เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
หนังหนึ่งคืน | OnenightCinemaOnenightz.
AKIRA : การเมืองและสังคมในวันที่ล่มสลาย
  • AKIRA (1988) ????
    Director : Katsuhuro Ôtomo
    Genres : Animation ,Sci-Fi ,Thriller
    My Score : 9 / 10
    [ภาพยนตร์เรื่องนี้มีความยาว 2 ชั่วโมง 4 นาที สามารถรับชมได้ใน AIS Play]
    .
    ⏩ Prologue : บทเกริ่น

    - หากไม่กล่าวเกินจริงจนมากเกินไป ปี ค.ศ. 1988 อาจจะนับได้ว่าเป็นปีที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของวงการแอนิเมชั่นญี่ปุ่น ซึ่งได้รับความนิยมอย่างไม่คาดฝันในจุดนั้น และทำให้ผู้ชมและนักวิจารณ์ทั่วโลกต่างจับจ้องสื่อมังงะและอนิเมะเป็นประวัติการณ์ หนึ่งในแอนิเมชันที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุด ซึ่งผ่านการฉลองครบรอบ 30 ปีไปเมื่อไม่นานมานี้ นั่นคือภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง Akira มหากาพย์นิยายวิทยาศาสตร์ที่เป็นผลงานเรือธงชิ้นสำคัญของ Katsuhiro Ôtomo
    - Akira ปรากฏขึ้นพร้อมกับภาพยนตร์แอนิเมชันร่วมยุคของ Studio Ghibli อย่าง My Neighbor Totoro ของผู้กำกับ Hayao Miyazaki และ Grave of the Fireflies ของผู้กำกับ Isao Takahata แต่ในขณะที่ภาพยนตร์เหล่านั้นชวนให้หวนคิดถึงภาพอดีตของประเทศญี่ปุ่นด้วยความเศร้าโศก Ôtomo กลับใช้อดีตที่บอบช้ำของประเทศเพื่อเป็นเลนส์ที่ส่องไปยังอนาคตในแบบที่น่าสะพรึงกลัวและบ้าคลั่ง ด้วยการวาดเรื่องราวเป็นมังงะ 6 เล่มของเขา ซึ่งเริ่มตีพิมพ์ในระหว่างปี ค.ศ. 1982 ถึงปี ค.ศ. 1990 Ôtomo ยังได้ดัดแปลงเรื่องราวส่วนหนึ่งลงในภาพยนตร์หนึ่งเรื่องที่ให้ผู้ชมได้สัมผัสประสบการณ์ทางจิตวิญญาณอันบริสุทธิ์พอๆกับเรื่องราวระทึกขวัญบนเรือนร่างของโลกไซเบอร์พังก์ที่เกิดขึ้น
    - แม้ว่าจะผ่านมาแล้วกว่าสามทศวรรษ ตอนจบเชิงปรัชญาของภาพยนตร์เรื่องนี้ยังคงตกตะกอนและสร้างข้อสงสัยของผู้ชมหลายคนว่า ความโกลาหลและการทำลายล้างทั้งหมดนั้นมันแฝงอะไรไว้ การแข่งขันเพื่อต่อต้านอำนาจศักดิ์สิทธิ์ การทุจริตของรัฐบาล และช่วงเวลาที่ผู้คนพยายามดิ้นรนเพื่อหยุดยั้งการล่มสลายที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้ง ฉากแอ็คชั่นที่สร้างจุดไคลแม็กซ์อันยากจะลืมเลือน การนองเลือดอันน่าสยดสยองที่มาพร้อมด้วยข้อความที่เปิดกว้างให้ตีความได้ ซึ่งสุดท้ายแล้วทั้งหมดมันหมายความว่าอย่างไร? และในวันนี้ ผมจะชวนผู้อ่านได้กลับไปย้อนดูเรื่องราวที่เกิดขึ้น เพื่อทบทวนและเก็บรายละเอียดบางประเด็นที่อาจจะยังค้างคา เพื่อให้เข้าใจความเป็นไปที่แอบซ่อนภายใต้นครนีโอโตเกียว (Neo-Tokyo) แห่งนี้ได้อย่างถ่องแท้
    .

    ▶️ Plot Summary : โตเกียว 2019

    - เรื่องราวในภาพยนตร์วางลงบนนคร Neo-Tokyo ในปี ค.ศ. 2019 ซึ่งตอนนี้ได้ที่ถูกบูรณะขึ้นใหม่หลังจากความเสียหายที่เกิดขึ้นในสงครามโลกครั้งที่ 3 แต่แทนที่จะเป็นกรุงโตเกียวที่สงบสุขอย่างที่เคยเป็นมา ทุกอย่างกลับตาลปัตรเนื่องจากผลกระทบจากสงคราม เกิดการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างสังคมและวัฒนธรรมขนานใหญ่ ซึ่งทำให้ประเทศนี้เต็มไปด้วยเหล่าอาชญากรและการก่อการร้าย
    - ตัวละครหลัก Shotaro Kaneda เป็นหัวหน้าแก๊ง Bosozoku (The Capsules) ซึ่งเป็นแก๊งของนักขี่จักรยานยนต์ดัดแปลง ร่วมกับเพื่อนสนิทของเขา Tetsou Shima ในคืนหนึ่ง ระหว่างการหลบหนีจากการต่อสู้กับคู่อริ เท็ตซึโอะได้เกิดอุบัติเหตุเมื่อเขาขี่รถไปชนกับเด็กชายลึกลับคนหนึ่ง และเมื่อเขาตื่นขึ้นมาในโรงพยาบาล เขาค้นพบว่าตนเองมีพลังที่เขาไม่รู้จักตื่นขึ้นมาภายในร่างกาย
    - คนในแก๊งแคปซูลถูกกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นจับตัว ก่อนที่พวกเขาจะหลบหนีไปได้ด้วยความช่วยเหลือจาก Kei หนึ่งในสมาชิกกลุ่มต่อต้าน หลังจากนั้น มีการเปิดเผยว่าความสามารถของเท็ตซึโอะนั้นมีความแข็งแกร่งพอๆกับ 'Akira' ผู้ซึ่งเป็นตัวการในการทำลายกรุงโตเกียวเก่า (เกิดระเบิดของพลังในวันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ.1988) ซึ่งเป็นตัวจุดชนวนในการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ในที่สุด
