เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
preview.cineflections
เพราะเด็กสาวคนนั้นคือตัวฉันในวันวาน: กล้าฝันในวันฝึกบินกับ Lady Bird (2017)
  •   For all my despair, for all my ideals, for all that-- I love life. 

    But it is hard, and I have so much-- so very much to learn.


    ถึงจะสิ้นหวัง จะคิดฝัน มีอุดมคติ อะไรไว้หลายอย่าง ฉันก็รักชีวิต

    แต่มันเป็นสิ่งที่ยากนัก และฉันยังมีอะไรที่ต้องเรียนรู้อีกมากมาย

    -- Sylvia Plath, ซิลเวีย พลาธ์

     

    ศิลปะบางชิ้นคือเครื่องย้อนเวลา


    บทเพลง คำพูด สายตา ลักษณะของคนรอบตัวในช่วงเวลาหนึ่ง วกกลับมาหาเราเพียงได้ยินโน้ตแรก อ่านถ้อยคำในหนังสือ หรือดูฉากในหนัง



    Lady Bird (2017) เป็นหนังที่พาเรากลับไปสู่วันวาน ช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของวัยรุ่นก่อนเข้ามหาวิทยาลัย ช่วงที่ทุกอย่างเหมือนจะถาโถมเข้าโจมตีในเวลาที่รู้สึกดังโลก คนที่รักเรา และคนที่เรารักกลับไม่เข้าใจ

    หาก Call Me By Your Name สะกิดรอยรักแรกในร้อนหนึ่ง Lady Bird คือเสียงร้องเรียกคุ้นหูในฤดูแห่งความเปลี่ยนแปลง


    ความรู้สึกหลากหลายผุดขึ้นในหัวระหว่างดูหนัง ทั้งเหงา เศร้า ผิดหวัง เริงร่า และเขินอาย แต่มากที่สุดคือ ความแปลกใจปนซึ้ง กับโมเม้นท์นับไม่ถ้วนที่ทำเราออกปาก: "ใช่ นั่นมันฉัน นั่นคือแม่ คือหนุ่มที่เคยรู้จัก เพื่อนสนิทที่คิดถึง และความกังวลสับสนที่เคยรู้สึก" 

    มนต์เสน่ห์ของการเขียนบทและกำกับของเกรต้า เกอร์วิค คือการนำผู้ชมย้อนเวลาระลึกถึงช่วงเวลาวัยรุ่นของตัวเองผ่านเหตุการณ์ปีสุดท้ายในมอปลายของเลดี้ เบิร์ด (คริสทีน) ได้อย่างสมจริง เป็นธรรมชาติ เข้าถึงหัวใจและความคิดของผู้ชม โดยคงความรักที่มีต่อบ้านเกิดของเธอ


    เลดี้ เบิร์ด (คริสทีน) ยังเป็นหนึ่งในตัวเอกหญิงหายากในหนัง coming of age ก้าวผ่านช่วงแห่งการเติบโตของชีวิต ที่ส่วนใหญ่นำโดยตัวเอกชาย 

    การมองช่วงเวลานั้นผ่านตัวเอกหญิงทำให้ผู้หญิงอย่างเรา 'อิน'  และรู้สึกผูกพันกับหนังเรื่องนี้ กับเลดี้ เบิร์ด ความสัมพันธ์ระหว่างเลดี้ เบิร์ด แม่ของเธอ และคนรอบข้าง อย่างรวดเร็ว

    แม้ไม่ถึงกับหัวเราะปนน้ำตา Lady Bird ก็กระแทกหัวใจเราทุกความรู้สึก


    *บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญบางส่วนของหนัง (SPOILER ALERT!) 


    Always the Bad Cop: แม่, ดุร้ายแต่อบอุ่น

    สายสัมพันธ์แม่ - ลูกนั้นเรียบง่ายแต่ซับซ้อน มีลักษณะเจาะจงพิเศษของแต่ละครอบครัวไป เหมือนบทละครแอ๊บเซิร์ด (absurd) ที่อ่านแล้วเข้าใจเฉพาะในครอบครัวกันเอง

    หลายครั้ง หลายเวลา ขณะเราแก่ตัวขึ้นตามขวบปี ก็เข้าใจความ 'เป็นอย่างนี้เอง' กับด้านนี้ของชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ ด้านที่เป็นส่วนหนึ่งของตัวตนและที่มาของตัวเราในวันนี้ ด้านที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า 'เคยเกิดขึ้น' และ 'ยังคงเป็นอยู่' ด้านที่มีรอยชั้นระดับความทรงจำและเหตุการณ์ลดหลั่นกันไปและวกเวียนคดเคี้ยวจนยากจะสาวถึงต้นตอ

    เพราะเท่าที่รู้ อย่างที่เป็นมา และตอนนี้ ก็เป็นเช่นนี้


    เกรต้า เกอร์วิคจับสองแม่ - ลูก มาริยง และคริสทีน นอนหันหน้าเข้าหากันในฉากเปิดของหนังที่เรารักมากๆ เป็นฉากเงียบที่ทรงพลัง เพราะการ 'อยู่ร่วมกัน' ของสองคนสองวัยที่สายสัมพันธ์ไม่มีวันตัดขาด อย่างสงบเงียบ หากน่าค้นหา เป็นชอตที่เกริ่นเตรียมเราก่อนไปรู้จักเรื่องราวระหว่างแม่ - ลูกคู่นี้โดยไม่ต้องอาศัยคำพูดใดให้สิ้นเปลือง


    บทสนทนาในรถระหว่างมาริยงและคริสทีนทำเราหลงรักการเขียนบทของเกอร์วิคเพียงไม่กี่นาทีหลังเริ่มดู ไม่ต้องเสียเวลารอ ไม่ต้องอุ่นเครื่องมากมาย เกอร์วิคก็โยนเราเข้าไปในโลกปี 2002 จากมุมมองของคริสทีนทันที 

    dynamic จังหวะการโต้ตอบเถียงกันของสองคนที่เริ่มจากการขัดแย้งเล็กน้อย การตีความคำพูดของอีกฝ่ายโดยใช้ข้อมูลที่ตัวเอง 'รู้ดี' จากการ 'รู้จักกัน' มาทั้งชีวิตเป็นทางลัดในการสรรหาข้อแย้ง ที่บานปลายถึงอารมณ์ขุ่นมัวและความหงุดหงิดอันพลุ่งพล่านรุนแรงของคริสทีนจนระบายออกผ่าน 'การกระทำ' เป็นการเขียนบทที่ตรงไปตรงมาและฉลาด ทางเซอร์ช่า โรแนน (Saoirse Ronan, คริสทีน) และลอรี่ย์ เมทคาฟ (Laurie Metcalf, คุณแม่มาริยง) ก็เคมีเข้ากันเสียจนเราเชื่อสนิทจากคำแรกว่าเป็นแม่ลูกกันจริงๆ

    ยิ่งมารู้ที่หลังว่าฉากทะเลาะฉากแรกนี้ถ่ายท้ายๆ ใกล้เกือบปิดกล้อง เรายิ่งเข้าใจถึงความเป็นธรรมชาติของทั้งคู่ เซอร์ช่ากล่าวว่าเธอและลอรี่ย์รู้จักและเรียนรู้กันในฐานะนักแสดงและตัวละครของกันและกันมากพอ ณ จุดนั้น และหลังจากซ้อมกัน เตี๊ยมกันให้เข้าใจว่าแต่ละคนเริ่มเถียงกันเรื่องไหนตอนไหน (การสลับรางการเถียงมันซับซ้อนกว่าที่คุณคิด!) มันก็เหมือนทุกอย่างคลิก ลอรี่ย์เองชอบถ่ายทำการรับ - ส่งเถียงกันไปมา เพราะเป็นบทที่ยุ่งเหยิง และสะเปะสะปะไปทุกที่ในด้านอารมณ์ ('emotionally all over the place') ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่เราชอบฉากนี้ จากการคุยกันดีๆ จนบานปลายและระเบิดนี่ละ การทะเลาะกันระหว่าง แม่ - ลูก ก็มักเริ่มต้นจากจุดราบเรียบ ที่ไม่มีฝ่ายใดคาดคิดว่าจะระเบิดแรงดีกรีไหนและอย่างไร


    "ทำเป็นพูดเหลวไหลไป ลูกมีชีวิตที่แสนวิเศษอยู่แล้วนี่ -  You're being ridiculous because you have a great life." มาริยงติคำเปรยลอยๆ ของลูกสาว ผู้อยากใช้ชีวิตท่ามกลาง 'อะไรๆ' ที่เกิดขึ้นสักอย่าง ('to live through something')

