เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
มนุษย์กรุงเทพฯSALMONBOOKS
คำนำ





  • คำนำสำนักพิมพ์

    ทุกทีที่อยู่ท่ามกลางผู้คน แหล่งชุมชน ย่านการท่องเที่ยว ตลาดนัด บนรถสาธารณะ สวนสุขภาพ งานแสดงศิลปะ หรือกระทั่งนั่งอยู่ตรงหน้าบ้านแล้วมีใครสักคนเดินผ่าน

    บ่อยครั้งที่เราอยากรู้ว่า ‘เขามาจากไหน?’

    ...

    ต่อให้ใครต่อใครบอกว่าชีวิตคนเรามันช่างสั้น แต่เราก็ต่างรู้ว่าที่เราเดินผ่านมา ‘จนวันนี้’ ไม่ใช่ระยะทางใกล้ๆ เราประสบเรื่องราวมานับไม่ถ้วน บ้างดี บ้างร้าย บางอย่างยังจดจำ บางอย่าง
    หล่นหายไป ด้วยความหลากหลายส่งผลให้ความรู้สึกนึกคิดของเราที่มีต่อทุกสิ่งก็ต่างกันไปในแต่ละคน

    พูดอย่างเชยๆ นี่คือเสน่ห์คือชีวิต มนุษย์มีสีสันด้วยความแตกต่าง บางคนสดใส บางคนหม่นหมอง ในนั้นมีทั้งคนพอใจและคนที่เกลียดชังสีของตัวเอง เราไม่เคยเหมือนกัน

    เราจึงทิ้งคำถามให้กันและกันอยู่เสมอว่า เป็นใครมาจากไหน มีเรื่องราวภูมิหลังยังไง

    เมื่อเขาคนนั้นไม่ดัง ไม่ได้มีชื่อเสียงถึงขั้นมีคนไปสืบประวัติหรือจับมาสัมภาษณ์ เผยแพร่ให้คนส่วนใหญ่ได้รู้ถึงแนวคิด ชีวิตเบื้องหลัง แต่คนที่เราเห็นเป็นส่วนมากก็คือคนทั่วไป สวนกันไปมา
    ในฐานะปกติชน เป็นคนส่วนใหญ่ที่มีชีวิตสุดธรรมดา

    แต่อย่างที่บอกเอาไว้ตั้งแต่ต้น เราต่างรู้ว่าที่เราทุกคนเดินผ่านมานั้นไม่ใช่ระยะทางใกล้ๆ เราต่างมีเรื่องเล่าเป็นของตัวเองด้วยกันทั้งนั้น

    นั่นคือเสน่ห์ของชีวิต ชีวิตที่มีความหลากหลาย...

    เพจเฟซบุ๊ค ‘มนุษย์กรุงเทพฯ’ รวบรวมเรื่องราวที่เป็นเรื่องเล่าจากคนที่ ขวัญชาย ดำรงค์ขวัญ ผู้เป็นเจ้าของเพจได้พบเจอและพูดคุย ตั้งคำถาม ฟังคำตอบ สะท้อนออกเป็นเรื่องราวเฉพาะคน คำถามธรรมดาๆ ถูกตอบด้วย ‘คนธรรมดา’ ที่สุดกลายเป็นเรื่องของคนกว่าร้อยเจ็ดสิบชีวิตที่ทำให้เราต้องสะท้าน ตรวจสอบชีวิตของตัวเองย้อนหลัง ตรงไหนที่ยังชัดเจนแจ่มแจ้ง อะไรเป็นความทรงจำบาดลึกที่เรายังไม่ลืม ไปจนถึงปรึกษากับตัวตนว่าทุกวันนี้เราคือใคร จุดที่เรากำลังยืนนั้นอยู่ตรงไหน เราเข้าใจความเป็นไปของโลกอย่างไร เป็นบทสัมภาษณ์ขนาดไม่ยาว แต่ทำให้เราได้อยู่กับการถามและตอบคำถามกับตัวเองเนิ่นนาน

