เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
PAPAYAH's ARCHIVERocket man
Human Resources : อัลบั้มดนตรีทดลองสะท้อนความหลากหลายทางอารมณ์ของวง “Beagle Hug”
  • สัมภาษณ์ & ถ่ายภาพ : กฤษฎ์ พรหมใจรักษ์


           “Beagle Hug” (อ่านว่า บีเกิ้ล ฮัก) อาจจะเป็นชื่อที่ไม่คุ้นหู แต่เราก็เชื่อว่าหลายคนอาจจะคุ้นหน้าพวกเขาอย่างประหลาด พวกเขาคือวงดนตรีสี่ชิ้นที่เกิดจากการรวมตัวกันระหว่าง “เอ้-กุลจิรา ทองคง” aka “เอ้ The Voice” ที่หลายๆ คนน่าจะคุ้นค่าตากันดีจากรายการประกวดร้องเพลงขวัญใจมหาชนทางทีวีอย่าง “The Voice เสียงจริง ตัวจริง” และ 3 ใน 4 สมาชิกจาก “Sasi” วงดนตรี Alternative Folk Rock ที่สร้างงานออกมาได้แตกต่างและน่าสนใจที่โลดแล่นอยู่ในซีนดนตรีอิสระของกรุงเทพในช่วงหนึ่งเป็นอีกหนึ่งศิลปินที่ทาง PAPAYAH’s ARCHIVE อยากจะแนะนำให้ผู้อ่านทุกท่านได้ทำความรู้จักกันในปีนี้ 

         คณะดนตรีหมากอดผู้มากับซาวน์ที่ยากจะจำกัดความอันเกิดจากการผสมผสานระหว่างดนตรีโฟล์ก กับองค์ประกอบและซาวน์สังเคราะห์ของดนตรีอิเลกทรอนิกส์ ที่ทางวงนิยามสไตล์เพลงของตัวเองไว้เป็นวงแนว “Experimental Pop” เราจะมาพูดคุยถึงวิธีการทำงานและที่มาที่ไปของ “Human Resources” ผลงานอัลบั้มเต็มชุดแรกของวงที่เต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ ความรู้สึก และแง่มุมอันหลากหลายของมนุษย์ อีกหนึ่งผลงานดนตรีคุณภาพที่อยากให้ทุกคนได้ลองฟังในปีนี้  




    สมาชิก  
    เอ้-กุลจิรา ทองคง (ร้องนำ)
    แบงค์-ศรุต บวรธีภัค (กีต้าร์)
    โบ๊ท-สหราช อุ่นใจ (กลอง)
    ปอม-ทอฝัน ดิลกวิทยรัตน์ (กลอง, เบส)



    อะไรคือสาเหตุที่ยุติการทำงานในฐานะ “Sasi” และเปลี่ยนชื่อมาเป็น “Beagle Hug”


    แบงค์ : พี่เดือน (เดือน จงมั่นคง อดีตนักร้องนำของวง “Sasi” ปัจจุบันเป็นศิลปินในสังกัด White Music ในเครือ GMM GRAMMY ) เขาต้องการออกไปทำผลงานเดี่ยวของเขาก็แค่นั้นแหละ คือจริงๆ ตอนนั้นเขาก็ยังอยากจะทำต่อ แต่ด้วยความที่เขากลายเป็นศิลปินที่มีสังกัดทำให้การทำงานด้วยกันมันค่อนข้างลำบาก ส่วนพวกเราที่เหลือยังรู้สึกยังอยากจะไปต่อ พวกเราที่เหลืออีกสามคนก็เลยพยายามทำกันต่อ






    แล้วเอ้ล่ะ มาร่วมงานกับ “Beagle Hug” ได้ยังไง


    เอ้ : จริงๆ ก่อนหน้านี้เคยมีวงโฟล์กอยู่แต่มีปัญหากันในวง ทะเลาะกันหลายเรื่อง เลยรู้สึกว่าคงไปด้วยกันไม่ได้ หลังจากตรงนี้พอมีโปรเจกค์ทำงานเพลงโฆษณาแล้วซึ่งให้ได้เจอกับ พี่แบงค์ เขาชวนบอกว่า เอ้ย ลองมาทำด้วยไหม เราก็เอาดิ พอมาลองเล่นด้วยกันแล้วปรากฎว่าชอบ เพราะส่วนตัวคือเราเป็นคนชอบเพลงโฟล์กกับอิเลกทรอนิกส์อยู่แล้ว แล้วมันมีความเขากันได้ จริงๆ เรามีความโฟล์กอยู่นะ ยังเหลืออยู่ มีความป๊อปโฟล์ก



    คือเท่าที่ไปค้นมา นอกจากการเป็นนักร้องอาชีพและผ่านเวทีประกวดร้องเพลงสุดป๊อปปูล่าอย่าง “The Voice” มา คุณยังเคยออกซิงเกิ้ลของตัวเองมาแล้วด้วย ถ้าให้เปรียบเทียบกัน การมาเป็นนักร้องนำของวง “Beagle Hug” มันเป็นตัวคุณขนาดไหน


