เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
AKSORN CHULA REVIEWSporrorchor
รีวิววิชาอักษร จุฬาฯ ปี 2 เทอม 2 #ฉันเรียนในยุคโควิด19
  • ย้อนความ

    รีวิวอักษร จุฬาฯ ปี 1: https://www.dek-d.com/board/view/3955152/

    รีวิวอักษร จุฬาฯ ปี 2 เทอม 1: https://www.dek-d.com/board/view/3955153/

    .

    สำหรับรีวิวครั้งต่อ ๆ ไปจะลงใน minimore นี้แทนนะครับ เริ่มตั้งแต่รีวิวกระทู้นี้เป็นต้นไป เพราะยาวมาก ๆ จนลงใน Dek-D ไม่ได้เลย (ถ้าจะลงในนั้นต้องซอยเป็น 3 กระทู้ ???)

    .

    .

    สวัสดีครับ

    .

    kfctherevieWER กลับมาแล้ว! หลังจากที่เว้นระยะห่างทางการเขียนรีวิวไปหนึ่งเดือนครึ่ง และตอนนี้ผมก็เกือบจะเรียนจบเทอมนี้แล้ว (เหลือเพียงส่งงานวิชาเดียวเท่านั้น!) ก็เลยไม่รอช้าที่จะมาบอกเล่าและรีวิววิชาต่าง ๆ ของผมในเทอมนี้ แน่นอนว่า หลังจบมิดเทอมได้ไม่นาน มหาวิทยาลัยต้องปิดไปจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 รูปแบบการเรียนการสอนก็เปลี่ยนไปข้ามคืน แทบจะเตรียมตัวกันไม่ทันทั้งนิสิตทั้งอาจารย์ ดังนั้น แต่ละวิชาที่นำมาเล่าสู่กันฟังก็จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือการเรียนช่วงปกติ และการเรียนหลังจากโควิดระบาดหนักขึ้น เป็นบันทึกไว้ว่า ครั้งหนึ่ง เราได้เรียนในยุคโควิด-19 กัน

    .

    .

    หมายเหตุ:    

    -ควรตรวจสอบตารางเรียนอีกครั้งใน reg chula 

    -รายละเอียดและเกณฑ์ต่าง ๆ ของแต่ละวิชาอิงจากความเป็นจริงของภาคการศึกษานี้เท่านั้น

    -กระทู้นี้ยาวมาก ๆ ขนาดเขียนเองยังตกใจกับความยาว

    .

    .

    1) การเขียนภาษาไทยเพื่อวิชาชีพ [2201327 Thai Pro Writ] (บังคับคณะ)

    ทุกวันศุกร์ 13.00-16.00 น.

    .

    เนื้อหาและรายละเอียดน่ารู้

    -เนื้อหาครึ่งเทอมแรก: การเรียบเรียงข้อมูล จดหมายธุรกิจ Infographic* และ การเขียนสำหรับผู้ประกอบการ*

    -เนื้อหาครึ่งเทอมหลัง: สารคดี* หนังสือราชการ การเขียนโครงการ รายงานการประชุม

    -เกณฑ์การวัดผล: กลางภาค 20 คะแนน ปลายภาค 30 คะแนน งาน 40 คะแนน คะแนนเช็คชื่อ/ส่งแบบฝึกหัด 10 คะแนน

    -ช่วงก่อนปิดคณะ: แบ่งการเรียนเป็นเซครวม (บรรยายเนื้อหา) และ เซคแยก (ทำ-เฉลยแบบฝึกหัด/ส่ง-คืนงาน)

    -เพิ่งย้ายมาเป็นวิชาบังคับคณะของปี 2 เทอม 2 (เมื่อก่อนเป็นวิชาบังคับของปี 3 เทอม 2)

    (ใส่เครื่องหมาย * คือ มีงานเก็บคะแนน แต่ไม่มีการสอบ)

    .

    การเรียนช่วงก่อนโควิด

    นี่เป็นวิชาที่ชาวอักษรโอดครวญกันพอสมควร เป็นวิชาบังคับ (ตัวสุดท้ายตัวหนึ่งของเทอมนี้) ที่ถูกมองว่าคลับคล้ายคลับคลาเหมือนตอนเรียน use thai lang (วิชาบังคับปี 1 เทอม 1) ยังไงยังงั้น ซึ่งเอาจริง ๆ ไทยโปรไรท์นี่ก็ใช้พื้นฐานจากไทยแลง (และทักษะภาษาไทยที่เราได้ร่ำเรียนกันมาช้านาน) นั่นแหละ ทั้งการวิเคราะห์ข้อมูล การเรียบเรียงความ ฯลฯ แต่คราวนี้เป็นการนำมาปรับใช้กับงานเขียนแต่ละชนิดแบบจริงจัง จริงจังซะจนเรียนจบแล้วไปน่าจะเป็นเลขาฯ ได้พอดี เมื่อดูจากเนื้อหาแล้วก็พบว่าต้องเขียนเยอะมากถึงมาก ๆๆ การทำแบบฝึกหัดก็เบียดบังเวลาชีวิตอยู่พอสมควร ตอนเรียนในห้องก็เรื่อย ๆ มีให้ทำแบบฝึกหัดทั้งในเซครวมและเซคแยก (อาจารย์ประจำเซคแยกเราคือ อ.วิภาส เขาใจดีนะ มีอะไรก็แจ้ง-สื่อสารนิสิตผ่านเมลตลอด แต่ตรวจงานละเอียดมากกก มากจนไม่รู้ว่าะได้ A รึเปล่า 555) มีวิทยากรจากข้างนอกมา 2 คน คือ อ.เมย์ (Infographic) กับพี่ทรงกลด (การเขียนสารคดี ได้เรียนก่อนคณะจะปิด) มาบรรยาย ส่วนงานเก็บคะแนนก็ไม่ได้หนักหนาสาหัสมาก (จะสาหัสเพราะขี้เกียจเอง) ที่หนักหนามาก ๆ คือตอนสอบกลางภาค เขียนกันเป็นระวิงในเวลา 3 ชั่วโมง ทั้งการเรียบเรียงข้อมูลเรื่องหิ่งห้อยเอย การเขียนจดหมายขอโทษลูกค้าเอย บางคนก็เขียนไม่ทันบ้าง ไม่ได้ตรวจทานบ้างเพราะที่สอบไปนั้นเยอะจริง ๆ 