    ไม่ใช่ระยะทางใกล้ๆ ที่เราเดินทางมา แต่ละหมุดไมล์ล้วนหลากหลายไปด้วยเรื่องราวและความรู้สึก

    ความสวยงามของโลกคือสีสันระหว่างทางเหล่านั้น

    สีของเธอ สีของเขา สีของเรา เป็นเสน่ห์ของมนุษย์

    อันเป็นเสน่ห์เดียวกันกับหนังสือเล่มนี้


    สำนักพิมพ์แซลมอน


  • คำนิยม


    ผมมีโอกาสพบคุณขวัญชายครั้งแรกที่สวนลุมพินีตรงลานตะวันยิ้ม หลังเสร็จงาน ‘วิ่งด้วยกัน’ ที่ผมเป็นอาสาสมัคร Guide Runner ให้กับน้องๆ ที่มีปัญหาทางการมองเห็น การได้ยิน หรือต้องนั่งรถเข็น พาน้องๆ วิ่งออกกำลังกายรอบสวนลุมฯ

    ตอนที่ให้สัมภาษณ์คุณขวัญชายในวันนั้น ผมก็งงๆ เพราะไม่เคยรู้จักคุณขวัญชาย ไม่เคยอ่านเพจเฟซบุ๊ค มนุษย์กรุงเทพฯ ไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าจะสัมภาษณ์ไปทำไม

    วันนั้น ผมเล่าชีวิตส่วนตัวเกี่ยวกับลูกชายที่หูหนวกตั้งแต่เกิด การพาไปผ่าตัด การดูแล สัมภาษณ์เสร็จก็ยังหวั่นใจเหมือนการให้สัมภาษณ์หลายๆ ครั้ง ที่เราไม่รู้ว่าคนเขียนเขาจะเขียนมากไป น้อยไป จะสื่อสิ่งที่เราอยากบอกได้ครบถ้วนไหม โดยเฉพาะเรื่องที่เป็นส่วนตัว กลัวว่าคนอ่านจะหาว่าเราดราม่าเกิน

    จากนั้นผมก็ลืมเรื่องคุณขวัญชายไป คุณขวัญชายส่งเรื่องที่เขียนมาให้ ผมก็ไม่ได้เปิดอ่าน เพราะอ่านไปก็คงจะแก้อะไรไม่ได้แล้ว จนกระทั่งเริ่มมีเพื่อนหลายๆ คน มาทักว่าได้อ่านเรื่องของลูกชายในเพจหนึ่ง ชอบ เป็นกำลังใจให้นะ ผมเลยเข้าไปอ่านที่ผมให้สัมภาษณ์ไว้

    ต้องบอกว่าคุณขวัญชายถ่ายทอดข้อความที่ผมให้สัมภาษณ์ได้ดีมากๆ ตรงไปตรงมา ครบถ้วน อ่านแล้วเหมือนกับที่เราคิด เรารู้สึก และเราเล่าให้เขาฟังจริงๆ แถมบทความนี้ยังทำให้มีคนจำนวนมากให้กำลังใจผมมาโดยตลอด

    ผมคิดถึงสิ่งที่คุณขวัญชายทำ สงสัยว่าเขาจะทำเพจ ‘มนุษย์กรุงเทพฯ’ ขึ้นมาทำไม เขาจะเล่าเรื่องชีวิตคนทั่วไปทำไม ผมเชื่อว่าการจะทำอะไรให้สำเร็จและทำได้ดีนั้น สิ่งสำคัญที่เป็นตัวผลักดันคือเราต้องมีแพสชั่นกับสิ่งที่ทำ มันจะต้องเป็นสิ่งที่คล้ายกับคำพูดของสตีฟ จอบส์ ที่ว่า “Makes our hearts sing.” มันเป็นสิ่งที่ทำให้หัวใจเราร้องเพลงได้ มันเป็นสิ่งที่ทำให้เราอยากลุกขึ้นจากเตียงตอนเช้าและออกไปทำสิ่งนั้น