    เอ้ : เพลงนั้นมีคนแต่งให้ อันนั้นก็ชอบ ชอบเนื้อเพลง มันสยิวกิ้วดี (หัวเราะ) แต่ว่าเราไม่ได้มีส่วนร่วมกับกระบวนการคิดภาคดนตรีเลย ตอนนั้นคือตั้งใจทำให้มันเป็นป๊อป อยากลองทำอะไรที่มันแมสดูด้วย แต่ว่าอันนี้มันชอบกว่า เพราะว่าเราได้เล่นอะไรเยอะ มันได้ใส่สิ่งที่เราฟังเข้าไปเยอะขึ้น เช่น ความเป็นอิเลกทรอนิกส์ หรือถ้าพูดถึงเนื้อเพลง เราค่อนข้างอินกับอัลบั้มนี้เพราะมันค่อนข้างทัชกับประสบการณ์ส่วนตัวของเราในช่วงที่ทำเพลงพวกนี้ขึ้นมา





    จากที่เคยทำเพลง Alternative Folk Rock ในชื่อ “Sasi” ทำไมถึงเลือกที่จะเปลี่ยนไดเรกชั่นของวงหลังจากเปลี่ยนชื่อและได้นักร้องนำคนใหม่


    ปอม : ตอนหลังๆ เริ่มรู้สึกว่าอยากได้เพลงที่มันโล่งขึ้นด้วยครับ เริ่มไม่อยากได้ความอคูสติกอย่างเดียวแล้ว เราอยากได้เพลงที่มีความเป็นดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ผสมเข้ามาด้วยเลยได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นซาวน์ในแบบที่ได้ยินกันปัจจุบัน มีความอีเล็กทรอนิกส์ด้วยและมีความอคูสติกด้วย ประกอบกับความชอบของพวกเราก็เปลี่ยนนิดนึง


    แบงค์ : จริงๆ เพลงทุกเพลงเราแต่งมาจากกีต้าร์โปร่งเลยครับ


    เอ้ : มาจากกีต้าร์โปร่งหมดเลย เสร็จแล้วเราก็เอามายำกัน ย่ำๆๆ 



    เป็นเพราะการเปลี่ยนนักร้องนำด้วยหรือเปล่า


    แบงค์ : ไม่เชิง แต่สาเหตุหลักๆ คิดว่าน่าจะเป็นเพราะความชอบเราเปลี่ยนด้วย ซึ่งเราก็ปรับวิธีคิดและการเขียนเพลงไปตามความชอบ ปรับไปตามที่เรารู้สึก ตอนนั้นคือเริ่มทำงานกับเอ้ละ แต่ทำงานเป็นโปรเจคเพลงโฆษณา ซึ่งเพลงที่ทำกันตอนนั้นก็เป็นเพลงประมาณนี้ แต่มันไม่ได้มีความอิเล็กทรอนิกส์จ๋าขนาดนี้ จากที่ทำงานกับเอ้ตอนนั้นเรารู้สึกว่า เอ้ย อยากลองชวนเขามาเล่นด้วย ละเรารู้สึกว่าถ้ามันเป็นเพลงเหมือนเดิม เอ้ ไม่น่าจะแหกปากได้ตลอดเวลา (หัวเราะ) และเรารู้สึกว่าเราเสียดายเสียงร้องถ้าจะให้เขาจะต้องแบบร้องด้วยความ aggressive ตลอดเวลา


    เอ้ : จริงๆ ชั้น agressive นะ !


    แบงค์ : แต่มันไม่ได้ตลอดไง คอเธอจะแตกเอาน่ะสิ (เอ้ : ใช่ไง ก็เราอ่อนแอง่ะ) เราก็เลยรู้สึกว่า อะ ลองปรับให้มันชิวขึ้น ซึ่งจริงๆ มันก็ไม่ได้ชิวขึ้น มันเป็นอีกแบบหนึ่งมากกว่า



    จาก “Sasi” ที่มันมีความเป็นเครื่องไม้และมีองค์ประกอบของดนตรีสดซะเยอะ พอเปลี่ยนไดเรกชั่นมาเป็น “Beagle Hug” อยากทราบว่าพวกคุณมีแบ๊กกราวน์ด้านในการทำหรือการฟังดนตรีอิเลกทรอนิกส์มามากกน้อยขนาดไหน


    เอ้ : จริงๆ มีมาก่อนนะ อย่างพี่ปอมเนี่ยชอบฟัง มีความเป็นอิเลกทรอนิกส์ ส่วนตัวเราจริงๆ เราโฟล์กมานานแล้วอะ แต่พอช่วงหลังๆ เราเริ่มรู้สึกว่าจริงๆ ดนตรีอิเลกทรอนิกส์แม่งเป็นสิ่งที่สนุกเหมือนกันนะ อยากเล่นได้เยอะขึ้น ฟีลลิ่ง หรือการย่ำไปนู่นไปนี่ อย่างแรกๆ เลยสมัยแรกๆ ที่ชอบฟังก็จะเป็น “Massive Attack” 


    แบงค์ : อาจจะเพราะว่าทุกคนฟังเพลงกันหลากหลาย มันเลยมีไอเดียเยอะที่จะทำใหม่



    แบงค์-ศรุต บวรธีภัค (กีต้าร์)



    หลังจากรวมวงกันไม่นานก็เปิดตัวซิงเกิ้ลแรกที่มีชื่อว่า “Family”


    แบงค์ : จริงๆ ต้องบอกว่าเพลง “Family” มันเป็นเพลงคาบเกี่ยวของวง “Sasi” นิดนึง มันเป็นเพลงที่ผมกับเดือนช่วยกันแต่งเนื้อร้องทำนองด้วยกัน แต่พอเราเริ่มใหม่เราก็เลยลองเอาเพลงนี้มาเป็นคอนเนคเตอร์ระหว่างเรากับเอ้