    .

    การเรียนหลังจากโควิดมาถึง

    หลังสถานการณ์โควิดรุนแรงขึ้น วิชานี้ก็อัดคลิปสอนเนื้อหาหลังกลางภาคทั้งหมดลง Echo 360 บน Blackboard เป็นรายสัปดาห์แทน พร้อมกับมีตัวอย่างการเขียนมาให้ดูด้วย ซึ่งพอมีตัวอย่างมาให้ปุ๊บ คลิปเคลิ้บไม่ได้ดูเลยจ้า เปิดตัวอย่างไปทำแบบฝึกหัดไปเลย (ขอโทษอาจารย์ด้วยครับ - -”) เนื้อหาที่น่าหงุดหงิดใจที่สุดเห็นจะเป็น หนังสือราชการ ที่พอได้เรียนก็รู้เลยว่าการเขียนชนิดนี้นี่จุกจิกลีลาขนาดไหนและสะท้อนวัฒนธรรมราชการไทยพอสมควร เรื่องการบ้านอาจารย์ประจำเซคก็ตรวจและส่งงานคืนให้เหมือนเดิม ส่วนแบบทดสอบปลายภาคก็ให้เวลาไปจุก ๆ 9 ชั่วโมงกับ 3 งาน ทำกันอย่างสนุกสนานเฮฮา (รีแอคชั่นของเพื่อน ๆ ในทวิตเป็นสิ่งยืนยัน) แต่ที่ไม่ค่อยสนุกสำหรับหลาย ๆ คนคือ งานสารคดี ที่ต้องมีการสัมภาษณ์ด้วย แม้จะให้เวลามาเดือนกว่า ๆ ก็ยังเป็นเรื่องยากที่จะหา topic ที่น่าสนใจและตรงเงื่อนไขที่วิชากำหนดไว้ หลายคนก็ต้องดิ้นรนหาทางทำกันไป แต่ของเราดีหน่อยที่สัมภาษณ์อาม่าถึงเรื่องสงครามเรื่องชุมชนอะไรต่อมิอะไร เลยยังพอถูไถไปได้และรีบปั่นให้จบ ๆ ? โดยภาพรวมของทั้งเทอม ไทยโปรไรต์ก็เป็นวิชาที่เรียนเรื่อย ๆ บ้าง เหนื่อย ๆ บ้าง สนุกสนานบ้างไปตามประสา ไม่ได้รักหรือไม่ชอบใด ๆ เป็นพิเศษนัก

    .

    .

    2) มนุษย์และภูมิศาสตร์ [2205200 Man Geog] (บังคับคณะ)

    ทุกวันจันทร์ 13.00-16.00 น.


    เนื้อหาและรายละเอียดน่ารู้

    -เนื้อหาครึ่งเทอมแรก: ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ ประชากรกับการแปรผันทางพื้นที่ สภาพแวดล้อมรอบตัวเรา

    -เนื้อหาครึ่งเทอมหลัง: ภูมิศาสตร์กับวัฒนธรรม ภูมิศาสตร์กับโบราณคดี เมืองและการแก้ไขปัญหาเมือง

    -เกณฑ์คะแนน: ก่อนกลางภาค 55 (การบ้านบทที่ 1 + สอบปรนัยและอัตนัยบทที่ 2-3) / ปลายภาค 45 (สอบปรนัยล้วน 3 บทที่เหลือ)

    -ช่วงก่อนปิดคณะ: เรียนเซครวมตลอด

    .