    สำหรับคุณขวัญชาย ผมคิดว่าแพสชั่นของเขาคือการได้เล่าเรื่องชีวิตของคนธรรมดาที่เราได้เห็น ได้เจอ แต่เราอาจจะไม่เคยได้รับรู้ถึงประสบการณ์หรือมุมมองของชีวิตคนธรรมดาเหล่านี้

    ผมรู้สึกว่าคุณขวัญชายกับตัวผมเอง เราแชร์คุณค่า (Value) บางอย่างร่วมกัน สำหรับผมแล้วแพสชั่นของผมคือ การที่ได้ทำ อะไรให้ชีวิตคนอื่นดีขึ้น แม้ว่าจะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม ผมอยากตื่นตอนเช้าและออกไปช่วยแก้ปัญหาการเดินทางให้คนนั่งรถเมล์ ออกไปถามถึงปัญหาของลูกค้าหรือพนักงานและช่วยแก้ปัญหาให้พวกเขา

    ถึงแม้ว่าแพสชั่นของผมกับคุณขวัญชายจะแตกต่างกันในรายละเอียด แต่ผมว่าลึกๆ แล้ว มันสะท้อนคุณค่าสำคัญบางอย่างที่เราเห็นตรงกัน

    ชีวิตไม่ง่าย โดยเฉพาะคนที่ด้อยโอกาสในสังคม

    ชีวิตทุกคนมีปัญหาทั้งนั้น หน้าที่สำคัญในชีวิตคือการดูแลตัวเองและครอบครัวให้ดีที่สุด

    ชีวิตทุกคนมีค่าเหมือนกันหมด ไม่มีใครสำคัญกว่าใคร

    ผมคิดว่าคุณค่าเหล่านี้ น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของแรงบันดาลใจในแพสชั่นของคุณขวัญชาย และก่อให้เกิดหนังสือดีๆ เล่มนี้ขึ้นมา

    ในสังคมที่เราแทบจะไม่รู้จักคนรอบข้าง ในชีวิตที่ปัญหาของเราเป็นเรื่องที่ใหญ่ และสำคัญกว่าปัญหาของคนอื่นๆ ทั้งหมด ผมคิดว่าหนังสือเล่มนี้อาจจะช่วยเปิดมุมมองให้เราเห็นถึงความสำคัญของชีวิต และเมื่อเราเริ่มคิดถึง เข้าใจถึงชีวิต ปัญหา มุมมองของคนอื่นๆ ในสังคม ผมเชื่อว่าสังคมเราน่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน


    ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

  • คำนำผู้เขียน

    เกือบสามปีก่อน

    จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นง่ายมาก มิตรสหายท่านหนึ่งแนะนำให้รู้จักเพจเฟซบุ๊คที่ชื่อว่า ‘Humans of New York’

    ผมเข้าไปดู พอได้อ่าน (ออกบ้างไม่ออกบ้าง) เนื้อหาว่าด้วยเรื่องราวชีวิตคนทั่วๆ ไป ความคิดแรกคือ ‘เฮ้ย น่าสนใจ’ ความคิดต่อมา ผมอยากทำเนื้อหาแบบนั้นบ้าง ชั่วอึดใจ ความอยากเปลี่ยนเป็นความลังเล เพราะแม้โดยอาชีพจะอยู่กับการทำงานเขียนและเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์มาตลอด แต่พอจินตนาการว่าต้องลงพื้นที่โดยปราศจากองค์กรสังกัด และตั้งคำถามโดยไม่รู้ภูมิหลังมาก่อน คงเป็นงานที่ยากแน่ๆ โดยเฉพาะกับเรื่องส่วนตัวลึกๆ ที่น้อยคนจะอยากเปิดใจ

    ทำ ไม่ทำ ทำ ไม่ทำ คิดวนแบบนั้นไม่กี่วัน เดือนมิถุนายน 2557 ผมตัดสินใจสร้างเพจชื่อ ‘มนุษย์กรุงเทพฯ’ ขึ้นมาแบบงงๆ (ถ้าคิดอย่างถี่ถ้วนอาจตัดสินใจว่าไม่ทำแล้วก็ได้) และเริ่มโพสต์แรกในไม่กี่วันต่อมา

    เกือบสามปีที่ผ่านมา

    สำหรับคนไม่รู้จัก...

