เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
preview.cineflections
(What Doesn't Kill You, Makes You) Stronger: รวมหนังเติมพลังชีวิต

  • ก่อน Stronger (2017) หนังเติมกำลังใจชิ้นใหญ่จะเข้าฉายพรุ่งนี้ เราอยากรวบรวมหนังห้าเรื่องที่ (โดยส่วนตัวแล้ว) มักย้อนกลับไปดูเพื่อเติมพลังให้ตัวเอง

    เคยมีเพื่อนที่ไม่เข้าใจ(ความบ้าหนังของเรา)ถามว่า ทำไมต้องดูหนังซ้ำ?


    พอยิ่งเป็นหนังที่หยิบมาฉายให้ตัวเองดูเวลารู้สึกต้องการกำลังใจ หรือ เตือนตัวเองให้ลุกขึ้นมาสู้ต่อ เรายิ่งดูซ้ำไม่รู้กี่รอบ


    ....ก็ได้กลับไปเจอตัวละครที่คุ้นเคย ได้ยินถ้อยคำอมตะที่ก้องในความคิด ได้อินกับความรู้สึกในฉากที่ไม่เคยลืม


    เราเรียกมันว่าความรัก.



    *ลิสต์ต่อไปนี้เรียงตามลำดับเวลาที่เราได้ดูหนังแต่ละเรื่องครั้งแรก 



    1.  The Holiday (2006)

    ถ้ารู้สึกความรักทำชีวิตคุณจนมุม จะทำอย่างไร


    หนังโรแมนติคคอเมดี้สลับชีวิตชั่วคราวของสองสาว อแมนด้า (คาเมรอน ดิแอซ Cameron Diaz) และ ไอริส (เคท วินสเลท Kate Winslet) ที่ตัดสินใจเปลี่ยนบรรยากาศ ทั้งบ้าน รถ และประเทศ​ บินข้ามทวีปเพื่อหนีจากความรักที่ไม่สมหวัง หากตัวหนังมีอะไรๆทำให้อบอุ่นใจมากกว่าหนังรักทั่วไป


    เราดูหนังตั้งแต่ตอนเข้าโรง และซ้ำอีกหลายๆ ครั้งในแต่ละปี บ่อยครั้งไม่ใช่ช่วงคริสมาสต์ด้วยซ้ำ


    (ใครว่าจะดูหนังคริสมาสต์ได้เฉพาช่วงเทศกาลละ)


    หนังแบ่งเป็นสองส่วนตามสองสาว เดินเรื่องด้วยสัมพันธ์ตัวละครที่เชื่อมโยงกันสองคู่ จากคู่ไอริส กับ ไมลส์​ (แจ็ค แบล็ค Jack Black ในบทพระเอกรอมคอมที่แรกๆดูแปลกตา แต่ต้องชมคนเขียนบทและกำกับอย่างแนนซี่ ไมเยอร์ส Nancy Meyers ว่าตัวละครเหมาะกับพี่แจ๊คมากๆ) ในลอสแองเจลิส บ้านของอแมนด้า และ คู่อแมนด้า กับ เกรแฮม (จู๊ด ลอว์ Jude Law) พี่ชายของไอริส ในเซอรรีย์ อังกฤษ

    ไอริส และ ไมลส์​ นักแต่งเพลงประกอบหนังในฮอลลีวู้ด

    จุดเด่นของหนังคือการดึง 'อารมณ์' และนิสัยของสองด้าน(จากหลายด้านที่สุดซับซ้อน)ของความรัก ผ่านสองคู่:

    ไอริส สาวช่างเพ้อฝัน ทำงานสำนักหนังสือพิมพ์ ที่ตกวังวนของคนแอบรัก จนได้เจอกำลังใจในรูปของปู่นักเขียนบท เพื่อนบ้านของอแมนด้า


    ฉากที่เราชอบมากๆ และมักจะนึกถึงอยู่เสมอ คือบทสนทนาของไอริสและปู่ระหว่างมื้อเย็นแรกด้วยกัน:

    ฉากดินเนอร์ที่เปลี่ยนมุมมองชีวิตของไอริส

    "Iris, in the movies--we have the leading lady, and the best friend. You, I can tell, are a leading lady. But for some reason, you're behaving like the best friend."

    "Ugh, you're so right. 

    You're supposed to be the leading lady of your own life, for god's sake!"

