เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
intern.rotten.tomato
02 : Starter Kit


  • 27 พฤษภาคม คือวันที่เราไปทำงานวันแรก
    หลังจากที่คุยกับพี่เน็ทและพี่โจ้เรื่องการทำงานที่เราได้รับผิดชอบแล้ว

    การทำงานในส่วนของ 2 sections แรก อย่างการทำหน้าที่เป็น content creator 
    และ media planner ก็เริ่มต้นขึ้นแบบไม่ทันให้เราได้ตั้งตัว ฮ่า

    พี่โจ้กับพี่เน็ทอธิบายให้เราสองคนฟังคร่าว ๆ ทั้งสองหน้าที่นี้ต้องทำอะไรบ้าง
    ก่อนจะมอบหมายโจทย์ในการทำงานให้เราสองคนอย่างรวดเร็ว และนัดประชุมอีกทีในวันพุธ


    ( เด็กสองคนกรี้ดในใจอีกรอบ )


    หน้าที่ของ media planner และ content creator จะทำงานสอดคล้องกัน
    คือวางแพลนการลงคอนเทนต์ในสื่อโซเชียลมีเดีย 3 ช่องทาง ( Twitter , Facebook และ Instagram)
    ตลอดระยะเวลาหนึ่งเดือน ว่าในหนึ่งเดือนนี้ เราจะมีแพลนทำอะไรบ้าง จะลงคอนเทนต์เกี่ยวกับอะไร

    โจทย์ของเราสองคนคือ คิด Main Concept ของคอนเทนต์สำหรับเดือนมิถุนายน
    และวางแพลนไว้ว่าจะทำยังไงให้ยอด followers แต่ละช่องทางเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม

    เราได้ไอเดียปิ๊งแว้บขึ้นมาว่าเดือนมิถุนายนเป็นเดือนของการเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศ
    แถมยังมีวันสำคัญอย่าง Refugee Day อีกต่างหาก เลยคิดกันว่า ถ้าอย่างงั้นทำคอนเทนต์เกี่ยวกับสองประเด็นนี้น่าจะสนุกดี

    ไป ๆ มา ๆ พอหาข้อมูล หา Reference ที่จะใช้ในการสร้างคอนเทนต์ไปประมาณหนึ่ง
    กลายเป็นว่าไอเดียที่คิดว่าจะใช้ในการทำคอนเทนต์ตอนแรกก็เพิ่มขึ้นมาทีละอย่างสองอย่าง ฮ่า
    จนอยู่ ๆ กลายเป็นแตกแขนงออกมาเป็น 2 คอนเซปต์หลักกับอีก 1 คอนเซปต์ย่อย 
    ( แล้วก็มีย่อยลงไปอีกมากมาย )


    ฟีดแบ็คครั้งแรกหลังจากเราเสนอสามคอนเซปต์ที่ว่าเรียบร้อยและลองวาง Schedule ประจำเดือนมิถุนาไว้คร่าว ๆ แล้ว ปรากฏว่า Media Plan ครั้งแรกของเรายังใช้ไม่ได้ เพราะว่าระยะเวลาของการปล่อยคอนเทนต์ในแต่ละคอนเซปต์ของเราใช้เวลาค่อนข้างนาน

    พี่ ๆ บอกกับเราว่า คอนเทนต์ในทวิตเตอร์ต้องอาศัย Real Time เพื่อทำให้คอนเทนต์ยังอยู่ในกระแส และ 'จังหวะ' เป็นเรื่องสำคัญมาก

    เพราฉะนั้น Schedule ที่เราวางไว้ตอนแรก เวลาที่ปล่อยงานจริง อาจจะไม่ได้ตรงตามตารางเวลาที่วางแผนไว้ตอนแรก แต่ไม่ใช่ว่าใช้ไม่ได้เลยนะ อาจจะยังใช้ได้อยู่ ให้เราทดไว้ในใจก่อน

    หลังจากนั้นก็มีการปรับคอนเซปต์ที่เราคิดมาอีกรอบ เรานั่งคุยกันระหว่างประชุมจนได้ข้อสรุปว่า 
    จริง ๆ แล้วทุกคอนเซปต์ที่เราคิดมา มันมีคีย์เวิร์ดบางอย่างร่วมกันอยู่นะ เราก็เลยมาคิดกันต่อว่าสิ่งที่เชื่อมโยงระหว่าง 2 คอนเซปต์ที่ว่ามันคืออะไร จนมาเคาะที่คำว่า 'Respect'