    เอ้ : เราชอบเนื้อเพลงของเพลงนี้มากๆ ตอนที่พี่แบงค์เอามาให้ฟังครั้งแรกแบบ โห พี่กับพี่เดือนแม่งเยี่ยมไปเลย แล้วพอเราเริ่มลองใส่เสียงเราเข้าไป ลองใส่ความเป็นเราเข้าไป ลองเสียงต่ำขนาดนี้ อะต่อไหนลองร้อง octave ตรงนี้ดูซิ นั่งลองนู่นลองนี่กันนี่ก็ใส่แช่แวบๆ ละเราก็มานั่งคิดเรื่องดนตรีกันต่อ จนสุดท้ายมันได้โครงเพลงที่แบบ


    แบงค์ : ไม่เหมือนที่ทำไว้ตอนแรกเลย จริงๆ ความตั้งใจแรกที่จะทำเพลงนี้กับ “Sasi” จะมีแค่กีต้าร์กับเสียงร้องอย่างเดียว แทบจะไม่มีความอิเลกทรอนิกส์เลย มีแค่ปอมเล่นเบส ขอเล่าที่มาของเพลงนี้เพิ่มเติมหน่อย คือก่อนที่จะมีเนื้อร้อง ผมเขียนเพลงนี้ขึ้นมาเป็นเพลงบรรเลง แล้วผมก็เอาไปเล่นหลายๆ ที่ในงานที่เป็นงานแสดงเพลงบรรเลง ทุกครั้งที่เอาไปเล่นจะมีคนมามาทักว่า เพลงนี้เพราะดี ขนาดว่ามันเป็นแค่เพลงบรรเลง เราเลยรู้สึกว่าถ้ามันหยิบเพลงนี้มาทำกับวงมันน่าจะเวิร์คอยู่ในระดับหนึ่ง ซึ่งตอนที่ยังไม่ได้เขียนเนื้อมันก็เป็นคล้ายๆ เวอร์ชั่นปัจจุบัน แต่เป็นกีต้าร์โปร่งเป็นอะไรยังงี้ เราเก็บคลิปวีดีโอตอนที่เราอัดไว้ระหว่างที่แต่งแล้วมีตากับยายเรานั่งคุยกัน เป็นวีดีโอที่เราดูทุกครั้งเราร้องไห้ทุกครั้งเลย คือเราก็นั่งเล่นกีต้าร์นั่งดูเขาก็นั่งคุยกัน นั่นคือครั้งแรกที่แต่งเพลงนี้


    เอ้ : แล้วเราก็เสือกแบบ….แล้วก็เป็นคุณตาเราเสียก่อนอันดับแรกทำให้เพลงต่อๆ มาก็เลยมีความเป็นแฟมิลี่สูงมาก ต่อๆ มา ไม่ว่าจะเป็นพูดในเชิงไหนก็ตาม บางเพลงมันอาจจะดูเป็นเรื่องของความรัก แต่จริงๆ หลายๆ เพลงจะค่อนข้างมีความส่วนตัว แต่เราก็พยายามทำให้มันกว้าง




    ที่มาของชื่ออัลบั้ม “Human Resources”


    ปอม : อัลบั้มนี้มันพูดถึงมนุษย์เยอะก็เลยหยิบคำนี่มาบิดนิดหน่อย ด้วยเนื้อหาโดยรวมมันของงานชุดนี้มันเกี่ยวกับแง่มุมทางอารมณ์และความรู้สึกของมนูษย์


    แบงค์ : มีเพลงที่เป็นเพลงร้องทั้งหมด 9 เพลง แล้วก็มี interlude ที่ดีไซน์ขึ้นมาเพื่อเชื่อมบางช่วงและสร้างบรรยากาศของอัลบั้มด้วย



    ความสัมพันธ์ในครอบครัวคือธีมหลักของอัลบั้มชุดนี้


    แบงค์ : ผมว่า 60-70% จะเป็นที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว มันเป็นเพลงที่ค่อนข้างมีความผู้ใหญ่


    เอ้ : ความสัมพันธ์ในเชิง ไม่ใช่ครอบครัวแบบปัญหาทั่วไป แต่มันเป็นเรื่องของความเสื่อมโทรม ความใกล้ตายยังงี้มากกว่า


    แบงค์ : การทำใจ


    เอ้ : แต่ก็จะมีแบบว่าให้กำลังใจตัวเองบ้างนิดหน่อย แต่ถ้าให้พูดถึงปัญหายิบย่อยของครอบครัวอาจจะมีในอัลบั้มต่อๆ ไป 



    คือเป็นเรื่องของการปลอบปโลมในความสูญเสีย หรือกำลังจะสูญเสีย


    แบงค์ : จริงๆ ตอนเราแต่งเพลงนี้คุณตาคุณยายเรายังไม่เสียนะ แต่แต่งเสร็จตายพร้อมกันเลยสองคน (หัวเราะ) ความพีคมันอยู่ตรงนั้นแหละ


    เอ้ : แต่ตอนนั้นคุณตาเราเสียก่อน



    ถ้าอย่างนั้นแรงบัลดาลใจแรกของเพลงนี้คืออะไร


    แบงค์ : ก็นั่นคือเป็นการปลงๆว่า วันนี้ยังคงอยู่ด้วยกัน


    เอ้ : จำได้ว่าตอนหลังที่คุณตาเสียแล้วเราไปเล่นเพลงนี้ เชี่ย ร้องไห้แบบเละสัสๆ เลยแบบ อื่อ อื่อ T__T