    การฝันหวาน 'อยากจะเป็นส่วนหนึ่งของอะไรๆ' สมัยที่เรายังวัยรุ่น สมัยที่ไร้เดียงสาพอที่จะร่ำร้องอยากเป็นนู่นนี่ และมุ่งมั่นจะเป็นให้ได้อย่างจริงจังเพราะแรงไฟผลักดันอุดมคติในหัวยังลุกโชนนั้นเป็นเรื่องธรรมดา ยอมรับว่าถึง 'โลก(เคย)สวย' จะเหลือแค่ความทรงจำ เรายังหลบหายตัวเข้าไปในโลกส่วนตัวใบนั้นในบางเวลา โลกคู่ขนานกับความจริงที่เราเข้าใจ รู้สึกถึง (aware) และปกป้องไว้ในความคิดสไตล์ 'คนเขลาช่างฝัน' ของ La La Land (2016) นั่นแหละ

    และส่วนหนึ่งจากช่วงเวลานั้นคือคุณแม่ที่เป็นเหมือนเข็มทิศ​ในชีวิตที่เราตัดสินใจเดินทางเอง ทิศเหนือของแม่คือ 'ความจริง' ที่ดึงเรากลับมาจากความฝัน สมอเรือที่ถ่วงเราไว้ใน 'ความเป็นไป' ของโลก ที่ชีวิตจริงของเรายังดำเนินอยู่ พร้อมๆไปกับคนรอบข้าง คนจริงที่จินตนาการเราไม่ได้สร้างสรรค์แต่งเติมขึ้นมา คนจริงที่ต่างก็มีโลกส่วนตัวในความรู้สึกนึกคิดของตัวเองพอกับเรา

    เพราะมนุษย์แม่คือผู้มองโลกผ่านเลนส์กว้าง มุมกล้องที่เกิดจากประสบการณ์การผ่านโลกมาก่อน เวลาที่เก็บสั่งสมมาหลายปีแซงหน้าเรา และความคิดความรับผิดชอบในการดูแลโอบอุ้มครอบครัว หรือ 'ปัจจุบัน' ของเธอที่ก่อเกิดมาจากเหตุผลง่ายๆที่ไม่ง่ายในความจริงอย่าง 'ความรัก'


    ฉากนี้ทั้งตำตาและตำใจ เชื่อว่าไม่ใช่เราคนเดียวที่เคยผ่านบทสนทนาแบบนี้ คนลูกวาดฝันถึงชีวิตที่อยากได้ เพราะละเลยปัจจุบันที่เป็นอยู่ ขณะคนแม่โต้กลับด้วยอยากให้ลูกรับรู้ถึงปัจจุบันที่เธอกำลังสร้างและเหน็ดเหนื่อยกับการคอยถนุถนอมทั้งสองมือ

    โดนสะกิดให้มองย้อนกลับถึงบทสนทนาครั้งใดครั้งหนึ่ง ครั้งไหนก็ไม่รู้ และมองเห็นเส้นทางของการโต้ตอบอย่างชัดแจ้งตั้งแต่ประโยคสวนกลับของมาริยง


    หนังสือ Thanks for the Feedback: The Science and Art of Receiving Feedback Well (2015) (ขอบคุณสำหรับคำติชม: วิทยาศาสตร์และศิลปะในการรับคำติชม) ของดั๊กลาส สโตน และชีล่า ฮีน (Douglas Stone and Sheila Heen) วิทยากรแห่งโรงเรียนกฏหมายของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard Law School) มองการโต้เถียงเป็นรางรถไฟจากสองจุดเริ่มต้นที่มาบรรจบกัน และทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง

    พอโตขึ้น ได้อ่าน และเตือนตัวเองถึงอะไรแบบนี้ ถึงมองบทสนทนาออก ว่าต่างคนจากพูดจากความเข้าใจ จากมุมมองและจุดเริ่มต้นของตัวเอง ที่มาบรรจบกันตรงที่ๆประทุความรุนแรงทั้งสองฝ่าย ที่ๆจุดชนวนระเบิดให้คริสทีนเปิดประตูเหวี่ยงตัวเองลงจากรถเพราะอารมณ์โกรธขึงความ 'ไม่เข้าใจ' และคำประชดประชันเฉือดเฉือนที่แทงใจดำของแม่ ทั้งที่ต่างคนไม่ได้ตั้งใจหรือเล็งเห็นว่าการโต้เถียงในรถธรรมดาๆ (มันเคยธรรมดาซะที่ไหน!) จะเกิดผลที่กลายเป็นหลักฐานรูปธรรมชัดเจนในรูปเฝือกที่แขนของคริสทีนไปอีกหลายเดือน


    ระหว่างการโต้เถียงนั้นแน่นอนว่าอารมณ์ขับเคลื่อนคำพูดและการกระทำ ระบบสมองซีกแรก (System 1) ที่ข้องเกี่ยวกับการตัดสินใจจากแรงกระตุ้น (impulse) อย่างฉับไวและโดยอัตโนมัติจากบริบทของสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นเพียวๆ ได้กระโดดเข้าควบคุมการตัดสินใจเล็กใหญ่ทั้งการเลือกคำโต้ตอบและการตอบสนอง โดยไร้การคำนึงถึงผลของการกระทำที่จะตามมา (consequences) และตัดสินใจจะ 'กระทำ' เพื่อความสาแก่ใจของอารมณ์ที่คุกรุ่นในชั่ววินาทีนั้น อย่างไม่มีการ 'ดึงตัวเอง'  แยกออกมามองความบานปลายเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นสักนิด


    จะโทษอารมณ์ชั่ววูบของคริสทีนก็ไม่ได้

    เพราะ 'ฝันร้าย' ที่คุณแม่มาริยงพูดประชดซะยืดยาว เราก็มีเวอร์ชั่นของตัวเองที่เคยได้ยิน (และนิยามกับตัวเองว่าเป็น 'โลกคู่ขนานด้านมืด') เช่นกัน


    แต่ที่สุดสำหรับเราคือต้นเหตุแสนคาดไม่ถึง (ironic) ของบทสนทนาในฉาก เพราะอย่างที่เกริ่นบทความส่วนนี้ไปตอนต้น บทสนทนาระหว่างแม่ - ลูก ก็วนมาที่ความรู้สึกเดียวความรู้สึกนี้

    ที่บานปลาย ที่ทวีความรุนแรงเพียงเพราะคำพูดก็ไม่ใช่เพราะต้นเหตุอะไรอื่นนอกจาก 'ความรัก'


    เพราะต่างคนต่างแคร์ความรู้สึกของอีกฝ่าย ต่างเป็นฝ่ายที่ "แรง" เท่ากัน (ตามคำพูดคุณพ่อแลรี่ย์ - เทรซี่ เลตตส์ Tracy Letts - ตอนค่อนเรื่อง) ออกตัวจากรางรถไฟด้วย 'ความเร็ว' ไม่แพ้กัน ทำให้ตีความและต่อยอดจากคำพูดของอีกฝ่ายจากมุมมองและแง่ของตัวเองไปไกลกันคนละทาง 

    จนต้องตั้งป้อมคิดว่า 'ลูกมองโลกแคบๆแค่นั้นเอง' และ 'แม่(ที่ฉันรักและเป็นคนสำคัญอันดับต้นๆในชีวิต)มองฉันแย่ขนาดนั้นเชียวหรอ ดูถูกความสามารถของฉันขนาดนั้นเลย' พอชนกันเข้าจึงต้องมี 'ผู้บาดเจ็บ' (casualty) เป็นธรรมดา

    เป็น 'ความบาดเจ็บ' ที่เรากล้าพูดจากประสบการณ์ตรงว่าไม่ได้ขีดข่วนทำร้ายแค่ร่างกายที่เห็นได้ด้วยตา แต่เป็นคำพูด (soundbite) เด็กสาวหัวรั้น ใจเด็ดเดี่ยวอย่างคริสทีน ต้องยัดลง 'กล่องความทรงจำ' เรื่อง 'ความคิดเห็นของแม่ต่อตัวเองในตอนนี้'  จุดที่อาจเป็นส่วนหนึ่งในการ 'ตั้งแง่' ของเธอกับแม่ในการทะเลาะกันในอนาคต อย่างไม่มากก็น้อย


    เกอร์วิคยังยกประโยคที่คงเคยบาดหูหลายคนมาแต่ต้นเรื่องอย่าง 'ความเห็นแก่ตัว' ของ 'ลูกสาวคนเดียว' (ในครอบครัว)

    มาริยงแตกแขนงการตีความ 'ฝันอันยิ่งใหญ่' ของลูกสาวจากข้อแย้ง (argument) และจุดยืนของเธอจากฝ่ายรับผิดชอบครอบครัวว่าไม่รับรู้ถึงชีวิตของคนอื่น "เพราะลูกไม่คิดถึงคนอื่นนอกจากตัวเองเลย -  Because you don't think about anybody but yourself."  