    - เท็ตซึโอะถูกจับตัวอีกครั้ง หลังจากหลบหนีออกมาจากโรงพยาบาลเพียงชั่วขณะ เขามีอาการประสาทหลอนและปวดหัวอย่างรุนแรง และคาเนดะพยายามจะช่วยเขา แต่สุดท้ายแล้ว เขากลับพยายามจะต่อสู้กับคาเนดะ เนื่องจากตอนนี้ ร่างกายเขาไม่มั่นคงและเขาควบคุมพลังของตัวเองได้ไม่ดีสักเท่าไหร่
    - ด้วยพลังที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เท็ตซึโอะมีพลังมากพอที่จะปะทะกับกลุ่ม Thr ESPers (เด็กทดลอง 3 คนที่มีพลังจิตเช่นเดียวกับเท็ตซึโอะ) และสามารถหลบหนีออกมาจากสถานีวิจัยได้อีกครั้ง เขาเริ่มภารกิจค้นหาซากของอากิระ เพื่อจะเพิ่มพลังของเขาให้มากขึ้นอีก ซึ่งเขาได้ยินมาว่ามันถูกซ่อนอยู่ใต้สนามกีฬาโอลิมปิก
    - ทั้งกองกำลังทหารและแก๊งคาเนดะที่เหลือต่างออกตามหาตัวเท็ตซึโอะ แต่ไม่ทันการ ตอนนี้เท็ตซึโอะได้สูญเสียการควบคุมพลังของเขาโดยสมบูรณ์แล้ว ร่างกายของเขาขยายใหญ่และกลืนกินมวลวัตถุโดยรอบบริเวณนั้นทั้งหมด
    - The ESPers เห็นวิธีเดียวที่จะหยุดวงจรของพลังที่ควบคุมไม่ได้ของเท็ตซึโอะ นั่นคือการปลุกอากิระให้ตื่นขึ้นอีกครั้ง ซึ่งสุดท้าย อากิระก๊ได้ถือกำเนิดขึ้นใหม่ และสร้างมวลระเบิดที่ดูดกลืนร่างของเท็ตซึโอะและคาเนดะไปอีกมิติหนึ่ง ระหว่างนั้น คาเนดะเห็นภาพนิมิตของมิตรภาพระหว่างเขาทั้งสอง ก่อนแรงระเบิดจะทำให้เกิดการล่มสลายของนครนีโอโตเกียวอีกครั้ง
    ▫️
    - Akira เป็นภาพยนตร์ที่ประกอบไปด้วยประเด็นที่หลากหลาย โดยยืนพื้นบนสังคมที่ล่มสลายแนวไซเบอร์พังค์ (Dystopian Cyberpunk Society) ชีวิตของประชากรในนครนีโอโตเกียวกำลังเสื่อมโทรม โครงสร้างทางสังคมก็ค่อยๆพังทลาย แม้จะมีความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยก็ตาม และสิ่งนี้สะท้อนออกมาในชีวิตประจำวันของเด็กวัยรุ่นในสังคม พวกเขาได้รับการศึกษาสุดแสนเลวร้ายและตั้งตนเป็นศาลเตี้ยข้างถนน
    - แม้ว่าทุกชีวิตจะต้องดิ้นรนในนครนีโอโตเกียว แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็พลิกกลับโดยเน้นไปที่ความสัมพันธ์ของคาเนดะและเท็ตสึโอะ โดยถูกกระตุ้นผ่านเรื่องเล่าของการต่อสู้ของใครบางคนที่พยายามจะเป็นอิสระและพยายามพิสูจน์ตัวเองว่ามีความสามารถ ตั้งแต่ต้นภาพยนตร์เมื่อเท็ตซึโอะแอบเช็คจักรยานยนต์ดัดแปลงของคาเนดะ จนถึงจุดสิ้นสุดเมื่อจักรยานยนต์คันนั้นพัง
    - ความปรารถนาในอำนาจของเท็ตสึโอะก็เป็นตัวดึงดูดผู้ชมที่ดี ในขณะที่เขาค่อยๆเปลี่ยนผ่านจากเด็กหนุ่มอ่อนแอที่ไม่สามารถควบคุมจักรยานยนต์ดัดแปลงสีแดงได้ในช่วงแรก กลายเป็นมนุษย์กึ่งเทพผู้ที่มีพลังจิต ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพราะเขาต้องการเป็นอิสระ และสำหรับเขาแล้ว ทั้งหมดที่เขาทำนั้นถูกต้องตามความคิดนั้น เมื่อพินิจจากเหตุผลที่แยกออกจากกันดีๆแล้ว เขาเป็นเพียงเด็กหนุ่มที่ต้องการแสดงให้เพื่อนๆเห็นว่าเขาแข็งแกร่งและพึ่งพาตัวเองได้ แม้สุดท้ายแล้ว เรื่องราวที่เกิดขึ้นจะนำพาความโกลาหลที่สร้างความเสียหายอันประเมินค่าไม่ได้ก็ตาม
    .
    ▶️  The Political Uncovered : การเมืองโลกดิสโทเปีย

    - แง่มุมหนึ่งของสังคมที่ภาพยนตร์เรื่อง Akira ได้สะท้อนออกมาคือเรื่องของการเมือง ซึ่งถ่ายทอดออกมาผ่านการพรรณนาถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างกองทัพและรัฐบาลที่มีต่อพลเมืองในนคร Neo-Tokyo
    - ตลอดทั้งเรื่อง Ôtomo ยึดมั่นในธรรมชาติของสังคมในระบบทุนนิยมอย่างเข้มงวดผ่านการแสดงความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นปกครองกับชนชั้นล่าง เราจะเห็นภาพชนชั้นล่าง ซึ่งแสดงออกด้วยความโกรธ ความกังวล ต่อความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการทำงานภายในของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่การปกครองผ่านการประท้วงบนท้องถนน เนื่องจากพวกเขาไม่ทราบเป้าหมายที่แท้จริงของกองทัพกับรัฐบาล ในการทำการวิจัยเกี่ยวกับมนุษย์ทดลองเพื่อเข้าถึงอำนาจที่แท้จริงของอากิระ