    เอ้-กุลจิรา ทองคง (ร้องนำ)


    ในฐานะผู้นำสารคุณมีส่วนร่วมในการเขียนเนื้อเพลงขนาดไหน


    เอ้ : อัลบั้มนี้คือยังไม่มี แต่เราเป็นคนขี้บ่นเว้ย แล้วเราจะไปอย่าง เวลามีเรื่องอะไรเราจะชอบไปนั่งเล่าให้พี่แบงค์ฟังแบบ….เนี่ยพี่แบงค์มันเป็นยังงี้ คุณตาหนูแบบเรา!@#!$#@%$!!@$เราก็ไม่เคยเปลี่ยนผ้าอ้อมแล้ว#@$@#%^^@$@!$ อะไรยังงี้


    แบงค์ : ที่จริงมันมีเพลงหนึ่งที่ที่เขียนหลังสุด เพลงนี้แต่งให้เอ้เลย ชื่อเพลงว่า “น้ำ”


    เอ้ : เราบอกว่า เราอยากกอดลาคุณตาสักครั้ง เราโตมากับคุณตาคุณยาย แล้วตอนนั้นคุณตาเราเพิ่งเสีย เราแบบเสียใจมาก เราพูดกับพี่แบงค์ว่า “ขอแค่ครั้งเดียวอะ แค่กอดครั้งเดียวได้ไหม อย่างน้อยให้โอกาสเราบอกลากันได้ไหม โลกมันไม่ยุติธรรมขนาดนั้นเลยเหรอ” ถ้าเราเชื่อในความแบบ ศาสนา บ้าบอหรือถ้าพระเจ้ามีอยู่จริง ฉันควรจะได้กอดคุณตา เราแค่อยากจะขอกอดอีกแค่สักครั้งได้ไหม ซึ่งมันไม่ได้ไง


    แบงค์ : รู้สึกว่าเราจะเริ่มเพลงนี้จากประโยคนี้เลย 


    เอ้ : ส่วนใหญ่จะเป็นเราที่นั่งบ่นๆๆ จริงๆ ทั้งที่จริงๆ เราชอบเขียนนะ แต่เราไม่กล้าเอาให้ใครอ่าน อยากเขียนออกมาแต่ไม่รู้สิอารมณ์มันยังไม่ก้าวร้าวขนาดนั้น และเพราะความเศร้าตรงนี้ที่ทำให้เราตึงไปเลยหนึ่งปีเต็มๆ เนื้อเพลงที่พี่แบงค์ออกมาก็ตรงกับความรู้สึกที่เรามี (แบงค์ : คือเหมือนมันคุยเรื่องเดียวกันมากกว่า) ใช่ คือคุยเรื่องเดียวกัน บางอย่างที่พี่แบงค์พูดออกมาเหมือนว่าเรารู้กันอยู่แล้วว่าเรารู้สึกยังไงกัน แต่ว่าเอ้ย คำนี้ขอเปลี่ยนเป็ยยังงี้ได้ไหม กว้างกว่า เอ๊ะ คำนี้เปลี่ยนเป็นแบบดูได้ไหม อะไรยังงี้ 


    แบงค์ : เรื่องการเขียนเนื้อเพลงหลักๆ จะเป็นเรา ยกเว้นเพลง “Family” ที่ช่วยกันเขียนกับพี่เดือน แล้วก็เพลง “Travel” ที่ให้รุ่นน้องคนหนึ่งช่วยเขียน แต่เอาเข้าจริงเรามองว่าทุกคนในวงมีส่วนช่วยในการเขียนเนื้อเพลงทั้งหมดแหละ บางทีก็ช่วยกันปรับ อย่างเอ้เองบางทีเขาก็จะเลือกร้องคำที่เขารู้สึกว่าตรงกับความรู้สึกของเขามากกว่า คือมันเหมือนเราเขียนเนื้อเรื่องมากกว่าแล้วเขาเป็นคนใส่บทพูด 


    เอ้ : เออ จริง อย่างเรื่องเมโลดี้อะ บางทีตลกมาก คือบางทีพี่ร้องมาบางคำเป็นเมโลดี้หนึ่ง แต่พอเรานั่งฟังคอร์ดแล้วเราก็ฟังๆๆๆๆ แล้วก็พยายามแบบร้องให้เข้าคอร์ด สุดท้ายมันกลายเป็นเมโลดี้อีกแบบหนึ่งแทน ซึ่งเราก็จะเป็นคนแบบ ถ้าพี่โอเค หนูก็โอเคอะไรยังงี้ นั่งคุยกันสองคน ถกกันที่ร้านกาแฟของพี่แบงค์


