เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
My First StoryStamp Williams
รีวิว เตรียมตัวสอบเข้าอักษรจุฬา(รอบรับตรง)
  • เป็นหนึ่งในเด็ก60ที่พึ่งติดอักษรจุฬา เลยอยากมารีวิวอย่างละเอียดถึงการเตรียมตัวในวิชาต่างๆที่ใช้ยื่นคะแนนเข้ามาครับ โดยเรายื่นคะแนนเข้ามาในคณะนี้โดยรอบรับตรงซึ่งต้องใช้คะแนนทั้งหมด 4อย่างด้วยกัน ประกอบด้วยแพท 7 และ9วิชาสามัญ 3วิชาด้วยกันคือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษและสังคมศึกษา โดยสัดส่วนคะแนนคือ 25% เท่ากันหมดครับ ถ้าคิดเป็นคะแนนเต็ม 30,000 ก็จะมีค่าวิชาละ 7500คะแนน เพราะฉะนั้นทุกวิชาสำคัญหมดเลยครับ เทไม่ได้เลย55555 ถ้าน้องทำแพทได้ไม่เยอะ แต่น้องได้9วิชาเยอะก็มีโอกาสครับหรือทำ9วิชาได้ปานกลาง แต่แพทดีก็มีโอกาสเช่นกันครับ
            มาเริ่มกันที่9 วิชาสามัญกันครับเรียงลำดับความยากง่ายสำหรับเราคงเป็นสังคมศึกษาครับที่ยากสุด รองลงก็มาภาษาอังกฤษ และวิชาที่คิดว่าเก็บคะแนนได้ง่ายที่สุดในสามวิชานี้คือภาษาไทยครับ

    1.วิชาภาษาไทย 

    วิชาภาษาไทยของ9วิชาสามัญ จะเน้นการวิเคราะห์มากครับ ถ้าใครเคยลองทำข้อสอบก็จะรู้ว่าแทบไม่ออกหลักภาษาเลย จะไปเน้นการอ่านจับใจความมากๆ ถ้าใครวิเคราะห์เก่ง จับใจความได้ดี รับรองว่าฟาดคะแนนได้เยอะแน่นอน โดยเรื่องที่ออกข้อสอบมีดังนี้ครับ
    โดยจากข้อสอบปี 2555-2559 จำนวนข้อของแต่ละเรื่องที่ออกสอบจะประมาณนี้ครับ 
    1.การสะกดคำ ปี55-59 ออกทุกปีเลยครับ ปีละ1ข้อ
    2.ลักษณนาม ปี55-56ออกปีละ1ข้อครับ โดยปีหลังๆมาไม่ออกแล้ว
    3.สำนวน ปี55-59 ออกปีละ 2 ข้อทุกปีเลยครับ
    4.เรื่องความหมายโดยตรง โดยนัย ออกทุกปีปีละ 1 ข้อครับ
    5.เรื่องเจตนาประโยค จะออกประมาณปีละ 1 ข้อครับ มีปี56 ที่ออกมากถึง 3 ข้อ
    6.ภาษาทางการ-ไม่ทางการ ปี55-56 ออกปีละ 1 ข้อครับ ปี57-59ออกปีละ 2 ข้อ
    7.คำทับศัพท์ ออกปีละ 1 ข้อครับ
    8.ราชาศัพท์ออกปีละ 1 ข้อครับ ข้อสอบชอบออก "ทรงพระราชทาน" มากๆครับ ซึ่ีงใช้ผิดครับ พระราชทานเป็นกริยาราชาศัพท์อยู่แล้ว ใช้ทรงนำหน้าไม่ได้ครับ ซึ่งคนจะโดนหลอกเยอะ
    9.เหตุ-ผล ออกปีละ 3 ข้อครับ มีปี56 ออกถึง 4 ข้อ
    10.ทรรศนะ จะออกประมาณปีละ 2-3ข้อครับ
