เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
หนังหนึ่งคืน | OnenightCinemaOnenightz.
Green Book : บทสนทนาบันดาลใจในระหว่างทาง
  • Green Book (2018) ??‍???
    Director : Peter Ferrelly
    Genres : Biography ,Drama ,Music ,Comedy
    My Score : 9.0 / 10
    .
    - Green Book หนังรางวัลน้ำดี ที่คว้ารางวัลออสการ์ในปี 2019 มา 3 สาขา คือ สาขาบทภาพยนต์ยอดเยี่ยม สาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม และสาขาที่สำคัญที่สุดนั่นคือ สาขาภาพยนต์ยอดเยี่ยมแห่งปี
    - หนังเรื่องนี้ จัดอยู่ในประเภท "หนังคู่ซี้นักเดินทาง" อ้างอิงมาจากชีวิตจริงระหว่างสองเพื่อนรัก นักเปียโนผิวดำชื่อดังนามว่า "Don Shirley" กับ คนขับรถชาวอเมริกันเชื้อสายอิตาเลียนนามว่า "Tony Valleronga" ที่ออกเดินทางร่วมกันเพื่อทัวร์คอนเสิร์ตในรัฐทางตอนใต้ของอเมริกาช่วงปี 1960s ที่ทั้งสองต้องรับมือพร้อมกับคอยปรับมุมมองต่อความขัดแย้งเรื่องสีผิวและเชื้อชาติที่เผชิญตลอดการเดินทาง
    - โดยโทนของหนัง มีเนื้อหาในเชิงบวก สนุกและขบขัน แต่ความขบขันนี้ ถูกนำเสนอออกมาเพื่ออำพรางประเด็นอันแท้จริงของหนังที่ต้องการนำเสนอ จนทำให้คนดูแทบจะลืมไปเลยว่าหนังมีประเด็นตึงเครียดและหนักหน่วงขนาดไหน โดยหนังสามารถสอดแทรกแง่คิดไว้ในความสนุกได้อย่างแนบเนียน
    - โดยสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นมากๆ ของหนังเรื่องนี้ ก็คือบทภาพยนต์ ซึ่งมีความเฉียบคม คมคาย เรียบง่ายแต่ทรงพลัง และสามารถคว้ารางวัลออสการ์จากสาขานี้มาได้ในปี 2019 ทำให้ผมอยากหยิบยกบทสนทนา วลี คำคมและประโยคเด่นๆภายในหนัง นำมาตีความถึงประเด็นแฝงที่สอดแทรกอยู่ในวลีนั้น
    .
    ℹ เนื้อหาหลังจากนี้มีการสปอย ใครยังไม่เคยดู ไปดูกันก่อน เพื่อความดีต่อใจระหว่างการอ่าน
    .


    ? Quote Analysis : เนื้อหาในคำคม

    ▫️"I'm not just hiring a chauffeur. I need someone who can handle trouble. What experience do you have?" - "ผมไม่ได้จ้างแค่คนขับรถ ผมต้องการคนที่รับมือกับปัญหาได้ แล้วคุณมีประสบการณ์อะไรบ้าง?"