    แบงค์ : อย่างเพลง “ผีเสื้อ” เพลงนี้คือมีที่มาจากความฝันเลย คือเวลาเรานอนเราเคยฝันเรื่องเดิมซ้ำๆ บ่อยๆ ฝันว่าเราเจอผู้หญิงคนหนึ่ง คือฝันแบบเดิมเลยมานนานแล้วตั้งแต่เด็กแล้วก็สุดท้ายมันก็คำถามขึ้นมากับตัวเราเองว่าตกลงแล้ว ชีวิตที่เราใช้อยู่เนี่ยมันเป็นความฝันของเขา หรือเขาเป็นความฝันของเรา แล้วเราเขียนเสร็จแล้วเราก็ให้รุ่นน้องอ่าน เขาบอก อ่าวนี่มันจวงจื่อนี่ (จวงจื่อ มหาปราชญ์ชาวจีนในสายทางลัทธิเต๋า)  เราบอกว่า เฮ้ย เราไม่เคยรู้ แต่ว่าเรื่องของจวงจื่อคือเขาฝันเป็นผีเสื้อ เราก็เลยใช้คำว่าผีเสื้อมาแต่งเป็นเพลง แล้วถ้าสังเกตมันการเล่าเรื่องในแต่ละเพลงของจะมีลักษณะที่แปลกจากเพลงทั่วๆ ไปอย่างหนึ่ง คือเพลงเรามันจะไม่ค่อยมีท่อนซ้ำ มันจะเปลี่ยนท่อนไปเรื่อยๆ และเป็นเพลงที่ไม่ค่อยยาว มันเหมือนกับว่าเราเล่าทั้งเรื่อง อาจจะเป็นเพราะเรามองว่าตัวเองเขียนเพลงไม่เก่ง เราก็เลยไม่อยากเล่าเรื่องที่มันยาวมาก เราอยากเล่าเรื่องสั้นแต่เน้นให้มันตรงอย่างที่เราต้องการที่สุด มีความพูดน้อยต่อยหนัก และส่วนตัวคิดว่าการทำเพลงที่ไม่ยาวมันก็ยังเหมาะสำหรับยุคนี้





    มาที่ภาคดนตรีกันบ้าง ภาพจำอย่างหนึ่งของ “Beagle Hug” คือการเป็นวงดนตรีที่ใช้กลองในการเล่นสดถึงสองชุด แบ่งหน้าที่และเรียบเรียงการเล่นกันยังไงบ้าง


    ปอม : ส่วนตัวน่าจะไปทางพวกการคิดบีทอะไรยังงี้ครับ


    โบ๊ท : เหมือนกันครับ


    แบงค์ : ซึ่งเอาจริงๆ กลองของวงเรามันถือว่าเป็นส่วนสำคัญของเพลงทั้งหมดเลย เพราะเวลาเราคิดถึงความอิเลกทรอนิกส์ พาร์ทกีต้าร์ที่เราเล่นมันไม่ได้มีความอะไรสลักสำคัญมากหรืออาจจะไม่หวือวาอะไร แต่ว่าภาคริทึ่มเราจะต้องเน้นให้หวือหวา พาร์ทริธึ่มคือสำคัญกับเพลงของพวกเรามากๆ พอๆ กับเสียงร้อง กีต้าร์เหมือนว่าเล่นไว้เป็นโครง แต่ว่าจุดเด่นคือเสียงร้องหรือพวกริธึ่ม เราก็ไม่รู้ว่าวงอื่นเขาทำงานกันยังไง แต่พวกเราทำงานยังงี้ซึ่งมันจะดูเหมือนเราเล่นกันคนละทีสองที คือผมพยายามจสร้างโคตรงเพลงให้มันชัดเจนที่สุดก่อน ซึ่งโครงเพลงส่วนใหญ่มักจะเริ่มจากคือกีต้าร์และเสียงร้อง แล้วเราก็จะใช้ลูปที่เป็นเสียงเฉพาะใส่เข้าไปเพื่อเป็นแกนของแต่ละเพลง ซึ่งเสียงเฉพาะดนตรีเหมือนเป็นโครงเรื่อง เพลงนั้นๆ ก็จะมีเสียงนี้อยู่ อย่างเพลงนี้มีเสียงนี้อยู่ อีกเพลงมีเสียงนี้ ซึ่งไอเดียแบบนี้ก็ยังคิดว่าจะเอาไปพัฒนาต่อไปสำหรับอัลบั้มหน้าที่ ทุกเพลงจะมีเอกลักษณ์ของเขา



    เท่าที่ฟังไลน์กีต้าร์ในแต่ละเพลงคือจะเล่นไม่เยอะแต่เหมือนเลือกโน้ตมาอย่างดีแล้ว


    แบงค์ : ก็เลือกบ้างไม่เลือกบ้าง 


    เอ้ : มั่วบ้างไม่มั่วบ้าง (หัวเราะ) ตอนแรกที่เข้ามาก็งง แบบว่า เอ้ยมีกลองสองตัวจะเล่นยังไงวะ แต่ด้วยสัดส่วนและองค์ประกอบของความเป็นอิเลกทรอนิกส์ กลายเป็นว่าการมีกลองสองชุดแม่ง make sense อะคือมันก็ยังมีความเป็นโฟล์กอยู่ แล้วความเป็นกลองจริงๆ แล้วพี่ปอมก็เล่นเบสด้วยในบางท่อน ผสมกับการใช้แพดกลองของกลองไฟฟ้าขึ้นอยู่กับว่าแต่ละท่อนจะใช้อะไรยังไง


     

    แล้วทำไมปอมถึงหันมาเล่นเบสด้วยครับจากที่เมื่อก่อนตีกลองกันอย่างเดียว


    ปอม : เรารู้สึกว่ามันมีบางช่วงที่มันต้องการเสียงเบสจริงๆ แต่ว่าช่วงอื่นที่ไม่ได้ต้องการเบสก็จะไม่เล่น จะเล่นเฉพาะช่วงที่รุ้สึกว่ามันจะทำให้เพลงแน่นขึ้น