    11.การโต้แย้งออกปีละ 2 ข้อครับ
    12.การโน้มน้าวออกปีละ 1 ข้อครับ โดยหลักของการโน้มนามก็คืออ่านแล้วรู้ว่า ต้องทำอะไร +ทำแล้วได้อะไร เช่น เชิญชวนบริจาคเลือดซึ่งเป็นผลบุญอันยิ่งใหญ่ ก็คือโน้วมน้าวใหเราบริจาดเลือด บริจาคแล้วได้บุญอันยิ่งใหญ่ 
    13.ลำดับข้อความออกปีละ 2 ข้อครับ
    14.การใช้คำให้ถูกความหมายออกปีละ 2 ข้อครับ
    15.ภาษากำกวมออกปีละ 1 ข้อ 
    16.ประโยคจบสมบูณ์ออกปีละ 1 ข้อครับ เรื่องนี้หลายคนงง มันก็คือประโยคที่ยังไม่จบสมบูรณ์อ่ะครับ อ่านแล้วงงว่าแล้วไงต่อ เค้าจะให้ข้อความมายาวๆเลยอ่ะครับ อย่างเช่น
    "เทคนิคที่ทันสมัยในการป้องกันและกำจัดแมลงที่ถ่ายทอดไปยังชุมชน" 
    แบบนี้เรียกว่าประโยคไม่สมบูรณ์อ่ะครับ คืออ่านแล้วมันยังไม่เคลีย อ่านแล้วยังไม่จบอ่ะครับ อ่านแล้วยังต้องตั้งคำถามในหัวว่า "แล้วไงต่อ"
    17.เรื่องการบรรยาย พรรณนา อธิบาย ออกปีละ2ข้อครับ
    18.การวิเคราะห์การพูด ออกปีละประมาณ 1 ข้อ
    19.การสนทนา ออกปีประมาณละ 1ข้อครับ อันนี้ก็แค่เลือกคำพูดที่เหมาะสมไปเติมครับ
    20.การจับประเด็น เจตนาของผู้เขียน ออกเยอะมากครับ
    ปี2555ออก 9 ข้อ
    ปี2556ออก12ข้อ
    ปี2557ออก10ข้อ
    ปี2558ออก13ข้อ
    ปี2559ออก14ข้อ  พาร์ทนี้สำคัญมากๆครับ ควรฝึกทำข้อสอบแนวนี้ให้เยอะๆครับ น้องจะฟาดคะแนนได้เยอะมากๆ
    เนื่องจากพาร์ทนี้ควรเน้นมากเป็นพิเศษพี่มีตัวอย่างข้อสอบมาให้ดูครับ 
    ข้อนี้เค้าถามเจตนาของผู้เขียน ถ้าน้องลองอ่านดูดีๆสรุปประมาณว่า การที่ลูกได้ยินเรื่องดีๆของแม่จากปากพ่อ เรื่องดีๆของพ่อจากปากแม่ ไม่ช้าลูกก็จะมีความประพฤติที่ดี คือน้องคิดดูถ้าเค้าพูดมาขนาดนี้แล้วอ่ะ มันควรจะเป็นแนะให้ปฏิบัติตามอ่ะ คือการที่พูดมาขนาดนี้บวกกับการบอกผลดีของการปฏิบัติตามข้อความข้างต้นมาด้วยแบบนี้ การตอบข้อ 1 น่าจะถูกต้องที่สุดแล้ว
    21.การอนุมานจากการอ่าน หรือที่เราเจอในข้อสอบรีดดิ้งภาษาอังกฤษบ่อยๆนั่นเองครับที่เขาจะถามว่า what can be inferred from this passage ก็คือสามารถอนุมานได้ว่าอย่างไรจากบทความข้างต้น ประมาณนี้ครับ ซึ่งออกเยอะมากเช่นกัน 
    ปี2555ออก 11 ข้อ
    ปี2556ออก8ข้อ
    ปี2557ออก11ข้อ
    ปี2558ออก8ข้อ
    ปี2559ออก8ข้อ