    "ไอริส, ในหนัง มีนางเอก และ เพื่อนนางเอก ปู่ก็ดูออกหนูเป็นนางเอก 
    แต่ยังทำตัวเป็นเพื่อนนางเอก เพราะอะไรก็ไม่รู้"

    "เฮ้อ ถูกที่สุดเลยค่ะ

    เราควรจะเป็นนางเอกในชีวิตของตัวเองสิ ให้ตายเหอะ!"


    เปรี้ยง! จะมานั่งสงสารตัวเองทำไม ลุกขึ้นมากอบกู้ชีวิตตัวเอง ให้สมกับบทบาทนางเอกหน่อย แล้วไปดูหนังตามลิสต์​ที่ปู่ให้ไอริสเพื่อเพิ่ม gumption หรือ "แรงฮึด" ให้กับตัวเอง (ปู่แสดงโดยอีไล วอลแลซ์ Eli Wallach นักแสดงเก๋าจากหนังคาวบอยในตำนานอย่าง The Good, The Bad, and The Ugly (1966) ด้วยนะ!)

    เรื่องนึงที่เราแนะนำมาก (เมื่อนึกถึงคำว่า gumption) แม้อาจไม่ใช่หนังฮอลลีวู้ดเก่า (Old Hollywood) คือ Working Girl (1988) ที่เมลานี่ย์​ กริฟฟิส์​ (Melanie Griffiths) นำแสดงกับ เซอเจอร์นี่ วิฟเวอร์ (Sigourney Weaver) ประกบ แฮร์ริสัน ฟอร์ด (Harrison Ford) เป็นหนังพลังหญิงที่ลูกน้องแอบสวมบทบาทแทนเจ้านาย จนดันไอเดียของตัวเองที่เจ๋งกว่า มาเสนอในที่ทำงานที่เต็มไปด้วยผู้ชายได้สำเร็จ

    สามนักแสดงนำจาก Working Girl (1988) - 
    จากซ้าย: แฮร์ริสัน ฟอร์ด (Harrison Ford), เมลานี่ย์​ กริฟฟิส์​ (Melanie Griffiths) และ เซอเจอร์นี่ วิฟเวอร์ (Sigourney Weaver) 

    ส่วนอแมนด้า สาวบ้างาน ก็พบรักที่ทำให้พยายาม "เดินชีวิตตัวเองช้าลง" เพื่ออยู่กับเกรแฮม นอกจากฉากแรกๆ ที่คาเมรอน ดิแอซ ตีบทแตกเรื่องสาวที่หัวยุ่งไปกับงาน และความไม่เท่าเทียมของชาย - หญิง แล้ว เรื่องของอแมนด้าเหมือนเป็นโบนัสความหวานกินใจที่เสนอคู่ไปกับเรื่องไอริสเฉยๆ 

    อแมนด้า และ เกรแฮม

    (แต่ยอมรับว่ายิ่งอายุเพิ่มขึ้น ยิ่งกลับไปฟังประโยค "ชั้นอยากกินแป้งได้โดยไม่ต้องรู้สึกผิดจนอยากตาย! - I want to eat carbs without wanting to kill myself!" นี่จริงขึ้นเรื่อยๆ!)

    เป็นผู้หญิงสมัยนี้มันเครียดนะ!

    หนังดูเพลิน ไม่เบื่อ เหมาะกับดูเพื่อปลอบใจ และ ปลุกใจตัวเอง บทของแนนซี่ ไมเยอร์สเข้าถึงผู้หญิงเอามากๆ และดนตรีโดยฮานส์ ซิมเมอร์ (Hans Zimmer -- เอาสิ เฮียแกไม่ได้โฉ่งฉ่างๆกับหนังโนแลนอย่างเดียว) ฟังเพราะที่สุด

    พูดถึงเรื่องดนตรีประกอบหนัง อยากเพิ่มฉากนี้อีกนิด ที่ไมลส์ พูดถึงดนตรีประกอบหนังในร้านเช่าดีวีดี (สักวันเด็กๆอาจงงเมื่อดูฉากนี้---) เขาทำเสียงประกอบขณะเสนอหนังแต่ละเรื่องไปด้วย



