เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Book reviews and othersClaire de lune
Mass Incarceration
  • TW: การเหยียดสีผิว


    เราคงเคยเห็นภาพเรือนจำในอเมริกาที่แออัดมาบ้างจากในหนังหรือในซีรี่ย์ต่างๆ แต่รู้ไหมว่าภาพเหล่านี้ไม่ได้มีอยู่เพียงในหน้าจอเท่านั้น จากสถิติแล้วสหรัฐฯมีจำนวนประชากรคิดเป็น 5% ของจำนวนประชากรทั้งโลก แต่กลับมีจำนวนผู้ต้องขังมากถึงเกือบ25%ของจำนวนผู้ต้องขังทั้งโลก โดยตัวเลขที่น่าตกใจนี้เกิดมาจากระบบ Mass incarceration หรือการจำคุกในปริมาณมหาศาลในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นระบบที่ผูกแน่นกับระบบทุนนิยม การเหยียดเชื้อชาติ และรวมไปถึงระบบทาส

     (https://www.aclu.org/issues/smart-justice/mass-incarceration)



    จุดเริ่มต้นของ Mass incarceration นั้นสามารถย้อนกลับไปได้ถึงการออกบทบัญญัติเพิ่มเติมข้อที่13 ว่าด้วยการเลิกทาส ในปี 1865 ปีเดียวกับการสิ้นสุดสงครามกลางเมือง ซึ่งมีใจความว่า “การมีทาสหรือข้าช่วงใช้โดยไม่สมัครใจจะเกิดขึ้นในสหรัฐหรือดินแดนส่วนใดที่อยู่ในเขตอํานาจของสหรัฐไม่ได้ ‘เว้นแต่กรณีที่เป็นการลงโทษตามระบิลเมืองแก่ผู้กระทําผิดทางอาญา’” 

    (http://www.thailaws.com/law/thaiacts/e_constitution012.pdf)


    ซึ่งส่วนหลังของมาตราที่ว่า “เว้นแต่กรณีที่เป็นการลงโทษตามระบิลเมืองแก่ผู้กระทําผิดทางอาญา” ก็กลายเป็นช่องทางให้มีการนำนักโทษไปใช้เป็นแรงงานฟรีในไร่หรือในบริษัทอุตสาหกรรมต่างๆโดยเฉพาะในภาคใต้ของประเทศ โดยที่บริษัทเหล่านั้นจะทำสัญญากับรัฐโดยที่จะต้องให้ข้าว น้ำ ที่อยู่อาศัย เสื้อผ้า แก่ผู้ต้องขังเหล่านั้นแลกกับแรงงานฟรี โดยสัญญานี้เรียกว่า Convict Leasing 


    เมื่อมีความต้องการในเรื่องแรงงาน (หลังงานการเลิกทาส พวกไร่และบริษัทก็เกิดการขาดแคลนแรงงานเป็นอย่างมาก) ก็ยิ่งต้องหาแรงงานมาเพิ่ม ทำให้นำไปสู่การออกกฎหมาย Black Code ในหลายรัฐทางภาคใต้ ซึ่งบังคับให้คนดำต้องมีงานที่มีเจ้านายเป็นคนขาวและมีบ้านอยู่ ซึ่งมันเป็นไปได้ยากมากกับการที่คุณที่พึ่งได้รับอิสรภาพและจะได้มีอะไรเป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น งาน หรือ บ้าน


    คนดำในสมัยนั้นจึงถูกจับด้วยข้อหาเร่ร่อน (Vagrancy) และข้อหาเล็กๆอื่นๆเป็นจำนวนมาก ยิ่งไปกว่านั้นบางคนก็ถูกฆ่าจากอาชญากรรมเล็กๆน้อยๆ บ้างก็ถูกรุมประชาทัณฑ์ (Lynching) จนเสียชีวิต ส่งผลให้จำนวนผู้ต้องขังผิวดำมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น ก่อนที่จะมีการเลิกทาสในรัฐแอละบามา ผู้ต้องขังส่วนใหญ่กว่า99%เป็นคนผิวขาว แต่ในเวลาอันสั้นหลังจากการออก Black Code ผู้ต้องขังส่วนใหญ่กลับกลายเป็นคนผิวดำ สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าระบอบทุนนิยมละการเหยียดเชื้อชาติทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี


    ระบบนี้สิ้นสุดลงในปี 1928 โดยที่รัฐแอละบามาเป็นรัฐสุดท้ายที่ยกเลิกระบบ Convict Leasing และ Black Code ก็สิ้นสุดในช่วง Reconstruction era (1865-1877) และคนผิวดำก็สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้เป็นครั้งแรก รวมไปถึงมีการห้ามเลือกปฏิบัติในที่สาธารณะ ภายใต้ Civil Rights Act of 1875

    (https://www.britannica.com/event/Reconstruction-United-States-history)

    (https://www.britannica.com/topic/Civil-Rights-Act-United-States-1875)

    (https://www.thoughtco.com/convict-leasing-4160457)


    อย่างไรก็ตาม การเยียดเชื้อชาติก็ยังคงมีให้เห็นอยู่ทั่วและอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 1896 ซึ่งเกิดข้อตัดสิน Plessy v. Ferguson หรือ การแบ่งแยกอย่างเท่าเทียม (Separate but equal) และทำให้การเลือกปฏิบัติสามารถทำได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งทำให้กฎหมายอย่าง Jim Crow เกิดขึ้น โดยการออกกฎหมายของคนขาวในพรรคเดโมแครต ซึ่งต้องการให้อำนาจกลับมาสู่คนผิวขาวมากขึ้น


    ซึ่ง Jim Crow เนี่ย เป็นกฎหมายแบ่งแยกสีผิว (Racial Segregation de jure) โดยกฎหมายนี้จะห้ามคนขาวและคนดำใช้บริการสาธารณะเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น ห้องน้ำ รถบัส โต๊ะกินข้าว ห้องสมุด โรงพยาบาล ทุกอย่างจะต้องแยกกันใช้ แต่ที่สำคัญคือ ภายใน Jim Crow Laws เนี่ย มีการกีดกันสิทธิการเลือกตั้งของคนผิวดำด้วย อย่างเช่นการออกกฎว่า การที่จะโหวตได้คุณต้องอ่านออกเขียนได้ และ ต้องจ่ายเงินที่เรียกว่า poll taxes ก่อน รวมไปถึงคุณต้องมีสิทธิโหวตมามากว่า3รุ่นด้วยกัน (Grandfather Clause) ซึ่งเห็นได้ชัดว่าต้องการกีดกันคนดำออกการการเลือกตั้ง เพราะในสมัยนั้นคนแอฟริกันอเมริกันส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ และมันเป็นไปไม่ได้ที่จะมีสิทธิเลือกตั้งมามากกว่าสามรุ่น ในเมื่อพวกเขาพึ่งมีสิทธิเลือกตั้งมาไม่ถึง 30 ปี


    และเมื่อไม่ได้เลือกตั้ง เสียงของตัวเองก็ไม่สามารถขึ้นไปถึงผู้มีอำนาจได้ นอกจากนี้ กฎหมาย Jim Crow ยังทำให้การแบ่งแยกสีผิวในชีวิตประจำวัน (Racial Segregation de facto) และความเกลียดชังรุนแรงขึ้นอีกด้วย Jim Crows Laws ดำเนินเรื่อยมาจนสิ้นสุดในปี 1965 หลังจากการยกเลิกการแบ่งแยกสีผิวในโรงเรียนโดยข้อตัดสิน Brown v. Board of Education ในปี 1954 และการประท้วงที่นำโดย Martin Luther King Jr. ซึ่งทำให้ได้มาซึ่ง Civil Rights Act ในปี 1964 และ Voting Rights Act ในปี 1965 ซึ่งทำให้การแบ่งแยกสีผิวเป็นเรื่องผิดกฎหมายอีกครั้ง