    - ในช่วงต้นของภาพยนตร์ จากเหตุการณ์การระเบิดอากิระ ซึ่งทำลายกรุงโตเกียวเก่าและเป็นตัวจุดชนวนที่ทำให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 จากซากปรักหักพังและเถ้าถ่านของความขัดแย้งในนครนีโอโตเกียวที่ถูกควบคุมโดยกลุ่มนักการเมืองที่กระทำการทุจริตร่วมกับกองทัพ ซึ่งใช้ภาษีไปกับอาวุธอวกาศอานุภาพสูง (SOL) และโครงการทดลองลับ (The ESPers) ตลอดเรื่องราวของภาพยนตร์ เราจะไม่เพียงได้เห็นด่านตรวจของทหารที่ปรากฏอยู่ทั่วทุกมุมเมืองเท่านั้น แต่เรายังเห็นการปราบปรามอย่างรุนแรงของกองกำลังทหารต่อการประท้วงของนักศึกษา รวมไปถึงการกวาดล้างคณะปฏิวัติ จนในฉากหนึ่งของภาพยนตร์ อำนาจที่ครอบงำนครนีโอโตเกียวมาอย่างยาวนานนี้ก็ถึงจุดเดือดและปะทุนำไปสู่การทำรัฐประหารโดยกองทัพ ซึ่งส่งผลให้เกิดเผด็จการทางการทหารโดยสมบูรณ์
    - เราจะเห็นการจัดระเบียบและกระบวนการทางสังคมซึ่งส่งเสริมและหล่อเลี้ยงอำนาจทางสถาบันเหล่านี้ โดยรัฐบาลจะมีส่วนในการสนับสนุนงบประมาณและขอบเขตของปฏิบัติการทางทหาร ในขณะที่ภาคเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดอยู่ในภาคอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ ซึ่งส่งผลให้นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งหลายคนมีความผูกพันกับอุตสาหกรรมของเอกชนและกองทัพ ทำให้พวกเขาเป็นตัวแทนของกองทัพในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจหรืออำนาจการปกครองที่ครอบงำนครนีโอโตเกียวอย่างที่เราเห็น
    - ขณะที่ภาพยนตร์ดำเนินไปในตอนจบ การเมืองที่เข้มข้นในช่วงต้นของภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ถูกปล่อยให้เกือบหายไปกับสายลม เมื่อ Kaneda, Kaisuke, Kei และพันเอก Shikishima รวมตัวกันเพื่อพยายามหยุดยั้งเท็ตซึโอะ ซึ่งในตอนนี้เขาไม่สามารถควบคุมพลังของเขาได้อีกต่อไป และพลังนั้นกำลังกลืนกินนครนีโอโตเกียวในไม่ช้า
    - การวิพากษ์วิจารณ์การเมืองของ Ôtomo แสดงให้เห็นว่าจุดจบของความจงรักภักดีหรืออุดมคติที่เกิดขึ้นในกลุ่มในพรรคเป็นแนวคิดที่ไร้สาระ เมื่อชะตากรรมของมนุษยชาติและโลกกำลังตกอยู่ในอันตราย ชีวิตของทุกคนจบลงที่เส้นชัยเดียวกันเมื่อสังคมกำลังเกิดวิกฤต นั่นคือ...ความตาย
    ▫️
    - นอกจากประเด็นการเมืองที่กล่าวไปข้างต้น ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังได้นำเสนออำนาจเชิงสัญลักษณ์ [อำนาจอ่อน (Soft Power)] ซึ่งเป็นรูปแบบของอำนาจที่มีความเป็นนามธรรม จับต้องไม่ได้ แต่ส่งผลกับทิศทางของระเบียบและกระบวนการสังคม เป็นอำนาจที่คล้ายคลื่นใต้น้ำ ซึ่งดูภายนอกอาจจะราบเรียบไร้ซึ่งพลัง แต่แท้จริงแล้ว กลับมีอิทธิพลมากพอที่จะทำให้บรรลุผลตามอุดมการณ์ที่เจ้าลัทธิคาดหวังได้ ซึ่งอำนาจเชิงสัญลักษณ์หรืออำนาจอ่อนที่ว่า ปรากฏในภาพยนตร์ในรูปแบบของ 'ลัทธิอากิระ' ที่นำโดยเจ้าลัทธิอย่าง Lady Miyako
    - ศาสนา รวมถึงลัทธิ คือความเชื่อที่มีคนจำนวนไม่น้อยในสังคมยอมรับมาหลายชั่วอายุคน (โดยเฉพาะศาสนาและลัทธิทางตะวันตก) ศาสนาและลัทธิใช้อำนาจจากความเชื่ออย่างเข้มงวดเพื่อคงไว้ซึ่งการควบคุมระเบียบและกระบวนทางสังคม เมื่อโครงสร้างของสังคมเปลี่ยนไปก็ย่อมส่งผลกับศาสนาและลัทธิ ที่มีการเปลี่ยนแปลงความเชื่อหรือคำสอน แม้กระทั่งมโนคติ ที่ต้องพึ่งพากลไกของอำนาจอ่อนเพื่อรักษาอิทธิพล 
    - อิทธิพลของอำนาจอ่อนเหล่านี้มักจะได้รับการประสานผ่านบรรทัดฐานทางสังคมและวัฒนธรรมที่กำหนดโดยศาสนาหรือลัทธิ โดยผ่านอำนาจของการขัดเกลาทางสังคมจากความเชื่อและคำสอน ศาสนาและลัทธิจึงสร้างสัญลักษณ์และพฤติกรรมที่สถาปนาตนถึงความพิเศษ ซึ่งกลายเป็นพิธีกรรมเพื่อส่งเสริมอำนาจอ่อนของตน จากนั้นอำนาจอ่อนนั้นจะถูกใช้เพื่อเป็นฐานในการสนับสนุนสถาบันการปกครองที่มีความเชื่อหรือมโนคติที่คล้ายกัน ไปสู่การบรรลุอำนาจที่แข็งแกร่งที่ควบคุมพลเมืองในสังคม
    - ด้วยภาพการแสดงพลังอันยิ่งใหญ่ที่เกิดขึ้น (ในรูปแบบของการระเบิดคลื่นพลังจิตขนาดใหญ่ที่ทำลายนครนีโอโตเกียว) ทั้งอากิระ ซึ่งพลเมืองจะเห็นอำนาจของเขาจากเหตุระเบิดที่ทำลายกรุงโตเกียวเก่าในช่วงต้น และเท็ตสึโอะ ซึ่งชาวเมืองจะเห็นการสำแดงพลังของเขาระหว่างที่เขาหลบหนีออกจากศูนย์วิจัย ทั้งสองได้กลายเป็นเทพและสัมฤทธิ์เงื่อนไขของอำนาจอ่อนโดยสมบูรณ์ กลุ่มคนที่มีความเชื่อและศรัทธาในลัทธิอากิระต่างสถาปนาเท็ตซึโอะว่าเป็น 'บุคคลที่ท่านอากิระเลือกสรร' โดยทันควัน และสาธารณชนคนอื่นก็ได้ละทิ้งอำนาจและอุดมการณ์เดิมของพวกเขาเกือบในทันที เมื่อพวกเขาเผชิญหน้ากับพลังที่อาจบรรยายได้ของเท็ตสึโอะ ที่น่าสนใจคือ ในเหตุการณ์เดียวกันนี้
