เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
CURIOUS STUFFNutthapat Mingmalairak
BITTERSWEET GAME THEORY
  • "ทฤษฎีเกม(GAME THEORY)" เป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการคิด
    และการตัดสินใจของคน หลายคนอาจเคยผ่านตาภาพยนตร์เก่าเรื่อง
    A Beautiful Mind ตัวเอกในเรื่องนี้คือ John Forbes Nash เจ้าของรางวัลโนเบลในปี 1994 ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้พัฒนาทฤษฎีเกมให้กลายเป็นศาสตร์ที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้น โดยทฤษฎีเกมไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับ เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์เสมอไป อย่างเรื่อง จิตวิทยา วิวัฒนาการ หรือการตัดสินใจทั่วๆไปของคนเราก็สามารถอธิบายด้วยทฤษฎีเกมได้

    ผมเลยอยากจะขอลองอธิบายทฤษฎีเกมในชีวิตประจำวันผ่านการเล่าเรื่อง แล้วก็จะไม่อธิบายอะไรที่เป็นการคำนวนหรือโมเดลยากๆเพราะคนอ่านคงจะงง
    (คนเขียนงงไปก่อนหน้านั้นแล้ว :D) 



    Paris, France 20XX

    วันที่สองของการไปฮันนีมูนของคู่รักคู่หนึ่ง ระหว่างกินอาหารเช้าทั้งคู่ได้ถกเถียงกันถึงสถานที่
    ที่จะไปในค่ำคืนนี้ ฝ่ายชายเสนอว่าตอนกลางคืนแบบนี้ต้องไปตามรอยแวนโก๊ะริมแม่น้ำแซน
    ถึงจะโรแมนติคที่สุด ฝ่ายหญิงก็ค้านว่าการกินดินเนอร์ของหวานที่คาเฟ่ชื่อดังย่านฌ็องเซลีเซ
    ต่างหากที่เรียกว่าโรแมนติค ทั้งสองก็หาข้ออ้างมาคานกันแต่ก็ยังสรุปไม่ได้ สุดท้ายแล้วเลยตกลงกันว่าไว้ค่อยตัดสินใจหลังจากไปเที่ยวที่ลูฟวร์ดีกว่าณ พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ หลังจากเดินตามกรุ๊ปทัวร์อยู่พักใหญ่ๆ ทั้งคู่ก็คิดว่าควรจะแยกกันเดินไปดูสิ่งที่ตัวเองสนใจดีกว่าเดินตามกันอยู่แบบนี้ ก็เลยแยกย้ายกันไปตามความสนใจส่วนตัว

    สามชั่วโมงผ่านไป... ถึงเวลานัดเจอกัน

    ฝ่ายชาย : คลำหาสมาร์ทโฟนในกระเป๋ากางเกง คลำแล้วคลำอีกก็หาไม่เจอ เจอของดีฝรั่งเศสเข้าซะแล้ว ทำยังไงดีวะ...(คิดในใจ) ในลูฟวร์ก็มีคนเยอะแยะไปหมด จะเดินไปตะโกนเรียกไปยามก็คงล็อคตัวออกไปแน่ๆ เวรเอ้ย.. เอ๊ะ แต่เดี๋ยวก่อน ระหว่างที่เดินกับพวกทัวร์เราผ่านภาพโมนาลิซาแต่ไม่ได้แวะดูเพราะคนมันเยอะนี่นา ลองไปแถวๆนั้นก่อนดีกว่าเผื่อจะเจอแฟนเรา

    ฝ่ายหญิง : สามชั่วโมงครบแล้วนะทำไมยังไม่โทรมาอีก พอโทรหาก็ปิดเครื่องไปทำอะไรอยู่กันแน่เพลินจนไม่อยากรับสายเลยหรอ ชิ..เดินหาก็ได้ เอ๊ะ แต่เดี๋ยวก่อน ระหว่างที่เดินกับพวกทัวร์เราผ่านภาพโมนาลิซาแต่ไม่ได้แวะดูเพราะคนมันเยอะนี่นา ลองไปแถวๆนั้นก่อนดีกว่าเผื่อจะเจอแฟนตัวดีของเรา

    และแล้วทั้งสองก็เจอกันที่ภาพโมนาลิซา...