    พอได้เรียนวิชาเลือกอย่าง Soundtracks in Film แล้วกลับมาดูฉากนี้ ก็แอบอินเพิ่มขึ้นไปอีก (แถมเป็นฉากเดทที่ไม่เดทแบบน่ารักจริงๆ)




    2. Little Miss Sunshine (2006)


    รู้สึกเหมือนทั้งชีวิตเป็นการแข่งขันมั้ย


    คุณเป็นผู้แข่งขันแกะดำนอกคอกรึเปล่า


    หนังเรื่องนี้นำความจริงมาเสนอต่อหน้าคุณจะๆ พร้อมกับข่าว(ร้ายกึ่ง)ดี:


    คุณไม่ได้อยู่คนเดียว


    บ่อยครั้งที่เราเปิดหนังดูตอนปอตรี หลังจากวันที่เรียนหลายคาบติดต่อกันหนักๆ หรือเหนื่อยใจกับโปรเจคที่ถาโถมเข้ามา (ก่อนจะกลับไปลุยการบ้านและภารกิจต่อ...)


    ความตรงไปตรงมา และไม่กลัวที่จะเป็นตัวของตัวเองของหนังแหวกแนวหนังครอบครัวอบอุ่นเรื่องนี้ กินใจเราเสมอ

    ครอบครัวฮูเวอร์

    ครอบครัวฮูเวอร์เป็นครอบครัว 'ปะติดปะต่อ' ที่ใช้ชีวิตอย่างปกติที่สุด ริชาร์ดผู้พ่อ (เกร็ก คินเนียร์ Greg Kinnear) เป็นนักพูดสร้างแรงบันดาลใจชีวิตที่ไม่มีคนฟัง เชอร์ริลผู้แม่ (โทนิ โคเล็ตต์ Toni Collette) พยายามดูแลลูกติด ดเวนย์ (Dwayne, พอล ดาโน่ Paul Dano) หนุ่มขรึมผู้มุ่งมั่นจะเป็นนักบิน และลูกสาวคนเล็ก โอลีฟ (อบิเกล เบรสลิน Abigail Breslin) ผู้ใฝ่ฝันจะเป็นนางงาม ให้อยู่ในบ้านเดียวกับปู่เจนชีวิตที่พูดจาขวานผ่าซาก (อลัน อาร์คิน Alan Arkin) และแฟรงก์​ อาที่เป็นอาจารย์ (สตีฟ คาเรล Steve Carell)


    เมื่อโอลีฟอยากไปประกวดนางงาม Little Miss Sunshine การเดินทางโร้ดทริปข้ามรัฐแบบสุดโต่งจึงเกิดขึ้น ระหว่างทางสมาชิกครอบครัวฮูเวอร์ก็ได้เรียนรู้และรับมือปัญหากันและกัน



    ครอบครัวฮูเวอร์ทำให้เรานึกถึงคำกล่าวของโทลสตอย (Leo Tolstoy) ในนวนิยาย Anna Karenina ที่ว่า 


    "ครอบครัวที่มีความสุขทุกครอบครัวนั้นเหมือนกัน 

    ทุกครอบครัวที่มีความทุกข์ก็ล้วนแต่ทุกข์ในแบบของตัวเอง"


    "Happy families are all alike.

    Every unhappy family is unhappy in its own way."


    แม้จะไม่ใช่ครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ แต่สมาชิกครอบครัวทุกคนก็รักกัน เรารักที่หนังเรื่องนี้เตือนให้รู้ถึง 'พลัง' ที่ซ่อนไว้ของคนในครอบครัว ที่ไม่ว่ายังไงแล้ว ก็รักเรา และพร้อมจะสนับสนุนเราเสมอ แม้ชีวิตจะโยนอุปสรรค โยน 'การประกวด' มาให้เราล้มเหลว ให้เรารู้สึกแย่กับตัวเองมากสักเท่าไหร่ ("Life is one fucking beauty contest after another. - ชีวิตคือการประกวดความงามเวทีแล้วเวทีเล่า" แบบที่ดเวนย์ว่าไว้)


    ฉากที่ตราตรึงฉากหนึ่งคือการพูดคุยการอย่างเปิดเผยของอา - หลาน ดเวนย์ และ แฟรงก์​ ผู้ถูกชีวิตเลนตลกร้ายใส่พอกัน แต่คำที่คนแก่กว่าเตือนหลานจากประสบการณ์ชีวิตที่มากกว่า คือคำที่เรานึกถึงอยู่บ่อยๆ เพื่อฮึดสู้ผ่านอะไรๆในชีวิต




    "All those years that he [Proust] suffered, those were the best years of his life, 

    'cause they made him who he was."