    เราได้การบ้านกลับไปทำในวันนั้น การบ้านของเราคือการคิดโพสต์ที่จะใช้ลงสำหรับลงคอนเทนต์ตั้งแต่วันที่ 1-3 มิถุนาตาม Schedule ที่เราวางไว้ตอนแรก โดยยึดโยงคอนเซปต์ทั้งหมดให้เชื่อมโยงกับคำว่า respect และมาประชุมอีกครั้งในวันศุกร์

    ( เรากับเนยเอามือกุมหัวพร้อมกัน )

    เพราะนั่นหมายถึงเราต้องคิด wording ที่จะใช้ลงในโซเชียลมีเดียทั้งหมด รวมถึงการทำกราฟฟิกประกอบคอนเทนต์ แถมมีโจทย์ใหม่ที่ต้องคิดและทำให้ไอเดียแข็งแรงขึ้นอีกมากมาย

    เท่ากับว่าเราสองคนมีเวลาจัดการกับ concept ทุกอย่างให้ประเด็นที่ต้องการจะสื่อชัดเจนขึ้น ลิสต์หนังสือทั้งหมดที่ต้องใช้ ร่างกราฟฟิกที่จะใช้โดยคร่าว ๆ และคิดคอนเซปต์สำรองรวมทั้งสิ้น 1 วันถ้วน


    สัปดาห์สุดท้ายในเดือนพฤษภาคมของเรากับเนยเลยสนุกมากเป็นพิเศษ 
    หลังจากสนุกสนานกันมาทั้งเดือน

    ( ตัวอย่างความสนุกของเราสองคน )



    หลังจากที่เราใช้เวลากลับไปแก้โจทย์ที่ได้รับมาเรียบร้อยแล้ว การประชุมงานครั้งที่สอง ครั้งที่สาม และครั้งที่สี่ของการฝึกงานก็เกิดขึ้น สุดท้ายก็เลยกำหนดเวลาที่เราวางไว้ใน Media Plan ไปหลายวัน


    ( หัวใจห่อเหี่ยวไปแล้วเรียบร้อย )


    จนเราเพิ่งมารู้หลังจากการประชุมครั้งที่สี่ว่า นี่คือหนึ่งในสิ่งที่พี่ ๆ กำลังสอนเราสองคนอยู่


    ฟีดแบ็คที่ได้กลับมาจากการประชุมครั้งนั้นคือ คอนเซปต์ที่เราคิดมายังดึงดูดความสนใจของคนได้ไม่มากพอ บวกกับการใช้ไอเดียที่ค่อนข้างจะซับซ้อน ต้องเอาไปคิดหลายต่อ และมีหลายคอนเซปต์ย่อยมากเกินไป จนอาจจะทำให้สิ่งที่เราต้องการจะสื่อจริง ๆ ไปไม่ถึงคนที่เห็น 

    รวมไปถึงเรื่องกราฟฟิกด้วย ตอนแรกเราได้ไอเดียว่า เราจะใช้กราฟฟิกพวกนี้แทนสติกเกอร์เพื่อเอาไปแปะที่หน้าปกของหนังสือที่พูดถึงประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ เลยออกมาเป็น 1st draft โดยคร่าว ๆ อย่างที่เห็น แต่การใช้สัญลักษณ์ของเรายังไม่ชัดเจนเท่าไหร่ ไอเดียนี้เลยต้องทดเก็บไว้ในใจก่อนอีกรอบ




    พี่ ๆ บอกกับเราว่าเวลาทำงาน ให้เราพยายามคิดแบบ Single Mind การคิดคอนเซปต์ในแต่ละครั้ง ควรคิดเป็นไอเดียที่เข้าใจง่ายในครั้งเดียว เราอาจจะไม่ต้องพูดกว้าง แต่จำเป็นต้องพูดให้ลึก เรื่องของการใส่รายละเอียด จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น

    และเวลาทำอะไร ให้มองมุมกลับทุกครั้ง 
    ทั้งในฐานะที่เราเป็นคนผลิต  และในฐานะที่เราเป็นคนเห็น


