เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
The Ordinary | ก็แค่เรื่องอยากเล่าAntberry
The Ordinary | ดรุณีเล่ห์ลวง
  • วันก่อนวางแพลนไว้ว่าจะไปดูหนังเรื่อง The Beguiled เลิกเรียนเลยรีบบึ่งไปห้างแถวบ้าน ปรากฏว่ามีรอบสี่โมงเย็น รอยาวไปร่วมสองชั่วโมง ในหัวไม่ได้คิดอะไรเพราะกะว่าจะเสพสาวสวย ๆ ที่แอบมีกลิ่นอายของโลลิต้าในยุควิคตอเรียน ผลปรากฏว่าดู ๆ ไปแล้ว กลับนึกถึงหนังสือเรื่อง The Little Women ขึ้นมาเสียอย่างนั้น วันนี้เลยถือโอกาสนำวรรณกรรมเรื่องนี้มาเล่าให้ฟัง


    The Little Women ในฉบับแปลภาษาไทยเราคงคุ้นหูกันในชื่อ สี่ดรุณี ซึ่งแปลโดย อาจารย์สนิทวงศ์ หรือ สี่สาวน้อยที่แปลโดย นายตำรา ณ เมืองใต้ และอีกหลายต่อหลายผู้แปลที่ถูกตีพิมพ์ในครั้งต่อ ๆ มา



    The Little Women หรือสี่ดรุณี เป็นนวนิยายเชิงอัตชีวประวัติของ ลุยซา เมย์ อัลคอตต์  นักเขียนชาวอเมริกัน ผู้ได้รับแรงบันดาลใจจากชีวิตวัยเด็กของตัวเอง เธอเริ่มเขียนเรื่องนี้ในปี ค.ศ.1868 ซึ่งจัดเป็นหนังสือดีอีกเรื่องที่ควรได้อ่านสักครั้งในชีวิต โดยในเรื่องนั้นเธอเล่าเรื่องราวตนเองผ่านตัวละครคนน้องที่ชื่อว่า โจ



    Louisa May Alcott
    ที่มา http://www.civilwarmed.org/wp-content/uploads/2016/02/Louisa-May-Alcott-Reading.jpg


    เรื่องราวเกี่ยวกับสี่พี่น้องที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในปีค.ศ. 1860 ช่วงยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมระยะที่ 2 คุณพ่อของพวกเธอจะต้องออกไปช่วยกองทัพฝ่ายเหนือ คือ พวกเฟเดอรัล อาร์มี รบกับพวกกองทัพฝ่ายใต้ คือ พวกเฟเดอเรต ในสงครามกลางเมืองหรือสครามเลิกทาสของสหรัฐฯ นั่นเอง


    มาถึงตรงนี้หลายคนคงเริ่มถอนหายใจกันเบา ๆ ว่าเนื้อหาของหนังสือจะน่าเบื่อและเครียดมากขนาดไหน แต่จริง ๆ แล้วไม่เลยค่ะ เพราะว่าเรื่องนี้เล่าผ่านมุมมองของสาวน้อยทั้งสี่คนที่กำลังคอยคุณพ่อกลับมาบ้าน ลุยซาเขียนเรื่องสะท้อนให้เห็นว่าในยุคนั้นบทบาทของสตรีมีหน้าที่ดูแลบ้านให้สะอาดเรียบร้อย เพื่อรอการกลับมาของสามี

    รวมถึงสั่งสอนลูก ๆ ให้รู้สึกแบ่งปันหรือรักใคร่ปรองดองกันภายในครอบครัว มีคำสั่งสอนของพ่อและแม่เป็นเป้าหมายสำคัญ ตลอดทั้งเรื่องเราจะสังเกตได้หลายตอนเลยว่าเด็กสาวทั้งสี่คนจะเชื่อฟังคำพูดของพ่อแม่อยู่เสมอ ขอยกตัวอย่างจากข้อความในจดหมายฉบับแรกที่มิสเตอร์มาร์ชส่งมาเล่าถึงสนามรบและแสดงความรักความคิดถึงถึงลูก ๆ ทั้งสี่คน