    (https://www.britannica.com/event/Plessy-v-Ferguson-1896)

    (https://abhmuseum.org/voting-rights-for-blacks-and-poor-whites-in-the-jim-crow-south/)


    อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าการแบ่งแยกสีผิวจะกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายแล้ว อคติการเชื้อชาติและสีผิวก็ยังคงมีอยู่ต่อไป รวมไปถึงการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรในเรือนจำ โดยเราจะได้เห็นว่าภายหลังจากปี70s ได้มีการเพิ่มขึ้นของผู้ต้องขังในสหรัฐอเมริกาอย่างมหาศาล (Mass incarceration) แต่ว่าสิ่งนี้เกิดจากอะไรล่ะ?

    (https://www.brennancenter.org/our-work/analysis-opinion/history-mass-incarceration)


    เรื่องมันเกิดจากว่า ในสมัยของปธณฯ Nixon ได้มีการประกาศนโยบายสงครามยาเสพติดขึ้น (War on Drugs) ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การกำจัดสารตั้งต้นยาเสพติดและการจับกุมผู้ครอบครองและค้ายา ซึ่งเมื่อบวกกับอคติทางสีผิว ก็ทำให้ผู้ชายผิวดำถูกตรวจค้นและมีแนวโน้มว่าจะถูกจับกุมจากการครอบครองยาเสพติดเป็นจำนวนมาก โดยมีสถิติว่า ผู้ชายผิวดำกว่า1 ใน 3 มีแนวโน้มว่าจะถูกจำคุก เมื่อเทียบกับ ชายผิวขาวที่มีโอกาสถูกจำคุกเพียง 1 ใน 17 คน

    (https://guides.ll.georgetown.edu/c.php?g=592919&p=4172706)


    นอกจากนี้ John Ehrlichman ที่ปรึกษาของปธณฯ Nixon ยังออกมายอมรับด้วยตัวเองว่า นโยบาย War on Drugs นั้นมุ่งเป้าหมายไปที่คนแอฟริกันอเมริกันและฮิปปี้รักสันติ โดยเขากล่าวว่า “คุณอยากรู้จริงๆเหรอว่า[นโยบาย War on Drugs]นี่มันเกี่ยวกับอะไร? Nixonน่ะ มีศัตรูอยู่สองพวก คือ พวกซ้ายรักสันติและคนดำ เรารู้ว่าเราไม่สามารถทำให้การเป็นพวกต่อต้านสงครามกับคนดำเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่การที่เราทำให้ฝูงชนไปยุ่งเกี่ยวกับกัญชาของพวกฮิปปี้กับเฮโรอีนของคนดำแล้วฟาดพวกเขาหนักๆด้วยกฎหมาย เราจะสามารถทำลายชุมชนของพวกเข้าได้ เรารู้ไหมน่ะเหรอว่าเราโกหกเกี่ยวกับเรื่องยา? แหงอยู่แล้ว”

    (https://edition.cnn.com/2016/03/23/politics/john-ehrlichman-richard-nixon-drug-war-blacks-hippie/index.html)


    ยิ่งไปกว่านั้นก็ยังมีกฎหมายมากมายที่ส่งผลโดยตรงกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรในเรือนจำ เช่น กฎหมายเรื่องจำนวนปีขั้นต่ำของการจำคุก (Mandatory minimum) (เช่น หากคุณทำผิดกฎหมายที่มีโทษจำคุกอย่างน้อย5ปี คุณก็ต้องจำคุกไปตามนั้น ไม่มีข้อยกเว้น) ซึ่งเป็นการดึงอำนาจไปจากมือของผู้พิพากษาและนำไปยื่นให้อัยการหรือโจกท์ที่มักจะฟ้องด้วยข้อหาที่มี mandatory minimum ทำให้การจำคุกของแต่ละผู้ต้องขังมีระยะเวลายาวนานถึงแม้จะเป็นอาชญากรรมเล็กๆน้อยๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีข้อหาครอบครองยาเสพติดที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรง (Non-violent drug offenders) นอกจากนี้การออก Sentencing Reform Act ในปี 1984 ซึ่งเพิ่ม mandatory minimum ให้กับอีกหลายข้อหา รวมถึงการยกเลิกการทำทัณฑ์บน ก็ยิ่งทำให้จำนวนผู้ต้องขังเพิ่มขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้