    การทะเลาะกันในรถไม่เคยเป็นเรื่องเล็ก: บน - Lady Bird (2017), ล่าง - J'ai tué ma mère (I Killed My Mother, 2009) 

    ประโยคเรียบๆที่ไร้คำแง่ลบแต่กรีดใจตรงเป้าทำให้เรานึกถึงเด็กหนุ่มฮูเบิร์ต (Hubert) ในหนัง coming of age ของเฮียเซเวียร์ โดแลนอย่าง J'ai tué ma mère (I Killed My Mother, 2009) ที่เจ้าตัวเขียนบทเมื่อ 16 ปีและกำกับและแสดงเองตอนอายุเพียง 19 ปี ​ (โดย I Killed My Mother ก็มีฉาก 'ทะเลาะกันในรถ' ที่แรงเกิน Lady Bird ประปรายในเรื่อง)

    "ลูกไม่นึกถึงความรู้สึกคนอื่นอยู่แล้ว - People's feelings aren't your concern." คุณแม่ชานทาว (Chantal) พูดประชดเมื่อลูกชายเลือกจะไปหาเพื่อน แฟนหนุ่มแทนจะอยู่บ้านเจอเพื่อนของเธอ 


    (ฮูเบิร์ต และคริสทีน ยังมีแง่คล้ายและ 'ความแรง' พอกันที่อยากอ้างถึงในจุดอื่นของบทความนี้ เตรียมพบกับฮูเบิร์ตต่ออีกได้เลย)

    'ความเห็นแก่ตัว' นับเป็น 'จุดอ่อน' ของวัยรุ่นหัวศิลป์ที่ 'โลกเดินได้ด้วยความคิดฉัน' ที่ยึดเอาตัวเองเป็นที่พึ่งและที่ตั้งในการตัดสินใจเดินหมากในชีวิต จุดอ่อนที่คนเป็นแม่โจมตีอย่างง่ายดาย และมักได้ผล กระทบความรู้สึกคนฟังเกินคาด 

    เพราะการเชื่อมั่นในความคิดของตัวเองอย่างสุดโต่งมักทำให้เรามองโลกจากมุมแคบของตัวเอง และลืมนึกถึงคนรอบข้างไปในชั่วขณะนั้นๆ แม้จะไม่ได้ตั้งใจ

    เป็นความรู้สึกและมุมมองที่ยิ่งโตขึ้น ก็ยิ่งพยายามเข้าใจคนอื่นมากขึ้น ตั้งสติและระลึกถึงสถานการณ์ปัจจุบัน พยายามออกห่างจาก 'โลกของตัวเอง' มากขึ้น เพราะการละความยึดติด กระทำและตอบสนองจากความรู้สึกของตัวเองล้วนๆคือความมีวุฒิภาวะที่เพิ่มขึ้นพร้อมประสบการณ์และกาลเวลา


    เรียกว่าเกอร์วิคจำลองทั้ง 'ความรู้สึก' และ 'ตัวตน' ของ 'เด็กสาวหัวรั้นคนนั้น' ผ่านประโยคและฉากแรกๆฉากเดียวได้สมจริงและกินใจ พูดน้อยแต่ต่อยหนักจนเราขนลุก


    กลางเรื่อง มาริยงเปิดประเด็นเรื่อง 'ความเห็นแก่ตัว'  ของลูกในฉากที่วัยรุ่นหลายคนอาจเคยผ่านมาในชีวิตจริง(อีกแล้ว!)

    "ไม่งั้นลูกก็คิดว่าจะพูดอะไรก็ได้ แล้วจะไม่มีใครเจ็บปวด.... อะไรที่เราให้เธอ มันไม่เคยพอเลย ไม่เคยพอ ... เคยคิดบ้างมั้ยว่าเลี้ยงดูลูกน่ะหมดไปเท่าไหร่ และเธอเองผลาญไปเท่าไหร่ทุกวัน?  - Otherwise she'll think she can say anything at all, and nobody ever gets hurt.... Whatever we give you. It's never enough. It's never enough.... Do you have any idea what it costs to raise you? And how much you're just throwing away every day?"


    ในเรื่องที่ 'ให้อะไรก็ไม่เคยพอ' เพราะลูกสาวคนเดียวนั้น 'ฝันใหญ่' เกินตัว คริสทีนแย้งแม่กลับทันทีว่า 'มันพอค่ะ พอ'  ตกใจเหมือนได้ยินเสียงตัวเองพูดประโยคเดียวกันในหัว 

    "ลูกไม่เคยพอใจ[แม่]เลย -  You're never content." ชานทาวพูดกับฮูเบิร์ต ปฎิเสธไม่ได้ว่าต้องมีสักช่วงที่เหมือนเราจะขัดแย้งกับแม่ คนที่ใกล้ตัวและสนิทที่สุดในชีวิต ไปหมด 


    แต่ก็เพราะต้องการให้แม่รู้วินาทีนั้นว่าเราไม่ได้โลภมาก ไม่ได้อยากได้อะไรมากมายอย่างแม่คิด รู้ทั้งรู้ตอนนี้ว่าสถานการณ์เคย บังคับ เข้าใจว่าเป็นช่วงที่เคยรู้สึกและฝันไกลเกินตัว เพราะอยากคว้า 'ปัจจุบัน' และ'อนาคต' ในฝันให้กับตัวเอง จนลืมนึกถึง 'ปัจจุบัน' และคนรอบข้างที่แท้จริง


    บทสนทนาในฉากเผชิญหน้าระหว่างแม่ - ลูกที่ส่งตรงจากใจของแม่ที่ต้องการให้ 'ลูกบังเกิดเกล้า' รับรู้ถึงความเสียสละของตัวเองบ้าง ทำให้เรานึกถึงเรื่องเล่าสั้นๆ สมัยก่อนที่แพร่หลายก่อนจะมีการส่งต่อกันทางไลน์ เรื่องเล่าที่คุณแม่โต้ตอบใบเสร็จ 'คิดเงิน' แม่จากการเลี้ยงดูน้องชายและทำงานบ้านของเด็กชายด้วยใบเสร็จ 'ความเป็นแม่' ของตัวเอง (อุ้มท้อง 9 เดือน - ไม่คิดเงิน, คลอดลูก - ไม่คิดเงิน...)

    เพราะเป็นวัยรุ่น เพราะหัวรั้นจะเอาชนะ 'ผู้กุมอำนาจ' ของชีวิตในขณะนั้น คริสทีนจึงคว้ากระดาษจดสีเหลืองขึ้นมาขอ 'ตัวเลข' ค่าเลี้ยงดูตัวเองที่แม่อ้างถึงแล้วตะขิตตะขวงใจหนักหนา 


    หากพอลองหงาย 'การ์ดแม่' ขึ้นมา จะเอาหนามบ่งที่ไหนมาแก้หนามยอกก็แพ้แต่เริ่มต้นแล้ว

    คริสทีนออกอาการอาละวาดแบบวัยรุ่นเมื่อไม่ได้ดั่งใจอย่างที่คิด แต่เรื่อง 'การเลี้ยงดู' นี่จะเถียง จะท้วงแม่นี่ตีเป็นตัวเลขก็ไม่ได้ จะทดแทนก็คงไม่พอ (เปิดเพลงวันแม่เลยเหอะ เดี๋ยว) รู้แต่ว่าตอนนี้เราสำนึกเรื่องนี้อยู่เสมอ และตั้งใจจะเป็นลูกที่ดีที่สุด เป็น 'เวอร์ชั่นที่ดีที่สุด' ของตัวเองเท่าที่ทำได้


    "แม่อยากให้ลูกเป็นเวอร์ชั่นที่ดีที่สุดของตัวเองที่เป็นได้ -  I want you to be the very best version of yourself that you can be."  มาริยงตอบคริสทีน เมื่อลูกสาวถามว่า "แม่ชอบหนูรึเปล่า -  But do you like me?" 