    ตัวอย่างข้อสอบการอนุมานครับ
    การอนุมานพี่มีเทคนิคมาฝากครับ เป็นเทคนิคง่ายๆเลยคือให้ลองโยงหาreferencesจากข้อความที่เค้าให้มาเลยครับ ว่าในช้อยที่เค้าให้มาอ่ะ ในข้อความมันมีรึป่าว เค้าให้มารึป่าว ถ้าเค้าไม่ได้กล่าวถึงเลยมันอนุมานไม่ได้แน่นอนครับ ลองทำแบบนี้ครับแล้วจะง่ายขึ้น


    22. เรื่องเรียงความ ออกปีละ 1 ข้อครับ เค้าจะให้ข้อความมาแล้วถามว่าข้อความข้างต้นควรเป็นส่วนใดของเรียงความ 
    23.เรื่องค่านิยม -ความเชื่อมีออกแค่ในปี 2555ครับ หลังจากนั้นมาไม่มีออกแล้ว
    **ขอบคุณข้อมูลสถิติจำนวนข้อในข้อสอบจากชีท.ของอ.ปิงครับ**

    การเตรียมตัวที่ดีคือน้องควรอ่านเนื้อหาซัก 1-2 รอบก่อนครับ โดยอ่านตามหัวข้อด้านบนเลยครับเช่นเรื่องการใช้เหตุผลน้องก็ไปดูว่ามันเป็นอย่างไรทั้งการให้เหตุผลแบบเหตุไปหาผล ผลไปหาเหตุ หรือแบบผลไปหาผล  ถ้าน้องอ่านเนื้อหาทั้งหมดแล้ว1-2รอบ ก็เริ่มทำข้อสอบเลยครับ โดยข้อสอบมีเผยแพร่หมดเลยครับตั้งแต่ปี2555-2559 หนังสือที่แนะนำในส่วนของเนื่อหาพี่แนะนำให้อ่าน Mini thai book ของอ.ปิงเลยครับ เล่มเดียวเอาอยู่มากๆและสามารถใช้กับโอเน็ตได้ด้วย
    หรือถ้าน้องไม่สามารถหาmini thai bookของอ.ปิงมาอ่านได้ พี่ก็มีอีกเล่มแนะนำคือหนังสือภาษาไทยม.6ที่โรงเรียนแจกนี่แหละครับ มีครบแทบจะทุกเรื่องเลย ที่พี่ชอบมากคือเค้าอธิบายเรื่องราชาศัพท์ไว้ได้ดีมากๆครับ ละเอียดดีมากเลย
    การทำข้อสอบเก่า ถ้าอยากได้คะแนนดีๆน้องต้องทำทุกฉบับเลยครับ ฉบับละ 3รอบขึ้นไปจะดีมาก โดยทำอย่างนี้ครับ อย่างเช่นน้องทำปี 55รอบที่1 ได้ 80คะแนน ผิด10ข้อน้องก็ไปดูครับว่าผิดเรืองอะไร ผิดตรงไหน ทำไมถึงผิด เจาะให้ละเอียดไปเลยครับ แล้วก็ไปอ่านเพิ่ม แล้วเว้นระยะซัก 7วันให้ลืมเฉลยของปี 55ไปก่อน แล้วกลับมาทำปี55ใหม่ครับ แล้วก็ทำเหมือนเดิมว่ายังผิดอะไรอีก ผิดข้อเดิมรึป่าว หรือผิดข้อที่เคยทำถูก หาจุดบกพร่องของตัวเองไปเรื่อยๆเลยครับ แล้วน้องจะเก่งขึ้นเอง
    แล้วถ้าน้องทำข้อสอบเก่าหมดทุกฉบับแล้วยังคิดว่าไม่พอพี่แนะนำให้ไปหาเล่มนี้ของอ.ปิงมาทำเพิ่มครับ ดีมาก หาซื้อได้ตามร้านหนังสือทั่วไปเลยครับข้อสอบจะแบ่งเป็นเรื่องๆเลยครับมี1000ข้อ และมีเฉลยละเอียดด้วย ถ้าน้องไม่เข้าใจว่าทำไมถึงตอบข้อนี้ก็สามารถอ่านเฉลยละเอียดได้เลยครับ

    2.วิชาภาษาอังกฤษ

    วิชานี้ขึ้นชื่อเลยครับ เรื่องทำไม่ทัน ตอนแรกพี่ก็กลัวจะทำไม่ทันเหมือนกัน เพราะมันเยอะมาก 80ข้อ ให้เวลา 90นาที ซึ่งเราต้องใช้เวลาแค่ข้อละ 1 นาทีหรือน้อยกว่านั้นครับ ซึ่งมันต้องเกิดจากการฝึกฝนทำข้อสอบบ่อยๆและจับเวลาไปด้วยครับ โดยรูปแบบข้อสอบที่สทศ.ออกมาให้ดูคือแบบนี้ครับ 
     สัดส่วนข้อสอบที่แยกแบบละเอียดจะประมาณนี้ครับ
    20ข้อแรกเป็น conversationครับมี 20 ข้อ ควรจะทำพาร์ทนี้ภายใน10-15นาทีนะครับ ไม่ควรเกินนี้ เพราะมันง่ายที่สุดแล้วครับในข้อสอบ
    40ข้อถัดมาจะแบ่งเป็น graph /table /reading ครับ 
    15ข้อถัดมาจะเป็น cloze test ครับ
    5ข้อสุดท้ายจะให้เรียงประโยคครับ 
    โดย 5 ข้อสุดท้ายมันจะไม่เหมือนกันครับในปี55-58 ให้เรียงประโยค ปี59เปลี่ยนเป็นแบบนี้ครับ
    และปี60ปีของพี่ก็เปลี่ยนมาให้เรียงประโยคเหมือนเดิมครับ 55555 
    ในส่วนของพาร์ท  conversation เทคนิคของพี่คือการดูหนังดูซีรีส์สะสมมาเรื่อยๆครับ มันช่วยได้มากจริงๆครับ เพราะมันคือบทสนทนาทั่วไปเลยครับ ซึ่งการดูหนัง ดูซีรีส์ฝรั่งมันจะทำให้เราชินกับบทสนทนาในชีวิตประจำวันมากๆครับ ทำแต่ข้อสอบพี่ว่าไม่พอนะ เพราะเราจะไม่ชินกับใช้ภาษา พอเราดูหนังดูซีรีส์เยอะๆพอมาทำข้อสอบพาร์ทนนี้มันจะชิลๆเลยครับ เพราะเราคุ้นชินกับการใช้ประโยคพวกนี้ผ่านจากการดูหนังดูซีรีส์มาแล้ว 
    โดยหนังสือที่แนะนำก็คือหนังสือที่ใช้เตรียมสอบแกท เตรียมสอบ 9 วิชาทั่วไปเลยครับ เพราะการสอบแทบทุกอย่างก็จะมีพาร์ทคอนเวออยู่แล้ว