    - ขอเปิดหัวข้อด้วยประโยคนี้ก่อนเลย ประโยคนี้เกิดขึ้นในฉากที่ Tony ได้ไปที่โรงละคร เพื่อไปสมัครงานเป็นคนขับรถให้กับ Doctor ตามคำแนะนำของเพื่อนมาเฟียคนหนึ่ง และก็พบว่า ผู้ว่าจ้างของตนนั้น ไม่ใช่หมอตามที่เขาเข้าใจ แต่กลับเป็นนักดนตรีผีดำดูสุขุมคนหนึ่งชื่อว่า Dr. Shirley
    - ประโยคสนทนาภายในฉากจะพูดถึงข้อตกลงของตัวละครทั้งสอง Dr. Shirley ต้องการออกทัวร์คอนเสิร์ตเป็นเวลาเกือบ 2 เดือนช่วงสิ้นปี โดยจะลงไปทางตอนใต้ของประเทศอเมริกา ซึ่งดอนต้องการตัว Tony อย่างมากเพราะได้ยินกิตติศัพท์ถึงการจัดการปัญหาได้อย่างชาญฉลาด ที่เมื่อตัวดอนถามหาคนขับรถที่ไหน ชื่อของโทนี่ก็มักจะถูกพูดถึงอยู่เสมอ ดอนได้อธิบายว่าเขาไม่ได้ต้องการแค่คนขับรถ แต่ต้องการคนดูแลเรื่องกำหนดการ เป็นผู้ช่วย คนรับใช้ตลอดการเดินทาง และย้ำอยู่อย่างหนึ่งเลยคือ ...someone who can handle trouble "คนที่คอยจัดการปัญหาได้"
    - ปัญหาที่ตัวละคร Dr. Shirley กังวลนั้น คือปัญหาความไม่เสมอภาคของชาติพันธุ์ ซึ่งบริบทในหนัง พูดถึงช่วงปีค.ศ 1962 ซึ่งเป็นช่วงปีที่อเมริกามีปัญหาเรื่องการเหยียดสีผิว และมีกฏหมายแบ่งแยกทางสีผิวอย่างชัดเจนและได้รับการยอมรับอยู่ ปัญหานี้เกิดขึ้นอย่างหนักโดยเฉพาะกลุ่มคนผิวดำ ที่ทางตอนใต้ของประเทศ กลุ่มคนพวกนี้เป็นได้แค่ชนชั้นแรงงาน รับใช้กลุ่มคนผิวขาวผู้มีอันจะกิน
    - ปัญหานี้หนักจนขนาดมีการออกหนังสือชื่อว่า "Green Book" ตามชื่อเรื่อง โดยหนังสือเล่มนี้มีชื่อเต็มว่า "The Negro Motorist Geen Book" เป็นคู่มือเดินทางของคนผิวดำ ซึ่งใช้ในอเมริกาช่วงปีค.ศ 1936 - 1966 ทำให้ร้านค้าและโรงแรมหลายแห่งมีการจำกัดห้ามคนผิวดำเข้าใช้บริการ หากคนผิวดำคนไหนต้องการเดินทางไปยังรัฐที่มีการบังคับใช้กฏหมายแบ่งแยกสีผิว พวกเขาจำเป็นต้องมีคู่มือนี้ช่วยวางแผนการเดินทาง เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหา
    - ทำให้ Dr. Shirley ซึ่งเป็นคนผิวดำ และข้อจำกัดในการเดินทาง ที่ต้องการแค่คนขับเพียงคนเดียว เพื่ออำนวยความสะดวกตลอดการเดินทาง ทำให้ดอนต้องค้นหาคนขับรถ ที่เขาจะไว้ใจได้ว่าจะสามารถตัดการปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นได้อยู่หมัด เพื่อให้เขาทัวร์คอนเสิร์ตครบทุกแห่งตามกำหนดของสัญญาได้ และ Tony คือคนเดียวที่เขาคิดว่าเหมาะสมกับตำแหน่งนี้ที่สุด ซึ่งพอฉากนี้จบ ตัว Tony เองก็ยังไม่ได้ตอบตกลงในทันที ถึงแม้ดอนจะเสนอค่าจ้างที่ทำให้เขาตาลุกวาว แต่เขาเองก็เป็นคนที่เหยียดสีผิวเช่นกัน รวมถึงเขาต้องการเป็นแค่คนขับรถ ไม่ต้องการเป็นคนรับใช้ ทำให้ดอนต้องหาวิธีดึงตัวโทนี่มาร่วมงานให้ได้ในฉากต่อๆไป
    .