    การเรียนช่วงก่อนโควิด

    นี่ก็เป็นวิชาบังคับคณะตัวสุดท้ายอีกตัวที่ขึ้นชื่อลือชาถึงความหฤโหด แต่พอเรามาเรียนจริงเรารู้สึกว่าวิชานี้ก็ไม่ได้ยากเว่อร์วังจนเรียนไม่เข้าใจใด ๆ เลย แต่ก็มีความซับซ้อนและบางเรื่องก็ต้องทำความเข้าใจจริง ๆ ครึ่งเทอมแรกนี่ชอบเรื่องประชากรฯ มากที่สุด ส่วนเรื่องสภาพแวดล้อมรอบตัวเรานี่เรียนไปก็นึกถึงวิทยาศาสตร์ ม.5 ทั้งธรณีสัณฐานเอย ภูมิอากาศเอย ภูมิประเทศเอย และอีกสารพัด (หน้าคุณครูบุษบาสมัยม.5 ลอยมาในบันดล) ตอนสอบก็ยากอญุ่แหละนะ อ่านโจทย์ตาลาย เพราะข้อสอบช้อยส์นี่ไม่ได้เรียงหัวข้อย่อยตามที่สอบ สมองเลยสับสนว่า เอ๊ะ นี่เราทำข้อสอบเรื่องไหนอยู่นะ แล้วข้อที่เก็งไว้ว่าต้องออกแน่ ๆ สุดท้ายก็คืออ...โดนแกงฮะ ส่วนข้อสอบเขียนนี่ก็ อืมม แถจนสีข้างถลอกแล้ว  รวม ๆ ช่วงกลางภาคนี่ก็เอาเรื่องอยู่นะ แต่ก็ยังเอารอดได้พอถูไถ ไม่น่าเกลียดมาก

    .

    การเรียนหลังจากโควิดมาถึง

    ช่วงครึ่งหลังนี้ก็เรียนผ่านคลิปวีดิโอบรรยายใน Echo 360 คล้าย ๆ กับไทยโปรไรท์ แต่ไม่มีการบ้านอะไรใด ๆ ความกระตือรือร้นก็หายไปเลยจนถึง 2 สัปดาห์ก่อนสอบ คราวนี้ไม่ดูไม่ได้แล้ว เพราะเดี๋ยวไม่มีเวลาอ่านซ้ำ 5555 แต่เนื้อหาของครึ่งหลังนี้ค่อนข้างง่ายกว่าครึ่งแรกเยอะ เพราะเป็นภูมิศาสตร์ในมิติที่ใกล้กับชีวิตประจำวัน และแทบจะไม่มี technical term ให้จำมากนัก เลยทำความเข้าใจได้สบายกว่า เพื่อน ๆ หลายคนเลยชอบครึ่งหลังกัน (แต่เราชอบครึ่งแรกมากกว่าแฮะ) ส่วนการสอบของวิชานี้นับได้ว่าอลังการที่สุดแล้วในคณะ ก็ให้ทำข้อสอบช้อยส์ล้วนใน blackboard นั่นแหละ แต่ต้องเช็คชื่อกับเปิดกล้องใน Zoom จนทำข้อสอบเสร็จ! ฟังดูเหมือนจะไม่มีอะไร แต่พอนิสิตปี 2 กว่า 300 ชีวิตต้องเข้า Zoom พร้อมกัน meeting ก็ล่มดิฮะ ? คิดข้อสอบไปก็ต้องระแวงว่าซูมจะวืดไป แล้วตอนทำมีเพื่อนขออนุญาตเข้าห้องน้ำ ประกอบกับได้เห็นหน้าเพื่อน ๆ ขณะทำข้อสอบด้วยนี่ก็ยิ่งให้บรรยากาศเหมือนอยู่ใน 503 อย่างอบอุ่นโรแมนติกไปเลย ทั้งหมดทั้งมวลตลอดเทอม man geog ก็เป็นวิชาที่พอไปได้ ไม่ได้รักไม่ได้ไม่ชอบอะไรเป็นพิเศษ ตามสไตล์วิชาบังคับคณะฮะ

    .

    .

    3) 2202208 Eng Conver Disc 

    ทุกวันอังคารและวันศุกร์ 11.00-12.30 น. (เปิดสอนทุกเทอม)

    .

    เนื้อหาและรายละเอียดน่ารู้

    -เนื้อหาในชีทมีทั้งหมด 12 units แต่ละ unit มี vocab, reading และ listening 

    -มีสอบเก็บคะแนน 3 ครั้งละ 4 units (**แต่เทอมนี้สอบเก็บคะแนนไปครั้งเดียว)

    -มีงานให้เลือกฟัง podcast ตามที่มอบหมาย แล้วให้เราทำ podcast สั้น ๆ ของตัวเอง (งานนี้ชดเชยจากที่ไม่ได้สอบเก็บคะแนน 2 ครั้งที่เหลือ)

    -เรียนไปสักพักจะมี leading discussion พลัดกันทำทุกสัปดาห์จนครบทุกคู่

    -กลางภาคมี debate

    -ปลายภาคมี final discussion จับคู่ พูด 5 นาทีตามหัวข้อที่อาจารย์กำหนด

    -86% ขึ้นไปถึงจะได้ A

    .