    พาร์ทต่อมามีหลายอย่างครับทั้งกราฟ ตาราง และรีดดิ้ง ประมาณ40ข้อ 
    พวกกราฟ ตารางต่างๆสามารถอ่านโจทย์แล้วไปหาคำตอบมาตอบได้เลยครับ ไม่ยากเลย
    ควรถูกพาร์ทนี้ให้หมดครับ
    ส่วนต่อมาคือรีดดิ้งจะมีประมาณ 8 passageครับปนกันทั้ง short passage และ long passage ครับ 
    น้องจะต้องอ่านมากถึง 8 passage ภายในเวลาอันจำกัด ฟังดูโหด แต่มันสามารถทำได้ครับ พี่ก็ไม่ใช่คนเก่งอะไรครับ แต่มันเกิดจากการฝึกฝน practice makes perfect จริงๆครับ สำหรับคนที่อาจจะไม่ได้ถนัดหรืออ่อนในส่วนการทำข้อสอบพาร์ท Reading พี่แนะนำให้ปูพื้นฐานด้วยเล่มนี้ก่อนครับ
     
    เล่มนี้จะดีมากมีตั้งแต่ง่ายๆไปจนถึงยากเลยครับ น้องจะได้ฝึกฝนอย่างเต็มที่ พอน้องชำนาญขึ้นแล้วหรือว่ารู้สึกว่าเราทำข้อสอบรีดดิ้งได้ดีขึ้นแล้วพี่อยากให้น้องไปหาซื้อ 3 เล่มนี้มาทำครับ ดีมากๆเลย
    Cu-tep Reading
    เล่มนี้ดีมากๆครับ เป็น reading ทั้งหมดเลย พี่ว่าความยากของศัพท์มันพอๆกับ 9 วิชาอ่ะหรืออาจจะยากกว่าด้วยซ้ำในบางบทความ เวลาทำข้อสอบถ้าเราไม่รู้ศัพทืตรงไหนน้องก็จดไว้ครับ ช่วยได้มากๆ 
    ส่วนอีกสองเล่มคือ 
    cu-tep practice test มีสองเล่ม 

    สองเล่มนี้สำหรับพี่ บทความยากมากครับ555555 บางบทความพี่อ่านรู้เรื่องไม่ถึงครึ่งเลยอ่ะ พี่ว่ามันยากกว่าข้อสอบจริงมากเลยครับ ถ้าน้องฝึกทำจนสามารถทำสองเล่มนี้แล้วได้คะแนนรีดดิ้งเยอะ 9 วิชาน้องทำได้สบายๆแน่นอนครับ ด้วยความที่เล่มนี้คือ cu tep มันเลยมีครบทุกพาร์ท น้องก็สามารถไปทำพาร์ทอื่นได้ด้วยครับมีทั้งพาร์ทฟัง (เค้าจะมี CD มาให้) พาร์ทรีดดิ้ง  Cloze test แล้วก็แกรมม่าครับ แอเร่อล้วนๆเลย คือ2เล่มนี้ครบมากครับ ถือว่าคุ้มค่ามากเลย ได้ฝึกทักษะครบทุกด้าน 

    ส่วนพาร์ทเรียงประโยค กับ cloze test ก็สามารถหาทำได้จากหนังด้านบนเลยครับ เล่มสีเหลือง 9 วิชาพี่ก็ว่าดีมากเหมือนกัน 
    โดยพาร์ท cloze test ของ 9วิชา พี่ว่าเค้าไม่ได้เน้นแกรมม่ามากขนาดนั้นอ่ะ มันมีศัพท์ด้วย คำเชื่อมอะไรต่างๆ แต่ถ้าน้องแม่นแกรมม่ามันก็จะช่วยได้เยอะมากเลยครับ คือถ้าน้องทำข้อสอบมาเยอะ อ่านบทความภาษาอังกฤษเยอะพาร์ทนี้จะไม่ยากเลยครับ มันจะชินกับการใช้ภาษาในบทความ คำเชื่อมต่างๆ เรื่องหนังสือแกรมม่านี่ขึ้นอยู่กับแต่ละคนจริงๆครับ ลองไปยื่นเลือกดูตามร้านหนังสือว่าเราชอบเล่มไหน ส่วนตัวพี่แนะนำสองเล่มนี้ครับ

    โดยเฉพาะเล่มสีฟ้า เนื้อหากระชับดีมากครับ อ่านเนื้อหาแล้วมีแบบฝึกหัดต่อเลย ดีมากครับ
      