    ▫️"You never win with violence. You only win when you maintain your dignity" - "คุณไม่มีทางชนะด้วยความรุนแรง คุณจะชนะได้ก็ต่อเมื่อรักษาเกียรติเอาไว้"

    - คำคมของหนังเรื่องนี้ ที่เห็นหลายๆเพจหยิบยกนำมาพูดบ่อยที่สุด คงไม่พ้นคำพูดนี้ของ Dr. Shirley
    - คำพูดประโยคนี้ เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ระหว่างการเดินทาง ที่ทั้งสองพลัดหลงเข้าไปใน "Sundown Towns" พื้นที่ที่ห้ามคนผิวดำสัญจรเข้าไปหลังตะวันตกดิน จนทำให้ทั้งสองโดนตำรวจเรียกให้จอดรถ ระหว่างการตรวจค้นรถ ตำรวจซึ่งเห็น Dr. Shirley ก็มีอคติทันที ตำรวจสอบถาม Tony ว่าทำไมต้องขับรถให้คนผิวดำ เขาก็ตอบว่าดอนคือนายจ้างของเขา ตำรวจก็ไม่เข้าใจและคิดว่าเป็นสิ่งผิดปกติ ตำรวจจึงขอดูใบขับขี่ของเขา และสงสัยถึงนามสกุล Valleronga ของเขาว่าคือนามสกุลของสัญชาติไหน? ซึ่งพอตำรวจรู้ว่าเขาคือคนอิตาเลียน ก็พูดเหยียดเขาว่าไม่ต่างกับพวกคนผิวดำนี่หว่า ทำให้เขาฟิวส์ขาด ต่อยตำรวจไปหนึ่งหมัด ทำให้เรื่องจบที่ตำรวจคุมตัวทั้งสองเข้าคุกทันที
    - Dr. Shirley ไม่เข้าใจว่า คนที่ต่อยตำรวจคือ Tony แล้วเหตุใดเขา ผู้ซึ่งไม่กระทำความผิดใดๆเลย ถึงต้องเข้าคุกด้วย ตำรวจก็พูดจาถากถางว่า เขาผิดเพราะอาทิตย์มันตกไปแล้ว ดอนไม่สามารถทำอะไรได้ แล้วหันมาพูดกับ Tony ว่าให้โทนี่ลองมองไปที่ตำรวจที่มีความสุขแค่ไหนที่ลากตัวพวกเขาทั้งสองเข้าคุกได้ แต่ทั้งเขาและโทนี่ต้องมานั่งทุกข์มองพวกตำรวจชั้นเลวสังสรรค์อย่างมีความสุขในคุกแห่งนี้ เหตุแค่เพราะโทนี่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ไว้ได้
    - Dr. Shirley จึงได้พูดประโยคเด็ดประโยคนี้ขึ้นมา เพื่อให้ Tony ตระหนักว่าการใช้กำลังไม่ใช่ทางออกเสมอไป เราจะเห็นมาตลอดเรื่องว่าโทนี่จะใช้กำลังแก้ปัญหาเสมอ ตั้งแต่ฉากเปิดเรื่อง ที่เขาคว้าคนทะเลาะวิวาทในคลับ ไปซัดข้างนอก จนถึงการแก้ปัญหาให้กับดอน ก็จะออกแนวการขู่ การยัดเงิน เพื่อแก้ปัญหาทุกครั้ง และตัวดอนเองก็มองว่าการกระทำเหล่านี้ทำให้เสียเกียรติ หากโทนี่ใจเย็นกว่านี้ ใช้สมองคิดอย่างช้าๆ แทนหมัดข้างเดียว จุดจบของปัญหาคงไม่เป็นเช่นนี้ ดังนั้น คำพูดนี้ของดอน จึงเป็นเครื่องเตือนใจให้แก่โทนี่ และใครหลายๆคนที่ดูได้เป็นอย่างดี
    .
    ▫️"How does he smile and shake their hands like that?" - "เขายิ้มและจับมือกับพวกนี้ได้ไงกัน?"
    ▫️"So if I'm not black enough, and if I'm not white enough, and if I'm not man enough, then tell me Tony, what am I?" - "ถ้าผมยังดำไม่พอ ยังขาวไม่พอ ยังเป็นลูกผู้ชายไม่พอ งั้นบอกผมสิ ผมเป็นตัวอะไรกันแน่?"