    การเรียนก่อนช่วงโควิด

    เราอยู่เซคอ.เจนนิเฟอร์กู๊ดแมน ตอนแรก ๆ นี่แทบไม่รู้จักใครในห้อง เพราะไม่มีรุ่นเดียวกันเลย มีแต่รุ่นพี่กับนักศึกษาแลกเปลี่ยน (กว่าเราจะรู้ว่ามีแลกเปลี่ยนในเซคด้วยก็ปาไปเดือนนึง รู้ตัวช้ามาก ?) จะรู้จักก็แต่พี่เสดที่เดินสวนกันไปมา แต่พอเวลาผ่านไปก็รู้จักกันไปเอง ก็ดีเหมือนกันที่ได้เรียนกับคนที่ไม่ได้คุ้นเคยมาก่อนหน้า ได้รู้จักกับผู้คนใหม่ ๆ ส่วนการเรียนก็จะได้ talk to your partner บ่อยหน่อย ตามสไตล์อจ.เจนนี่ แล้วก็เฉลยแบบฝึกหัด unit ต่าง ๆ เรียนไปได้สักพักก็จะมี leading discussion กันทุกวันศุกร์ ก็แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันสนุกสนาน ไอ้เราก็พูดบ้างแต่ฟังเขาเยอะกว่า เพราะสมองตัวเองไม่แล่น (ขำแห้ง) แล้วก็มีสอบ vocab กับ listening จาก unit 1-4 ไปครั้งนึง ซึ่งไม่ยากมากนัก ตอนกลางภาคที่ให้ทำ debate นี่เราอยู่ฝั่ง affirmative ในหัวข้อ “climate crisis is a matter for adults to solve” ตอนแรกก็ตาแตกเลย ไม่รู้ว่าจะ affirm กับ statement นี้ยังไง แต่ก็ช่วย ๆ กับพี่เสดแกจนฝ่าฟันไปได้ สนุกนะแต่ก็เตรียมตัวเหนื่อยอยู่ ครึ่งเทอมแรกก็ผ่านไปด้วยดี

    .

    การเรียนหลังจากโควิดมาถึง

    บอกได้เลยว่านี่เป็นวิชาที่โควิดก็ขวางกันการเรียนการสอนไม่ได้ เรียนกันผ่าน Zoom ตามเวลาเรียนเดิมตามปกติเป๊ะ (และเลิกเลทกว่านิดนึงเพราะพูดคุยกันมากขึ้น) ยังเรียนเนื้อหาตาม unit ต่าง ๆ จนถึง unit 12 ทุกวันอังคาร และวันศุกร์ก็เป็น leading discussion เหมือนเดิม เพิ่มเติมคือมีสีสันจาก background ใน Zoom ของแต่ละคนที่ไม่ยอมน้อยหน้ากัน แต่เรื่องการสอบเก็บคะแนนใน unit 5-12 นั้นเปลี่ยนมาเป็นการเลือกฟัง podcast รายการที่วิชามอบหมาย 1 รายการ แล้วให้นิสิตจับคู่ทำ podcast ที่ตอบ/สะท้อนสิ่งที่ได้ฟังไปก่อนหน้า ก็สนุกสนานดีเหมือนกัน (แต่ก็แอบขี้เกียจแหละ ?) ตอน final ก็เป็น discuss กันต่อหน้า (กล้อง) ให้อาจารย์ฟัง 5 นาที ในหัวข้อที่กำหนดให้ อันนี้คือเราไม่ได้เตี๊ยม ก็พูดวนไปดิ แย่มาก แต่รวม ๆ แล้วก็เป็นวิชาภาคอิ้งที่เรียนสนุก ไม่เครียดมากนัก (โอ้ว ทรมานน้อยกว่า eng read skill เป็นแน่แท้) และทำให้เราได้พูดได้ฟังภาษาอังกฤษกับผู้คนใหม่ ๆ ด้วย

    .

    .

    4) ภาษารัสเซีย 1 [2236101 Russian I] 

    ทุกวันพุธ 16.00-20.00 น. (มีอีก 2 เซคในวันจันทร์และวันอังคาร)

    .

    เนื้อหาและรายละเอียดน่ารู้

    -16.00-18.00 น. เรียน grammar และ vocab กับอ.เป๊ป  / 18.00-20.00 เรียน conver และ reading กับอ.ปูน มีเบรกพักครึ่งและมักจะเลิกก่อนเวลา

    -เนื้อหาครึ่งเทอมแรก: คำศัพท์และประโยคพื้นฐานต่าง ๆ, passage สั้น ๆ สำหรับฝึกอ่าน

    -เนื้อหาครึ่งเทอมหลัง: การผันกริยา, เพศและพจน์ของคำ, คุณศัพท์และการผัน, ประโยคพื้นฐานต่าง ๆ, passage ที่ยาวขึ้น

    .

    การเรียนช่วงก่อนโควิด

    ทุกวันพุธนี่ พอเรียน fr gram struc กับอจ.พ่อ (จะพูดถึงเป็นวิชาถัดไป) จบปุ๊บ ก็มาเรียนวิชานี้ต่อปั๊บ มาเจออ.เป๊บใส่พลังในการสอนก็เรียนไป ขำไป จดศัพท์ไป พอเรียนคอนเวอร์กับอ.ปูนต่อ ก็เรียนแบบสบาย ๆ แฮปปี้ แต่ไม่ว่ายังไงอาจารย์ทั้งสองคนก็ใจดี มีอะไรก็ถามเขาได้ ทำให้วันพุธนี่เป็นวันที่ชอบที่สุดของครึ่งเทอมแรกเลย พอถึงกลางภาค ข้อสอบก็ไม่ได้ยากมากนะ คือออกพวกคำศัพท์ คำทักทาย ประโยคง่าย ๆ ประมาณนี้ ส่วนสอบ conver ให้เอาประโยคต่าง ๆ ที่ได้เรียนไปมาแสดงสถานการณ์จำลอง จากนั้นมีให้สอบอ่าน text สั้น ๆ กับถามคำศัพท์ แอบบ้งอยู่นิด ๆ แต่ไม่ได้แย่มากนัก แต่ (โดยส่วนตัวแล้ว) เราเห็นปัญหาว่า ครึ่งเทอมแรกเรียนศัพท์เยอะถึงเยอะมากกก ไม่ค่อยได้เรียนไวยากรณ์และกริยาที่จะเอามาแต่งประโยคได้เยอะนัก อีกทั้งไม่ค่อยมีการบ้านให้แต่งประโยคจากศัพท์หรืออะไรอย่างนั้น (มี dictation ไปครั้งสองครั้ง) เลยจำศัพท์ได้ไม่แม่นสักเท่าไหร่ 

    .