    "ตลอดหลายปีที่เขา [เพราซ์​ นักคิดนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส] ทุกข์ทรมาน นั่นคือช่วงเวลาที่ดีที่สุดใน

    ชีวิตของเขา เพราะมันทำให้เขาเป็นคนอย่างที่เป็น"


    และบ่อยครั้ง เมื่อเราย้อนกลับไปมองสิ่งที่ผ่านมา อุปสรรค ความทุกข์ทรมาน คือสิ่งที่ทำให้เราเรียนรู้และเติบโตได้มากขึ้น กลายเป็นตัวเองอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แม้ว่าจะเป็นทางที่ยาก และสร้างความปวดใจให้มากก็ตาม ("the hard way")


    หนังยังแทรกมุขตลกเสียดสี ที่ยิ่งย้อนกลับไปดูก็ยิ่งขำ และความน่ารักของนิสัย บทบาทของสมาชิกครอบครัวฮูเวอร์แต่ละคนที่โต้ตอบกันนั้น อมตะไม่เคยเสื่อมคลายในสายตาเรา


    (ปล. หนังได้รับออสการ์สาขานักแสดงสมทบชายดีเด่นจากปู่อลัน อาร์คิน และบทภาพยนตร์ดีเด่นโดย ไมเคิล อาร์ด Michale Arndt ด้วย)


    3. Dead Poets Society (1989)


    ทุกวันนี้ คุณใช้ชีวิตของใครอยู่


    คำถามที่หนังเรื่องราวของเด็กหนุ่มมอปลายในโรงเรียนประจำถามผ่านตัวละครหลักมักไม่ไกลไปจากความคิดเรา จริงอยู่ที่ชีวิตจริงมีเงื่อนไข ภาระ และความผิดชอบที่ไม่ได้เปิดโอกาสให้ทุกคนทำตามฝันอย่างที่คิดเสมอไป เมื่อเวลาผ่านไปหลังจากดูหนังครั้งแรกตอนเกรดสิบ (มอห้า) ในห้องเรียนวิชาภาษาอังกฤษ เราพึ่งพิงในหนังเรื่องนี้ตรงแก่นสำคัญที่ว่า:

    ยังไงแล้ว เรามีสิทธิ์ที่จะมีความคิดเป็นของตัวเอง (Free-thinking อิสรภาพในความคิด) และท่ามกลางทุกอย่างในชีวิต อย่าลืมความฝันตัวเองซะละ

    ใครๆก็อยากมีครูอย่างครูคีตติ้ง

    โรบิน วิลเลียมส์ (Robin Williams) ฝากบทที่น่าจดจำที่สุดบทหนึ่งในตัวละคร ครูคีทติ้ง (Mister Keating) ผู้สอนกลุ่มเด็กหนุ่มให้รักในบทกวี ความสวยงามของภาษา และเป็นตัวของตัวเองในโลกเต็มไปด้วยกฏเกณฑ์และความหวัง ความฝันของพ่อแม่ ที่จ้องจะกดขี่ความเป็นตัวตนของเด็กๆ ทั้งให้เด็กกล้าพูด กล้าคิด และมองโลกในมุมมองที่ต่างออกไป แม้คนอื่นจะกำหนดมุมให้มองมาแล้ว



    ในฉากที่เราประทับใจจริงจัง (และย้อนดูอยู่บ่อยๆ ระหว่างเรียนวิศวะ) ครูคีตติ้งโยงการเขียนและอ่านบทกวีถึง 'แก่น' ของการมีชีวิตอยู่ 


    "We don't read and write poetry because it's cute. 

    We read and write poetry because we are members of the human race. 
    And the human race is filled with passion. 

    And medicine, law, business, engineering, these are noble pursuits 
    and necessary to sustain life. 

    But poetry, beauty, romance, love, these are what we stay alive for."