    น่าคิดที่คริสทีนตอบคำตอบแรกของแม่ "แน่นอน แม่รักลูก - Of course, I love you." ด้วยคำถามนี้ เพราะจากมุมมองของเด็กสาว 'ความรัก' เหมือนเป็นพื้นฐาน 'ความสัมพันธ์' แม่-ลูกอยู่แล้ว แต่ 'ความชอบ' นี่สิที่คาใจเธอ 


    เพราะรัก เพราะแคร์ความรู้สึกแม่ เราถึงกังวลเรื่อง 'ความชอบ' เรื่องนี้ เพราะลึกๆ แล้วก็กลัวและมีความกระวนกระวาย (anxiety) ว่าเรายังเป็น 'ลูกที่ยังไม่ดีพอ' อยู่นั่นเอง

    แต่พอเรารู้สึกล้มเหลวกับชีวิต รู้สึกว่ายังทำได้ดีกว่านี้  'แม่' ก็ยังเป็นคนที่อยู่ข้างๆเรา คนที่บอกเราว่า "ไม่เป็นไรนะ แม่รักลูกอย่างที่ลูกเป็น"


    มาริยงมีเรื่องขัดแย้งจุกจิกกับคริสทีนมากมายตั้งแต่ การทอดไข่ เก็บเสื้อผ้า เดินลากเท้า ใช้ผ้าเช็ดตัว (ก็เรื่องเล็กน้อยมันกระทบ 'วันทั้งวัน' ของคนเป็นแม่จริงๆ) และ ลองชุดงานพรอม (บางทีแม่ก็เตือนเรื่องไม่ให้ตักอาหารเพิ่มเอาตอนที่ชุดมันคับ - in hindsight จะคายอาหารออกตอนนี้ก็กระไรอยู่ - เราคิดว่าคำพูดท้วงของคริสทีนที่ว่า "แม่! หนูจะเป็นโรคเรื่องการกินอยู่แล้วเนี่ย! - Mom! You're giving me an eating disorder!) เป็นมุขตลกร้ายของเกอร์วิคที่ฉลาดดี) แต่เรื่องเหล่านั้นก็เป็น 'ชีวิตประจำวัน' ธรรมดาที่เกิดขึ้นระหว่างแม่ - ลูกที่สนิทกันมากๆ อย่างคู่นี้


    ที่แม่รัก ที่แม่เอาใจใส่ทุกอย่างลงไปแม้กระทั่งรายละเอียดเล็กๆที่ทำคริสทีนรำคาญ ก็เพราะแม่ของแม่เป็นคนติดเหล้าที่ไม่ได้เลี้ยงดูเธอดีนัก และแน่นอนว่าคนเป็นแม่อย่างมาริยง ย่อมรู้สึกเป็นทุนเดิมว่าลูกสาวควรจะรู้ตัวว่าตัวเองโชคดีแค่ไหนที่มีแม่อย่างเธอ

    แม่ที่กล้าพูดกับลูกตรงๆ กล้าเป็น 'คนร้าย/bad cop' เพื่อให้ลูกเป็น 'เวอร์ชั่นที่ดีที่สุดของตัวเองที่เป็นได้' ในขณะที่พ่อออกจะเงียบกว่า จะเป็น 'ผู้ชายแสนดี - Mr. Nice Guy' เพราะเกรงลูกรักจะโกรธ มักเป็น dynamic ครอบครัวที่แม่เป็น 'หญิงแกร่ง' นำทีม


    จริงๆ ลูกที่สนิทและแคร์ความรู้สึกแม่อย่างคริสทีนก็เข้าใจถึงความใส่ใจที่เกิดจากความรักของแม่ 

    "แม่เข้มกับเธอมากนะ - Your mom is hard on you." แดนนี่ (ลูคัส เฮดเจส, Lucas Hedges จาก Manchester By The Sea 2016, Three Billboards in Ebbing, Missouri 2017) หนุ่มผมแดงที่คริสทีนแอบชอบเป็นคนแรกในเรื่องออกปากพูด หลังซึมซับความรู้สึกและคิดเห็นของคริสทีนที่มีต่อแม่ พอคบกันไปได้สักระยะ

    แต่เรากลับอมยิ้มกับคำตอบที่คริสทีนให้แดนนี่ในทันทีว่า "ก็แม่รักฉันมาก - She loves me a lot." เพราะเป็นคำตอบที่คุ้นหูเราเหลือเกิน 


    คริสทีนบอกแดนนี่ภายหลังว่า "แม่ฉันไม่ได้บ้า เธอใจกว้าง และอบอุ่นจะตาย - She's not crazy... she has a big heart. She's very warm." โดยใช้คำเดียวกันที่เชลลี่ แฟนของพี่ชายเธอนิยามมาริยง อย่าง 'ใจกว้าง- Big heart' แดนนี่ยอมเธอแต่เถียงว่า "ใช่ แม่เธออบอุ่น แต่ก็ดุพอตัว - She's warm, yeah, but she's also kinda scary." ซึ่งคริสทีนไม่คิดว่าเป็นไปได้ แต่เรา และแดนนี่ เห็นด้วยเต็มๆ

    เพราะไม่ว่าแม่จะเป็นอย่างไร คนอื่นจะตีความแม่แบบไหน แม่ก็ยังเป็นแม่ของเรา และเราก็รักแม่แบบที่แม่เป็นเช่นกัน


    คำคมเปิด I Killed My Mother คือวรรคจากนักเขียนกีร์ เดอ มาพอซซอง (Guy De Maupassant) ที่ว่า 


    "เราต่างรักแม่โดยไม่รู้ตัว 

    และเพิ่งรู้สึกว่าความรักนั้นลึกซึ้งเพียงใดเมื่อแยกจากกันอย่างถึงที่สุด"


    “We love our mothers unknowingly, 

    and only realize how deep-rooted that love is at the ultimate separation.”


    ความรักของแม่ - ลูกก็เป็นเช่นนี้ จะเข้าใจดีที่สุดระหว่างสองคน และพอห่างแม่ไป เราถึงรู้สึกถึงความลึกซึ้งของความรักที่มี อย่างคริสทีนที่โทรศัพท์หาแม่ในฉากสุดท้ายของหนังหลังย้ายออกจากบ้าน เอ่ยชื่อจริง (คริสทีน) ของเธอ และบอกรักแม่เป็นครั้งแรกในหนัง



    She's My Best Friend: เพื่อนสนิท, แตกต่างแต่เข้าใจ

    เคยดูหนังวัยรุ่นที่ตัวละครหญิงทั้งเกาะกลุ่มเป็นเพื่อนกัน มีเพื่อนสนิทสองสามคน หรือคนเดียว มาพอสมควร แต่แปลกใจว่าไม่มีหนังเรื่องไหนที่ทำให้นึกถึงเพื่อนสนิทในเสี้ยววินาทีเท่า Lady Bird 

    อาจจะเป็นความอัจฉริยะของเกอร์วิคที่หยิบจับสร้างฉากง่ายๆ ระหว่างคริสทีน และเพื่อนสนิทอย่างจูลี่ ที่ดันเรียกความทรงจำของบ่ายแก่ๆ วันนั้นกลับมา



    แม้ไม่ได้คุยกันเรื่องแบบในหนัง เรากับเพื่อนสนิทก็นอนกลับหัวกับพื้น เอาขาสองคู่พิงเพดาน ขนม s'mores ที่เพิ่งอบเสร็จ-- พายแฟรงก์เกนสไตน์ปะติปะต่อระหว่างมาร์ชเมลโล คุกกี้บด(มือ) และชอกโกแลตที่เค็มเกินไปจนไม่ควรจะเรียกว่าของหวาน อยู่ระหว่างเรา พูดคุยไปเรื่อยเปื่อยละหัวเราะกิ๊กกั๊กเพราะน้ำตาลในพาย 

    บอกแล้วว่าตกใจที่เกอร์วิคเข้าไปนั่งในใจเรา 



    เพื่อนสนิทเป็นคนที่เราพึ่งพิง คนที่ไม่ได้ชอบทุกอย่างเหมือนเราแต่มีส่วนที่คล้ายกันคาบเกี่ยวกัน คนที่เรียนกันคนละโปรแกรม แต่มีเวลาคุยด้วยเสมอ คนที่ผ่านอะไรๆมาด้วยกันและนัดเจอกันไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น

    จูลี่ เป็นส่วนสำคัญในการเดินทางของคริสทีน ระหว่างค้นหาตัวตนและก่อนจะค้นพบ 'ความเป็นตัวของตัวเอง' ('individual personhood'  ตามคำนิยามของเกอร์วิค) 

    บทสนทนาระหว่างจูลี่และคริสทีน ทำให้เราเข้าใจแม่นกน้อยหัวรั้นคนนี้ในอีกมุมหนึ่งที่เธอไม่เปิดเผยกับพ่อแม่ เรื่องการยึดติดกับชื่อ 'เลดี้ เบิร์ด' ที่มอบให้ตัวเอง ความฝันที่อยากฟังเพลงเกี่ยวกับนิวยอร์กและรู้สึกว่า 'เป็นชีวิต' ของตัวเองในชั่วขณะหนึ่ง (ยอมรับว่านั่นก็เคยเป็นความฝันของเราตอนอายุเท่านั้น -- แล้วชีวิตและการตัดสินใจก็เปลี่ยนฉากมาให้เป็นลอนดอนแทน) เม้าท์ถึงกลุ่มเพื่อนสุดป๊อบ และหลงรัก(หนุ่มใน)การแสดงละครเพลงโรงเรียนไปพร้อมกัน