    เพจ ‘Humans of New York’ เกิดขึ้นจาก Brandon Stanton อดีตคนทำงานสายเศรษฐศาสตร์ที่เปลี่ยนมาสะพายกล้องออกบันทึกภาพผู้คน สร้างบทสนทนา และนำมาถ่ายทอดไว้ในเพจ สิ่งที่เขาทำตั้งแต่ปี 2553 เปลี่ยนการถ่ายภาพ Street Portrait ที่มีมากมายในโลกออนไลน์ให้มีชีวิต และนำเสนอเรื่องราวของคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสีผิว ทุกสถานะได้อย่างมีพลัง ขณะที่ผมกำลังกดแป้นพิมพ์ เพจนี้มีคนติดตามกว่าสิบแปดล้านคน

    บางคนเห็นความเหมือนของ ‘มนุษย์กรุงเทพฯ’ และ ‘Humans of New York’ ก็เกิดความสงสัย ผมไม่เคยตอบโดยใช้คำว่า ‘แรงบันดาลใจ’ แต่มักใช้คำว่า ‘ลอก’ เพื่อพูดถึงจุดเริ่มต้น
    ของเพจ

    ใช่ ผมลอกวิธีการนำเสนอ (โดยไม่มองเป็นเรื่องน่าอายแต่อย่างใด)

    เดิมทีผมตั้งใจหาทีมมาทำด้วย เนื่องจากตัวเองไร้ทักษะในการถ่ายภาพ คิดไว้ว่าผมสัมภาษณ์ อีกคนถ่ายภาพ และอีกคนช่วยเกี่ยวกับงานกราฟิกต่างๆ (ภาพโปรไฟล์และคัฟเวอร์โฟโต้) หลังจากทดลองอยู่ช่วงสั้นๆ ปรากฏว่าจังหวะการทำงานค่อนข้างติดขัด หลายการสัมภาษณ์เกิดขึ้นโดยไม่ได้วางแผน ผมเลยตัดสินใจนำกล้องคอมแพ็กต์บ้านๆ มาพกติดตัวไว้ และค่อยๆ ทำเท่าที่ทำได้ โดยมีเธอ (มิตรสหายผู้ชักชวนทำเพจนั่นแหละ) เป็นเพื่อนร่วมทาง พร้อมกับช่วยเหลือสารพัดอย่าง ทั้งในด้านกราฟิก คำปรึกษา การรับฟัง และกำลังใจ

    ช่วงแรกๆ ผมถูกปฏิเสธเยอะมาก (ทั้งปฏิเสธเพราะเขินอาย ส่ายหัวไม่สนใจ วิ่งหนีโดยไว ไปจนถึงตะโกนผลักไสไล่ส่ง) หลังจากทำซ้ำๆ ก็เริ่มรู้ว่าควรเข้าหาด้วยท่าทีอย่างไร และคนแบบไหนน่าจะยินดีให้สัมภาษณ์

    ผมเคยคิดว่าเขียนแค่สั้นๆ คงไม่ยากหรอก ทำไปสักพักเริ่มรู้ว่าเข้าใจผิด เรื่องเล่าที่ดีไม่เกี่ยวกับปริมาณคำพูดและไม่ใช่เพราะลีลาทางภาษา แต่อยู่ที่ผู้ถามและผู้ตอบจะพาตัวเองไปสู่บรรยากาศการเปิดใจได้มากแค่ไหน

    ผมเริ่มจากสุ่มคนในที่สาธารณะ การไม่รู้ล่วงหน้าว่าคนตรงหน้าเป็นเจ้าของเรื่องราวแบบไหน ทำให้การนำเสนอมีข้อจำกัดอยู่บ้าง หากอยากนำเสนอประเด็นไหนเป็นพิเศษ บางครั้งผมเปลี่ยนมาเป็นการนัดสัมภาษณ์ ทั้งกับคนที่ไม่รู้จักมาก่อน เพื่อนของเพื่อน และคนที่รู้จักกันเป็นการส่วนตัว