    สุดท้ายไอเดียและการใช้สัญลักษณ์ที่ส่งแมสเสจไปหาคนที่มองเห็นได้มากที่สุด พี่ ๆ ในทีมกับเราลงความเห็นกันว่าน่าจะเป็นสัญลักษณ์รูปพลาสเตอร์ยาที่มีคำว่า selfcare เขียนกำกับอยู่ เราเลยได้ไอเดียกันกลับมาว่า ถ้าอย่างงั้น เราลองทำคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับการชวนคนให้หันกลับมารักและดูแลตัวเองกันดีหรือเปล่านะ 

    คอนเซปต์ไอเดียของพวกเราในตอนนั้นเลยกลายเป็นประโยคที่ว่า 'เพราะว่ารักเราเลยแคร์ และเพราะว่าเราแคร์ เราก็เลยเคารพซึ่งกันและกัน' ( love - care - respect ) ตรงนี้ทั้งทีมเห็นตรงกันว่า เฮ้ย ถ้างั้นนั่นหมายความว่าความรักคือพื้นฐานของทุกอย่างเลยนี่นา

    พอเคาะไอเดียนี้ได้ เราก็ต้องมานั่งคิด wording ที่จะใช้ในการพูดถึงคอนเซปต์นี้กันอีกรอบ เราหยิบเอาคำว่า Love is Key ที่เคยใช้ในตอนแรกมาเสนออีกครั้ง ก่อนที่ทุกคนจะช่วยกันปรับจนสรุปสุดท้ายเป็นคำว่า Lovecure แทน เพราะเป็นคำที่สั้น จำง่ายและให้ความหมายได้ชัดเจนกว่า รวมไปถึงสามารถเอามาเล่นกับทุกประเด็นที่เคยคิดกันไว้ได้ทั้งหมดเลย

    กลุ่มเป้าหมายของเราก็เลยเริ่มชัดเจนมากขึ้นว่า เราต้องการส่งแมสเสจเกี่ยวกับ lovecure ไปหาคนที่กำลังรู้สึกเจ็บปวดให้กลับมารักตัวเอง และเสนอทางเลือกว่า บางทีหนังสือก็อาจจะช่วยเยียวยาอาการเจ็บปวดทางใจเหล่านั้นได้นะ

    เราเลยมาคิดต่อว่า ถ้าอย่างงั้นเราจะทำยังไงให้โพสของเราน่าสนใจดี 
    และนี่คือ 1st draft ของกราฟฟิกอันที่สองของเรา




    เราสรุปกันว่าภาพสัญลักษณ์พลาสเตอร์ยาจะยังมีอยู่ แต่จะปรับเปลี่ยนเล็กน้อยให้มีมือของคนเข้ามาทำท่าทางแปะพลาสเตอร์แทน แล้วจะคิดแคมเปญชักชวนให้คนในทวิตเตอร์มาร่วมเล่นกิจกรรม Lovecure ที่เราคิดกันขึ้นมา 

    ด้วยการใช้วิธีให้คนในทวิตเตอร์บอกอาการเจ็บปวดทางใจหรืออาการใจสลายของพวกเขามา แล้วทางเราจะช่วยหาหนังสือที่ช่วยเยียวยารักษาไปให้ เพื่อเป็นการลองเชิงดูว่า คอนเซปต์ที่เราสองคนคิดไว้จะได้รับผลตอบรับเป็นไปในทางไหนบ้าง


    แต่ระหว่างที่เราเตรียมปล่อยคอนเทนต์แรกออกไป หลังจากที่กลับไปคิดกันอยู่นานหลายวัน
    ปรากฏว่าสัปดาห์นั้นกระแสในทวิตเตอร์เต็มไปด้วยเรื่องของการเมือง ไม่ว่าจะเป็นกระแสเรื่องหนังสือ Animal Farm การเลือกตั้ง หรือการเข้าประชุมต่าง ๆ ทำให้การปล่อยคอนเทนต์ของเราจำเป็นต้องเลื่อนออกไปหนึ่งวัน 



    เราสองคนนั่งหัวเราะกันพักนึง 
    และเข้าใจกันในตอนนั้นทันทีเลยว่า 'จังหวะ' เป็นเรื่องสำคัญจริง ๆ นั่นแหละ ฮ่า



    จนกระทั่งได้ออกมาเป็นโพสแรกในวันที่ 6 มิถุนายน แบบนี้




    เราได้รับฟีดแบ็คที่เหนือความคาดหมายมากในคืนนั้น
    เพราะมีคนเข้ามาร่วมเล่นกิจกรรมในแคมเปญนี้ค่อนข้างมาก จนถึงขั้นว่าเข้าไปตอบกันไม่หมด
    มีตั้งแต่อาการใจสลายแบบเบสิค ไปจนถึงอาการเจ็บปวดทางใจขั้นแอดวานซ์