    - ขณะที่เท็ตสึโอะสร้างความเสียหายไปทั่วนครนีโอโตเกียว เราจะได้เห็นการควบรวมของแนวคิดระหว่างความเชื่อทางศาสนาและความเชื่อทางวิทยาศาสตร์เกิดขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างสองศาสตร์นี้ เห็นได้ชัดเจน ในฉากไคลแม็กซ์สุดท้ายของภาพยนตร์ เมื่อพลังของเท็ตสึโอะเกินกว่าจะควบคุมได้ ร่างกายเขาขยายใหญ่และกลืนกินทุกสิ่งโดยรอบ อากิระที่กลับคืนร่างเพื่อพาเขาไปไปที่ไหนสักแห่ง เกิดแรงระเบิดพลังมหาศาลกินวงกว้างรวมถึงร่างของเท็ตสึโอะ ด็อกเตอร์กล่าวว่าพลังของอากิระที่ห่อหุ้มร่างเท็ตสึโอะนั้นเหมือนกับปฏิกิริยาการเกิดของจักรวาล เมื่อทั้งเท็ตสึโอะและอากิระหายตัวไปในสถานที่แห่งหนึ่ง ภาพสุดท้ายบนหน้าจอก็ปรากฏเป็นภาพซุปเปอร์โนวา ที่มีเสียงบรรยายดังขึ้นมาอย่างเยือกเย็นว่า “ฉันคือเท็ตสึโอะ” ซึ่งแสดงถึงความเป็นพระเจ้าผู้ให้กำเนิดจักรวาล สิ่งที่เกิดขึ้นในฉากสุดท้ายนี้ เป็นการผสานแนวคิดทางวิทยาศาสตร์กับความเชื่อทางศาสนาได้อย่างลงตัว
    ▫️
    - นอกจากนี้ อีกแง่มุมหนึ่งของสังคมที่ภาพยนตร์เรื่อง Akira ได้วิพากษ์วิจารณ์ไว้ ก็คือคุณค่าที่เกิดขึ้นระหว่างที่มนุษยชาติกำลังเอาชีวิตรอด 
    - จะเห็นได้จากทิศทางอำนาจที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของภาพยนตร์ ซึ่งได้เปลี่ยนมือจากผู้ใหญ่ผู้กุมอำนาจรัฐ (เช่น นักวิทยาศาสตร์หรือทหาร) ที่พยายามกอบกู้โลกในช่วงเริ่มต้น มาอยู่ในกำมือของกลุ่มวัยรุ่นที่เหลวแหลก ซึ่งร่วมกอบกู้โลกด้วยการร่วมมือกับกลุ่มเด็กที่ถูกทดลองในโครงการลับของรัฐบาล (ซึ่งก็เป็นรัฐบาลเดียวกันที่ไม่สามารถใช้อำนาจที่มีกอบกู้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้)
    - เป็นเรื่องน่าขันเมื่อผู้ใหญ่ที่มีอำนาจทะเลาะกันเพื่อหาวิธีจัดการกับปัญหาของพวกเขา กลับกันกับกลุ่มวัยรุ่นกับเด็กทดลอง ที่ไม่สนใจที่จะพึ่งพาการช่วยเหลือของรัฐในการบรรลุเป้าหมายหรือเพื่อช่วยมนุษยชาติ เพราะตอนนี้ พวกเขาสนใจแค่ต้องช่วยเท็ตสึโอะเพื่อนรักด้วยตัวของพวกเขาเอง
    - แนวความคิดที่คล้ายกันนี้เริ่มปรากฏชัดขึ้นบนสังคมในปัจจุบันของเรา จากการที่เราได้เห็นผู้ใหญ่รุ่นก่อนๆมักจะกล่าวอ้างความเชื่อหรือประสบการณ์ในอดีตมาใช้ในบริบทปัจจุบัน ทว่าเหล่าเยาวชนคนรุ่นใหม่ ซึ่งอยู่ในยุคสมัยแห่งโอกาส ได้แสดงออกและลงมือทำมากขึ้น พวกเขาสามารถสร้างความตระหนักและค้นหาแนวทางแก้ไขปัญหาในแบบฉบับของเขา ซึ่งในบางทีอาจจะไปขัดแย้งกับแนวคิดดั้งเดิมของผู้ใหญ่ที่กุมอำนาจ และอาจจะริดรอนโอกาสบางอย่างของกลุ่มเด็กเหล่านั้น ซึ่งสุดท้ายแล้ว ในสถานการณ์ที่คนทุกรุ่นในสังคมต้องเผชิญวิกฤตและปัญหาในบริบทเดียวกัน มันก็จำเป็นที่ทุกๆคนต้องร่วมมือร่วมความคิดเพื่อเผชิญกับปัญหานั้นๆ เพราะทุกประสบการณ์ ทุกความสามารถ ล้วนมีค่ามีความหมายที่จะพาสังคมของทุกคนให้ก้าวข้ามความวืบัตินั้นไปโดยราบรื่น
    ▫️
    - โดยรวมแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้เราเห็นภาพได้อย่างชัดเจนว่าระบบสังคมจะพังทลายลงได้เช่นไร หากผู้คนในสังคมนั้นไม่ได้มีวิสัยทัศน์ในการรับมือและแก้ปัญหาที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันในช่วงวิกฤตการณ์ที่กำลังนำพาไปสู่ความหายนะ 
    - ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ส่งข้อความถึงพลเมืองโลกเพื่อให้ตระหนักว่า พวกเราควรฟื้นฟูตัวเองอย่างไรหากวิกฤตการณ์ที่เรากำลังรับมือนั้นได้จบลง จุดจบของความพินาศนครนีโอโตเกียวที่ชวนขมขื่นเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าเราทุกคนจะรู้สึกอย่างไรเมื่ออบัติการณ์ได้สิ้นสุดลง หากพวกเราทุกคนร่วมมือกันเพื่อควบคุมปัญหา มีการพูดคุยอย่างตรงไปตรงมา และพร้อมที่จะพัฒนาสังคมให้ดีขึ้น เมื่อนั้นหรือบางที พวกเราทุกคนอาจจะได้สัมผัสกับความสุขอันบริสุทธิ์ของการกลับมาสู่สภาวะปกติที่เปลี่ยนแปลงไป เหมือนรอยยิ้มบนใบหน้าของคาเนดะ เคย์และไคซูเกะ เมื่อพวกเขาเดินทางไปสู่จุดหมายที่ไม่รู้จักในตอนจบ
    .