    อธิบายด้วยทฤษฎีเกม คือ การที่ทั้งสองตกลงกันว่าจะแยกย้ายไปดูสิ่งที่ตัวเองสนใจเรียกได้ว่าเป็น Positive Sum Game คือการได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายและทำให้หลีกเลี่ยงการโต้แย้งลงได้และที่ทั้งสองเจอกันได้ซึ่งดูเหมือนเป็นความบังเอิญ แต่จริงๆแล้วเพราะทั้งสองคนมีสิ่งที่เรียกว่า จุดโฟกัส(Focal Point) ร่วมกัน ซึ่งจุดโฟกัสในลูฟวร์จริงๆนั้นมีหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นทางเข้าพิพิธภัณฑ์ ปิรามิดแก้วกลับหัว หรือแม้กระทั่งเคาท์เตอร์ประชาสัมพันธ์ แต่ภาพโมนาลิซาเป็นจุดโฟกัสที่มี ดุลยภาพ(Equilibrium) เป็นอันดับแรกๆของทั้งสองคน พูดง่ายๆว่าทั้งสองคนมีข้อมูลบางอย่างที่ชัดเจนร่วมกันที่จุดนั้น



    หลังจากที่ทั้งคู่ออกจากลูฟวร์ ฝ่ายชายเซ้าซี้ว่าอยากจะไปร้าน Galignani ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากลูฟวร์
    ให้ได้ เพราะเป็นร้านหนังสือร้านแรกของยุโรป ฝ่ายหญิงก็ลังเลว่าจะยอมดีไหมเพราะตัวเองก็อยากไปชอปปิ้งแถวๆนั้นเหมือนกัน แต่ก็ไม่อยากแยกกันไปทำธุระเพราะเดี๋ยวจะคลาดกันแล้วหากันไม่เจอ สุดท้ายพอเจอสายตาเว้าวอนแรงๆของฝ่ายชายก็เลยต้องยอมไปด้วย

    หลังจากนั้นหนึ่งชั่วโมง... ฝ่ายชายได้หนังสือที่ตัวเองต้องการอย่างสุขสมอารมณ์หมาย

    ทางฝ่ายหญิงเองก็ไม่ได้หงุดหงิดอะไรเพราะก็ได้เดินดูความสวยงามของร้านและได้ไล่ดูหนังสือ
    ไปรอบๆร้าน เมื่อจ่ายเงินเสร็จสรรพทั้งคู่ก็ออกจากร้านไปขึ้นเมโทรเพื่อเที่ยวต่อ

    สถานีเมโทร ประมาณบ่ายสาม... 

    ทั้งคู่ไม่รู้ว่าจะไปไหนต่อดี และไม่รู้เส้นทางอะไรเลยนอกจากไปหอไอเฟล ซึ่งก็ไปมาเมื่อวานแล้ว ทันใดนั้นก็มีเสียงครืดอ่อนๆออกมาจากท้องของใครซักคนเสียงนั้นคือเสียงแห่งความหิวนั่นเอง เมื่อตกลงว่าจะไปไหนต่อไม่ได้ รวมเข้ากับความหิวได้ก่อเกิดเป็น ความโมโหหิว ทั้งสองคนก็เริ่มมีปากเสียงกันเล็กๆว่าจะไปกินข้าวกลางวันที่ไหนแล้วไปยังไง "ร้านสเต็กที่เธอว่านี้รู้ทางไปหรอ" ฝ่ายหญิงกล่าวด้วยน้ำเสียงไม่พอใจ "มาปารีสแล้วจะให้กินแฮมเบอร์เกอร์เนี่ยนะ ชั้นไม่เอาด้วยหรอก" ฝ่ายชายก็โต้ตอบกลับไปเสียงแข็ง

    สุดท้ายแล้วก็ถึงทางตันเมื่อการเจรจาไม่เป็นผลสำเร็จ ทั้งสองฝ่ายต่างคนต่างไม่ยอมกันจนทำให้ฝ่ายหญิงเดินขึ้นจากเมโทรออกไปด้วยความโมโห พอฝ่ายชายเห็นอย่างนั้นก็ไม่ง้อแล้วจึงกระโดดขึ้นขบวนรถไฟเพื่อที่จะไปไหนก็ได้ที่ทำให้อารมณ์ของตัวเองเย็นลง