    เราสองคนเข้าไปแนะนำหนังสือไปมากกว่ายี่สิบเล่ม ตามแต่อาการของแต่ละคน
    คืนนั้นเป็นคืนที่เรารู้สึกสนุกมาก และได้รับความช่วยเหลือจากพี่ ๆ อย่างเต็มที่
    ทำให้ทุกอย่างผ่านไปได้ด้วยดี

    แต่ยังมีสิ่งที่เราสองคนต้องทำรออยู่อีกมากมาย
    เราเล่นกิจกรรม lovecure ในทวิตเตอร์ต่อเรื่อย ๆ พร้อมกับการวางแผนและคิดโพสต่อไปด้วยว่า
    จะทำยังไงถึงจะเลี้ยงกระแสนี้ไว้ต่อได้ เพราะเรายังเหลือประเด็นที่จะพูดอีกหลายอย่าง 

    หน้าที่ของเราหลังจากนั้นคือการรวบรวมอาการใจสลายของทุกคนมาสรุปประเด็นว่า อาการเหล่านั้น เกิดขึ้นจากสาเหตุอะไรมากที่สุด แล้วทำการหาลิสต์หนังสือต่อว่า มีเล่มไหนบ้างที่จะสามารถเยียวยาอาการที่ว่ามาได้ทั้งหมด

    รวมถึงคิดเผื่อด้วยว่า ถ้าจะลองเอากิจกรรม lovecure 
    ย้ายไปเล่นในโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มอื่นอย่างเฟสบุ้คและอินสตาแกรมจะต้องทำยังไงบ้าง

    ( เรากับเนยจับมือกันกรี้ดอีกรอบ )

    สิ่งที่เราสองคนต้องทำทั้งหมดเลยแบ่งออกเป็น 3 sessions ใหญ่ ๆ 

    หนึ่งคือการเปิดด้วยโพสแรก 
    สองคือการสรุปประเด็นจากการเล่นกิจกรรม
    และสามคือการเจาะรายละเอียดของหนังสือแต่ละเล่มในลิสต์

    ในส่วนของ session แรก 
    เราปล่อยให้กิจกรรม lovecure โลดแล่นในทวิตเตอร์ต่ออีกประมาณสามถึงสี่วัน
    จนกระแสเริ่มเบาบางลงกว่าวันแรก

    ก่อนจะเริ่มทำงานใน session ที่สอง
    เราสรุปประเด็นออกมาได้ว่า สาเหตุของอาการใจสลายของคนที่เข้ามาร่วมกิจกรรม
    มีอยู่ด้วยกันหลัก ๆ 7 อาการด้วยกัน และลองหาหนังสือที่สามารถเยียวยาอาการเหล่านั้น
    หมวดละ 3 เล่ม จนได้เป็นโพสที่สองในวันที่ 14 มิถุนายน



    และเริ่มงานในส่วนของ session ที่สาม อย่างการถ่ายรูปหนังสือเล่มจริงเพื่อใช้ประกอบโพสที่พูดถึงรายละเอียดของหนังสือแต่ละเล่มในสามแพลตฟอร์มของโซเชียลมีเดีย

    session ที่สามเป็นขั้นตอนการทำงานที่ข้นตอนนึงที่ค่อนข้างจะสนุกสนาน เราสองคนได้ลองทำอะไรใหม่ ๆ ที่ไม่เคยทำหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการฝึกถ่ายรูปหนังสือยังไงให้ดูน่าอ่าน หรือการเลือกประเด็นไหนในหนังสือขึ้นมาพูดถึงเพื่อทำให้คนรู้สึกสนใจ รวมไปถึงการนั่งอยู่ในกองหนังสือยี่สิบกว่าเล่มตลอดทั้งอาทิตย์