    การเรียนหลังจากโควิดมาถึง

    ช่วงครึ่งหลังนี้ก็ยึดเวลาเรียนตามเดิมผ่าน Zoom ครึ่งนี้ก็ได้เรียนไวยากรณ์เยอะขึ้น ทั้งการผันกริยา คำนาม เอกพจน์-พหูพจน์ เพศของคำ คุณศัพท์ คุณศัพท์แสดงความเป็นเจ้าของ ประโยคเหตุ-ผล ฯลฯ สนุกดีนะ ๆ คอนเซปต์นี่เข้าใจได้ไม่ยาก แต่ประเด็นคือมักจะจำผิดหรือจำสลับอยู่บ่อย ๆ พาร์ทคอนเวอร์ก็เรียนล้อเนื้อหาตามหนังสือเลย แต่ยิ่งเรียนไปก็รู้เลยว่าภาษารัสเซียออกเสียงยากมากกกก มีกฏเกณฑ์ของเรื่องนี้แฝงอยู่เบี้ยบ้ายรายทาง ทั้งเรื่อง stress ไม่ stress เอย การควบเสียง จังหวะ ฯลฯ เราก็เลยมีปัญหาจุดนี้เยอะอยู่ แล้วพอย้ายมาเรียนออนไลน์ จู่ ๆ แพชชั่นก็ไม่มีไปซะอย่างนั้น แล้วคิดว่าคอร์สภาษานี่ยังไงก็ต้องเรียนในห้องแหละถึงจะ effective ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างอะไรอย่างนี้ ก็ดีใจนะที่ได้มาเรียนภาษารัสเซียเทอมนี้ ได้เปิดใจเรียภาษาใหม่ ๆ เป็นสิ่งที่ดีเหมือนกัน แต่เทอมหน้าว่าจะไปลองลงภาษาอื่น ๆ เผื่อจะรุ่งหรือถนัดกว่านี้ แหะ ๆ 

    .

    .

    5) ไวยากรณ์ภาษาฝรั่งเศส [2231232 Fr Gram Struc]

    ทุกวันพุธ 13.00-16.00 น.

    .

    เนื้อหาและรายละเอียดน่ารู้

    -เรียนรู้ไวยากรณ์ฝรั่งเศสระดับประโยค 

    -เนื้อหาครึ่งเทอมแรก: expression du temps, cause, conséquence, but

    -เนื่อหาครึ่งเทอมหลัง: but (ต่อ), concession, opposition, condition et hypothèse, comparaison

    -มีหนังสือนอกเวลา เรื่อง Viou (ตอนหลังยกเลิกแล้วนำคะแนนส่วนนี้ไปรวมกับการบ้าน)

    -เกณฑ์การให้คะแนน: กลางภาค 60 (แก้เป็น 75 ครับ//ขอขอบคุณคุณปิ่นวิภาที่ทักท้วงมา) / ปลายภาค 50 / คะแนนงาน 75 

    .

    การเรียนก่อนช่วงโควิด

    วิชานี้ทำให้นิสิตเอกภาษาฝรั่งเศสได้กลับมาพบกับ อาจารย์พ่อพรยด. อีกครั้ง ภาพบรรยากาศครั้นตอน French I นี่กรอกลับมาเลย เรียนไปก็ขำกับความหน้าตายของอาจารย์ไป ยังคงเรียนแบบ interaction ถาม-ตอบ (บางทียังไม่ทันดูโจทย์ โดนเรียกตอบแล้ว!) แล้วแซวกัน(ที่จริงคือโดนอาจารย์แซว)ในภาษาฝรั่งเศสอันเป็นเอกลักษณ์ของอ.พ่อ ส่วนเรื่องเนื้อหานี่ก็เรียน grammaire กันล้วน ๆ ซึ่งต่อยอดจากไวยากรณ์ที่เรียนไปตอน French I-III en effet (อันที่จริง)บางเรื่องที่ได้เรียนในวิชานี้เอาจริงก็เรียนมาตั้งแต่มัธยมด้วยซ้ำไป แต่ถามว่าลืมไปบ้างไหม...ก็ตอบเลยว่า oui! ถึงกระนั้นก็ได้เรียนสำนวน/คำเชื่อมใหม่ ๆ เยอะอยู่แหละ ตอนสอบกลางภาคนี่รู้สึกว่ากลาง ๆ แต่พอคะแนออกมาคือออ…ตายเรียบ 

    .