    สรุปแล้วฝ่ายหญิงซื้อแซนวิชที่ร้านค้าแถวๆเมโทรกินเพื่อประทังความหิว ส่วนฝ่ายชายจำต้อง
    กินแมคโดนัลด์แถวๆสถานีอะไรก็ไม่รู้ที่ลงเพราะรถไฟเปลี่ยนขบวน


    ตอนที่ทั้งคู่ต่อรองกันว่าจะไปร้านหนังสือหรือชอปปิ้งดี ในการเรียนเรื่องทฤษฎีเกมจะพบอะไรแบบนี้บ่อยมาก เรียกว่า เกมผลรวมเป็นศูนย์หรือ Zero Sum Game คือการตกลงหรือเกมที่มีฝ่ายที่ได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ที่ชัดเจน โดยสุดท้ายแล้วมักจะเลือกไปในทางใดทางนึงโดยไม่ขัดกัน เพราะมีผลประโยชน์สูงสุด ณ จุดนั้น(เลือกไปร้านหนังสือหรือชอปปิ้ง) คือ จุดที่มีผลประโยชน์สูงสุดสำหรับสองฝ่าย ทางเลือกนั้นเรียกว่า ดุลยภาพแนช(Nash Equilibrium) เหตุการณ์ที่ทั้งคู่เจรจาว่าจะไปกินอาหารกลางวันที่ไหน ถ้าเป็นสถานการณ์ปกติก็จะเป็น เกมผลรวมเป็นศูนย์ แต่ถ้าเป็นสถานการณ์ที่ต่างคนต่างหิวมาก แล้วไม่มีทางที่ใครจะยอมใครก็จะยิ่งทำให้ทวีความหิวและความหงุดหงิดเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ การเจรจานั้นจะกลายเป็น Negative Sum Game หรือเกมที่ต่างฝ่ายต่างเสียประโยชน์ทั้งคู่ในท้ายที่สุดอย่างที่เห็นซึ่งในทฤษฎีเกมและชีวิตจริงควรจะหลีกเลี่ยงการเข้าไปสู่เกมแบบนั้น



    ช่วงใกล้ค่ำ... 

    หลังจากที่งอนและแยกกันไปพักใหญ่ๆ ทั้งคู่หายโกรธกันแล้วแต่ติดต่อกันไม่ได้เพราะฝ่ายชายไม่มี
    สมาร์ทโฟนและดั๊นจำเบอร์ฝ่ายหญิงไม่ได้ 

    จะทำยังไงดีนะ..ไม่อยากให้คืนฮันนีมูนต้องเป็นแบบนี้เลย...(ฝ่ายหญิงนึกในใจ) 

    ฝ่ายชายก็ไม่รู้จะทำยังไง กลับโรงแรมแบบผู้แพ้ก็คงไม่ดีแน่ๆ ระหว่างครุ่นคิดก็พลางนึกขึ้นได้ว่าเมื่อเช้าได้เถียงกับแฟนว่าจะไปทำอะไรตอนช่วงค่ำ

    (ความคิดฝ่ายชาย) : สองที่นี้แหละ..ยังไงก็ต้องเจอแฟนเราแน่ๆในซักที่ที่คุยกันไว้ตอนเช้า ถ้าไปตามรอยแวนโก๊ะตามแผนของเราก็อาจจะเจอ แต่โอกาสไม่น่าถึงครึ่งหวะเพราะวันนี้เธอก็ยอมไปร้านหนังสือกับเราแล้ว ถ้าไปคาเฟ่ของหวานที่เธอว่าน่าจะมีโอกาสเจอมากกว่า ไปดักรอแล้วทำเซอร์ไพรส์ด้วยเลยดีกว่าจะได้ดีกันฟินๆ

    (ความคิดฝ่ายหญิง) : ถ้าเราไปตามรอยแวนโก๊ะก็อาจจะเจอแฟนตัวดีของเรานะ แต่ไม่หล่ะ!! วันนี้ก็ยอมไปร้านหนังสือด้วยแล้ว ยังไงก็ต้องได้ไปคาเฟ่ของหวาน ถ้าไม่ยอมมาเจอกินคนเดียวก็ได้
    ไม่แคร์!! ของกินต้องมาก่อน

    สุดท้ายแล้วฝ่ายชายก็ไปดักรอฝ่ายหญิง ณ คาเฟ่ชื่อดังย่านฌ็องเซลีเซ แล้วทั้งสองคนก็ได้ใช้ค่ำคืนฮันนีมูนดินเนอร์กันอย่างมีความสุข...