    ▫️"Being genius is not enough, it takes courage to change people's hearts" - "เพราะแค่อัจฉริยะยังไม่พอ ต้องใช้ความกล้าหาญถึงเปลี่ยนใจคนได้"

    - บทพูดแต่ละประโยคในส่วนนี้ จะพูดถึงประเด็นการเหยียดเชื้อชาติและความเท่าเทียมทางชาติพันธุ์ที่เกิดขึ้นภายในเรื่อง ซึ่งถือเป็นประเด็นหลักที่แอบแฝงภายใต้ความขบขันที่เนื้อเรื่องนั้นนำเสนอ
    - เริ่มจากประโยค "เขายิ้มและจับมือกับคนพวกนี้ได้อย่างไรกัน?" เป็นประโยคที่แสดงความประหลาดใจของ Tony ที่มีต่อความย้อนแย้งของตัว Dr. Shirley ที่เห็นอยู่ว่าตัวดอนนั้น ต้องเผชิญกับปัญหากับความขัดแย้งและการเหยียดเชื้อชาติมากมายตลอดการเดินทาง โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิด ที่คนผิวขาวเจ้าของคฤหาสน์ในการจัดคอนเสิร์ตนั้น ไม่ให้ดอนใช้สุขาภายในตัวคฤหาสน์ แต่ดอนกลับยังตีหน้ายิ้มทักทายกับคนผิวขาวหลังคอนเสิร์ตจบอย่างสุขุมและนอบน้อมได้เช่นไร? ทำให้เขาเกิดความสงสัยภายในใจเสมอมา ถึงสิ่งที่ดอนนั้นกระทำ
    - เรื่องราวดำเนินต่อไปจนถึงจุดแตกหักครั้งสำคัญภายในเรื่อง ซึ่งเป็นฉากอารมณ์ที่ใครได้ดูจะสะเทือนใจและเกิดคำถามมากมายภายในใจ ฉากนั้นคือเหตุการณ์หลังจากที่ทั้งสองเพิ่งออกมาจากคุก หลังจากดอนขอความช่วยเหลือจากท่านประธานาธิบดี ถึงจุดนี้ดอนถึงจุดเปราะบางที่สุด /ทั้งสองขับรถออกมาจาก "Sundown Towns" ท่ามกลางสายฝน ดอนไม่พอใจที่ Tony ไม่อดทนและใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา ทำให้เขาต้องพึ่งพาการช่วยเหลือจากท่านประธานาธิบดี และทำให้เขารู้สึกเสียเกียรติอย่างที่สุด เพราะ ดอนมองว่า ท่านประธานาธิบดีกำลังเปลี่ยนแปลงประเทศ ดอนกำลังวางตัวเป็นคนผิวดำที่ดีต่อหน้าชนชั้นนำของประเทศ แต่การที่เขาต้องมาติดคุกด้วยข้อหาที่ใช่เรื่อง และทำให้เขาต่อขอความช่วยเหลือจากท่านนั้น ทำให้ท่านประธานาธิบดี รวมถึงชนชั้นนำ มองว่าดอนก็แค่คนผิวดำคนนึง ที่เป็นกุ๊ยขี้คุก
    - บทสนทนานำพาถึงจุดที่ทั้งสองมีความขัดแย้งซึ่งกันและกัน โดย Tony อ้างว่า ดอนนั้นไม่มีทางเข้าใจปัญหาของเขา เขาเกิดมาในย่าน Bronx (ชุมชนของชนชั้นแรงงานใน New York) หามื้อกินมื้อ ไม่เหมือนดอนที่อยู่บนยอดปราสาท มีเงินทองและมีความสามารถคอยเลี้ยงชีพ Dr. Shirley เมื่อได้ยินอย่างนั้น จึงให้โทนี่จอดรถ และเดินออกไปท่ามกลางสายฝน โทนี่เห็นท่าไม่ดี เลยออกจากรถและหยุดให้ดอนคุยกับเขาก่อน ถึงจุดนี้ ดอนได้พรั่งพรูความในใจที่เขาแบกมาทั้งชีวิต เขาบอกว่า "ฉันอยู่ในปราสาท ตัวคนเดียว คนขาวรวยๆจ้างผมเล่นเปียโนให้ฟัง เพราะทำให้รู้ว่าพวกเขามีวัฒนธรรม แต่ทันทีที่ก้าวลงจากเวที ผมกลับเป็นไอ้มืดในสายตาของพวกเขา นั่นคือวัฒนธรรมที่แท้จริง ผมโดนเหยียดหยามตามลำพัง คนผิวสีเขาไม่ยอมรับผม เพราะผมไม่เหมือนกับพวกเขา ถ้าผมยังดำไม่พอ ยังขาวไม่พอ ยังเป็นลูกผู้ชายไม่พอ งั้นบอกผมสิ ผมเป็นตัวอะไรกันแน่?"