    การเรียนหลังจากโควิดมาถึง

    พอมาเรียนออนไลน์ อาจารย์พ่อก็ทำเป็นคลิปลง YouTube แบบตั้ง private (ที่จริงคือ unlisted แต่เรียกผิดเป็น private//ขอขอบคุณคุณจีริสุดาที่ทักท้วงมาฮะ) ให้ดูเป็นรายสัปดาห์ บรรยายเนื้อหาเป็นภาษาไทยเพื่อให้เข้าใจกันง่ายขึ้น แต่หมายความว่าเอกลักษณ์ของคลาสพ่อก็หายไปแหละนะ :l เมื่อมาเป็นคลิปวีดิโอนี่เรากลายเป็นนิสิตภาคดึกของวิชานี้ไปเลย เพราะชอบเปิดดูตอนห้าทุ่มเที่ยงคืน ไม่ค่อยง่วงด้วยนะ เรื่องหนังสือนอกเวลาก็ยกเลิกไปแล้วเอาคะแนนมาทบกับคะแนนการบ้านแทน เสียดายนิด ๆ เพราะก่อนหน้านั้นรีบอ่านนอกเวลาจบไปรอบนึงแล้ว ครับ... ตอนสอบปลายภาค อาจารย์ก็ให้โจทย์มาตอนบ่ายโมง แล้วต้องส่งภายใน 5 โมงเย็น ตอนแรกก็นึกว่าจะไม่ยากมาก แต่คิดผิด 55555 ส่วนหนึ่งเพราะเปิดชีททำได้ด้วยอะไรด้วยแหละนะ ที่ยากคือพาร์ทแต่งเรื่องตาม préposition/conjonction ที่กำหนดให้ในตีม journees de confinement เข้ากับสถานการณ์เลยดิ แต่เรื่องที่ตัวเองเขียนส่งไปนี่ดูเป็น complainte กับการเรียนออนไลน์ซะมากกว่า โดยรวม ๆ แล้วก็เป็นวิชาที่เราชอบมาก ๆ แต่คงจะ efficace กว่านี้ถ้าได้เรียนในคณะแบบปกติจนจบเทอม

     

    ปล. รอเจอ อ.พ่อ ในวิชา french drama นะครับ วิงวอนขอภาคฝรั่งเศสเปิดวิชานี้ด้วยเทอญ

    .

    .

    6) อารยธรรมฝรั่งเศส [2231246 French Civilization]

    ทุกวันอังคาร 13.00-16.00 น. กับ อ.สุวรรณา และ conversation ทุกวันศุกร์ 8.00-9.00 น. กับ อ.Julie  

    .

    เนื้อหาและรายละเอียดน่ารู้

    -เนื้อหาครึ่งเทอมแรก: Moyen Âge และ Renaissance

    -เนื้อหาครึ่งเทอมหลัง: 17e-18e siècle

    -ส่วนเนื้อหา 19e-20e siècle อ.สุวรรณาให้อ่านเอง (ซึ่งเราก็...)

    -มีงาน exposé แบบอัดคลิป หัวข้อต้องอยู่ภายในยุค 19e-20e siècle

    -พาร์ท conversation กับอ.จูลี่: พลัดกันทำ petit exposé จนครบทุกคนแล้วสอบย่อย (2 สัปดาห์/1 cycle)

    -เกณฑ์การให้คะแนน: กลางภาค 60 / Quiz 60 / ปลายภาค 50 / คาบ conver 40 / exposé ใหญ่ 20 -80% ขึ้นไปถึงได้ A

    .

    เป็นวิชา civ ตัวที่ 4 ติดต่อกันในชีวิตอักษรของเรา แต่คราวนี้เป็นวิชาบังคับของเอกเราเอง ที่จริง คนนอกเอกก็เรียนได้นะถ้ารู้ภาษาฝรั่งเศส ตัว texte เป็นฝรศ.ล้วนที่ simplifié มาในระดับนึง ถึงกระนั้นก็ต้องมาเรียนในห้องอยู่ดี เพราะชื่อตัวละครในประวัติศาสตร์เยอะ และบางครั้งเรื่องราวก็ซับซ้อนซ่อนเงื่อนเหลือเกิน จะเป็น antagoniste อะไรกันขนาดนั้น… วิชานี้เป็นวิชาที่ต้องอ่านและใช้สมาธิเยอะมากก็จริง แต่ก็เป็นวิชาที่สนุกและทำให้เรารู้สึกอยากเรียนอยู่ตลอดนะสำหรับเรา เพราะก่อนหน้านี้ความรู้ด้านกระบวนการในวัฒนธรรมฝรั่งเศสเรารู้น้อยมาก ๆ พอมาเรียนก็ได้เข้าใจอะไรต่าง ๆ มากขึ้น เรื่องสอบกลางภาคก็เขียนกันเป็นมือระวิง แต่ผลลัพธ์ก็โอเคอยู่น้า ส่วนคาบ conversation กับอ.จูลี่นี่ไม่อ่อนโยนกับนิสิตเลย เพราะต้องพลัดกันทำ exposé มานำเสนอในห้อง พอทุกคนได้นำเสนอหมดแล้วก็มีสอบย่อยเก็บคะแนน สอบเสร็จก็ทำทั้งหมดใหม่ เหนื่อยมากกกกก ไปถามรุ่นพี่ว่าคาบ conver มันเป็นอย่างนี้จริง ๆ เหรอ พี่บอกมึงทนเถอะ รุ่นกูก็เป็นอย่างนี้ เราก็จะตายแหล่เอา 

    .