    "เราไม่ได้อ่านและเขียนบทกวีเพราะมันสวยน่ารัก 

    เราอ่านและเขียนบทกวีเพราะความเป็นมนุษย์ของเรา 

    และมนุษย์นั้นเต็มไปด้วยอารมณ์คุกกรุ่น 

    และแพทยศาสตร์ กฎหมาย ธุรกิจ วิศวกรรมศาสตร์​ ล้วนเป็นหนทางอาชีพที่น่ายกย่อง 
    และสำคัญต่อการค้ำจุนชีวิต 

    แต่บทกวี ความงาม ความรัก ต่างหากเป็นแรงผลักดันให้เรามีชีวิตอยู่"


    ครูคีตติ้งกล่าวต่ออีกว่า สำคัญที่ชีวิตต้องเดินหน้าต่อไป แต่ "วรรค" ของคุณน่ะคืออะไร


    ฉากนี้ทำให้เรานึกถึงหนังใหม่ Handsome Devil (2016) ที่ดูค้างอยู่เมื่อคืน (จุ๊ๆ อย่าบอกใคร) เมื่อตัวละครครูเชอร์รี่ (Mister Sherry) ตะโกนถามนักเรียนชายโรงเรียนประจำว่า:


    "If you spend your whole life being someone else,

    who's going to be you?"


    "ถ้าเธอใช้ชีวิตทั้งชีวิตในคราบคนๆอื่นแล้ว


    ใครจะใช้ชีวิตแทนเธอได้ละ"


    ทั้งคีตติ้งและเชอร์รี่ ต่างเรียกร้องและสอนให้เด็กหนุ่มกล้ายอมรับในความเป็นตัวเองและใช้ชีวิตด้วย 'เสียง' บ่งบอกตัวตนของตัวเอง


    เพราะหากเราไม่เป็นตัวเองแล้ว ใครจะมาแทนที่เราได้

    กลุ่ม 'สมาคมนักกวีที่ล่วงลับ'

    เรารักในเรื่องราวต่างๆของเด็กหนุ่มแต่ละคนในกลุ่ม ทั้งนักเรียนดีเด่นอย่างนีล (โรเบิร์ต ฌอน ลีโอนาร์ด Robert Sean Leonard) เด็กหงอยที่ใช้ชีวิตใต้เงาของพี่ชายที่เก่งกว่าอย่างทอดด์ (อีธาน ฮอว์ก Ethan Hawke) เด็กหนุ่มโรแมนติกวุ่นรักอย่าง น็อกซ์ (จอช ชาร์ลส Josh Charles) และเด็กกบฏ ตัวแสบของกลุ่มที่พกความมั่นใจมาเกินร้อยอย่าง ชาร์ลี (เกล ฮานเซน Gale Hansen ตัวละครโปรดของเรา)


    ได้เจอเด็กหนุ่มกลุ่มนี้กี่ครั้งก็เหมือนกลับมาดูเพื่อนเก่า ที่สอนข้อคิดในชีวิตให้เรา เสียงปี่สก๊อตหลังฉากสำคัญกลางเรื่องไม่เคยคลายความเศร้าไปเลย



    4. Y Tu Mamá También (2001)


    ไม่มีใครเดาได้ว่าจะต้องเผชิญอะไรในชีวิตต่อไปอีก


    หนังอินดี้สัญชาติเม็กซิกันเรื่องนี้สอนให้เราเข้มแข็ง เปิดใจกับทั้งอุปสรรค ความดี ความเลวร้ายในชีวิตที่พร้อมจะถาโถมเข้ามาโดยเราไม่ทันตั้งตัว เป็นหนังโร้ดทริปสุดคลาสสิกที่ทำให้วัยรุ่นสองคนเติบโตขึ้นในระหว่างทาง

    สามหนุ่มสาวผู้ร่วมทริป
    จากซ้าย - หลุยอิซ่า, เตโนช, และ ฮูลิโอ

    เตโนช (ดิเอโก้ ลูน่า Diego Luna - พระเอกโร้กวันสมัยเอ๊าะๆ) และฮูลิโอ (กาเอล การ์เซีย เบอร์นอล Gael Garcia Bernal) เพื่อนรักสองคนรวมหัวชวนหญิงอายุแก่กว่า หลุยอิซ่า (มาริเบล เวอร์ดู Maribel Verdu) เดินทางหาจุดหมายที่ไม่รู้หนทางไป