    เทคนิคของพี่ตอนทำข้อสอบพี่เริ่มทำคอนเวอก่อนครับ ทำเสร็จภายใน 10นาที แล้วพลิกไปทำ 20ข้อหลังต่อเลยครับ คือ cloze test กับเรียงประโยคให้เสร็จภายใน 20 นาทีครับ 
    น้องก็จะเหลือเวลาทำพาร์ทกราฟ /รีดดิ้ง อีก 1 ชั่วโมงเต็มเลยครับ น้องจะมีเวลาอ่านบทความเต็มๆเลยครับ ซึ่งดีมาก เพราะพาร์ทนี้มันจะใช้เวลาเยอะ 
    เวลาทำให้เรียงตามนี้ครับ 
    Conver  >  cloze > เรียงประโยค >  graph/Reading
    ขึ้นอยู่กับความถนัดของแต่ละคนด้วย ซึ่งบางคนอาจจะทำ reading ก่อนแล้วทำได้เร็วกว่าก็ได้

           สำหรับ 9 วิชาสามัญภาษาอังกฤษ น้องต้องฝึกฝนบ่อยๆครับ พยายาทำข้อสอบบ่อยๆ แต่ไม่ใช่การทำข้อสอบอย่างเดียวนะครับ น้องต้องพยายามใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันเยอะๆหรือการดูซีรีส์ ดูหนังฝรั่งที่พี่บอกไปข้างต้น มันช่วยได้มากจริงๆ มันจะทำให้เราคุ้นชิบกับการใช้ภาษาอังกฤษมาก หรือถ้าใครชอบอ่านนิยายก็ลองหาหนังสือนิยายeng มาอ่านครับ สิ่งเหล่านี้แหละครับทั้งการดูหนัง ดูซีรีส์ ฟังเพลงสากล รวมถึงการอ่านิยาย จะช่วยพัฒนาหล่อหลอมให้น้องเป็นคนที่เก่งภาษาอังกฤษไปโดยธรรมชาติเลยครับ และน้องก็จะทำข้อสอบได้ดีขึ้นเรื่อยๆ 
        
    เรียนพิเศษ 

                 พี่เรียนคอร์ส 9 วิชาของพี่แนนครับ ถ้าใครมีพื้นฐานดีระดับนึงแล้ว คอร์สนี้จะช่วยน้องได้มากจริงๆครับ เพราะเนื้อหามันยากกว่าข้อสอบจริงบวกกับการที่แนนสอนแบบเข้มข้นมากๆในคอร์สนี้ เป็นคอร์สที่พี่ชอบมากครับ พี่แนนแตกศัพท์เยอะมาก จดมือพัง5555555 
                สุดท้ายสำหรับวิชาภาษาอังกฤษ ขึ้นชื่อว่าภาษามันไม่มีใครมาเก่งได้ภายในระยะเวลา 2-3 เดือนหรอกครับ น้องต้องเก็บสะสมมาเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นอย่าประมาทครับ น้องๆ61ควรเริ่มได้แล้วสำหรับภาษาอังกฤษ ใครที่เริ่มแล้วก็พัฒนาให้ตัวเองดียิ่งๆขึ้นไปอีกครับ อย่างตัวพี่เองก็เริ่มดูหนังฝรั่ง ดูซีรีส์ฝรั่งจริงจังก็ตอนม.2 ครับ เก็บสะสมมาเรื่อยๆ พัฒนาตัวเองมาเรื่อยๆ 

    3.วิชาสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม
    เนื้อหาการออกข้อสอบก็จะประมาณนี้ครับ 
    เป็นวิชาที่ขึ้นชื่อเลยครับ เรื่องความโหดหิน ความครอบจักรวาล ออกได้รอบโลกมากครับ โดยเค้าจะออกเท่ากันหมดเลยครับ 
    1.ศาสนา 10ข้อ
    2.หน้าที่ 10ข้อ
    3.เศรษฐศาสตร์ 10ข้อ
    4.ประวัติศาสตร์ 10ข้อ
    5.ภูมิศาสตร์ 10ข้อ
    และนี่คือสัดส่วนข้อสอบอย่างละเอียดครับ ของพี่หมุยSociThai


    2พาร์ทที่พี่คิดว่าสามารถจะเก็บคะแนนได้มากที่สุดก็คือ ศาสนากับประวัติศาสตร์ 
    เพราะ2พาร์ทนี้ไม่ต้องวิเคราะห์มากครับเป็นข้อสอบแบบถามความจำซะส่วนใหญ่แต่ก็ไม่ใช่ไม่ออกวิเคราะห์เลยนะครับ มีวิเคราะห์อยู่แต่ก็ไม่เยอะเท่าอีกสามพาร์ท ปี60นี่ชัดเจนเลย ออกความจำหลายข้อมาก