    - จากความในใจของ Dr. Shirley ทำให้ Tony ตาสว่าง และรู้ถึงความโดดเดี่ยวที่เกาะกุมภายในจิตใจของดอน ตัวละครดอนนั้นไม่ใช่ตัวละครที่เหงาเพราะเกิดจากความโดดเดี่ยวอย่างเดียว แต่รวมถึงเกิดจากความแปลกแยกทางวัฒนธรรม ที่ส่งผลต่อชีวิตของเขา ที่ทำให้เขาตกอยู่ในวังวนของอัตลักษณ์ ทำให้เขาแทบไม่มีจุดยืน เป็นสิ่งแปลกปลอมที่เกิดขึ้นจากปัญหาของสังคม ที่เขานั้นไม่ได้คนผิด เป็นเพียงสิ่งที่เกิดจากการตีตราจากคนในสังคม ที่นิยามตัวตนของเขา ดำที่ไม่ดำ ขาวที่ไม่ขาว ผู้ชายที่ไม่ใช่ลูกผู้ชาย
    - มาถึงในช่วงสุดท้ายของเรื่อง เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ตัวละคร Dr. Shirley คือนักเปียโนที่เพียบพร้อมไปด้วยทักษะและความสามารถ แต่สิ่งที่ทำให้เขาโดดเด่นกว่านักเปียโนคนอื่นในยุคนั้น คือการที่เขานั้น กล้าที่จะออกมาเผชิญปัญหาภายในสังคม โดยเหตุการณ์นี้ถูกเฉลยโดย Oleg เพื่อนร่วมวงของเขา ว่าดอนพยายามอย่างเต็มที่ที่ยืนหยัดเพื่อตัวเองและคนผิวดำคนอื่นๆในสังคม เขาได้พิสูจน์ตัวเองจากการเดินทางทัวร์คอนเสิร์ตครั้งนี้ ว่าเขาสามารถทำให้คนผิวขาวในรัฐที่มีกฏหมายต่อต้านคนผิวดำ สามารถยอมรับคนผิวดำให้ทำการแสดงดนตรีอย่างมีเกียรติ และเขาจะเป็นก้าวแรกๆ ที่จะพิสูจน์ว่า คนผิวขาวสามารถอยู่ร่วมกับคนผิวสีในสังคมเดียวกันได้ เพราะแค่อัจฉริยะยังไม่พอ ต้องใช้ความกล้าหาญถึงเปลี่ยนใจคนได้
    .
    ▫️"The world's full of lonely people afraid to make the first move" - "โลกนี้เต็มไปด้วยคนเหงาที่ไม่แสดงท่าที"

    - คำพูดกินใจนี้ พูดโดย Tony ในฉากค้างแรมในโรงแรมก่อนจะออกทัวร์คอนเสิร์ตรอบสุดท้าย ในช่วงท้ายของเรื่อง ตัวเค้ารู้มาเสมอว่าการเดินทางนี้ใกล้จะจบเต็มที และเป็นห่วงเพื่อนของเขา Dr. Shirley ที่จะต้องโดดเดี่ยวและไม่มีเขาคอยเคียงข้าง เขารู้ว่าดอนมีพี่ชายอยู่คนนึง ซึ่งดอนไม่ได้ติดต่อมานานแล้ว เขาคะยันคะยอคะยอให้ดอนติดต่อหาพี่ชายในสักวัน เพื่อที่ทั้งสองจะได้เจอกัน และดูแลซึ่งกันและกันในที่สุด
    - เหตุผลที่ Dr. Shirley ไม่ยอมติดต่อพี่ชาย อาจจะมีปูมหลังบางอย่าง และเขาเคยบอกกับ Tony ว่าเขาคือนักดนตรีที่เดินทางตลอด ไม่สามารถจัดการชีวิตนักดนตรีและชีวิตครอบครัวพร้อมกันได้ แต่ในลึกๆแล้ว จากเหตุการณ์ข้างต้นที่เคยกล่าวมา โทนี่รู้มาเสมอว่า ดอนรู้สึกแปลกแยกกับกลุ่มคนผิวดำด้วยกัน รวมไปถึงครอบครัวด้วย การที่ทั้งเขาและดอน รู้กันและกันถึงเหตุผลดังกล่าว ทำให้โทนี่หวังดี และพยายามทำให้ดอนก้าวพ้นข้ออ้างนั้นให้ได้
    - โลกที่เต็มไปด้วยคนเหงาที่ไม่แสดงท่าที คือการที่ Tony สร้างแรงฉุกคิดให้แก่ Dr. Shirley เพื่อให้ดอนเปิดใจ ยอมรับคนรอบตัวให้มาอยู่ข้างกาย เหมือนที่ดอนเปิดใจให้กับเขาตลอดการเดินทาง ดอนก็คือมนุษย์ ที่ไม่จำเป็นต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว ดอนเพียบพร้อมไปด้วยทุกอย่าง ทั้งทรัพย์สินและพรสวรรค์ การเดินทางครั้งนี้ รวมถึงการได้เห็นมุมมองของโทนี่ต่อครอบครัวของเขา ทำให้ดอนได้เรียนรู้ที่จะปล่อยว่างทิฐิที่เขาแบกมาตลอด และเปิดใจแก่มิตรภาพใหม่ๆรอบตัวเขา
    .