    คริสทีนตกหลุมเดียวกับตัวละครวัยรุ่นในหนังอื่นๆ ก่อนเธอ โดยเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อที่จะเข้ากลุ่มกับพวกเด็กป๊อบจนลืมจูลี่ ผู้อยู่ข้างเธอไปสนิท สังเกตเห็นได้ชัดจากการรวบผมเป็นหางม้าของเธอให้เหมือนกับเจนน่า ตัวแม่ของกลุ่มนั้น (โอเดย่า รัช, Odeya Rush, The Giver) และการพยายามพูดจาให้เฮี้ยวซ่าก๋ากั่นซึ่งแรกๆ ขัดกับบุคลิกจริงของเธอ

    แม้พล๊อตตรงนี้จะซ้ำรอยเดิมและเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ก็ต้องชื่นชมเกอร์วิค เซอร์ช่า และบีนนี่ ฟีลด์สไตน์ (Beanie Fieldstein, น้องสาวของนักแสดงตลกอย่างโจน่าห์ ฮิล  Jonah Hill) ที่ถ่ายทอดและจำลองประสบการณ์ 'แยกวง' กับเพื่อนสนิทคนดีมาหลงสังคมใหม่ จนแอบค่อยๆ คิดถึงโลกใบเก่า และกลับเข้ามาโดยไม่มีอะไรซับซ้อน ได้เข้ากันกับเหตุการณ์ขึ้น - ลงอื่นในชีวิตของคริสทีน บีนนี่แสดงเป็นเพื่อนสนิทขึ้อายที่เก่งเลข และคล้อยตามคริสทีนได้อย่างน่ารัก 

    จูลี่ยังเป็นคนแย้งในคริสทีนกลับมามองตัวเอง คนที่บอก 'ข้อเสีย' ของเธอตรงๆเวลาที่ทะเลาะกัน อย่างที่กลุ่มเด็กป๊อบไม่เคยใส่ใจ 


    "เธอทำอะไรไม่ได้เลย ถ้าไม่ได้เป็นศูนย์กลางของความสนใจ! -  You can't do anything, unless you're the center of attention, can't you?" พอกันกับแฟนของฮูเบิร์ต ที่เตือนสติเด็กหนุ่มว่า "โตๆกันแล้วโว้ย! นายนี่เห็นแก่ตัวชะมัด! - Grow up! Goddamnit! You're so selfish!"


    คำติจากคนที่รัก สนิท และรู้จักเรามีค่าเพราะความซื่อสัตย์ (honesty) ที่เขากล้าบอกเราตรงๆ อย่างให้เรารับรู้และเปลี่ยนแปลง เขายอมรับทั้งข้อดีและเสียของเราอย่างที่เพื่อนแท้ควรเป็น

    ฮันยา ยานะกิฮาระ เขียนไว้ใน "A Little Life" ว่า 

    "เธออาจจะไม่เข้าใจความหมายของฉันตอนนี้ แต่สักวันเธอคงเข้าใจ: 
    กลเดียวของมิตรภาพนั้นคือการหาคนที่ดีกว่าเรา - 
    ไม่ใช่คนที่ฉลาดกว่า เจ๋งกว่า แต่ใจดี ใจกว้างกว่า และพร้อมจะให้อภัยเธอมากกว่า 
    และขอบคุณเขาในเรื่องที่เขาสอนเราได้ และพยายามรับฟังเขาเมื่อเขาบอกอะไรคุณเกี่ยวกับตัวเอง 
    ไม่ว่าจะแย่ หรือดีแค่ไหน และเชื่อใจเขา ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากที่สุด แต่ก็มีค่าที่สุดเช่นกัน"

    You won’t understand what I mean now, but someday you will: 
    the only trick of friendship, I think, is to find people who are better than you are— 
    not smarter, not cooler, but kinder, and more generous, and more forgiving— 
    and then to appreciate them for what they can teach you, 
    and to try to listen to them when they tell you something about yourself, 
    no matter how bad— or good— it might be, 
    and to trust them, which is the hardest thing of all. But the best, as well.

    -- From “A Little Life by Hanya Yanagihara


    แม้ 'เพื่อนสนิท' ที่อยู่ข้างเราในแต่ละช่วงชีวิตจะห่างเหินกันไป เพราะเหตุการณ์และการตัดสินใจของแต่ละฝ่าย ที่เลือกเดินทางกันคนละเส้น แต่ปฎิเสธไม่ได้ว่าพวกเธอ (ยิ่งกว่าหนุ่มคนไหน) คือส่วนหนึ่งของประสบการณ์ในช่วงเวลานั้นๆ ส่วนหนึ่งของ 'ตัวเรา' อย่างที่เราเคยเป็น สิ่งที่เราเคยชอบ ความฝันที่เคยมี คำพูด ความคิดของเราในช่วงเวลาเราผ่านมากับเขา 


    ย้อนกลับไปมองอะไรๆ ที่เคยทำร่วมกัน กรี๊ดด้วยกัน ซึ้งด้วยกัน สถานที่ๆไปเที่ยวด้วยกัน ก็ต่อจิ๊กซอว์ 'ความเป็นเพื่อน' ของเรากับเขาในความทรงจำได้อีก 

    เพราะไม่ว่าเวลาจะผ่านไปแค่ไหน และเธอกับเราอยู่ห่างกันคนละไทม์โซนยังไง 'ความเป็นเพื่อน' นั้นยังคงอยู่ระหว่างเรา



    Wish You Had Been: หนุ่มๆ, วางใจแต่ใช่รัก

    ประสบการณ์หัวใจสมัยวัยรุ่นเหมือนการ 'กะเทาะเปลือก' ความอยากรัก การ break the ice หรือทำความรู้จักสิ่งอะไรที่หน้าตาเหมือน 'ความรัก' ในความคิดของเราสมัยนั้น เรื่องราวหรือถ้อยคำที่เคยพูดไว้(ในฐานะเด็กสาวโรแมนติก)ช่างไร้เดียงสาและน่าเขินอาย

    คำถามจากปากเพื่อนสนิทมัธยมที่เพิ่งนัดกลับมาเจอกันเหมือนฉุดเรากลับไปหาเด็กสาวช่างเพ้อคนนั้นในสมัยก่อน คนที่เราก็จำไม่ได้แล้วว่า 'เป็นไป' ถึงขนาดนั้นได้อย่างไร 


    "ชั้นเคยพูดแบบนั้นด้วยหรอ" เราถามนางแทนคำตอบ ได้แต่ขอบคุณเวลาและคนที่เคยผ่านเข้ามาที่ทำให้มุมมอง 'ความรัก' มีมิติพร้อมหัวใจที่เข้มแข็งมากขึ้นตามประสบการณ์

    เพราะก่อนจะมีภูมิคุ้มกัน ก่อนจะเข้าใจและมองสถานการณ์ออก หัวใจก็ต้อง 'ตกสะเก็ด' บางทีต่อๆกันได้ซ้ำ


    เกรต้า เกอร์วิค ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Rolling Stone ว่าเธอ "ระบายสีระหว่างเส้น - colored within the lines" สร้างตัวละครเลดี้ เบิร์ดขึ้นมาจาก "สิ่งทั้งหมดที่เธอไม่เคยได้เข้าถึง หรือสามารถเป็นได้ - all these things I didn't have access to or I couldn't be" และเปรียบเทียบเลดี้ เบิร์ดเป็นเหมือน "การประดิษฐ์คิดสร้างฮีโรผู้หญิงที่มีจุดด้อยในสไตล์เทพนิยาย คนที่เธอชื่นชม - fairy-tale invention of a deeply flawed heroine, but one who I admire." 