    เอ้ : ที่บอกว่าบางส่วนต้องการให้เพลงมันแน่นขึ้น มันไม่ใช่ทุกเพลงด้วยนะ แบบห้องนี้มันต้องหนักแน่นหน่อย


    แบงค์ : จะไม่ใช้ทุกช่วง จะเล่นเฉพาะช่วงที่รู้สึกว่าต้องเน้น


    ปอม : อย่างในเพลง “Family” ผมจะไม่เล่นเบสเลยจนถึงตอนที่เอ้เริ่มร้องท่อนพีคในช่วงท้าย ท่อนนั้นท่อนเดียวที่มีเสียงเบสที่เหลือจะไม่มีเลย



    ปอม-ทอฝัน ดิลกวิทยรัตน์ (กลอง, เบส)


    แล้วโบ๊ทละครับ ปรับเปลี่ยนยังไงบ้าง เพราะถ้าเทียบกันตอน “Sasi” ก็ยังดูเป็นกลองหลักอยู่


    โบ๊ท : เป็นตีกลองจริงกับกลองไฟฟ้าครับ ก็คือหลักๆ พาร์ทที่ผมเล่นมันก็จะเป็นริธึ่ม แต่ว่ามันก็จะน้อยลงไม่ได้ซัดตลอด ก็เป็นพี่ปอม เป็นพี่แบงค์บ้าง คือไม่ได้มาให้มันแน่นตลอด ทุกเสียงสำคัญหมดแต่ว่าแค่บางอย่างไม่ได้มาบ่อยอะไรยังงี้



    เพราะเท่าที่ฟังมันไม่ได้มีความกลองสองชุดขนาดนั้น อย่างตอนเล่นสดฝั่งพี่ปอมก็ไม่ได้เล่นเยอะ


    แบงค์ : เออแล้วจริงๆ มึงทำอะไรบ้างวะ (แซว) คือมันเหมือนตีกันคนละทีแล้วเอามารวมกันอะ


    เอ้ : จริงๆ พี่เขาเป็นคนคิดพวกซาวน์เรื่องบีท ซาวน์ดีไซน์ต่าง จริงๆ พี่ปอมนี่คือมันสมองสำคัญของ “Beagle Hug” เลย


    โบ๊ท : ตอนคิดงานพี่ปอมจะรับหน้าที่เป็นคน arrange ภาคริธึ่มหลักๆ ไม่ใช่หลักๆ อะ หลักเลยครับ


    เอ้ : ละพอมาตอนเล่นเหมือนเขาเป็นคนคอนโทรลทุกอย่างนะ เพราะไอเดียเรื่องส่วนหรือกรู๊ฟหลายๆ อย่างมันกำเนิดมันมาจากเขา ถ้าให้พูดเรื่องวิธีการทำงานของวงเราแบบยิบย่อย จะเริ่มจาก พี่แบงค์เล่นกีต้าร์กับร้องให้เราฟัง ตอนแรกเราฟังไม่ออกก็จะพยายามแกะสิ่งที่พี่แบงค์ร้องออกมา ด้วยความบางท่อนพี่แบงค์ร้องมันไม่ชัดหรืออะไรยังงี้ เราก็พยายามใส่เนื้อเพลงเข้าไปด้วย “เฮ้ย ตรงนี้เป็นเนื้อเป็นยังงี้ดีว่า บลิป แบรบๆ แบรบๆ” เสร็จแล้วก็เอามาให้มือกลองสองคนนี้ฟัง ละจะคอมเมนท์กัน “ผมว่ามันมีความ Massive Attack ตรงนี้ใส่เข้าไปได้ บลา บลา บลา นี่ได้ครับพี่ อะฉะ อะฉะ อะฉะ อะฉะ” แบบว่าเป็นโรงงาน แล้วก็มามานั่งถกกัน


    โบ๊ท : ประมาณว่าตอนที่เรามาทำเพลงด้วยกันทุกคนก็มีไอเดียกันมา ปึ๊บๆ แต่จะมาสุดท้ายจะมาย่อยที่พี่ปอมว่า โอเคผมว่ายังงี้ๆ



    โบ๊ท-สหราช อุ่นใจ (กลอง)



    อัลบั้มชุดนี้ใช้เวลาทำเท่าไหร่


    แบงค์ : ประมาณ 2 ปี (เอ้ : สองปีเลยเหรอ เชี่ยเราอยู่กันมานานขนาดนั้นเลยเหรอ) จริงๆ ถ้าไม่ได้ติดโควิดมันน่าจะได้ออกตั้งแต่ต้นปีละ ซึ่งระหว่างทำอัลบั้มเราก็เล่นสดไปเรื่อยๆ เติมเพลงใหม่เข้าไปในเซ็ทลิสต์เรื่อยๆ จนตอนนี้เรามีทั้งหมด 9 เพลง แต่ถ้าเล่นสดจริงๆ ได้ 10 เพลง จะมีเพลงคัฟเวอร์เพลงหนึ่ง



    ทั้ง แบงค์ ปอม และโบ๊ท ก็เคยร่วมสร้างผลงานด้วยกันแล้วก่อนหน้าชุดหนึ่งในตอนยังเป็น “Sasi” รู้สึกยังไงกับการออกอัลบั้มเต็มเป็นครั้งที่สองในฐานะ “Beagle Hug”   