    ▶️ Akira and The Bomb : สังคมหลังแรงระเบิด

    - เมืองฮิโรชิมาและเมืองนางาซากิถูกระเบิดจากระเบิดปรมาณูในวันที่ 6 และ 9 สิงหาคม ค.ศ. 1945 ตามลำดับ ผลกระทบของการใช้ระเบิดปรมาณูในบริเวณที่มีการแออัดไปด้วยประชากรที่หนาแน่นนั้นฝังลึกอยู่ในจิตใจของชาวญี่ปุ่นและพลเมืองโลกจนทุกวันนี้
    - เหตุการณ์อันทะเทือนขวัญนี้มักถูกพูดถึงและปรากฏในมังงะและอนิเมชันชั้นยอดมากมายหลายเรื่อง ผลงานที่โดดเด่นที่สุดที่มักถูกพูดถึงได้แก่ Barefoot Gen (1983) ผลงานของ Keiji Nakazawa และ Grave of the Fireflies (1988) ผลงานของ Isao Takahata ซึ่งผลงานเหล่านี้ล้วนมีเศษชิ้นส่วนของความทรงจำของชาวญี่ปุ่น ซึ่งถ่ายทอดผ่านตัวละครที่เผชิญความยากลำบากและความทุกข์ทรมานในภาวะสงคราม เพราะฉะนั้น ผลงานอื่นๆที่มีคล้ายกับภาพยนตร์เหล่านี้ จึงพยายามที่จะพูดถึงเรื่องราวในหน้าประวัติศาสตร์ที่สะเทือนขวัญโดยใช้ 'ความทุกข์ ความพินาศ และการกำเนิดใหม่' ในการบอกเล่าเรื่องราว 
    - ผลงานหลายชิ้นจึงมักจะดึงความทรงจำร่วมและความบอบช้ำจากเหตุระเบิดปรมาณู ซึ่งถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องเล่า 'ประวัติศาสตร์ของเหยื่อ' เพื่อเค้นความเห็นอกเห็นใจจากผู้ชมจากตัวละครเด็กที่พวกเขามักหยิบมาใช้เป็นผู้ดำเนินเรื่องราว
    - ตรงกันข้ามกับผลงานที่ได้รับแรงบันดาลใจจากความทุกข์ทรมานและความวุ่นวายของสังคมในสงครามโดยสะท้อนอีกแง่มุม กล่าวคือผลงานเหล่านี้จะเลือกนำเสนอแง่มุมของสังคมโลกหลังสงคราม อย่างเช่น Nausicaa of the Valley of the Wind (1884) ,Princess Mononoke (1997) ผลงานของ Hayao Miyazaki และ Neon Genesis Evangelion (1995) ผลงานของ Hideaki Anno
    - ในขณะเหตุการณ์การทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองนางาซากิและเมืองฮิโรชิมามักถูกใช้อ้างถึงจุดเริ่มต้นของจินตภาพวันสิ้นโลกของประเทศญี่ปุ่น นักวิชาการและนักวิจารณ์ภาพยนตร์หลายคนก็ได้ชี้ว่าภาพยนตร์หรือแอนิเมชันที่มีเนื้อหาของวันสิ้นโลกหรือหลังวันสิ้นโลกก็ควรถูกอ้างถึงบาดแผลระดับชาตินี้เช่นกัน เพราะภาพยนตร์หรือแอนิเมชันเหล่านี้ก็มีจุดกำเนิดจากเหตุการณ์เดียวกัน ซึ่งหนึ่งในเรื่องเล่าหลังวันสิ้นโลกที่โดดเด่นที่สุดในประวัติศาสตร์แอนิเมชันญี่ปุ่นนั้นคงหนีไม่พ้นเรื่อง Akira ผลงานของ Kutsuhiro Ôtomo ในปี 1988
    ▫️
    - มีการตั้งข้อสันนิษฐานว่าการระเบิดที่เมืองนางาซากิและเมืองฮิโรชิมาเป็นตัวเร่งแนวคิดเรื่องวันโลกาวินาศที่มีอิทธิพลมาถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการทำลายล้างด้วยปรมาณูโดยตรง จึงไม่น่าแปลกใจที่เหตุการณ์ในเดือนสิงหาคมปี ค.ศ. 1945 นั้นยังคงแทรกซึมอยู่ในวัฒนธรรมสมัยนิยมของญี่ปุ่นในปัจจุบัย ดังนั้นในงานที่มีกลิ่นอายของสังคมที่บอบช้ำหลังสงครามอย่าง Akira จึงดำเนินเรื่องด้วยเรื่องราวของการระเบิดและความเสื่อมถอยของสังคม 
    - ได้มีการนิยามสิ่งนี้ว่าเป็น 'สภาวะสูงส่งหลังเหตุการณ์ระเบิดปรมาณู' ซึ่งเป็นจุดเด่นในการขับเคลื่อนเรื่องราวงานแอนิเมชันอย่าง Akira ผ่านการใช้ความทรงจำร่วมของญี่ปุ่นเกี่ยวกับภัยพิบัตินิวเคลียร์ ซึ่งส่งผลให้เกิดบรรยากาศของทั้งความน่าสะพรึงกลัวและความปรารถนาภายในเรื่อง นอกจากเหตุการณ์ต่างๆที่สามารถรับรู้จากความเป็นไปที่เกิดขึ้นในเนื้อเรื่องแล้ว ภาพยนตร์ยังมีการวิพากษ์วิจารณ์สังคมทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นที่เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีในทางที่ผิดและการลดทอนคุณค่าทางสังคม
    - เช่นเดียวกับผลงานอื่นๆที่มีภูมิหลังเกี่ยวกับวันโลกาวินาศ ภาพยนตร์ Akira ได้นำเสนอความเป็นจริงอันน่าสะพรึงกลัวของการละทิ้งและการสูญเสียจากผลกระทบของระเบิดปรมาณู สิ่งนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนที่สุดผ่านตัวละครเอกสองคนคือ Tetsuo และ Kaneda ที่พบกันและเติบโตมาในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า ทั้งสองถูกพ่อแม่ทอดทิ้งมาตั้งแต่กำเนิด และไม่มีคนใกล้ชิดที่มีความสัมพันธ์ทางเลือดที่เกี่ยวข้องกับพวกเขาเลย ซึ่งเราสามารถอนุมานได้ว่า ทั้งเท็ตซึโอะและคาเนดะอาจจะขาดที่พึ่งและแบบอย่างที่ดีในการดำเนินชีวิต แม้ภาพยนตร์จะไม่ได้ชี้ชัดว่า ทำไมพ่อและแม่ของทั้งสองถึงถอดทิ้งพวกเขา แต่อาจพอสรุปได้ว่า ผลกระทบจากเหตุการณ์ระเบิดครั้งใหญ่ในปั ค.ศ. 1988 ได้ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อระเบียบและกระบวนการทางสังคมที่มีอิทธิพลต่อสถาบันครอบครัวของตัวละครทั้งสองนี้ในที่สุด
    - ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าชีวิตของทั้งเท็ตซึโอะและคาเนดะเสเพลแค่ไหน พวกเขาขาดการศึกษาที่ดี ใช้ชีวิตกลางคืนตามผับบาร์ และออกต่อยตีกับคู่อริบนถนน หากพวกเขาเติบโตมาในครอบที่เพียบพร้อมและสังคมที่เอื้อต่อการเติบโตมากกว่านี้ ทิศทางของชีวิตทั้งสองตัวละครคงจะดำเนินไปในอีกทิศทางหนึ่งโดยสิ้นเชิง
    ▫️
    - หากมองสถาบันครอบครัวในมุมมองเชิงสัญลักษณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของประเทศญี่ปุ่นช่วงหลังสงคราม เราจะเห็นผู้คนจำนวนมากสูญเสียคนในครอบครัวไปอย่างมากมาย โดยเฉพาะหัวหน้าครอบครัว ตำแหน่งที่มีอิทธิพลสูงสุดในสถาบันครอบครัว ซึ่งเราสามารถตั้งข้อสังเกตได้ว่า ในสภาวะหลังสงครามประเทศญี่ปุ่นได้สูญเสีย 'ลัทธิจักรพรรดิ' ซึ่งเปรียบเหมือน 'บิดา/ผู้นำ' ของประเทศไป จนนำไปสู่ความเสื่อมถอยของอำนาจการปกครอง และนำพาสังคมไปสู่ภาพลักษณ์อย่างที่เราเห็นในภาพยนตร์
    - ในทำนองเดียวกัน ตัวละครซึ่งเป็นตัวแทนของคนเป็นพ่อหรือผู้นำในภาพยนตร์เรื่อง Akira ได้อย่างแม่นยำที่สุด คงหนีไม่พ้นตัวละคร พันเอก Shikishima ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการลับของรัฐบาลที่ดำเนินการวิจัยเกี่ยวกับเด็กทดลองที่มีพลังจิต ซึ่งรู้จักกันในชื่อ The ESPers  และหนึ่งในเด็กทดลองเหล่านี้ รู้จักกันในชื่อ Akira
    - พันเอกชิกิชิมะปรากฎในภาพยนตร์ในร่างของเผด็จการ เค้าคือคนที่ไม่แยแสต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมของนครนีโอโตเกียว ซึ่งเขากล่าวถึงสถานที่แห่งนี้ไว้ว่าเป็น "กองขยะที่ประกอบขึ้นจากพวกโง่เขลา" แต่เขาก็ยังมุ่งมั่นที่จะปกป้องมันเพราะภาระผูกพันที่เขาเป็นทหาร
    - ตำแหน่งหน้าที่ของพันเอกชิกิชิมะ ทำให้เขาดูเป็นตัวละครที่สมบูรณ์แบบในฐานะบิดาตลอดจนผู้มีอำนาจ ตำแหน่งของเขาในฐานะบิดาแสดงให้เห็นได้ดีที่สุดจากหน้าที่ของเขาในฐานะผู้ดูแลและควบคุมการวิจัย The ESPers ซึ่งผู้ทดลองส่วนใหญ่เป็นเด็ก ในขณะที่ตำแหน่งของผู้มีอำนาจของเขา แสดงผ่านการรักษาไว้ซึ่งอำนาจที่ดิ้นรนเพื่อให้รัฐบาลที่ทุจริตของนครนีโอโตเกียวมีแนวคิดอยู่ในทิศทางเดียวกัน และในช่วงเวลานั้น เขาก็ทำงานเพื่อป้องกันหายนะของอากิระที่เกิดขึ้นในช่วงต้นของภาพยนตร์ 
    - อีกตัวละครหนึ่ง ที่มีอุปมานิทัศน์ในทำนองเดียวกับพลเอกชิกิชิมะ คือตัวละคร Ryu เขาคือตัวละครซึ่งวางตำแหน่งอยู่ตรงข้ามกับพลเอกชิกิชิมะ เขาเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการก่อการร้ายผู้ต่อต้านอำนาจอันมิชอบของรัฐในนครนีโอโตเกียว คือเห็นได้ชัดว่าเขาทำหน้าที่เป็นผู้มีอำนาจในแง่ของการออกคำสั่งหรือวางแผนสำหรับการประท้วงหรือก่อการร้าย เราอาจจะมองว่าเขาคือพ่อของ Kei สมาชิกสาวคนหนึ่งของกลุ่มต่อต้าน หากมองในแง่อุดมการณ์ ตัวละครริวมีความคล้ายกับพลเอกชิกิชิมะอย่างมาก เขาทั้งสองต้องการปกป้องนครนีโอโตเกียว แต่ด้วยเหตุผลที่แตกต่าง ทำให้เขาทั้งสองมีวิธีการในการปกป้องนครนีโอโตเกียวที่แตกต่างเช่นกัน ริวต้องการเห็นเมืองที่เขาอยู่กลับมารุ่งเรืองอีกครั้งโดยปราศจากการคอรัปชัน ส่วนพลเอกชิกิชิมะเพียงต้องการรักษาเมืองที่เขาอยู่ให้รอดจากมหันตภัยทางปรมาณู
    ▫️
    - บรรยากาศของความกังวลที่ปกคลุมอยู่รายรอบท่ามกลางการเอาตัวเป็นหนึ่งในจุดเด่นของภาพยนตร์วันสิ้นโลก ซึ่งส่วนใหญ่จะปรากฏบนภาพลักษณ์ของตัวละครเพศหญิง 
    - ในภาพยนตร์เรื่อง Akira ก็เช่นกัน ตัวละคร Kaori ซึ่งเป็นคนรักของเท็ตสึโอะ ได้ถูกพรรณนาไว้ว่ามีลักษณะนิสัยที่ขี้อายและดูอ่อนแอ แต่ถึงอย่างนั้น คาโอริก็เป็นตัวละครที่เป็นที่พักพิงและพื้นที่ปลอดภัยของเท็ตซึโอะ
    - ในครั้งแรกที่เขาหนีออกมาจากห้องทดลอง คาโอริเป็นคนแรกที่เขาไปหา และเขาชวนให้เธอหนีไปจากนครนีโอโตเกียวพร้อมกับเขา เธอเห็นพ้องด้วย แต่ความพยายามหลบหนีของพวกเขาจบลงด้วยการที่คาโอริถูกทุบตีอย่างไร้ความปราณีและเกือบถูกข่มขืนโดยแก๊งคู่อริของเท็ตสึโอะและคาเนดะ เช่นเดียวกับตัวละครหญิงในภาพยนตร์หลังสงครามเรื่องอื่นๆ คาโอริถูกมองว่าอ่อนแอกว่าตัวละครชายอย่างเห็นได้ชัด มีตัวละครหญิงเพียงตัวเดียวเท่านั้นที่มีความแข็งแกร่งเทียบเท่ากับตัวละครชาย นั่นก็คือตัวละครที่มีชื่อว่า Kei 