    สิ่งสำคัญกว่าเรื่องราวในสนามรบ คือการย้ำเตือนถึงคำสั่งสอนของตนเองให้ลูก ๆ ได้ฟัง ในยุคนั้นพ่อแม่ให้ความสำคัญกับการสั่งสอนลูกเป็นอย่างมาก ปลูกฝังให้ลูกพึ่งพาตนเองได้ มีหน้าที่ช่วยแบ่งเบาภาระของแม่ที่ต้องดูแลความเรียบร้อยในบ้าน รวมไปถึงนึกคิดถึงใจผู้อื่นเสมอ หากลูกเชื่อฟังชีวิตก็จะพานพบแต่สิ่งที่ดีในชีวิตและเป็นความภาคภูมิใจของคนในครอบครัว



        ภาพตอนที่มิสซิสมาร์ชกำลังอ่านจดหมายให้สี่สาวฟัง จากฉบับภาพยนตร์รีเมคปี ค.ศ. 1994
          (ชุดนักแสดงที่เราคุ้นเคย คนตัวเล็กสุดคือคริสเตน ดันสท์เองค่ะ ! น่ารักน่าหยิกแต่เด็กเลย )
    ที่มา https://www.cineserie.com/wp-content/uploads/1995/05/288773.jpg


    นอกจากนี้ไม่ใช่เพียงแค่พ่อเท่านั้นที่มีหน้าที่สั่งสอนลูก ๆ  ในเรื่องจะมีอยู่หลายฉากที่มิสซิสมาร์ชใช้คำพูดขัดเกลาเด็ก ๆ ให้รู้จักอดทนและไม่รู้สึกหมดหวังเมื่อยามชีวิตผจญกับความยากลำบาก รวมถึงการสอนให้ลูกของเธอเป็นคนดี ซึ่งก็ได้ยกประโยคที่ชอบมาก ๆ จากหนังสือเล่มนี้มาอีกเช่นกันค่ะ







    รู้สึกประทับใจกับประโยคนี้ตรงที่เธอไม่ได้บอกออกมาตรง ๆ แต่กลับใช้คำพูดในเชิงเปรียบเทียบให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ดูนุ่มนวลสมกับเป็นภาพลักษณ์ของผู้หญิงในยุคนั้นที่ดีมากเลย ตัวกล่อมเกลาความคิดไม่ใช่แค่เพียงการเชื่อฟังคำสั่งสอนของพ่อแม่ แต่หลักคำสอนของศาสนาเองก็สำคัญไม่แพ้กัน เด็ก ๆ จึงกล้ารับปากกับเธออย่างจริงใจ


    แต่ถึงอย่างไรครอบครัวมาร์ชก็เป็นเพียงหนึ่งในครอบครัวตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นสภาพสังคมของคนในยุคสงครามกลางเมือง ที่ไม่ได้มีเพียงแต่ความเศร้า สิ้นหวังและใช้ชีวิตทุกวันเพื่อการรอคอยที่ไร้ซึ่งความหมาย แต่ความงดงามที่เด่นชัดคือการขัดเกลาลูก ๆ ให้กลายเป็นคนดี มอบความรัก ความผูกพันและให้ความสำคัญกับคนในครอบครัว


    เพราะเหตุนี้ เด็ก ๆ ในยุคนี้จะค่อนข้างเรียบร้อยกันเป็นพิเศษ สังเกตได้จากการแต่งกาย และงานอดิเรกที่สุดแสนจะผู้หญิ๊งผู้หญิง  อย่างการเล่นดนตรี งานเย็บปักถักร้อย หรือจะเป็นแลกกันอ่านบทกลอนคนละบท จะอะไรก็ว่าไป