    นี่คือหนึ่งในตัวอย่างโพสของพวกเรา



    และการรับผิดชอบงานในส่วนของแคมเปญครึ่งเดือนแรกของเดือนมิถุนายนก็จบลงด้วยดี


    เราค่อนข้างจะสนุกกับสามสัปดาห์ที่ผ่านมามาก ๆ ( ถึงแม้จะมีการกรี้ดกันออกมาหลายครั้งหลายครา )
    เราได้ทำอะไรหลายอย่าง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพี่ ๆ ทุกคนเปิดโอกาสให้เราได้ลองเสนอไอเดีย
    เวลาประชุมงาน เลยกลายเป็นช่วงเวลาที่เราชอบมากที่สุด ไม่ใช่แค่เพราะเราได้พูดในสิ่งที่เราอยากทำ
    แต่ยังรวมไปถึงการได้ฟังแนวคิดและไอเดียจากทุกคนด้วย



    ทุกอย่างเลยกลายเป็นเรื่องสนุกสำหรับเราไปโดยปริยาย  



    พี่ ๆ บอกเราสองคนตลอดว่า, ไม่ว่าจะทำคอนเทนต์อะไรก็ตาม พยายามอย่ายกตนว่าตัวเองเป็นผู้รู้ในด้านนั้น ๆ แล้ว ให้พูดออกไปในฐานะที่เราเป็นนักอ่านเหมือนกับทุกคน

    เพราะแบบนั้น การรับผิดชอบงานในส่วนของ content creator ที่นี่ 
    หน้าที่ของเราเลยไม่ได้หยุดอยู่ที่การออกไอเดียจะนำเสนอให้น่าสนใจยังไงแค่อย่างเดียว 
    แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นคือการมองลึกลงไปถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหลังจากที่เราโพสไปแล้วต่างหาก

    ทุกครั้งที่ประชุม ทุกคนจะช่วยกันคอยตรวจสอบดูอยู่เสมอว่าข้อความที่เขียนมีความ offensive มากน้อยแค่ไหน ถ้าพูดออกไปจะทำให้คนอ่านรู้สึกแย่หรือเปล่า ประเด็นไหนที่เราควรหลีกเลี่ยง หรือบางครั้งก็นั่งพูดคุยกันต่อถึงสิ่งที่แต่ละคนเห็นในอีกมุมมองหนึ่ง ทำให้เรามีไอเดียใหม่ ๆ เกิดขึ้นเสมอเวลาประชุมกัน


    ช่วงแรกเรายังต้องปรับตัวค่อนข้างมาก ( และคิดว่าเรายังต้องปรับกันเรื่อย ๆ ต่อไป )
    เหตุผลหนึ่งเพราะยังไม่คุ้นชินกับการคิด content ในแบบที่ต้องอาศัย Real-time Margeting  เป็นหลัก
    ทำให้ต้องใช้เวลาจูนกันอยู่นาน ก่อนหน้านี้เราเคยเขียนงานมาบ้าง แต่ก็เป็นงานที่ค่อนข้างเป็นทางการ
    เราเลยติดการใช้ภาษาในอีกรูปแบบนึง ซึ่งบางครั้งอาจจะใช้ไม่ได้ในการนำมาเขียน content ลงโซเชียลมีเดีย


    เราในสัปดาห์แรก ๆ เลยมีแต่คำว่าตาโต คือมีเรื่องให้เราปรับตัวจนตาโตทุกวัน


    จนถึงตอนนี้ก็ยังมีหลายครั้งที่ content ต่าง ๆ ของเรายังติดการใช้รูปแบบการคิดและภาษาแบบเดิมอยู่บ้าง และยังมีอะไรต้องกลับมาแก้อีกหลายต่อหลายครั้ง ฮ่า รวมถึงมีหลายไอเดียที่ทดไว้ในใจ 

    แต่นั่นก็ทำให้เราเข้าใจมากขึ้นว่า การจะผลิตคอนเทนต์อะไรสักอย่างออกมา มันใช้เวลาไม่น้อยเลย 
    และในบางครั้ง ไอเดียที่เราใช้เวลาคิดมาตลอดทั้งเดือนหรือทั้งสัปดาห์ ก็สามารถพับเก็บลงไปได้ง่าย ๆ เหมือนกัน ถ้ากระแสในตอนนั้นยังไม่เหมาะสม



    Starter kit ของการฝึกงานชุดแรกที่เราได้รับจากที่นี่เลยหนีไม่พ้นเรื่องของ : 
    การอ่านหนังสือให้เยอะ สังเกตให้บ่อย และคิดให้ง่ายขึ้น



    หวังว่าหลังจากนี้จะมีแต่เรื่องสนุก และสนุกมากขึ้นไปอีก เย้

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in