    - เคย์เป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มต่อต้าน ที่มักถูกวางตำแหน่งเป็นแนวหน้าในเหตุจลาจล ซึ่งเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับคาโอริแล้ว เคย์ไม่เพียงแต่สามารถหนีรอดจากความหายนะที่เกิดจากแรงระเบิดของเท็ตสึโอะได้เท่านั้น แต่บั้นปลายของเธอยังลงเอยด้วยการพัฒนาพลังจิตภายในตัวเธอเองได้อีกด้วย ส่วนคาโอรินั้น เธอถูกครอบงำโดยรูปร่างที่เปลี่ยนไปของเท็ตสึโอะ ชีวิตของเธอถูกกลืนหายไปกับร่างอันวิปลาสนั้นไปไม่มีวันกลับมา
    - นักวิชาการและนักวิจารณ์ภาพยนตร์ได้มีการตั้งข้อสังเกตการสูญเสียหรือความอ่อนแอของเพศหญิงในภาพยนตร์วันสิ้นโลกเหล่านี้ไว้ว่า "...เอกลักษณ์ประจำชาติของญี่ปุ่นได้กลายเป็นเพศหญิงโดยสมบูรณ์ผ่านภาพของมารดาและน้องสาวที่อ่อนแอที่กำลังใกล้ตาย ...ความเป็นหญิงแบบนี้นำไปสู่ความสิ้นหวังและการหวนคิดถึงวัฒนธรรมที่กำลังจะตายเช่นกัน" 
    - ดังนั้น ในขณะที่ร่างของคาโอริถูกดูดกลืนเข้าไปในตัวของเท็ตซึโอะ อาจสอดคล้องกับการคร่ำครวญถึงอดีต (ของประเทศญี่ปุ่น) ที่กำลังค่อยๆสูญหายไปตลอดกาล โดยตัวละครเคย์อาจทำหน้าที่เป็นสัญญาณแห่งความหวังสำหรับการฟื้นคืนของอดีตที่ดีงามของประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย
    ▫️
    - ตราบใดที่ภาพยนตร์เรื่อง Akira ยังถูกมองว่าเป็นภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับความไม่แน่นอนของเทคโนโลยีและสงครามนิวเคลียร์ พร้อมไปกับการเชิดชูศักยภาพในการสถาปนาตนเองขึ้นมาใหม่ในระหว่างความโกลาหลและความเสื่อมถอยของสังคม ประเด็นของวัยรุ่นก็ดูจะเป็นประเด็นที่ดูเผ็ดร้อนไม่แพ้กัน 
    - แน่นอนว่าแก่นเรื่องของสังคมและผู้มีอำนาจที่เป็นปัญหา ได้วางผู้ชมไว้ในพื้นที่แห่งความกังวลและความกำกวม ซึ่งหลายคนสามารถใช้เพื่อเชื่อมโยงความคล้ายคลึงกับการดิ้นรนของวัยรุ่นได้อย่างง่ายดาย หากสภาพชีวิตของตัวละครในภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถเทียบเคียงให้เหมือนกับสภาพสังคมของประเทศญี่ปุ่นในช่วงหลังสงคราม มันก็ชัดเจนว่าความก้าวหน้าในชีวิตของตัวละครเหล่านี้ตลอดทั้งเรื่องอาจแสดงให้เห็นถึงความปรารถนาของประเทศญี่ปุ่นที่จะก้าวไปข้างหน้าและก่อร่างสร้างตัวขึ้นใหม่ ความปรารถนาดังกล่าวสามารถเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่นได้จากการต่อสู้ดิ้นรน ความไม่แน่นอน ความกลัว และความขุ่นเคือง
    - สามารถตั้งข้อสังเกตได้ว่า ความรู้สึกต่างๆที่เกิดขึ้นกับตัวละคร ไม่ว่าจะความสิ้นหวังหรือความรู้สึกที่ถูกเก็บกด มันเป็นอารมณ์ที่มักเกี่ยวข้องกับวัยที่กำลังเติบโตและไขว่คว้าหาความก้าวหน้า ในกรณีของภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่มีภาชนะอารมณ์ใดที่เป็นตัวแทนได้ดีไปกว่าของเท็ตสึโอะ
    - แก่นสำคัญในการแสดงตัวตนทางวัฒนธรรมของญี่ปุ่นนั้นมีลักษณะเฉพาะ มีความโดดเดี่ยวและตกเป็นเหยื่อมาช้านาน ญี่ปุ่นจึงเป็นประเทศที่ต้องดิ้นรนต่อสู้กับอุปสรรคทั้งปวงอย่างโดดเดี่ยว รวมกับการเปิดตัวของภาพยนตร์ในปี ค.ศ. 1988 ซึ่งเป็นจุดสูงสุดของวงการสื่อสมัยใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงนั้น หลายคนในสังคมเริ่มวิตกสถานะของประเทศญี่ปุ่นในฐานะมหาอำนาจของโลก ที่ความเจริญของเทคโนโลยีได้สร้างอัตลักษณ์ใหม่ให้กับประเทศ แต่ความเจริญเหล่านั้นอาจจะกลายเป็นภัยให้กับประเทศในสักวัน อย่างเรื่องราวที่นำเสนอในภาพยนตร์  ผ่านความชั่วร้ายของเท็ตสึโอะ ที่ไม่สามารถควบคุมพลังที่เขาได้รับมาได้ จนนำมหันตภัยมาสู่ตัวเขาและทุกคนโดยรอบ
    ▫️
    - เท็ตสึโอะเติบโตมาในสถานที่อันเปราะบาง แม้ว่าเขาจะเป็นสมาชิกของแก๊งแคปซูล แต่ก็จะเห็นได้ชัดว่าการมีส่วนร่วมของเขากับแก๊งนั้น ขึ้นอยู่กับมิตรภาพที่ใกล้ชิดของเขากับหัวหน้าแก๊งอย่างคาเนดะ เท็ตซึโอะมักจะถูกมองว่าอ่อนแอกว่าเพื่อน โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับคาเนดะ ซึ่งเท็ตซึโอะพยายามจะขี่จักรยานยนต์ดัดแปลงของคาเนดะแต่ก็ล้มเหลวอย่างน่าสังเวช และนั่นก็ส่งผลให้เพื่อนภายในแก๊งเยาะเย้ยเขามาเสมอ จนกระทั่งเท็ตซึโอะได้พบกับ The ESPer คนนึงชื่อ Takashi เขาพยายามหลบหนีโดยการช่วยเหลือลับๆของกลุ่มต่อต้าน