    ส่วนอีกสามพาร์ทนั้นต้องนำความรู้ที่เราอ่านหนังสือมาวิเคราะห์อีกทีครับถึงจะตอบได้ โดยเฉพาะหน้าที่พลเมือง ที่ออกกฎหมายแบบเน้นๆเลยครับ ยากมากๆ พี่ว่ายากสุดแล้วอ่ะ น้องต้องอ่านกฎหมายมาดีมากๆ พยายามจำให้ได้เยอะที่สุดแล้วเค้าจะให้เรามาวิเคราะห์ ตัวอย่างข้อสอบประมาณนี้ครับ 
    เค้าก็จะให้ข้อมูลเรามาเป็นมาตรากฎหมาย แล้วก็จะให้เราวิเคราะห์ครับ 
    เศรษฐศาสตร์กับภูมิศาสตร์ ก็ยากเหมือนกันครับ ต้องวิเคราะห์เกือบหมดเลย ภูมิศาสตร์จะเน้นออกเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมอะไรพวกนี้ครับ แล้วให้เราวิเคราะห์ เศรษฐศาสตร์ปี60 นี่พีคมากครับพี่ว่ายากมากๆเลย แทบอ้วก555555 
    ข้อสอบภูมิศาสตร์จะประมาณนี้ครับ 
    การจะทำข้อสอบสังคมได้คือ
    1.ต้องอ่านหนังสือเยอะมากๆ อ่านจากหลายๆเล่มเลยครับ
    2.ฝึกทำโจทย์เยอะๆครับ หลังๆมานี้ข้อสอบสังคมมีออกซ้ำกับข้อสอบสมัยเอ็นทรานซ์ด้วยนะครับปี60นี่ออกซ้ำ 2-3 ข้อเลยครับ รู้สึกว่าจะเป็นพาร์ทศาสนา และประโยชน์ของการทำข้อสอบอีกอย่างนึงก็คือจะได้รู้ว่าความรู้เราแน่นขนาดไหน ยังมีตรงไหนที่ยังไม่แม่น เราจะได้ไปอุดรอยรั่วตรงนั้นได้ 
    3.ติดตามข่าวสารบ้านเมืองครับ พยายามอัพเดทเหตุการณ์ต่างๆตลอดเวลา เพราะสังคมมันสามารถออกได้หมดจริงๆ 

    หนังสือ
    พี่เรียนคอร์สอินเทนซีฟของอ.ปิงครับดีมากครับ เนื้อหาแน่นมาก เรียนจบแล้วควรกลับบ้านมาอ่านทวนครับ จะทำให้เราจำได้ดีขึ้น พี่ว่าควรอ่าน 4-5รอบอ่ะครับ สังคมอ่านรอบเดียวมันไม่พอครับ เพราะเนื้อหามันเยอะและกว้างมากๆครับ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ เนื้อหาของหนังสืออ.ปิงละเอียดมากๆ
    และพี่ก็ไปซื้อหนังสือคอร์สเทอร์โบต่อจากรุ่นพี่มาอ่านครับ เทอร์โบจะสรุปดีมากครับ กระชับมาก ถ้าน้องอ่านอินเทนซีฟมาแล้วมาอ่านเทอร์โบต่อพี่ว่ามันเวิร์คมากเลยอ่ะ เทอร์โบก็ควรอ่าน 5รอบครับ เอาให้จำได้ให้เยอะมากที่สุด  

    ส่วนใครที่อยากอ่านเองพี่แนะนำ 2 เล่มนี้ 
    หัวใจสังคมของอ.ชัย ดีมากๆครับ สรุปได้กระชับ เนื้อหาแน่นเวอร์ อ่านง่าย พี่ชอบพาร์ทกฎหมายมาก ละเอียดดีมากครับ อ.ชัยเขียนดีมาก อ่านแล้วเข้าใจง่ายมาก 

    สรุปสังคมม.ปลายของพี่บอล 
    เล่มนี้ก็ดีครับ พี่ว่าเหมาะสำหรับการเอาไว้อ่านทวนตอนใกล้ๆสอบแล้วอ่ะ พี่ว่าเวิร์ค

    คอนเซ็ปการอ่านของสังคมคืออ่านไปเถอะครับ อ่านให้มากที่สุดเท่าที่จะอ่านได้เลยครับ เพราะเราไม่รู้เลยว่าเค้าจะเอาตรงไหนมาออก อ่านไปให้ครอบคลุมให้ได้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ครับ และอย่างที่บอกไปบ้างบนแล้วว่าควรทำข้อสอบควบคู่กันไปด้วยครับ ช่วยได้มาก 