    นอกจากนี้ยังมีการออกกฎหมาย Three-Strikes Laws ในปี 1994 โดยภายใต้กฎหมายนี้ หากคุณถูกถูกตัดสินว่ามีความผิดมากกว่า 3 ครั้งขึ้นไป ไม่ว่าคดีใหญ่ คดีเล็ก คุณจะถูกถือว่าไม่สามารถบำบัดได้และต้องถูกจำคุกเป็นระยะเวลายาวนาน อาจจะ20 หรือ 30ปี และบางครั้งก็ตลอดชีวิต รวมไปถึงการออก Truth-in-Sentencing Laws ซึ่งเป็นการยกเลิกการปล่อยตัวก่อนกำหนดของผู้ต้องขังที่มีพฤติกรรมดี

    (https://www.brennancenter.org/our-work/analysis-opinion/sentencing-laws-and-how-they-contribute-mass-incarceration)


    อย่างไรก็ตาม ปัญหามีอยู่ที่การขาดการเยียวยาผู้ต้องขัง โดยเมื่อพ้นจากการจำคุกแล้ว พวกเขามักจะไม่สามารถหางานทำได้เนื่องจากมีประวัติติดตัว ไม่สามารถกู้เงินเรียนมหาวิทยาลัยได้ แถมบางคนก็ไม่สามารถเลือกตั้งได้ ทั้งหมดนี้ยิ่งบีบบังคับให้ผู้ที่ถูกปล่อยตัวต้องก่ออาชญากรรมซ้ำและกลายเป็นวงเวียนอาชญากรรมพร้อมด้วยจำนวนผู้ต้องขังที่พุ่งสูง โดยจากสถิติ จะเห็นได้ว่าชาวแอฟริกันอเมริกันเป็นผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากมาตรการเหล่านี้ โดยส่งผลให้ชายผิวดำมีจำนวนถึง40.2%ของประชากรในเรือนจำ

    (https://www.ssc.wisc.edu/soc/racepoliticsjustice/2016/08/13/race-mass-incarceration-and-bill-clintons-policies/)


    เพียงในเวลาแค่ 20 ปี (1980-2000) จำนวนผู้ต้องขังก็เพิ่มอย่างก้าวกระโดดกว่า 1 ล้าน 5 แสนคน และยิ่งผู้ต้องขังเพิ่มขึ้น จำนวนเรือนจำและเงินที่ใช้ในการดูแลก็เพิ่มขึ้นจนนำไปสู่ธุรกิจเรือนจำ (Prison Industrial Complex / Private Prison Industrial Complex) โดยธุรกิจนี้ประกอบด้วย ตัวเรือนจำเอกชนและสิ่งจำเป็นต่างๆที่ผู้ต้องขังต้องใช้ รวมไปถึงมีการนำผู้ต้องขังไปเป็นแรงงานราคาถูก(มากๆ)ในบริษัทต่างๆด้วย คุ้นๆไหมครับ?

    (https://equaljusticeunderlaw.org/thejusticereport/privateprisonindustrialcomplex)


    เมื่อหนึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดในระบบทุนนิยมคือการสะสมทุนและการสร้างกำไร การลดลงของผู้ต้องขังจึงเป็นเรื่องที่เสียหาย เพราะนั่นหมายถึงการลดลงของกำไรจากการสร้างเรือนจำและสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ดังนั้น บริษัทต่างๆจึงพยายามล็อบบี้ให้เกิดการจับกุมในปริมาณมหาศาล ยกตัวอย่างเช่น ภายในการประชุมของ American Legislative Exchange Council (ALEC) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ประกอบด้วยกลุ่มทุนและส.ส.สายอนุรักษ์นิยม