    - ในช่วงเริ่มต้นของภาพยนตร์ เท็ตซึโอะจะถูกบรรยายว่าต้องพึ่งพาคาเนดะและเพื่อนคนอื่นๆภายในแก๊ง และเพื่อพิสูจน์ตนเองว่ามีความสามารถมากพอที่จะทำให้สมาชิกยอมรับ ทำให้เขาตัดสินใจไล่ล่าคู่อริโดยไม่พึ่งความช่วยเหลือของคาเนดะ จนทำให้เกิดอุบัติเหตุ และทำให้ความสามารถทางจิตของเท็ตซึโอะนั้นตื่นขึ้น ซึ่งในไม่ช้าก็ส่งผลให้เกิดพลังอันยิ่งใหญ่ที่ไม่มีใครสามารถควบคุมได้
    - ในช่วงครึ่งหลังของภาพยนตร์ เท็ตสึโอะได้รับการเปลี่ยนแปลงที่น่าสะพรึงกลัวควบคู่ไปกับการทำลายล้างทางจิตอย่างไม่หยุดยั้ง ซึ่งแสดงถึงรูปแบบการต่อต้านอย่างหมดหนทางของวัยรุ่นต่อโลกที่ไร้ความหมายมาก ซึ่งผู้มีอำนาจได้โกงกินหรือกดขี่เพื่อให้คงอยู่ในอำนาจต่อไปเท่านั้น
    - ในทางตรงกันข้าม ตัวแทนภาพของบิดาและผู้มีอำนาจของพลเอกชิกิชิมะที่กล่าวมาในข้างต้น ที่เริ่มต้นเรื่องราวโดยทุกอย่างอยู่ในการควบคุมของเขาทั้งหมด และอำนาจนั้นค่อยๆสูญเสียมันไปเมื่อพลังของเท็ตสึโอะเติบโตขึ้น และจบลงด้วยการล่มสลายของอำนาจที่เกิดขึ้นพร้อมๆกับการระเบิดอันเดือดดาล
    ▫️
    - Akira เป็นผลงานแนววันสิ้นโลกที่นำเสนอแนวทางที่แตกต่างเมื่อเปรียบเทียบกับผลงานแนววันสิ้นโลกอื่นๆ Akira ได้วางตำแหน่งตัวเองให้เป็นภาพยนตร์ที่เชิดชูองค์ประกอบของสังคมหลังวันโลกาวินาศในหลายๆด้าน โดยมีการสะท้อนผ่านแง่มุมต่างๆในยุคหลังสมัยใหม่ของวงการภาพยนตร์ อย่างการดำเนินเรื่องที่รวดเร็วเสริมด้วยดนตรีประกอบที่เร้าใจ มีการเน้นเอกลักษณ์ที่ผันผวน มีการใช้การผสมผสานของศิลปะเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นร่วมกับรูปแบบภาพยนตร์ที่โดดเด่น
    - โครงเรื่องของภาพยนตร์มีแสดงทัศนคติเชิงลบต่อสถาบันครอบครัวซึ่งแตกต่างจากผลงานอื่นๆโดยทั่วๆไป โดยแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนแทนการดำเนินเรื่องผ่านความรักของพ่อแม่
    - ฉากปะทะครั้งสุดท้ายเป็นการแสดงถึงจุดศูนย์กลางของความสับสนทางประวัติศาสตร์ การต่อสู้เกิดขึ้นที่ Yoyogi Stadium ซึ่งเป็นที่ตั้งของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ณ กรุงโตเกียวในปี ค.ศ. 1964 ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการฟื้นตัวของประเทศญี่ปุ่นจากความหายนะของสงครามโลกครั้งที่สอง แต่เมื่อสนามกีฬานั้นถูกทำลายในระหว่างการปะทะ อากิระก็ได้ทำลายอดีตและความหวังใหม่ของประเทศญี่ปุ่นไปพร้อมๆกัน
    - โครงสร้างและการตั้งคำถามเกี่ยวกับความเป็นจริงนี้สิ้นสุดลงในฉากสุดท้ายของภาพยนตร์ เมื่อเท็ตสึโอะถูกส่งไปยังสถานที่ที่ซึ่งผู้ชมสามารถสันนิษฐานได้ว่าเป็นอีกมิติหนึ่ง ภาพยนตร์เรื่องนี้จบลงด้วยเสียงที่ไร้ตัวตนของเท็ตสึโอะที่ประกาศขึ้นว่า "ฉันคือเท็ตสึโอะ" ซึ่งเป็นแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของเท็ตสึโอะจากวัยรุ่นไปสู่วัยผู้ใหญ่ ซึ่งถือเป็นการเข้าสู่ระบบสัญลักษณ์ (Symbolic Order) อย่างแท้จริง
    .
    ⏩ Epilogue : บทส่งท้าย

    - Akira ในฐานะที่เป็นภาพยนตร์ที่พูดถึงสังคมหลังโลกที่ล่มสลาย จึงมีความโดดเด่นอย่างชัดเจนในฐานะภาพยนตร์ที่พาผู้ชมท่องไปกับภาพของการทำลายล้าง ความแตกแยกทางสังคม และงานรื่นเริงแห่งความเหนือจริง อิทธิพลของสงครามและระเบิดปรมาณูมีบทบาทอย่างมากในเนื้อเรื่องของภาพยนตร์ตลอดจนแผนงานทางศิลปะอย่างที่เราได้ทัศนะ ชวนให้เกิดการการตีความอย่างละเอียดถี่ถ้วนเพื่อที่กลั่นอภิปรัชญาที่ซ่อนเร้นภายใต้นครนีโอโตเกียว
    - แม้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะออกฉายมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1988 แต่ Akira ยังคงส่งอิทธิพลต่อผลงานภาพยนตร์ ผลงานแอนิเมชั่น รวมถึงสื่อบันเทิงต่างๆมาจนถึงปัจจุบัน จนถึงตอนนี้ ก็ยังไม่ค่อยมีภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่องใดที่มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมพอๆกับที่มีความสัมพันธ์กับผู้ชมได้เท่า Akira แอนิเมชันเรื่องนี้ยังคงยืนหยัดอย่างโดดเดี่ยวกับความสามารถในการควบรวมอดีต ปัจจุบัน และอนาคตในลักษณะของบ่อนทำลายความปรารถนาที่จะแนบมาพร้อมกับความหมายที่แฝงมาได้อย่างลงตัว

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in