    การแต่งตัวของสาว ๆ ในยุคนั้น น่ารักมากเลย
    จาก The Little Women ฉบับภาพยนตร์ของปี ค.ศ. 1933
    ที่มา https://i.pinimg.com/originals/93/2d/9f/932d9f6cbf006ce070898fa3d8812810.jpg

    จริง ๆ จุดประสงค์ที่เราชอบหนังสือเรื่องนี้นอกจากเนื้้อหาจะเป็นเด็กสาวที่กระทำเรื่องอันแสนละมุนละไมแล้ว เรายังชอบความรู้หรือข้อคิดที่คอยสอดแทรกในเรื่อง เช่น เรื่องของการเข้าหาเพศตรงข้ามอย่างมีชั้นเชิง การแสดงกริยาท่าทางเวลาอยู่ต่อหน้าผู้ชายงี้ อะหื้ออ หวีดมากคือเขาจะสอนจริง ๆ นะคะว่า ผู้หญิงไม่ควรทำตัวกระโดกกระเดก หรือแม้แต่ตอนที่ใส่ส้นสูงหรือรองเท้ารัดเกินไป การจะมาถอดต่อหน้าสุภาพบุรุษเนี้ย มันไม่ด้ายยยย 5555

    ฉากรองเท้าที่เราบอกค่ะ เหมือนพี่จะสอนน้องว่ามันเป็นเรื่องน่าอายนะที่ต้องแบบนี้
    แต่วันนี้ไม่ไหวจริง ๆ มันกัดเท้าฉัน ฮือ น่ารักน่าเอ็นดู
    ที่มา https://i.pinimg.com/600x315/91/5b/5d/915b5dbb89df9cc3799514010dfee188.jpg

    ประเด็นคือบทลอว์รี่คนแสดงคือ คริสเตียน เบลค่ะ เรากรี๊ดมาก!


    หรือแม้แต่เรื่องการจะชอบใครสักคน เราก็ไม่ควรแสดงออกจนเกินงาม ยกตัวอย่างเช่นพี่สาวคนโต เม็ก เธอชอบคอกับมิสเตอร์บูค ซึ่งเป็นครูสอนพิเศษให้กับลอว์รี (เพื่อนข้างบ้านที่สนิทกับโจ) ทั้งสองแอบปิ๊งกันตอนที่ไปปิกนิค ตอนท้ายเรื่องมิสเตอร์บูคเนี้ยก็มาสารภาพกับเม็ก แต่เม็กยังไม่พร้อมที่จะมีความรักในตอนนี้ เธอรู้สึกรักแต่ไม่สามารถปล่อยให้ความรักเกิดขึ้นในเวลานี้ได้ โธ่ มันหน่วงใจอยู่นะคะ แต่เราก็คิดว่าเม็กทำถูกแล้ว 




    และอีกฉากที่ดีมากต่อเนื่องจากข้างบนเลยคือป้ามาร์ชเปิดประตูเข้ามาเจอเม็กกำลังยืนฟังคำสารภาพรักมิสเตอร์บูคอยู่ เจ้าหล่อนก็รีบฉอด ๆ ใส่หลานรักเลยค่ะว่า

    "นายคนนี้แกเป็นครู ป้ารู้แล้ว หนูคงไม่คิดจะแต่งงานกับเขาจริงไหม ถ้าหนูขืนไปแต่งกับเขาก็จะไม่ได้เงินของป้าแม้แต่เพนนีเดียว รู้ไว้เสียด้วยนะ"

    อ่ะหืม! ฟังแล้วมันขึ้น ถ้าเป็นเรานี่คงจะยืนกรี๊ดจนป้าทนไม่ไหวเดินหนีไปแน่ ๆ ค่ะ ทำไมถึงดูถูกคนอื่นแบบนี้ นี่มันปี 1860 แล้วนะคะ ทำไมยังต้องมายุ่งกับความรักของหนูด้วย หนูจะรักใครมันก็สิทธิ์ของหนูไหม #อินเกินน แต่พออ่านจึงได้รู้ค่ะว่า โอ้ว ประโยคตอบกลับของเม็กก็ไม่ธรรมดานาจาา


    แอบถ่ายมาจากหนังสือให้ดูกัน ดูสีหน้าคุณป้าสิคะ หึ่มมม!