    โดยผลงานที่สำคัญก็คือการผ่านกฎหมาย Mandatory minimum, Three-Strikes Laws, Truth-in-Sentencing laws รวมไปถึง SB1070 ในรัฐแอริโซนา ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการป้องกันการลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย และให้อำนาจตำรวจในการตรวจค้นตรวจสอบ “ใครก็ได้” ที่มีลักษณะต้องสงสัยว่าจะเป็นผู้ลักลอบเข้าเมือง โดยกฎหมายนี้มีคำวิพากย์วิจารณ์อย่างหนาหูว่าส่งเสริมอคติทางเชื้อชาติและภาพจำทางเชื้อชาติ (Racial Profiling) และกฎหมายนี้ยังทำให้ผู้ถูกกักกันในสถานกักกันคนเข้าเมืองเพิ่มขี้นอย่างมาก

    (https://www.acluaz.org/en/news/sb-1070-2018-what-are-our-rights)

    (https://www.azleg.gov/legtext/49leg/2r/bills/sb1070s.pdf)

    (https://www.thenation.com/article/archive/hidden-history-alec-and-prison-labor/)



    โดยหนึ่งบริษัทที่ได้รับกำไรมหาศาลจาก Mass incarceration และ สถานกักกัน (ได้รับสัมปทานให้ดูแล ซึ่งมีค่ากว่า 11 ล้านดอลลาร์ต่อเดือน) และเคยเป็นส่วนหนึ่งของ ALEC คือ Correction Corporation of America (CCA) CCA เป็นหนึ่งในบริษัทที่ทำกำไรสูงสุดจากธุรกิจเรือนจำเอกชนและสถานกักกัน โดยมีผู้ต้องขังในสังกัดมากกว่า 80000 คน ใน 60 เรือนจำทั่วประเทศ ในปี2013

    (https://www.vice.com/en_us/article/mvpzkp/whos-getting-rich-off-the-prison-industrial-complex)


    อย่างไรก็ตาม CCA ได้ถอนตัวออกจาก ALEC ทันทีหลังจากที่มีข่าวลงในเว็บไซต์ NPR เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการผลักดัน SB1070 และเปลี่ยนชื่อมาเป็น CoreCivic ในปัจจุบัน (https://www.npr.org/2010/11/09/131191523/how-corporate-interests-got-sb-1070-passed)


    แล้วการขังคนเยอะๆแบบนี้มันสามารถลดอาชญากรรมได้จริงไหมนะ? ไม่เลย จากการรายงานของ Vera Institute of Justice การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ต้องขังมีผลแค่กับอาชญากรรมที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน แต่ไม่ได้มีผลอะไรกับการลดลงของอาชญากรรมที่เกี่ยวกับความรุนแรง แถมยังทำให้อาชญากรรมเพิ่มขึ้นด้วยในบางกรณี โดย Vera กล่าวว่าการที่อาชญากรรมที่เกี่ยวกับทรัพย์สินลดลงก็เนื่องจากผู้ต้องขังส่วนใหญ่มักจะถูกจับด้วยข้อหาลักขโมยเล็กๆน้อยๆ และอาชญากรรมที่ไม่ต่อเนื่องอื่นๆ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้ทำให้อาชญากรรมที่เกี่ยวกับความรุนแรงและต่อเนื่องลดลง ในทางกลับกัน การเพิ่มขึ้นของผู้ต้องขังทำให้อาชญากรรมสูงขึ้นในรัฐที่มีอัตราการจำคุกสูงอยู่แล้ว เนื่องจากการจำคุกนั้นส่งผลให้เกิดสายสัมพันธ์ที่แตกแยกของครอบครัว การขาดรายได้ในชุมชน และความเกลียดชังต่อระบบกฎหมาย อีกทั้งการจำคุกนั้นยังสามารถเพิ่มโอกาสการก่ออาชญากรรมของผู้ถูกปล่อยตัวในอนาคตอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีรายงานถึงอาชญากรรมที่ลดลงใน 19 รัฐที่มีอัตราการคุมขังลดลงและหันไปใช้การป้องกันการเกิดอาชญากรรม การคุมขังทางเลือก (Alternative-to-incarceration approach) และการคุมประพฤติแทน เช่นรัฐ New Jersey ที่มีอัตราการเกิดอาชญากรรมลดลงกว่า37% ในช่วงปี 2000-2015 สิ่งนี้ยิ่งตอกย้ำว่าการขังคนมากขึ้นไม่ได้แปลว่าอาชญากรรมจะลดเสมอไป