    หลังจากผ่านไปสักพักใหญ่ๆ ผมลงทุนซื้อกล้องคุณภาพดีมาใช้งาน (แต่ฝีมือก็น่าจะไม่ต่างจากเดิมเท่าไหร่)

    การสัมภาษณ์คนหลายร้อยคนไม่ใช่งานง่าย ผมต้องลงพื้นที่ไปพูดคุย ถ่ายภาพ ถอดเทป เรียบเรียง และโพสต์ด้วยตัวเอง (ยิ่งเพจที่ลอกมาคุณภาพสูงขนาดนั้น ยิ่งต้องเรียนรู้และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ) แม้การทำอะไรด้วยตัวเองจะมีความคล่องตัว แต่มันก็นำพาความโดดเดี่ยวมาเยือนอยู่เป็นระยะ จนบางครั้งบางคราวผมจวนเจียนจะถอดใจ

    ย้อนกลับไปวันแรกๆ เนื่องจากเป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด ผมเลยคิดว่าตัวเองรู้จักเมืองแห่งนี้พอสมควร ผมรู้ว่ากรุงเทพฯ ไม่ใช่จังหวัด แต่เป็นเขตการปกครองพิเศษ กรุงเทพฯ ขึ้นชื่อเรื่องการจราจรคับคั่ง หากต้องเดินทางในเวลาเร่งด่วน คุณต้องเผื่อเวลาในระดับไปจังหวัดข้างเคียงได้ กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เห็นคุณค่าของสายไฟมากกว่าต้นไม้ใหญ่ กรุงเทพฯ มีประชากรหลายล้านคนเข้ามาแสวงหาโอกาส…เพื่อชีวิตที่ดีกว่า ฯลฯ

    การได้พูดคุยกับ ‘มนุษย์กรุงเทพฯ’ ทีละคนเป็นเวลาเกือบสามปี ทำให้ผมพบว่า แท้จริงตัวเองรู้จักกรุงเทพฯ น้อยมาก บทสนทนาอันหลากหลายค่อยๆ ต่อเติมความเข้าใจที่มีอยู่เดิมให้รอบด้าน เปลี่ยนแปลงบางเรื่องที่เคยคิดไปเอง โดยเฉพาะการได้รับรู้ตัวตนของ ‘มนุษย์กรุงเทพฯ’ อย่างลึกซึ้งไปยังอารมณ์ความรู้สึก

    กรุงเทพฯ มีมิติขึ้นมาจากหลากหลาย ‘มนุษย์กรุงเทพฯ’ ที่ผมได้สนทนาด้วย

    ที่เห็นและเป็นอยู่ในกรุงเทพฯ สะท้อนสัจธรรมอย่างหนึ่ง นั่นคือ ความแตกต่างจำนวนมากไม่ใช่เรื่องของถูกหรือผิด เพราะ ‘มนุษย์’ นั้นมีความหลากหลายเกินกว่าใช้นิยามความดีงามแบบเดียวมากำกับได้อย่างครอบคลุม แม้ทำไม่ได้ตลอดเวลา ผมมองผู้คนและเหตุการณ์ต่างๆ อย่างตัดสินถูก-ผิดน้อยลง และเปลี่ยนมาให้เวลากับการรับฟังและรับรู้รายละเอียดของแต่ละบุคคลอย่างที่เขาเป็น—ไม่ใช่อย่างที่ผมอยากให้เป็น

    นั่นแหละครับ นอกจากผู้อ่านจะได้อ่านเรื่องราวในเพจ รู้ตัวอีกที ผมเองเกิดการเปลี่ยนแปลงไม่น้อยเลย

    ตอนเริ่มทำเพจได้ไม่นาน ผมกับเธอคุยกัน แล้วเขียนเป้าหมายไว้ในหน้า About ของเพจว่า

    1. เราสนใจออกไปเรียนรู้ชีวิตของผู้คนผ่านบทสนทนาอันหลากหลาย และมันคงจะดีไม่น้อย หากสามารถนำมาถ่ายทอดให้คนทั่วไปได้รับรู้ด้วย