    การเรียนหลังจากโควิดมาถึง

    หลังจากจบกลางภาค ที่จริง อาจารย์สุวรรณาก็ขึ้นเนื้อหาของ 17e siecle ไว้หน่อยนึงแล้ว แต่พอคณะปิดทำการไป อาจารย์เลยให้เรามาอ่านเนื้อหาที่ค้างไว้จนถึง 18e siecle ให้จบเอง ไม่ได้มีนัดสอนเพิ่ม แต่ถ้ามีอะไรไม่เข้าใจก็ไลน์ถามอาจารย์เขาได้ ก็สงสัยเลยครับว่า เอ๊ะ จะรอดรึเปล่านะ พอมาอ่านเองจริง ๆ ก็เข้าใจในระดับนึงแหละ เปิด dict ช่วยบ้าง แต่อย่างว่า...ความอินก็ไม่เท่ากับอาจารย์อธิบายให้ฟังในห้อง ส่วนเรื่องการเก็บคะแนน ก็มีให้ทำ quiz 24 ชม. 6 ข้อ ยากตรงที่ต้องเขียนยังไงก็ได้ให้เป็นภาษาฝรศ.ของเราเองโดยไม่ลอก texte ไม่ไปหาข้อมูลที่อื่นเพิ่ม ทำไปก็ระแวงไปว่า จะถูกรึเปล่านะ แต่จะครบกำหนดส่งแล้วก็เอาตามนี้แหละ ส่งเถอะ แล้วก็มี exposé กลุ่มอัดคลิปทำกัน อันนี้ไม่โหดมากเท่าไหร่ แต่ก็ใช้เวลาทำเยอะอยู่ (เราทำเรื่อง mai 68) เพราะอยากให้ออกมาดีสมกับที่ทำเป็นวีดิโอ และเรื่องสอบปลายภาคก็เป็นคำถามวัดความเข้าใจ มีแค่ 2 ข้อ ให้เขียนเป็นภาษาไทยด้วยนะเออ แต่ที่กังวลว่าจะทำกันผิดรึเปล่าก็อยู่ที่การตีความโจทย์กับขอบเขตของเนื้อหาที่จะเอามาตอบ เฮ้ย แค่นี้พอมั้ยนะ หรือเยอะไป ตรงนี้ตัดมั้ยรึใส่ไปอีก ระแวงกันไปใหญ่... แต่พอมาเรียนออนไลน์ คาบ conversation กับอ.จูลี่ก็หายไป เพราะอ.สุวรรณาไปคุยให้ ก็แอบดีใจนะที่ไม่มี ไม่อย่างนั้นจะเหนื่อยมาก ๆ และจะคิดหัวข้อมานำเสนอกันไม่ออก แต่มองย้อนกลับไปก็เสียดายที่ไม่ได้มีโอกาสพูดภาษาฝรั่งเศสออกไปบ้างเลย รวม ๆ วิชานี้ถึงจะเหนื่อย อ่านเยอะ (แล้วต้องอ่านเองอีกนะ) แต่ก็เป็นวิชาที่เราชอบมาก ๆ ด้วยเช่นกัน

    .

    .

    7) เขียนบทละคร 1 [2208337 Playwriting I]

    ทุกวันจันทร์ 9.00-13.00 น. 

    .

    เนื้อหาและรายละเอียดน่ารู้

    -เนื้อหาครึ่งเทอมแรก: ให้พูดคุยหนัง/ละครที่ชอบที่สุด เพราะอะไร?, แบบฝึกหัดให้คิด plot ที่ห่วยที่สุด, แบบฝึกหัดให้คิด plot และ treatment ตามตีม “3 เดือนวิกฤต” และเพลง “What A Wonderful World”

    -เนื้อหาครึ่งเทอมหลัง: คิด plot และเขียนบทการแสดงแบบ solo, ทำ plot และ treatment จาก reference ใด ๆ บนโลกใบนี้

    -ปลายภาค: เขียนบทยาว 25-30 หน้า (จะเอา plot จากแบบฝึกหัดก่อนหน้ามาพัฒนาก็ได้)

    .

    นี่เป็นวิชาที่เราอยากเรียนมากที่สุดประจำเทอมนี้ (ดูทรยศเอกตัวเองมาก) ปกติแล้ว playwrit I ในเทอม 2 จะมีแค่เซคเดียว คือวันจันทร์เก้าโมงถึงบ่ายโมง และรับแค่ 10 คน พอเราลงไม่ติดเลยไปขอครูบัวให้รับเพิ่ม ตอนแรกครูบัวบอกว่า ให้ปี 2 รอมาเรียนปี 3 นะ ใจเรานี่หายแว๊บไปถึงตาตุ่ม คิดว่าจบสิ้นแล้วแหละที่วางแผนไว้ว่าจะเรียนเทอมนี้  แต่... ครูบัวบอกว่าเทอมนี้เขาไม่มีงานละครภาค เลยมีเวลาว่างเพิ่มขึ้น จนเปิดได้อีกเซคนึงรวมเป็น 2 เซค เราและคนอื่น ๆ ที่ลงไม่ติดก็ได้เรียน จังหวะดีมาก ๆ  ? (และต้องขอขอบคุณครูบัวเป็นอย่างสูงมา ณ ที่นี้ด้วยฮะ) มาที่เรื่องเนื้อหา วิชานี้ก็เป็นการนำทฤษฎีด้านการเขียนบทที่เรียนตอน play analysis มาใช้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ทำให้เราเห็นภาพว่า พล็อตแนวไหนจะเวิร์ค พอจะเวิร์ค ไม่เวิร์ค หรือไม่เวิร์คเลย ครึ่งเทอมแรกนี่มีแบบฝึกหัดให้คิด plot และ treatment (การกำหนด action หลักของตัวละครในแต่ละฉาก) ตามโจทย์ที่กำหนดมา ยังไม่ได้ลงมือเขียนบทจริง ๆ พอถึงกำหนดส่งก็นำ plot ของแต่ละคนมาพูดคุยถึงข้อดี/ข้อเสียกัน ครึ่งเทอมแรกก็เลยยังไม่หนักเท่าไหร่มากนัก 

    .