    เราเห็นด้วยกับเกอร์วิคในการสร้างตัวละครและการเขียน ถึงสถานที่ และเหตุการณ์จะใกล้เคียงความจริง และอิงความรู้สึกที่เคยเกิด ตัวละครที่บางตัวมักจะเป็น 'คนในจินตนาการ' ที่กล้าหาญกว่าเรา กล้าที่จะเป็นตัวเองมากกว่า มีความเป็นเรา แต่ก็มีส่วนอื่นผสมอยู่ด้วย


    ถึงจะมองหนุ่มละครเวทีอย่างแดนนี่ด้วยตาหวานเชื่อมแบบคริสทีนกับจูลี่ เราก็ทึ่งในความ 'มั่น' ของคริสทีนที่นางเข้าไปทักทั้งแดนนี่ และหนุ่มเซอร์​ ดูเข้าถึงยากอย่างไคล์ (น้องทิม Timothee Chalamet ลูกรักของเพจเรา) ทำให้หนุ่มทั้งสองหันมามองเธอก่อน


    **สปอยล์** 



    I Had a Dream About You: พ่อหนุ่มนักร้อง

    อีกการตัดสินใจ/choice ที่เกอร์วิคเลือกตรงใจเราคือเพลงคัดตัว audition ของแดนนี่ ที่ทำเราแอบทาบอก Giants In the Sky เป็นเพลงโปรดของเราจาก Into The Woods (ละครเพลงเสียดสีเทพนิยายคลาสสิกของสตีเว่น ซอนไฮม์ Stephen Sondheim, เวอร์ชั่นหนัง (2014) ร้องโดยแดเนียล ฮัตตัลสโตน Daniel Huttlestone เจ้าหนู Gavroche จาก Les Miserables (2012))*

    *ปรากฎว่าเกอร์วิครักซอนไฮม์มาก และละครเพลงในหนัง Merrily We Roll Along คือเรื่องโปรดของเธอ ละครเป็นเรื่องเกี่ยวกับเพื่อนรักสามคนที่มองกลับไปวัยเยาว์เมื่ออายุสามสิบกว่า และค่อยๆ ย้อนเวลากลับไป 


    บอกไม่ถูกเหมือนกันว่าทำไมชอบเพลงนี้ อาจเพราะฟังดูมีความหวัง และสดใสมากเพลงหนึ่งจากละครเรื่องนี้ แต่เป็นเพลงที่ฟังแล้วรู้เลยแต่โน้ตแรกว่าเหมาะกับเสียงของลูคัส เฮดจส์มาก

    ขอไม่สปอยล์จุดแตกหักของการคบกันที่ดูชื่นมื่นครั้งนี้ แต่หลังคุยกับเพื่อนอีกคนแล้ว นางก็พูดสิ่งที่เราเคยคิดในตอนนั้น: "เธอจะไปรู้ได้ยังไง -  How could you have known?" 


    ใช่ค่ะ จะไม่อินได้ยังไงในเมื่อเกอร์วิคกำลังติ๊กลิสต์ชีวิตเราไปทีละข้อ!


    เป็นความชอบส่วนตัว(อีกละ) ที่ในฉากท้ายๆ ของแดนนี่ หนุ่มผมแดงได้แสดงเป็นพรอสเพอโร่ (Prospero) พ่อมดตัวเอกใน The Tempest (ละครของเชกสเปียร์เกี่ยวกับพ่อมดที่ถูกน้องชายชิงบัลลังก์และเนรเทศไปอยู่เกาะกลางทะเล) ซึ่งเราเรียนตอนราวๆ เกรด 11 - 12 (ม. 5 -6) เหมือนกัน

    ที่น่าจดจำคือฉากละครในหนังเป็นบทส่งท้าย (Epilogue) ของละคร ที่เป็นบทพูดเดี่ยวของพรอสเพอโร่ เมื่อทุกสิ่งในละครจบลงด้วยดี และตัวเองไร้เวทมนตร์ที่จะเสกสรรค์อะไรอีกแล้ว พ่อมดจึงทำลายกำแพงที่สี่และขอความเมตตาจากคนดู เพื่อปลดปล่อยตัวเองจาก 'คุก' สุดท้ายในละคร หรือตัวละครเอง ("the play itself")



    บทนี้ตรงกับปัญหาในใจของแดนนี่ ผู้รู้สึกถูก 'กักขัง' ในตัวเอง เพราะไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองอย่างที่อยากเป็นได้ ไม่สามารถบอกครอบครัวไอริชคาทอลิกถึงเพศสภาพของตน 

    เหมือนกับพ่อมดพรอสเพอโร่ 'คุก' ของแดนนี่คือ 'ละครชีวิต' ของเขาเอง และอยากให้ 'บทสวด' หรือการให้อภัยจากเบื้องบน ('divine pardon') ที่เอาชนะแม้ความเมตตาและความผิดทั้งหลาย ผ่อนบรรเทาโทษของเขา โดยขอร้องให้คนดูตามใจ (indulge) เขา ยกโทษให้ และปล่อยเขาเป็นอิสระจาก 'ละคร' 

    "คนเราจะไม่พูดว่า 'ปล่อยฉันให้เป็นอิสระ' เว้นว่ายังไม่เป็นอิสระแล้วหรอก -  You don't say 'set me free' unless you're not free." ตัวละครเอกของนิยาย Hagseed กล่าว  (2016, มาร์กาเรต แอ๊ดวู้ด Margaret Atwood - เกี่ยวกับผู้อำนวยการโรงละครผู้จัดโปรดักชั่นละครเชกสเปียร์ที่แสดงโดยคนคุกขึ้น)



    เป็นฉากที่กลับมาดูแล้วก็ทำหน้าซึ้งตามคริสทีนขณะปรบมือให้แดนนี่จริงๆ


    So Much Un-Special Sex in Your Life: หนุ่มอินดี้ปากดี

    ความคลั่งไคล้คนๆหนึ่งอาจกลายเป็นหมอกบัง 'ตัวตน' แท้จริงของเขาในสายตาเรา


    ยังภูมิใจกับน้องทิมมากที่เล่นเรื่องนี้กับ Call Me By Your Name ติดๆกัน แต่แสดงได้ราวเป็นคนละคน (เซอร์ช่าเรียกน้องทิมว่า 'สุดมหัศจรรย์ - just magic, absolutely magic!') ในขณะที่น้องทิมรีบออกมาแก้ตัวว่า ผมไม่เหมือนหนุ่มไคล์สักนิดเลยนะฮะ! (แหม.)  

    ทิโมธีเสริมว่า เพราะบทของเกอร์วิค ไคล์จึง​มี 'ความเป็นมนุษย์' มากกว่าที่คนอื่นจะคิดมองเขาเป็น 'หนุ่มเลว' (antagonizer) ด้านเดียว เพราะไคล์ก็มีชีวิตที่เศร้านะ (sad existence) 

    การแสดงของทิโมธีทำให้ตัวละครที่เราได้เจอในบางฉาก ตัวที่เรารู้จักผ่านมุมของคริสทีน และปรากฏตัวเมื่อชีวิตซ้อนทับกับคริสทีน ดูมีมิติและเรื่องราวภูมิหลังที่เรายังไม่ได้รู้ ขณะที่เราหัวเราะกับคำพูดและการกระทำของไคล์ เราก็อดคิดไม่ได้ว่า สักวัน หนุ่มคนนี้อาจจะโตขึ้นและสลัดคราบตอนนี้อย่างที่เป็น เพื่อกลายเป็นคนอีกคน (grow out of it) 

    เซอร์ช่าอธิบายว่า การคบไคล์เหมือนการที่คริสทีนพยายามเขยิบออกจาก comfort zone ที่ๆ ตัวเองรู้จัก ทีละนิดๆ แต่อย่างไรก็ยังไม่เข้าใจโลกของไคล์ หรือสิ่งที่เธอมองว่าเป็นโลกของไคล์ คริสทีนต้องค่อยๆ ตามก้าวต่อไปของไคล์เสมอเพราะคาดเดาเขาไม่ได้


    **สปอยล์** 

    น่าสังเกตว่าคริสทีนเริ่มมองไคล์จริงๆจังๆ ผ่าน 'กระจก' ทั้งจากในคาเฟ่ที่เธอทำงานอยู่ และบ้านเจนน่า (หนุ่มอินดี้เขาต้องไปซุ่มอ่านหนังสือคนเดียวตามสระแบบไม่แคร์ใคร อร้าย...) ตรงนี้เราตีความว่าคริสทีนยังมองไคล์ผ่านฟิลเตอร์ 'ความชอบ' และ 'แรงดึงดูด' ที่เธอมีต่อเขาอยู่ ในขณะที่เรา ในฐานะคนดู มองออกแบบทะลุปรุโปร่งแต่ต้นว่า 'การอยากรัก' ครั้งนี้ต้องจบไม่สวยแน่ เพราะความเสแสร้งระดับพันล้านของหนุ่มรูปหล่อพ่อรวยคนนี้


    มองหนุ่มผ่านฟิลเตอร์: บน - คาเฟ่ และ ล่าง - ปาร์ตี้


    คำแรกที่ไคล์ทักคริสทีนคือ "แปลกดีนะ เธอจับมือทักทายด้วย- That's weird. You shake hands." ทำเหมือนเขาเป็นคนอีกจำพวกหนึ่งที่แสดงตัว 'แตกต่างจากสังคมและการปฎิบัติตัวของคนทั่วไป/normal conventions' อย่างชัดเจน 

    ไคล์ไม่เคยไม่มีหนังสืออยู่ในมือ และหนังสือที่เขาอ่านคือเรื่องประวัติศาสตร์อเมริกันจริงจัง แสดงท่าทีเป็นหนุ่มขรึมเต็มที่ เขาสูบบุหรี่ แต่บอกคริสทีนว่า 'เฉพาะบุหรี่ห่อด้วยมือ -  hand-rolled cigarettes' เรียนโรงเรียนเอกชนชายล้วนคู่กับโรงเรียนของคริสทีน แต่ยืนกรานว่าตัวเองไม่ค่อยชอบเงิน และพยายามจะตีตัวออกห่างเศรษฐกิจโดยรวม 