    ▫️"Promise me you're going to write me a letter" - "สัญญานะว่าจะเขียนจดหมาย"
    ▫️"Buon natale. Thank you for sharing your husband wite me" ... "Thank you for helping him with the letters" - "ขอบคุณที่ให้ยืมสามีนะครับ"..."ขอบคุณที่ช่วยเขาเขียนจดหมายนะคะ"

    - บทสนทนาข้างต้น เป็นบทสนทนาระหว่างภรรยาของโทนี่กับ Dr. Shirley ซึ่งเป็นโมเมนต์เล็กๆ ที่ทำออกมาได้ประทับใจสุดๆ ที่จริง บทสนทนานี้เป็นบทสนทนาสุดท้ายของเรื่องด้วย ? เกิดขึ้นหลังจาก Tony กลับมาถึงบ้าน และกำลังฉลองเทศกาลคริสต์มาส แล้วดอนก็มาสมทบภายหลัง เป็นครั้งแรกที่ดอนพบกับภรรยาของโทนี่ครั้งแรก และทั้งสองต่างขอบคุณกันและกันถึงสิ่งที่เกิดขึ้นภายใน 8 สัปดาห์ที่ผ่านมา
    - การเขียนจดหมายของ Tony ถึงภรรยาของเขาตลอดการเดินทาง ถือเป็นโมเมนต์ที่สำคัญ โมเมนต์หนึ่ง ที่ไม่พูดถึงไม่ได้ ซึ่งโมเมนต์เล็กๆนี้ มันทำให้เราได้เห็นพัฒนาการความสัมพันธ์ระหว่างตัวโทนี่กับภรรยา และตัวโทนี่กับดอน ซึ่งหนังหยิบเอาการเขียนจดหมาย มาเล่าความเติบโตนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ฉลาดและไม่ค่อยเห็นหนังเรื่องไหนใช้สักเท่าไหร่
    - ก่อนออกเดินทาง Tony ได้ให้สัญญากับภรรยาไว้ว่า จะเขียนจดหมายส่งมาให้เสมอ ที่เขาเลือกที่จะเขียนจดหมายแทนการโทรศัพท์ เขาให้เหตุผลว่า เพราะมันประหยัดกว่าการโทรศัพท์ ที่มีค่าใช้จ่ายที่แพงเมื่อโทรข้ามรัฐ แต่เขาก็ไม่ใช่นักเขียนที่ดีสักเท่าไหร่ เพราะเขาเป็นคนห่ามๆ ตรงๆ จะเห็นได้จากในฉากแวะทานอาหารระหว่างทางช่วงต้นๆ ที่ Dr. Shirley ถามว่า "อาหารรสชาติเป็นอย่างไร?" เขาตอบ "เค็มไปหน่อย" แล้วดอนก็แซวว่า "คุณเคยคิดที่จะเป็นนักวิจารณ์อาหารบ้างมั้ย?" ?
    - จดหมายฉบับแรกที่ส่งถึงภรรยา Tony บรรยายว่าเขากินอะไรบ้าง ทำอะไรอยู่ อยู่ที่ไหน แข็งๆทื่อๆ ซึ่งระหว่างที่เขาเขียนจดหมาย Dr. Shirley ก็มองอยู่ห่างๆเสมอ จนเรื่องราวดำเนินไปช่วงกลางเรื่อง ระหว่างที่ทั้งสองพักทานอาหารข้างทาง เขาได้เขียนจดหมายเหมือนประจำ แต่รอบนี้ดอนถามและแซวขึ้นมาว่า "เหมือนจดหมายเรียกค่าไถ่เลย ขอผมอ่านได้ไหม?" ดอนหยิบมาอ่าน พร้อมแซวที่เขาสะกดคำผิด ในที่สุด ดอนก็อ่านจนจบ พร้อมวิจารณ์การเขียนจดหมายของเขา ดอนแนะนำว่าควรเขียนจดหมายตามความรู้สึก แต่เขียนบรรยายแบบที่ไม่เคยทำมาก่อน และห้ามใช้คำหยาบ ดอนเสนอให้เขาเขียนตามที่เขาบอก "Dear, Dolores. When I think of you, I'm reminded of the beautiful plains of Iowa. ..."