    การเรียนหลังจากโควิดมาถึง

    พอมาเรียนออนไลน์ ก็รู้สึกว่าการเรียนวิชานี้ใน Zoom ประหยัดเวลากว่าตอนเรียนจริงเยอะมาก คุยกันแปบเดียวก็จบแล้ว 555 (ปล. มีอยู่วันนึงอาจารย์ต้องสอนไปด้วยเลี้ยงลูกเขาด้วย น้องน่ารักมากก) ส่วนงานหลังกลางภาคก็ตามที่ระบุไว้ด้านบนเลย ก็จะหนักขึ้นกว่าตอนก่อนกลางภาคแล้วทีนี้ ส่วนบท final เราเขียนจาก plot+treatment ของงาน reference เหนื่อยพอสมควรและต้องใช้พลังงานสมองเยอะมากก (เราเอา ref จากมัทนะพาธามา) แม้ด้านหนึ่งจะง่ายเพราะไม่ต้องคิด plot ใหม่ตั้งแต่ต้นและมีวัตถุดิบอยู่แล้ว แต่อีกด้านนึงก็ถือเป็นงานยากเพราะต้องทำให้ไม่ขัดกับคงเอกลักษณ์ของเรื่องเดิมไว้ได้อยู่ เรานี่รีบทำให้เสร็จเร็ว ๆ เพราะวิชาอื่นเรียนจบหมดแล้ว อยากพักยาว ๆ แล้ว ? แต่พอใกล้จะเสร็จก็ลีลาเหมือนยังอยากทำต่อ (จนตอนนี้เขียนจบเรียบร้อยก็ยังหวั่นอยู่ว่าส่งไปแล้วจะต้องเอากลับมาแก้มั้ย ?) โดยรวมทั้งเทอม วิชานี้ก็เป็นวิชาที่เราชอบมาก ๆ เป็นวิชาที่ย้ำเตือนเราว่า การเขียนบทนี่ขึ้นอยู่กับเหตุผล ความเป็นไปได้ และความสมจริงตามเงื่อนไขที่วางไว้ในเรื่องจริง ๆ นะ แต่ถ้าเทอมหน้าได้กลับไปเรียนที่คณะจะไปเปลี่ยนไปเรียน prin act สักหน่อย เพราะวิชาของเอกนี่ต้องเขียนเป็นบานตะโก้เลย ถ้าเจอเขียนบทอีก เห็นทีแล้วไม่น่าจะคิดอะไรได้ productive แน่ ๆ

    .

    .

    ทั้งหมดทั้งมวลนี้คือรีวิววิชาอักษรประจำเทอม 2 ปี 2 ของเรา! ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์ให้แก่น้อง ๆ รุ่นถัด ๆ ไปได้ไม่มากก็น้อย และแก้คิดถึงชีวิตในคณะ (แบบ actual) ของพี่ ๆ เพื่อน ๆ น้อง ๆ ชาวอักษรได้ไม่มากก็น้อยเช่นกันนะฮะ 

    .

    ความคิดเห็นส่วนตัวอันนึงที่อยากจะบอกหลังจากเรียนเทอมนี้จนเกือบจบ ก็คือว่า การเรียนออนไลน์นี่ยังไงก็ไม่เหมือนและไม่สามารถแทนที่การเรียนในสถานที่ของสถาบันการศึกษาจริง ๆ ได้หรอกครับ โอเคแหละว่าการเรียนออนไลน์อาจนำมาใช้ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยระยะสั้น แต่สุดท้ายแล้ว เราก็โหยหาการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ๆ และอาจารย์ การได้เห็นคนรอบข้างขยันอ่านหนังสือ การได้หยอกล้อและให้กำลังใจกัน และอื่น ๆ อีกมากมาย ก็หวังว่าทุกอย่างจะคลี่คลายได้มากขึ้นจนปีการศึกษาหน้าพวกเราได้กลับไปเรียนที่คณะจริง ๆ อีกครั้ง แต่อย่างไรเสีย ก็ต้องยอมรับว่าโควิด-19 จะต้องอยู่กับเราไปอีกสักพักใหญ่ ๆ นะ

    .

    ขอขอบคุณผู้อ่านที่อ่านกระทู้จนถึง ณ ตรงนี้นะฮะ 

    ขอให้ทุกคนดูแลตัวเองและคนรอบข้างให้ดี มีกำลังใจให้กันมาก ๆ หากมีเรื่องเครียด ก็อย่ากลัวที่จะขอความช่วยเหลือหรือคำแนะนำจากคนรู้จักนะฮะ ผมก็ขอเป็นอีกหนึ่งแรงใจให้ทุกคนนะครับ

    .

    .

    จนกว่าจะพบกันใหม่… 

    à plus tard!

    .

    ถ้าหากชอบกระทู้นี้ โปรดแชร์ให้เพื่อน ๆ ของคุณได้อ่านกันต่อ ๆ ไปด้วยนะฮะ ขอบคุณครับ : )


    ภาพถ่ายที่: เทวาลัย


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in