    ครั้งแรกที่เราดูหนังก็แปลกใจในความหยาบ และทะลึ่งตึงตังของเด็กหนุ่มคู่หู ไม่เข้าใจในความคลาสสิกของหนัง แต่พอตั้งใจดูครั้งที่สอง (หลังกรี๊ดดิเอโก้ใน โร้ก วัน หนักๆ ประกอบกับเวลาที่เว้นห่างในการดูหนังเรื่องนี้พอสมควร) เราก็เข้าใจหนังมากขึ้น และพบว่าไม่มีใครจะสร้างหนังสไตล์นี้ได้แบบอัลฟรังซัวคัวรอน (Alfonso Cuaron ผู้กำกับหนังแฮร์รี่ พอตเตอร์ภาคสามนั่นแหละ) อีกแล้ว


    เราชอบชอตนี้มากๆ

    หนัังทั้งวิพากย์วิจารณ์สังคมเม็กซิโกช่วงนั้น ให้ข้อคิดเรื่องชีวิต ความรัก และความเป็นเพื่อนผ่านตัวละคร และนักบรรยาย แปลกดีที่มีคนบรรยายตลอดๆ ให้อารมณ์เหมือนสารคดีปลอมๆ (Mockumentary) ดี


    ฉากที่เราชอบมากที่สุดคือบทเรียนที่หลุยอิซ่าทิ้งให้เด็กหนุ่มสองคนว่า:




    "Life is like the surf. 

    So give yourself in like the sea."

    "ชีวิตก็เหมือนการโต้คลื่น 

    จงกล้าพร้อมที่จะรับมันดังเช่นทะเลเป็น"


    ชีวิตเต็มไปด้วยเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด คนที่เราอาจไม่พร้อมพบเจอ อารมณ์และปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อเรารู้สึกไม่พร้อมรับมัน แต่นั่นก็คือธรรมชาติของการมีชีวิตอยู่กับมนุษย์คนอื่นๆและสิ่งรอบข้าง คือคลื่นที่ผกผันไม่แน่นอนทุกลมหายใจ

    สำคัญที่สุดว่าเราพร้อมจะ 'ปล่อย' ตัวเอง ทั้งปล่อยวาง ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น และรับมือกับมันไปเรื่อยๆ เฉกเช่นการโต้คลื่นหรือไม่



    5. The Waitress (2007)

    จะทำอย่างไรถ้ารู้สึกหมดหนทางสู้


    หนังรอมคอมนอกคอก (Off-beat romantic comedy) เรื่องนี้พาเราไปรู้จักกับชีวิตแคบๆของ เจนน่า (เคอร์ริ รัสเซล Kerri Russell) สาวเสริฟ์ผู้รักการอบพายเป็นชีวิตจิตใจ ที่ฝันการหนีออกจากเมืองเล็กต้องพังทลายเมื่อพบว่าตัวเองท้องกับสามีหัวรุนแรงขึ้หึง 

    (กลาง): เจนน่า

    หนังให้ความสำคัญแก่ปัญหาชีวิตของตัวละครเอกอย่างเจนน่า มากกว่าที่จะทำให้เป็นหนังรักดาษดื่น ชีวิตของเจนน่าหลังตั้งท้องก็ดำเนินไปอย่างลำบาก หากไม่ได้เพื่อนที่ไดเนอร์ (ร้านอาหาร) ที่ทำงานอยู่รับฟัง หมอที่เธอหลวมตัวไปเริ่มความสัมพันธ์ด้วยทั้งๆที่อีกฝ่ายมีภรรยาแล้ว และโจ เจ้าของไดเนอร์ผู้สอนให้เธอลุกขึ้นสู้ กล้าออกไปจากเมืองที่ไม่มีอะไรให้เธอแห่งนี้ซะที


    เราชอบความร่าเริง อบอุ่นของหนัง ที่คุมโทน 'ความหวัง' ของเจนน่าตลอดแม้ชีวิตจะรู้สึกหดหู่เพียงไหน เพราะเจนน่าหนีความทุกข์​ ความเครียดในชีวิตไปคิดค้นพายหน้าใหม่ ไปอบพาย ตั้งใจและให้ความสนใจในสิ่งที่เธอรัก สิ่งที่ทำให้เธอมีความสุข และมีกำลังใจกล้ากลับมาเผชิญชีวิตต่อ (อย่างพาย 'ฉันเกลียดลูก' ('I hate my baby' pie) ที่เธอคิดค้นด้วยอารมณ์ชั่ววูบเมื่อพบว่าท้อง)