    เพียงแค่ประโยคเดียวที่ดอนเอ๋ย ก็ดีกว่าการเขียนจดหมายที่โทนี่เคยเขียนมาทั้งหมด เขาตั้งใจจดตามคำที่ดอนบอก ดอนก็คอยเสนอแนะจนเขาเขียนจดหมายฉบับนั้นจบ
    - เมื่อภรรยาได้รับจดหมายฉบับนั้น เธอนั่งอ่าน และน้ำตาก็ไหล เพราะคิดถึงและซาบซึ้ง จนมีฉากหนึ่ง ที่ภรรยานำจดหมายที่สามีของเธอเขียน อ่านให้เพื่อนสาวของเธอฟัง ทุกคนต่างตกในภวังค์ และเรียกร้องให้สามีของตน เขียนจดหมายอย่างที่ Tony ทำให้บ้าง ?
    - ฉากเขียนจดหมายของ Tony เกิดขึ้นอีกครั้งในช่วงท้ายๆของเรื่อง รอบนี้เขาไม่ต้องการให้ Dr. Shirley ช่วยอีกต่อไปแล้ว ดอนขออ่าน และชมว่าเขาเขียนได้แล้ว ดอนบอกอีกว่า "รู้ไหมว่าคุณจะถึงบ้านก่อนจดหมายฉบับนั้น?" เขายอมรับ แต่จะเขียนต่อจนจบ และจะนำไปให้ภรรยาของเขากับตัว จนนำไปสู่โมเมนต์อันงดงามในช่วงสุดท้ายของเรื่อง
    - การเขียนจดหมาย เป็นกิจกรรมที่มีความเป็นส่วนตัวในระดับหนึ่ง ที่เราคงไม่อยากให้ใครมาเห็นข้อความที่เราเขียน การที่ Tony ยอมให้ Dr. Shirley ดูและอ่านจดหมาย เป็นการแสดงถึงการเปิดใจและยอมรับในตัวตนของเขาต่อดอนแล้ว เขามองดอนเป็นเพื่อนคนหนึ่ง ไม่ใช่นายจ้างผิวดำตามทัศนคติในช่วงแรกของเรื่องอีกต่อไป และการเขียนจดหมาย ยังแสดงถึงพัฒนาการของทัศนคติและนิสัยของเขา ซึ่งในช่วงต้น ที่เขาเขียนบรรยายอย่างตรงๆ ว่ากินอะไร ทำอะไร ที่ไหน นั่นคือตัวตนของเขาที่เคยเป็นมา จนเขาร่วมเดินทางกับดอน และพบเจอเรื่องราวต่างๆ ทำให้มุมมองเขาเปลี่ยนไป การเขียนจดหมายในครั้งสุดท้ายของเขา เป็นตัวแทนของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในตัวเขา ซึ่งพัฒนาการนี้เป็นการส่งต่อระหว่างตัวละคร จากตัวดอนสู่เขา และเขาสู่ตัวภรรยา ซึ่งนำไปสู่โมเมนต์สุดท้าย ที่ดอนและภรรยาต่างขอบคุณซึ่งกันและกัน ที่สุดท้ายแล้วทุกคนต่างได้รับสิ่งดีๆเป็นการตอบแทนในช่วงเทศกาลคริสต์มาสที่เต็มไปด้วยความสุข
    .
    ℹ ประเด็นของหนังเรื่อง Green Book ยังไม่หมด ยังมีฉากที่ผมอยากจะเจาะลึกลงไปอย่างละเอียด นั่นคือฉากกินไก่ทอด KFC ซึ่งเป็นฉากอันน่าจดจำและประทับใจของใครหลายๆคนที่ได้ดู ซึ่งผมจะนำฉากนี้ มาวิเคราะห์และตีความในโอกาสต่อๆไป รอติดตามผลงานกันด้วยนะครับ ?


เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in