    แบงค์ : ถ้าว่ากันตรงๆ อย่างตอนที่ทำวง “Sasi” จริงๆ ตอนนั้นมันไม่ได้คิดอะไรเลย คล้ายๆ กับตอนที่ตัดสินใจเริ่มทำวงนี้เลย ตอนนั้นคือเริ่มต้นจากทำกับพี่เดือนสองคน แล้วก็ชวนโบ๊ทละก็ปอม และด้วยความไม่เคยทำก็เลยทำไปแบบไม่คิดอะไร เอาสิ่งที่เราชอบทั้งหมดมาใส่ลงไปในตัวงาน ส่วน “Beagle Hug” มันเกิดจากความรู้ว่าเรายังอยากทำต่อ ก็เลยตัดสินใจลงมือทำ เรายังอยากพิสูจน์ตัวเอง เรายังอยากสนุกับการทำวงดนตรีอยู่ ยังอยากจะออกไปเล่น เพราะจริงๆ ทุกคนก็มีวงกันอยู่แล้ว ทุกคนเล่นแจ๊สหมด ซึ่งเอาจริงๆ พวกเขาก็ไม่ต้องมาหาซีนดนตรีอื่นก็ได้ แต่ว่าทุกคนยังรู้สึกว่ายังอยากทำต่อก็เลยทำ ทุกคนอยากลองออกจากเซฟโซนตัวเอง คือถ้าทุกคนเล่นอยู่ในเซฟโซนตัวเองคือทุกคนเก่งสัสๆ ถ้าเล่นแจ๊ส เล่นอะไรยังงี้ แต่พอทุกคนมาอยู่ตรงด้วยกันคือมาเริ่มกันใหม่ นับหนึ่งกันใหม่ และการทำสร้างสรรค์ผลมันก็เป็นการพิสูจน์ตัวเองอย่างหนึ่ง


    โบ๊ท : ขอพูดต่อจากพี่แบงค์ อย่างตอนรอบแรกก็ตื่นเต้น เพราะมีผลงานของตัวเองชิ้นแรก แต่พอมันจบ ตอนนั้นผมรู้สึกว่าผมอยากจะพัก พอมันจบ ส่วนตัวเรารู้สึกเหนื่อย คือไม่ใช่ไม่อยากทำต่อ ไม่ใช่อยากร่วมกับพี่แบงค์หรือพี่เอ้ แต่ตอนนั้นแค่รู้สึกอยากขอพักช่วงก่อน เพราะถ้าจำไม่ผิดคือพอจบจาก “Sasi” แล้วมันต้องต่อเลย ตอนนั้นก็ต้องมาประชุมกันว่ารู้สึกยังไง ทำยังไงดี ตอนนั้นจำไม่ได้ว่าพี่แบงค์พูดอะไร แต่เขาพูดประมาณว่า การเป็นศิลปินมันก็ต้องสร้างผลงาน เรารู้สึกว่า เออ มันก็ถูก สำหรับผม “Beagle Hug” คือการเริ่มใหม่แต่ว่ามันไม่ใช่การเริ่มใหม่จากศูนย์เพราะเรามีประสบการณ์แล้ว


    ปอม : ส่วนผมก็รู้สึกดีครับ เพราะว่าสองผลงานที่ออกมามันค่อนข้างจะต่างกันมาก รู้สึกโอเค เพราะสำหรับเรา ถ้าเกิดไม่ออกกับวงนี้ ตัวเราเองยังไงก็ยังอยากทำไปเรื่อยๆ อยู่แล้ว ไม่ว่ากับวงไหนก็ตาม เพราะฉะนั้น การทำอัลบั้มแรกกับวงใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ สำหรับผมไม่ได้รู้สึกอะไรเป็นพิเศษครับ รู้สึกว่ามันเป็นการทำงาน ถ้าเกิดมองชีวิตของเราเอง เราว่าทุกอย่างมันต่อกัน



    มาที่เอ้ จากเครดิตที่คุณมีทั้งประสบการณ์ทั้งจากการผ่านเวทีใหญ่ๆ “The Voice” และการเป็นนักร้องอาชีพที่น่าจะทำให้มีทางเลือกและโอกาสวงการนี้อย่างมากและหลากหลาย ทำไมถึงตัดสินใจมาทุ่มเทให้กับตรงนี้แบบสุดๆ 