    (https://www.vera.org/downloads/publications/for-the-record-prison-paradox_02.pdf)

    (https://eji.org/news/study-finds-increased-incarceration-does-not-reduce-crime/)


    โดยระบบ Mass Incarceration ที่ได้รับการพิสูจน์ว่าไม่สามารถลดอาชญากรรมได้แถมอาจยังทำให้มีอาชญากรรมเพิ่มขึ้นอีกต่างหากนั้น มีเงินหมุนเวียนจากรัฐบาลและคนที่เกี่ยวข้องกับคดีในระบบถึง 182 พันล้านดอลลาร์ (โดยไม่รวมกำไรของคุกเอกชนที่สูงถึง 374 ล้านดอลลาร์) แปลงเป็นเงินไทยก็ประมาณ ห้าล้านล้านกว่าบาท ซึ่งนับว่าเป็นราคาที่สูงอย่างเหลือเชื่อเมื่อเทียบกับผลที่ได้รับ

    (https://www.prisonpolicy.org/reports/money.html)


    ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำลดไปถึง 10% รวมถึงความเหลื่อมล้ำทางเชื้อชาติในเรือนจำก็ยังลดลงอีกด้วย อย่างไรก็ตามก็มีการคาดการณ์ว่า อาจจะต้องใช้เวลานับสิบๆปีในการทำให้จำนวนผู้ต้องขังกลับมาสัมพันธ์กับจำนวนอาชญากรรมจริงๆ และอาจจะใช้เวลาถึง100ปีในการทำให้จำนวนผู้ต้องขังผิวดำมีจำนวนเท่ากับผู้ต้องขังผิวขาว


    เนื่องด้วยประสิทธิภาพที่ต่ำและค่าใช้จ่ายที่สูงของระบบเรือนจำ รวมไปถึงการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ถูกคุมขัง ทำให้เกิดการเรียกร้องให้ยกเลิกระบบเรือนจำ (Prison Abolition) โดยแทนที่ด้วยกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ รวมไปถึงการเพิ่มความสนใจและการพัฒนาไปที่ระบบสาธารณสุข การเคหะ โอกาสการสร้างงาน สุขภาพจิต และอื่นๆ เพื่อลดโอกาสการเกิดอาชญากรรม นอกจากเรือนจำแล้ว Abolitionists ยังเรียกร้องให้ยกเลิกระบบตำรวจ ซึ่งเป็นหนึ่งในบ่อเกิดของความรุนแรง และระบอบทุนนิยมอีกด้วย เนื่องจากเห็นว่าทั้งหมดนี้ทำงานร่วมกัน และการเปลี่ยนแปลงยากที่จะเกิดขึ้นหากยังมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่

    (https://www.teenvogue.com/story/what-is-prison-abolition-movement)


    (https://www.8toabolition.com/) นี่คือตัวอย่างของเส้นทางสู่ Prison และ Police abolitionครับ โดยในภาพก็จะประกอบด้วย

    1. การหยุดให้งบตำรวจ

    2. การทำให้ชุมชนปราศจากเจ้าหน้าที่ติดอาวุธ

    3. การนำตำรวจออกจากโรงเรียน

    4. การปล่อยนักโทษจากเรือนจำและคุก

    5. การยกเลิกกฎหมายที่ลงโทษผู้ที่เป็นเหยื่ออาชญากรรม

    6. การลงทุนไปกับการปกครองตนเองของแต่ละชุมชน

    7. การจัดหาที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน

    8.การลงทุนไปกับความเอาใจใส่ในชุมชน


    หมายเหตุ: การยกเลิกระบบเรือนจำ (Prison abolition) ต่างกับ การปฎิรูประบบเรือนจำ (Prison reform) เพราะ Abolitionists เชื่อว่าเรือนจำนั้นสร้างขึ้นมาจากรากฐานของความไม่เท่าเทียม การปฎิรูปจึงไม่สามารถกำจัดความไม่เท่าเทียมนี้ออกไปได้ ต้องเปลี่ยนแบบถอนรากถอนโคนเท่านั้น