    2. จากการพูดคุยกับผู้คนหลากหลาย ความจริงประการหนึ่งก็คือ ทุกคนมีความน่าสนใจในแบบตัวเอง เรื่องเล่าของคนธรรมดาๆ สามารถมีพลังได้ไม่ต่างจากบุคคลมีชื่อเสียง หากนำถ้อยคำนั้นมาขยายให้กว้างขึ้น บางทีคนรอบๆ ตัวที่เราเคยละเลยอาจเปลี่ยนเป็นคนสำคัญขึ้นมา

    3. จะด้วยที่มาอย่างไรก็ตาม เรารู้สึกว่าเดี๋ยวนี้ผู้คนฟังกันน้อยลง เมื่อฟังกันน้อยลง เราจึงเผลอเข้าใจว่าสิ่งที่ตัวเองคิดถูกต้องที่สุด ถ้าพื้นที่นี้จะจุดประกายให้คนฟังกันมากขึ้น ยอมรับความคิดเห็นที่หลากหลายได้มากกว่าเดิม เราคงยินดีเป็นที่สุด

    กลับมาอ่านอีกครั้ง ผมว่าความพยายามของตัวเองประสบความสำเร็จ อาจไม่ใช่ทั้งหมด แต่บางโพสต์เกิดการรับรู้เรื่องราวใหม่ๆ บางโพสต์เกิดการถกเถียงแลกเปลี่ยน บางโพสต์กระตุ้นให้คนอ่านไปพูดคุยกับคนรอบๆ ตัว และบางโพสต์มีสื่อกระแสหลักนำไปสื่อสารต่อ

    มองย้อนกลับไปวันแรกที่เคยลังเล พื้นที่แห่งนี้มาไกลมากๆ

    แน่นอน ผมโคตรดีใจ

    วันนี้

    การส่งต่อข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดียทั้งฟรี ง่าย และทรงพลังหากทำได้โดนใจ เรื่องเล่าต่างๆ จะแพร่กระจายไปในวงกว้าง บางเรื่องเล่าของ ‘มนุษย์กรุงเทพฯ’ มีคนกดแชร์หลายร้อย กดไลก์หลายพัน และถูกอ่านหลายหมื่นถึงหลายแสน ซึ่งในฐานะคนทำงาน ผมพอใจมากๆ กับการใช้เครื่องมือนี้

    เมื่อเนื้อหาบางส่วนของเพจเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นหนังสือ ในฐานะคนทำงาน นับเป็นความสำเร็จอีกขั้น ที่เรื่องเล่าจะออกเดินทางไปสนทนากับผู้อ่านใหม่ๆ ด้วยวิธีการสื่อสารใหม่ๆ

    การสื่อสารผ่านเฟซบุ๊คมีวิธีการอ่านแบบแยกทีละเรื่อง ขณะที่หนังสือมีการรวบรวม คัดเลือก และร้อยเรียง คนอ่านจึงค่อยๆ ละเลียด เชื่อมโยง และแลกเปลี่ยน (ในใจ) ไปกับเหล่ามนุษย์กรุงเทพฯ แต่ละคน

    ผมคาดเดา (เพราะไม่เคยอ่านแบบรวดเดียวเช่นกัน) ว่าคงสร้างการรับรู้ที่ต่างออกไป

    เมื่อหนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ พร้อมๆ กับทุกท่านที่กำลังจะเปิดอ่าน ผมคงได้รู้ว่าที่คาดเดาไว้จะเป็นจริงหรือไม่

    ยินดีต้อนรับทุกท่าน

    สู่ ‘มนุษย์กรุงเทพฯ’ พื้นที่เรียนรู้ความหลากหลายของผู้คน


    ขวัญชาย ดำรงค์ขวัญ
    มนุษย์กรุงเทพฯ
    (facebook.com/bkkhumans)
    มกราคม 2560

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in