    ต่อไปคือแพท 7 ครับ พี่เลือกสอบแพท7.6 ครับ ภาษาบาลี

    แพท7.6 ภาษาบาลี

         เคยได้ยินมั๊ยครับแพทบาลีใครๆก็ทำได้เพราะมันเป็นภาษาไทย และพอเข้าไปทำข้อสอบจริงๆน้องก็จะรู้ว่ามันไม่ใช่แบบนั้นเลย ภาษาบาลีก็เป็นอีกภาษานึงไปเลยนะครับ เพียงแค่ใช้ตัวอักษรไทย คนถึงคิดว่าง่าย
        จุดเริ่มต้นของการเรียนบาลีคือพี่คิดว่าอย่างน้อยก็เป็นตัวอักษรไทย คงใช้เวลาไม่มากเท่าภาษาอื่นที่ต้องไปเริ่มต้นใหม่หมดตั้งแต่ตัวอักษร ด้วยความที่พี่มาเริ่มอ่านหนังสือเริ่มเรียนพิเศษก็ตอนม.5แล้วและพี่ก็เรียนสายวิทย์ด้วย จะให้ไปเริ่มภาษาอื่นคงไม่ทันแล้วและบาลีก็เป็นสิ่งที่พี่เลือก
          ตอนได้เปิดหนังสืออ่านครั้งแรกคืองงมากเลยครับ อ่านไม่รู้เรื่องเลย จับจุดไม่ถูกเลยว่าเราต้องเน้นตรงไหน  งงไปหมด แต่พอเราเริ่มทำความเข้าใจไปเรื่อยๆมันจะเริ่มเข้าใจครับ แพท7บาลีออกเน้นแกรมม่าครับ คือเน้นท่องนั่นเอง ต้องจำเนื้อหาให้ได้ทั้งหมดอ่ะครับ หมดทั้งเล่มเลย เค้าแทบจะออกตามหนังสือเลยครับ คือถ้าใครจำได้หมด ทำข้อสอบได้เกือบหมดแน่นอน แต่ก็ไม่ใช่แค่นั้นครับ แพทบาลียังมีพาร์ท Reading อีกด้วย เป็นพาสเสจภาษาบาลีมาให้เลยครับ เราต้องแปลให้ได้ โดยข้อสอบจะเป็นประมาณนี้ครับ 


    และแพทบาลียังมี cloze test อีกด้วยนะครับ นอกจากจำได้แล้ว ต้องนำมาประยุกต์ใช้ให้ได้ด้วยครับ บาลีก็มีเทนส์เหมือนกันอย่างข้อ 88 เราก็จะต้องนำกริยามาผันให้ตรงกับคำแปลที่เค้าให้มาครับ 
    หนังสือที่แนะนำ 
    สำหรับคนที่อ่านแล้วทำไงก็ไม่รู้เรื่องแล้วอยากเรียนพิเศษ พี่เรียนกับดาวองก์ครับ สอนโดยพี่มอลลี่ อักษร จุฬาครับ โดยจะแบ่งเป็นสองคอร์สคือ อินเทนซีฟกับเทอโบครับ
    1.Intensive Palibhasa
    จะเป็นเนื้อหาล้วนๆเลยครับ มีทั้งหมดประมาณ18ม้วน เรียนจบเรื่องนึงก็จะมีแบบฝึกหัดเป็นข้อสอบให้ทำด้วยครับ พี่เค้าสอนดีมาก ทำให้การเรียนบาลีไม่น่าเบื่ออย่างที่เราคิด หนังสือของคอร์สนี้ถ้าน้องจำได้ทั้งเล่มก็ทำข้อสอบได้คะแนนดีแน่นอน จำให้ได้ทุกตัวอักษรไปเลย55555 พี่ใช้เวลาเดือนตุลาก่อนสอบแกทแพทไปกับการจำหนังสือเล่มนี้อ่ะ บวกกับการอ่านเล่มอื่นควบคู่ไปด้วย เดือนตุลาพี่นั่งท่องนั่งอ่านหนังสือเล่มนี้ไปประมาณ 30รอบอ่ะ555555 แต่ละรอบที่เราอ่านมันก็จะทำให้เราเข้าใจในเนื้อหามากขึ้น ถ้าเราจำจากความเข้าใจมันจะจำแบบฝังหัวเลยครับ อ่านวันละรอบอ่ะกำลังดี ระหว่างเรียนไปก็ทวนไปด้วย การเรียนพิเศษแบบเรียนแล้วเรียนเลยไม่ได้ช่วยอะไรเลยนะ ถ้าเรียนแล้วไม่ทวนมีค่า=0
    2.Turbo Palibhasa
    คอร์สนี้เป็นคอร์สตะลุยโจทย์ ในหนังสือตอนแรกจะเป็นสรุปคอนเซ็ปย่อๆของแต่ละเรื่องว่ามีอะไรบ้าง เอาไว้ทวนตอนใกล้สอบคือเวิร์คมาก ที่เหลือจะเป็นข้อสอบ 7 ชุด700ข้อ+ข้อสอบชุดพิเศษตอนม้วนสุดท้ายอีก 1 ชุด พี่เขาก็จะสอนเราทำโจทย์ไปเรื่อยๆ สอนแปล reading ด้วย ตรงนี้สนุกมาก เหมือนเล่านิทาน 55555 พี่แนะนำให้ทำโจทย์ไปก่อนนะถึงจะเวิร์ค ถ้าไม่ทำไปก่อนไปทำพร้อมพี่เค้าเลยมันก็ไม่มีประโยชน์อ่ะ เพราะเราไม่ได้ลองทำจริงๆ 