    การแสดงของทิโมธีในฉากเหล่านี้ น้ำเสียงแต่ละประโยคในบทไคล์​ ทำเราขำกลิ้งเอามาก เป็นตลกหน้าตายสุดๆ เคมีการรับ - ส่งกับเซอร์ช่าก็ชวนฝัน แม้จะเป็นรักหลอกๆ ก็ตาม


    ที่ร้ายที่สุด (แต่เกอร์วิคใบ้ให้เราเดาได้มาแต่ต้นเพราะพฤติกรรมและคำพูดแบบ 'ชิลหน้าตาย' ของไคล์--คิดว่าหล่อแล้วทำอะไรก็ได้รึ!) คือความห่างเหิน ไร้เยื่อใยการดูแลหรือปลอบโยนแฟน และเฉไฉไปเรื่องสงครามอิรัก เมื่อคริสทีนรู้ตัวว่าเสียบริสุทธิ์ให้กับคนที่ไม่ได้เวอร์จิ้นเหมือนตัวเองอย่างไคล์​ 

    "ฉันเคยอยากให้มันพิเศษ - I just wanted it to be special." เซอร์ช่าตีบทแตกกระจายในฉากนี้ แค่ line delivery การพูดประโยคนี้เราก็จุกแทนคริสทีน ตามลักษณะนิสัยของคริสทีน สาวมั่นผู้มีความคิดเห็นไปซะทุกเรื่องและยึดเอาตัวเองเป็นที่ตั้งในตอนนี้ เธอย่อมมีอุดมคติในเรื่องหลากหลาย และแน่นอนว่า 'การเสียบริสุทธิ์ครั้งแรก' จะต้องเป็นเรื่องหนึ่งที่เคยคิดมาแล้ว ว่าอยากได้คนนี้แหละ เพื่อจุดประสงค์นี้ รู้สึกว่าเวลานี้น่ะใช่ 


    (บางครั้งเด็กสาวโรแมนติกก็คิดเพ้ออะไรมากไป พยายามตีกรอบและวาดฝันโลกแห่งความจริงให้คล้อยตามโลกในอุดมคติ ทั้งๆที่โลกแห่งความจริงมักมีหนุ่มอย่างไคล์อยู่ คนที่ถึงจะหล่อก็ทำฝันสาวพังโครมหมดแบบเจ็บๆ และกลับไปแก้ไขอะไรไม่ได้!)

    แล้วไคล์ก็ตอบกลับด้วย "เธอจะมีเซ็กส์แบบบ้านๆ อีกเยอะในชีวิต -  You're going to have so much un-special sex in your life." (!!) สะท้อนถึงทัศนคติ 'ตายด้าน' (insensitive) ของเขาที่ไม่รับรู้ความผิดหวังของคริสทีน 



    ตอนระหว่างการกระทำกันเองก็เป็นฉากที่ขำปนเศร้าเหลือเกิน ทิโมธีแสดง 'เซ็กส์บ้านๆ' ที่ให้ผู้หญิง 'ข้างบน' ออกแรงซะหมดแบบไม่สนอะไรได้ดีจนน่าตกใจ พอเขาจะเสร็จก่อน เธอก็ไม่รู้ตัว! นี่คงไม่ได้เป็น 'การร่วมรัก - making love' ของชายหนุ่มที่คริสทีนใฝ่ฝันให้เป็น 'คนแรก' ของเธอในเรื่องนี้แน่



    สุดท้ายเมื่อไคล์มารับคริสทีนไปงานพรอม เขาก็บีบแตร และไม่ลงมารับเธอ พี่ชายของคริสทีนถึงกับพูดประโยคอมตะที่เราได้ยินกันบ่อยครั้งเกินไปกับอีกฝ่ายที่เราตัดสายสัมพันธ์แล้ว แต่คงเหลือด้ายเส้นเล็กอยู่น้อยนิดจากภายในหัวใจที่ยังรู้สึกหลงทาง

    "ขนาดเธอยังเหมาะกับคนที่ดีกว่านี้เลย - Even you deserve better than this."


    ไม่อยากเรียกการเจอสองหนุ่มว่าเป็น 'โชคร้าย' แต่อยากนิยามเป็น 'ประสบการณ์เสริมเกราะหัวใจ' สองครั้งสองคราเสียมากกว่า


    No More Short Skirts: โรงเรียน, เข้มงวดแต่สอนสั่ง

    "ทำไมเหมือนโรงเรียนลูกเลยละ?" แม่พูดตอนเห็นเทรลเลอร์ของหนัง 

    เราจบมัธยมต้นและปลายจากโรงเรียนคริสต์นิกายคาทอลิก ที่มีบาทหลวงเป็นครูใหญ่ และซิสเตอร์สอนวิชาศาสนา (Religion) และจริยธรรม (Ethics/Values) ทุกครั้งที่มีการเข้าแถว (เพราะไม่ได้เข้าแถวทุกวัน) จะสวด Our Father ที่ยังจำได้ทุกวันนี้


    มีโบสถ์ในโรงเรียน มีการพิธีมิสซา (Mass) สำหรับชาวคริสต์ รวมถึง Ash Wednesday อย่างที่เห็นการเจิมหน้าผากนักเรียนด้วยขึ้เถ้าในหนัง (เพื่อเตือนถึง Genesis 3:19:  “For dust you are and to dust you shall return." - ปฐมกาล 3:19: เพราะเจ้ามาจากดิน เจ้าเป็นผงคลีดิน และเจ้าจะกลับไปเป็นผงคลีดิน")  


    เครื่องแบบโรงเรียนก็คล้ายโรงเรียน Sacred Heart ในหนังมาก เป็นเสื้อโปโลหรือเชิ้ตขาว และกระโปรงลายสก๊อต ซึ่งสมัยก่อนเราจะเข้าเรียน ก็มีการเข้มงวดเรื่องความยาว เหมือนที่เจนน่าโดนตักเตือนในหนัง ถึงเป็นประเด็นเล็กน้อย เราก็ชอบที่เกอร์วิคแทรกเข้ามาใน Lady Bird ถึงสาวซ่าที่อยากลองดีใส่กระโปรงสั้น (วิธีแก้คือการที่นักเรียนผู้หญิงใส่ 'กระเปง' กระโปรงที่มีกางเกงข้างในแทน) ส่วนนักเรียนผู้ชายก็สวมเครื่องแบบเช่นเดียวกัน แต่เปลี่ยนเป็นกางเกงขายาวสีน้ำเงินเข้ม ไม่มีเนกไท


    โดยรวม โรงเรียนจะดูแลเรื่องพฤติกรรม เครื่องแต่งกายของนักเรียน คู่ที่คบกัน เต้นรำกันเป็นคู่ๆในเพลงช้า ตามงานเต้นรำที่จัดประปราย (Homecoming, Valentine's, etc.) มีจำนวนประมาณนับคู่ได้ 

    อีกฉากที่จำได้คือตอนที่ซิสเตอร์กระแอมเมื่อเดินผ่านเด็กมอปลายชาย - หญิงคู่หนึ่ง จนเด็กสาวรีบถอยตัวลงจากตักอีกฝ่าย โดยไม่พูดอะไรอีก

    เราเองอยู่ในวงประสานเสียง ซึ่งแสดงละครเพลงปีละครั้งสองครั้ง เพื่อนคนหนึ่งเคยเปรยๆว่าอยากทำละครเพลงเรื่อง RENT (ละครเพลงของโจนาธาน ลาร์สันเกี่ยวกับชีวิตของศิลปินกลุ่มผู้ติดเชื้อ HIV/AIDS และผองเพื่อน) แต่สงสัยว่าเนื้อหาและฉากต่างๆอาจจะ 'แรง' เกินไปสำหรับโรงเรียน


    The Midwest of California: ซาคราเม็นโต้, สุดธรรมดาแต่ฝังลึก

    อย่างไรบ้านก็คือบ้าน


    ตอนเกรด 12 (ม. 6) ครูแนะแนว (counselor) เคยให้หลับตา จินตนาการสถานที่รอบตัวในอีกหนึ่งปีข้างหน้า ตอนนั้นเราก็เหมือนคริสทีน อยากออกไปเผชิญโลกกว้าง ตื่นเต้นเต็มแก่ที่จะได้ห่างบ้าน ห่างสิ่งที่คุ้นเคย แต่ปีแรกในมหาลัยกับความหนาวเหน็บอีกซีกโลกก็ทำคิดถึงบ้านจับใจ

    คริสทีนเคยพูดกับเจนน่าไว้ว่าซาคราเม็นโต้นั้น 'กระชากจิตวิญญาณเธอ - soul-killing' และตั้งมั่นว่าต้องรีบออกจากเมืองให้ได้ แต่เธอกลับเขียนถึงเมืองเกิดอย่างละเอียดในเรียงความสมัครมหาวิทยาลัย และสื่อถึงความรัก ความคิดถึงที่เธอมีต่อเมืองนี้ในน้ำเสียงเหงาเศร้าระหว่างทิ้งข้อความทางโทรศัพท์ให้แม่


    เกอร์วิคนำเสนอซาคราเม็นโต้ บ้านเกิดของเธอ ราวกับตัวละครในพื้นหลังของหนัง อารมณ์เดียวกับนครแอล เอ ที่เป็นอีกตัวละครใน La La Land (2016) เลยทีเดียว



    (ป. ล. อยากจะตบเข่าฉาดตอนที่เกอร์วิคซูมเน้นคำ 'regret [to inform]' และ 'unable [to offer you a place]' ถามว่าคำไหนแทงใจที่สุดช่วงสมัครมหาลัยต้องเป็นสองคำนี้แหละค่ะ ตอกย้ำเข้าไปให้สุด!)