    โดยทั้งหมดนี้ก็แสดงให้เห็นว่า ทั้งระบบทาส และ การเหยียดเชื้อชาติ มันไม่เคยหายไปไหน มันเพียงแต่ปรับเปลี่ยนโฉมหน้าให้เข้ากับโลกปัจจุบัน โดยมีระบบทุนนิยมหนุนหลัง และก็ยังคงสร้างเสริมการเลือกปฏิบัติและความรุนแรงในสังคม โดยเฉพาะกับ People of Colour


    สุดท้ายนี้ก็อยากฝาก quote ของ Angela Davis นักปฏิวัติและนักกิจกรรมแอฟริกันอเมริกัน ที่มุ่งเน้นเรื่องการปฏิวัติสังคมรวมไปถึงเรือนจำไว้ให้อ่านกันครับ


    “เรือนจำนั้นปลดปล่อยเราจากความรับผิดชอบต่อการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังในการแก้ปัญหาในสังคมของเรา โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดจากการเหยียดเชื้อชาติและยิ่งไปกว่านั้น ระบบทุนนิยมโลก” - Angela Davis (Are Prisons Obsolete?)


    Reference

    - “13th” by Ava DuVernay (Netflix)

    - “Are Prison Obsolete?” by Angela Y. Davis

    - http://www.thailaws.com/law/thaiacts/e_constitution012.pdf

    - https://www.abhmuseum.org/voting-rights-for-blacks-and-poor-whites-in-the-jim-crow-south/

    - https://www.aclu.org/issues/smart-justice/mass-incarceration

    - https://www.acluaz.org/en/news/sb-1070-2018-what-are-our-rights

    - https://www.azleg.gov/legtext/49leg/2r/bills/sb1070s.pdf

    - https://www.brennancenter.org/our-work/analysis-opinion/history-mass-incarceration

    - https://www.brennancenter.org/our-work/analysis-opinion/sentencing-laws-and-how-they-contribute-mass-incarceration

    - https://www.britannica.com/event/Plessy-v-Ferguson-1896

    - https://www.britannica.com/event/Reconstruction-United-States-history

    - https://www.britannica.com/topic/Civil-Rights-Act-United-States-1875

    - https://www.edition.cnn.com/2016/03/23/politics/john-ehrlichman-richard-nixon-drug-war-blacks-hippie/index.html

    - https://www.eji.org/news/study-finds-increased-incarceration-does-not-reduce-crime/

    - https://www.equaljusticeunderlaw.org/thejusticereport/privateprisonindustrialcomplex

    - https://www.guides.ll.georgetown.edu/c.php?g=592919&p=4172706

    - https://www.npr.org/2010/11/09/131191523/how-corporate-interests-got-sb-1070-passed

    - https://www.prisonpolicy.org/reports/money.html

    - https://www.ssc.wisc.edu/soc/racepoliticsjustice/2016/08/13/race-mass-incarceration-and-bill-clintons-policies/

    - https://www.teenvogue.com/story/what-is-prison-abolition-movement

    - https://www.thenation.com/article/archive/hidden-history-alec-and-prison-labor/

    - https://www.thoughtco.com/convict-leasing-4160457

    - https://www.twitter.com/Femmefeministe/status/1269672532157837313?s=20

    - https://www.vera.org/downloads/publications/for-the-record-prison-paradox_02.pdf

    - https://www.vice.com/en_us/article/mvpzkp/whos-getting-rich-off-the-prison-industrial-complex

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in