    ส่วนใครที่อยากอ่านเอง หนังสือตามนี้เลย
    1.หลักสูตรย่อบาลีไวยากรณ์ ฉบับสมบูรณ์
    เล่มนี้ยอดฮิตมาก55555ใครที่จะสอบบาลีก็ต้องมีเล่มนี้ เล่มนี้จะดีตรงมีบอกไว้ชัดเจนว่าตรงไหนต้องท่องบ้าง ตรงไหนไม่จำเป็นต้องท่อง 

    2.หนังสือบาลี 4 เล่ม ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ
      เนื้อหาก็เหมือนกับเล่มข้างบนครับเพียงแต่ภาษาจะโบราณกว่า เหมือนพี่เคยอ่านเจอว่าแพทบาลีเค้าจะยึดตาม 4 เล่มนี้นะ ควรมีไว้อ่านสำหรับคนที่จะสอบแพทบาลี

    3.คู่มือเรียนภาษาบาลีด้วยตนเอง
    เล่มนี้คือแนะนำมากๆ สำหรับคนที่อยากอ่านเนื้อหาแบบละเอียดจริงๆ และมีเวลาเยอะ ถ้าน้องเหลือเวลาอีก 1ปีพี่ว่าอ่านเล่มนี้ก่อนเวิร์คมากๆ ละเอียดมากจริงๆ ด้วยความหนากว่า 600หน้าอัดแน่นไปด้วยเนื้อหา และตัวอย่างมากมาย อีกอย่างที่เป็นข้อดีของเล่มนี้คือศัพท์เยอะมากๆ รู้ศัพท์เยอะน้องก็ได้เปรียบในส่วนของพาร์ท Reading คือน้องจะแปลได้ง่ายขึ้น

    4.คู่มือบาลีไวยากรณ์ฉบับแผนผัง
    เล่มนี้สรุปแกรมม่าไว้เป็นแผนผังเลย เหมาะสำหรับเวลาน้องอ่านเนื้อหาจากเล่มอื่นๆจนจำได้หมดแล้ว แล้วมาอ่านทวนจากเล่มนี้เอา ด้วยความที่เล่มนี้พกพาง่าย น้องก็พกไปอ่านได้ทุกที่เวลาว่างๆก็หยิบขึ้นมาอ่านได้เลย ตอนอยู่โรงเรียนไรงี้ 

    การตั้งเป้าคะแนน
            ปีที่ผ่านมาคะแนนขั้นต่ำของอักษร จุฬาแบบยื่นแพท7 ขึ้นมาเป็น 20,8xxพี่คิดว่าทางที่ดีน้องควรทำคะแนนให้ได้ 22000ขึ้นไปถึงจะอยู่ระดับที่เซฟอ่ะ แนะนำว่าควรทำภาษาไทยให้ได้80 ไทยนี่เก็บคะแนนได้ง่ายสุดแล้ว 
    ภาษาอังกฤษควรได้ 75ขึ้นไป
    สังคมศึกษาถ้าทำได้ 60ขึ้นไปจะดีมาก
    ส่วนแพท7 237 คะแนนขึ้นไปจะดีที่สุดนะ
    ถ้าน้องทำคะแนนได้เท่านี้ก็จะได้ 22050ครับ
    อันนี้คือพี่ลองตั้งเป้าให้ดูนะครับ ให้น้องลองประมาณดูว่าจะตั้งเป้าสำหรับตัวเองไว้เท่าไหร่ ถ้าน้องไม่ถนัดแพทเท่าไหร่นักก็ฟิต9วิชาให้เยอะๆครับ อักษร จุฬาพี่ว่าตัดกันที่9วิชาอ่ะ เพราะ9วิชารวมกันมีค่ามากถึง 22500เลยครับ แพท7แค่7500 แพท 7 200คะแนนขึ้นไปพี่ว่ามีโอกาสติดหมดนะ ถ้า9วิชาน้องดี


         จบแล้วครับสำหรับรีวิวการเตรียมตัวเข้าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในรอบรับตรง หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับน้องๆรุ่นต่อไปนะครับ ถ้าน้องตั้งใจจริงๆ ตั้งใจอ่านหนังสือ ทำข้อสอบ ความพยายามจะไม่ทรยศน้องแน่นอน




    ลิงค์ข้อสอบเก่าย้อนหลัง 

    9วิชาสามัญ 2555-2559

    แพท7 

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in