    The Names Their Parents Gave Them: ชื่อนั้นที่ฉันให้แก่ตัวเอง

    ตามสไตล์บทความยาวของเรา เกร็ดเรื่อง 'ชื่อ' เป็นตอนหนึ่งของบทความที่ขาดไม่ได้ Lady Bird เป็นหนังที่เน้นตัวละคร และรายละเอียดเกี่ยวข้องกับตัวละคร เรื่องชื่อก็เป็นรายละเอียดเล็กน้อยที่น่าสนใจ (คัดมาเฉพาะที่คิดว่าข้องเกี่ยวกับหนัง)

    1. Christine, คริสทีน - เป็นชื่อจริงของแม่ของเกรต้า เกอร์วิค (คริส เกอร์วิค) คนที่เกอร์วิคบอกว่า "ไม่ใช่เพื่อนเล่น แต่เป็นคนที่พาเธอออกสู่โลกกว้าง และสอนเธอว่ามันไม่น่ากลัว - My mom wasn’t my playmate, but she was the person who brought me out into the world and taught me that it was not scary." ซึ้งมากที่เกอร์วิคตั้งชื่อตัวละครเอกในหนังเรื่องนี้ตามแม่เธอ 


    ชื่อ 'คริสทีน' ตามความหมายละติน อเมริกันและกรีก หมายถึง 'คริสเตียน' แต่ตามความหมายฝรั่งเศสคือ 'ผู้ติดตามพระคริสต์ - Follower of Christ.'

    "คนมักเรียกกันตามชื่อที่พ่อแม่มอบให้ แต่พวกเขาไม่ยอมเชื่อในพระเจ้า" คริสทีนพูดในปาร์ตี้ โยงความเชื่อในชื่อตัวเอง กับผู้มีอำนาจในชีวิต (authority figures) อย่างพ่อแม่ กับความเชื่อด้านศาสนา ตัวเธอเองยอมกลับมาใช้ชื่อคริสทีน เมื่อรู้ความรู้สึกแม่จากจดหมายที่พ่อเก็บมาให้ และเรียกชื่อตัวเองในข้อความที่ทิ้งไว้ให้แม่หลังเดินเข้าไปดูพิธีที่โบสถ์แห่งหนึ่ง


    2. Marion, มาริยง - หมายถึง การก่อกบฎ (rebellion) หรือ โค่นล้ม (overthrow) ซึ่งแผลงมาจากชื่อ แมรี่ (Mary) ในไบเบิ้ล ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษของคำฮีบรู มิเรียม (Miriam) แมรี่ในพระคำภีร์คือพระนามพระแม่ของพระเยซูนั่นเอง เป็นชื่อที่เหมาะกับแม่หญิงแกร่งของคริสทีนที่สุด


    3. Danny, แดนนี่ - ตามความหมายฮีบรู และอเมริกัน หมายถึง 'พระเจ้าเป็นผู้ตัดสินของฉัน - God is my judge' ซึ่งเป็นความหมายเกี่ยวกับศาสนา ตัวเราคิดถึง 'Oh Danny Boy' ตามเพลงสก๊อตพื้นบ้าน ที่ฟังสบายๆ อารมณ์หวานเบาๆ เหมือนลักษณะนิสัยตัวละครนี้เอง



    Love and Attention: ความฝันและอนาคต, ล่องลอยแต่เปิดกว้าง

    เคียร่า ไนท์ลี่ย์ นักแสดงสาวกล่าวถึง Lady Bird ว่า "เป็นวัยที่คุณกำลังจะเป็นอะไรสักอย่าง แต่คุณยังไม่ค่อยเป็น และคุณก็ต้องทำอะไรผิดๆมาบ้าง เป็นช่วงอายุที่เสี่ยงมาก โดยเฉพาะสำหรับผู้หญิง ในบางแง่ คุณก็ยังเป็นเด็กอยู่ - It was an age where you are becoming, you haven’t become, and you need to make mistakes. It’s a very precarious age, particularly for women. You’re in some ways still a child."


    Lady Bird เป็นศิลปะหายากในฮอลลีวูด ที่ปล่อยหนังพ่อ - ลูก และการเติบโตของเด็กหนุ่มจนเกร่อ น่าแปลกใจที่เราเหมือนเพิ่ง 'พบรัก' ถูกอกถูกใจกับหนังที่ขยายและสะท้อนธรรมชาติของความสัมพันธ์แม่ - ลูกอย่างที่เป็น หนังที่ตามตัวละครเอกหญิงขณะเธอพยายามค้นพบความ 'เป็นตัวของตัวเอง' ในโลกที่หมุนรอบและเดินหน้านำเธอ หนังที่แนะนำเพื่อนสนิทของนางเอกที่มีนิสัย อารมณ์และความรู้สึกเป็นคนจริง ที่ร้องไห้และพูดประโยคอย่าง "คนบางคนก็ไม่ได้ถูกสร้างมาให้สุขเสมอไป - Some people aren't built happy." หนังที่สอนตัวเอกหญิงให้รู้จัก 'สิ่งที่คล้ายรัก' แต่ไม่ได้โฟกัสกับคำถามว่า เธอจะเลือกหนุ่มคนไหน


    เพราะชีวิตเด็กสาวไม่ใช่หนังรอมคอม ไม่ใช่ตัวประกอบในบทแฟน นางมารร้าย หรือตัวอิจฉาในชีวิตใคร สมหวังบ้าง ผิดหวังบ้าง (และถ้าจะให้พูดตรงๆ แล้ว มักผิดหวังบ่อยครั้งกว่า ในโลกที่ชะตาชอบไม่เข้าข้างใคร) หลอกตัวเองให้รักคน รักครึ่งๆกลางๆ  ก๋ากั่นแต่แอบไม่มั่นใจในสิ่งที่เป็น ฝันไกลแต่ไม่แน่ว่าจะไปถึงไหม

    เป็นความรู้สึกชนิด 'เห็นว่าโลกนี้มีแต่ฉันคนเดียว' ฉบับวัยรุ่น (adolescent solipsism) ที่เราต่างผ่านกันมาในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งเกอร์วิคมองในมุมเด็กสาวได้อย่างหลากรสและซื่อตรงต่อ 'เด็กสาวคนนั้นเมื่อวันวาน' 


    เขาว่าศิลปะเลียนแบบชีวิต 

    เราว่านี่คือเสน่ห์ที่ปฎิเสธไม่ได้ของ Lady Bird  คือความสวยงามที่ทำเราตกหลุมรักอย่างง่ายดาย

    เพราะ Lady Bird คือศิลปะแห่งช่วงหนึ่งในชีวิต คือภาพวาดที่มีเฉดสีร้อน เย็น ถูก ผิด และทุกสิ่งตรงกลาง ภาพหนึ่งที่เราจะเก็บแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์แห่งหัวใจเสมอ.




    //



    cinema + reflections = cineflections เพราะการดูหนังไม่ได้จบเพียงหน้าจอ.
     

    ขอบคุณที่สนใจอ่านนะคะ <3


    คิดเห็น ชอบไม่ชอบยังไง รบกวนกดด้านล่างให้เรารู้ จะได้ปรับปรุงบทความต่อๆไปให้ดีขึ้นค่ะ

     
    ติชม พูดคุยกับเราทางเม้นท์ข้างล่างได้เสมอ


    หรือจะแวะมาทาง twitter: @cineflectionsx 

    หากชอบบทความ ฝากเพจ FB ด้วยนะคะ เราจะมาอัพเดทความคิด บทเรียน และเรื่องราวจากหนังที่ชอบทั้งเก่าและใหม่เรื่อยๆค่ะ




    ขอบคุณค่า


    x

    ข้าวเอง.



Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in