    นางสวนกลับไปทันทีเลยค่ะว่า 

                       "หนูจะแต่งงานกับใครก็ได้ที่หนูรักค่ะ เงินป้านั้นป้าจะยกให้ใครก็ตามใจป้าเถอะค่ะ

                      "หนูเลือกของหนูแล้วค่ะ ถึงหนูจะต้องรอเขาไปอีกครึ่งชีวิตหนูก็ยอม จอห์น (มิสเตอร์บูค) เป็นคนขยันตั้งอกตั้งใจทำงานและเป็นคนจริงจัง เขาตั้งใจที่จะตรากตรำทำงาน ใคร ๆ ก็ชอบและนับถือเขา หนูภูมิใจที่เขาเลือกผู้หญิงจน ๆ และโง่อย่างหนู"

                                           ------ (สี่สาวแสนน้อย, แอล.เอ็ม. ออลคอตต์, ไทยวัฒนาพานิช แปล, หน้า 24)

    คันมืออยากจะเขียนตอนจากนี้แต่เดี๋ยวจะสปอยเอา แนะนำให้ไปหาลองมาอ่านเป็นหนังสืออ่านเล่น ตอนนี้เหมือนล่าสุดทางแพรวเยาวชนจะนำมาเรียบเรียงเนื้อหาและปกใหม่ออกมาจำหน่าย
    (อริณี เมธเศรษฐ เป็นผู้แปล) หรือจะอ่านเป็นแบบต้นฉบับภาษาอังกฤษเลยก็ได้ค่ะ



    ปก The Little Women ฉบับแปลไทยของทางสำนักพิมพ์แพรวเยาวชนค่ะ
    ที่มา http://readery.co/9786161804671


    นี่เป็นเพียงเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากเรื่องเท่านั้น ยังมีอีกหลายประเด็นที่อยากจะหยิบมาเล่าให้ฟัง
    ถ้าเป็นไปได้ในรอบหน้าเราจะลองเปรียบเทียบความแตกต่างและความคล้ายคลึงของ The Little Women กับภาพยนตร์เรื่อง The Beguiled ถ้าหากสนใจ รอติดตามกันได้เลยค่ะ !

    เรื่องสาว ๆ นี่ขอให้บอกค่ะ เราชอบมากกก ฝฝฝ

    ก่อนจากวันนี้ขอแจกความฉดใฉของพี่คริสเบลจากเรื่องนี้
    ฮือ น่ารักกจริง ๆ พ่อแบทแมนของน้อง

    ❤ ❤ ❤ ❤ ❤

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
toffyqueen (@toffyqueen)
สารภาพเลยว่าแต่ก่อนไม่ได้สนใจเรื่องนี้มากนักจนกระทั่งมีภาพยนตร์เวอร์ชันรีเมคเข้าโรงอีกครั้งช่วงต้นปีนี้ ถึงได้มีโอกาสรับสื่อและสารจากวรรณกรรมเรื่องนี้ บอกเลยว่าแค่อ่านโคว้ทที่ยกมาก็รู้สึกหลงรักไปแล้วหนึ่งก้าว อยากออกไปหาหนังสือมาอ่านให้ได้เลย
Tangmo Mothana (@mothana_mo072)
สมัยนั้นแม้แต่โจ (คนเขียน) จะออกทอมบอยมากขนาดไหนก็ยังสาวมากสำหรับคนสมัยนี้อยู่ดี ฮาาาาา