    เจนน่าสอนคนรักทำพาย 

    บ่อยครั้ง การทำสิ่งที่เรารัก แม้ว่าจะไม่ดัง ไม่ประสบความสำเร็จ หรือดีเด่นอะไร ก็ยังมีประโยชน์มีอิทธิพลกับชีวิตเรามากกว่าที่เราคิด การเจียดเวลามา 'ให้เวลากับตัวเอง' ตรงนี้เท่ากับเปิดโอกาสรับความสุข เปิดโอกาสให้ได้ใช้เวลาอยู่กับตัวเอง รักในความเป็นตัวของตัวเอง และค้นพบความชอบ ความสนใจของเราในแง่ที่ลึกขึ้น ที่เชื่อมต่อกับชีวิตเราได้มากขึ้น 


    เราเชื่อว่าการทำสิ่งที่เรารักทำให้เข้าถึง 'flow' (โฟลว์) หรือ ศัพท์ที่นักจิตวิทยาใช้เรัียกสถานะขณะคนเราตั้งใจจดจ่อทำสิ่งๆหนึ่งที่เราสามารถเข้าถึงได้จน 'ลืมสิ่งรอบข้าง (แม้กระทั่งเวลา)' และรู้สึก 'โฟกัสอย่างมีพลังงานเต็มเปี่ยม' (energised focus) 'flow' เป็นสถานะการชาร์จพลังงานที่หายไป เติมความสุขให้สมองโล่งและแล่นขึ้น คิดอะไรได้คล่องตัว ทำให้รู้สึกว่ากิจกรรมนั้นคุ้มค่ากับชีวิตตัวเองมาก



    นักจิตวิทยาอธิบายคอนเซปต์ของ 'flow' ในฐานะเคล็ดลับสู่ความสุข ใน TED TALK

    'flow' คงเป็นอะไรที่เกิดกับเจนน่าระหว่างเธออบพาย (และกับเรา เมื่อเราแต่งเรื่อง และดูหนัง)


    เวลาตรงนี้ และความสุขที่ได้ ก็นับเป็น 'เชื้อเพลิง' ในการดำเนินชีวิต และเผชิญหน้ากับปัญหาและอุปสรรคข้างหน้าได้ 


    เวลาที่เราทำสิ่งที่รักไปไม่ได้สูญเปล่าหรอก การเติมความสุขให้ตัวเองเป็นสิ่งที่ดีทั้งนั้น แต่ก็ต้องพร้อมรับมือกับความจริง และจัดการเวลาที่เหลือให้ดีไปด้วย

    หนังถูกนำไปทำเป็นละครเพลงบรอดเวย์โดยนักร้องดัง ซาร่า บาเรลเรส (Sara Bareilles)

    ในรูปคือพระ -- นางเวอร์ชั่นบรอดเวย์: ดริว เกอร์ลิ่ง (Drew Gehling) และ เจสซี มุลเลอร์ (Jessie Mueller)

    อีกอย่างที่หนังสาวเสริฟ์สอนเราคือ 'การเริ่มต้นใหม่'  ("Start Fresh") จริงๆแล้ว เจนน่าไม่ได้หนีปัญหา แต่การเริ่มต้นใหม่ ยกปัญหามารื้อทิ้งและมองอีกมุม เมื่อรู้สึกตัวว่าถึงทางตันแล้ว ย่อมเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งที่หนีไม่พ้น


    เป็นคำแนะนำเรื่องชีวิตที่เราไม่คิดจะได้จากหนังอบพายเลยทีเดียว



    //


    ขอบคุณที่สนใจอ่านนะคะ

    คิดเห็น ชอบไม่ชอบยังไง รบกวนกดด้านล่างให้เรารู้ จะได้ปรับปรุงบทความต่อๆไปให้ดีขึ้นค่ะ 

    ติชม พูดคุยกับเราทางเม้นท์ข้างล่างได้เสมอ

    หรือจะแวะมาทาง twitter: @cineflectionsx 


    หากชอบบทความ ฝากเพจ FB ด้วยนะคะ เราจะมาอัพเดทความคิด บทเรียน และเรื่องราวจากหนังที่ชอบทั้งเก่าและใหม่เรื่อยๆค่ะ





    ขอบคุณค่า

    x


    ข้าวเอง.




Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in