลับคืนมาได้อย่างไร...

    3.
    พอเริ่มทำงานมีเงินเก็บ เราเลยอยากทำสิ่งที่ตัวเองมีความสุขบ้าง ไม่ได้แค่หมายถึงการซื้อเสื้อผ้า กินอาหารมื้อแพง หรือมีรถสวยๆ แต่ความสุขของเราคือการได้ท่องเที่ยว ออกไปดูโลกที่แตกต่างไปจากชีวิตประจำวัน

    พอเริ่มได้ออกเดินทาง เราก็อยากเก็บช่วงเวลาดีๆ เหล่านั้น ให้อยู่กับเรานานๆ เราเลยกลับไปใช้วิธีจดบันทึกลงสมุดอีกครั้ง แต่คราวนี้พบว่าการจดอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบ บางอย่างตัวหนังสือก็ไม่สามารถอธิบายได้ชัดเจนเท่ารูปภาพ เราเลยเริ่มหัดจดบันทึกด้วยการวาดภาพและพออยากให้ภาพดูมีสีสันเราก็หัดลงสี พอเจอของเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างการเดินทาง เราก็จะเก็บมันเอามาแปะลงในสมุดไว้แทนของที่ระลึก

    ทุกครั้งที่เราหยิบสมุดขึ้นมาบันทึกเรื่องราว มันเหมือนการหยิบขวดโหลมาเก็บบรรยากาศและความประทับใจในช่วงเวลานั้นไว้ ไม่ให้จางหายเร็วเกินไปนัก เผื่อวันหนึ่งมาเปิดดูจะได้จำได้ว่าแต่ละวันที่ผ่านไปมีรายละเอียดที่ไม่เหมือนกัน แค่เราช้าลงและอยู่กับมันนานขึ้นอีกนิดเท่านั้นเอง



Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in