    ทั้งสองทางเลือกนั้นเป็น ดุลยภาพแนช และที่ฝ่ายชายเลือกที่จะไปตามแผนของฝ่ายหญิง เพราะเขารู้ว่า อรรถประโยชน์(Utility) โดยรวมของทางเลือกนี้มากกว่า พูดง่ายๆคือเลือกทางนี้มีประโยชน์มากว่าเลือกตามแผนของตัวเอง เพราะได้ไปร้านหนังสือมาแล้ว Utility ของการได้ทำตามความต้องการตัวเองก็ลดลง ฝ่ายหญิงก็เช่นกัน เมื่อได้ทำตามความต้องการของฝ่ายชายแล้ว Utility ของการได้ทำตามความต้องการตัวเองก็เพิ่มมากขึ้น เลยตัดสินใจทำตามแผนตัวเองเพราะรู้ว่าอรรถประโยชน์โดยรวมของทางเลือกนี้มีมากกว่า

    ทั้งหมดที่อธิบายมาเป็นแค่การตัดสินใจหรือเกมที่เล่นเพียงครั้งเดียวและไม่ได้คิดที่จะหาคนแพ้หรือคนชนะ อาจจะเรียกได้ว่าเป็น ยุทธวิธี ที่หาประโยชน์ร่วมสูงสุด แต่ไม่ได้เป็น กลยุทธ์แท้(Pure Strategy) หรือ กลยุทธ์ผสม(Mixed Strategy) ใดๆตามหลักทฤษฎีเกม เพราะไม่ได้เล่นซ้ำๆจนรู้ทันคู่แข่ง ถ้าให้พูดลึกลงไปในเรื่องกลยุทธ์ก็จะมีหลักการเรื่อง Maximin / Minimax Payoff เข้ามาด้วยซึ่งขอไม่อธิบายต่อแล้วเพราะมันเป็นการคำนวนและผู้เขียนยังไม่ค่อยแตกฉานเท่าไหร่ในเรื่องนี้ แต่ถ้าใครสนใจมี Reference ให้ไปศึกษาต่อ
    อยู่ที่ด้านล่างบทความ



    ริมแม่น้ำแซน เวลาเกือบเที่ยงคืน....

    หลังจากดินเนอร์เสร็จ ทั้งคู่ยังไม่รีบเข้าโรงแรมไปพักผ่อน แต่มาทำตามความต้องการของฝ่ายชายที่จะไปตามรอยแวนโก๊ะ ทั้งคู่เดินจับมือกันมองดูดวงดาวที่ทอดแสงลงพื้นผิวน้ำ แสงสะท้อนจากดวงดาวและโคมไฟปรากฎขึ้นในแววตาของทั้งคู่ ทั้งสองมองหน้ากันและค่อยๆนำหน้าผากสัมผัสกันเบาๆ และหลังจากนั้นก็...

    (จินตนาการกันต่อเอาเอง)




    REFERENCE

    บุคคลที่เรียกได้ว่าเป็นปรามาจารย์ของทฤษฎีเกม


    ความรู้เพิ่มเติมในเรื่องทฤษฎีเกม อ่านเล่นๆ :


    อ่านจริงจังขึ้นอีกนิด :
    หนังสือ GAME THEORY a very short introduction ของ KEN BINMORE
    มีแปลไทย สำนักพิมพ์ 
    openworlds (หนาเกือบๆ 300 หน้า)

    ทฤษฎีเกมเกี่ยวกับกฎหมายและการคอรัปชั่นยังไง จากบทความของ TDRI

    ทฤษฎีเกมกับการวิวัฒนาการ อ่านได้หนังสือ The Selfish Gene ของ Richard Dawkins


    แต่ถ้าอยากจะจริงจังขึ้นไปอีก - ไปเรียนที่คณะเศรษฐศาสตร์เถอะครับ.

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in