    เอ้ : เรื่องนี้น่าคงจะต้องขอเล่าย้อนไปก่อนจะทำวงเลย คือก่อนหน้านี้เคยไปคุยเรื่องเซ็นสัญญาเป็นศิลปินกับค่าย แล้วตอนนั้นห้าวก็เลยแบบว่า ไม่เซ็นค่ะ ซึ่งถ้าตอนนั้นเซ็นคงรวยไปแล้ว แต่เขาอยากจะให้เราร้องเพลงด่าผู้ชายคาแรกเตอร์แบบดราม่าๆ ผมยาว สไตล์ประมาณพี่ปาน ฐนพร คือเป็นอะไรที่แมส เราไม่ได้จะบอกความแมสมันไม่ดี แต่ว่าสไตล์ที่เขาพยามจะปั้นเรามันไม่ได้เป็นสิ่งที่เราต้องการและคงจะเป็นการฝืนตัวเองเอามากๆ ตอนนั้นก็ตัดสินใจว่าไม่เซ็น แล้วก็มีคุยกับอีกค่ายหนึ่ง ตอนนั้นถามว่าชอบเพลงรักแบบไหน เราก็อธิบายไปว่าเราชอบเพลงแบบไหน เขาก็ถามต่อว่าแล้วถ้าเป็นเพลงรักแบบนี้ได้ไหม เขาก็อธิบาย เดี๋ยวแต่งให้ยังงี้ๆ แล้วตอนนั้นเผลอพูดไปว่า “มันดูความรักแบบจืดเหี้ยๆ เลยค่ะ” หูยตอนนั้นเขาโกรธมากเลย เราก็เผลอพูดไป สุดท้ายก็ไม่เซ็น ถ้าเซ็นรวยแล้วอะ ฮือออT____T ย้อนเวลากลับไปได้จะเซ็น….ล้อเล่น (หัวเราะ) แต่ก็นั่นแหละ เราไม่อยากเป็นคนที่เวลาใครมองเข้ามาแล้วจริงๆ เราไม่ได้เป็นแบบนั้น ชั้นไม่ได้เป็นยังงี้ จริงๆ ถ้าเราไม่แคร์ว่าใครจะมองยังไงตอนนี้ก็คงรวยแล้วอะ แต่คือเราแคร์ว่ะ หมายถึงเฉพาะเรื่องนี้นะ ไม่ได้พูดถึงสันดาน พูดถึงในแง่สุนทรียศาสตร์ เราอยากให้ผลงานออกในแบบที่เราอยากให้มันเป็น และเราเองก็รู้สึกว่าเราไม่กล้าที่จะใช้ชื่อตัวเองคนเดียว เพราะเราไม่ได้เก่งขนาดที่จะใช้ชื่อ เอ้ กุลจิรา เรารู้สึกว่าเราต้องการเพื่อนกลุ่มนี้ เราต้องการสร้างผลงานในฐานะวงดนตรี ในฐานะ “Beagle Hug” เพราะเรารู้สึกว่าพวกเขาสามารถเติมเต็มในสิ่งที่เราต้องการจะสื่อสารออกไปได้ เพราะฉะนั้นมันควรจะเป็นสิ่งที่้เราร่วมกันมากกว่าที่จะเป็นชื่อเรา





    สิ่งที่คาดหวังกับอัลบั้ม “Human Resources”


    โบ๊ท : สำหรับผม การได้ทำอัลบั้ม การได้ทำงานร่วมกันคือโอเคแล้ว แต่สำหรับการที่จะไปคาดหวังกับการตอบรับของคนฟัง ส่วนตัวผมไม่ค่อยได้คิดถึงตรงนั้นเท่าไหร่ เพราะไอ้การได้ทำอัลบั้มจนเสร็จเนี่ยคือโอเคละ เราได้ทำมันจนสำเร็จแล้ว


    ปอม : ส่วนตัวแค่ได้ปล่อยอัลบั้มก็ดีใจแล้ว เพราะมันเป็นผลงานที่ใช้เวลาทำมันขึ้นเป็นเวลากว่าสองปี ส่วนคนฟังถ้าเกิดมีคนที่ชอบบ้างก็รู้สึกดีแล้ว เพราะอัลบั้มชุดนี้ถือว่าเป็นงานที่มีความส่วนตัวสูงมากๆ แล้วก็ไม่มีใครบังคับเราให้ทำอะไรเลย เพราะฉะนั้นถ้าเกิดมีคนที่ฟังแล้วชอบเราก็รู้สึกดีใจ เพราะมันแปลว่าเขาชอบเพลงเราจริงๆ 


    แบงค์ : ส่วนผมที่ค่อนข้างแก่สุดในวงละ ความคาดหวังมันก็เปลี่ยนไปทุกขณะแหละ ตามสภาพสังคม สภาพอายุ สุดท้ายแล้วจริงๆ คือก็ได้มี product นี่แหละ คือโอเคละ ที่เหลือคือให้เขาเติบโตไปตามเวย์ของเขา


    เอ้ : ตอนที่เราเริ่มทำตรงนี้คือเราไม่ได้คาดหวังอะไรเลย ด้วยเนื้อเพลงที่อาจจะไม่ได้ถูกใจคนขนาดนั้น หรือทั้งภาคดนตรี แต่เราอยากให้ลองเปิดใจฟังเพราะจริงๆ มันคือเพลงป๊อปเว้ย มันคือเพลงป๊อปที่แบบว่ามีลูกเล่น มีชั้นเชิง แล้วเนื้อหาถ้าฟังดีๆ มันดี ถ้าไม่ตั้งใจฟังอาจจะมองข้ามไป แต่ก็เอาเท่าที่ได้ ถ้าเรื่องผลตอบรับถ้าเต็ม 100 รู้สึกคาดหวังประมาณ 60% อีก 40% ก็ไม่เป็นไรเดี๋ยวค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไปแล้วกัน แต่ถ้าในความพึงพอใจของตัวเราเองนะ เราให้ 90% อีก 10% คือตัดไว้ก่อนเดี๋ยวจะดูหล่อเกินไป






    ติดตามผลงานและความเคลื่อนไหวของ “Beagle Hug” ได้ทาง facebook https://www.facebook.com/Beagle-hug-976407505866453
    และ Instragram @beaglehugband

    สามารถฟังอัลบั้ม “Human Resources” จาก “Beagle Hug” ได้แล้ววันนี้บน Streaming ทุกช่องทาง



    Spotify 

    Apple Music 




    _______________________________________________________________





    "God Help The Girl"
    มินิคอนเสิร์ตเล็กๆ ชิลๆ 
    โดย 
    Aey Kuljira หรือ เอ้ The Voice
    งานฟรี ไม่มีค่าบัตร

    15.12.2020

    Alone In The Universe
    ขอนแก่น




Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in